ข้อคิดของคำสั่ง
อ่าน: 4635รีไซเคิลจากบันทึกที่เขียนไว้เมื่อสองปีก่อนครับ ปรับปรุงนิดหน่อย
เมื่อพูดถึงการเป็นนายคน โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงผู้ที่มีอำนาจ สั่งการให้เรื่องราวต่างๆสำเร็จเสร็จสิ้นไป
ในความเป็นจริง องค์กรที่จำเป็นต้องมีการสั่งการในทุกๆเรื่องนั้น จะไม่สามารถคงอยู่ได้เลย
หากหัวหน้า มัวแต่คิดว่าตนคือผู้นำความสำเร็จมาสู่หน่วยงานแต่ผู้เดียว อยากที่จะมีส่วนร่วม/ตัดสินใจในทุกๆกิจกรรมแล้ว แทนที่งานจะกระจายออกไปได้ กลับจะมีตัวหัวหน้าเป็นคอขวดที่คอยขัดขวางการเจริญเติบโตของหน่วยงานอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างระบบขึ้นมาให้ยุ่งยาก การกระจายอำนาจก็จะเป็นเพียงเรื่องเหลวไหลในตำนาน
หากมือรองลงไป ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาแทนตัวหัวหน้าได้ ตัวหัวหน้าก็อาจจะต้องดักดานอยู่อย่างนั้นแหละครับ
แล้วหากหัวหน้าไม่ไปไหน ตนก็จะเป็นผู้ที่ขัดขวางการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ข้างใต้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คำสั่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องมีใช้ในกรณีที่:
- ถูกระบุไว้โดยกฏระเบียบว่าต้องออกเป็นคำสั่ง
- ต้องการความชัดเจน — แต่ตัวคำสั่งก็ต้องชัดเจนด้วย
- มีการมอบหมายอำนาจ หน้าที่
(ความรับผิดชอบ มอบหมายไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเอง หรือไม่อย่างนั้นก็ไม่ควรทำงานด้วยกันอีก) - เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เคยทำอยู่ หรือเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องการให้เกิดขึ้น
การออกคำสั่ง คือการกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง ขอบเขต และวิธีการอย่างชัดเจน
คุณภาพของคำสั่ง ก็คือความชัดเจนของเป้าหมาย ทิศทาง ขอบเขค และวิธีการ
ในแง่มุมหนึ่ง อาจมองได้ว่าเนื้องานเปรียบเหมือนแผ่นแป้งที่นวดไว้แล้วแผ่ออกบนโต๊ะ คำสั่งเหมือนพิมพ์รูปกลมที่กดลงไปบนแป้ง จะไม่มีทางที่จะออกคำสั่งที่ครอบคลุมเนื้องานทั้งหมด การออกคำสั่งถี่ยิบ ในที่สุดจะทำให้คนทำงานกระดิกตัวไม่ได้ แล้วงานก็จะไม่เดิน กลายเป็นระบบจับผิดเหมือนระบบราชการ
การเป็นนายคนไม่ต้องรีบร้อนหัดสั่งงานหรอกครับ แต่ควรหัดฟังเสียก่อน เพื่อที่การตัดสินใจจะได้เป็น insightful decision เพื่อที่จะเดินสู่เป้าหมายด้วยประสิทธิภาพสูง สิ้นเปลืองทรัพยากรต่ำที่สุด
เลือกสั่งเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเถิดครับ
« « Prev : รีเซ็ตประเทศไทย (1)
Next : สุภาษิตสอนหญิง (ฉบับเต็ม) — สุนทรภู่ » »
6 ความคิดเห็น
รับทราบ ครับกระพ้ม….ไม่สั่งลูกน้อง…แต่สั่งเจ้านายได้ป่ะ…อิอิ
มองจากมุมของสังคมที่มีลำดับชั้นอย่างสังคมไทย การสั่งเจ้านาย ต้องใช้ความกล้ามาก เป็นการแหวกม่านประเพณี
แต่ผมเชื่อว่าเจ้านายที่ดี เมื่อรับข้อมูลจากลูกน้องแล้ว แก้ไขไม่ให้งานติดขัดทันทีครับ ไม่ต้องให้ลูกน้องสั่ง จะทำให้ลูกน้องกล้ารายงานความจริงไม่ว่าเป็นเรื่องดีหรือร้าย ทำให้แก้ไขให้ผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว; ส่วนนายที่ไม่ take action อะไรเลย ถึงจะมีอยู่ ก็เหมือนไม่มีตัวตนนะครับ
เมื่อ พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานสัมภาษณ์นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ไว้ว่า “…ในประเทศอื่น พระมหากษัตริย์เปรียบดังยอดปิรามิด มีประชาชนเป็นฐาน แต่สำหรับประเทศไทยเป็นปิรามิดหัวกลับ…“
คนเป็นนายจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องเลือกว่าจะทำตัวเองเป็นคอขวด หรือเป็นตัวปลดล็อคขององค์กรครับ
คนในบางองค์กรกลับชอบให้สั่ง เพราะไม่ต้องคิด หรือไม่ก็คิดไม่ออก หรือไม่ก็และถ้าผิดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ อิอิ
[...] ข้อคิดของคำสั่ง [...]
[...] ก็ขอให้พิจารณาข้อคิดของคำสั่งด้วย ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่ง [...]