ถอดบทเรียนการทำหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑ และ ๒
เขียนหนังสือมาหลายเล่ม แต่ไม่เคยต้อง “ทำ” หมดทุกขั้นตอนแบบหนังสือเจ้าเป็นไผ ก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ลองครับ ทั้งหมดนี้ เป็นการถอดบทเรียนสิ่งต่างๆ ที่ไม่อยากให้เกิด แต่ดันเกิดขึ้น เพื่อจะเป็นบทเรียนเผื่อว่ามีการทำหนังสือในครั้งต่อไป
เจ้าเป็นไผ ๑
การมาทำหนังสือเจ้าเป็นไผ ๑ จะเรียกว่าเป็นอุบัติเหตุก็ได้ครับ เกิดความสับสนขึ้น จนมีทีท่าว่าหนังสือจะไม่เสร็จทันกำหนด ซึ่งครูบาได้บอกผู้ใหญ่ไปหลายท่านแล้ว; ผมไม่ได้อยากจะมา “ทำ” แบบนี้เลยนะครับ ไม่เคยทำมาก่อน — แต่หนังสือเจ้าเป็นไผ เป็นความฝันของครูบา จะใจดำเพิกเฉย ปล่อยให้เป็นฝันค้างอย่างนั้นหรือครับ
ทั้งกระทุ้ง ทั้งแขวะมาหลายต่อหลายที ยาวนานมาตั้งแต่ยังไม่ตั้งลานปัญญา จนพอครูบาเขียนอีกครั้งหนึ่งในลานสวนป่า เมื่อปลายปี 2551 ผมก็ตัดสินใจเขียนเจ้าเป็นไผภาคพิสดารในทันที ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก ส่งการบ้านในคืนนั้นเลยเป็นคนแรกครับ…พร้อมทั้งเอารูปตัวเองที่แม่ถ่ายให้แปะไว้ด้วย ก่อนหน้านั้นไม่เคยแสดงรูปตัวเองเลย ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นใคร… เพราะว่าเขียนก่อนใคร สงสัยว่านั่นจะเป็นเหตุที่น้าแป๊ด+น้าอึ่งซึ่งทำหนังสือในเวลานั้น เรียงเรื่องของผมไว้ก่อนใคร (หรือจะเรียงมั่วก็ไม่รู้) ได้ทราบมาภายหลังอีกว่าจะเรียงชายหญิงสลับกันไป
เรื่องหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑ นี้ น้าอึ่งตีปี๊บขอความร่วมมือล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว แต่พวกเราก็ต่างไป เฮ8 ที่กระบี่กัน มีคนส่งรูปให้รวบรวมไปทำหนังสือน้อยมาก สองน้าคงรู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ต่อมา พอน้าแป๊ดเกิดงานเข้า ทำต่อไม่ได้ ทีนี้ก็เอ๋อกันไปทั่ว ติดต่อน้าแป๊ดก็ไม่ได้ งานวันระพีเสวนาซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่จะมาดูหนังสือก็ใกล้เข้ามา… อ.หมอ ประเวศ เขียนคำนิยมให้เจ้าเป็นไผ ๑ อ.เสน่ห์ เขียนคำนำให้เจ้าเป็นไผ ๒ และเขียนล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว… ถ้าไม่มีอะไรไปให้ดู ก็จะเสียหายไปกันใหญ่ เมื่อเป็นอย่างนั้น จึงลุยทำไปตามสถานการณ์ ไม่สนอะไรแล้ว
ตอนแรกนอกจากความงงแล้ว ไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย จึงต้องเริ่มทำใหม่ทั้งหมดจากบันทึกต่างๆ ในลานปัญญา; ต่อมาก็ได้ไฟล์ pdf เป็น dummy จากน้าแป๊ดซึ่งพิสูจน์อักษรแล้ว แต่ไม่มีรูปรายละเอียดสูงสำหรับพิมพ์ ซึ่งบรรดาผู้ที่มีโอกาสได้ดูหนังสือ รวมทั้งครูบาด้วย ต่างบอกว่าตัวหนังสือเล็กไป น่าจะขยาย; ท้ายที่สุดจึงได้ไฟล์ InDesign ซึ่งเป็นต้นทางสำหรับทำหนังสือมา ไม่มีรูป เอาไปพิมพ์ไม่ได้ แล้วเนื่องจากต้องขยายตัวอักษร ก็ต้องจัดใหม่ทุกหน้าอยู่ดี เพราะตัวหนังสือใหญ่ขึ้น ความยาวจึงขยายจาก 148 เป็น 160 หน้า
ก่อนจะมีโอกาสได้ทำ เจ้าเป็นไผ ๑ ใหม่เพื่อจะขยายขนาดตัวหนังสือ ปัญหาในเวลานั้นคือทำอย่างไรจึงจะมี “ตัวอย่างหนังสือ” ไปแสดงในงานระพีเสวนาเพื่อไม่ให้เสียคำพูดกับผู้ใหญ่ ป้าจุ๋มซึ่งยังอยู่ต่างจังหวัด เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รอง กลับต้องช่วยโทรศัพท์ติดต่อไปทั่ว โชคดีหาโรงพิมพ์ทำตัวอย่างหนังสือได้ เอา pdf ที่น้าแป๊ดทำไปพิมพ์หนังสือตัวอย่างออกมาเลย - เม้งอยู่เยอรมัน ยังช่วยแก้ความคมชัดใน pdf (ซึ่งในที่สุดก็ไม่ได้ใช้ เพราะตอนนั้น ต่างคนต่างช่วยกันทำ ไม่ได้คุยกัน) - พี่สร้อยออกไอเดียทำ e-book ให้คนดู (ซึ่งไม่ได้ทำ เพราะไม่มีเวลาทำ) - ครูปูวิ่งวุ่นระหว่างโรงพิมพ์กับ 814 จนได้หนังสือตัวอย่างมาสี่ห้าเล่ม ซึ่งตัวอย่างหนังสือนี้ ทำเพื่อให้ผู้สนใจได้ดูก่อนสั่งจองซื้อในงาน เป็นการซื้อเวลาจนทำหนังสือให้ได้จนพอใจ แล้วก็ผ่านงานระพีเสวนาไปได้…แต่งานทำหนังสือ เพิ่งจะเริ่มต้น
ไฟล์ InDesign จากน้าแป๊ดนั้น ผมไม่ได้รื้อทิ้งหรอกครับ เอาบางส่วนมาใช้ คือเอาขนาดกระดาษกับกรอบของหน้ามาใช้ (ก็มันไม่รู้นี่) ส่วนกราฟฟิคภายใน ไม่ได้ให้มา (ไม่ได้สั่ง Package เพื่อ export และไม่มีฟอนต์/รูป/ลายเส้นใดๆ มาเลย) จึงไม่ได้ใช้ เพราะไม่มีให้ใช้ — ส่วนข้อความ ก็ยังมีปัญหาอีก มีเรื่องที่อยากเพิ่ม มีเรื่องที่อยากเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่รู้จะทำยังไงโว้ย ยุ่ง ฉ.ห. เลย
ผมเลยอุปโลกน์ตัวเองเป็นบรรณาธิการ มีเหยื่อตัวเล็กมาช่วยอีกสองท่านคือ ม๋อนก กับจานแห้ว; ประกาศความคืบหน้าทุกขั้นตอนในลานเจ๊าะแจ๊ะ ให้ทุกคนรู้เรื่องเดียวกัน เลิกใช้วิธีโทรไปบอกทีละคน ชอบใจ/ไม่ชอบใจให้เขียนมาในนั้น พอกันทีกับเกมพรายกระซิบทางโทรศัพท์
คณะบรรณาธิการไม่ได้เป็นโรคจิตที่จะไปรื้องานเก่าทิ้งเพื่อมาทำใหม่หรอกนะครับ ไม่มีใครเคยผ่านกระบวนการอย่างนี้ทั้งหมดมาก่อน แม้เราไม่รู้ทั้งหมด (แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลย เพราะโปรแกรม DTP พวกนี้ มีมากว่ายี่สิบปีแล้ว เคยเล่นมาบ้าง) แล้วเราก็เรียนรู้ได้ ถึงจะยังไม่เคยทำ ก็พอมีฟีลลิ่งว่างานนี้หนักหนาขนาดไหน — พอตัดสินใจทำ ก็ไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับโปรแกรมที่น้าแป๊ดใช้มาอ่านและลองเล่นดู ไม่ยากเกินความพยายามแฮะ
การรวบรวมเรื่องราวใหม่ ใช้ Google Docs ซึ่งมีข้อดีคือเป็นเอกสารออนไลน์ บรรณาธิการเข้ามาตรวจแก้ไขในเวลาใดก็ได้ ทำพร้อมกันก็ได้ (พิมพ์แล้วปรากฏบนอีกจอหนึ่งในเวลาเดียวกันเลย) จึงตัดปัญหาว่าเอกสารไหนใหม่กว่ากันได้ ตัดปัญหาไปแก้ไขในเอกสารเก่า แล้วไม่รู้จะเอาเข้าไปใส่ในเอกสารล่าสุดอย่างไร — อันที่ออนไลน์อยู่ เป็นอันล่าสุดเสมอ
ใน Google Docs เอกสารที่ใช้ควบคุมคือสารบัญ — จากสารบัญ ลิงก์ไปยังเรื่องต่างๆ การจัดเรียงลำดับ/น้ำหนัก แก้ไขในสารบัญเท่านั้น
เมื่อแก้ไขจนพอใจแล้ว ก็ลอกจาก Google Docs ไปลงโปรแกรมจัดเรียงหน้า ถึงจะตรวจแล้ว ก็ยังเจอที่ผิดอีกมากมาย
ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ รูปใน เจ้าเป็นไผ ๑ ใช้รูปเล็กๆ แทรกในเรื่อง (ปัญหาเรื่องการทำซึ่งล่าช้ามามากแล้ว เรื่องรูปที่ใช้ประกอบเรื่องมีเยอะ และมีความละเอียดต่ำ) โปรแกรมเรียงพิมพ์ภาษาไทยได้ ตัดคำได้พอสมควร แต่ยังไงมันก็ไม่เหมือนกันคนทำหรอกครับ โปรแกรมไม่รู้ว่าตัดแบ่งประโยคลงไปบรรทัดล่างแล้ว ไปผ่าเอากลางคำหรือเปล่า ความหมายเปลี่ยนหรือเปล่า การแก้ไขการแบ่งคำ หมายความว่าบรรทัดถัดจากนั้นไปต้องตรวจใหม่หมด ไม่รู้จบจนกระทั่งไม่เจอที่ผิดอีก; เมื่อไม่นานมานี้ น้าแป๊ดแนะว่าให้โรงพิมพ์ทำให้ก็ได้ โรงพิมพ์ก็ทำได้ครับแต่ราคาเพิ่มอีกเยอะ ถ้าทำเองประหยัดได้หมื่นห้า ก็เลยทำเอง ส่วนที่ประหยัดได้ เอาเข้ากองทุนเฮไป
หลักการทำหนังสือก็ง่ายมากครับ
- ไม่ดี ไม่ถูกใจ ก็ไม่พิมพ์ คุณภาพของหนังสือ ซึ่งเป็นงานเผยแพร่อันแรกของชาวเฮ สำคัญที่สุด
- ฟังทุกความเห็น เสนออะไรก็ได้ ส่วนจะทำหรือไม่ทำ/ทำได้หรือทำไม่ได้ ขอตัดสินใจเอง
หน้าที่บรรณาธิการ คือทำพื้นที่เชื่อมโยง ทำให้เรื่องที่มาจากนักเขียนสิบเอ็ดคน ดูกลมกลืน ชี้แจงวัตถุประสงค์/ตั้งความคาดหวังเกี่ยวกับหนังสือ วางจังหวะและน้ำหนักของหนังสือ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือตรวจแก้ซึ่งต้องทำ snapshot สำหรับตรวจแก้อยู่ประมาณ 40-50 รุ่น ซึ่งในแต่ละคืน ทำ pdf สำหรับตรวจแก้ก่อน แล้วจึงไปนอนตอนเจ็ดโมงเช้า ตื่นมาเที่ยง ก็เริ่มตรวจใหม่ แก้ตามรายการแก้ไขที่ส่งมาในอีเมล ทำ pdf สำหรับตรวจแก้รุ่นตอนเย็น แล้วก็ตรวจต่อไปเรื่อยๆ เจอที่ผิดก็แก้ไป วนเวียนมาอย่างนี้ประมาณ 20 วัน น่าเบื่อเหมือนกันครับ ระหว่างนั้นก็ยังเขียนบันทึกในลานซักล้างทุกวัน
เมื่อตอนที่เอาต้นฉบับไปส่งโรงพิมพ์ ยังรู้สึกงงๆ แต่เมื่อสั่งพิมพ์ไปแล้ว รู้สึกสบายใจเป็นอย่างมาก ออกเงินค่าพิมพ์ให้ก่อนด้วย มั่นใจว่าจะออกมาดี เพราะตรวจจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ถ้ามีผิดอีก ก็แล้วไปเถอะ ทำดีที่สุดแล้ว
เจ้าเป็นไผ ๑ เป็นข้อพิสูจน์อีกอันหนึ่ง ว่างานที่ทำด้วยใจจะมีคุณภาพดี (ทำด้วยใจ แปลว่าทำจริงๆ อย่างตั้งใจ ไม่ใช่แปลว่าตั้งใจดีแต่ไม่ลงมือทำอะไร) ไม่มีใครขอให้คณะบรรณาธิการทำอะไร เราทำของเราเอง ถ้าเราไม่มีความสุขที่จะทำ ก็คงไม่ทำหรอกนะครับ
…แต่งานไม่ได้จบที่การสั่งพิมพ์หนังสือ…
ในการทำหนังสือเล่มนี้ ได้หาทางออกเรื่องกระบวนการจัดจำหน่ายไว้ล่วงหน้าด้วย เริ่มตั้งแต่ราคาขาย มีที่เสนอมาให้ตั้งราคาถูก เช่น 100 บาท จะได้ขายง่ายๆ ไม่ต้องทอน คุยไปคุยมา ผมสรุปเองที่ 140 บาท — หน้าละ 88 สตางค์ เพราะผมอ่านแล้วหลายรอบ รู้สึกว่าคุ้มค่ามาก ส่วนใครคิดว่าแพงแล้วไม่ซื้อ ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ราคานี้ รวมค่าส่งทางไปรษณีย์ ถ้าเราเอาหนังสือไปวางตามร้านหนังสือ ก็จะต้องเสียค่าวางเป็นส่วนลดจำนวนมาก (ประมาณสี่หมื่นบาท) ทำให้เงินเข้ากองทุนชาวเฮเหลือน้อยลง ดังนั้น ใช้วิธีโอนเงินค่าซื้อเข้าบัญชีก่อน แล้วจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ดีกว่า
มีการทำสต็อค ทำบัญชี ให้คณะบรรณาธิการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทั้งสต๊อคและเงิน คือพยายามทำให้โปร่งใสที่สุด เรื่องอย่างนี้ มีแต่เสมอตัวหรือเข้าเนื้อเท่านั้นแหละครับ แต่ก็ต้องทำ — จัดโควต้าแจกให้ครูบา 100 เล่ม ให้นักเขียนท่านละ 10 เล่มไม่ว่าจะเขียนสั้นยาวหรือเขียนกี่เรื่อง ให้ผู้ร่วมทำแต่ไม่มีงานเขียนท่านละ 5 เล่ม นอกจากนี้ ซื้อเอาทั้งนั้น ราคาเดียวกันหมด ไม่ได้ลดหรือให้สิทธิพิเศษกับให้ใครเลย รวมทั้งตัวเองด้วย
ผลตอบรับต่อหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑ ดีเกินคาดหมาย จนเมื่อสต็อคลดลงจนเกือบหมดแล้ว จึงปิดการขาย นำหนังสือที่เหลือมอบให้ครูบาไปเผยแพร่อีกล็อตหนึ่ง เก็บส่วนน้อยไว้ที่ผมเผื่อว่ายังมีคำสั่งซื้อหลงเข้ามา (เมื่อวานก็ยังมีมาอีก แต่ยังไม่ได้ส่งของ จึงยังไม่ได้ลงบัญชี)
อาจพิมพ์ใหม่ได้ ถ้ารวมออร์เดอร์ได้สี่ร้อยเล่มขึ้นไป ไม่อย่างนั้นก็ไม่พิมพ์ครับ — เรื่องอย่างนี้ คิดล่วงหน้าทั้งนั้น
เจ้าเป็นไผ ๒
ก่อนที่ เจ้าเป็นไผ ๑ จะขายหมด ก็มีเสียงเรียกร้องถึงเล่มสองแล้ว มีการคุยกันถึงแนวทางของเล่มสองที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่ผมมาตัดสินใจทำเล่มสอง ก็เพราะบันทึกนี้ครับ
ปัญหาของ เจ้าเป็นไผ ๒ ต่างกับเล่มแรก ในเล่มแรกยังไม่มีใครเข้าใจอะไรมากมาย แล้วมีเรื่องที่ดีให้เลือกมาก หนังสือจึงออกมาดี (อ้อ…บรรณาธิการเก่งด้วย) ส่วนเล่มสอง เริ่มมีข้อเสนอแปลกๆ เช่นไม่อยากให้กำหนดธีม อยากให้มีอิสระจะเขียนอะไรก็เขียน… ผมเห็นด้วยกับอิสระครับ แต่ถ้าเขียนมาแล้วไม่เข้ากับอะไรเลย เก็บเอาไว้พิมพ์เองก็แล้วกันนะครับ บ๊ายบาย
หลังจากเผยแพร่เล่มแรก เราก็มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นหลายคน มีที่เขียนเรื่องไผหลายคนเหมือนกัน แต่ว่าสำหรับผมแล้ว แม้หนังสือจะใช้ชื่อเจ้าเป็นไผ ความหมายกลับไม่ใช่คุณเป็นใคร (ซึ่งน่าจะเหมาะกับการเป็นหนังสือแจกในงานศพมากกว่า)
เจ้าเป็นไผเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ผู้เขียนเล่าให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ ว่าชีวิตคนมีความแตกต่าง มีเส้นทางเดิน มีบาดแผล มีความยากลำบากที่ต้องฝ่าฟันกันมาทั้งนั้น มีทั้งเรื่องดีและเรื่องน่าเศร้ารันทด ทำให้คนเราแตกต่างกัน ดังนั้นเวลามองใคร อย่ามองอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน ตัดสินคนด้วยอารมณ์ ต่อให้เป็นเพื่อนสนิท บางทีเรากลับไม่เข้าใจบริบทของชีวิตของใครเลยแม้แต่ตัวเอง แล้วจะเอาอะไรไปตัดสินคนอื่น
การเขียนเรื่องไผแบบนี้ ไม่ง่ายหรอกครับ ต้องเข้าใจตัวเองเป็นอย่างมาก และกล้าที่จะเปิดเผยบทเรียนชีวิตเป็นกรณีศึกษา/วิทยาทานด้วย ดังนั้น ตัวเลือกจึงน้อยลงกว่า เจ้าเป็นไผ ๑ มาก
บรรณาธิการก็ต้องหาทางออก โดยแบ่งหนังสือเป็นสามตอน เจ้าเป็นไผ บทความรับเชิญ และบทความจากลานปัญญา ซึ่งทำให้ขยับขยายได้คล่องตัว วัดโดยความยาวแล้ว เป็น 60%:14%:17% สำหรับสามส่วนดังกล่าวตามลำดับ ที่เหลืออีก 9% เป็นพื้นที่ของบรรณาธิการ เป็นส่วนประกอบอื่นๆ ของหนังสือ
รูปประกอบ เปลี่ยนวิธีวางรูปแบบ โดยใช้รูปรายละเอียดสูง พิมพ์เต็มหน้า; เนื่องจากไม่มีรูปแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง วิธีนี้จึงลดภาระเรื่องการตัดคำแล้วต้องไล่ตรวจทุกอย่างที่อยู่หลังจากนั้นใหม่ลงไปมาก; ออตปวารณาตัวมา จะช่วยเรื่องการวางรูปเล่ม พอลองเล่นโปรแกรมดู ร้องเจี๊ยก แล้วถอยกรูดไปทันที… ถ้าทำต่อ หนังสือไม่เสร็จแน่
ในการทำหนังสือ คราวนี้ทำ snapshot สำหรับตรวจแก้ประมาณ 25 รุ่น ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำจนส่งโรงพิมพ์ 23 วัน ไม่ต้องนอนเช้า ทุกคืนจบแค่ตีสาม ความยาวเพิ่มจาก เจ้าเป็นไผ ๑ อีก 20% ก็นับว่าประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากครับ ขอขอบคุณคณะบรรณาธิการเป็นพิเศษ เพราะเล่มนี้หนักหนาจริงๆ แต่ผลลัพธ์ ก็ออกมาดีสมกับที่ตั้งใจไว้ [มีถอดบทเรียนเรื่องการทำอยู่อีกเรื่องหนึ่งที่นี่ จะไม่เล่าซ้ำแล้วนะครับ]
โดยส่วนตัว ผมคิดว่า เจ้าเป็นไผ ๒ ลงตัวกว่าเล่มแรกตั้งเยอะ
สำหรับเจ้าเป็นไผ ๓ และเล่มต่อๆ ไป
ไม่รู้จะมีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีพอ ก็ไม่ทำครับ บอกครูบาแล้วว่าหากจะมีเล่มต่อไป ก็อาจเปลี่ยนแนวเป็นรวมบทความจากลานปัญญาแทน ซึ่งน่าจะง่ายกว่ามาก เปิดโอกาสให้ทั้งนักเขียนหน้าใหม่และหน้าเก่าเท่าๆ กัน
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนนำบทความเข้า Google Docs ควรเอาไปผ่าน spelling checker เสียก่อน เช่นใน MS Word (ทำไมเพิ่งมาบอก)
« « Prev : หัวหน้า
10 ความคิดเห็น
เรื่องแกะรอย ต้องยกให้รอกอด สุดยอดจริงๆ อิอิ
ขอขอบคุณท่านที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังทุกท่าน ที่เหนื่อยแทนเรา
ขอบคุณด้วยความจริงใจ
ฮี่ฮี่ฮี่ โจทย์หลังการพิมพ์คือ…เฮ ฯ ต้องมีเงินทุน ซึ่งไม่มีการวางแผนตรงนี้ไว้ก่อนเลย มีเพียงอยากทำ อยากพิมพ์เพื่อให้ความฝันของพ่อเป็นจริง แต่เท่าที่เห็นมีคำนิยมเล่ม 2 รอแล้ว ถ้าคิดเพียงพิมพ์เพื่อแจก แล้วเล่ม 2 จะทำยังไง ?
โจทย์นี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องตีให้แตกเพื่อไม่ให้ใครต้องมารับผิดชอบ แบกรับแต่เพียงลำพัง การพร้อมให้เป็นสิ่งที่ดี แต่ เฮฯ ควรเริ่มจากการรู้จักตัวเองว่ามีสิ่งดี ๆ และเลี้ยงตัวเองได้จะดีที่สุด เพราะเมื่อเริ่มต้นอย่างมั่นคงแล้ว อะไร ๆ ที่จะตามมาจะเดินหน้าได้ดีกว่า …ซึ่งคราวนั้นเราเดิมพันด้วยความรู้สึกมั่นใจว่า “มีดี” พอ และผลคือตัดสินใจไม่ผิด (แม้แต่การจะพิมพ์เพิ่มก็ยังมี “ข้อกำหนด” ออร์เดอร์ที่ 400 เล่มก่อน อิอิอิ)
เล่ม 2 นี้มีความเสี่ยงน้อยลง แต่ก็ยังมีเป้าที่ควรร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ความฝันต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นความฝันร่วมที่เราอยากเห็นเดินหน้าต่อได้เรื่อย ๆ และเป็นการพิสูจน์ว่า”พอเพียง” ที่เริ่มจากเล็ก ๆ และรู้จักตัวเองนั้นทำได้จริง !
มีความสุขมากๆ ค่ะ กับเบื้องหลังของไผ ขอบพระคุณมากๆ เช่นกัน
ไผก็เป็นสะพานเล็กๆ สะพานหนึ่งที่ทำให้หนิงเติบโตงอกงามขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ทำให้ชีวิตมีความอิ่มปรากฎขึ้นมา ไม่ใช่เพราะเรื่องราวของตัวเองได้ตีพิมพ์นะค่ะ แต่เป็นเพราะได้กลับเข้าไปรู้จัก สัมผัส สัมพันธ์ กับอดีต ที่บางเรื่องราวผ่านมาได้เพราะกาลเวลา เหมือนชีวิตที่วิ่งผ่านพงหนามมาด้วยความรวดเร็ว ไม่มีเวลาตรวจสอบตรวจตราตนเอง ไผบอกให้เจ้านั่งพัก หายใจยาวๆ ทำแผลซะ เอ๊ะนี่ก็อีกแผลนะ เป็นไงบ้าง ยังเจ็บปวดอยู่ไหม ไม่เจ็บแล้วใช่ไหม เอ๊ะที่วิ่งๆ มาสอนอะไรเจ้าบ้าง และที่เจ้าวิ่งมาให้อะไรกับคนอื่นบ้าง เจ้ารู้สึกว่าชีวิตเจ้าคืออะไรหรือยัง และก็นี่คือรางวัลชีวิตเล็กๆ รางวัลหนึ่งของเจ้า … และที่รู้สึกมากๆ คือเจ้าไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่เจ้าคิดนะ รอบๆ ตัวเจ้ามีแต่ความผูกพัน สายสัมพันธ์ ขอเพียงเจ้าเปิดใจ เปิดการเรียนรู้ และกล้าหาญที่จะก้าวข้ามประตูแห่งความกลัวของตัวเอง นี่คือความรู้สึกที่มีต่อไผทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
5555…จะฉวยโอกาสหรือโดนยัดเยียด…มันก็ครือกันที่….ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเน้อ….มาขอบคุณ….ขอบคุณกับใจที่ตั้งมั่นอยู่กับการให้…ให้…ให้…ที่ผนวกด้วยความสนุกและสุขกับการได้ทำเรื่อง “ไม่เคย” ของตัวไปด้วย…..ขอบคุณที่แบ่งปันประสบการณ์…..ขอบคุณที่ดูแลตัวเองได้อย่างดี…..(ถ้ายังคิดอยู่ว่าไม่ดีขอเหอะ…พี่ๆเพื่อนๆมิตรสหายจะได้อุ่นใจกับการได้พึ่งพาความสามารถของน้อง)….แล้วก็ขอบคุณสาวน้อยข้างบน (#3)ด้วยซะเลย
ในกระบวนการทำหนังสือเจ้าเป็นไผ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนให้โอกาสตัวเองครับ ถ้าไม่ได้ลงมือทำอะไรก็จะไม่ได้ประสบการณ์นี้
พี่ขอจองเจ้าเป็นไผ ๒ จำนวน 30 เล่มเนอะ ส่งถึงบ้านให้ด้วยนะจ๊ะๆ
[...] แต่เล่าแล้ว [...]
[...] ละเอี๊ยด ละเอียด อยู่ที่นี่ค่ะ ถอดบทเรียนการทำหนังสือ เจ้าเป็นไผ