วิชาเกินเผชิญวิชาการ
อ่าน: 6708“..ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีทางออก ต้องหันมาปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย ควรสร้างระบบการศึกษาพาชาติพ้นวิกฤติ ระบบการศึกษาเราผิด เพราะมหาวิทยาลัยอยู่นอกสังคมไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ถ้าระบบการศึกษาให้พลังสังคมชาติจะพ้นภัย ”
:ศ.น.พ.ประเวศ วะสี
ผมมีการบ้านเรื่องอุดมศึกษากับการวิจัย วันที่ 6ก.ค.54 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดเสวนาทางวิชาการ เรียนเชิญ ศาตราจารย์สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย สกว. ยังทาบทามคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะโฮลดิ้ง จำกัด มาบรรยายในหัวข้อ “การใช้งานวิจัยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม”
คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยฯจัดอภิปรายเรื่อง “มหาวิทยาลัยในฝัน:มหาวิทยาลัยของประชาชน มีจอมยุทธมาร่วมตีแตกความฝันของชาวมหาวิทยาลัย ดังนี้
: ดำเนินรายการ โดย นายนิกร วีสเพ็ญ
: ผู้ร่วมอภิปราบ
- 1. นายอดิศร พวงชมพู ผู้บริหาร บจ.สยามแฮนดส์ (แตงโม)
- 2. นายไพศาล ช่วงฉ่ำ ท่านบางทรายของชาวเฮ
- 3. นางสาวกาญจนา ทองทั่ว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
- 4. นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
ประเด็นเรื่องการวิจัยและพัฒนายังอิหลักอิเหลื่อ เต็มไปด้วยคำถาม ทำไม นโยบายการคลังไม่สามารถให้คนสนใจลงทุนในสิ่งเหล่านี้ สวทช.และอีกหลายหน่วยงาน จริงๆต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีการวิจัยในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่วิจัยแต่ตนเอง มหาวิทยาลัยไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยได้ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต้องลงลึกไปถึงชาวบ้านเกษตรชุมชน ต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ถึงจะพัฒนาได้ เทคโนโลยีชาวบ้านนั่นแหละสำคัญที่สุด
..ท่านทราบไหมว่า ประเทศที่จะพัฒนาได้นั้นต้องมีบริษัทเกิดขึ้นเป็นล้าน เมืองจีนนั้นจุดแข็งไม่ใช่ค่าแรงราคาถูก ประเทศจีนมีผู้ประกอบการนับล้านล้านบริษัท ซึ่งก้าวกระโดดมาในขณะนี้ นั่นคือกำลังที่น่ากลัวมาก ฉะนั้นนโยบายวางพื้นฐานการสร้างผู้ประกอบการนั้นมันต้องมีราก ไม่ใช่มียักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท จัดงานกี่ครั้งๆก็เจอแต่ยักษ์พวกนี้ ทำไมเราทำไม่ได้ ถ้าเราตั้งเป้าว่าเราต้องทำเกษตร อาหารของโลก คุณต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ อนาคตนั้นแข่งขันด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ต้องมีฐานจากความรู้ ไม่ใช่นั่งฝันตลอดเวลา
ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ประเด็นเรื่องงานวิจัยงานบริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา มีเรื่องท้าทายและช่องทางที่จะทำอะไรๆสนุกให้เกิดประโยชน์อีกมาก เพียงแต่อย่าไปติดวัฒนธรรมขององค์กร ที่คิดและทำแบบราชการจนสุดโต่ง ..งานวิจัยภายใต้โครงสร้างของสถาบัน จะออกแบบจากความพร้อมทั้งด้านงบประมาณและวิชาการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ชาวบ้านไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพตามมีตามเกิด ถ้าเราเอาชุดความรู้ที่เพียบพร้อมทั้งทุนและเทคโนโลยีไปแนะนำ บางทีชาวบ้านก็ทำตามไม่ได้ ควรคิดและทำตามความเหมาะสมของชาวบ้าน งานวิจัยของมหาวิทยาลัยถึงจะขายออก ไม่อย่างนั้นก็เสมือนชวนชาวบ้านกินทุเรียนทั้งเปลือก
พูดถึงทุเรียน ผมชอบใจนักวิจัยท่านหนึ่ง
ที่ทำเครื่องปอกทุเรียนแบบง่ายๆ
มีเดือยเป็นเหลี่ยม-บน-ล่าง
กดลงที่ผลทุเรียนแล้วหมุน
พูทุเรียนก็จะแยก หยิบเนื้อทุเรียนออกมาได้สะดวก
ราคาเครื่องละ3,000บาท
เรื่องง่ายๆชัดๆตรงๆอย่างนี้แหละครับที่โดนใจชาวบ้าน
ในการอภิปรายเที่ยวนี้ ผมออกแบบการนำเสนอกรณีตัวอย่างงานวิจัยที่เหมาะกับไทบ้าน ยกตัวอย่างงานวิจัยคล้ายๆกับที่ชาวเฟสบุกส์ แสดงในงานคิดบวก-เปลี่ยนแปลงประเทศไทย จะถ่ายคริปวีดีโอ ใช้เวลาประมาณ 7 นาที เสนอเรื่องการใช้ใบไม้เลี้ยงสัตว์ เพราะเห็นว่าเรื่องอาหารสัตว์เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับชาวปศุสัตว์ทั้งรายเล็กรายใหญ่ เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์อยู่ที่หมวดอาหาร70% การที่จะปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวน่าจะลำบาก มีข้อจำกัดเรื่องน้ำ พื้นที่ปลูก ความแห้งแล้ง อาหารข้นและเกลือแร่มีราคาแพง ปัญหาดังกล่าวนี้แหละเป็นหัวข้อวิจัยของผม
วันเกิดปีนี้ผมได้รับของขวัญเป็นเครื่องสับกิ่งไม้ นับเป็นความโชคดีของโคทั้งฝูงของสวนป่า ผมให้ลุงอาน คนที่ดูแลเลี้ยงโคไปตัดกิ่งไม้ที่โคน่าจะกินได้ ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น ใบไผ่ ใบกระถิน ใบมะม่วง ใบขนุน ใบมะขามเทศ ใบก้ามปู ใบข่อย ใบกระถินณรงค์ ใบกล้วย ใบมะรุม ใบแค ใบส้มเสี้ยว ฯลฯ กิ่งไม้พวกนี้ถ้าเราทยอยตัดออกมาในลักษณะแต่งกิ่ง หลังจากตัดออกแล้ว ก็จะมีกิ่งใหม่แตกยอดออกมาให้หมุนเวียนตัดได้ตลอดปี
จากการทดลอง ได้ข้อสรุปมาอย่างหนึ่งว่า การปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์นั้น เป็นทางออกที่ทำได้ง่ายกว่าการทำแปลงหญ้า นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าอาหารข้น อีกทั้งยังไปชี้ชวนให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เพื่อความหลากหลายวัตถุประสงค์อีกด้วย งานวิจัยที่เหมาะสม จะอธิบายเรื่องผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับตรงๆง่ายๆไม่ซับซ้อน เกษตรสามารถเอาแนวคิดไปปฏิบัติได้อย่างสะดวก
จากการทดลองวันแรก เราตัดใบกล้วย 5% ใบกระถิน 35% ใบหญ้า 20%ใบกระถินณรงค์ 40% ให้น้าอานเอาใบไม้มาสับผสมกัน แล้วนำไปเลี้ยงโค เนื่องจากใบไม้เป็นชิ้นเล็กๆ โคแยกไม่ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบใบอะไร จึงก้มหน้าก้มตากินจนท้องป่อง ที่สำคัญไม่เหลือเศษพืชตกค้างในราง กิ่งไม้ส่วนโคนที่มีขนาดใหญ่ แยกสับออกเป็นชิ้นไม้สับเล็กๆ นำไปโปรยในคอกสัตว์ให้ผสมคลุกเคล้ากับมูลสัตว์ ช่วยเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกได้อีกทางหนึ่ง คาดว่าในเมื่อสัตว์เกิดความคุ้นเคย โคเหล่านี้ก็จะอร่อยกับเมนูพิเศษที่เชิญชวนชิม
วิจัยแบบไทบ้าน
“หัวข้อเรื่องวิจัย มาจากความจำเป็นหรือต้องการแก้ไขปัญหา”
“เปิดประเด็นตรงกระบวนการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เริ่มที่ระเบียบวิธีวิจัย”
“เริ่มต้นที่คำถาม วันนี้เราอยู่กับความรู้อะไร”
“เราต้องการความรู้ใหม่เพื่อมาจัดการความรู้ใช่หรือไม่”
“ทำเรื่องธรรมดา ให้เป็นเรื่องพิเศษ”
“มองให้เห็นต้นทุนที่ซ่อนเร้นอยู่ในธรรมชาติ”
“อธิบายได้ว่า ปัญญา+ปัญหา=คุณ+ค่า = คุณค่า
“สร้างนิสัยฉุกคิด คิดๆๆค้นๆๆ จนเจอต้นคิดผลิตความรู้
“เรียนวิธีตั้งคำถาม แล้วค้นหาผลลัพธ์อย่างเข้มข้น”
“เลิกวิธีจุดยากันยุง ไล่ยุงทั้งป่า”
“คันที่ตรงไหน เกาที่ตรงนั้น”
“คำตอบสุดท้าย เราสามารถเปลี่ยนโคพันธุ์หนังหุ้มกระดูก ให้เป็นโคพันธุ์อ้วนท้วนได้”
การบ้านที่จะค้นคำตอบต่อไปก็คือ
-หาคุณสมบัติของสารอาหารในพืชแต่ละชนิด
-เก็บข้อมูลเปรียบเทียบการเติบโตของสัตว์ที่เลี้ยงด้วยวิธีนี้กับวิธีเก่า
-เปรียบเทียบการประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน
-วิเคราะห์ปริมาณการกินอาหารสัตว์ในแต่ละวัน
-พิจารณาการลงทุนและจุดคุ้มทุน ลดทุน
-สังเกตมูลค่าและคุณค่าเชิงนวัตกรรมแห่งยุคสมัย
-วางแผนปลูกชนิดไม้เพื่อการผลิตสัตว์
-ทดสอบการใช้ใบไม้เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น เช่น สุกร นกกระจอกเทศ
-ต่อยอดเรื่องการอบแห้งทำเป็นอาหารสัตว์กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ
เรื่องบุปเฟ่ต์วัวไม่เล่าก็จะเสียดาย ผมสังเกตว่าวัวเองมันก็คงแปลกๆเฝือนๆอยู่เหมือนกัน เพราะไม่เคยกินอาหารผสมอย่างนี้มาก่อน อนึ่ง รสชาติก็ไม่รู้ว่าถูกปากถูกใจหรือเปล่า แต่ก็เห็นแย่งกินกันอย่างอร่อย ใส่เต็มรางกี่ครั้งๆก็หมด เจริญอาหารแบบนี้ค่อยมีกำลังใจไปตัดใบไม้มาให้มากๆ การค้นพบอาหารเลี้ยงสัตว์คราวนี้ รู้สึกมีความสุขไม่เคร่งเครียดเมื่อคราวเห็นวัวผอมโซ นั่นก็แสดงว่า งานวิจัยก็คืองานเติมสุขเติมความรู้และสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง ช่วยกันทำวิจัยเถิดนะนครับ ทำอะไรก็ได้ที่มันเป็นทางออกทางแก้ไขปัญหาของเรา
ไปอุบลเที่ยวนี้ นอกจากจะร่วมงานเสวนาแล้ว คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ชวนให้ไปพบปะกับนักศึกษาในช่วงบ่าย เรื่องนี้พี่น้องชาวเฮช่วยทำการบ้านให้แล้ว ขอบคุณทุกความเห็นที่ระดมประเด็นผ่านบล็อกกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นต้นทุนที่ผมจะเอาไปคุยกับอาจารย์และนักศึกษาพยาบาล ต่อไป
คณะพยาบาลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ ประเด็นที่เคยเรียนอาจารย์ว่าจะทำชุดวิชาเพื่อพัฒนาอัตลักษณ์นักศึกษาที่มี 3 ข้อเฉพาะคือ การเป็นผู้นำการทำงานในชุมชน การมีจิตสาธารณะ และการมีจิตสำนึกต่อท้องถิ่นชุดวิชาที่ทำมีโครงสร้างดังนี้ค่ะ 4 วิชาคิดเป็นหน่วยกิต 12 หน่วยกิต และเน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติค่ะได้แก่วิชาคุณธรรมจริยธรรม วิชาจิตอาสา วิชาความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิชาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ยังทำรายละเอียดไม่เรียบร้อยค่ะ การเรียนการสอนจะสอดรับไปกับวิถีชีวิตอย่างบูรณาการทุกวิชา
« « Prev : สัมมนาจนเน่าทั้งกะบิ
6 ความคิดเห็น
ญาติคนหนึ่ง ยืมเงินจาก สหกรณ์การเกษตร มา 130,000 เพื่อลองเลี้ยงหมู
ผ่านไปหนึ่งปีได้หมู 2 คอกลูกหมูอายุ 3 เดือน 18 ตัวขายไปตัวละ 3200 เป็นเงิน 57,600 บาท หักค่าลุงทุน ค่ารำ ค่าอาหาร เหลือเงินกำไร(ไ่ม่รวมค่าแรงซึ่งหากรวมแปลว่าขาดทุน) 12,000บาท
สิ้นปีไปจ่ายดอกเบี้ยสหกรณ์ ปรากฎดอกเบี้ย 1 ปี 14,300 บาท ถามไปถามมาดอกเบี้ย สหกรณ์การเกษตร เน้น การเกษตร ดอกเบี้ย 11บาท/ปี
ป้าดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด ทำไมดอกเบี้ยมันแพงจังสำหรับเกษตรกร ซึ่ง ธกส ก็ไม่แตกต่างกันมาก
รัฐลองลงมาทดลองลดดอกเบี้ยให้เกษตรมั้งดิ แบบนี้ชาวบ้านอาจจะหยากลงมาทดลองทำมาหากินเพิ่มขึ้น ถึงบันทัดนี้ผมเข้าใจชาวบ้านที่เขารักคุณทักษิณแล้วล่ะ เพราะเงินกองทุนชาวบ้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาทเอง
หรือว่าความสำเร็จของ สหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส คือการที่สามารถยึด โฉนดที่นา ของชาวบ้านมาขายทอดตลาดได้
ดังนั้นการทดลองเลี้ยง ทดลองปลูกของชาวบ้าน ล้วนต้องใช้ทุนทั้งสิ้น
หากต้นทุนที่ใช้ทดลองทำมาหากินมีผลชัดเจนว่าเกิดดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็คงไม่มีชาวนาที่ไหนกล้าทดลองเพราะกลัวดอกเบี้ย ไปเป็นแรงงานของคนอื่นดีกว่า
เข้าประเด็นของหัวข้อพ่อครูบาฯสักที
ข้อเสนอประกอบเรื่องเล่านี้คือ
มหาวิทยาลัยควรหันมาลงทุนหรือจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยเชิงปฏิบัติการมากขึ้น มหาวิทยาลัยทุนหลัก+เกษตรกรทุนร่วม(ลดความขยาดกลัว ดอกเบี้ย)
บ้านเมืองเรามันต้องทำการบ้านอีกเยอะออตเอ๊ย
ไม่อย่างนั้นมันก็จะลุกเป็นไฟ รึ
พิษความยากจนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบนั้นมันเจ็บแสบนัก
ไม่แน่นะ สักวัน..ม๊อบอีแอบ อาจจะเปลี่ยนไปเผา ธกส.แทนศาลากลางจังหวัดก็ได้
อาจจะมีการประท้วง ไม่คืนหนี้ ไม่จ่ายภาษี ไม่ๆๆๆๆ ไม่หนีไม่จ่าย แต่จะเผาๆๆๆๆ
อะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ผีถึงป่าช้าแล้วนี่
รายการเสวนาที่อุบล มีจอมยุทธจากเมืองกรุงสนใจ อยากจะตามไปโสเเล่ด้วย แคว๊กๆ
[...] อนุสนธิจากการมอบเครื่องสับกิ่งไม้เป็นของขวัญวันเกิดให้ครูบา ซึ่งท่านก็นำไปทดลองต่อ โดยเอากิ่งไม้ในสวนป่า มาริดใบออก เอาใบสับผสมกันเลี้ยงวัว ปรากฏว่าวัวชอบ! ขืนรอหญ้า วัวทั้งฝูงอดตายแน่ครับ [จากบันทึก วิชาเกินเผชิญวิชาการ] [...]
[...] [ตอนต้นบันทึก ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้][วิชาเกินเผชิญวิชาการ] ก็นั่นแหละ [...]