สะแกนวิชาความรู้
อ่าน: 2533ยุคที่ความเปลี่ยนแปลงจับมนุษย์ซ้ายหันขวาหัน แต่ส่วนมากมักจะหันรีหันขวาง พลังวิทยาการ กระบวนการทางสังคมใหม่ กระแสเถื่อนบ้าๆบอๆ ชี้ชวนให้เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ความรู้เก่าตกรุ่นเร็วขึ้นสวนทางกับความรู้ใหม่ คืนนี้ชมสารคดีท่องเที่ยวกรุงลอนดอนและกรุงโตเกียว ฝีมือถ่ายทำนำเสนอพัฒนาไปไกลมาก ประมวลผลความเจริญก้าวหน้า สอดส่องหาจุดพิเศษมาให้ชมรอบด้าน จานดาวเทียมทำให้คนอยู่ในป่าหูตากว้างไกลขึ้น ตรงกับคำที่ว่าอยู่ไหนก็รับรู้และเรียนรู้ได้
ช่วงที่อยู่สวนป่าต่อเนื่อง ได้ติดตามสังเกตุสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ..ทำให้เห็นชัดว่าความพลิกผันของฤดูกาลของธรรมชาติ ปีนี้ทำท่าจะแล้งยาวอีกแล้ว ความชุ่มชื้นมีช่วงจำกัด ส่งผลกระทบถึงการงานอาชีพของชาวบ้าน เงื่อนไขทางธรรมชาตินี้เองที่เป็นไฟล์บังคับให้มนุษย์ดิ้นรนมากขึ้น ซึ่งในซีกโลกอื่นเขาเผชิญมานานและมามากแล้ว จะเชื่องช้าก็เฉพาะผู้คนที่อยู่ในเส้นศูนย์สูตรนี่แหละ ที่อ้อยสร้อยอยู่ได้เพราะมีต้นทุนธรรมชาติเอื้ออำนวย แต่ถึงจะไม่ช้าไม่นานอย่างไรก็คงหนีไม่พ้นวิกฤติที่มนุษย์กระทำต่อโลกใบนี้
ปีนี้ชาวบ้านทยอยขายวัวทิ้งจำนวนมาก
เหตุผลอาจจะมาจากราคาไม่จูงใจ
ไม่มีทำเลเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ส่วนตัวเอาไปปลูกยางพารา
ไม่มีแรงงานช่วยเลี้ยง ลูกหลานไปหางานทำกรุงเทพ
ฟ้าฝนทิ้งช่วง หญ้าที่ปลูกไว้บ้างไม่งอกงามเท่าที่ควร
พืชอาหารสัตว์ ฟางข้าวถูกรถนวดข้าวเหวี่ยงกระจายทั่วผืนนา
ที่ทางเลือกอื่นที่น่าสนใจมากกว่าเลี้ยงสัตว์
วัว-ควาย-กำลังล้มหายตายไปจากชนบท
อีกหน่อยคงไปหาดูที่สวนสัตว์
มีแต่ควายเหล็กเพ่นพ่านเต็มทุ่ง
วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ทักษะชีวิตเก่าๆจึงตกรุ่น
วิชาทำไร่ทำนาอย่างเก่าเอามาสอนลูกหลานไม่ได้แล้ว
วิชาทำมาหากินในไร่นาที่ก้าวหน้าทันสมัยก็ไม่รู้เป็นยังไง
ถ้าวิถีไทยไม่ใส่ใจเรียนรู้เพื่อจะนำตนไปสู่ไปสู้กับวิถีชีวิตร่วมสมัย
ไม่ง่ายเลยที่มนุษย์ยุคนี้จะอยู่ได้อยู่ดีมีความผาสุกอย่างแท้จริง
ช่วงนี้สนุกกับการทดลองเอาใบไม้มาเลี้ยงวัว ได้ปรึกษากับน้าอาน คนที่ดูแลเรื่องวัว ในการที่จะออกแบบการเลี้ยงวัวให้เข้ากับยุคสมัย ถึงเราจะปลูกหญ้าไว้บ้าง ปล่อยวัวเข้าไปในแปลง ตอนแรกนึกว่าจะสบายๆ ที่ไหนได้ นอกจากวัวจะเดินเล็มยอดหญ้าแล้ว บางตัวก็ถอนและย่ำหญ้าให้ยอบแยบย่อยยับ จึงเปลี่ยนแผน แทนที่จะเอาวัวไปหาหญ้า เปลี่ยนเป็น เอาหญ้ามาหาวัวดีกว่า วิชาคำนวณมาเกี่ยวข้องตรงจุดนี้ เราจะต้องเกี่ยวหญ้ากี่กิโล/วัน ถ้าจะเอาใบไม้มาสับผสมเป็นอาหารหยาบ จะต้องใช้ใบไม้ชนิดใดบ้าง ในสวนเรามีกี่ชนิด
วิชาประมาณการเข้ามาตรงจุดนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีใบไม้ชนิดใดเอาไปเลี้ยงวัวได้ ส่วนหนึ่งคงได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวไร่ชาวนาเขารู้อยู่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งเราต้องหาเพิ่มเติม เพราะมีพรรณไม้ใหม่ๆจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในบ้านเรา น้าอานตั้งสมมุติฐานว่า..ไม้ชนิดไหนที่คนกินได้ วัวก็น่าจะกินได้ แง่คิดนี้ช่วยลดความเสี่ยง อีกด้านหนึ่งน่าจะสังเกตดูว่าไม้ชนิดใดที่วัวกินและไม่กิน
โจทย์สนุกๆอย่างนี้ละครับที่เราเอามาปรุงเมนูอร่อยๆให้วัวชิม เกิดคำถาม.. เราจะใช้สัดส่วนระหว่างหญ้ากับใบไม้กี่เปอร์เซ็นถึงจะมีโภชนาการที่เหมาะกับคุณมอๆทั้งหลาย นอกจากทดลองไปเรื่อยๆแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปริมาณของใบไม้ในแต่ละเดือนด้วย เช่น ช่วงปลายปี ชาวไร่ตัดอ้อยส่งโรงงาน เราก็จะอาศัยเอายอดอ้อยมาสับเลี้ยวัว ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์ เราก็จะใช้สัดส่วนจากยอดอ้อยมากหน่อย
เมื่อวานนี้ทดลองเอา ใบมะยม-ใบส้มเสี้ยว-ใบมะขามเทศ-ใบกระถิน-ใบกล้วย-ใบมะละกอ-ใบกระถินณรงค์-ใบหม่อน มาสับผสมกับหญ้า ปริมาณ1รถปิคอัพ ปรากฏว่าวัวอิ่มหนำสำราญดี ช่วงเย็นยังเอาฟางมาใส่รางให้เคี้ยวเล่นเป็นออเดิฟอีก กิ่งไม้ที่เลาะเอาใบออก ก็เอามาเป็นฟืนฟอนจุดไฟไล่ยุงข้างๆคอก จะเห็นว่าถ้าคิดรอบด้าน เราก็จะเห็นประโยชน์จากวัสดุครบวงจร
การทำงานในลักษณะเรียนรู้ เนื้อหาสาระจะดิ้นได้
ไม่มีคำว่าสำเร็จแล้ว จบแล้ว
จะมีคำถามผุดพรายมาท้าทายความคิดเราเรื่อยๆ
วิธีการเรียนตลอดชีวิตเป็นเช่นนี้เอง
ในโลกนี้ไม่มีความรู้อะไรที่นิ่งและถึงที่สุดแล้ว
บางทีสิ่งที่เราเห็นว่าเจ๋งที่สุด
ผ่านไปไม่กี่ปี เจ้าสิ่งที่คิดว่าเจ๋ง อาจจะเปลี่ยนเป็นเจ๊งก็ได้
ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง
ก่อนหน้านี้เจ้าโต๊กนกยูงตัวผู้จะส่งเสียงร้องดังมากทั้งกลางวันกลางคืน เราถอดรหัสไม่ออก ทำไมนกจึงมีพฤติกรรมอย่างนั้น จู่ๆเสียงเจ้าโต๊กก็เงียบหายไปเฉยๆ พบว่านกได้สลัดหางที่ยาวย้วยทิ้งทั้งชุด เหลือเฉพาะหางสั้นๆ ผมเข้าใจว่าถึงเวลานกก็จะถ่ายขนทิ้ง ผู้เลี้ยงก็จะรวบรวมหางสวยๆไว้ ช่วงนี้นกตัวผู้ตัวเมียก็จะคลอเคลียกัน หลังจากผ่านช่วงข้าวใหม่ปลามัน นกก็จะหันหลังให้กัน แต่ถ้ามีลูกเจี๊ยบก็จะช่วยกันเลี้ยงดู ถ้าไม่มีพันธะก็จะต่างตัวต่างอยู่ ไม่ได้ติดพันกันตลอด ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่ก็จะมีพฤติกรรมเช่นนี้ จะมีก็แต่มนุษย์กระมังครับที่อยู่ร่วมหัวจมท้ายกันตลอด.
“วิชาความรู้ก็เข้าทำนอง เก่าๆมันเป็นสนิม ใหม่กว่าไฉไลหนุงหนิง“
อิ อิ..
« « Prev : วิชาเกินเผชิญวิชาการ
Next : จะไปไหนดี » »
6 ความคิดเห็น
สวัสดีตอนสาย ๆ ค่ะ
ตอนนี้กทม.ฝนตกเปาะแปะ ๆ ช่วยให้อากาศเย็นลงได้หน่อยค่ะ
อ่านเรื่องใบไม้ที่นำมาเลี้ยงวัวแล้ว ยิ้ม ๆ หนูว่าหากเราเชื่อตามท่านหมอของพระพุทธเจ้า ชีวกโกมารภัจจ์ ใบไม้และพืชพันธุ์ไม้ทุกชนิดมีประโยชน์และเป็นยาได้ แม้แต่ชนิดที่พิษ หากสกัด ทำให้พิษเจือจางก็ยังเป็นยา เป็นประโยชน์ได้ด้วย
ส่วน“วิชาความรู้ก็เข้าทำนอง เก่าๆมันเป็นสนิม ใหม่กว่าไฉไลหนุงหนิง“ นี่ ไม่ออกความเห็นค่ะ
ว)
วันนี้คุณวิฑูรย์และคณะจากกรมป่าไม้มาคุยด้วย
มีโครงการขยายผลเกี่ยวกับการปลูกไม้หลายวัตถุประสงค์
มีโครงการปักกิ่งชำไม้พันธุ์ และเพาะไม้หอมขยายพันธุ์ทั่วอีสาน
โครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หน่วยงาน-สถาบันต่างๆ
อิอิ
อู้น่าสนใจครับพ่อครูฯ
ตอนนี้ต้นไม้มีน้อย ขยายเยอะๆๆ
ออตหาทำเลขายต้นไม้ก้ดีนะ
ขายด้วย ปลูกด้วย แนะนำด้วย
ที่สวนป่า ตกลงกันว่าจะเป็นหน่วยผลิต หน่วยอบรม หน่วยส่งเสริม หน่วยขี้โม้
อู้ ได้ครับครูบาฯ
หาที่าทำเลปลูกหาทำเลขาย เยี่ยมไปเลย