จุดแท้จริงของความเป็นคน
อ่าน: 2988ข้าพเจ้าเคยพบคนหลายคนที่มีความรู้สึกภายในใจรุนแรง จนแสดงออกมาทางกายวาจาว่า ท่านแน่ใจเป็นที่สุดแล้วว่า ท่านเป็นคนเต็มเปี่ยมตามคำแปล หรือความหมายของคำว่า คน. ท่านหยิ่งตัวเอง เพราะเหตุนี้ และเห็นว่า เรื่องที่พวกเพื่อนๆ นำมาคุยมาเล่า ให้ฟังนั้นยังต่ำเกินไป ไม่ถึงขีดของความเป็นคน หรือเป็นเรื่องลัทธิครึ เก่าเกินสมัยเรื่องใด เรื่องหนึ่งเท่านั้น
ทีนี้ ข้าพเจ้า ตั้งอกตั้งใจ พิจารณาดู จุดแท้แห่งความเป็นคน ของท่าน เหล่านั้นว่า คืออะไรกันแน่ ในที่สุด พบว่า จุดแห่งความเป็นคน ของท่านเหล่านี้ ตามที่ท่านเข้าใจ ก็คือ การที่ ท่านสามารถหารายได้มากๆ ทำงานเบา มียศศักดิ์สูงๆ และสามารถหาความเพลิดเพลินทุกประการ มาให้แก่ตนได้ ตามวิธีหรือลักษณะที่นิยมกันว่า เป็นการกระทำของคนชั้นสูง หรือ จะสรุปให้สั้นที่สุด ความเป็นคนของท่าน ก็คือ ความมีเกียรติอันสูงสุด นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เข็มอันชี้จุดแห่งความเป็นคนของท่าน ก็ได้ชี้บ่งไปยัง การได้ทำงานชนิดมีเกียรติมาก มีผลมากนั่นเอง และทำด้วยตัณหา คือ ความอยาก เป็นนั่น เป็นนี่.
ความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ได้ขยายตัว ออกไป ตามแนวนั้น อีกว่า คน คือสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเห็นแก่ตัวจัด เป็นทาสแห่งความทะเยอทะยานของตัวยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ ทุกชนิด และ คน คงมิใช่ สัตว์ที่เกิดมาเพื่ออิสรภาพ และความสุขอันสงบ เพราะถ้าเกิดมาเพื่อความสุขสงบ ก็คงไม่ยอมตน เป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ที่บังคับให้ทำให้คิดเพื่อตัวทุกๆ ชั่วโมง แม้เวลาหลับก็ยังฝัน แม้บนเตียง ที่นอนเจ็บ ก็ยังครุ่นคิด เพื่อการหาสิ่งบำเรอตัว สัตว์ที่ไม่ใช่คน ย่อมได้รับการพักผ่อน หรือ ความสงบ ยิ่งกว่า สัตว์ที่เรียกว่า คน ประเภทนี้ มากนัก
อีกอย่างหนึ่ง คนคือสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่ง ขยาย “พวงอัตตา” หรือ “พวงตัว” ออกเรื่อยๆ โดยไม่มีเวลาสิ้นสุด และการขยายนั้น ก็เพื่อตนจะได้แบกไว้เองเท่านั้น ครั้งแรก มีอัตตาหรือ ตัวเพียงตัวเดียว พอ “ความเป็นคน” มากขึ้น ก็มี ภรรยา สามี ลูกหลาน ข้าทาสบริวาร หรือ อันเตวาสิก สัทธิวิหาริกพอกขึ้นเป็นพวง เมื่อสิ่งที่เรียกว่า “บุญบารมี” มากขึ้น บริวารเหล่านั้น ต่างก็มี การขยายพวงของตัว ออกไปๆ และพวงน้อยๆ เหล่านั้น รวมกันเป็นพวงใหญ่ พวงเดียว อีกต่อหนึ่ง โดยมี อัตตา ตัวแรกนั่นเอง อ้าออกรับ เป็นเจ้าของพวง ผู้มีเกียรติ หยิ่งตัวเอง เสมอว่า การที่สามารถ หิ้วพวงใหญ่ๆ เช่นนั้น ไว้ได้นั้น เป็น “เกียรติอันสูงสุด” นี่เป็น จุดหมายของความเป็นคนปริยายหนึ่ง ซึ่งน่าจะสรุปได้สั้นๆ ว่า เกียรติของความเป็นคนก็คือ การเกิดมาเพื่อแบกพวงอัตตา พวงใหญ่ๆ นั่นเอง กระมัง
อีกปริยายหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะเด่นอยู่มาก ก็คือว่า คนได้แก่สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเอาเปรียบผู้อื่นเป็น และรู้สึกว่า ผู้อื่นเอาเปรียบตนก็เป็น. ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นความรู้สึกที่หาได้ยากในสัตว์ จำพวกนกหนู เมื่อ “ความเป็นคน” ยังน้อยอยู่ ก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าใครเอาเปรียบตน หรือ ลูบคมตน เมื่อความเป็นคนชนิดที่กล่าวนั้น มีมากขึ้น เรื่องนิดเดียว และ ชนิดเดียวกันนั่นเอง กลับเห็นเป็นเรื่องที่ ผู้อื่นลูบคมตน เอาเปรียบตน ไม่เคารพตน ผู้เป็นหัวหน้าหมู่อย่างใหญ่หลวง และมักหาเรื่อง ลงโทษ ลูกหมู่ หรือ ลูกพวง เป็นการประดับเกียรติของตน ถ้าจะกล่าว อีกอย่างหนึ่ง ก็ได้ว่า คน คือ สัตว์ที่รู้จักผูกโกรธ หรือแก้แค้นเพื่อนฝูงด้วยกัน ในกรณีที่สัตว์ซึ่งต่ำกว่าคนทำเช่นนั้นไม่เป็น จุดหมายของความเป็นคนตามนัยนี้ น่าจะได้แก่ การไม่ยอมให้ใครมาลูบคม เล่นได้นั่นเอง
เมื่อข้าพเจ้า ได้สังเกต ลักษณะแห่งความเป็นคนของบรรดาท่าน ซึ่งท่านแน่ใจตัวเองว่า ถึงขีดสุด ของความเป็นคน จนพบว่า ท่านหมายถึงอะไร โดยนัย ที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่า ข้าพเจ้าเข้าใจ ท่านเหล่านั้น ได้ถูกต้องทำให้ต้องซักซ้อมดูอีกเป็นหลายครั้ง แต่ในที่สุด ก็ไม่พบอะไร มากไปกว่านั้น จึงยุติว่า ความเป็นคน ตามความหมายธรรมดา เท่าที่มีที่เป็นกันอยู่ในจิตใจมนุษย์เรานั้น ไปได้ไกล เพียงแค่นั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังไม่พอใจว่า ความเป็นคน มีเพียงเท่านั้นเอง น่าจะมี เป็นอย่างอื่น.
ทีนี้ เราจงชวนกัน มามองไปยัง บุคคลประเภท ที่ไม่มีอัตตา เห็นตนเอง และผู้อื่น เป็นเช่นกับ พืชพรรณ ธัญญชาติ ซึ่งต่างก็เกิดขึ้นแล้ว เจริญงอกงาม และดับไปในที่สุด ตามเรื่องของตนๆ พวงอัตตา ของคนประเภทนี้ ก่อขึ้นไม่ติด ครั้นหนักเข้า ตัวเองก็ไม่มี คน หรือ สัตว์ก็ไม่มี ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ถือพวกถือพวง ไม่รู้สึกว่า ได้เกียรติหรือเสียเกียรติ ทำงานเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้ของร่างกายนี้ เพียงเพื่อต้านทาน ธรรมชาติ ใช้หนี้ธรรมชาติ ตามที่ปัญญา บ่งให้ทำเฉพาะในด้านกาย เช่น พ่อแม่เลี้ยงตนมา ก็เลี้ยงตอบแทน เมื่อยังไม่หลุด ก็ต้องเลี้ยงลูกหลานของตนเอง ใช้หนี้ธรรมชาติอันนี้ ไม่รู้สึกว่ามีใคร เสียเปรียบได้เปรียบในโลกนี้ มีแต่สิ่งทั้งหลายที่หมุนไป ตามเหตุตามปัจจัย ยินดีที่จะให้อภัยกันเสมอ ถือหลักความจริง เป็นแนวแห่งการครองชีพ ไม่แสวง”บุญบารมี” มาเพื่อใช้ อำนวยการ สำเร็จความใคร่ ให้แก่ ความทะเยอทะยานอยากของตน ไม่อ้าออกรับ สิ่งทั้งหลาย มาเป็นของตน เหล่านี้ เมื่อเรามอง ซึ้งลงไปถึงหัวใจของเขา เรากลับพบว่า จุดแห่งความเป็นคนของเขานั้น ตรงกันข้าม จากของคนจำพวก ที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น ในที่สุด ข้าพเจ้า ก็กระทบกันกับ ปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น พวกไหนเล่า เป็นคนที่แท้จริง ตามความหมาย ซึ่งอาจเป็นที่พอใจได้ด้วยกันทุกฝ่าย.
๒๐ กันยายน ๒๔๘๔
คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง
เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน
ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ
ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา
เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันต์จริง
ใจสกปรก มืดมัว และร้อนเร่า
ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง
เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง
แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย
คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก
จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย
ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอยฯ
« « Prev : อุดมศึกษา
Next : คณิตศาสตร์ชี้ คนจำนวนน้อยก็ปฏิวัติสำเร็จได้! » »
6 ความคิดเห็น
อ่านไปก็รู้สึกว่าคล้ายๆฟังเทศน์และรู้สึกคุ้นๆกับภาษา
มารู้ตอนท้ายว่าใช่แล้ว อิอิ
เกิดมาล่อนจ้อน ไปก็ล่อนจ้อน
หัวเราะได้ ร่าเริงได้ อย่างอิสระ
เป็นคนจำพวก แซ่เฮ นี่ก็ดีแล้ว นะโยม
มันเป็นความจริงของมนุษย์ที่มี “อัตตา” สูง
จริง ๆ ครับ สาธุ ๆ ๆ
ท่านครูบาครับ
ตอนอาบน้ำก็ล่อนจ้อนครับ
อ่านจบแล้วได้คำอธิบายพฤติกรรมของ “คน” หลาย ๆ คนที่เราเคยไม่เข้าใจว่า เขาก็แค่เป็นคน คนละประเภทกับที่เรารู้จักและเข้าใจเท่านั้น