คุณลักษณะของ “ผู้นำ”
อ่าน: 6874เอาของเก่ามารีไซเคิลอีกแล้ว บันทึกนี้เป็นบันทึกเก่าซึ่งเอามาปรับปรุงครับ
เรื่องของ “ผู้นำ” มีผู้รู้เขียนไว้มากมาย ตลอดจนมีคำแนะนำ+ข้อคิดเห็นดีๆ แต่ก็ยังขาดประเด็นที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนกับสมาชิกคือ ความหมายและหน้าที่ของผู้นำ เลยอยากจะขอลองเรียบเรียงความคิดดูครับ
Warren G. Bennis (เกิด พ.ศ. 2468 และยังมีชีวิตอยู่) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้าน Leadership ได้ให้คำนิยามของคุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำไว้ดังนี้: (ตัวเอียงเป็นคำอธิบาย+การตีความของผมเอง)
- มี Guiding Vision ผู้นำที่ดีรู้ว่าต้องการจะต้องทำอะไร พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้งานบรรลุผล และแม้เจออุปสรรคขัดขวาง ก็หาวิถีทางที่จะฝ่าฟันจนบรรลุผล –»» มีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นเหมือนแสงนำทางไปสู่ความสำเร็จ โดยการสื่อสาร+สร้างแนวร่วม+สร้างแรงบันดาลใจกับทั้งองค์กร การเป็นผู้นำไม่ได้เป็นแค่ “ผู้มีวิสัยทัศน์” เท่านั้น
- มี “ความหลงไหล” ในเป้าหมาย (Passion) พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง รักในสิ่งที่ทำ จึงสามารถใช้สิ่งนี้ กระตุ้นตัวเองให้ฝ่าฟันต่ออุปสรรคต่างๆ ได้โดยไม่ย่อท้อ –»» ” ความหลงไหล” ในเป้าหมายนั้น หมายถึงว่าเป้าหมายเป็นสิ่งที่เขารัก เข้าใจดีว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดผลอย่างไร อยากแบ่งปันผลสำเร็จนั้นให้กับคนรอบตัว ความหลงไหลในความหมายนี้ ต่างกับความหมกมุ่นจนถูกครอบงำ (obsession); คำว่า Passion นี้ น่าจะใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า “ความรัก” ในคริสต์ศาสนา ซึ่งมีความหมายไปในแนวความรักในเพื่อนมนุษย์ และบอกเป็นนัยถึงความเสียสละด้วย ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในการเผยแพร่ศาสนา และมูลนิธิองค์กรการกุศลต่างๆ
- มีความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในคุณธรรม ในความถูกต้อง ในความจริง (Integrity) เพราะว่าผู้นำที่ดีเข้าใจตัวเองเป็นอย่างดี พวกเขาจึงรู้จักจุดด้อยของตน และสามารถหลีกเลี่ยงจุดด้อยเหล่านั้นได้ด้วย เขาจึงไม่ให้สัญญาพล่อยๆ ในสิ่งที่ไม่สามารถจะทำได้ พวกเขาจึงสามารถ “แผ่รังสีแห่งความซื่อสัตย์” ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว อันเป็นผลให้พวกเขาได้รับความเชื่อถือ (trust) เป็นอย่างมากจากบุคคลในองค์กร และสามารถเป็นตัวแทนขององค์กรได้โดยไม่มีผู้ใดขัดข้อง — ศ.เบนนิส แยกเรื่อง trust ออกจาก integrity; integrity เป็นเหตุ ส่วน trust เป็นผล
- มีความอยากรู้อยากเห็น ไม่หยุดนิ่ง (Curiosity) ผู้นำเป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้แสวงหา พวกเขาตั้งคำถามกับผลของการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน พวกเขาแสวงหาคำตอบที่จำเป็นต้องรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ –»» ผู้นำ ไม่ได้หยุดนิ่งเมื่อสามารถนำพาองค์กรบรรลุเป้าหมายแล้ว แต่กลับมองหาสิ่งที่สามารถจะปรับปรุงได้ มองหาโอกาสใหม่ เป้าหมายใหม่ อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองอยู่ตลอดเวลา
- ทัศนคติต่อความเสี่ยง (Risk) ผู้นำคำนวณผลของความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า หากมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้นำที่ดีสามารถเรียนรู้เหตุแห่งความผิดพลาดนั้นได้ เพื่อที่จะมองหาโอกาสอื่นๆ ได้ดีขึ้น ผู้นำที่ไม่เสี่ยงอะไรเลย ไม่สามารถจะเป็นผู้นำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเป็นผู้นำในทางธุรกิจ
มีผู้รู้อีกมากมายที่ เพิ่มเติมต่อยอดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ แต่ผมชอบที่ ศ.เบนนิส ให้ความสำคัญกับการอธิบายสิ่งที่ผู้นำจะต้องทำมากกว่าการพยายามหาคำสวยหรูมา บรรยายผู้นำ
ยิ่งกว่านั้น ศ.เบนนิส ยังให้นิยามเกี่ยวกับคุณภาพของผู้นำ ไว้อีก 6 มิติคือ ความซื่อสัตย์ (Integrity), ความทุ่มเท (Dedication), ความมีคุณธรรม (Magnanimity), ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility), ความสามารถในการเปิดใจต่อความแตกต่าง (Openness) และ ความสามารถในการริเริ่มตลอดจนการคิดนอกกรอบ (Creativity)
เมื่อพิจารณาดูตามแนวคิดของ ศ.เบนนิส จะพบว่าผู้นำไม่ใช่พวกคนทรงเจ้าหรือผู้ที่สามารถติดต่อกับวิญญาณศักดิ์ สิทธิ์ ที่จะหยั่งรู้อนาคตและนำพาองค์กรฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆไปได้ แต่ผู้นำเป็นเพียงคนธรรมดาที่มีความเหมาะสมสำหรับหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ส่วนผู้นำสามารถจะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ กลับขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ ความร่วมแรงร่วมใจ และความเชื่อใจเชื่อถือกันในองค์กรต่างหาก
ผมเคยถามพนักงานว่าอยากจะ ได้อะไร มีคำตอบหนึ่งน่าสนใจ เขาตอบว่า “อยากให้พนักงานทุกคนมีวิสัยทัศน์” คำตอบนี้ดีในแง่ที่ว่าพนักงานผู้นั้นมีความปรารถนาดีต่อองค์กร แต่ไม่ดีในแง่ที่เขาไม่ได้เข้าใจคำตอบของตัวเองอย่างลึกซึ้ง (แม้จะฟังดูดี) หากองค์กรหนึ่งมีพนักงานร้อยคน แล้วมีร้อยวิสัยทัศน์ องค์กรนั้นคงไม่ไปไหนเพราะไม่เกิดการรวมพลัง ขาด focus
คำว่าผู้นำเองนั้น ก็ยังมีหลายนัย เพราะว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องประกอบไปด้วยผู้ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันหลายๆ ด้าน (คลิกบนรูปวงกลมช้อนๆ กันเพื่อดูภาพขยาย) ในเมื่อกิจกรรมขององค์กรมีความหลากหลาย องค์กรกลับต้องการผู้นำในหลายระดับเพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมต่างๆ ประสานสอดคล้องกันเพื่อเป้าหมายใหญ่ขององค์กร
มีความสับสนระหว่างการ มีอำนาจสั่งการกับการมีภาวะผู้นำ ซึ่งผมเห็นว่าอย่างหลังมีความสำคัญที่จะช่วยให้งานสำเร็จได้มากกว่าหากเรา เชื่อว่าความสำเร็จในงานใดๆ เกิดจากการกระทำ ไม่ใช่คำสั่ง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ไม่ได้ยั่งยืนหากผู้ที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เห็นด้วยและไม่เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่แรก ความเป็นผู้นำ และภาวะผู้นำ สามารถเกิดขึ้นในระดับต่างๆ ขององก์กรได้เสมอโดยการฝึกฝน ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โตเสียก่อนค่อยคิดจะฝึก และหากภาวะผู้นำเป็นคุณสมบัติของผู้เป็นหัวหน้าในองค์กรใดๆ แล้ว ยิ่งต้องฝึกภาวะผู้นำตั้งแต่ยังไม่มีอำนาจเสียด้วยซ้ำ
ในบริษัทที่ผมทำงานอยู่ ใช้กลุ่มภารกิจ (taskforce) และคณะกรรมการต่างๆ ที่พนักงานเลือกตั้งกันเองเพื่อมาดูแลผลประโยชน์ของเหล่าพนักงาน (สหภาพ กองทุน สวัสดิการ ฯลฯ) เป็นเครื่องมือเสริมสร้างภาวะผู้นำนอกเหนือไปจากสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่เป็น ปกติืในการดำเนินงานอยู่แล้ว
« « Prev : มอง เฮฯ หก ผ่านเลนส์
Next : งานระพีเสวนา: การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท » »
4 ความคิดเห็น
ผู้นำต้องเหมือนน้ำ
-ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ(รู้จักลงมาดูแลลูกน้อง)
-ชำระล้างสิ่งสกปรก(ต้องรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่สั่งให้คนอื่นกระทำและเกิดผิดพลาด)
-ปรับตัวเข้ากับทุกภาชนะ(ต้องปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมได้ดี)
-น้ำมีความอ่อนนุ่มและรุนแรงอยู่ในตัว(ต้องรู้จักใช้)
-ผู้นำก็มาจากน้ำ…อิอิ
มาดุอัยการหน่อย รู้มั๊ยว่าเอ่ยคำไม่สุภาพ พูดผิดพูดใหม่ได้น่ะ….เอ๊ยไม่ใช่…เขียนผิดเขียนใหม่ได้…ไม่งั้นครูใหญ่เขาไม่คัดเข้าหมู่บ้านเฮนะ……55555
อิอิ มาลบต้องออก เอาต้องมาแหย่เล่น อิอิ