พระไม้ วันต่อมา
อ่าน: 10885ต่อจากเมื่อวาน แผลไม่ระบม จึงแกะพระต่อครับ
แต่จากคำแนะนำทั้งในความคิดเห็น ทาง SMS และโทรคุยกัน วิธีการมีมากมาย เลือกไม่ถูกเลย ผมชอบคำแนะนำของ อ.พฤษภ์ ที่ให้ใช้เลื่อย แต่วันนี้ยังไม่ได้ทำหรอกครับ สถานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ผมแอบทำไม่ให้พ่อรู้ แต่คนอื่นรู้กันทั้งบ้าน อีกอย่างหนึ่งคือ ผมไม่ค่อยไว้ใจตัวเองเวลาใช้เครื่องมือหยาบๆ ครับ
ครูบาแนะให้ลองที่กรอแบบหมอฟัน ราคาไม่แพง แต่ผมมีเครื่องมืออื่นอยู่แล้ว คือสว่านความเร็วสูง คอตรง ซึ่งมีหัวเจียร เพียงแต่ว่าหัวเจียรใช้ทำงานไม้ไม่ดีนัก (ละเอียดเกินไป) จึงต้องพลิกแพลง
ก็เลยจะไปซื้อกระดาษทรายหยาบมากๆ เดินดูไปดูมา ไม่ถูกใจ จะกลับอยู่แล้ว ไปเจอกระดาษทรายสำหรับเครื่องขัดแบบสายพาน มีสามแผ่นราคารวมสี่สิบกว่าบาท เลยหยิบมาชุดหนึ่งครับ เป็นสายพานกระดาษทรายเบอร์ 36 แต่จะใช้เบอร์ 40 ก็ไม่น่าเกลียด เบอร์ยิ่งต่ำก็ยิ่งหยาบ
ตัดกระดาษทราย เป็นวงเกือบกลม ไม่จำเป็นต้องกลมดิ๊ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ผมใช้สองชั้นประกบกลับหน้าหลังเพื่อให้แข็งพอ เจาะรู ใส่แกน แล้วต่อกับเครื่องเจียร
พบว่ากินเนื้อไม้มากกว่าหัวเจียรที่มากับเครื่อง แถมมีราคาถูก ทำเองได้ซะด้วย — หัวเจียรวางอยู่ข้างกรรไกร
ทีนี้ก็สนุกล่ะ ทำการขึ้นรูปต่อ จะเห็นส่วนลำตัวขององค์พระ ผมใช้สว่านกับหัวกระดาษทรายขัด ทำให้เรียบผิดปกติ แต่ส่วนเศียรพระ ยังใช้สิ่วเล็กขุดต่อไปครับ สะใจดี ได้แผลเล็กมาอีกแผลหนึ่ง รูปวันนี้ (ซ้าย) เทียบกับเมื่อวาน (ขวา) หลังเลือดสาด
“เรียนในห้อง…ได้ความรู้
เรียนนอกห้อง…ได้ความจริงเอาความรู้บวกกับความจริง
เราได้…ความรู้จริง”ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ หนังสือ “คนนอกระบบ”
ปราชญ์ชาวบ้านที่ไม่ชอบให้เรียกอย่างนี้
มหาชีวาลัยอีสาน บุรีรัมย์
9 ความคิดเห็น
มีประเด็นพูดกันในบรรดาช่างทำพระ นั่นคือหน้าของพระพุทธรูป หรือพระอื่นๆ ตลอดถึงยักษ์มาร ที่สร้างขึ้นโดยจินตนาการไร้แบบเหมือน ทำไปทำมามักจะเหมือนช่างผู้ทำ ไม่ว่าจะเป็นช่างวาด ช่างปั้น หรือช่างแกะ ดังนั้น คุณโยมควรใส่ใจเรื่องนี้บ้าง (…………………)
เจริญพร
งานแกะไม้เป็นรูปลอยตัวนี้ ยากในระดับหนึ่งอยู่แล้วที่จะไม่ทำให้งานเสียหาย ถ้าแกะลึกเกินไป งานทั้งชิ้นจะเสียหาย โปะคืนก็ไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเป็นปูนพลาสเตอร์ ก็จะง่ายกว่ามาก หรือถ้าเป็นงานปั้นขี้ผึ้งเพื่อนำไปหล่อโลหะ ก็จะทำงานตกแต่งได้ง่ายกว่ามาก อันนี้เอาไว้ฝึกความยับยั้งชั่งใจน่าจะดีครับ
ดังนั้น หน้าพระคงไม่เหมือนผมหรอกครับ ไม่เคยทำ ไม่มีทักษะ และไม่มีฝีมือ แต่มีแรงบันดาลใจครับ
สมัยก่อนเคยใช้เลื่อยฉลุ เรียนวิชางานไม้ ประดิษฐ์อะไรต่างๆค่ะ
ไม่ทราบจะเหมาะกับงานนี้ไหมนะคะ
แกะพระไม้หนึ่งองค์ เรียนพร้อมกันไปหมดทุกคน
DIY ขนานแท้….อิอิ
เรื่องแกะพระน่าสนใจ
เอาไว้ว่างจะลองแกะเหมือนกัน
บางที่หลวงพ่อโต้ง อาจจะมีเพื่อนชื่อหลวงพ่ออุ๊
พึ่งเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ แบบนี้มันสำหรับ wood cut แกะพวกไม้สำหรับทำภาพพิมพ์ ถ้าจะแกะรูปลอยตัวควรใช้สิ่ว อยู่ที่เนื้อไม้ด้วยแหล่ะ ถ้าไม้แข็งต้องใช้สิ่ว (มีหลายเบอร์ แบบเซาะโค้งก็มี แต่กทม.หาของดียาก ต้องอยุธยา) แต่ถ้าเป็นไม้เนื้ออ่อนประเภทไม้โมกก็พอใช้อุปกรณ์แกะ wood cut ได้ แต่เหนื่อยอีกนานกว่าจะเริ่มเป็นรูป และมีสิทธิล่ออีกแผล - - ” ส่วนเครื่องขัดกระดาษทรายแบบนี้พอได้แต่ไม่เวิร์ค ถ้าพอหาได้ก็แนะนำแบบที่ช่างทองใช้ เปลี่ยนปลายได้หมด ขัดก็ได้เป็นตัวเจาะก็ได้ ใช้เท้าเหยียบมอเตอร์ …เอาใจช่วย ขอให้ทำสำเร็จ และไม่ได้แผลเพิ่ม
ปล. แนะนำเพิ่มว่าร่างแบบสองฝั่ง หน้า หลัง และแกะเป็นลักษณะคนเหลี่ยมก่อน จากนั้นค่อยทำให้โค้งมนเก็บรายละเอียด จะง่ายขึ้น
ไม้แข็งพอประมาณ แต่มีสัณฐาน (ทรงกระบอก) ที่เล็กเกินกว่าจะใช้สิ่ว คือถ้ามันใช้ได้ ก็ใช้ไปแล้วล่ะ ที่บ้านไม่มีสิ่วโค้งจริงๆ ด้วย; เครื่องขัดทองก็น่าสนใจ