วิธีปฏิบัติที่รวบรัด

โดย Logos เมื่อ 5 June 2010 เวลา 15:54 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2956

บันทึกนี้คงจะจะรวบรัดมากครับ นำคำเทศนาของท่านพุทธทาสมาให้อ่าน

วิธีปฏิบัติที่รวบรัด

การปฏิบัติ จะทำอย่าง ค่อยทำ ค่อยไป นี้ มันจะตายเสียก่อน

ฉะนั้น ผมจึงถูกด่าถูกหา ถูกอะไรโดยคนทั่วไป จากผู้หลักผู้ใหญ่ว่าสอนนอกเรื่อง นอกแบบ เอาเรื่องโลกกุตตระ พ้นโลกเหนือโลกมาสอนประชาชน อย่างที่มีผู้ค้านอยู่เสมอ เขาเยาะเขาด่าอยู่เสมอ ว่าเอาเรื่องโลกุตตระมาสอนประชาชน นี้ไม่ใช่แต่ฆราวาสดอก พระเถระผู้ใหญ่ก็เคยดุผมอย่างมาก เรื่องเอาธรรมะ เรื่องหลุดพ้น มาสอนประชาชน หลายปีมาแล้ว เราก็ไม่ใช่คนดื้อดึง ใครพูดว่าอะไร เราฟังอย่างดี ฟังอย่างดีว่าเขาพูดนั้น ถูกหรือไม่ถูก จริงหรือไม่จริง มันก็เห็นว่ายังถูกอยู่ เห็นว่าทำอย่างนี้ มันยังถูกอยู่ ฉะนั้น จึงยังทำต่อไป ใครจะว่าอย่างไร จะด่าอย่างไร ก็ไม่สนใจเสีย

นี่มันเป็นการรวบรัด การปฏิบัติให้เร็วเข้า อย่าทำอะไร ให้มันมากเรื่องเลย ถือหลักว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ทำงานด้วยจิตว่างกินอาหารของความว่าง เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว นี้กระโดดมาทีเดียวอย่างนี้เลย แล้วขอให้ เป็นอยู่อย่างนี้ อยู่เรื่อยไป ผลสุดท้าย มันจะเหลือเหมือนที่พูดเมื่อตะกี้ ให้เหลือประโยคเดียวว่า ทำไปเพื่อโลก ทั้งเทวดา และมนุษย์ นี่เหลือทำเพื่อผู้อื่น ก็แล้วกัน ทำทุกอย่างเพื่อผู้อื่น เรื่องอื่นมันคิดตก หมดแล้ว ปัญหาอื่น มันตอบได้หมดแล้ว คิดตกหมดแล้ว ในที่สุด มันเหลือแต่ว่า ทำนี่ทำไป ทำเพื่อผู้อื่น อย่างนี้เป็น วิธีที่ดีที่สุด ที่ลัดที่สุด ที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุด แต่ว่าทำเพื่อผู้อื่นของเรา ที่เราพูดกันนี้ มีความหมายมากกว่าที่คนอื่นพูด

ที่คนอื่นเขาพูด ก็มีเยอะแยะไป ทำเพื่อผู้อื่น เป็นเรื่องศีลธรรมเด็กๆ เด็กอมมือทำเพื่อผู้อื่น ลูกเสือก็มี แต่เราทำเพื่อผู้อื่นนี้ ทำเหมือนอย่าง ที่พระพุทธเจ้า ท่านว่า คือ ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเรา ศีลธรรมเด็กอมมือ ก็มีตัวกู กูทำเพื่อผู้อื่น จะได้อยู่เป็นสุขด้วยกัน หรือว่า เขาจะขอบใจเรา หรือว่า เราจะมีเกียรติ นั่นทำเพื่อผู้อื่น ของเด็กๆ แต่ทำเพื่อผู้อื่น ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นั้น ก็คือว่า มันไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวกู แล้วจะทำเพื่อตัวกูได้อย่างไร มันทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวกู มันไม่มีตัวเรา ก็ทำเพื่อผู้อื่น เสียเรื่อยไปเลย กระดิกอะไรไปที่ไหน ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เสียเรื่อย

นี้ก็เรียกว่า นี่คือการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ที่สูงสุด จนเกินกว่า ที่จะเรียกว่าวิปัสสนา หรืออะไรๆ เสียอีก เพราะว่าคำว่า วิปัสสนา เดี๋ยวนี้มันแย่เต็มทีแล้ว เหมือนที่ผมเคยเล่าว่า ผมก็เคยถูกถาม ไปที่ไหนก็มักจะเคยถูกถามว่า ที่สวนโมกข์ทำวิปัสสนาไหม? นี่คุณคิดดูผมจะตอบอย่างไร? เขาถามว่าที่สวนโมกข์ทำวิปัสสนากันหรือเปล่า? มีคนกล้าถามถึงอย่างนี้ ถ้าเป็นวิปัสสนาตามแบบที่ผู้ถามว่า แล้วเราไม่มี เราไม่ทำด้วย ไม่อยากจะทำด้วย

วิปัสสนาตามความหมาย ที่ผู้ถามเขาถาม เราไม่อยากจะมี ไม่อยากจะทำ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ อย่างที่ผมว่า ที่จะเป็นวิปัสสนา หรือยิ่งกว่าวิปัสสนานี้ มันเป็นการทำในขั้นผลของวิปัสสนาเสียอีก นี่เรามี แต่เขาไม่เรียกว่า วิปัสสนา ผู้ถามนั้นไม่เรียกว่า วิปัสสนา

เพราะว่า เขาเข้าใจว่า เป็นอย่างอื่น ต้องตั้งต้น ตั้งแต่พิธีขึ้นครู ขึ้นครูบาอาจารย์ มีระเบียบพิธีต่างๆ ทำท่าทาง ต่างๆ เดินจงกรม ยุบหนอพองหนอ อะไรก็ตาม มันมากมาย ก่ายกองเป็นระเบียบ เป็นแบบที่ ผู้อื่นเห็นได้ เข้าใจได้ เห็นได้อย่างนี้ก็ได้ ใครๆ จะทำก็ได้ มันก็วิปัสสนา แล้วก็ตามแบบนั้น วิปัสสนาตามแบบนั้น แล้วก็เป็นตามแบบของตัวกู เสียด้วยซ้ำไป คือ วิปัสสนา อวดคน วิปัสสนา ทำให้คนเห็น วิปัสสนาของตัวกู มันก็จะแย่ไปเหมือนกัน นี่มันเพิ่ม ตัวกู-ของกู เขายังไม่รู้

ท้ายบทมีอ้างอิง ธ-ปาฎิ-๒ ๓๑.ก/๓๕๓-๓๕๔ ที่จริงท่านอ้างของ [353]-[354] แต่ผมลิงก์มาให้อ่านทั้งหมดครับ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น

« « Prev : ประชา(ธิป)ตาย

Next : ท่านพุทธทาสฝากไว้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 June 2010 เวลา 22:44

    อืม…มีความเหมือนในความคิด(คงบังเอิญค่ะ)..คือระยะหลังมานี้คิดว่า พิธีการต่างๆที่ยุ่งยากนำไปสู่ความยุ่งยากในการปฏิบัติ และทำให้เหลือเวลาน้อยลงที่จะทำให้ไปถึงแก่นหรือเป้าหมาย…เวลาที่น้อยลงก็ทำให้ยุ่งยากและต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าจะถึงเป้าหมาย
    ลีลามากไป ก็ได้ทำสิ่งที่ควรทำน้อยลง
    …คิดอย่างนี้และทำอย่างนี้ ก็รู้สึกว่าแต่ละวันได้ทำอะไรๆมากขึ้นเยอะเลย
    อ่านแล้วก็คิดว่าที่ทำๆ อยู่ก็มาถูกทางเหมือนกัน

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 June 2010 เวลา 0:44
    พิธีการ,พิธีกรรม,formality ถ้างดเสียได้ ก็จะดีครับ ถึงงดไม่ได้ ลดเสียบ้างก็ยังดี

    พิธีการ,พิธีกรรม,formality,ลีลา เป็นรูปแบบ ไม่ใช่เนื้อหาครับ

  • #3 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 June 2010 เวลา 8:55

    มองมุมกลับ พิธีกรรม นั่นแหละ ของจริง ส่วน การบรรลุธรรม จัดเป็นสิ่งเพ้อฝัน

    อย่าว่าการปฏิบัติธรรมชั้นสูงเลย การแนะนำให้พระ-เณรไปเรียนหนังสือ หรือการพูดให้ญาติโยมผู้สูงอายุละความเชื่อถือบางอย่าง ก็ยากส์สุดๆ

    ประสบการณ์จากในวัด… ท่านพุทธทาส นั้น พระส่วนใหญ่หรือเกือบทุกรูปยอมรับ ส่วนบรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านพุทธทาส ทั้งที่เป็นผ้าเหลืองและผ้าลายที่มีชื่อปรากฎในบู้ลิ้ม พระหลายรูปหรือบางรูปไม่ค่อยยอมรับ เพราะสิ่งที่เค้าเป็นอยู่ต่างจากสิ่งที่เค้าพูด

    ความจริงคือสิ่งที่รู้แล้วและสิ่งที่ยังไม่รู้ สิ่งที่รู้แล้วเป็นเพียงสะเก็ดเล็กน้อยที่แตกตัวออกมาจากสิ่งที่ยังไม่รู้ซึ่งมีขนาดมหึมา…

    ก็ยกคำของท่านพุทธทาสนั่นแหละมาสรุปว่า “โลกนี้มีแต่คนบ้า !”

    เจริญพร

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 June 2010 เวลา 10:07
    ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์แม้ว่าเป็นผู้ที่สดับตรับฟังธรรมมากกว่าใครทั้งนั้น ก็ยังไม่บรรลุอรหัตตผลนะครับ

    แต่เมื่อได้ ก็ได้ด้วยตนเอง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.71814107894897 sec
Sidebar: 0.56943297386169 sec