เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง

โดย Logos เมื่อ 27 June 2010 เวลา 16:14 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการ, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 6340

ถูกใจประโยคที่ว่า เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง มานานแล้ว ไม่รู้ใครคิดขึ้น แต่ก็อยากขอบคุณครับ

ประโยคนี้ ตรงกับสภาพของจิตที่รับอารมณ์ได้ทีละอย่าง หรือไม่ก็อยู่เฉยๆ ได้เท่านั้น (เหมือนระบบไบนารี่) แต่จิตมีความไวสูง บางทีถ้าเราไม่ละเอียดพอ ก็จะไปคิดว่าเราคิดอะไรได้ทีละหลายๆ อย่าง พอไม่สังเกตเรื่องนี้เข้านานๆ ด้วยความเคยชิน ก็มักจะคิดว่าคนเก่งสามารถทำอะไรได้ทีละหลายๆ อย่าง พร้อมๆ กัน ซึ่งขัดกับธรรมชาติของจิต

ด้วยความไม่เข้าใจ และด้วยความฉาบฉวยเร่งด่วนของสังคมปัจจุบัน เราก็มักให้คุณค่ากับคนที่ทำอะไรได้สำเร็จ-รวดเร็ว-หลายอย่างพร้อมกัน จนคนเหล่านั้น กลายเป็นกระโถนรองรับความคาดหวังของคนรอบข้าง โดยไม่ยอมเรียนรู้ถึงเคล็ดลับในการทำอย่างนั้น ว่าเป็นเรื่องของการวางแผน วางจังหวะที่จะทำงานแต่ละอย่างอย่างพอเหมาะ เพื่อให้เกิดงานโดยไม่มีการรอ (เป็น pre-emption)

คนที่ทำงานสำเร็จนั้น ทำทีละอย่างครับ พิจารณาให้ชัดก่อนลงมือทำ ไม่รีบร้อนลงมือทำโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไร

หากปริมาณงานหรือปริมาณปัญหาที่ต้องแก้ไข มี 10 ปัญหา ปัญหาละ 10 หน่วย ก็ต้องการกำลังสำหรับการทำงาน 100 หน่วยงาน จะมาคิดว่าคนที่ทำอะไรก็สำเร็จ เป็นคนบ้าพลัง ทำอะไรก็ได้นั้น มันไม่ถูกหรอกครับ คนแต่ละคนอาจจะมีกำลังไม่เท่ากัน อาจจะมีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี งาน 100 หน่วย ก็ต้องการกำลังในการทำงาน 100 หน่วย บางทีอาจมากกว่านั้นเสียอีกในกรณีที่มีความสูญเปล่าในกระบวนการ (เช่นความขัดแย้ง หรือการเมือง ซึ่งนับเป็น overhead หรือ loss)

ซึ่งก็เหมือนกับความพยายามแก้ปัญหาอันซับซ้อนของสังคมไทย นะจ๊ะ หมักหมมมาหลายสิบปี จะแก้ให้หายแบบชั่วข้ามคืน เมพไปหรือเปล่า??

การชี้ปัญหา พูด เขียน วิพากษ์วิจารณ์ ยี้ แหวะ ชี้นิ้ว สั่ง ตั้งกรรมการ ฯลฯ ดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจดี แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้แก้ไขอะไรให้ลุล่วง ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมกัน ก็น่าจะช่วยกันลงมือทำให้แก้ไขได้ลุล่วงไปครับ

องค์กรรวมกันอยู่ได้ด้วยประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น หากเป็นประโยชน์เฉพาะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มันก็ไม่เหลือสภาพขององค์กรแล้ว เช่นเดียวกับสังคมเหมือนกัน

งาน 100 หน่วย ก็ต้องการกำลังอย่างต่ำ 100 หน่วยในการทำงานนั้นให้สำเร็จ แต่ถ้ามีกำลัง 300 หน่วย งานนั้นคงจะเสร็จเร็วขึ้น (ถ้าไม่ต้องมาประกาศเกียรติคุณว่าแต่ละคนใน 300 คนนั้น ทำอะไรกันมาบ้าง) ถึงที่สุดแล้ว ทั้ง 300 คน ไม่ว่าจะทำมากหรือน้อย ยากหรือง่าย ต่างก็ได้รับประโยชน์จากงานนั้นไปโดยอ้อม เพราะว่างานที่ทำนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกัน

ถ้าหากไม่ช่วยกัน ก็คงเป็นเหมือนนิทานชาดกเรื่องนกกระจาบครับ

« « Prev : Moving Dots++

Next : ผลของเรื่องเล่า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 June 2010 เวลา 19:49

    จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้ยิน มาจาก ดร. แสวง ที่สวนป่า จะมีคำว่า “กินทีละคำ ทำทีละอย่าง” กับ “ออกไปนอกโลกตัวเอง” ที่พี่นำมาพิจารณาใช้ค่ะ

    คนที่ทำอะไรหลายอย่างไม่ใช่บ้าพลังหรอก..เห็นด้วยนะคะ แต่คิดว่า เขามีพลัง มากกว่า คือมีพลังของการคิดวิเคราะห์มองไปข้างหน้า และวางแผน(ถึงอาจจะไม่ได้ร่างแผน) และมองถึงการเชื่อมโยงของหลายๆอย่าง จนทำให้สามารถทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกันไปในลักษณะเหมือนทำพร้อมๆกัน แต่ก็ยังทำทีละอย่างนั่นแหล่ะ

    ปัญหาที่มักเจอคือ คนส่วนหนึ่งไม่ชอบมองที่การป้องกันปัญหา แต่ชอบที่จะปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาแล้วตื่นตระหนกแก้ไข…แถมวิธีแก้ไขก็คือชอบให้มีใครสักคนเป็นอัศวินม้าขาวมาจัดการซะอีก…และอัศวินที่ถูกมองหรือวางตัวก็มักจะเป็นพวกที่มีคุณสมบัติข้างบนนั่นแหล่ะค่ะ

  • #2 nontster ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 0:00

    ถ้าคนใน 300 หน่วยมัวแต่ทะเลาะกัน งาน 100 หน่วยก็อาจไม่เสร็จเลยครับ นี่ล่ะความพิเศษของมนุษย์

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 0:20

    คำนี้มาจากปราชญชาวบ้านครับ ท่านไหนจำไม่ได้ เพราะเอาไปใช้กันมาก เหมือนกับคำที่ว่า  “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” อันนี้เป็นของพ่อเล็ก กุดวงษ์แก้ว ต้นตำหรับ “เครือข่ายอินแปง” แห่งกุดบาก สกลนครครับ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 0:21

    อาจเป็น “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ครับ

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 0:45
    #1 พี่สร้อยเป็นอาจารย์ดีแล้วครับ อย่าเป็นอัศวินีเลย

    #2 หรือว่า 300 หน่วยต่างทำแต่เรื่องของตนเอง ไม่สนใจเป้าหมายร่วมกัน 100 หน่วยที่เป็นของส่วนรวมก็อาจจะไม่เสร็จเหมือนกันนะครับ

    #3-4 ขอบคุณครับพี่บู๊ด ข้อมูลทางโสทรบอกว่า ได้ยินคำนี้มาจากเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะมาจากปราชญ์ชาวบ้านท่านใดท่านหนึ่ง คำพูดของปราชญ์ชาวบ้านนั้น ฟังง่ายแต่กินใจ จึงเข้าถึงชาวบ้าน ไม่ซับซ้อนเหมือนของคนเมืองหรือคนในตัวเมือง (อ้อ พ่อผาย@ลำปลายมาศมี Fan Page อยู่บน Facebook ด้วยครับ)

  • #6 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 9:55

    ช้าช้าบ้างครับ
    อย่าวิ่งมันเหนื่อย อาจจะหัวใจวายตายก่อน
    บางคนชอบวิ่งใส่เมื่อเ็ห็นโอกาส มันเหนื่อยงะ

  • #7 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 15:34

    ไม่แน่เหมือนกันค่ะ..อิอิ

    แต่ที่เขียนเพราะนึกถึงผู้ใหญ่ในประเทศ ที่ท่านมักถูกดึงชื่อมาเพื่อให้เป็นอัศวินกู้ชาติเมื่อมีปัญหา ทั้งๆที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านแนะนำการป้องกันปัญหาภาคสังคมผลักดันภาคประชาชนมาตลอดน่ะค่ะ

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 June 2010 เวลา 17:27
    #6 ช้าหรือไม่ช้า ตัวเราเองควรจะเป็นผู้รู้ดีที่สุดนะครับ เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าแบบไหนเหมาะกับเราเท่ากับตัวเรา มีปัญหาใหญ่ว่าบางทีเราก็ไม่รู้เพราะว่าไม่หมั่นสังเกต — เร็วของคนหนึ่งคือช้าของอีกคนหนึ่ง ช้าของคนแรก คือโครตช้าสำหรับคนที่สอง — เร็วช้าเป็นการเปรียบเทียบแบบสัมพัทธ์ครับ

    แต่ผมเข้าใจประเด็นของอาจารย์ออตนะ เคลื่อนที่เร็วๆ มองภาพใกล้ๆ ไม่ชัด (เพราะไปเร็ว) เห็นได้แก่วิวไกลๆ เปรียบเหมือนจะไปเร็ว มองได้แต่ภาพใหญ่ จำต้องละเลยรายละเอียดไปมาก จึงอาจเบียดเบียนใครเข้าไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ; ไปช้าๆ เห็นรายละเอียดเยอะ(ถ้าสังเกตเป็น) แต่มันช้ากว่าจะถึงเป้าหมาย ดีที่ว่าถ้าใส่ใจในงานจริง ก็จะไม่เหยียบอวัยวะของใคร [เส้นตาย]

    #7 ฮาๆๆ นั่นล่ะครับ ผมไม่คิดว่าคนเพียงหยิบมือ จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน มโหฬาร และหมักหมมมานานแล้วได้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งโครงสร้างและตัวบุคคล ซึ่งทำให้ผมสงสัยเหมือนกัน ว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์รู้จักผู้ถูกวิจารณ์ดีแค่ไหน รู้ปัญหา รู้ข้อจำกัดดีหรือ ซึ่งถ้ารู้ดีจริง ทำไมปล่อยให้ปัญหาลุกลามมาจนปัจจุบันโดยลงไม่มือแก้ไขเสียเองในทันที [วิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์ วิจัย วิจักขณ์]

    ผมคิดว่าผู้ใหญ่ในกรณีที่พี่สร้อยกล่าวถึงก็รู้ความจริงข้อนี้ดี แต่เสียสละและมีกล้าหาญพอที่จะมาล่อเป้า อย่างน้อยก็ทำตัวเป็นเป้า(ซึ่งต่างกับทำตัวเป็นหลักชัยหรือความสำเร็จ)ให้คนมองทิศทางออก เมื่อผู้คนเห็นทิศทางแล้วต่างขยับไปทางนั้น ก็จะมีพลังในการขับเคลื่อนการแก้ไข แต่ถ้าคนคิดว่าทิศทางนั้นไม่ใช่ทางออก ก็จะมีคำวิจารณ์ออกมาเพื่อใช้พิจารณาปรับทิศทางครับ

    การวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนของโลกธรรม ตัวคำพูดไม่ได้ทำให้ใครดีขึ้นหรือเลวลง การกระทำต่างหากครับที่ทำให้แยกแยะได้ว่าอะไรเป็นกุศลธรรมธรรม อะไรเป็นอกุศลธรรม — ผมเอาคลิปไปแปะเพิ่มในบันทึกครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 3.6937839984894 sec
Sidebar: 0.17692399024963 sec