วัดมงคลชัยพัฒนา สระบุรี

อ่าน: 3874

สืบเนื่องจากบันทึกที่แล้ว จะถวายพระในวันศุกร์ แต่ว่าวัดมีงานใหญ่ เกรงว่าจะไม่สะดวกสำหรับพ่อแม่ซึ่งอายุมากแล้ว

วันนี้ก็เลยชวนกันนำพระไปถวายที่วัดมงคลชัยพัฒนาในตอนบ่ายเลยครับ (14.60216°N, 100.90844°E) วัดนี้มีทั้งปริยัติและปฏิบัติ แต่เนื่องจากไม่ได้นัดไว้ล่วงหน้า ท่านเจ้าอาวาสไปปากช่องเพื่อนำอะไรบางอย่างกลับมาในงานของวัดในวันศุกร์ แต่เจ้าหน้าที่ของวัดได้ต่อโทรศัพท์ให้คุยกับเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสได้มอบให้รองเจ้าอาวาส (พระมหาสายชล) รับพระแทน

ตั้งพระไว้ตรงนี้ก่อน เพื่อที่แขกสำคัญจะได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในวันศุกร์ หลังจากนั้นจะย้ายไปประดิษฐานภายในพื้นที่ปฏิบัติธรรม ให้สมกับเป็นบรมครู

เมื่อปี 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสเกี่ยวกับเกร็ดของวัดมงคลชัยพัฒนานี้ไว้นิดหน่อย แต่เมื่อได้อ่านทั้งหมดแล้ว ผมเชิญพระราชดำรัสทั้งองค์มาดีกว่าครับ เผื่อว่าใครจะได้คิดอะไรบ้าง


พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
วันอาทิตย์ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗

ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาให้พรโดยผ่านนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย). สำหรับการให้พรในโอกาสวันเกิดครั้งนี้ จำนวนผู้ที่มาในวันนี้ นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในโอกาสแบบนี้. ตัวเลขขึ้นไปถึงเก้าพันกว่าคน ซึ่งทำให้นึกถึงว่าปีก่อนๆ นี้มี เจ็ดพันแปดพันคน นึกว่ามาก เพราะเปรียบเทียบกับจำนวนน้ำที่มีอยู่ในเขื่อน ซึ่งเวลาโน้นมีอยู่ประมาณหนึ่งพันล้านลูกบาศก์เมตร. แต่ปีนี้ที่มากันเก้าพันกว่าคน ดูสมดุล หรือดูไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำในเขื่อนภูมิพลที่มีน้ำถึงเก้าพันล้านลูกบาศก์เมตร. ทำให้นึกถึงว่าแต่ละปีๆ มีความเปลี่ยนแปลง แต่ว่าดุลของตัวเลข บางทีดูมาก บางทีก็ดูน้อย. เช่นที่บอกว่าเก้าพันคนก็ดูน้อย เพราะว่าเปรียบเทียบกับน้ำที่มีเก้าพันล้าน.

ทุกปีจะมีความเปลี่ยนแปลง และมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง. อย่างเช่นปีที่แล้วกับปีนี้ ความเปลี่ยนแปลงมีมาก. ปีที่แล้วพูดถึงภัยแล้ง และอุทกภัย. ภัยแล้งมีมากและอุทกภัยมีบ้าง ปีนี้ภัยแล้งมีบ้าง และอุทกภัยมีมาก. มีความแตกต่างกันมาก.

แต่อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงดังนี้ ก็รู้สึกว่าคนเขาไม่ค่อยบ่นนัก เพราะว่าภัยแล้งนั้น คนกลัวมาก เพราะคนเราต้องมีน้ำสำหรับบริโภคอุตสาหกรรมก็ต้องมีน้ำสำหรับใช้เพื่อที่จะดำเนินกิจการ ทุกสิ่งทุกอย่างจำเป็นที่จะต้องมีน้ำเพื่อที่จะปฏิบัติงาน หรือดำรงชีวิต. ฉะนั้นเมื่อฝนลงมาและมีความเดือนร้อนของอุทกภัย เสียงที่บ่นจึงมีไม่มากนัก. ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ย่อมต้องเดือดร้อนย่อมต้องบ่น แต่ว่าไม่มากนัก. อาจเป็นเพราะว่าเราอาศัยเทวดา.

เมื่อเดือนเมษา ฯ ก่อนสงกรานต์ มีคนเขาบ่นในกรุงเทพ ฯ ว่าปีนี้จะฉลองสงกรานต์กันอย่างไรเพราะน้ำไม่มี. จะสาดน้ำก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะหาว่าเปลืองน้ำ. จึงได้ติดต่อเทวดา ให้เทวดามาร่วมเล่นสงกรานต์ด้วย. และในวันที่ ๑๕ เมษา ฯ ถ้าท่านทั้งหลายจำได้ เทวดามาเล่นสงกรานต์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน. และตั้งแต่นั้นมา เทวดาก็ยังเล่นต่อ จนกระทั่งมีคนบอกว่า “พอแล้ว”.

มีคนมาติดต่อบอกว่า “ควรจะบอกเทวดาว่าขอให้เลิกเล่นสงกรานต์เสียที”. แต่ก็ได้บอกกับผู้ที่มาติดต่อว่า “ไม่ ไม่ติดต่อ เพราะว่าเทวดารู้ดีว่าทำอะไร”. แต่อย่างไรก็ได้ติดต่อกับเทวดา และเทวดาก็แจ้งมาว่า “เมื่อวันที่ ๑๕ เมษา ฯ นั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่มากรุงเทพมหานคร และเห็นบ่นกันมาก ก็เลยทำฝนให้มากๆ หน่อย อาจหนักมือไปหน่อย” แต่เห็นว่าพระราชาสุวรรณภูมิได้ทำฝนเทียม เทวดาก็ไปรายงานกับศูนย์เทวดาว่าพระราชาสุวรรณภูมิทำฝนเทียม. หัวหน้าเทวดาศูนย์เขาพระสุเมรุก็บอกว่า “อย่างไรก็ต้องทำเพราะว่าท่านขอมา”. ก็เลยทำจนกระทั่งมากไป. เทวดาแก้ตัวว่า เทวดาไม่ได้หนักมือ แต่พระราชาสุวรรณภูมิได้ทำด้วยจึงทำให้มีมาก.

อย่างไรก็ตาม ได้ถามเจ้าหน้าที่และได้ถามประชาชนทั่วๆ ไป. ส่วนใหญ่เห็นว่าการที่มีฝนมากนี้ ได้ผลดีมากกว่าผลเสีย. อันนี้ได้มีประชามติ คือสอบถามคนจำนวนมาก ว่าความคิดของเขาเป็นอย่างไร. การที่คนบอกว่าพอใจให้มีฝนมากดีกว่ามีฝนน้อยนี้ เป็นประชามติของประชาชนทั้งชาติ. แม้แต่คนที่เดือนร้อนก็บอกว่ายอม. การที่ในประเทศหนึ่งๆ จะมีความพอใจ จะต้องมีประชามติ และประชามตินี้จะปรากฏออกมา ไม่ใช่จะเป็นเอกฉันท์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือพันเปอร์เซ็นต์ อย่างที่เขาชอบพูดกัน ก็อาจจะเป็นความเห็นด้วยสัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าดีมากแล้ว. ถ้ามีการลงเสียง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ ทุกคนก็ยอมรับ ผู้ที่อยู่ใน ๒๐ เปอร์เซ็นต์นั้น ก็ควรจะยอมรับ.

ได้พูดถึงฝนแล้วก็ไพล่กลับมาพูดถึงประชามติ. แต่ก็นึกว่าคงไม่เสียหาย ที่พูดถึงความเห็น. ในระบอบประชาธิปไตย ว่าจะต้องให้คนเขาพอใจเป็นส่วนมาก เพราะถ้าหากว่า เสียงข้างมากนี้ไม่ชัดเจน คือหมายความว่าเมื่อมีการออกเสียง และก็มีความพอใจกันสัก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่ค่อยแน่. ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ หรือเห็นด้วยแต่ไม่อยากออกเสียง หรือไม่รู้เรื่อง. แต่อย่างน้อยต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยมาก. ถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยมีมาก ก็จะเกิดความไม่เรียบร้อย คือหมายความว่าเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้. ก็ขอปิดรายการนี้แต่แค่นี้ เพราะถ้าพูดไปเดี๋ยวจะมีการทะเลาะเบาะแว้งเพิ่มขึ้น.

นึกถึงอดีต อดีตย้อนไป ๑ ปี. ปีที่แล้ว พูดถึงภัยแล้ง และพูดถึงภัย หรือจะเรียกว่าความเดือนร้อนของจราจรคับคั่ง. สำหรับปีนี้ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ ภัยแล้งก็นับว่าเกือบหมดไป. เข้าใจว่าปีหน้าฝนก็อาจจะดีพอสมควรตามที่ต้องการ. ส่วนจราจรนั้น ปีที่แล้วคับคั่งมาก และได้แจ้งถึงโครงการที่ ได้ปฏิบัติไปบ้างแล้ว. ปีหนึ่งผ่านไป โครงการก็ได้เพิ่มขึ้น. เข้าใจว่าได้ผล แต่ว่าไม่ได้ผลมากนัก เพราะเป็นปัญหาที่หนัก จะแก้ไขทันทีไม่ได้. ได้เสนอวิธีแก้ไข และได้ดำเนินการการแก้ไขไปบ้าง และมีผลบ้าง. แต่ที่จะให้ได้ผลจริงๆ จะต้องแก้ไขจริงจังและก็ได้พูดบางแห่งแล้ว กับบางคนว่าจะต้องแก้ไขในทางพื้นฐาน. คือจราจรที่คับคั่งนี้ มาจากเหตุที่มีถนน และมีพาหนะ.

พาหนะนั้นแบ่งเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ. พาหนะที่เป็นส่วนบุคคล คือรถยนต์ธรรมดา และพาหนะสำหรับขนส่ง หรือรถ ๑๐ ล้อ หรือรถบรรทุก. วิธีการแก้ไขมี ๒ ทาง. ทางหนึ่งคือสร้างถนน หรือปรับปรุงถนนให้กว้างขวาง ให้มีระเบียบ ให้มีระบบที่เหมาะสม ซึ่งก็กำลังทำอยู่. และรู้สึกว่าทำยาก เพราะกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะไม่มีผังเมืองที่เหมาะสม หรือจะเรียกว่าไม่มีเลย. อีกอย่างหนึ่งก็คือลดจำนวนรถ. การลดจำนวนรถนั้นก็ทำลำบาก เพราะว่าคนยังต้องเดินทางไปมา. แล้วก็ถือว่าเป็นสิทธิของตัวที่จะมีเสรีภาพที่จะเดินทางตามเสรี แบบเสรี. จะไปบังคับบอกว่า เมื่อมีรถแล้วไม่ให้ใช้ ก็ลำบาก. อันนี้ก็เป็นปัญหาที่แก้ไขลำบาก. ส่วนรถบรรทุกนั้น วิธีที่จะแก้ไขก็เป็นเรื่องของถนนเหมือนกัน หรือการกะเส้นทางให้เหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่ลำบาก. หรือจำกัดเวลา จำกัดเวลาก็ทำอยู่ แต่แม้จะทำแล้ว ก็ยังไม่พอเพราะว่าเวลานี้ การสัญจรไปมา แม้จะดึกดื่นเท่าไหร่ก็เต็ม. ฉะนั้นการแก้ไขโดยสร้างทางปรับปรุงทาง หรือจำกัดจำนวนรถนั้น จึงเป็นสิ่งที่ลำบาก.

จะต้องหาวิธีใหม่. คือจะต้องคำนึงถึงว่ารถนี่ ทั้งรถส่วนบุคคลล ทั้งรถบรรทุกต้องมีต้นทางและปลายทาง. เราแก้ไขจำนวนรถไม่ได้ แก้ไขเส้นทางไม่ได้. เราจะต้องแก้ไข “ต้นทางกับปลายทาง” ก็หมายความว่า จัดให้ “ต้นทางกับปลายทาง” อยู่ ในระยะที่ ใกล้ขึ้น. ถ้าใกล้ขึ้นแล้ว การใช้ถนนก็ ใช้เวลาน้อยลง จำนวนของถนน หรือความยาวของถนนที่ถูกใช้นั้นก็น้อยลง. ก็เท่ากับมีถนนมากขึ้นและรถน้อยลง. ข้อนี้อาจจะเข้าใจกันยากว่าแก้ไข “ต้นทางกับปลายทาง” อย่างไร. แต่ขอชี้แจงโดยสังเขปว่า “ต้นทาง” คือบ้านหรือที่อยู่ที่พำนักของผู้ที่ใช้รถ. “ปลายทาง” เป็นที่ทำงาน หรือ สำนักงาน หรือสถานที่ราชการของผู้ที่ใช้รถและจะต้องไปทุกวันๆ. ก็จะต้องทำให้ระยะสั้นลง. ระยะสั้นลงมันเป็นเรื่องของพื้นที่.

ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจได้ว่า เมื่อเป็นพื้นที่ก็หมายความว่า จะต้องจัดพื้นที่ใหม่ ให้พื้นที่ของที่อยู่อาศัยและพื้นที่ของที่ทำงานมีความเปลี่ยนแปลง. อันนี้คงพอเข้าใจว่า หลักหรือจะเรียกว่าทฤษฎีนี้ หมายถึงอะไร. จะไม่ขยายความมากกว่านี้เพราะว่าท่านทั้งหลายย่อมชอบที่จะคิด. แล้วคนไหนที่สนใจก็นำไปคิดว่าควรจะทำอย่างไร และปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ในการวางทั้งแผนเศรษฐกิจ ทั้งแผนต่างๆ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญ. ในเรื่อง “ต้นทางกับปลายทาง” นี้ สิ่งหนึ่งที่คนได้พูดถึงมามากแล้ว ก็คือเรื่องโรงเรียน คือให้นักเรียนไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน. อันนี้ก็เป็นตัวอย่างทฤษฎีปรับปรุง เกี่ยวข้องกับ “ต้นทาง ปลายทาง”. ขอพูดแต่เพียงนี้ สำหรับเรื่องของทฤษฎี หรือวิธีแก้ไขให้จราจรไปได้โดยปลอดโปร่ง และไม่เกิดความเดือนร้อน.

ความเดือดร้อนนี้ มีผู้ได้ให้ข้อสังเกต ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นพวกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ พูดถึงว่าถ้าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาจราจรนี้ ในห้วงเวลา ๖ ปีข้างหน้า หรือ ๕ ปีข้างหน้า ประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพ ฯ ประเทศไทยทั้งประเทศจะมีความถดถอย อย่างหนักมาก และประเทศไทยจะไม่สามารถที่จะฟื้นจากวิกฤตการณ์นี้. จึงต้องจัดการ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือต้องวางโครงการที่ดูจะเป็นโครงการในฝัน. แต่ว่าต้องทำ. ถ้าท่านทั้งหลายสนใจก็คงถามผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญจะตอบว่าจำเป็น. ก็ขอพูดเพียงแค่นี้ สำหรับเรื่องของการจราจร. ที่ได้แจ้งเมื่อปีที่แล้วก็มีการปฏิบัติของโครงการที่เรียกว่า โครงการพระราชดำริ ก็ได้ปฏิบัติและพิสูจน์แล้วว่าถ้าทำจะมีประโยชน์ได้ แม้จะต้องสิ้นเงินไป แต่ไม่มากนัก. ก็แก้ไขได้เป็นส่วนๆ ถ้าหลายส่วนก็จะทำให้แก้ไขปัญหาใหญ่ได้หมด.

ทุกปีมีการชุนนุมแบบนี้ จะเรียกว่าชุมนุมก็ได้ มาพบปะกันก็ได้ และแต่ละครั้งก็ได้พูดเรื่องต่างๆ จนกระทั่งบางปี ทางราชการ หรือทางผู้ใหญ่บางคนบอกว่าปีนี้ต้องเรียกว่าเป็น “วันสิ่งแวดล้อม” บางปีเป็น “วันสามัคคี” ปีนี้เป็นวันอะไรต่อมิอะไร แล้วแต่หัวข้อที่พูดในปีนั้น. อย่างปีก่อนโน้น พูดถึงสิ่งแวดล้อม เขาก็บอกว่าทุกปีจะต้องเป็น “วันสิ่งแวดล้อม”. แต่ปีต่อมาพูดถึงเรื่องสามัคคี ปีต่อไปก็ไม่ยักกะบอกว่าเป็น “วันสามัคคี”.

วันนี้ไม่ได้สามัคคีเท่าไร แต่ว่าก็ควรจะสามัคคี. อย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลายก็อาจสังเกตว่า “วันสามัคคี” นั้นมาจากวันที่ ๓ ธันวา ฯ ที่ได้มีสวนสนามทหาร. และวันที่ ๓ ธันวา ฯ ครั้งนั้น ได้พูดถึงเรื่องสามัคคี. วันรุ่งขึ้น ก็มาพูดเรื่องสามัคคี. แต่ปีนี้มีผู้ที่สังเกต และท่านก็อาจจะสังเกต ว่าคำว่าสามัคคีไม่ได้เอ่ยขึ้นมาเลย. เป็นครั้งแรก หรือจะว่าไปว่าเป็น ๑ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๒ เปอร์เซ็นต์ ที่เมื่อพูดที่ไหน ไม่ได้ใช้คำว่าสามัคคี.

เมื่อวานนี้ คนที่ฟังบอกว่า เอ๊ะ ทำไมพูดสั้น และทำไมไม่พูดถึงสามัคคีเลย. ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด แต่ถ้าจะมาอธิบายวันนี้ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้น ว่าทำไมไม่พูดถึงสามัคคี และทำไมพูดสั้น วิเคราะห์ดูแล้ว ก็อาจจะบอกได้ว่าเหนื่อยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าพูดสามัคคี พรุ่งนี้ก็ต้องพูดเรื่องสามัคคี. ก็เหนื่อย จึงไม่พูดสามัคคีเมื่อวานนี้. เมื่อวานนี้ไม่พูดเรื่องสามัคคี วันนี้ก็ไม่ต้องพูดเรื่องสามัคคี เรื่องสามัคคีเป็นอันพับไป.

เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ที่จริงก็มีเรื่องที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานี้ มากหลาย. เมื่อ ๓ - ๔ วัน คิดว่า เอ๊ะ วันที่ ๔ นี้ จะพูดเรื่องอะไรดี. ถ้าพูดอะไรไปมา เดี๋ยวคนเขาก็ง่วง เขาก็หลับ. ถ้าง่วงแล้วหลับ มันไม่ถูกจุดประสงค์ของการพูด. การพูดนั้นก็ต้องพูดให้เขาฟัง ถ้าหลับเขาก็อาจจะฟังในฝัน. แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อ ๓ - ๔ วัน นั้น ยังเป็นเดือนพฤศจิกา ฯ มานึกดูว่าวันที่ ๔ ธันวา ฯ นี้ จะพูดว่ากระไร ก็เลยนึกว่า เฉพาะเดือน พฤศจิกา ฯ ทั่วโลกมีการฆ่ากันเป็นกิจการเลย. อย่างเช่นที่อินเดีย เอาไม้กระบองตีตายกันไป ๑๑๕ คน. แล้วมานึกดู เมืองไทยนี่ เอากระบองตีให้ตาย ๑๑๕ คน คงเอะอะแน่ คงไม่ดีแน่. หรือการฆ่ากันที่ตะวันออกกลาง ตะวันออกกลางนั้นฆ่ากันมากเหมือนกัน ไม่รู้ใครฆ่าใคร ขอให้ฆ่ากัน เป็นอย่างนั้น. ยังมีอีกหลายแห่ง.

ก็เลยนึกถึงต่อไปว่าเมืองไทยยังไม่ฆ่ากันอย่างนั้น คือยังไม่ฆ่ากันเป็นกิจการเป็นล่ำเป็นสัน อย่างที่เขาทำกันทั่วโลก. แต่เราอยู่ในยุคโลกานุวัตร คือจะต้องทำตามที่เขาทำกันในโลก เราจะต้องฆ่ากันไหม เห็นว่าไม่ถูก. ไอ้คำว่าโลกานุวัตรนี่ ต้องพูด. ถ้าไม่พูด ไม่ทันสมัย. ที่จริงก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรแน่ แต่ก็ต้องพูด รู้สึกมันเก๋ดี. แล้วเขาก็ยังใช้อีกคำหนึ่งคือโลกาภิวัตน์ ซึ่งความหมายของโลกาภิวัตน์ยิ่งหนักเข้าไปอีก. อย่างไรก็ตามขออย่าให้เป็นโลกานุวัตร เราอย่าตามเขาในการฆ่ากันเป็นกิจกรรม. ฉะนั้นก็คิดดูว่าการฆ่ากันอย่างนี้ การทะเลาะกันอย่างขนานหนัก มันไม่ดีแน่.

(โลกานุวัตร - โลก + อนุ - ตาม + วัตร - ข้อปฏิบัติ = ปฏิบัติตามโลก. หรือ โลกานุวัตน์ - โลก + อนุ - ตาม + วัตน์ - ความเป็นอยู่ ความเป็นไป = เป็นอยู่ตามโลก. โลกาภิวัฒน์ - โลก + อภิ - ยิ่ง + วัฒน์ - เจริญ = โลกเจริญยิ่ง. หรือ โลกาภิวัฒน์ - โลก + อภิ - ยิ่ง + วัตน์ - ความเป็นอยู่ ความเป็นไป = ความเป็นอยู่ ความเป็นไปยิ่งกว่าโลก. ความจริงดูเหมือนจะหมายความว่า โลกแคบลง. เหตุการณ์ใดในส่วนใดของโลกจะแพร่ไปทั่วโลกเกือบทันที และกลายเป็นธรรมดา)

ยิ่งที่อดีตยูโกสลาเวียฆ่ากันนั้นเป็นขนานหนักจริงๆ ใช้เครื่องบินสมัยใหม่ทิ้งระเบิด ใช้ปืนใหญ่ ฆ่ากันอย่างเป็นกิจการทุกวันๆ. เห็นได้ว่า มีความแตกต่างในความคิด ในความเป็นอยู่ เขาก็ฆ่ากัน. แต่ในยูโกสลาเวียนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการฆ่ากันมีการรบกันป็นกิจวัตรมาเป็นเวลานาน เป็นศตวรรษ ไม่ใช่ของใหม่. แต่อย่างไรก็ตามที่ศึกษาดู ก็ทำได้ ที่จะให้เมืองเจริญ ที่ทำให้เมืองเป็นปึกแผ่นได้ แม้จะเป็นประเทศยูโกสลาเวีย

ตอนนี้จะขอโฆษณาหน่อย. เป็นรายการโฆษณา มีสปอตนิดหนึ่ง. คือว่า ได้แปลหนังสือเรื่อง “ติโต”. แปลหลายปีมาแล้ว ตั้ง ๒๐ ปี. แต่เห็นว่ายังคงทันสมัย เพราะเขายังตีกันอยู่. เลยต้องรีบมาปรับปรุงต้นฉบับเรื่อง “ติโต” ที่แปลจากภาษาฝรั่ง เพื่อให้คนได้อ่านว่าสถานการณ์ในโลกเป็นอะไรบ้าง. เรื่อง “ติโต” นี้ ปรับปรุงเกือบจะไม่ทัน. แต่ก็ทัน. ทันอะไร. หวัง คือหวังว่าโลกนี้จะมีสันติภาพจะมีความสงบ. ต้องรีบปรับปรุงหนังสือเรื่อง “ติโต” นี้ ให้ทันกับที่ เขายังตีกันอยู่. ถ้าเขาไม่ตีกัน บ้านเมืองเขาเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ. เมืองยูโกสลาเวีย เขายังตีกัน ฉะนั้นก็เลยรีบให้หนังสือแปลนี้ออกพิมพ์มา ให้สำเร็จได้.

เดี๋ยวนี้ใครต่อใครก็ซื้อได้ในราคา ๒๐๐ บาท. ใครสนใจก็ ไปซื้อได้ ออกแล้ว. และถ้าใครอยากซื้อจำนวน ๑๐๐ เล่ม จะมีการลดราคาให้ ๑๕ เปอร์เซ็นต์. ดังนั้น ท่านทั้งหลายก็อาจจะสนใจ. ในราคา ๒๐๐ บาทนี้ ท่านจะดูในหนังสือนั้นได้ว่าเมือง “บีฮัช” ที่กำลังถูกพวก “เซอร์บ” ตี และพวก “นาโต้” ก็ใช้เครื่องบินไปโจมตีอะไรอย่างนั้น อยู่ที่ไหน. มีแผนที่ด้วย ในหนังสือเล่มนั้น. ตอนนี้ก็ได้ โฆษณาเรื่องนี้เชิญชวนท่านไปซื้อ.

หนังสือนี้ รายได้จะบำรุงมูลนิธิชัยพัฒนาทั้งหมด. คือไม่ได้เอามาใช้เป็นส่วนตัวแต่ประการใด. แต่การลงทุนในการเขียนนี้ ก็ลงทุนเขียนด้วยความเหน็ดเหนื่อยสิ้นค่าใช้จ่ายไม่น้อย เพราะว่าต้องพิมพ์ผิดอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องแก้ เสียเวลาไปมาก จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้อุดหนุน. การอุดหนุนนั้นก็เท่ากับท่านได้อุดหนุน “มูลนิธิชัยพัฒนา” ซึ่งมีหน้าที่ที่เราตั้งไว้สำหรับมูลนิธิ ให้พัฒนาประเทศจนมีชัยชนะ.

ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ ไม่เป็นบอสเนีย เป็นไทยแลนด์ เป็นเมืองไทยที่จะมีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา”. ชัยของการพัฒนานี้ มีจุดประสงค์คือความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี. ดังนั้น ท่านสนับสนุนซื้อหนังสือ “ติโต” นี้ ก็เท่ากับเป็นผู้สนับสนุน “มูลนิธิชัยพัฒนา” และเป็นผู้สนับสนุนชัยของการพัฒนา เพื่อความสงบ เพื่อความเจริญ เพื่อความอยู่ดีกินดี ของประชาชน. ได้โฆษณา รู้สึกว่าจะยาวกว่าที่เขาโฆษณาสปอต แต่เราก็โฆษณาครั้งเดียว. ในรายการวิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ เขาโฆษณาตลอดเวลา เดี๋ยวก็โฆษณาๆ นี่ถือว่าโฆษณาครั้งเดียวก็ให้เป็นล่ำเป็นสัน.

ได้พูดถึงความเดือนร้อนของคนในโลก เราไม่อยากได้. สิ่งที่เราป้องกันได้เราต้องป้องกันมิให้เดือดร้อนอย่างที่เขามีความเดือนร้อนในทุกทวีป. เมืองไทยนี้จะเป็นแห่งหนึ่งที่จะอยู่ได้ ถ้าช่วยกันคิด ช่วยกันทำ. มีอะไรที่เป็นปัญหา ให้แก้ไขปัญหานั้น โดยใช้หลัก. จะไม่พูดถึงหลักวิชา เพราะถ้าใช้หลักวิชา บางทีถกเถียงกันไปข้างคู หมายความว่าเถียงข้างๆ คูๆ. เวลาเถียงตามหลักวิชา แล้วหลักวิชานั้นมันไปอยู่ในคู เราจะไปเถียงในคูไม่ได้ เราต้องไปเถียงข้างๆ ข้างคู เลยกลายเป็นเถียงข้างๆ คูๆ. อันนี้ไม่ปรารถนา. ฉะนั้นที่ฟังมา ก็ในเดือนพฤศจิกายนนี้เหมือนกัน. นอกจากเรื่องของการฆ่าฟันเป็นล่ำเป็นสัน ในหลายประเทศในโลก ก็มีการถกเถียงกันอย่างข้างๆ คูๆ ในประเทศไทย. ฉะนั้นก็พยายามที่จะคิดให้ดีๆ ตามที่ได้พูดมาหลายปีแล้วและก็ไม่ซ้ำ. ที่จริงก็พูดซ้ำแล้ว แต่ว่าไม่ซ้ำมากเกินไป.

ตอนนี้ก็ขอกลับมาพูดถึงที่ท่านนายก ฯ ได้กล่าวถึงผลงาน หรือการงานที่ทำเช่นเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” ทีแรกก็ไม่นึกว่าจะพูดเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” แต่ท่านนายกพูดก็ต้องพูด. “ทฤษฎีใหม่” นี้ มิได้เป็นการแจกจ่ายที่ดิน เป็นที่ดินของประชาชนเอง. เรื่องนี้เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี. ที่ต้องพูด เพราะว่า แม้ได้พูดเรื่องที่เป็นต้นเหตุของเรื่องนี้มาแล้ว แต่ว่าไม่ได้พูดอย่างชัดแจ้ง. เรื่องนี้เริ่มที่สระบุรีเมื่อหลายปีแล้ว. ก่อนหน้านั้นได้มีจินตนาการความคิดฝัน. ท่านทั้งหลายคงนึกแปลก ทำไมแผนการจะต้องคิดฝัน. ไม่ได้ไปดูตำรา ไม่ได้ค้นตำรา แต่ค้นในความคิดฝัน ในจินตนาการ. เรานึกถึงว่าจะต้องมีแห่งหนึ่ง ที่จะเข้ากับเรื่องของเรา.

เรื่องของเรา เกี่ยวข้องกับบุคคลหนึ่งที่มีบรรพบุรุษมาจากอินเดีย ผ่านลังกาแล้วมาเมืองไทย. บรรพบุรุษเขาไปพระพุทธบาทสระบุรี. พระเจ้าอยู่หัวในครั้งก่อนโน้นโปรดเสด็จไปสระบุรีกับเสนามาตย์ เพื่อนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี. ในเรื่องของเราปู่ของพระเอกไปแล้ว ก็เดินทางกลับมาทางสระบุรี. ใกล้อำเภอเมืองมีวัดแห่งหนึ่ง ชื่อว่าวัดมงคล. เขาชอบ เพราะคำว่ามงคลนี้มันดี มันเป็นมงคล มันก้าวหน้า เขาผ่านมาและได้ไปดูวัดแห่งนั้น และได้บริจาคเงินให้กับวัด สำหรับสร้างพระอุโบสถ. ปู่ของพระเอกก็ยังได้ให้เงินส่วนหนึ่งสำหรับสร้างฝายเพราะที่ตรงนั้น ไม่ค่อยเหมาะสำหรับทำนา. แต่ถ้าทำฝายก็สามารถที่จะทำมาหากินได้ในทางเกษตร. นี่ก็ประมาณ ๙๐ ปี มาแล้ว. ลงท้ายเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรี่องในจินตนาการ ก็กลายเป็นจริง.

ได้ดูแผนที่สระบุรีทุกอำเภอ หาๆ ไป ลงท้ายได้เจอวัดชื่อมงคล อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร. แล้วก็เหมาะในการพัฒนาจึงไปซื้อที่. ซื้อด้วยเงินส่วนตัวและเพื่อนฝูงได้ร่วมบริจาคเงินจำนวนหนึ่ง. ได้ซื้อ ๑๕ ไร่ ที่ใกล้วัดมงคลหมู่บ้านวัดใหม่มงคล. ได้ส่งคนไปพบชาวบ้าน. เขาก็ ไม่ทราบว่ามาจากไหน. ไปพบชาวบ้านสืบถามว่า ที่นี่ มีที่ที่จะขายไหม เขาก็เชิญขึ้นไปบนบ้าน. แล้วเขาก็บอกว่าตรงนี้มี ๑๕ ไร่ที่เขาจะขาย. ในที่สุดก็ซื้อ. ก่อนตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ก็เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี. ไปซื้อที่ตรงนั้น คนพวกนั้น ก็งงกัน. เขาเล่าให้ฟังว่ามีคนเขาฝัน ว่าพระเจ้าอยู่หัวมา แล้วก็มาช่วยเขา. เขาก็ไม่ทราบว่า คนที่ไปนี่เป็นใคร แต่สักครู่หนึ่ง เขามองไปที่ปฏิทิน เขามองดู เอ๊ะ คนนี้ คนที่อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวนั่น เอ๊ะ คนนี้ก็อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวในรูป ใกล้ๆ. เขาก็เลยนึกว่า เอ๊ะ พวกนี้มาจากพระเจ้าอยู่หัว เขาก็เลยบอกว่าขายที่นั้น. ก็เลยซื้อที่ ๑๕ ไร่. และไปทำเป็นศูนย์บริการ.

ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้. โครงการนี้ใช้เงินของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่งโดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตาม “ทฤษฎีใหม่” ซึ่ง “ทฤษฎีใหม่” นี้ยังไม่เกิดขึ้น. พอดีขุดบ่อน้ำนั้น เราก็เรียกว่า “มือดี” ขุดน้ำมีน้ำ. ข้างๆ ที่อื่นนั้น ไม่มีน้ำ แต่ตรงนั้นมีน้ำ. ลงท้ายก็สามารถปลูกข้าว แล้วก็ปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผล. ต่อมาก็ได้ซื้อที่อีก ๓๐ ไร่. ก็กลายเป็นศูนย์พัฒนา หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน. ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่ง สำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ. ดำเนินการไปแล้ว ทำอย่างธรรมดาอย่างชาวบ้าน. ในที่สุดได้ข้าวและได้ผัก ขายข้าวกับผักนี่มีกำไร ๒ หมื่นบาท. ๒ หมื่นบาทต่อปี หมายความว่า โครงการนี้ใช้งานได้. เมื่อใช้งานได้ก็ขยายโครงการ “ทฤษฎีใหม่” นี้ โดยให้ทำที่อื่น. นอกจากมีสระน้ำในที่นี้แล้ว จะต้องมีอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่กว่าอีกแห่งเพื่อเสริมสระน้ำ. ในการนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน ซื้อที่ด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปเวนคืนและสร้างอ่างเก็บน้ำ.

ฉะนั้นในบริเวณนั้นจะเกิดเป็นบริเวณที่พัฒนาแบบใหม่ ถึงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเข้าใจว่าจะดำเนินไปได้ในที่นี่. แต่ที่อื่นยังไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่ ได้. ที่นายก ฯ บอกว่าจะขยายทฤษฎีนี้ไปทั่วประเทศ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะว่าต้องมีปัจจัยสำคัญคือปัจจัยน้ำ แล้วก็ต้องสามารถที่จะให้ประชาชน เข้าใจและยินยอม ถ้าเขาไม่ยินยอม ก็ทำไม่ได้. ถึงมาทำที่กาฬสินธุ์. ที่เคยเล่าให้ฟัง ในชุมนุมอย่างนี้แล้วว่า ทำที่อำเภอเขาวง ที่ไปปีนั้นเล่าเรื่อง ที่เดินทางไป “ทางดิสโก้” ที่เป็นทางทุลักทุเลมาก. ที่ “ทางดิสโก้” นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่าปีแรกทำนา ๑๒ ไร่ ได้ข้าวตามที่กะเอาไว้ พอสำหรับผู้ที่อยู่ในที่ตรงนั้น พอกินได้ไปตลอดปี. จึงทำให้ประชาชนในละแวกนั้น มีความเลื่อมใส และยินดียินยอมให้ทำแบบนี้ในที่ของเขาอีก ๑๐ แปลง. หลังจากที่ทำ ๑๐ แปลงนั้น ก็ได้ผล. ปีนี้เขาขออีกร้อยแปลง.

การขุดสระนั้น ก็ต้องสิ้นเปลือง ชาวบ้านไม่สามารถที่จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับการขุด ก็ต้องทำให้เขา. มูลนิธิชัยพัฒนา และทางราชการก็ได้ช่วยกันทำ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องสิ้นเปลืองมากมาย ก็ให้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง. ฉะนั้น “ทฤษฎีใหม่” นี่จะขยายขึ้นไปได้ อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้าๆ เพราะว่าต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยๆ แต่ว่าค่อยๆ ทำ. และเมื่อทำแล้ว ก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก. ฉะนั้นก็นึกว่า “ทฤษฎีใหม่” นี้คงมีประโยชน์ได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง. อันนี้ก็ได้พูดถึงที่ท่านนายก ฯ ได้กล่าวถึงกิจการที่ได้ทำมาส่วนหนึ่ง.

เรื่องอื่นๆ ก็ยังมีอีกมาก อย่างเช่นที่พูดเมื่อปีที่แล้ว เรื่องโครงการแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และปากพนัง. ปีนี้ก็น่ายินดีที่เริ่มลงมือเสียที. แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่จะต้องฟันฝ่าอีกมาก สำหรับแม่น้ำป่าสักนี้. แต่ก็มีหวังว่าถ้าไม่มีอุปสรรคร้ายแรง อีกภายใน ๕ ปี ปัญหาเกี่ยวข้องกับน้ำแล้ง หรือน้ำขาดแคลนกับน้ำท่วมจะบรรเทาลงไปมาก. เข้าใจว่าจะบรรเทาลงไป ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชาชนจำนวนเป็นแสนมีความสุขมากขึ้น โดยอาศัยโครงการป่าสัก กับโครงการนครนายก. และก็ต้องชมเชยประชาชนและข้าราชการอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีคนปัจจุบัน ที่ได้ช่วยไปจัดให้ประชาชนเข้าใจ และร่วมมือในกิจการเหล่านี้.

ยังมีโครงการที่ภาคใต้ ที่ปากพนัง ที่ต้องทำความเข้าใจต่อไป. ซึ่งโครงการปากพนังนี้ ทางราชการและทางราชการทหาร ก็ได้ช่วยกันเต็มกำลัง. แต่จะต้องอธิบายอีกมาก เพราะมีคนที่บอกว่า ถ้าทำโครงการปากพนัง สิ่งแวดล้อมจะเสีย. เขาบอกว่าน้ำในคลองชะอวดนั้นเป็นน้ำกร่อย มีประโยชน์สำหรับสิ่งแวดล้อม. ขอชี้แจงว่า ไม่จริง. สมัยก่อนนี้คลองชะอวดเป็นน้ำจืด กลายมาเป็นน้ำกร่อยตอนนี้ เพราะว่าตื้นเขิน และเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป. จนกระทั่งทำให้ประชาชนในอำเภอเชียรใหญ่ซึ่งมีจำนวนมากต้องอพยพไป. ไปพัทลุงบ้าง ไปอำเภอทุ่งสง ทุ่งใหญ่บ้าง ทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก เพราะว่าคนเชียรใหญ่เท่ากับไปกินที่เขา แล้วก็เกิดทะเลาะกัน ยุ่งกัน. แล้วก็ไม่มีทางแก้ไข. ส่วนผู้ที่เหลือที่เชียรใหญ่นั้น ในหน้าแล้งเขาปลูกผักก็ยังไม่ได้ เพราะว่าน้ำกร่อย น้ำเค็ม.

คนที่เคยไปในพื้นที่จะเข้าใจ คนที่ไม่เคยไปในพื้นที่ จะไม่มีทางเข้าใจได้. ปากพนังก็อดน้ำ ต้องส่งรถบรรทุกน้ำ เสียเงินเป็นร้อยล้าน. แล้วก็ไม่จริง ที่ว่าน้ำในแม่น้ำชะอวดนั้น น้ำกร่อยจะเป็นการดี. ไม่ดี. ถ้าทำโครงการ น้ำในคลองชะอวดนั้นจะเป็นน้ำจืด. แน่นอน ต้องแก้ไขต่อไป เรื่องความเปรี้ยวหรือความบกพร่องอย่างอื่นๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นขั้นหนึ่ง. จะทำนาในลุ่มน้ำชะอวดนี้ได้เป็นแสนไร่. ชาวเชียรใหญ่ที่ไปที่อื่น ก็จะกลับมาทำอาชีพที่สุจริต. จะทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นจังหวัดที่จนที่สุด. ไม่น่าเชื่อ ชื่อนครศรีธรรมราชน่าจะเป็นจังหวัดที่เจริญ ที่มีการผลิตข้าวได้ดีที่สุด. แต่ไม่เป็นเช่นนั้น กลับเป็นจังหวัดที่ด้อยที่สุด จนที่สุด. แต่ถ้าทำโครงการนี้ จะกลับกลายมาเป็นจังหวัดที่ร่ำรวย. นี่ในทางเศรษฐกิจแท้ๆ จะทำให้จังหวัดนครศรีธรรมราชกลายเป็นจังหวัดร่ำรวย เกือบที่สุดได้ โดยมีโครงการนี้อย่างเดียว.

โครงการอื่นๆ ก็จะไม่เสีย. คนเขาบอกว่า การทำนากุ้ง ซึ่งเป็นรายได้ของประเทศไทยมากมาย - กี่ล้านบาทไม่ทราบ - จะเสีย. ไม่เสีย. ตรงข้ามจะทำให้กิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำนี้เป็นสัดเป็นส่วน. สามารถที่จะจัดการในอำเภอหัวไทรส่วนหนึ่ง และในอำเภอปากพนังส่วนหนึ่ง. สามารถที่ทำให้ประชาชนที่ทำกุ้งกุลาดำทำได้จริงๆ จัง ๆ ได้รับความช่วยเหลือ. พวกที่ทำกุ้งกุลาดำนี้ ไม่ใช่บริษัทใหญ่ เป็นเอกชนเล็กๆ. ถ้าเราช่วยเขา เขาก็จะมีรายได้ดี และกุ้งกุลาดำนี้จะมีคุณภาพดี. ที่เขาพูดว่าทำกุ้งกุลาดำนี้ทำให้เกิดมลพิษ ถ้าทำไม่ดี ถ้าทำอย่างแร้นแค้น ก็จริง ทำให้ทะเลเป็นพิษ. แต่เดี๋ยวนี้มีวิธีที่จะทำให้กุ้งกุลาดำนี้ เป็นรายได้ดี และไม่เป็นมลพิษ. ตรงข้ามจะทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะส่งออกกุ้งกุลาดำ เป็นล่ำเป็นสัน และมีคุณภาพสูง.

ฉะนั้นถ้าทำโครงการปากพนัง ซึ่งน่าจะทำได้เร็วพอใช้ จะแก้ไขความขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรในลุ่มของแม่น้ำชะอวด และมีน้ำใช้ในหน้าแล้งด้วย ตลอดจนมีน้ำกร่อยเพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นล่ำเป็นสัน. ในเขตเชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง จะเป็นที่ที่เป็น อู่ข้าวอู่น้ำ และจะเป็นแหล่งรายได้ อย่างมหาศาล สำหรับประเทศไทย. ถ้าไม่ทำ มันก็อยู่อย่างเดิม คือมีปัญหาโจรผู้ร้าย เช่นเรื่องความไม่เรียบร้อยในอำเภอทุ่งใหญ่ เป็นต้น.

ในการแก้ไขปัญหา จะต้องแก้ไขปัญหาโดยเบ็ดเสร็จ โดยถือหลักว่ามีอะไรที่จะต้องทำ ก็ต้องทำ. อย่าไปทะเลาะกันว่า อันนี้จะทำเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้. ไม่ได้ ต้องรวมทั้งหมด ฉะนั้นจึงได้ขอพูดถึงเรื่องโครงการปากพนังให้เข้าใจกันอย่างนี้.

นอกจากนี้ท่านนายก ฯ ได้พูดถึงการปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก. สองอย่างนี้ต้องทำเข้าคู่กัน. ได้ทำตัวอย่างให้ดูที่จังหวัดนครนายก. เป็นพื้นที่เล็กๆ ได้ทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำสำหรับชะลอน้ำ ไม่ใช่เขื่อนกั้นน้ำใหญ่ๆ หรือเขื่อนเล็กๆ แต่ว่าเป็นฝายเล็กๆ. ในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัว. แต่ค่าทำฝาย ๓๕ ตัวนี้ คนอาจจะนึกว่า ๓๕ ล้าน. ไม่ใช่. ๒ แสนบาท ทำได้ ๓๕ ตัว. ยังไม่ได้เห็น แต่ว่ากล้าที่จะยืนยัน ว่าได้ผล ถ้าใครสนใจ ไปดูได้ที่ใกล้บ้านบุ่งเข้ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ไปดูฝายชะลอน้ำ ๓๕ ตัวนี้ ไปดูว่าป่าจะขึ้นอย่างไร. เพิ่งเสร็จมาไม่กี่เดือน จะเห็นว่าป่านั้นเจริญ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว มันขึ้นเอง.

เรื่องต้นไม้ขึ้นเอง มีอีกแห่งหนึ่งที่ท่านทั้งหลายก็ควรจะไปได้ เพราะไปง่าย คือ โครงการเขาชะงุ้ม ที่จังหวัดราชบุรี. ที่ตรงนั้นอยู่ใกล้ภูเขา เป็นที่ที่ป่าเสียไป เป็นป่าเสื่อมโทรม. ที่เรียกว่าป่าเสื่อมโทรมเพราะมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีชิ้นดี. เริ่มทำโครงการนั้นมาประมาณ ๗ ปีเหมือนกัน. ไปดูเมื่อสัก ๒ ปี หลังจากทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี. ตรงนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์. ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว. คือว่าการปลูกป่านี้สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นได้. คืออย่าไปตอแยต้นไม้ อย่าไปรังแกต้นไม้ เพียงแต่ว่าคุ้มครองเขาหน่อย เขาขึ้นเอง.

อีกแห่งหนึ่งก็ที่ชะอำ ดินเสียจนเป็นดินแข็ง. ไปปลูกหญ้าแฝก. เพียง ๒ ปี ดินร่วนและต้นไม้ที่หงิกงอของเดิมนั้น เดี๋ยวนี้ตรงหมดแล้ว เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์. แล้วต่อไปป่าอุดมสมบูรณ์นั้น ก็จะทำให้ดูดความชื้นจากอากาศ. ทำให้เมฆที่อยู่ในอากาศ ลงมาเป็นฝนได้. ฉะนั้นเมืองไทยต่อไป ก็จะเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ ไม่แร้นแค้น ไม่เป็นทะเลทรายอย่างในระยะ ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้ เมืองไทยจากที่อุดมสมบูรณ์ เป็นสวนเป็นไร่ เป็นป่า กลายเป็นทะเลทราย. เราจะทำให้ประเทศไทยกลับมีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นได้. ขออย่าไปรังแกป่าเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรมาก.

อันนี้ก็เป็นเรื่องของโครงการปลูกป่า. ถ้าพูดเรื่องปลูกป่านี้จะยืดยาวมาก ไม่มีสิ้นสุด. แต่จะต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ถ้าได้เลือกที่ที่เหมาะสม แล้วก็ทิ้งให้อยู่อย่างนั้นโดยไม่ไปรังแกป่า ต้นไม้ก็จะขึ้นเอง. โครงการต่างๆ ที่ท่านนายก ฯ พูดถึง อาจจะขยายความได้อีกมาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่น่าจะร่วมมือกันทำ. ทุกคนมีส่วนที่จะทำให้เกิดความเจริญได้. ไม่ได้พูดถึงเรื่องโครงการอื่นๆ จะเป็นการสาธารณสุข หรือการศึกษาอะไรต่างๆ นี้ ยังมีอีกมากที่จะต้องทำ. แต่หลักการพัฒนาประเทศ ให้มีความเจริญ จะต้องใช้การทำงานอย่างมีพื้นฐาน ทั้งทำงานอย่างที่เรียกว่า ใช้วิชาการชั้นสูงด้วย. ทั้ง ๒ อย่างก็จำเป็น. โครงการพื้นฐาน แบบชาวบ้านกับโครงการวิทยาการชั้นสูง ที่ถ้าแปลเป็นภาษาฝรั่งเราก็ใช้คำว่า “ไฮเทคโน”. ทั้ง ๒ อย่าง “โลเทคโน” กับ “ไฮเทคโน” ก็จำเป็นที่จะใช้.

วันนี้ ก่อนจะลงมา รู้สึกปวดหัว ไม่รู้จะพูดว่ากระไร. แต่เดี๋ยวนี้ก็พูดมามากมายหลายอย่าง จนกระทั่งรู้สึกว่า ท่านจะเมื่อย. แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับส่วนตัว ก็ถือว่ารอดตัวแล้ว. คือเวลามาประชุมกันอย่างนี้ จำเป็นที่จะพูด. ถ้าพูดอะไรที่อยู่ในใจให้ท่านได้ฟัง ก็อาจจะเป็นประโยชน์ได้. อันนี้ที่เป็นความเดือดร้อนของวันนี้เพราะว่าถ้าไม่พูด มาถึงบอกขอบใจ แล้วก็กลับ มันก็ไม่เหมาะสม. อย่างไรก็ตาม วันนี้ก็คงได้พูดมากพอสมควร. แล้วก็บอกได้ว่ายังมีต่อ. ทุกปีพูดแล้วก็ยังมีต่อ แต่ไม่บอกให้ทราบว่ายังมีต่อ แต่ปีนี้บอกว่า วันนี้ ขอขอบใจท่านแค่นี้ แล้วก็บอกว่ายังมีต่อ. ปีหน้าจะเป็นวันอะไรก็ไม่ทราบ. เพราะว่าคราวนั้นว่าเป็นวันสิ่งแวดล้อม หรือ เป็นวันสามัคคี. แล้วก็ปีต่อไปจะเป็นวันอะไร ก็ยังไม่ทราบ แต่เป็นวันมีต่อ.

ก็ต้องหยุดเพียงแค่นี้. ถ้าอยากทราบเรื่องอะไรต่างๆ ก็มาปีหน้า จะอธิบายต่อ. ที่จริง ที่พูดอย่างนี้อาจจะมีสิ่งที่ดลใจมา เพราะก่อนลงมา ได้เปิดกล่องหนึ่ง ในนั้น มีของ มีนก ๒ ตัว ที่จู๋จี๋กัน. ก็ทำให้มีกำลังใจว่าเขาจู๋จี๋กัน เขาปรองดองกัน. ก็หมายความว่า เป็นอันว่าทุกคน ก็มีจิตใจที่จะรักกัน ทุกคนมีจิตใจที่จะช่วยกันทำอะไรต่างๆ โดยที่เป็นสิ่งที่เป็นมงคล ไม่ทะเลาะกัน. แค่นี้ก็พอ ขอแค่นี้ ให้เป็นเหมือนนก ๒ ตัวนั้น. ก็ขอขอบใจ ท่านทั้งหลายที่ได้มาและมาให้กำลังใจ. ขอให้ทุกๆ ท่านประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จทุกอย่าง และความปรองดอง เพื่อที่จะให้ส่วนรวมของเราก้าวหน้าเจริญได้ดี ทำให้แต่ละคนมีความเจริญก้าวหน้าและมีความสุข.

« « Prev : พักบ้าง

Next : เฝ้าระวังความสั่น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 August 2011 เวลา 12:28

    ท่าน”เห็น”ในหลายๆอย่างก่อนที่เราจะโดนกับตัวซะอีกนะคะ 17 ปีที่แล้วแน่ะ (รู้สึกคุ้นกับพระราชดำรัสองค์นี้ คงได้นั่งฟังหน้าทีวีอยู่เป็นแน่)

    พระงามมากเลยค่ะ เห็นแล้วจับใจ แต่จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตรงไหนขององค์คะ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 August 2011 เวลา 12:52
    พระราชดำรัสองค์นี้ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ต่างคนต่างมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน หลายคนอินมากและยังคงหลงมาจนปัจจุบันครับ ถ้าเพียงแต่เราจะถามตัวเองและพยายามหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วต้องการอะไรกันแน่ ผมคิดว่าบางส่วนจะตอบไม่ได้เพราะไม่เคยพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ส่วนหนึ่งจะตอบว่าต้องการความสงบสุขของบ้านเมืองส่วนรวม คงมีบางส่วนเหมือนกันที่ตอบว่าน่าจะเป็นไปตามทฤษฎีอะไรต่อมิอะไรโดยไม่เข้าใจบริบทของทฤษฎี และคงมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สิ่งต่างๆ เป็นไปแบบที่ตนต้องการ ซึ่งอันหลังนี้คงนำไปสู่ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดนะครับ

    พระบรมสารีริกธาตุบรรจุที่กลางพระเศียรครับ ยอดมงกุฏถอดได้ (เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการขนส่งด้วย) มีโพรงอยู่ข้างใน แม่ถวายผอบคริสตัล (จาก Prague) ไปด้วย

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2011 เวลา 18:17
    วันนี้กลับไปที่วัดอีกพร้อมกับญาติธรรม(สายปฏิบัติจริงจัง)ครับ ปรากฏว่าเจ้าอาวาสให้ตั้งองค์พระไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาสเลย องค์พระเปล่งประกายสว่างไปทั่ว มองเห็นได้แต่ไกล


    สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับเร็ว เนื่องจากยังมีอีกสองงาน พระมหาสายชล รองเจ้าอาวาสพาทัวร์วัดรอบเล็ก คุยกันเรื่องวัดเป็นศูนย์แจกจ่ายน้ำสะอาดในกรณีที่เกิดภัยพิบัติแถวนี้ จะดีกว่าขนน้ำมาช่วยจากกรุงเทพ วัดมีโรงกรองน้ำอยู่แล้ว ใช้น้ำบาดาล แต่น้ำดิบค่อนข้างขุ่น ทำให้ระบบกรองตันเร็วมาก จึงเสนอเพิ่มการกรองด้วยทรายง่ายๆ ถูกๆ แต่จำกำจัดสารแขวนลอยและความขุ่นไปได้มาก ทำให้การผลิตน้ำสะอาดไม่หยุดชะงักบ่อยนัก

    จากนั้น เรานั่งคุยกับเจ้าอาวาสต่อ สังเกตเห็นพื้นดินถูกพัฒนาเยอะ นึกถึงกรณีวัดร้องเม็ง ที่อ.แม่แตง เชียงใหม่ [น้ำบรรจุใหม่] ที่พี่สร้อยพาไปเที่ยว ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าไม่ต้องการให้พื้นเป็นปูนทั้งหมด แต่สภาพดินชั้นบนเป็นดินดาน (ถนนหินโรยกรวดมีการบดอัด) ทำให้น้ำซึมลงดินได้ช้ามาก อย่างนี้แสดงผลให้เห็นด้วยบ่อน้ำบาดาลที่นำมาผลิตน้ำสะอาด อยู่ลึก 112 เมตร แค่ค่าไฟสูบน้ำก็แย่แล้ว เสนอแก้ไขด้วยการขุดดินผ่านชั้นดินดานลงไป แล้วเอาน้ำฝน run-off กรอกลงไปในรู ให้น้ำซึมผ่านชั้นดิน ในที่สุดก็จะเป็นการเติมน้ำใต้ดิน ทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น และลดค่าไฟสำหรับสูบน้ำได้

    กราบนมัสการลากลับกรุงเทพ แวะไปหาครูปู นำหนังสือ จปผ๑ และ จปผ๒ อย่างละ 60 เล่มไปฝากครูปูให้นำไปที่งานซึ่งครูบาจะพูดพรุ่งนี้ ผมไปช่วยไม่ได้เพราะจะพาแม่ไปหาหมอครับ นอกจาก จปผ ทั้งสองเล่มแล้ว ยังมีหนังสือก๊ากของครูปูอีก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.3958549499512 sec
Sidebar: 0.40285706520081 sec