เคารพความแตกต่าง

อ่าน: 5385

คำว่า เคารพความแตกต่าง นี้เป็นคำหรู ซึ่งเหมือนคำหรูทั่วๆ ไป คือจะมีการใช้ในความหมายที่แตกต่างผิดเพี้ยนออกไป หลายครั้งที่ความหมายเหล่านี้ขัดแย้งกันเอง แต่คงไม่บ่อยนักที่เราจะพบคำคำเดียวที่มีความหมายขัดแย้งกันเอง… เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราใช้โดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำ

การเคารพความแตกต่าง ในเชิงวิชาการเลี้ยงเด็ก(ฝรั่ง) อธิบายไว้มากมาย [Respecting differences] ประเด็นที่ผมหยิบเอามาเขียนคือ

  • ฝรั่งถือว่าเรื่องนี้เป็นส่วนของ self-esteem “สอน” กันในระดับอนุบาลถึงเกรด 2 (ป.2) เกินกว่านั้น…อืม…สายไปเสียแล้ว
  • การเคารพความแตกต่าง เป็นการรู้เท่าทันอคติของตน ไม่รีบร้อนตัดสินผู้อื่น(ไว้ก่อนหรือโดยไม่รู้เรื่อง) ฟังความและพิจารณารอบด้าน อดทน อดกลั้น เคารพในอิสระของผู้อื่น เคารพในความเป็นมนุษย์ว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน และสามารถมีความเห็นของตนได้(แม้ไม่เหมือนกับความเห็นของเรา) ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกลักษณะของแต่ละคน
  • การเคารพความแตกต่างนั้น ใช้ความเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น ความกล้าหาญ และใช้ความเป็นตัวของตัวเองเป็นอย่างสูง ถ้าเคารพความแตกต่างจริง จะไม่เกิดความไม่พอใจ ก็แค่ความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้นเอง; อันนี้ต่างกับคับข้องใจจนพยายามจะเปลี่ยนความเห็นของผู้อื่นให้เป็นเหมือนกับเรา ซึ่งใช้อัตตาเป็นอย่างสูง
  • เมื่อเราพบความแตกต่าง น้อยครั้งนักที่จะเข้าใจว่านั่นเป็นเพียง “ความเห็น” ที่แตกต่างต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง; ที่มักเป็นเรื่องขึ้นมา ก็เพราะเราดันไปยึดความเห็นของตัวเราเองว่าถูกต้อง (คนอื่นจึงผิด) แล้วแถมยังไม่สำเหนียกอีกว่าตัวเราเองนั่นแหละที่ไม่เคารพความแตกต่าง อัตตาใหญ่ จึงบังความเห็นอื่นที่แตกต่างจนมิด
  • คงไม่มีใครเคยพบคนที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาหรอกนะครับ แล้วเคยย้อนคิดบ้างไหมว่าตัวเราถูกต้องตลอดเวลาหรือ ทำไมความเห็นของเราจึงถูกต้องตลอดเวลาในขณะที่ความเห็นที่แตกต่างจึงต้องผิดด้วยล่ะ
  • การเคารพความแตกต่าง ไม่ใช่การเห็นด้วยกับทุกคนเหมือนคนคิดไม่เป็น-ไม่มีกระดูก
  • การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคนอื่น ไม่ได้ทำให้คุณค่าของตัวเราเพิ่มขึ้นหรือลดลง คุณค่าของตัวเราอยู่ที่เราทำอะไร เพื่ออะไร ได้ผลอย่างไรต่างหาก ไม่ได้อยู่ที่ว่าคนอื่นเห็น หรือว่าเห็นด้วยหรือไม่ ( โลกธรรม 8 )
  • การเป็นเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้ตัวเรามีคุณค่าเพิ่มขึ้น ผู้ที่มี self-esteem ต่ำจะ “รู้สึกไปเอง” ว่ามีคุณค่าสูงขึ้น เสียงส่วนใหญ่อาจผิดได้อย่างน่าสงสาร หากลากกันไป-ลากกันมา จนไม่มีใครรู้อะไรจริง; ในทำนองกลับกัน การเป็นเสียงส่วนน้อยก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของเราลดลง แต่ผู้ที่ self-esteem ต่ำจะรู้สึกไปเอง กลไกการปกป้องตัวเองมักทำให้แถเข้าไปสู่เสียงส่วนใหญ่หรือกระแส ด้วยความกลัวมากกว่าความรู้แจ้ง แล้วก็จะสร้าง “เหตุผล” ขึ้นมาปกป้อง “การตัดสินใจ” นั้นในภายหลัง ทั้งที่ไม่ได้พิจารณาตัดสินใจอะไรเลย (แล้วก็ไม่รู้ตัวด้วย)
  • สิทธิมนุษยชนสากล ข้อ 19: ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความเห็นเป็นของตนเอง | สิทธินี้ไม่ได้รับรองการกระทำที่ผิดกฏหมายหรือกฏระเบียบของสังคม
  • To be one, to be united is a great thing. But to respect the right to be different is maybe even greater.” — ใครก็ไม่รู้กล่าวไว้

อ่านต่อ »



Main: 0.017319917678833 sec
Sidebar: 0.14666104316711 sec