พลังงาน: เอาจริงแบบเล่นๆ
ปลายปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีไปโคเปนฮาเกน (ชาวยุโรปแถวนั้นเค้าออกเสียงอย่างกันนี้) ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม UNFCCC 2009 ว่าเมืองไทยกำลังอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะ 15 ปี พ.ศ. 2551-2565 ว่าจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 20% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ และจะเพิ่มพื้นที่ป่าจาก 30% ในพ.ศ. 2549 ไปเป็น 40% ในพ.ศ. 2563 (จาก 96.4 ล้านไร่ เป็น 128.5 ล้านไร่) ดังนั้นมาตรการทั้งสองจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก
สารภาพตรงๆ นะครับ ถึงตอนนี้ ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ถ้าหากจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ถึง 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศ จะหวังให้รัฐทำเองทั้งหมดนั้น คงเลื่อนลอยมาก ทุกคน ทุกบ้าน ต้องช่วยกัน แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการอะไรของรัฐที่โดนใจเลย ค่า Adder [เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน] ที่ กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพลังงานทดแทน เหมือนเป็นป้ายเชิญชวน ให้เดินไปสู่ประตูที่ปิดแล้วล็อคกุญแจไว้ ชาวบ้านเดินเข้าไปไม่ได้อยู่ดี ทำไมไม่ออกแบบ grid-tie inverter ที่ปั่นไฟฟ้าแล้ว sync กับไฟฟ้าของ กฟภ. มีฮาร์โมนิกต่ำ แก้ไข power factor ให้ต่ำ ทดสอบให้ผ่านมาตรฐาน แล้ว open source เปิดการออกแบบนี้ให้ใครก็เอาไปทำได้ล่ะครับ
เมื่อต้นปี 2537 ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ตแบบที่เราใช้กันอยู่ ผมเคยโพสต์ประเด็นที่น่าสังเกตไว้ใน soc.culture.thai USENET newgroup ยกประเด็นว่าศูนย์การค้า 5 แห่งที่กำลังจะเปิด (ในเวลานั้น) คือ เสรีเซ็นเตอร์ ซีคอนสแควร์ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต อิมพีเรียลลาดพร้าว และแฟชั่นไอซ์แลนด์ ทั้ง 5 แห่งมีพื้นที่รวมกัน 1.835 ล้านตารางเมตร ถ้าใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ แสงสว่าง และการใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ตารางเมตรละ 250 วัตต์ โดยเปิดทำการวันละ 12 ชั่วโมง จะใช้พลังงานไฟฟ้าวันละ 5.505 GWh ซึ่งนั่นคิดเป็น 49% ของกำลังไฟฟ้าที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้ ในช่วงปี 2535-2539 หมายความว่าศูนย์การค้า 5 แห่ง ใช้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วงนั้นไป 49% แล้ว กฟผ.จึงต้องแจ้นไปซื้อไฟฟ้าจากลาว