บาดาลลอยฟ้า
วันนี้ได้พบครูบา คุยไปคุยมา เจอเรื่องน่าสนใจครับ
ปี 2523 สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA คุณมีชัย วีระไวทยะ) ทำโครงการบาดาลลอยฟ้า Sky Irrgation Project และโครงการธนาคารผัก Vegetable Banks ซึ่งอันหลังจะไม่กล่าวถึง
เมืองไทยมีปริมาณน้ำฝนเหลือเฟือ แต่จัดการน้ำได้อย่างน่าผิดหวัง เนื่องจากปล่อยน้ำฝนที่ตกลงมาทิ้งไปหมด ไม่มีการกักเก็บไว้ ทำให้น้ำขาดแคลนในภาวะแห้งแล้ง ต้องไปซื้อน้ำจากแหล่งไกลๆ ค่าน้ำแพง ค่าขนส่งก็แพง แถมถนนเสียด้วย ได้พืชผลอะไรมา กำไรก็หายไปกับค่าน้ำและปุ๋ยหมด ยิ่งทำยิ่งจน (แต่มีรัฐบาลประชานิยม แจกสะบัด หักจากเงินหล่น เงินทอน เหลือถึงชาวบ้านมือเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แล้งก็ได้ ท่วมก็ได้ หนาวก็คงได้อีก)
โครงการบาดาลลอยฟ้า เป็นโครงการที่ทำง่าย แต่ใครไม่ทำก็จะไม่ได้อะไร
- PDA มีแบบหล่อถังซีเมนต์ นั่งร้าน ซีเมนต์ เอาไปลงพื้นที่
- PDA สอน ชาวบ้านลงแรง หล่อถังซีเมนต์เอาไว้เก็บน้ำฝน — เมืองไทยมีปริมาณฝนตก 1,500 มม./ปี หลังคาบ้านขนาด 25 ตารางเมตร (5 x 5 เมตร เป็นหลังคาขนาดเล็กมาก อยู่กันได้สองคน) มีน้ำฝนตกลงมาบนหลังคา 37.5 ลูกบาศก์เมตร หรือ 37,500 ลิตร — ข้อมูลจากการทดลองของกองทัพเรือสหรัฐ ที่จับทหารเรือ 99 คน ใส่หลุมหลบภัย เพื่อหาปริมาณความต้องการน้ำขั้นต่ำ พบว่าโดยเฉลี่ย แต่ละคนต้องการน้ำวันละ 2.4 ลิตร (บริโภคและทำอาหาร) — ดังนั้นน้ำฝนที่เก็บไว้ จึงเป็นหลักประกันว่าจะพอประทังชีวิตรอดไปได้ หากไฟฟ้า ประปา และชลประทานหยุดชะงัก
- PDA ไม่ทำให้ฟรีครับ ถ้าสิ่งนี้มีค่า ก็ต้องมีราคา และใช้อย่างรับผิดชอบ; PDA ตีราคาถังละ 6,000 บาท ให้ชาวบ้านผ่อนเดือนละ 500 หนึ่งปี ผ่อนเดือนละเงินห้าร้อยบาท อยู่ในวิสัยที่ผ่อนได้ ดีกว่าโครงการไทยค๊อกแค๊กตั้งเยอะ — หกพันบาทนี่ไม่มีกำไรหรอกครับ เป็นราคาที่มีการอุดหนุนแล้ว แต่เป็นการฝึกวินัยชาวบ้านด้วย