ชาหวานเย็น

7 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 10 March 2011 เวลา 0:23 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3133

ผมชอบกินชาเย็นครับ แต่ไม่ได้เขียนเรื่องนั้น

ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีข่าวการสู้รบชายแดนอีสานใต้ ข่าวที่ได้รับมาหลายสายทำให้เป็นห่วงกังวลและประสาทไปพักหนึ่ง แล้วคืนนั้นก็น็อคไป ตื่นขึ้นมาด้วยท่าพิสดาร รู้สึกชาครึ่งตัว ซึ่งด้วยโรคเก่าที่เป็นเมื่อสิบปีก่อน ผมก็เหวอตามปกติ ตอนแรกนึกว่าเอาอีกแล้ว!

รีบลุกขึ้นนั่ง ไม่รู้สึกโคลงเคลง ขยับแขนขาไปยังตำแหน่งต่างๆ แขนขาก็เคลื่อนไหวได้ดังใจ ให้หยุดนิ่งก็ได้ กำลังของกล้ามเนื้อก็ยังมี ไม่น่าจะเป็นสโตรค ก็เบาใจไปส่วนหนึ่ง แต่มันยังรู้สึกชาตามผิวหนัง รอสักอาทิตย์ก็ไม่หาย แม่ให้ไปสแกนสมอง ก็ไปทำ ไม่พบร่องรอยสโตรคใหม่ แถมปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองยังดีเสียอีก นี่แปลว่าตลอดสิบปีมานี้ ดูแลตัวเองพอใช้ได้

ป้าจุ๋มเป็นห่วง บอกจะใช้บริการป้าจุ๋มก็ขอให้บอก จะนัดหมอประสาทวิทยามือดีให้ จะขับรถพาไป แต่ป้าจุ๋มเองก็ยุ่งมาก เกรงใจครับ ประกอบกับผมคิดว่าอาจจะเป็นเส้นพลิก เส้นอักเสบ นอนท่าพิสดาร หรือใช้แขนพิมพ์คอมพิวเตอร์นานเกินไปเสียมากกว่า คุยไปคุยมาเรื่อยเปื่อย ครูปูโทรนัดหมอภาคภูมิให้เมื่ออาทิตย์ก่อน ข้อมูลอยู่ในบล็อกพี่เหลียง คุณหมองานยุ่งมาก แต่ก็นัดได้พรุ่งนี้

ดังนั้นคืนนี้ก็จะรีบนอนเพื่อไปพบหมอพรุ่งนี้นะครับ หวังว่าจะวินิจฉัยอาการชาหวานเย็น (ชาแบบยาวนาน) ได้ เพื่อที่จะได้รักษาให้ถูกทางต่อไป

คืนนี้จะรีบนอนครับ


ปัญญาของฝูงชน

9 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 9 March 2011 เวลา 0:48 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4643

ปัญญาของฝูงชน!!! เฮอะ ฝูงชนมีปัญญาด้วยหรือ?!?!

สังคมปัจจุบันนี้ มีความแตกแยก ความไม่พอใจ “คนอื่น” มากกว่าในสมัยก่อนมากมาย มาย้อนดูแล้ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการผูกขาดความถูกต้องและความดีไว้กับตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้น ถูกต้องดีแล้วทั้งนั้น สิ่งที่คนอื่นทำ ยังไงก็ไม่ถูกใจ เขาผิด เขาชั่ว เขาโง่ ฯลฯ โบ้ยอย่างนี้ง่ายกว่า เหมาะกับสมองที่คุ้นเคยกับนิสัยฉาบฉวย รีบร้อน และขาดความไว้ใจ

คนเรามีความแตกต่างกัน ต่อให้เป็น “พวกเดียวกัน” ก็ยังคิดไม่เหมือนกัน นับประสาอะไรกับที่ “เป็นอีกพวกหนึ่ง”

แต่ที่แปลกก็คือสังคมปัจจุบัน เน้นไปที่ความแตกต่าง เหมือนสมัยสงครามโลกที่อีกฝ่ายหนึ่งถูกป้ายสีในทางไม่ดีต่างๆ นานา ทำธุรกิจก็พยายามถล่มคู่แข่งด้วยวิชามารทุกรูปแบบ; เลี้ยงเด็กก็เช่นกัน ถ้าไม่ปล่อยปละละเลยไปเลยโดยอ้างไม่มีเวลายกเหตุผลมาอ้างสารพัด ก็ควบคุมเข้มงวดจะทำให้เด็กเป็นเหมือนที่ตัวเองคิด โดยไม่รู้ว่าเด็กเลียนแบบตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว (เด็กเริ่มเรียนรู้โดยการเลียนแบบ รวมทั้งการเอาแต่พูดโดยไม่ทำอะไรด้วย)

ในความแตกต่าง คนสติดีต่างก็ต้องการให้สังคมดีทั้งนั้น คงเห็นพ้องกันได้โดยทั่วไปว่าสังคมปัจจุบันนี้ ยังปรับปรุงได้อีกมาก ยังมีเรื่องอีกเยอะที่ต้องทำ แต่เรากลับใช้เวลาในการวิพากษ์วิจารณ์ความแตกต่่าง จนจะไม่เหลือเวลาที่จะลงมือทำอะไรแล้ว… แต่การไม่พูดจากันจนเข้าใจ อยู่ดีๆ ก็ทำไปเลยนั้น อาจวิปริตพอกันนะครับ… มีวิปลาสกว่านั้นคือการตัดสินด้วยอคติ คือไม่ต้องฟังอะไรก็ตัดสินได้แล้ว ปราดเปรื่องขั้นเทพจริงๆ

อ่านต่อ »


โครงสร้างรูปโดม

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 8 March 2011 เวลา 0:42 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 6292

โครงสร้างรูปโดม เป็นโครงสร้างที่แข็งแรง ใช้ผิวกระจายน้ำหนักและแรงต่างๆ ทำให้ทนต่อแรงลมพายุ จน FEMA กล่าวไว้ว่า near-absolute protection” from F5 tornadoes and Category 5 Hurricanes ส่วนการทนแผ่นดินไหวนั้น ขึ้นกับความแข็งแรงและความแรงของแผ่นดินไหว (แรง g) ซึ่งถ้าเทียบกับอาคารปกติแล้ว ก็มักจะดีกว่าอยู่ดี

โครงสร้างรูปโดมที่รู้จักกันดีคืออิกกลู ซึ่งชี้ให้เห็นศักยภาพของโดมอีกแบบหนึ่ง ผิวของโดมเป็นพื้นที่ที่น้อยที่สุด ที่สามารถจะบรรจุปริมาตรที่มากที่สุดเอาไว้ภายใน ปริมาตรบรรจุก็คืออรรถประโยชน์ใช้สอย ส่วนผิวที่น้อยที่สุดหมายถึงต้นทุน/แรงงานในการก่อสร้าง; เมื่อมีพื้นที่ผิวน้อย ก็หมายความว่าความร้อนที่อยู่ภายใน จะสูญเสียผ่านผนังให้กับบรรยากาศน้อยด้วยเช่นกัน ทำให้ภายในอิกกลูอุ่นกว่าโครงสร้างแบบอื่นๆ

ความรู้เรื่องการก่อสร้างโดมหิน เกิดสูญหายไปตั้งแต่สมัยยุคโรมันเสื่อมลง จนกระทั่งมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ อัจฉริยะชาวอิตาลี Filippo Brunelleschi 1377-1446 (ซึ่งเกิดร่วมสมัยกับไมเคิลแอนเจโล และลีโอนาโดดาร์วินชี) ได้สร้างโดมที่มหาวิหารแห่งฟลอเรนซ์ ซึ่งแม้ในปัจจุบัน ก็ยังครองตำแหน่งโดมเรียงอิฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อ่านต่อ »


ให้น้ำที่ปลายราก

อ่าน: 8115

คำว่าแล้งนั้น นักอุตุนิยมวิทยาให้นิยามไว้ว่ามีฝนไม่เกิน 0.25 มม. ในรอบ 15 วัน

พูดง่ายๆ ก็คือฝนไม่ตกน่ะครับ ถ้าฝนไม่ตกแล้วมีเมฆบ้าง ก็ยังพอบรรเทาไปได้ แต่บ้านเราแดดจัดมาก ถ้าไม่มีเมฆมาบังแสงแดดอีก ดินถูกแดดเผาก็จะทำให้น้ำระเหยออกไปมาก จนดินแห้ง แตกระแหง แถมปุ๋ยอินทรีย์ก็สลายตัว จุลินทรีย์ในดินมีชีวิตอยู่ได้ลำบากหากอุณหภูมิของดินสูงขึ้นมาก หลายเด้งเหลือเกิน แต่ปัญหาใหญ่คือพืชพันธุ์ธัญหารเสียหาย จากการที่ระบบรากทำงานไม่ได้เนื่องจากน้ำใต้ดินหายไป

เรียนกันมาตั้งแต่เด็กว่ารากทำงานโดยกระบวนการออสโมซิส ตอบข้อสอบได้ก็โอเคแล้ว ที่เราไม่ค่อยคิดกันต่อคือออสโมซิสอะไร จริงอยู่ที่คำตอบตามตำราก็จะออกไปในทำนองที่ว่า ออสโมซิสคือกระบวนการดูดซึมสารละลายที่มีความหนาแน่นต่ำ ผ่านเนื้อเยื่อไปสู่ที่ที่มีความหนาแน่นสูง กระบวนการนี้ทำงานที่ปลายราก พืชต้องการน้ำใต้ดินไปละลายสารอาหารที่อยู่ในดิน เพื่อที่ปลายรากซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน จะดูดซึมผ่านราก-ลำต้น-กิ่ง ส่งไปที่ใบเพื่อสังเคราะห์แสง

แต่ความหมายที่ไม่ค่อยคิดกันคือ เวลารดน้ำต้นไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ต้องประหยัดน้ำ ก็ควรจะส่งน้ำไปที่ปลายรากครับ ไม่ใช่รดใบ รดโคนต้น หรือรดไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะได้สบายใจว่ารดน้ำต้นไม้แล้ว

ที่เป็นปลายรากเพราะปลายรากเป็นเนื้อเยื่ออ่อน สารอาหารของพืชที่ละลายอยู่ในน้ำพอจะซึมผ่านได้ แต่ถ้าเป็นกลางราก น้ำซึมผ่านไม่ได้ครับ

แต่มันก็มีปัญหาใหญ่ คือรากอยู่ใต้ดิน แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่าปลายรากอยู่ตรงไหนล่ะ? ตอบตรงๆ ว่าไม่รู้เหมือนกันครับ อันนี้อาจพอกะได้เหมือนกัน แต่ก็ขึ้นกับว่าจริงๆ แล้ว เรารู้จักต้นไม้ที่ปลูกมากแค่ไหน

อ่านต่อ »


อินเทอร์เน็ตกับพฤษภาทมิฬ

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 6 March 2011 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3204

จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ใช้ “สื่อสังคม” ในการเรียกระดมพลัง อันเป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อการปิดกั้นข่าวสาร ทั้งเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาในประเทศ และที่กำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศ ดูแล้วก็ไม่ได้ประหลาดใจอะไรหรอกนะครับ

เรื่องราวยังไม่จบง่ายๆ สิ่งต่างๆ มีเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เปลี่ยนแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเก่า แต่คนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง กลับรู้สึกทนอยู่ในสภาพเก่าไม่ได้ (ทุกข์) เป็นเพราะใจของเราสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่ควรและไม่ควร (สมุทัย) แล้วเราก็คิดว่าทนไม่ได้ — ซึ่งว่ากันจริงๆ ทนได้ครับ แต่ไม่อยากทนมากกว่า ความรู้สึกรุนแรงเหลือเกิน

ในเมืองไทย มีการใช้ข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 — นั่นก่อนที่เมืองไทยจะมีอินเทอร์เน็ตแบบเชื่อมต่อตลอดเวลาที่เรารู้จักคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ก่อนจุฬาฯ ก่อนเนคเทคจะใช้สายเช่า ก่อนประเทศไทยจะมีเว็บตัวแรก ก่อนเมืองไทยจะมีผู้รู้เรื่องเน็ตมากมายอย่างนี้ มือถือไม่มีเน็ต; การเซ็นเซอร์ข่าวสาร สามัคคีปรองดองแบบไม่มีใครผิดเลย หรืออะไรที่เจอๆ กัน ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรอกครับ ที่น่าเศร้าก็คือ มันเคยเกิดขึ้นแล้ว มีชีวิตคนสังเวยไปแล้ว และมันก็เกิดขึ้นอีก เราไม่เรียนรู้…

เรื่องราวต่างๆ ผ่านพ้นไปนานแล้ว บุคคลที่ปรากฏชื่ออยู่ในลิงก์จากบันทึกนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เดิมอีกต่อไปนะครับ แทบทั้งหมดเปลี่ยนที่อยู่ไปนานแล้ว ผมนำข้อความเก่าในคลังข้อมูลของ soc.culture.thai มาอ้างอิง เพื่อการค้นคว้าให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเท่านั้น

อ่านต่อ »


เรื่องเก่าเล่าใหม่: โอลด์ แลง ซายน์

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 5 March 2011 เวลา 4:16 ในหมวดหมู่ ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม บันเทิง #
อ่าน: 3917

เพลงโอลด์ แลง ซายน์ มาจากโคลงเก่าภาษาสก็อต ที่โรเบิร์ต เบิร์นส์​ ผู้เป็นกวี เรียบเรียงไว้จากเพลงพื้นบ้านของสก็อตแลนด์

เนื่องจากมีทั้งรุ่นเพลงพื้นบ้าน รุ่นโคลง รุ่นที่เอาไปทำเป็นเพลง รุ่นแปลเป็นภาษาอังกฤษ และยังที่แปลเป็นภาษาอื่นอีก (เช่นเพลงสามัคคีชุมนุม) การสืบหาต้นฉบับที่แท้จริงถึงจะไม่ยุ่งยาก แต่หาเพลงซึ่งร้องตามเนื้อนั้นไม่ได้เลยครับ

โอลด์ แลง ซายน์ Auld Lang Syne แปลเป็นอังกฤษแบบคำต่อคำว่า Old Long Ago คือเปรียบเสมือนเรื่องราวที่ผ่านพ้นไปนมนานแล้ว บางส่วนยังประทับใจ บางส่วนน่าหวนคำนึงหา เหมือนเพื่อนเก่า ใช้เป็นเพลงปิดงานชุมนุมลูกเสือ (Jamboree) และในหลายๆ ประเทศ เอาไว้ร้องหลังเที่ยงคืนวันขึ้นปีใหม่ (หลังจากเคาน์ดาวน์) ในความหมายที่ว่าควรจะย้อนรำลึก เพื่อกลั่นเอาส่วนที่ดีเก็บไว้…อะไรทำนองนั้น

คลิปข้างล่างนี้ สมาชิกสภาสก็อตแลนด์ร้องร่วมกันเป็นภาษาสก็อตปนอังกฤษ เริ่มด้วยท่อนแรกและไปต่อยังท่อนสุดท้าย

อ่านต่อ »


สารคดี

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 4 March 2011 เวลา 1:34 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3367

ความอยู่รอดของบริษัทผลิตสารคดี มีนัยที่บอกถึงความไม่ฉาบฉวยของคนในสังคมเหมือนกัน

เมื่อหลายปีก่อน บริษัท พาโนราม่าเวิล์ดไวด์ ใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลอยู่ 6 ปี กับเวลาถ่ายทำอีก 2 ปี รวมทั้งเวลา 4 เดือนในอินเดีย ได้ผลิตสารคดีชุดตามรอยพระพุทธเจ้าออกมา ผมซื้อมา 12 ชุดครับ ซื้อไปแจกผู้ที่ผมอยากให้ดู ซื้อราคาเต็ม ซื้อเยอะก็ไม่มีส่วนลด ต้องไปติดต่อที่สำนักงาน ต้องไปรอ และต้องไปหลายรอบกว่าจะได้ของครบ แต่ก็ยินดีทำ ก็อบได้ก็ไม่ก็อบ/คนขายก็ถามเหมือนกัน

ผมไม่ได้สนใจในเรื่องข้อสรุปที่สารคดีให้ มากไปกว่าแง่คิดที่ผุดขึ้นเองจากเรื่องราว เพราะทุกเรื่องแห่งการเรียนรู้ คงไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรอกครับ อะไรที่ไม่รู้ ก็ไม่ต้องรีบตัดสินว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ อะไรที่สรุปไปแล้ว มันไม่ใช่สูตรสำเร็จ เป็นเพียงข้อสรุปจากเรื่องในบริบทเดียวเท่านั้น อย่าเผลอไปใช้กับเรื่องอื่นโดยไม่พิจารณาบริบทควบคู่ไปด้วย

ปลายเดือนมกราคม พี่ครูอึ่งส่ง SMS มาบอก “อ.โสรีช์ ออก ทีวีไทยตอนนี้อยู่ค่ะ” [สิ่งหนึ่ง นำสู่อีกสิ่งหนึ่ง] รู้สึกโชคดีที่มีวาสนาผูกพันกับอาจารย์โสรีช์แม้เป็นช่วงสั้นๆ ก็ตามครับ ผมจะไม่พร่ำพรรณาหรืออวยให้มากความ เพราะไม่ว่าอาจารย์ท่านเป็นอย่างไร ท่านก็เป็นอย่างนั้นอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่เกี่ยวกับความเห็นของผมครับ…

ประเด็นคือผมมีโอกาสได้ดูสารคดีชุดพื้นที่ชีวิตนี้ อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก รู้สึกว่ารายการแบบนี้ น่าสนับสนุนมาก

อ่านต่อ »


ภาษีอีกแล้ว

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 3 March 2011 เวลา 16:41 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 4352

ปีที่แล้ว แม้จะเลิกทำงานประจำไป แต่ก็ยังพอมีเงินได้จากการไปเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษาอะไรต่อมิอะไร พอสนุกไป แต่ในเมื่อมีเงินได้ ก็จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครับ

ผมเคยโดนสรรพากรเรียกไปปรับเพิ่ม (คือลดเงินคืนภาษี) เพราะว่าองค์การมหาชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางเมือง เชิญผมไปเป็นกรรมการ จ่ายค่าตอบแทนให้ แต่ให้เอกสารทางภาษีล่าช้าเกินกำหนดที่ผมจะต้องยื่นภาษีของผม เลยกลายเป็นเราไม่ได้ยื่นรายได้ส่วนหนึ่งไป ซะงั้น… ไม่เป็นไร เรื่องผ่านไปแล้ว จะไปแก้ไขอะไรก็ไม่ได้

ปีนี้ยังรวบรวมเอกสารทางภาษีไม่เสร็จเลย แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่ คือเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเล่าไว้นิดหนึ่งท้าย [เที่ยวนานๆ ปีละครั้ง]

เมื่อเลิกทำงานประจำ ผมยังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ ก็ทำเรื่องต่ออายุไปปีหนึ่งซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเมษายนนี้ กองทุนมีระเบียบใหม่ออกมาช่วงปลายปีที่แล้ว บอกว่าสามารถต่ออายุสมาชิกกองทุนไปเรื่อยๆ ปีต่อปีไปจน “เกษียณ”

เมื่อถึงอายุเกษียณแล้ว การออกจากกองทุน ก็จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ทั้งหมดออกมา แถมในเชิงภาษีก็ไม่คิดเป็นเงินได้ ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลรัษฎากร — รายละเอียดติดต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ กองทุนผมใช้ TSD เป็นนายทะเบียน ดังนั้นเรื่องเอกสารทั้งหมด ก็ทำที่ TSD ชั้นสองอาคาร A สถาบันวิทยาการตลาดทุน นอร์ธพาร์ค บางเขน

อ่านต่อ »


ปลูกต้นไม้เอาใบ

อ่าน: 4707

บันทึกนี้เกี่ยวเนื่องกับบันทึกที่แล้วครับ ขอเอาภาพเดิมกลับมาดูกันใหม่อีกที

ดูตรงเส้นสีส้มซึ่งสะท้อนพลังงานของดวงอาทิตย์ออกไปนะครับ การสะท้อนนี้เกิดโดยปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกัน และมีผลไม่เท่ากัน ตัวบรรยากาศของโลกเองสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ออกไป 6% เมฆชั้นสูง/ชั้นกลาง/ชั้นต่ำ สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป 20% ส่วนที่เหลืออีก 4% นั้น แสงแดดตกกระทบพื้นแล้วแผ่ออกในรูปรังสีอินฟราเรด

เอาล่ะ เราคงผ่านความแห้งแล้งกันมาคนละหลายๆ ครั้ง ซึ่งนอกจากบ่นแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรไม่ใช่หรือครับ… แน่นอน เวลาแล้งเป็นเพราะฝนไม่ตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน… แต่ไม่รู้ว่าเคยสังเกตท้องฟ้าหรือเปล่าครับ ว่าเวลาที่แล้งนั้น มักหาจะหาเมฆเหนือหัวไม่เจอสักก้อน ไม่ว่าจะเป็นเมฆในระดับไหน

เมื่อไม่มีเมฆ การสะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับออกไปในอวกาศด้วยเมฆ (20%) ก็ไม่มีน่ะซิครับ อย่างน้อยก็ตรงที่เราอยู่ พอไม่มีอะไรกั้นแล้ว พลังงานจากดวงอาทิตย์ก็ตกลงมากระทบผิวโลกมากขึ้น (เป็น 51%+20%) ยิ่งร้อนหนักเข้าไปใหญ่ รังสียูวีก็เยอะ นอกจากผิวเสียแล้ว ฮิวมัสในดินก็จะสลายตัวเร็ว ดินเสื่อม พืชรับความซวยไป

เมื่อดินร้อน น้ำผิวดินหาย น้ำใต้ดินแห้ง พืชพันธุ์ธัญหารก็เสียหาย… เมื่อเมฆหายไป ก็ควรจะหาอะไรมาบังแดดแทนเมฆครับ ซึ่งนั่นคือใบไม้ไง!

พลังงานแสงที่ตกกระทบใบไม้ ใบไม้ก็สังเคราะห์แสงไป ดูดเอาน้ำและแร่ธาตุผ่านรากและลำต้น ดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ไปสร้างความเจริญเติบโตไปตามกระบวนการ… แสงที่ผ่านใบไม้ลงมาไม่ได้ ก็เกิดเป็นร่มเงาอยู่ข้างใต้ ดินไม่ร้อน น้ำใต้ดินไม่สูญเสียจากการระเหยเนื่องจากโดนแดดเผา ลดอัตราการเสื่อมของดิน (ดินดาน ดินแตกระแหง กลายเป็นทราย ฯลฯ)

ก็จริงอยู่ที่เวลาอากาศแล้งจัด ต้นไม้ผลิใบเพื่อลดการคายน้ำ ใบไม้ที่ร่วงลงดินก็ปล่อยมันไว้อย่างนั้นล่ะครับ เพราะว่ามันย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ คืนธาตุอาหารที่ต้นไม้ยืมมาสร้างใบกลับไปสู่ดินอีกทีหนึ่ง แต่ระหว่างที่ใบไม้ยังไม่ย่อยสลาย มันบังบังแดดให้แก่พื้นดินได้สักพักครับ

อ่านต่อ »


โลกร้อนจากมุมของพลังงานแสง

อ่าน: 5231

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าพลังงานทุกอย่างที่เราใช้ มีต้นทางมาจากดวงอาทิตย์ทั้งนั้น

ดวงอาทิตย์แผ่รังสีให้กับโลก ตลอดวันตลอดคืน (ตอนกลางคืน ดวงอาทิตย์กำลังแผ่ให้อีกซีกโลกหนึ่ง) เกิดความอบอุ่น เกิดลมฟ้าอากาศ เกิดการสังเคราะห์แสง เกิดห่วงโซ่ของอาหาร เกิดน้ำมัน ฯลฯ

ข้อมูลในรูปข้างบน เป็นข้อมูลมือสองซึ่งเกินปัญญาที่จะตรวจสอบ แต่มาจากการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ หวังว่าเขาจะมีการตรวจสอบแล้วเป็นอย่างดีก่อนตีพิมพ์เผยแพร่

อ่านต่อ »



Main: 0.3529109954834 sec
Sidebar: 5.7586801052094 sec