วันปลูกต้นไม้ที่วัดพระบาทห้วยต้ม

7 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 21 June 2009 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3486

เมื่อวานเป็นวันที่สนุกอีกวันหนึ่งในการเดินทางมาลำพูนเที่ยวนี้ นอกจากไปร่วมเสวนาที่คณะพยาบาลศาสตร์ มช.แล้ว การมาปลูกต้นเอกมหาชัยที่วัดพรบาทห้วยต้ม ก็เป็นเป้าหมายหลักของทริปนี้อีกอันหนึ่ง

ตื่นเช้าออกจากโรงแรมล่ากว่ากำหนด แล้วแวะซื้อของระหว่างทาง ซื้อไม่ได้โทรไปขอให้รถอีกคันหนึ่งซื้อให้ด้วย แล้วก็รีบไปวัด ถึงวัด 9:15 เร็วกว่ากำหนดพิธีเล็กน้อย แต่ที่จริงเราควรจะถึงวัด 45 นาทีก่อนหน้านั้น ทำให้มาไม่ทันพิธีสวดมนต์ในโบสถ์ แต่ครูบายังให้โอวาสเด็กทัน

รอกันไปรอกันมา เกือบไปไม่ทันปลูกต้นไม้ ตลอดแนวปลูก ถูกสามเณร และเด็กนักเรียนปลูกไปหมด อ.หลินฮุ่ยโดดลงใส่หลุมหนึ่งประมาณกลาง ค่อนไปทางท้ายถนน แล้วปลูกผักโชว์ชาวบ้านด้วย ครูบาคุยไปคุยมา ไม่รู้ได้ปลูกหรือเปล่า ผมกับป้าจุ๋มเห็นท่าไม่ดี รีบขับรถไปท้ายถนน หาหลุมว่างก็หาไม่เจอ ป้าจุ๋มลงมือขุดหลุมเองที่สามแยก มาร์คตำแหน่งไว้ด้วย GPS ส่วนต้นที่ผมปลูก ผมถางหญ้า ขุดหลุมเองเหมือนกัน ปลูกถัดไปจากป้าจุ๋ม ก็ได้ปลูกสมใจ เลย อิอิ ได้ ขับรถมาแปดร้อยกว่ากิโล จะมาปลูกต้นไม้ ถ้าไม่ได้ปลูก จะเซ็งมาก

ตอนแรกได้ทราบว่านัดกันที่พระมหาเจดีย์ สมาชิกบางคนก็เดินตัดทุ่งมา เลยช้าหน่อย แต่ระหว่างนั้นเปลี่ยนที่นัดหมายเป็นที่โครงการหลวงห้วยต้ม ไปกินข้าวกลางวัน ข้าวอร่อยตามเคย เสร็จแล้วครูบาบรรยายให้เด็กๆฟัง มีเชียร์ลีดเดอร์ชื่อ “หลินฮุ่ย อิ๊ อิ๊ อิ๊” จบแล้ว อ.แฮนดี้เล่าเรื่อง Ulem ปรากฏว่ามีผู้สนใจ ชื่อป้าดาซึ่งตามพี่บางทรายมา ซื้อไปชุดหนึ่ง

เพราะว่ามีหลายคนไม่ได้ปลูกเอกมหาชัย ครูบาจึงขอทางโครงการหลวงปลูกในพื้นที่ของโครงการ ซึ่งก็มีอยู่ 16 หลุม ได้ปลูกอีกต้นหลังห้องบรรยาย ต้นที่ผมปลูกอยู้ซ้ายสุด ติดกับต้นของพี่ครูอึ่ง อยู่คนละปีกกับต้นที่ป้าจุ๋มกับเบิร์ดปลูกร่วมกันซึ่งอยู่ขวาสุด (ต้นของคนอื่นไม่รู้ครับ) ปลูกแล้วไปเดินทัวร์โครงการหลวง ได้กิ่งพันธุ์+ลูกกลับมาปลูกกันคนละอันสองอันตามอัธยาศัย

แล้วเราก็กลับมาวัด ตั้งใจจะพาผู้ที่ยังไม่เคยมาวัดนี้ไปชมสถานที่ต่างๆ แต่เพราะต่างคนต่างคุย ก็เลยยืนกันอยู่เฉยๆ ไม่เป็นไร อยากคุยก็คุย อิอิ

แล้วครูบาก็เชิญประชุมเรื่อง เจ้าเป็นไผ ๒ เลิกประชุมหกโมงเพราะว่าเป็นกำหนดจะต้องกินข้าวเย็น (เป็นเรื่องไม่สุภาพที่จะไปช้าแล้วให้คนที่จัดข้าวปลาอาหารเลี้ยง ต้องคอยเรา) การประชุมไม่มีข้อสรุป ที่จริงก็ไม่เชิงหรอกครับ เราสรุปว่าจะไม่สรุปต่างหาก

หลังข้าวเย็นซึ่งอร่อยตามเคย พี่สร้อยและคณะก็กลับเชียงใหม่ไปตอนหนึ่งทุ่ม อ.แฮนดี้นำอารามเตรียมการติดตั้ง Ulem ซึ่งตอนสามทุ่มก็ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ยังไม่ทำคืนนี้

อ่านต่อ »


ร่วมเฮที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ่าน: 5273

เมื่อวานนี้ ญาติเฮก็ไปร่วมกันเฮ ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรามีลูกช้างไปด้วยสามท่าน อ.หลินฮุ่ย รุ่นปี 2508 พี่บางทราย รุ่นปี 2512 และพี่ครูอึ่ง รุ่นปี 2518 เป็นการเสวนาเรื่อง “พยาบาลกับเศรษฐกิจพอเพียง” คือตอนนี้ อะไรๆ ก็เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเป็นชีวิตปกติ ที่ไม่เพ้อเจ้อไปกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว มีแต่จะดีขึ้น ถึงจะไม่โตพรวดพราดทันใจ แต่ก็ไม่ตกต่ำ

เริ่มต้น ครูบาเปิดเรื่องด้วยสไลด์ที่สนุกสนานตามเคย และเขียนคำว่า “กิเลส” ผิดตลอดเช่นเคยครับ (ฮา) จากนั้นพี่ตา ก็รับหน้าที่พิธีกรยั่วยุคำถามโดยมีชาวเฮร่วมแลกเปลี่ยน ก็ยังเป็นปกติที่ทุกคำถาม ก็คาดหวังคำตอบ เผอิญเราเป็นพวกผิดปกติ ซึ่งมักไม่ตอบให้ตรงกับคำถาม เพราะว่าคำตอบสำเร็จรูป มักใช้ได้ในบริบทของผู้ตอบอันเดียว เวลาผู้ถามหรือผู้ฟังจะเอาไปใช้ ขืนลอกไปใช้ทั้งดุ้นก็บ้าแล้ว เราจึงไม่เสียเวลากับการฟันธง แต่ให้หลักคิด/แง่คิดมากกว่า

เมื่อจบการเสวนา คิดว่าโดยรวมก็ได้รับการตอบรับที่ดี คงมีบ้างที่บางท่านอาจจะไม่คุ้นกับการไม่ได้คำตอบสำเร็จรูป ทำให้ต้องไปไตร่ตรองต่อเอาเอง หรือคุ้นกับการมีคนมาบอกตลอดเวลา คงมึนตึ้บไป แต่ก็มีคำถามดีๆ มากมาย การเสวนาใช้เวลาเกินไปสักครึ่งชั่วโมง

เสร็จแล้ว คณะเลี้ยงข้าวซอย อร่อยดี แล้วท่านคณบดีจัดรถตู้ให้ชาวเฮใช้สองคันจนเย็น ขอบพระคุณครับ

เราไปกันที่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ในค่ายดารารัศมี (ตชด.) พระตำหนักนี้ เป็นพระตำหนักของเจ้าดารารัศมี พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

จากนั้นก็แยกวง รถตู้คันหนึ่งไปสวนสัตว์เชียงใหม่แล้วไปพืชสวนโลก อีกคันหนึ่งไป “บ้าน ๑๐๐ อัน ๑๐๐๐ อย่าง” ซึ่งคันหลังไปที่เดียวแต่กลับใช้เวลามากกว่า แถมไม่ได้กินไอติมด้วย เจ้าของคือ อ.ชรวย ณ สุนทร ผู้ได้รับสมญานามว่าผีบ้าแห่งล้านนา เป็นผู้นำชมด้วยตัวเองทุกห้อง แล้วคณะก็นัดพบกินข้าวกันที่กาแล ก่อนแยกย้ายกันไปนอน ขอบคุณเจ้าภาพทุกท่านครับ

พรุ่งนี้ ออกเดินทางแต่เช้า ไปค้างที่วัดพระบาทห้วยต้มคืนหนึ่ง แล้วจะกลับกรุงเทพเลย วันนี้ ฮาแตกตลอดวัน แต่เล่าไม่ไหว เอาไว้ให้คนอื่นเล่าก็แล้วกันครับ

อ่านต่อ »


วันเที่ยวลำพูน

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 19 June 2009 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4613

เมื่อวานเป็นวันที่เที่ยวในตัวเมืองลำพูน เดิมทีว่าจะไปดอยอินทนนท์กัน แต่เนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืน ดังนั้นดอยอินทนนท์ก็คงไม่ค่อยปลอดภัย เลยเปลี่ยนแผนมาเที่ยวในเมือง ซึ่งเหนื่อยได้ใจเหมือนกันครับ

เช้านั่งเม้าธ์กันที่โรงแรม กินข้าวเช้ากัน มีพี่บางทรายและอ.สิริคนข้างกาย ซึ่งเปลี่ยนที่นอนกระทันหันมารวมกันอยู่ที่โรงแรม เช้าเจอหน้าผมส่ง จปผ๑ ให้สองเล่มก่อน ที่เหลือเอาไว้ยื่นหมูยื่นแมว ฮาๆๆๆ เปล่าหรอกครับ พี่ทั้งสองจะไปทำธุระ ก็ไม่รู้จะให้แบกไปทำไม อีกอย่างหนึ่งคือให้ไปก่อนสองเล่ม เอาไว้ล่าลายเซ็นนักเขียนซึ่งมารวมกันเยอะ

จากนั้นก็ไปโรงเรียนมงคลวิทยา เป็นวันไหว้ครูพอดี ผมถ่ายรูปแล้วก็เดินไปหลังโรงเรียน ชอบกุฏิพลศึกษา/สุขศึกษามาก พอเดินกลับมา ทุกคนขึ้นรถแล้วขับย้อนกลับไปดูที่ผมเพิ่งเดินมา ฮา แต่เดินเลยสระว่ายน้ำเข้าไปอีก ไปดูอาณาจักรของครูอาราม มีต้นไม้ต้นไร่มากมาย มีกุฏิส่วนตัวด้วยเหมือนกัน อยู่หลังสระว่ายน้ำ ไปเห็นไผ่กิมซุ่งโผล่ยอดสูงปรี๊ดก็ดีใจที่มาโตที่นี่ ยังรอดอยู่ได้หลังจากที่โดนตอนหมดทุกกิ่งพร้อมๆ กัน เพราะคนเห็นว่าเป็นไผ่พันธุ์ดี เลยอยากได้บ้าง

แล้วก็ไปพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองซึ่งเป็นที่เก่าของโรงเรียนมงคลวิทยา มีการปรับปรุงไปสองสามอย่าง ยังดีเหมือนเดิม ไปอีกก็ไม่เบื่อ

จากนั้น ก็ขับรถไปอีกสักร้อยเมตรถึงวัดพระธาตุหริภุญชัย ไหว้พระเดิน-ชมวัด แล้วก็เดินข้ามสะพานไปกินก๋วยเตี๋ยวลำไย ซึ่งมีป้านเตือนไว้ว่า “ระวังพริกเผ็ด” แสดงความจริงใจอย่างมาก ฮี่ฮี่

เดินย้อนกลับมาวัดหลวง แล้วขับรถต่อไปยังวัดพระยืน เจอกิจกรรมที่หาได้ยากคือการปั้นพระ เค้ามีแม่พิมพ์ให้เอาดินเหนียวอัดลงในพิมพ์ ซึ่งทาด้วยน้ำมันพืช (เจ) พอแงะออกมา ก็เป็นองค์พระ จะเอาไปบรรจุในเจดีย์ซึ่งกำลังบูรณะ

แล้วก็ไปแวะร้านฝ้ายทอมือ (ที่ใช้กี่ทอ) สาวๆ ได้ของเสื้อกับผาซิ่น ครูบาได้เสื้อ อารามได้ขนม แต่ผมไม่ได้ซื้ออะไร

แล้วจึงกลับโรงแรม ซึ่งทุกที่ที่ไปในวันนี้ อยู่ห่างโรงแรมไม่เกิน 5 กม. แต่ทำไมมันเหนื่อยอย่างนี้ก็ไม่รู้ พอถึงโรงแรม ผมขอตัวปลีกวิเวก เอารถไปเปลี่ยนยาง สามคนไปเชียงใหม่ไปพบญาติโยมเพื่อเตรียมการสำหรับการบรรยายพรุ่งนี้ พี่ครูอึ่งงานเข้าแยกไปหลังกินก๋วยเตี๋ยวกลางวัน จะมีผู้ตรวจมาเยี่ยมโรงเรียน ครูใหญ่ก็เลยต้องอยู่ต้อนรับ มารับอีกสองสาวตอนทุ่มครึ่งไปกินข้าวเหนียวหมูทอดยอดอร่อย อึ๋ย อยากกินมากเลย แต่ว่าตอนนั้นผมยังอยู่หางดง และหมดแรง จึงขอตัวปลีกวิเวก

กลับมาถึงโรงแรม ได้รับซาละเปามุทิตาจิตสี่ลูก ขอบพระคุณครับ

อ่านต่อ »


เตรียมงานปลูกต้นไม้ที่วัดพระบาทห้วยต้ม

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 18 June 2009 เวลา 0:12 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3144

วันนี้ไปวัดมาครับ ไปถึงเอาสิบเอ็ดโมงกว่า ตอนนั้นยังไม่เจอคุณอมรา ก็เดินเที่ยวและถ่ายรูปในวัดกันก่อน

แล้วก็ออกมากินข้าวกันที่ร้านสอางค์ทิพย์ ในอำเภอลี้ ซึ่งเดิมทีคิดว่าเป็นร้านขายเครื่องมือการเกษตร ที่จริงเค้ามีสองร้านอยู่ติดกัน ส่วนที่ขายอาหาร คุณอมราบอกไม่ขายมานานแล้ว เข้าไปกินขาหมูต้มยำตามที่ลุงเปลี่ยนเคยแนะนำ ก็อร่อยดี หมูนุ่มมาก

เสร็จแล้ว กลับมาเจอคุณอมรา จึงได้คุยกันเรื่องแผนงานวันปลูกต้นไม้ เราบรรดาพวกหลักสี่ ก็เปิดโอกาสให้ สว. หลักหกทำงานไป ส่วนเราเดินไปดูทางน้ำ ระดับน้ำใต้ดิน 150 เมตร เอื๊อก มีห้วยตื้น อยู่รอบพื้นที่ แต่ได้ทราบมาว่าพื้นที่เคยแห้งแล้งมาก่อน จนเมื่อสี่ห้าปีก่อนหลวงปู่ (ครูบาวงศ์) จะสิ้น จึงเริ่มมีน้ำบ้าง

ระดับน้ำที่ลำห้วยกับเขตวัด ต่างกันประมาณ 25 เมตร หมายความว่าหากจะนำน้ำผิวดินไปใช้ ก็ต้องใช้ความดันเกือบ 3 บาร์ ซึ่งอยู่ในวิสัยของกังหันน้ำก้นหอยที่เคยเขียนบันทึกไว้หลายอันแล้ว ว่าใช้พลังงานจากการไหลของน้ำ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านดูเลซ่อมแซมเองได้ โดยไม่ต้องใช้ความรู้ชั้นสูงหรือทุน

แล้ว “เด็ก” ก็ออกไปรับรถขนส่งต้นไม้จากบุรีรัมย์ซึ่งเข้ามาวัดไม่ถูก มีเณรมาช่วยขนต้นไม้ลงจากรถ เราไม่ได้ช่วยเลย ฮาๆๆๆ มัวแต่ถ่ายรูป

พอดูเรียบร้อยดี ก็พากันไปปลูกต้นเอกมหาชัยเป็นการสาธิต ฝั่งของถนนที่เราไปปลูก ขุดหลุมลึกจนน่าตกใจ แต่อีกฝั่งหนึ่งตื้นพอ ที่ว่าลึก คือลึกไปถึงชั้นดินศิลาแลง ซึ่งเมื่อโดนอากาศแล้ว มันก็จะแข็งตัว แม้ระบบรากของเอกมหาชัยจะแข็งแรงมาก แต่ในขณะที่ต้นยังเล็กอยู่ ปล่อยให้โตในดินปกติน่าจะดีกว่าให้เจาะศิลาแลงตั้งแต่ยังเล็กครับ จากนั้นก็ไปดูโรงปุ๋ย

ยังไม่แน่ใจว่าในส่วนของวัด จะปลูกที่ไหนครับ คงต้องถามทางวัดดู แต่สำหรับ Ulem สามหัว เสนอว่าติดหน้ากุฏิเจ้าอาวาสซึ่งมีทั้งน้ำและไฟฟ้าพร้อม จะได้นำความชุ่มชื้นมาให้ในเวลาที่ร้อน และมีญาติโยมมาวัด อีกที่หนึ่งคือใกล้โรงครัวซึ่งอยู่ใกล้วห้องเรียนปริยัติด้วย ตรงน้นปลูกผักสวนครัว และทำความเย็นไปพร้อมกันสองหน้าที่เลย

อ่านต่อ »


ชาตินั้นเปรียบได้กับชีวิตคน

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 17 June 2009 เวลา 0:21 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3576

“… ความรู้ความสามารถทางวิชาการ กับความรู้ความเข้าใจอันกระจ่างชัดในบ้านเมืองของเรานั้น เมื่อนำมาใช้ ด้วยกันให้ประสมประสานสอดคล้อง แล้วจะบันดาลให้งานของชาติทุกอย่างบรรลุผลเลิศ. การปฏิบัติงานสร้างสรรค์ ความเจริญของบ้านเมืองโดยใช้หลักการนี้จึงนับเป็นการธำรงรักษาชาติอย่างแท้จริง. ชาตินั้นเปรียบได้กับชีวิตคน. กล่าวตามหลักความจริง คนเราประกอบด้วยร่างกายส่วนหนึ่ง จิตใจส่วนหนึ่ง. ทั้งสองส่วนคุมกันอยู่บริบูรณ์ชีวิต ก็คงอยู่. ส่วนใดส่วนหนึ่งทำลายไป ชีวิตก็แตกดับ เพราะอีกส่วนหนึ่งจะต้องแตกทำลายไปด้วย. ชาติของเรานั้นมี ผืนแผ่นดินและประชากรอันรวมกันอยู่เป็นส่วนของร่างกาย มีศิลปวิทยา มีธรรมเนียมประเพณี มีความเชื่อถือและ ความคิดจิตใจที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมเรียกว่า “ความเป็นไทย” เป็นส่วนจิตใจ. ชาติไทยเราดำรง มั่นคงอยู่ก็เพราะยังมีทั้งบ้านเมืองและความเป็นไทยพร้อมบริบูรณ์. แต่ถ้าความเป็นไทยของเรามีอันเป็นต้อง เสื่อมสลายไปด้วยประการใดแล้ว ชาติก็ต้องสิ้นสูญ เพราะถึงหากบ้านเมืองและผู้คนจะยังอยู่ ก็ไม่มีสิ่งใดประสาน ยึดเหนี่ยวให้รวมกันอยู่ได้ จะต้องแตกแยกจากกันไปในที่สุด เหมือนส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องแตกจากกัน เมื่อสิ้นชีวิต. บัณฑิตของมหาวิทยาลัยนี้แต่ละคนต่างมีศิลปวิทยาการกับทั้งความสำนึกในชาติชุบย้อมกายใจไว้เป็น อย่างดีแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งใจพยายามนำไปใช้ประกอบการงานของตนๆ ด้วยความสุจริตและบริสุทธิ์ใจโดย เต็มกำลัง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความเป็นอิสระมั่นคงและเป็นผาสุกสวัสดียั่งยืนอยู่ตลอดไป. …”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
วันศุกร์ ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๑


รีไซเคิลดวงอาทิตย์

อ่าน: 4391

เมื่อหลายปีก่อน มีโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่องโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่เขื่อนลำตะคอง ผมชอบโฆษณานั้นมากครับ เป็นการใช้หลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาความต้องการไฟฟ้าสูงในช่วงหัวค่ำ แถมด้วยการสื่อสารกับประชาชนด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า “รีไซเคิลน้ำ”

มีเอกสารจากเว็บของเทศบาลนครราชสีมาอ้างอิงได้ว่า

เขื่อนลำตะคองเป็นเขื่อนแห่งแรกที่กรมชลประทาน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ(ปัจจุบันสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ได้วางแผน สำรวจ ออกแบบรายละเอียด ออกแบบและก่อสร้างเอง โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เริ่มก่อสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2507 กั้นลำตะคองบริเวณบ้านคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เป็นเขื่อนดินสูง 40.3 เมตร ยาว 521 เมตร เก็บกักน้ำได้ประมาณ 324 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 สิ้นงบประมาณก่อสร้าง 236 ล้านบาท ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์จากเขื่อนลำตะคองมากกว่า 127,540 ไร่

ภายหลังต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับบริเวณเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอปากช่องและอำเภอสีคิ้ว เป็นโครงการสะสมพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย(Off Peak) นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าทดแทนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง(Peak Demand ) โดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคองของ กรมชลประทานขึ้นไปเก็บไว้ชั่วคราวที่อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นใหม่บนเขา เขื่อนลั่นและปล่อยน้ำกลับมาในอ่างเก็บน้ำลำตะคองเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วง ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงช่วงตั้งแต่ 18.30-21.30 น. บริเวณที่เป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งอยู่บนเขายายเที่ยง เขตอำเภอสีคิ้ว และได้มีการปลูกต้นไม้ทดแทนพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมลงไป พร้อมกับการสร้างสวนสาธารณะขึ้นบริเวณใกล้สำนักงานโครงการริมถนนมิตรภาพ ทำให้ทัศนียภาพเหนือเขื่อนลำตะคองมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ทำให้ลำตะคองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

บริเวณเขื่อนลำตะคองซึ่งเป็นจุดสูบน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา น้ำเหนือเขื่อนได้รับสารอาหารประเภทฟอสเฟต และไนเตรตที่ถูกระบายลงมาจากเทศบาลตำบลปากช่องในปริมาณสูง จากการเปรียบเทียบความเข้มข้นของปริมาณสารอาหารดังกล่าวกับแหล่งน้ำอื่นๆประมาณได้ว่า น้ำในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณฟอสเฟตสูงกว่าลำน้ำอื่นๆมากกว่า 2 เท่า และมีปริมาณไนเตรตสูงกว่า 10เท่า ความเข้มข้นของสารอาหารทั้งสองชนิดนี้ในแหล่งน้ำมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการ เจริญเติบโตอย่าผิดปกติของพืชน้ำและเป็นอุปสรรคต่อการผลิตน้ำประปา

สำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าน้อยกว่านั้น ถ้าผลิตออกมาแล้ว เก็บไว้ไม่ได้ เอาไฟฟ้าส่วนเกินไปทยอยสูบน้ำขึ้นไปไว้ยังเขื่อนบนเขา ซึ่งปล่อยน้ำลงมาผลิตไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำซึ่งมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงกว่า เปลี่ยนไฟฟ้าเป็นพลังงานศักย์ แล้วเอาพลังงานศักย์มาเปลี่ยนกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า

สำหรับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์แล้ว อาจคิดได้แบบเดียวกัน!

ถาม: แล้วเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว จะไปเอาแสงมาจากไหน!
ตอบ: เอาแสง/ความร้อนของดวงอาทิตย์มาใช้ตรงๆ ไม่ได้หรอกครับ แต่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานอื่น แล้วเอามาแปลงกลับเป็นรูปที่ต้องการได้ — นั่นไงครับ ถึงได้เรียกว่าการ“รีไซเคิลดวงอาทิตย์”

อ่านต่อ »


พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗

อ่าน: 20791

เมื่อวันพฤหัส ผมได้พบกับพี่ที่นับถือมากท่านหนึ่ง เพราะไม่ได้พบกันนานแล้ว จึงนั่งคุยกันอย่างออกรสชาตินานสามชั่วโมงครึ่ง เป็นที่สนุกสนาน ในโอกาสนี้ นอกจากกินข้าวฟรีแล้ว ยังได้รับหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น: ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” กับ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ภาคจบ” โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งท่านได้ทรงนิพนธ์ไว้เสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี ๒๔๘๖ แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ ผ่านไป ๕๖ ปี มาจนปี ๒๕๔๒ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงตรวจแก้ไขเล็กน้อย แล้วประทานให้ “ศิลปวัฒนธรรม” พิมพ์เผยแพร่ เล่มที่ผมได้รับมา เป็นการพิมพ์ใหม่ (ครั้งที่ ๖ กับครั้งที่ ๓) ในปี ๒๕๕๑ เข้าใจว่าหาหนังสือนี้ในตลาดหนังสือไม่ได้แล้วครับ

ปี ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นมีความแตกแยกทางความคิดในคณะราษฎร์
ปี ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ใช้อำนาจเผด็จการในรัฐสภา; พระยาพหลพลพยุหเสนา ทำการรัฐประหารครั้งแรก; เกิดกบฏบวรเดช เป็นกบฎครั้งแรก
ปี ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ เมื่อคราวเสด็จประพาสอังกฤษ เพื่อทรงรับการถวายการผ่าตัดพระเนตรด้านซ้าย

เอกสารอ้างอิงอื่นๆ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ (20 MB pdf) แต่ไม่มีพระราชหัตถเลขาที่สละราชสมบัติ ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ก็พอเข้าใจได้ ว่าทำไมรัฐบาลในสมัยนั้นจึงไม่นำมารวม

ผมอ่านแล้วจึงอยากอัญเชิญพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ มาตีพิมพ์ไว้เพื่อให้มีเอกสารอ้างอิงแบบออนไลน์ดังนี้ครับ

อ่านต่อ »


น้ำมันจากต้นไม้ (2)

อ่าน: 5156

ไม่ใช่เรื่องน้ำมันพืชหรอกนะครับ หมายถึง Biofuel เป็นตอนต่อจากบันทึกน้ำมันจากต้นไม้

กระบวนการที่พูดกันมากคือการผลิตเอทานอลจากพืช เอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอลอย่างหนึ่ีง สามารถนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลทำให้ราคาถูกลงได้บ้าง

เอทานอลสามารถทำได้โดยการหมักแป้งเป็นน้ำตาล แล้วจึงเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสไปเป็นเอทานอล (กลูโคสเป็นน้ำตาล แต่ที่ใช้กันมากคืออ้อยหรือข้าวโพด ก็เลยเกิดเป็นประเด็นว่าเอาพืชอาหารมาทำเป็นพลังงาน แล้วทำให้อาหารมีราคาที่แพงขึ้น)

กลูโคส (C6H12O6) →หมัก→ เอทานอล (2C2H6O) + คาร์บอนไดออกไซด์ (2CO2)

หรือไม่ก็ใช้ เอทิลีนในสภาพก๊าซ (C2H4) + ไอน้ำ (H2O) → เอทานอล (CH3CH2OH) เอทิลีนปริมาณมาก มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และต้องนำเข้า ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง

ซึ่งสมการแรก ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง ชาวบ้านทำเองได้ จึงน่าสนใจกว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ สมการแรกปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา แล้วจะไปแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร!

อ่านต่อ »


เจ้าเป็นไผ ๑: เครือข่ายมนุษย์ จิตใจและสมอง

อ่าน: 5604

คลอดแล้วครับ!

เมื่อเย็นไปรับหนังสือมาแล้วทั้งหมดครับ เต็มท้ายรถพอดี ไม่ค่อยเห่อเท่าไหร่เลยนะเนี่ย แต่มีความสุขมากที่งานที่เราทำร่วมกัน ออกมาเป็นรูปเล่มได้ครับ

ในฐานะหัวหน้าคณะบรรณาธิการ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือทุกขั้นตอน ตั้งแต่มันยังเป็นเพียงความคิดอยู่ จนผลักดันให้ออกมาเป็นรูปเล่มได้ครับ

หนังสือมีคุณภาพดีมาก รูปค่อนข้างเล็กแต่คมชัด และคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือคือเนื้อเรื่อง ซึ่งบรรจงกลั่นออกมาจากชีวิตจริง มีบทเรียนชีวิตเพียบ ชีวิตคนเรา มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน มีโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตไม่เหมือนกัน การที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นครับ

อ่านแล้วรู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้คบหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกับนักเขียนชาวเฮทุกท่าน แม้จะไม่รู้จักบรรดานักเขียนเป็นส่วนตัว บทเรียนชีวิตที่กลั่นออกมา คงทำให้ท่านได้ฉุกคิดอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะตัดสินผู้อื่นไม่ว่าเรื่องอะไร

ตอนนี้ ดูจากปริมาณการสั่งจองล่วงหน้ากว่าห้าร้อยเล่มแล้ว เชื่อว่าคงจะต้องพิมพ์ครั้งที่สองเร็วๆ นี้ล่ะครับ

อ่านต่อ »


รถไฟกับระบบเศรษฐกิจ

อ่าน: 4602

เรื่องรถไฟนี้ มีนักคิดวิจารณ์เอาไว้มาก แต่ก็มีประเด็นที่คิดว่ายังไม่มีการแตะต้องอีกครับ

เป็นที่แน่นอนว่ากิจการรถไฟ บริหารทรัพย์สินได้แย่มาก อยู่ในสภาวะที่กู้เพิ่มมาปรับปรุงกิจการไม่ได้ จึงมีแต่จะเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่การหาเงินมาปรับปรุงกิจการไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังมีที่ดิน มีสิทธิในบริเวณสถานีอยู่ ตรงนี้ผมกลับคิดว่าเป็นโอกาสมากกว่าครับ จะได้ไม่ต้องสูญเสียไปกับภัยจากผู้มีอำนาจ

ในส่วนของทรัพย์สิน นอกจากที่ดินที่ทำได้ไม่ดีจนน่าสงสัยแล้ว การรถไฟยังมี

  • ราง ซึ่งเปิดให้เอกชนมาเช่าช่วงได้ เชื่อว่า utilization ของราง มีไม่ถึงร้อยละ 0.1 จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก แม้ว่าน่าจะตัดค่าเสื่อมราคาหมดแล้ว แต่การใช้งานทรัพย์สินหลักที่ต่ำมากขนาดนี้ ยากที่จะกอบกู้กิจการได้ — ให้เอกชนเดินรถเอง ลงทุนเอง ทำตลาดเอง การรถไฟ เก็บค่าต๋ง
  • การวางราง จะต้องระวังผลกระทบต่อการไหลของน้ำในธรรมชาติ และการผ่านเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติครับ
  • การขนส่งสินค้า เดิมทีตั้งแต่สมัยที่ยังมี องค์การ รสพ. กฏหมายกำหนดไว้ว่าสิทธิในการขนสินค้าขึ้น/ลงรถไฟ เป็นของ รสพ. แต่ผู้เดียว แต่ในปัจจุบัน รสพ. ยุบไปแล้ว (เอาที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ รสพ. กลางเมืองหลวง ไปสร้างเป็นโรงแรมที่นักการเมืองไปใช้บริการบ่อย) หากเพิ่มความถี่ในการเดินรถ/เพิ่ม utilization ของรางขึ้นได้ ก็สามารถใช้รถไฟขนพัสดุ/สินค้าระหว่างภูมิภาคได้ด้วยต้นทุนขนส่งที่ต่ำกว่า ลดภาระการซ่อมบำรุงรักษาถนนหลวง ลดอุบัติเหตุที่มีรถบรรทุกใหญ่มาเกี่ยวข้อง — ขอเงินสนับสนุนบางส่วนจาก กรมทางหลวงชนบท/สสส. (ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร)
  • ธุรกิจประกอบรถบัส แปลงเป็นธุรกิจสร้าง/บำรุงรักษาโบกี้รถไฟเอกชน
  • สร้างศูนย์กระจายสินค้า สร้างบนที่ดินของรถไฟสร้างได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า
  • รับขนส่งพัสดุไปรษณีย์ร่วมกับไปรษณีย์ไทย รุกเข้าธุรกิจโลจิสติกส์อย่างจริงจังเสียที
  • เส้นทางใหม่ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงมองแต่การสร้างระบบขนส่งที่ใช้ราง ในกรุงเทพและปริมณฑล แทนที่จะลงทุนเส้นมุกดาหาร-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-หล่มสัก-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด ซึ่งจะทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้า สะดวกขึ้นมากครับ
    • เชื่อมโยงภาคอีสาน กับภาคเหนือ ที่พิษณุโลก
    • แม้เริ่มต้นเฟสแรก มุกดาหาร-ขอนแก่น ก็จะสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนให้- และขายสินค้าเข้าไปในลาว โดยเส้นทาง หนองคาย-อุดร-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร
    • การสำรวจเส้นทาง การก่อสร้างสถานี การวางราง/อุตสาหกรรมเหล็ก มีการจ้างงานรองรับคนตกงานทันที
    • อสังหาริมทรัพย์ใกล้สถานีรถไฟเติบโตขึ้น เพราะคนใช้รถไฟเข้าออกเมืองได้ ไม่ต้องไปอัดกันอยู่ในเมือง เด็กไปเรียนไกลๆ ก็ได้ประโยชน์ในทำนองเดียวกัน ไม่ต้องออกจากบ้านไปอยู่หอพัก
    • เกษตรกรตามเส้นทางรถไฟ มีช่องทางกระจายสินค้ามากขึ้น แทนที่จะรอนายทุนรายใหญ่ กว้านซื้อผลผลิตในราคาต่ำ
    • เกิดธุรกิจแท็กซี่/สองแถว/สามล้อ/เช่ารถ รอบๆ สถานีรถไฟ ซึ่งการรถไฟอาจมีผลประโยชน์จากการจัดการ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไกลๆ

ผมไม่ค่อยตื่นเต้นกับรถไฟความเร็วสูงนักหรอกครับ ของนำเข้า จะบำรุงรักษาก็ยังต้องนำเข้าอีก



Main: 0.10721802711487 sec
Sidebar: 0.1803891658783 sec