รีไซเคิลดวงอาทิตย์
เมื่อหลายปีก่อน มีโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่องโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่เขื่อนลำตะคอง ผมชอบโฆษณานั้นมากครับ เป็นการใช้หลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาความต้องการไฟฟ้าสูงในช่วงหัวค่ำ แถมด้วยการสื่อสารกับประชาชนด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า “รีไซเคิลน้ำ”
มีเอกสารจากเว็บของเทศบาลนครราชสีมาอ้างอิงได้ว่า
เขื่อนลำตะคองเป็นเขื่อนแห่งแรกที่กรมชลประทาน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ(ปัจจุบันสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ได้วางแผน สำรวจ ออกแบบรายละเอียด ออกแบบและก่อสร้างเอง โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เริ่มก่อสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2507 กั้นลำตะคองบริเวณบ้านคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เป็นเขื่อนดินสูง 40.3 เมตร ยาว 521 เมตร เก็บกักน้ำได้ประมาณ 324 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 สิ้นงบประมาณก่อสร้าง 236 ล้านบาท ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์จากเขื่อนลำตะคองมากกว่า 127,540 ไร่
ภายหลังต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับบริเวณเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอปากช่องและอำเภอสีคิ้ว เป็นโครงการสะสมพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย(Off Peak) นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าทดแทนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง(Peak Demand ) โดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคองของ กรมชลประทานขึ้นไปเก็บไว้ชั่วคราวที่อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นใหม่บนเขา เขื่อนลั่นและปล่อยน้ำกลับมาในอ่างเก็บน้ำลำตะคองเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วง ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงช่วงตั้งแต่ 18.30-21.30 น. บริเวณที่เป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งอยู่บนเขายายเที่ยง เขตอำเภอสีคิ้ว และได้มีการปลูกต้นไม้ทดแทนพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมลงไป พร้อมกับการสร้างสวนสาธารณะขึ้นบริเวณใกล้สำนักงานโครงการริมถนนมิตรภาพ ทำให้ทัศนียภาพเหนือเขื่อนลำตะคองมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ทำให้ลำตะคองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา
บริเวณเขื่อนลำตะคองซึ่งเป็นจุดสูบน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา น้ำเหนือเขื่อนได้รับสารอาหารประเภทฟอสเฟต และไนเตรตที่ถูกระบายลงมาจากเทศบาลตำบลปากช่องในปริมาณสูง จากการเปรียบเทียบความเข้มข้นของปริมาณสารอาหารดังกล่าวกับแหล่งน้ำอื่นๆประมาณได้ว่า น้ำในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณฟอสเฟตสูงกว่าลำน้ำอื่นๆมากกว่า 2 เท่า และมีปริมาณไนเตรตสูงกว่า 10เท่า ความเข้มข้นของสารอาหารทั้งสองชนิดนี้ในแหล่งน้ำมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการ เจริญเติบโตอย่าผิดปกติของพืชน้ำและเป็นอุปสรรคต่อการผลิตน้ำประปา
สำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าน้อยกว่านั้น ถ้าผลิตออกมาแล้ว เก็บไว้ไม่ได้ เอาไฟฟ้าส่วนเกินไปทยอยสูบน้ำขึ้นไปไว้ยังเขื่อนบนเขา ซึ่งปล่อยน้ำลงมาผลิตไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำซึ่งมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงกว่า เปลี่ยนไฟฟ้าเป็นพลังงานศักย์ แล้วเอาพลังงานศักย์มาเปลี่ยนกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า
สำหรับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์แล้ว อาจคิดได้แบบเดียวกัน!
ถาม: แล้วเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว จะไปเอาแสงมาจากไหน!
ตอบ: เอาแสง/ความร้อนของดวงอาทิตย์มาใช้ตรงๆ ไม่ได้หรอกครับ แต่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานอื่น แล้วเอามาแปลงกลับเป็นรูปที่ต้องการได้ — นั่นไงครับ ถึงได้เรียกว่าการ“รีไซเคิลดวงอาทิตย์”