รถไฟกับระบบเศรษฐกิจ

อ่าน: 4462

เรื่องรถไฟนี้ มีนักคิดวิจารณ์เอาไว้มาก แต่ก็มีประเด็นที่คิดว่ายังไม่มีการแตะต้องอีกครับ

เป็นที่แน่นอนว่ากิจการรถไฟ บริหารทรัพย์สินได้แย่มาก อยู่ในสภาวะที่กู้เพิ่มมาปรับปรุงกิจการไม่ได้ จึงมีแต่จะเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่การหาเงินมาปรับปรุงกิจการไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังมีที่ดิน มีสิทธิในบริเวณสถานีอยู่ ตรงนี้ผมกลับคิดว่าเป็นโอกาสมากกว่าครับ จะได้ไม่ต้องสูญเสียไปกับภัยจากผู้มีอำนาจ

ในส่วนของทรัพย์สิน นอกจากที่ดินที่ทำได้ไม่ดีจนน่าสงสัยแล้ว การรถไฟยังมี

  • ราง ซึ่งเปิดให้เอกชนมาเช่าช่วงได้ เชื่อว่า utilization ของราง มีไม่ถึงร้อยละ 0.1 จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก แม้ว่าน่าจะตัดค่าเสื่อมราคาหมดแล้ว แต่การใช้งานทรัพย์สินหลักที่ต่ำมากขนาดนี้ ยากที่จะกอบกู้กิจการได้ — ให้เอกชนเดินรถเอง ลงทุนเอง ทำตลาดเอง การรถไฟ เก็บค่าต๋ง
  • การวางราง จะต้องระวังผลกระทบต่อการไหลของน้ำในธรรมชาติ และการผ่านเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติครับ
  • การขนส่งสินค้า เดิมทีตั้งแต่สมัยที่ยังมี องค์การ รสพ. กฏหมายกำหนดไว้ว่าสิทธิในการขนสินค้าขึ้น/ลงรถไฟ เป็นของ รสพ. แต่ผู้เดียว แต่ในปัจจุบัน รสพ. ยุบไปแล้ว (เอาที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ รสพ. กลางเมืองหลวง ไปสร้างเป็นโรงแรมที่นักการเมืองไปใช้บริการบ่อย) หากเพิ่มความถี่ในการเดินรถ/เพิ่ม utilization ของรางขึ้นได้ ก็สามารถใช้รถไฟขนพัสดุ/สินค้าระหว่างภูมิภาคได้ด้วยต้นทุนขนส่งที่ต่ำกว่า ลดภาระการซ่อมบำรุงรักษาถนนหลวง ลดอุบัติเหตุที่มีรถบรรทุกใหญ่มาเกี่ยวข้อง — ขอเงินสนับสนุนบางส่วนจาก กรมทางหลวงชนบท/สสส. (ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร)
  • ธุรกิจประกอบรถบัส แปลงเป็นธุรกิจสร้าง/บำรุงรักษาโบกี้รถไฟเอกชน
  • สร้างศูนย์กระจายสินค้า สร้างบนที่ดินของรถไฟสร้างได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า
  • รับขนส่งพัสดุไปรษณีย์ร่วมกับไปรษณีย์ไทย รุกเข้าธุรกิจโลจิสติกส์อย่างจริงจังเสียที
  • เส้นทางใหม่ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมจึงมองแต่การสร้างระบบขนส่งที่ใช้ราง ในกรุงเทพและปริมณฑล แทนที่จะลงทุนเส้นมุกดาหาร-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น-หล่มสัก-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด ซึ่งจะทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้า สะดวกขึ้นมากครับ
    • เชื่อมโยงภาคอีสาน กับภาคเหนือ ที่พิษณุโลก
    • แม้เริ่มต้นเฟสแรก มุกดาหาร-ขอนแก่น ก็จะสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนให้- และขายสินค้าเข้าไปในลาว โดยเส้นทาง หนองคาย-อุดร-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร
    • การสำรวจเส้นทาง การก่อสร้างสถานี การวางราง/อุตสาหกรรมเหล็ก มีการจ้างงานรองรับคนตกงานทันที
    • อสังหาริมทรัพย์ใกล้สถานีรถไฟเติบโตขึ้น เพราะคนใช้รถไฟเข้าออกเมืองได้ ไม่ต้องไปอัดกันอยู่ในเมือง เด็กไปเรียนไกลๆ ก็ได้ประโยชน์ในทำนองเดียวกัน ไม่ต้องออกจากบ้านไปอยู่หอพัก
    • เกษตรกรตามเส้นทางรถไฟ มีช่องทางกระจายสินค้ามากขึ้น แทนที่จะรอนายทุนรายใหญ่ กว้านซื้อผลผลิตในราคาต่ำ
    • เกิดธุรกิจแท็กซี่/สองแถว/สามล้อ/เช่ารถ รอบๆ สถานีรถไฟ ซึ่งการรถไฟอาจมีผลประโยชน์จากการจัดการ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไกลๆ

ผมไม่ค่อยตื่นเต้นกับรถไฟความเร็วสูงนักหรอกครับ ของนำเข้า จะบำรุงรักษาก็ยังต้องนำเข้าอีก



Main: 0.31018686294556 sec
Sidebar: 0.67214012145996 sec