กับเฮฮาศาสตร์

อ่าน: 2830

เมื่อวานออกเดินทางมาสวนป่าอีกวาระหนึ่ง คราวนี้มาช่วยครูปูพูดคุยกับนักศึกษาและอาจารย์จาก VBAC คิดว่าเด็กกลุ่มนี้โชคดีครับ

ครูมิมเดินทางมาจากพิษณุโลก มาถึงบ้านป้าจุ๋มตั้งแต่เช้า แต่ผมไปรับสายเอง กว่าจะมาทันกลุ่มของครูปูแถวเขาใหญ่ ก็ช้าไปเกือบชั่วโมง เมื่อกินข้าวกลางวันเสร็จ ก็นัดพบกันอีกครั้งที่ตลาดสตึกเพื่อเข้าไปสวนป่าด้วยกัน ผมแยกไปบ้าน อ.แพนด้า+อ.หลินฮุ่ย

พอเย็น ออกจากสวนป่าอีกครั้งมารับป้าหวานซึ่งเป็นแขกพิเศษ กินข้าวเย็น แล้วตั้งวง dialogue (แบบแปลกๆ) แต่ผมก็ดีใจกับเด็กชุดนี้ที่ได้มีประสบการณ์ที่หาได้ยาก

ช่วงดึกหลังจากเลิกวง dialogue ครูน้อยชวนคุยเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของครูบา ตรงนี้ผมกลับคิดว่าผมโชคดี ที่ได้มีโอกาสคิดใคร่ครวญกับคำถามของครูน้อย ทำให้ชัดเจนกับกระบวนการเรียนรู้แบบเฮฮาศาสตร์มากขึ้น จำไม่ได้หรอกครับว่าตอบอะไรไป แต่ตอบต่อหน้าหลายคน ตอบไปอย่างที่คิด และรู้สึกดีที่ได้ตอบไป รายละเอียดรอไปอ่านใน dissertation ของครูน้อยก็แล้วกัน


จินตนาการ

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 8 August 2009 เวลา 0:04 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3299

เมื่อวาน พรายตนที่ 1 มาล่อลวงผมให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “พัฒนาการของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” จัดโดยคณะทำงานจินตนาการปฏิรูปสื่อ มีคุณสุภิญญา กลางณรงค์ หญิงเก่งเป็นผู้ดำเนินรายการ

ความรู้สึกแรกคือสงสารคนฟัง ฮา จึงไม่ได้เตรียมเรื่องที่หนักเกินไป มีศัพท์เทคนิคอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปเพื่อชี้ให้เห็นว่าความรู้เกี่ยวกับชีวิตเป็นสหวิทยาการเสมอ จะมองเฉพาะมุมใดมุมหนึ่งไม่ได้ แต่ก็ยังสงสารคนฟังอยู่ดี อิอิ

ผมไม่คิดว่าควรจะพูดในลักษณะบรรยาย และไม่คิดว่าจะใช้เวลามาก ก็เลยยกเวลาให้ session ก่อนหน้าซึ่ง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล พูดเรื่องจินตนาการสื่อภาพยนตร์ในทศวรรษหน้า สนุกดีครับ

สิ่งที่ผมพูดก็เป็นความจริงในอดีตที่ตรวจสอบได้ พูดให้เข้าใจบริบทว่าเรามายืนอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจบริบทแล้วต่างคนต่างคิดกันไปคนละทาง อนาคตการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงความเพ้อฝันที่เหนื่อยเปล่า ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีเป้าหมายร่วมกัน ไ่ม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง

พูดไปพูดมาเพลินครับ นั่งดูคนฟัง มีทั้งควงหน้า (แปลว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง) หัวเราะ สะใจ และคิดเรื่องอื่น ฮี่ฮี่ มีจดโน๊ตไปเยอะเหมือนกันครับ

เนื่องจากเวลากระชั้นมาก ผมลืมพูดประเด็นสำคัญไปครับ คือจินตนาการไม่ควรเกิดจากสมอง ถ้าเริ่มด้วยการคิด จะติดเหตุผล+ข้อจำกัด แล้วในที่สุดก็จะไม่ไปไหน ที่สำคัญสมองถูกหลอกได้ง่ายที่สุด แล้วที่เนียนที่สุดคือการหลอกตัวเอง

ถ้าเป็นไปได้ จินตนาการควรเริ่มจากหัวใจ เริ่มจากความปรารถนาดีต่อทุกคน ถ้าเห็นประโยชน์ร่วมกันได้ อุปสรรคต่างๆ ก็จะมีพลังในการฝ่าฟันทะลุทะลวงมากกว่าการเชื่อวิสัยทัศน์ของบรรดากูรู (ซึ่งมักพูดแต่ไม่ทำ และมีเหตุผลมากมายที่จะไม่ทำ)

จบด้วยการสัมภาษณ์นอกห้องหนึ่งรายการ ผู้สื่อข่าวขอเบอร์โทรศัพท์สี่ห้าคน ซึ่งได้รับการปฏิเสธตามเคย สิบห้าปีที่เจอกับสื่อก็เป็นอย่างนี้ตลอดมาครับ ฮาๆๆๆๆ


รับผิดชอบ

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 7 August 2009 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2986

ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดี ที่ได้มาร่วมในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกวาระหนึ่ง ขอแสดงความชื่นชมกับผู้สำเร็จการศึกษาทุกๆ คน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จในการศึกษาครั้งนี้

เมื่อวันวาน ข้าพเจ้าได้กล่าวในที่ประชุมนี้เป็นความว่า ในการวางโครงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า ผลจากโครงการที่จัดมีขอบเขตต่อเนื่องไปเพียงใด และมีผลดีผลเสียที่จุดใดอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้วางแผนงานให้สอดคล้องต้องกันทุกๆ ส่วน ให้โครงการได้ประโยชน์มากที่สุด บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมีความรู้ความสามารถอันเหมาะสมที่จะรับภาระนี้ จึงควรที่จะได้บำเพ็ญตัวเป็น นักวิชาการที่ดี เป็นนักปฏิบัติที่สามารถ ในอันที่จะใช้วิชาการโดยรอบคอบสุขุม ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป

การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน สำคัญที่สุด ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” ให้ถูกต้อง ขอให้เข้าใจว่า “รับผิด” ไม่ใช่การรับโทษ หรือถูกลงโทษ “รับชอบ” ไม่ใช่รับรางวัล หรือรับคำชมเชย การรู้จักรับผิด หรือยอมรับรู้ว่าอะไรผิดพลาดเสียหาย และเสียหาย เพราะอะไร เพียงใดนั้น มีประโยชน์ทำให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง ยอมรับความผิดของตนเองโดยใจจริง เป็นทางที่จะช่วยให้แก้ไขความผิดได้ และให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติแก้ไขใหม่ ส่วนการรู้จักรับชอบหรือรู้ว่าอะไรถูก อันได้แก่ถูกตามความมุ่งหมาย ถูกตามหลักวิชา ถูกตามวิธีการนั้น มีประโยชน์ทำให้ทราบแจ้งว่า จะทำให้งานสำเร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร จักได้ถือปฏิบัติต่อไป นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “รับผิดชอบ” ตามนัยดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบ จะสำนึกตระหนักได้ทันทีว่า ความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้ จึงใคร่ขอให้บัณฑิตศึกษาและสังวรระวังในความรับผิดชอบให้มากที่สุด ผู้ใดมีความรับผิดชอบ จะสามารถประกอบการงานให้บรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้ได้อย่างแน่นอน

ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ และทุกๆ ท่านที่ร่วมชุมนุมอยู่ในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดี พร้อมทั้งความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานทุกประการ.

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันศุกร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๙


ยามมืด

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 6 August 2009 เวลา 0:23 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 5366

ยามมืดใช่มืดแท้ ทุกสถาน
ดูสิเมื่อรัตติกาล หม่นเศร้า
ดาวศุกร์กลับชัชวาล สุกสว่าง
แม้บ่มีจันทร์เจ้า ใช่ว้างหวาดหวิว

ยามหิวใช่จักต้อง เสียศรี
อุทกกลั้วนาภี อยู่ได้
เย็นซ่านผ่านอินทรีย์ พอชื่น จิตนา
แม้มิได้อิ่มไซร้ ใช่ต้องวางวาย

พรากหายใช่พรากร้าง นิรันดร์กาล
มีพรากมีพบพาน เพื่อนพ้อง
ชิงโศกโศกพาผลาญ เผาจิต
วันหนึ่งนั้นจักต้อง กลับร้ายกลายดี

ถึงทีสบเหตุร้าย แรงเข็ญ
พึงพินิจนั่นใช่เป็น สิ่งร้าย
พักหนึ่งจึ่งจิตเย็น ระลึกอยู่ เถิดรา
รู้แยกรู้ยักย้าย จักได้ทางเกษม

จุ่งเปรมปรีติด้วย ปัจจุบัน
ศานติอยู่คู่กัน แกร่งกล้า
เพียรระลึกรู้ทัน ในเหตุ ผลนอ
โลกทัศน์จักเจิดจ้า แจ่มด้วยปัญญา


บั้งไฟ

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 5 August 2009 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 5007

แน่ล่ะครับ บั้งไฟเป็นส่วนประกอบสำคัญของบุญบั้งไฟ ประเพณีอีสาน

บั้งไฟแบ่งเป็นหลายระดับ ตามน้ำหนักของดินขับ

ก. บั้งไฟร้อย มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 3 ก.ก.

ข. บั้งไฟหมื่น มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 12 ก.ก.

ค. บั้งไฟแสน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 120 ก.ก.

ง. บั้งไฟล้าน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 500 ก.ก.

มีการแบ่งระดับ คงเป็นไปเพื่อการประกวดประขันพนันขันต่อ สงสัยว่าไม่ใช่เพื่อประเพณีหรอกครับ

เราก็รู้จักบั้งไฟแบบนี้มาตั้งนานแล้ว มันกลายพันธุ์มาจากลำไม้ไผ่ เป็นท่อพีวีซี ต่อไปควรจะเป็นอะไร? ดินขับเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่? ติดร่มได้หรือไม่? พอใจแค่นี้หรือครับ?

อ่านต่อ »


ภาษีกับการบริจาค

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 4 August 2009 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ การเมือง การปกครอง กฏหมาย #
อ่าน: 5161

เมื่อคืน เขียนเรื่อง”เงินบริจาคที่นำไปหักภาษีเงินได้ได้” เอาไว้ในลานเจ๊าะแจ๊ะ แต่ที่บล็อกนั้น ผู้ที่ไม่ใช้สมาชิกลานปัญญาอ่านไม่ได้ ก็เลยย้ายมาที่นี่ เรื่องเริ่มต้นที่ว่ามีองค์การสาธารณกุศลเป็นจำนวนมาก ที่กรมสรรพากรไม่ได้รับรู้ว่าเป็นองค์การสาธารณกุศล เรื่องนี้ทำให้ผู้ที่บริจาคเงินและสิ่งของให้องค์การสาธารณกุศลเหล่านี้ ไม่สามารถนำมูลค่าที่บริจาคไปหักภาษีเงินได้ได้

กรมสรรพากรจะรับรู้ก็ต่อเมื่อนำชื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก่อนที่จะทำอย่างนั้น องค์การสาธารณกุศลก็จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่ากระทำการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ใช้สิ่งที่ได้รับบริจาค (รวมทั้งเงินด้วย) เพื่อสาธารณประโยชน์จริงๆ มีบัญชีเดียว+ทำอย่างถูกต้อง มีผลงานตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรเป็นเวลาอย่างน้อยสามรอบบัญชีเสียก่อน แล้วจึงขอให้กรมสรรพากรประเมิน (ซึ่งอาจจะได้หรือไม่ได้)

การที่ไม่สามารถนำมูลค่าของการบริจาคไปหักภาษีเงินได้ได้นั้น ก็อาจจะทำให้ผู้บริจาคบางท่าน ไม่ว่าเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล พะวงว่าสิ่งที่บริจาค ไปถึงมือประชาชนผู้ทุกข์ยากจริงหรือไม่ แล้วการนำมูลค่าของการบริจาคไปหักภาษีเงินได้นั้น เป็นประหนึ่งว่าผู้บริจาคบังคับให้รัฐช่วยเหลือองค์กรที่บริจาคให้ เป็นมูลค่าเท่ากับมูลค่าของการบริจาคคูณด้วยอัตราภาษีสูงสุดที่ผู้บริจาคชำระ (คือผู้บริจาคได้เงินคืนจากรัฐเป็นจำนวนเท่านั้น เมื่อตอนคืนภาษี) เช่นผู้บริจาคซึ่งเสียภาษีในอัตรา 37% บริจาคเงินหนึ่งล้านบาท ถ้าผู้รับบริจาคเป็นองค์การสาธารณกุศลที่กรมสรรพากรยอมรับ สิ้นปีผู้บริจาคสามารถขอรับเงินคืนจากกรมสรรพากรได้ 370,000 บาท รวมที่จ่ายออกไป 630,000 บาท ส่วนผู้รับบริจาคได้เงินเต็ม 1,000,000 บาท (และรัฐจ่ายให้องค์กรนี้ 370,000)

อ่านต่อ »


ยิ่งศึกษาพุทธศาสนาจะยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 3 August 2009 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3553

…ต่อนี้ไปอาตมาขอให้ข้อคิดอันหนึ่ง ที่สำคัญมาก เพื่อให้เราชวนกันสนใจพระพุทธศาสนาโดยไม่ประมาทหรือโดยเร็ว อาตมาจะให้หลักที่จำได้ง่าย ๆ ก่อนว่า “ยิ่งศึกษาพุทธศาสนาจะยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา” โดย เฉพาะก็ชาวต่างประเทศ เพราะคำว่าศาสนานั้นเขาเล็งถึงแต่หลักวิชาหรือหลักทฤษฎี รวมทั้งพิธีรีตอง เราต้องศึกษาโลกหรือศึกษาความทุกข์ จึงจะยิ่งรู้พุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าท่านใช้คำเดียวกัน โลกคือทุกข์ ทุกข์คือโลก หรือชีวิตก็คือโลก พระไตรปิฎกทั้งหมดไม่อาจจะช่วยให้เข้าใจพุทธศาสนา การที่ชาวต่างประเทศมีความเห็นว่า ศึกษาพระไตรปิฎก ให้หมดทั้ง ฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน แล้วยังแถมศึกษาวิชาทั้งหมดเกี่ยวกับประเทศอินเดีย เช่นศิลปะวัฒนธรรม ศาสนาของอินเดียทั้งหมด ยิ่งไม่มีทางรู้พุทธศาสนา ยิ่งจะวนเวียนอยู่ในป่ารกป่าพงอะไรอันหนึ่งเท่านั้น ในที่สุดก็เลิกรากันไปเอง เว้นไว้แต่จะศึกษาโลกหรือชีวิตหรือความทุกข์คือตัวเองในขอบเขตที่ยาวประมาณ วาหนึ่งนี้เท่านั้น เราจึงจะรู้พุทธศาสนาหรือรู้ธรรมะ

เดี๋ยวนี้เราพากันหลงเรียนพุทธศาสนา โดยเรียนพระไตรปิฎกทั้งหมด เรียนเรื่องของประเทศอินเดียทั้งหมด โดยหวังว่าจะรู้ธรรมะหรือจะรู้พุทธศาสนา อาตมายืนยันว่า ยิ่งไปทำอย่างนั้นยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา ขอให้ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เนื้อแก่ตัว มองดูเข้าไปในเนื้อในตัวจริง ๆ ว่าเราเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น ในวินาทีที่เราไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เราไม่มีความทุกข์เลยอย่างนั้น ยิ่งมองมากเท่าไร ก็จะเข้าใจพุทธศาสนาหรือธรรมะโดยตรง และโดยเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น…

ข้อความนี้ ตัดตอนมาจากหนังสือ “วิวาทะ ระหว่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ” ซึ่งหากจะเห็นภาพของ “วิวาทะ” นี้ทั้งหมด ก็น่าจะอ่านทั้งหมดครับ

อนุสนธิจากเรื่องนี้ ผมคิดว่ามีประเด็นแบบเดียวกันกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ต่างคนต่างพูด ต่างคิดว่าพูดเรื่องเดียวกัน แต่ที่จริงไปกันคนละทาง ไม่มีคำตอบหรือแรงจูงใจที่จะปฏิบัติ

  • ชีวิตบ้านป่า
  • อีสานโพล 68.4% ของแรงงานอีสานที่ไปทำงานที่อื่น อยากกลับท้องถิ่น; กลับมาแล้ว 39.3% จะมาค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว, 26.9% มาเป็นลูกจ้างรัฐ และ 18.2% มาทำการเกษตร — ใครจะทำอะไรก็เป็นอิสระครับ แต่มีงานแบบที่คนต้องการรออยู่ที่บ้านจริงหรือ? เตรียมอะไรไว้ให้?


แนวคิดของ เจ้าเป็นไผ ๒

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 2 August 2009 เวลา 0:28 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3289

ก่อนอื่นต้องบอกว่ายังไม่ได้สรุปอะไรนะครับ แต่ผมคิดว่ามีเรื่องพื้นฐานที่ต้องพิจารณากันหน่อย

ปกทางขวา ออตส่งมาให้ดูคืนนี้ ผมชอบมากครับ ซับไตเติ้ลก็ดี ออตว่าถอด keyword จากคำนำของอาจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งท่านเขียนให้ก่อน จปผ๑ จะพิมพ์เสร็จเสียอีก

งานเขียนเชิงเค้าโครงอัตชีวประวัติที่นำมาประมวลรวบรวมไว้ในที่นี้ เป็นผลงานจากความริเริ่มและเห็นพ้องกัน ในอันที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน มิใช่เพียงเยิรยอตนเอง หากแต่เพื่อบอกเล่าถึงประสบการณ์ “เรียนรู้” ของตนเอง ซึ่งย่อมจะแตกต่างหลากหลายกันออกไปเป็นธรรมดา เจตนารมณ์และความพยายามเช่นว่านี้ ถึงจะมองอย่างผ่านๆกันไป ก็คงดูไม่น่าจะต้องคิดอะไรกันมาก แต่ทว่าอีกมุมมองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากแง่มุมของการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน ในสังคมอันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์เราแล้ว ก็เชื่อว่า จะต้องมีอีกหลายๆประเด็นที่เราอาจจะถอดความ นำมาคิดขยายความต่อๆไปอีกไม่น้อย  ทั้งเพื่อการเรียนรู้สำหรับตัวเราแต่ละคน และเพื่อคุณประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาชีวิตของสังคมโดยส่วนรวม สุดแต่ข้อสังเกตตามอัธยาศัยการอ่านของเราๆแต่ละคน

อยากจะคาดหวังในที่นี่ว่า การรวบรวมงานเขียนทำนองนี้ คงจะไม่ใช่เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ในทำนองเดียวกันกับชีวิตการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องมีการพัฒนายิ่งๆขึ้นไปโดยลำดับ จึงขอถือโอกาสนี้อำนวยพรให้บรรดาคณะผู้ร่วมงานทั้งหลาย ประสบแต่ความสุขและความสำเร็จโดยทั่วกัน

เนื้อในอยากแบ่งเป็นสามส่วนครับ

  1. บทความที่คัดเลือกจากบล็อกต่างๆ ในลานปัญญา (เหมือน จปผ๑)
  2. เจ้าเป็นไผ (เหมือน จปผ๑)
  3. เรื่องเล่าเกี่ยวกับของผลงานที่เราทำ เครือข่าย ภาคี (ใหม่)

ที่คิดแบ่งเป็นสามส่วนอย่างนี้ ไม่กำหนดสัดส่วนระหว่างส่วนต่างๆ ตายตัว ทั้งนี้ก็เพราะว่าการคัดเลือกเรื่องราวมาลงแต่ละส่วนนั้น บอกไม่ได้ทั้งเรื่องจำนวนและความยาว ในระยะหลังๆ มานี้ไม่ค่อยมีเรื่องในส่วนที่สองมาเพิ่ม

ส่วนที่สาม อยากให้ช่วยกันมองหานะครับ เมืองไทยเรานี้ มีคนคิดดี ทำดีมากมาย การที่ได้คนดีมาเป็นเพื่อน ย่อมดีกว่าทำทุกอย่างไปตามกำลังของเราตามลำพังไม่ใช่หรือครับ การที่คนดีต่างคนต่างอยู่(ด้วยติดอยู่กับชื่อกลุ่ม) ก็จะไม่มีพลัง — แน่ล่ะ เราเป็นเรา เพื่อนก็เป็นเพื่อน สิ่งใดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ก็นำมาปรับใช้ได้ การเปิดส่วนที่สามขึ้นมา ก็เพื่อทำให้หนังสือเล่มต่อๆ ไป มีทางเลือกมากขึ้น; งานของพวกเราเอง ก็มีมากมายครับ ค่าย แคมป์ อบรม ชุดความรู้ สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สองน่าจะมีลำดับความสำคัญสูงสุด ตามด้วยส่วนที่หนึ่ง และสาม

ขอความเห็นด้วยนะครับ


เตรียมย้ายลานปัญญาไปยังเครื่องที่ใหญ่กว่า

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 1 August 2009 เวลา 1:45 ในหมวดหมู่ ลานปัญญา #
อ่าน: 3301

หลังจากที่ใช้มือถืออยู่ 7 วัน เน็ตก็มาเสียที ขอบคุณคนที่ไปแก้ไขให้นะครับ (เสียระหว่างทาง)

ตอนนี้มีเน็ตแล้ว ก็จะลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ดิสก์ของลานปัญญาอย่างถาวร โดยผมจะย้ายลานปัญญาไปยังเครื่องแม่ข่ายที่ใหญ่ขึ้น มีหน่วยความจำมากขึ้น และมีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์มากขึ้น ในการย้าย สมาชิกไม่น่าจะต้องทำอะไร แต่…

แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์รุ่นล่าสุด ถึงจะมีความสามารถเพิ่มขึ้น ก็มีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผมกังวลคือธีมที่เก่ามากอาจจะใช้ไม่ได้ ธีมตัวเดียวที่จะใช้ได้แน่นอนคือ Syrup (คือธีมที่ติดตั้งในตอนที่เปิดบล็อก) ถ้า Syrup ใช้ไม่ได้ ผมจะแก้ให้ใช้ได้ แต่ธีมอื่นถ้าใช้ไม่ได้ ก็จะใช้ไม่ได้ครับ เหตุผลที่ไม่แก้คือมันมีเยอะ แก้ไขหมดไม่ไหว แล้วก็ไม่รู้ว่าสมาชิกใช้อะไรกันอยู่บ้าง

ก็ยังหวังว่าธีมที่เลือกกันไว้จะใช้ได้ แต่ถ้าใช้ไม่ได้ ก็ใช้ไม่ได้นะครับ เปลี่ยนเป็น Syrup จะปลอดภัยกว่า

ขณะนี้ ลานปัญญาใช้ Multiuser Wordpress 2.5.1 แล้วตั้งใจจะเปลี่ยนไปเป็น Wordpress 2.8.1 ครับ อ่าน/เขียนแบบ offline ได้ มี “sticky post” (บันทึกที่เป็นประกาศอยู่หน้าแรก ไม่เลื่อนตามบันทึกใหม่ไป) ฯลฯ

คาดว่าจะย้ายได้ประมาณเดือนกันยายน ตอนนี้มีเวลาอีกหนึ่งเดือนที่จะทดลอง/ทดสอบครับ



Main: 0.051541090011597 sec
Sidebar: 0.16512703895569 sec