ภาษีกับการบริจาค
อ่าน: 5177เมื่อคืน เขียนเรื่อง”เงินบริจาคที่นำไปหักภาษีเงินได้ได้” เอาไว้ในลานเจ๊าะแจ๊ะ แต่ที่บล็อกนั้น ผู้ที่ไม่ใช้สมาชิกลานปัญญาอ่านไม่ได้ ก็เลยย้ายมาที่นี่ เรื่องเริ่มต้นที่ว่ามีองค์การสาธารณกุศลเป็นจำนวนมาก ที่กรมสรรพากรไม่ได้รับรู้ว่าเป็นองค์การสาธารณกุศล เรื่องนี้ทำให้ผู้ที่บริจาคเงินและสิ่งของให้องค์การสาธารณกุศลเหล่านี้ ไม่สามารถนำมูลค่าที่บริจาคไปหักภาษีเงินได้ได้
กรมสรรพากรจะรับรู้ก็ต่อเมื่อนำชื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก่อนที่จะทำอย่างนั้น องค์การสาธารณกุศลก็จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่ากระทำการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ใช้สิ่งที่ได้รับบริจาค (รวมทั้งเงินด้วย) เพื่อสาธารณประโยชน์จริงๆ มีบัญชีเดียว+ทำอย่างถูกต้อง มีผลงานตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรเป็นเวลาอย่างน้อยสามรอบบัญชีเสียก่อน แล้วจึงขอให้กรมสรรพากรประเมิน (ซึ่งอาจจะได้หรือไม่ได้)
การที่ไม่สามารถนำมูลค่าของการบริจาคไปหักภาษีเงินได้ได้นั้น ก็อาจจะทำให้ผู้บริจาคบางท่าน ไม่ว่าเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล พะวงว่าสิ่งที่บริจาค ไปถึงมือประชาชนผู้ทุกข์ยากจริงหรือไม่ แล้วการนำมูลค่าของการบริจาคไปหักภาษีเงินได้นั้น เป็นประหนึ่งว่าผู้บริจาคบังคับให้รัฐช่วยเหลือองค์กรที่บริจาคให้ เป็นมูลค่าเท่ากับมูลค่าของการบริจาคคูณด้วยอัตราภาษีสูงสุดที่ผู้บริจาคชำระ (คือผู้บริจาคได้เงินคืนจากรัฐเป็นจำนวนเท่านั้น เมื่อตอนคืนภาษี) เช่นผู้บริจาคซึ่งเสียภาษีในอัตรา 37% บริจาคเงินหนึ่งล้านบาท ถ้าผู้รับบริจาคเป็นองค์การสาธารณกุศลที่กรมสรรพากรยอมรับ สิ้นปีผู้บริจาคสามารถขอรับเงินคืนจากกรมสรรพากรได้ 370,000 บาท รวมที่จ่ายออกไป 630,000 บาท ส่วนผู้รับบริจาคได้เงินเต็ม 1,000,000 บาท (และรัฐจ่ายให้องค์กรนี้ 370,000)