เชื้อเพลิงสาหร่าย

อ่าน: 3906

มีข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับสาหร่ายเซลเดียว/ตะไคร่ (algea) ที่เรามองข้ามไปครับ

สาหร่ายเซลเดียวเป็นพืชขนาดเล็ก มีทั้งแบบที่มีชีวิตอยู่ในน้ำทะเลและน้ำจืด สาหร่ายสังเคราะห์แสงโดยใช้คาร์บอนไดออกไชด์และสารอาหารที่ละลายอยู่ในน้ำ กับแสงแดด และปล่อยออกซิเจนกับไนโตรเจนออกมา

เอาขวดพลาสติกมาขวดหนึ่ง ใส่น้ำ ใส่สาหร่าย เอาปั๊มป์ลมตู้ปลา จ่ายอากาศผ่านหัวจ่ายทราย (จ่ายลมเป็นฟองเล็กๆ แบบที่เห็นในตู้ปลา) เติมน้ำทิ้งจากการซักผ้าบ้างนิดหน่อย (ผงซักฟอกเป็นฟอสเฟต เป็นสารอาหารของสาหร่าย) แล้วปล่อยให้สาหร่ายโตในแสงแดดสักสามสี่วัน

เมื่อได้ปริมาณสาหร่ายพอสมควร ตักออกมาบีบเอาน้ำออกจากสาหร่าย แล้วปั้นเป็นก้อน ผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะได้ถ่านสาหร่าย ทดแทนถ่านไม้/ถ่านแกลบได้ ต้นทุนคือค่าไฟปั๊มป์ลม (จ่ายค่าไฟประมาณหลอดไฟนีออน ไม่เกินไฟที่ใช้หลอดไส้)

สำหรับพันธ์ของสาหร่าย ในระยะทดลอง อาจไม่ต้องสนใจอะไรมากมาย หาเอาตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ถ้าจะทำในสเกลของบ่อน้ำ ขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้จากศูนย์วิจัยต่างๆ

หากได้คาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะเร่งให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้เร็ว แต่ถ้าไม่มี ก็โตช้าหน่อย ไม่เป็นไรหรอกนะครับ

อ่านต่อ »


ปุ๋ยสั่งตัด (3)

อ่าน: 4964

เมื่อรู้ว่าดินที่เพาะปลูก อยู่ในชุดดินใด และทำการวัดปริมาณธาตุอาหาร N-P-K ในดินออกมาแล้ว ก็สามารถเปิดตารางเทียบดูได้ว่ากับพืชที่ปลูกลงบนชุดดินแบบนั้น และมีธาตุอาหารแบบที่วัดออกมา ควรจะปรับปรุงธาตุอาหารด้วยอะไร เป็นปริมาณเท่าไหร่

การตะบี้ตะบันใส่ปุ๋ย โดยไม่รู้ว่าดินขาดธาตุอะไร เป็นปริมาณเท่าไหร่ เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ไม่ให้ผลผลิตมากเท่าที่ควรจะเป็น

คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยทุนวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย ได้จัดทำเว็บไซต์การจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ (Site-specific nutrient management) ขึ้นมา

ในเว็บไซต์นี้ มีโปรแกรมสองชุด ชื่อว่า SimCorn และ SimRice ใช้สำหรับเปิดตารางดูค่าว่าชุดดินกับธาตุอาหารที่มีอยู่ จะต้องเพิ่มอะไรอีกเท่าไหร่ แล้วในกรณีที่สูตรธาตุอาหารที่พืชต้องการจากดิน ไม่มีขายเป็นปุ๋ยสูตรสำเร็จรูป โปรแกรมทั้งสองนี้ สามารถคำนวณส่วนผสมจากแม่ปุ๋ยหลักได้ด้วย

โปรแกรม SimCorn ใช้กับข้าวโพด ส่วนโปรแกรม SimRice ใช้กับข้าวเปลือกและยางพาราซึ่งใช้ธาตุอาหารในปริมาณ กก./ไร่ เท่าๆกัน

สำหรับเรื่องของชุดดิน ถ้ารู้พิกัด ก็สามารถถามกรมพัฒนาที่ดินตามบันทึกดินได้ แต่ถ้าไม่มี GPS โปรแกรมสามารถจะ “เดา” ชุดดินจากเนื้อดิน สีดิน ชิ้นส่วนหยาบ ร่วมกับจังหวัดที่ตั้งได้

ข้อเสียของโปรแกรมทั้งสองคือใช้ร่วมกับฐานข้อมูล Microsoft Access รุ่น 2000 หรือใหม่กว่า


ปุ๋ยสั่งตัด (2)

อ่าน: 8658

เรื่องสำคัญของปุ๋ยสั่งตัด คือต้องเข้าใจเสียก่อนว่าดินมีสภาพเป็นอย่างไร (ความเป็นกรด-ด่าง สี ความร่วนซุย ฯลฯ) นั่นคือการพยายามระบุ “ชุดดิน” ให้ได้

จากนั้นก็มีชุดทดสอบ ซึ่งหนึ่งชุด มีหลอดทดลอง มีน้ำยา มีคู่มือ สำหรับทดสอบดินได้ 50 ตัวอย่าง — การทดสอบนี้ เอาตัวอย่างดินใส่ไปในน้ำยาที่มากับชุดทดสอบ ผลจะออกมาเป็นสี ซึ่งอ่านได้เป็นค่า สูง-กลาง-ต่ำ-ต่ำมาก สำหรับธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโปแตสเซียม(K)

เมื่อรู้ชุดดิน และปริมาณ N-P-K ในพื้นที่จริง ก็สามารถเปิดตารางดูได้ว่า พืช (เริ่มต้นที่ข้าวโพด และข้าว) ต้องการสารอาหารอะไร ซึ่งทางผู้วิจัย จัดเตรียมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไว้ให้ แต่ผมจะละเรื่องนี้ไว้ก่อนเพราะมีรายละเอียดอื่นที่ต้องอธิบายอีก


ปุ๋ยสั่งตัด (1)

อ่าน: 4337

วิดีทัศน์เผยแพร่ เรื่องชาวไร่ข้าวโพดกับปุ๋ยสั่งตัด

แนวคิดเรื่อง “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นอย่างนี้ครับ

  1. พืชเจริญเติบโตด้วยน้ำ และสารอาหารในดิน บวกกับประสิทธิภาพของราก (ความร่วนซุย) และความเป็นกรดเป็นด่างของดิน
  2. ปุ๋ยคือ “อาหารเสริม” ซึ่งมาช่วยเติมสิ่งที่สารอาหารในดินขาดไป
  3. ดินแต่ละชนิด (เรียกว่า “ชุดดิน”) จะมีความร่วนซุยและปริมาณคาร์บอนไม่เหมือนกัน
  4. การเอาปุ๋ยตามสูตรสำเร็จรูปใส่ลงไป ไม่ได้แปลว่าจะได้ผลดี อาจเป็นการ over-doze หรือสูญเปล่า เพิ่มค่าใช้จ่าย และให้ผลผลิตไม่สูงเท่าที่ควร
  5. โปรแกรมปุ๋ยสั่งตัด เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ “ชุดดิน” จากแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นดินชนิดใด น่าจะมีสภาพ/สารอาหารอย่างไร
  6. ใส่ปุ๋ยลงไปตามความต้องการของชนิดของพืชที่ปลูก และชนิดของดิน

Get the Flash Player to see this player.

ไฟล์การนำเสนอ (15.4MB pdf อ่านด้วย Acrobat Reader)


Trompe

อ่าน: 3369

ไม่รู้ว่าเรียกชื่อไทยว่าอย่างไรนะครับ Trompe เป็นภูมิปัญญาฝรั่ง ว่ากันว่ามีใช้มาตั้งแต่ยุคเหล็ก

จากภาพตัดขวางทางด้านขวา น้ำไหลเข้าทางซ้าย และออกทางขวา ตอนที่น้ำไหลเข้า มีการแยงหลอดเติมอากาศลงไป (ในรูปมีสองหลอด)

น้ำไม่ไหลย้อนออกมาทางหลอดเติมอากาศเพราะ venturi effect เนื่องจากในท่อน้ำเข้า มีความดันน้อยกว่าความดันบรรยากาศ อากาศจึงมีแต่ไหลเข้า จึงเติมอากาศไปได้เรื่อยๆ

เมื่อฟองอากาศลงไปล่างสุด ก็จะถูกดักไว้ใน chamber ปล่อยให้น้ำไหลออกไปทางด้านขวา ฟองอากาศที่ถูกดักอยู่ ก็เป็นเช่นเดียวกับ Pulser pump คือจะเป็นอากาศที่มีความดัน เราสามารถต่อท่อเอาอากาศนี้ไปใช้งานได้ เช่นเอาไปเป่าเตาไฟ หรือเป่าอากาศลงไปในเหมือง

แถมอากาศที่ได้ออกมาจากท่อ มีลักษณะพิเศษ คือ อากาศเย็นกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ และอากาศนี้แห้งกว่าอากาศที่เติมเข้าไปทางหลอดเติมอากาศ อธิบายได้ด้วยฟิสิกส์ซึ่งจะละไว้ในที่นี้ แปลเป็นภาษาขาวบ้านก็คือเครื่องปรับอากาศที่ไม่ใช้พลังงาน — ที่จริงมันใช้พลังงานศักย์ของน้ำ ซึ่งเราได้มาฟรีแต่ไม่เคยใช้เลย ปล่อยให้น้ำไหลไปเฉยๆ

ในรูป Blow-off pipe เป็นท่อรักษาระดับอากาศ กล่าวคือถ้าอากาศมีมากเกินไป ก็จะหนีออกทางท่อนี้ได้ ทำให้ปริมาตรและความดันอากาศสูงสุดใน chamber ถูกจำกัดไว้

เงื่อนไขสำคัญคือน้ำขาเข้า มีความสูงกว่าน้ำขาออก และน้ำไหลอย่างต่อเนื่องครับ


Pulser Pump

อ่าน: 7341

Pulser pump เป็นการเปลี่ยนพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์

พูดเป็นภาษามนุษย์คือเป็นปัมป์ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว ใช้อากาศดันน้ำขึ้นสูง ไปเก็บไว้ในถังเก็บเพื่อเอาไปรดน้ำต้นไม้ โดยไม่ใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมัน มีความทนทานสูงมาก

น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ด้านเหนือเขื่อน (ทางซ้ายในรูป มีท่อให้น้ำไหลลง โดยปลายท่อด้านบนอยู่ใกล้ผิวน้ำ ทำให้น้ำดูดฟองอากาศลงไปในท่อด้วย เมื่ออากาศลงไปปลายท่อ อากาศก็พยายามลอยขึ้นตามธรรมชาติ ก็จะถูกเก็บอยู่ในช่องเก็บอากาศเพื่อสร้างแรงดันอยู่ใต้เขื่อน จนมากขึ้นๆ พอมาเจอทางออกตรงท่อเล็กตรงกลางสันเขื่อน ก็จะพยายามหนีออก โดยดูดเอาน้ำขึ้นไปด้วย โผล่พรวดขึ้นมาด้วยความแรง (น้ำสลับกับอากาศ) ทำให้ Pulser pump สามารถยกน้ำขึ้นสูงกว่าสันเขื่อนได้ อันเป็นผลลัพท์ของปัมป์ที่เราต้องการ

ทางส่วนใต้เขื่อน ท่อน้ำออกอยู่ต่ำกว่าท่อที่อากาศหนีออก จึงปล่อยเฉพาะน้ำออกไปทางด้านขวา

ยิ่งกว่านั้น ปลายปล่องด้านน้ำไหลลงไปใต้เขื่อน หาก “ลอย” อยู่ใกล้ระดับผิวน้ำได้ ก็จะสามารถปรับตัวเองให้ใช้งานได้อัตโนมัติ โดยขึ้นกับระดับน้ำต้นทุนหน้าเขื่อน

Pulser pump ในหนังตัวอย่างข้างล่าง มีอายุเกือบ 20 ปีมาแล้ว และยังใช้งานได้อยู่ *แต่เป็นปัมป์ที่มีเสียงดัง*

อ่านต่อ »


เริ่มต้นกับ GIS (4)

อ่าน: 3341

การสร้างเครื่องบิน ก็ง่ายนิดเดียวครับ หาขี้ม้าเลียบค่ายมาสามตอน คิดว่าบรรยายองค์ประกอบครบถ้วนแล้ว บันทึกนี้จะเอา ลำตัว ปิก หาง เครื่องยนต์มาประกอบเป็นเครื่องบิน ถึงจะไม่ได้เรียนอากาศพลศาสตร์หรือการออกแบบเครื่องบินมา แต่ก็พอรู้ว่าลำตัว ปีก หาง เครื่องยนต์ อยู่ตรงไหนของเครื่องบินใช่ไหมครับ

เปิดเว็บของ Open Source Geospatial Foundation (OSGeo) ดู เว็บนี้น่าสนใจในแง่ที่ผู้คนตระหนักว่าควรเลิกเฟอะฟะกันเสียที ถ้าขืนปล่อยให้ต่างคนต่างใช้ข้อมูลกันคนละมาตรฐาน ในที่สุดจะทำงานร่วมกันไม่ได้ แล้วผู้บริโภคก็จะสูญเสียเวลา แรงงาน และเงินมหาศาล เพื่อที่จะทำ Attributes ที่คนอื่นทำไว้แล้วใหม่ เพียงเพราะอ่านข้อมูลที่มีอยู่แล้วไม่ได้

รายชื่อเครื่องมือที่แสดงอยู่ในรูปทางขวา แบ่งเป็นห้าหมวดคือ

  1. Web Mapping — โปรแกรมที่ทำงานบนเว็บ
  2. Desktop Applications — โปรแกรมที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
  3. Geospatial Libraries — โปรแกรมเสริมที่ใช้อ่านเขียนดัดแปลงข้อมูลจากรูปแบบต่างๆ
  4. Metadata Catalog — คาตาล็อกของข้อมูลที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว
  5. Other Projects — ข้อมูลอื่นๆ

การสร้างเครื่องบิน ก็ง่ายนิดเดียวครับ หาลำตัว หาปีก หาหาง หาเครื่องยนต์ ที่เหมาะกับเรา แล้วเอามาประกอบกัน ส่วนจะรู้ได้ยังไงนั้น มันยากตรงนั้นแหละครับ!

ต้องลองเล่น

อ่านต่อ »


เริ่มต้นกับ GIS (3)

อ่าน: 4793

ลงทุนลงแรงกับ Attributes

ประโยชน์แท้จริงของ GIS ก็อยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจ ที่สังเคราะห์ขึ้นมาจาก Attributes นี่ล่ะครับ GIS เป็นเพียงเครื่องมือที่อิงกับแผนที่ ที่เข้ามาช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลในมิติต่างๆ

ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจได้ว่าจะหาข้อมูลไปทำ Attribute อะไร ก็น่าจะตอบตัวเองก่อนว่าทำไปแล้ว ได้ประโยชน์อะไร; ในระบบ GIS การเพิ่ม Attributes เพิ่ม Layers ทำได้ง่ายมาก (เพราะข้อมูลเก็บในฐานข้อมูลซึ่เรียกใช้สะดวก และใช้คอมพิวเตอร์วาดรูปซึ่งทำได้ง่าย) แต่การเก็บข้อมูลนั้น กลับใช้แรงงาน และเวลาอย่างมากมาย

เมื่อออกไปในพื้นที่เพิ่อเก็บข้อมูล จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกครั้ง หากไปครั้งเดียวแต่เก็บข้อมูลได้หลายมิติ ก็จะประหยัดกว่ามาก

การจัดทำระบบ GIS ในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของราชการ ใช้วิธีซื้อแหลกกันมาตั้งนานแล้วนะครับ เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว การซื้อแหลก มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือระบบมักจะอิงอยู่กับซอฟต์แวร์มาตรฐานไม่กี่ตัว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันได้ (ถ้าจะทำ)

การเก็บข้อมูล

ดังที่กล่าวไว้ในตอน (1) ข้อมูลที่จะใช้กับ GIS มีสองส่วนคือข้อมูลแผนที่ และข้อมูลเชิงบรรยาย — คือบอกว่าอะไรอยู่ตรงไหน

วิธีเก็บข้อมูลที่เหมาะที่สุด คือวาดแผนที่ กำหนดพิกัดเส้นรุ้ง/เส้นแวงตามมุมของพื้นที่ แล้วจดใส่กระดาษพร้อมข้อมูลเชิงบรรยาย (Attributes) ที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่นั้น จากนั้นค่อยนำกลับมาป้อนเข้าคอมพิวเตอร์ที่สำนักงาน.. คืนนี้ ต้องนอนเร็ว พรุ่งนี้ไปหาหมอครับ


เริ่มต้นกับ GIS (2)

อ่าน: 3988

ความคิดเกี่ยวกับ Base Map ราคาถูกในระบบ GIS

บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มี Base Map ที่สามารถนำมาใช้ได้อยู่หลายที่ เช่น Google Maps Yahoo! Maps หรือ Microsoft Virtual Earth ฯลฯ

Base Map เป็นต้นทุนที่อาจจะแพงที่สุดในการทำระบบ GIS เดิมทีจะต้องใช้เครื่องบิน บินถ่าย หรือซื้อภาพถ่ายจากดาวเทียม แล้วนำภาพมาแปลงเป็นพิกัดลงทีละจุด ในเมื่อมี Base Map ให้ใช้อยู่แล้ว การเริ่มต้นระบบ GIS จึงประหยัดเงินและเวลาลงได้มาก

เราดู Base Map จากอินเทอร์เน็ตผ่านเบราว์เซอร์ธรรมดา หมายความว่าถ้าจะใช้วิธีนี้ ก็ต้องมีความเร็วในการเชื่อมต่อไปต่างประเทศที่ดี (ไม่ใช่แค่วงจรที่เชื่อมต่อไปยังไอเอสพีมีความเร็วสูง แต่ต้องดึงข้อมูลจากต่างประเทศผ่านไอเอสพีนั้นได้เร็วจริงด้วย อย่าไปดูแค่คำว่า Hi-speed หรือ Broadband ซึ่งผู้บริโภคถูกหลอกกันมาซะเยอะแล้ว)

Base Map server ที่ต่างประเทศ ส่งรูปมาให้เราเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ (Tile) แล้วโปรแกรมควบคุม เอา Tile หลายๆ อันมาต่อกันเป็นแผนที่ เราย่อ/ขยาย และกวาดไปดูพื้นที่ข้างเคียงได้ผ่านเบราว์เซอร์ธรรมดา

อ่านต่อ »


เริ่มต้นกับ GIS (1)

อ่าน: 6015

เรื่องนี้ เริ่มที่ไอเดียบรรเจิดในบันทึก คนมีเบอร์ | ปักธงกันหน่อยดีไหม | ถามตรงๆ ^ ^ เป็นความพยายามที่จะอธิบายเรื่องที่(ยัง)จับต้องไม่ได้ ให้ผู้ที่(ยัง)ไม่เคยใช้เข้าใจ — หรือบางทีอาจจะทำให้งงกว่าเก่านะครับ; คำอธิบายนี้ ไม่เหมือนกับในตำรา แต่พยายามจะอธิบายให้เห็นไส้ใน เพื่อที่จะได้พิจารณาเองว่าอะไรทำ อะไรซื้อ — มีหลายตอน ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะเขียนกี่ตอน

หากท่านผู้รู้ท่านใด มีความเห็นัดแย้ง หรืออธิบายเพิ่มเติม ก็ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ — เราร่วมกันเรียนได้

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) เป็นระบบที่ทำงานด้วยกระบวนการจัดการความรู้ โดยใช้ข้อมูลเชิงแผนที่ (Geospatial Information) ซึ่งเก็บอยู่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์มาประมวล

สำหรับ Geospatial Information (Geo=ภูมิศาสตร์ spatial=เกี่ยวกับอวกาศ/แผนที่ทางอากาศ Information=สารสนเทศ) มีข้อมูลหลักๆ สองด้านคือ

  • ข้อมูลแผนที่: เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับตำแหน่ง โดยปกติเป็นพิกัด (เส้นรุ้ง,เส้นแวง) เพื่อบอกว่าข้อมูลนั้น อยู่ตรงไหนบนโลก อาจจะเป็นพื้นที่เช่นเขตการปกครอง โฉนด เขตปลูกข้าว, เป็นตำแหน่งเช่นแหล่งท่องเที่ยว ที่ตั้งเอทีเอ็ม โรงเรียน ฯลฯ
  • ข้อมูลเชิงบรรยาย (Attributes): เป็นข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่พิกัด เช่นจำนวนประชากรภายในเขตการปกครองนั้น เนื้อที่/ปริมาณผลผลิตจากพืชชนิดต่างๆในพื้นที่ เป็นความสูงของระดับพื้นเพื่อดูว่าที่ใดเป็นเขา เป็นอ่างเก็บน้ำ

อ่านต่อ »



Main: 0.29559016227722 sec
Sidebar: 0.31430792808533 sec