คนมีเบอร์

โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 23, 2008 เวลา 0:29 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3894

ความจริงคนเรามีเบอร์มานานแล้ว เมื่ออายุครบตามกฎหมายไทยทุกคนต้องไปทำบัตรประชาชน ซึ่งในบัตรประชาชนนั้นจะมีหมายเลขประจำตัวที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าเลข 13 หลัก ทั้งทางราชการและหน่วยงานทางธุรกิจเอาตัวเลขนี้ไปใช้มากมาย เพราะเป็นหลักฐานที่ออกโดยราชการที่ระบุความเป็นคนไทยและข้อมูลอื่นๆที่ทางราชการกำหนด

ในโครงการที่ผมทำอยู่ภายใต้หน่วยงานนี้ ได้นำตัวเลขของประชาชนมาใช้เพื่อจัดทำระบบข้อมูล การวิเคราะห์ วางแผน การติดตาม การประเมินผล และอื่นๆอีกมากมายในรูปของแผนที่ที่เรียกว่าระบบ GIS

ระบบนี้เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว สมัยผมทำงานกับ USAID ปี 23-28 นั้นก็เริ่มใช้ระบบนี้มาผสมผสานกับการวิเคราะห์พื้นที่ที่เรียกว่า Agro-ecosystem Analysis หรือ AEA แล้ว แต่สมัยนั้นระบบยังไม่สมบูรณ์ รูปร่างแผนที่ยังหยาบ แต่ก็สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์การวิเคราะห์พื้นที่ และใช้เป็นแนวทางการวางแผนงานได้จริง เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นกว่าเดิม ผมมีส่วนช่วยทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มใช้ AEA วิเคราะห์พื้นที่ภาคอีสานรายจังหวัดเพื่อส่งเสริมการเกษตร และต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรก็นำหลักการนี้ไปใช้ทั่วประเทศ

ความเป็นเหตุเป็นผลในการนำข้อมูลต่างๆมาดูความสัมพันธ์กันนั้น ส่งผลให้มีการปรับกระบวนการทำแผนงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม การกำหนดเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และระบบการส่งเสริมที่เน้นตัวชาวบ้านเรียนรู้ระหว่างกันเองมากขึ้น โดยหลักการแล้ว นี่เป็นการใช้เทคโนโลยีมามีส่วนในการเริ่มกระบวนการ ที่เรียกว่า Area Base Approach (ABA)

มาวันนี้ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่นี้มีแนวคิดวิเคราะห์เจาะลึก เกษตรกรทุกครัวเรือนในพื้นที่โครงการ โดยนำผลการวิเคราะห์มาแสดงในแผนที่ Base Map กล่าวคือ ที่ดินที่เกษตรกรถือครองตามกฎหมายของหน่วยงานนี้ เขาจัดระบบแปลงที่ดินไว้แล้ว คือ มีชื่อพื้นที่ มีหมายเลขกลุ่มพื้นที่ มีหมายเลขแปลง มีหมายเลข 13 หลักของเจ้าของแปลง แล้วก็นำข้อมูลทางชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคมต่างๆมาแสดงผลในรูปของแผนที่ดังกล่าวได้ โดยใช้สัญลักษณ์สี หรือต่างๆมาแสดง

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงการถือครองที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองแคน

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินถือครองของเกษตรกร

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงเจ้าของที่ดินถือครองที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในระดับต่างๆ

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์และพิจารณาจัดทำนโยบาย แผนงาน และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา กิจกรรม พื้นที่ ฯ ได้โยอาศัยข้อมูลเหล่านี้

ข้อมูลเหล่านี้มีการใช้ประโยชน์มานานแล้ว โดยเฉพาะอเมริกา และประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง เช่นดาวเทียมที่สามารถถ่ายภาพพื้นที่ต่างๆทั่วโลกอย่างละเอียดได้ เขาสามารถทราบเลยว่า พื้นที่ใดในโลกนี้ปลูกอะไร ขนาดพื้นที่เท่าใด ผลผลิตจะได้เท่าใด ฯ แม้ว่าจะไม่ละเอียดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การพัฒนาความละเอียดก็มีตลอดเวลาและคาดการณ์ที่แม่นยำมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อหลายเรื่องที่ไม่ขอกล่าวในที่นี้…

หน่วยงานที่ผมมีความรับผิดชอบอยู่นี้ ได้นำเทคนิคนี้มาใช้ ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะก้าวไปได้ไกลสักแค่ไหน

แต่ที่แน่ๆคือ กิจกรรมทุกกิจกรรมที่ทำร่วมกับเกษตรกรนั้นจำเป็นต้องบันทึกหมายเลขประจำตัวประชาชน หมายเลขกลุ่มแปลง และหมายเลขแปลงของเกษตรกร ที่ทำกิจกรรมนั้นๆ เพื่อนำมาใช้แสดงผลในรูปของแผนที่ต่อไป

นี่คือเรื่องราวของคนมีเบอร์หละครับ….

« « Prev : ฉันหนาว ฉันเหงา ฉันทึ่ง

Next : ข้าน้อยขอสนองรับสั่ง… » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

17 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 1:49

    ประมาณวันที่ 19 ม.ค. พี่อยู่ขอนแก่นหรือเปล่าครับ

    ผมรับปากไปบรรยายให้ อ.ต้อม (ดร.กานดา) มีคิวจะถูกพี่ติ๋ว (กฤษณา) เลี้ยงข้าว แต่ยังมีเวลาอีกเพราะจะขับรถไปครับ

    อยากไปเปิดหูเปิดตาว่าข้อมูลที่มีอยู่ในบันทึกนี้ ใช้ทำ/ปรับปรุงอะไรได้บ้างครับ

  • #2 อุ้ยจั๋นตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 7:20

    พี่บางทรายคะ
    เรื่องติดรหัสใส่เบอร์น่าสนใจมากค่ะ

    ประเด็นที่คิดคือ
    1 การเข้าถึงข้อมูลเป็นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ…เชิงหนึ่งคือการจัดการจะยุติธรรมและเหมาะสม ดูแล(ควบคุม)การเคลื่อนย้ายทรัพยากรได้รวดเร็วและป้องกันการเกิดการถ่ายโอนทรัพย์อย่างน่าสงสัยได้ง่าย…แต่ในเชิงหนึ่งข้อมูลจะนำไปสู่การรละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ง่ายถึงง่ายที่สุด…โดยเฉพาะหากมีการซื้อขายข้อมูลเข้าสู่กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เช่นพวกโฆษณาสินค้า พวกปล่อยสินเชื่อเงินกู้ ฯลฯ
    2. การใช้บัตรประจำตัวประชาชนไปทำข้อมูล อาจจะนำไปสู่การควบคุมพฤติกรรมคน…หรือเปล่า…น้องคิดว่าถ้าทำกันเปรอะ ฐานข้อมูลนี้จะน่าสะพึงกลัวมากกว่าการไม่มีข้อมูล….ระบบแบบนี้ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังมีการติด “ชิบ” ให้กับคน..ต่อไปส่งสแกนเนื้อเยื่อ…ก็อาจจะระบุยอดเงินในบัญชีธนาคารและรู้เลขที่โฉนด….ได้ไหม…

    มีข้ออยากเรียนถามความเห็นของพี่ด้วยนะคะ ว่า. จะทำอย่างไรจึงจะป้องกันการไปเจาะข้อมูลจนเกิดการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลได้บ้างคะ

  • #3 คนชอบละเมอ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 10:39

    ทาง สาธารณสุข ก็นำ GIS มาใช้ในการเฝ้าระวังการระบาดของโรค , การวิเคราะห์ความครอบคลุมของงานต่างๆ แยะอยู่ครับ
    ยิ่งเบอร์ที่ว่า ยิ่งสำคัญ เพราะใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
    น่าจะเกิดประโยชน์ ถ้าเอาของ คุณ bangsai มาเชื่อมต่อกัน
    เราก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า โรคสัมพันธ์กับอาชีพเกษตรกรรมอย่างไร

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 10:59

    คอนครับ

    ปกติพี่จะเดินทางเช้าวันจันทร์ไปมุกดาหาร แต่สามารถจะอยู่ขอนแก่นได้

    เดี๋ยวพี่จะลองเตรียมระบบนี้ให้คอนดู

    เผื่อมีคำแนะนำอะไรจะได้นำมาใช้ต่อไปครับ

    ตกลงวันที่ 19 พี่จะอยู่ที่ขอนแก่นครับ อิอิ

    [เรื่องนี้ พี่เชื่อว่าเม้งถนัดนักเชียว อาจจะคิดต่อว่า เฮ 7 หรือ เฮ 8 (เม้งบวกคอน) น่าจะจัดการให้ความรู้กับพวกเราในเรื่องเหล่านี้นะครับ ซึ่งสามารถพัฒนาไปใช้ในงานแต่ละคนได้]

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 11:40

    น้องสร้อยครับ

    ประเด็นที่น้องสร้อยเสนอให้คิดคือ

    1 การเข้าถึงข้อมูลเป็นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ…เชิงหนึ่งคือการจัดการจะ ยุติธรรมและเหมาะสม ดูแล(ควบคุม)การเคลื่อนย้ายทรัพยากรได้รวดเร็วและป้องกันการเกิดการถ่ายโอน ทรัพย์อย่างน่าสงสัยได้ง่าย…แต่ในเชิงหนึ่งข้อมูลจะนำไปสู่การรละเมิดความ เป็นส่วนตัวได้ง่ายถึงง่ายที่สุด…โดยเฉพาะหากมีการซื้อขายข้อมูลเข้าสู่ กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เช่นพวกโฆษณาสินค้า พวกปล่อยสินเชื่อเงินกู้ ฯลฯ

    ตอบ 1 พี่เห็นด้วยกับน้องสร้อยเรื่องการจัดการ ดูแล ควบคุมระบบข้อมูลบุคคล ที่อาจจะถูกนำไปใช้ทางอื่นที่มิชอบ หรือก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวไป มองในแง่นี้ก็เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจริงๆ ซึ่งไม่ควรทำ

    แต่ระบบข้อมูลตัวเลขที่พี่กล่าวถึงนี้ ทางหน่วยงานพี่เขาเอามาใช้เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เป้าหมายนั้นๆ เพื่อการพัฒนาตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน ซึ่งมีประโยชน์ แต่หากมองในแง่การเอาไปใช้ประโยชนือื่นๆก็น่าจะมีบ้าง เช่น นักธุรกิจ ก็จะมองว่า ที่ดินตรงไหนมีศักยภาพสูงก็จะใช้เล่ห์กลเพื่อเข้าไปแสวงหาประโยชน์ได้ เช่นไปกว้านซื้อที่ดิน

    เพราะพี่เองก็เคยใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายๆกัน แต่เป็นประโยชน์เพื่อเลือกซื้อที่พักอาศัย คือ พี่มีแผนที่วิเคราะห์น้ำใต้ดินที่มาจากการทำของกรมน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี(รุ่นพี่พี่ มช.เป็นคนทำ) แผนที่นี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่จังหวัดขอนแก่นทั้งหมดนั้น ระบบน้ำใต้ดินเป็นอย่างไร เราพบว่า ทางซีกตะวันตกนั้นน้ำำใต้ดินจะเค็ม ตรงข้ามที่ดินทางทิศตะวันออกของตัวเมืองระบบน้ำใต้ดินจะไม่เค็ม จืด ดังนั้นการเลือหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะเช่าซื้อเป็นที่อยู่อาศัยก็น่าที่จะเลือกทางทิศตะวันออก จะได้ไม่เกิดปัญหาผลกระทบจากน้ำใต้ดินเค็ม เรื่องนี้ พ่อค้าที่ทำธุรกิจบ้านจัดสรรไม่ทราบข้อมูลตัวนี้ หรือทราบว่าดินแถบนี้เค็มแต่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจประเด็นนนี้ แต่เราเป็นผู้บริโภคเราต้องรู้ ต้องเลือก บังเอิญเรารู้ เข้าใจ จึงได้ใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลนี้…..

    ในทางตรงข้าม หากพ่อค้ารู้ อาจจะมาสร้างบ้านจัดสรรทางทิศตะวันออกแล้วโก่งราคาสูงมากขึ้นแล้วใช้ข้อมูลนี้โฆษณาว่าน้ำใต้ดินไม่เค็ม ไม่มีผลกระทบในระยะยาว ก็อาจทำได้ เช่นกัน……

    หรืออื่นๆที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ…..

    2. การใช้บัตรประจำตัวประชาชนไปทำข้อมูล อาจจะนำไปสู่การควบคุมพฤติกรรมคน…หรือเปล่า…น้องคิดว่าถ้าทำกันเปรอะ ฐานข้อมูลนี้จะน่าสะพึงกลัวมากกว่าการไม่มีข้อมูล….ระบบแบบนี้ทำให้รู้สึก เหมือนกำลังมีการติด “ชิบ” ให้กับคน..ต่อไปส่งสแกนเนื้อเยื่อ…ก็อาจจะระบุยอดเงินในบัญชีธนาคารและรู้ เลขที่โฉนด….ได้ไหม…

    มีข้ออยากเรียนถามความเห็นของพี่ด้วยนะคะ ว่า. จะทำอย่างไรจึงจะป้องกันการไปเจาะข้อมูลจนเกิดการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว ของบุคคลได้บ้างคะ

    ตอบ 2 เป็นไปได้ครับที่ผู้มีอำนาจอาจจะใช้ฐานข้อมูลนี้ไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ แต่ใช้อำนาจมาบังคับ เช่นอาจจะออกกฏหมายมาบังคับได้

    ซึ่งปัจจุบันพี่เองก็เริ่มเห็นความเบี่ยงเบนในการใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้แล้วในหน่วยงานที่พี่ทำงานที่แหละ พี่กำลังเผชิญอยู่ี คือ เราจัดทำแผนงานตามระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ระบบแผนที่เข้ามาประกอบ ที่เรียกว่า Area Base Approach (ABA) แต่เราเอาฐานข้อมูลทางสังคมเศรษฐกิจมาใช้โดยไม่ได้ใส่ลงไปในแผนที่ เพราะมีปัญหาเรื่องเวลา ที่จำกัดจะต้องส่งแผนเมื่อนั่นเมื่อนี่ (เป็นประจำ) ต่อมา เบอร์หนึ่งของหน่วยงานบอกให้ระงับการใช้งบประมาณที่ผ่านการพิจารณามาแล้วทั้งหมด แล้วให้เริ่มทำแผนใหม่ตามแนวคิดของท่าน โดยอิงระบบ ABA โดยหลักการฟังดูดี ถูกต้อง ก้าวหน้า แต่…..แต่….เป็นเพียงหลักการที่ผู้ใหญ่สามารถเอาไปคุยต่อกับระดับสูงขึ้นไปได้ว่า ระบบแผนงานก้าวหน้าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทางปฏิบัติ เป็นการ top down ลงอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อแผนที่บอกเราว่า ตรงจุดบนแผนที่ตรงนี้บอกว่าเป็นกลุ่มคนยากจน จึงต้องนำงบประมาณลงไป และจะต้องทำ 1, 2, 3, 4, 5 และไปมัดชาวบ้านว่า หากทำ (ก) ชาวบ้านต้องทำ (ข) มันก็เป็นการ top down แบบเดิมๆที่เคยทำนั่นแหละ เพียงอาศัยระบบข้อมูลมากขึ้นและมัดมือชกมากขึ้น เพราะนายใหญ่ต้องการเห็นภาพรวมเป็นอย่างนั้น ซึ่งล้างความเป็นอิสระภาพทางความคิดของชาวบ้านไปจนหมดสิ้น หรือล้างกระบวนการพัฒนาคนที่ค่อยเป็นค่อยไปจนหมดสิ้น….

    พี่คิดว่าแบบนี้เป็นการใช้ข้อมูลที่พี่ไม่เห็นด้วย ดูจะดี แต่ไม่ดี ยิ่งเป็นระบบราชการเมื่อนายสั่ง…ลูกน้องคนไหนจะกล้าหือ….ยิ่งนายใหญ่ขู่ทุกครั้งที่ประชุมว่า ทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้จะย้าย…..จะย้าย….จะย้าย.. ใครจะไปปฏิเสธ ต้องทำแบบฝืนใจทำ….

    วุ้ย อ้าว เอามาเผยซะแล้ว อิอิ.. อิอิ..

    แต่พี่มีความเห็นว่า ระบบนี้มีประโยชน์มากครับ และต้องมีกฏกติกาในการควบคุมฐานข้อมูล

    เพราะจากประสบการณ์พี่ที่ผ่านการใช้ระบบนี้มาแล้วพบว่า เราจะเป็นทั้ง Overview และ วิเคราะห์เจาะลึกเฉพาะเรื่อง เฉพาะจุด และการรายงานพูดจากันก็อยู่บนฐานข้อมูลที่สามารถเอาออกมาเป็นตัวเลขได้ว่า แค่ไหน เท่าไหร่ ตรงไหน ขนาด เรียกได้ว่าทั้งปริมาณและคุณภาพ เราได้ครบ

    เอ้า ร่ายยา่วซะแล้ว….

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 11:44

    สวัสดีครับ คนชอบละเมอ

    ประเด็น: ทาง สาธารณสุข ก็นำ GIS มาใช้ในการเฝ้าระวังการระบาดของโรค ,
    การวิเคราะห์ความครอบคลุมของงานต่างๆ แยะอยู่ครับ
    ยิ่งเบอร์ที่ว่า ยิ่งสำคัญ เพราะใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
    น่าจะเกิดประโยชน์ ถ้าเอาของ คุณ bangsai มาเชื่อมต่อกัน
    เราก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า โรคสัมพันธ์กับอาชีพเกษตรกรรมอย่างไร

    ตอบครับ: ผมเห็นว่ามีหน่วยงานต่างๆเอาระบบนี้ไปใช้มากมาย แม้แต่ ธกส. ที่เพื่อนผมอยู่สำนักงานใหญ่ก็เอาระบบนี้ไปใช้เพื่อมีส่วนสำคัญในการวิเคราะห์เกษตรกรที่มากู้เงิน และให้คำแนะนำในการนำเงินไปใช้ประโยนชน์ทางการเกษตร

    เห็นด้วยครับว่า เราสามารถเชื่อมฐานข้อมูลได้ จากเลข 13 หลักนี้ เอามาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กันก็อาจจะค้นพบสิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้ครับ เห็นด้วยครับ น่าสนใจมากครับ

  • #7 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 18:02

    เยี่ยมค่ะพี่บางทราย เบิร์ดปิ๊งเลยว่าแผนที่ที่อยากทำในเรื่องการเพาะปลูกนั้นจะประสานกับหน่วยงานใด เพราะเบิร์ดอยากทราบข้อมูลการเกษตรและน้ำของชร.มากๆค่ะซึ่งสามารถนำมาลงรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของอาหารปลอดภัยได้จากรูปแบบการเพาะปลูก และเห็นด้วยกับคุณหมอคนชอบละเมอว่าสธ.สามารถนำข้อมูลเลข 13 หลักเชื่อมกับการเจ็บป่วยได้อย่างเด่นชัด รวมทั้งทุกหน่วยงานสามารถใช้ในการวางแผนพัฒนาต่างๆได้อย่างดีเชียว(ถ้าใช้เป็น)

    เพราะข้อมูลคนไข้ของรพ.มีหลายเรื่องที่เบิร์ดสงสัยการเกี่ยวพัน เช่นคนแถบอ.เวียงป่าเป้ามีอุบัติการณ์ของโรคนิ่วสูงมากๆ ซึ่งแถบนั้นเป็นหินปูน น้ำใต้ดินน่าจะมีส่วน หรืออ.เวียงชัยมีสถิติอุบัติเหตุสูงชะมัด ซึ่งยังโยงไม่ได้ระหว่างการผลิตเหล้าชุมชนหรือว่าลักษณะถนนที่โค้งและแคบ หรือว่าอยู่ใกล้ตัวเมืองเพียง 12 กม.ทำให้ส่งรพ.ศูนย์ดีกว่าไปรพช.กันแน่

    ขอบคุณสำหรับการจุดประกายที่แจ่มแจ๋วนะคะ ไว้จะไปคุยกับ ธกส.ชร.ดู

  • #8 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 เวลา 18:42

    อ้าว แก้มยุ้ยหายไปไหนแล้ว อิอิ..

    มีประโยชน์มาก ถึงมากที่สุด เพราะเป็นการเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยผ่านเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามามากแล้วมาใช้พิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ

    ระบบนี้จะต้องมีสิ่งที่สำคัญคือ

    1. Base map ในโปรแกรมใดโปแกรมหนึ่งที่ใช้ง่ายและสามารถนำไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลได้ โปรแกรมแผนที่มีใช้มากมาย แต่ที่โครงการใช้ ArcView โดยให้ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้อบรมเจ้าหน้าที่ให้ใช้เป็นครับ

    2. ระบบฐานข้อมูล ที่มีเลข 13 หลักเป็นแกนกลาง แล้วเอาอย่างอื่นๆมาเสริม อายุ การศึกษา อาชีพหลัก รอง ที่อยู่อาศัย ฐานะ รายได้ โอยมากมายก่ายกอง ที่เราสามารถดัดแปลงมาใช้ได้ เช่นข้อมูลเชิงคุณภาพก็แปลงเป็นปริมาณ เช่น เคยมีประวัติเป็นโรค ให้ใช้เลข 2 แล้วอาจแยกย่อยไปมากมาย โรคเกี่ยวกับร่างกายใช้ 3 ก็เป็น 23 ฯลฯ…….. ฐานข้อมูลนี้อาจจะอยู่ในรูปของ Excel และ Access หรืออื่นๆที่ในสำนักงานนิยมใช้

    3. ระบบฐานข้อมูลที่แหละครับที่ยากเย็น เพราะมัน dynamic เวลาผ่านไปข้อมูลเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป จึงต้อง update และหากใช้ฐานข้อมูลบุคคล ก็เป็นฐานข้อมูลที่มหาศาล การ update เป็นเรื่องใหญ่ หากมีกระบวนการใดที่ทำให้การ update ง่าย ประหยัด ถูกต้อง ก็จะดีมากๆ

    4. ขอแนะนำว่า หากทำโครงการร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ เราก็อาจจะได้โปรแกรมแผนที่โดยไม่ต้องจัดทำใหม่ เช่น ส.ป.ก. มีระบบแผนที่ในพื้นที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศอยู่แล้ว กรมการพัฒนาที่ดิน มีแผนที่ดินเค็ม และอื่นๆทั่วประเทศ กรมทรัพยากรธรณีมีแผนที่ลุ่มน้ำ น้ำใต้ดิน ฯลฯ ทั่วประเทศ กรมชลประทาน มีแผนที่ลุ่มน้ำ และแหล่งน้ำทั่วประเทศ ธกส.ก็มี กรมอุตุนิยมวิทยา กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมการปกครอง ฯลฯ พี่เชื่อว่ามีแผนก หรือสำนัก หรือส่วนที่รับผิดชอบเรื่อง GIS ของเขาอยู่แล้ว

    5. ประเด็นที่พบคือ มักไม่ได้ใช้ประโยนชน์อย่างเต็มที่ เพราะผู้ัที่ก้าวขึ้นมารับผิดชอบ มาตามระบบเลื่อนขั้น แต่ไม่มีความรู้แท้จริง หรือไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ มองไม่เห็นว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร…อันนี้พบบ่อยมาก ต้องให้คนหนุ่มที่เรียนจบมาทางด้านนี้โดยตรงโตขึ้นมาทำงานนี้ แต่ก็มีการเมืองเข้ามาอยู่เสมอ อีกประเด็นที่พี่พบคือ ผู้บริหารฉลาด แต่มิได้ใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนที่แท้จริง ทำเพื่อประชาสัมพันธ์ ทำเพื่ออวดเจ้านายที่สูงขึ้นไป ทำเพื่อตอบสนองความคิดตนเองมากกว่าที่จะรับฟังการระดมสมองจากผู้ร่วมงาน และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน….อย่างที่พี่กำลังเผชิญ…ยี้….ยี้….

    หากเราพัฒนาการงานด้านนี้ต่อไปสามารถ แสดงการคาดการณ์ต่างๆได้ด้วยครับ เรื่องเกี่ยวกับฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ แต่ทั้งหมด ฐานข้อมูลที่จะป้อนเข้าไปเป็นเรื่องใหญ่มากๆครับ…เรื่องมักจะจบลงตรงนี้ครับ…

    คอน กับเม้ง เขาเล่น GIS มาก่อนและคลุกคลีกับงานแบบนี้ โดยเฉพาะเม้ง มี่ไปร่ำเรียนมาโดยตรงทั้งทาง simulation และ GIS น่าที่จะแนะนำได้มากกว่าพี่ พี่เป็นเพียงผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องการใช้ประโนชน์มาเท่านั้นครับ

  • #9 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 ธันวาคม 2008 เวลา 11:59

    ที่ประหลาดคือข้อมูลเกี่ยวกับคนของกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องกว่าของใครครับ แม่นกว่าของมหาดไทยซะอีก

  • #10 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 ธันวาคม 2008 เวลา 20:49

    คอนครับ พี่เชื่อ เพราะคนของกระทรวงมีคุณภาพมากกว่าครับ พี่ประสบพบเห็นมาแล้ว ระบบนายกับลูกน้องก็น้อยกว่าของมหาดไทย มหาดไทยนั้น อดีตเคยนั่งเทียนกัน ไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นเช่นไร คาดว่าจะพัฒนาดีขึ้น

    พี่เคยร่วมงานกับมหาดไทย สภาพัฒน์ กพ. พช.และ ฯลฯ กับโครงการไทย-ออสเตรเลีย ได้พัฒนาระบบข้อมูล กชช. 2 ค. พี่กับคณะมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมทุกจังหวัดทั้งภาคอีสานเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลนี้

    พบว่าข้อมูลที่ได้มานั้นหลายหมู่บ้านแทบจะโยนทิ้งไปเลย น่าจะดีขึ้นในปัจจุบันครับ

    แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณะสุขมีคุณภาพมากกว่าจริง เคยคลุกคลีกับ อสม.มาพักใหญ่เหมือนกัน ลองไปโรงพยาบาลเราก็รู้ว่าระบบระเบียนคนไข้ แทบจะหาข้อบกพร่องได้ยากครับ

    เพียงแต่ว่า คนไข้มากจริงๆ….ต้องรอกันครึ่งค่อนวัน อิอิ….

  • #11 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 ธันวาคม 2008 เวลา 21:57

    GIS : Geographic Information System มันเกิดมา พร้อมกับโลกใบนี้ ก่อนมีคอมพิวเตอร์ใช้นานแสนนานเสียอีก เป็นตรรก รู้เขารู้เรา เข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริง เชิงภาพ(เส้น Line รูป Raster )และเชิงข้อมูล(คำอธิบาย ที่เป็นตัวเลข ตัวอักษร ทั้งปริมาณและคุณภาพ) และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาหาความสัมพันธุ์ ทั้งในแง่ บวก แง่ลบ ประเมินศักภาพของพื้นที่นั้น ตามแต่ที่เรามีความรู้ความเข้าใจ ทั้งในเชิงบริหารจัดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต และผู้คนตลอดจนจิตวิญาณของคนในพิ้นที่นั้นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนการวางแผนในจัดการพื้นย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่กายภาพทีมองเห็นและไม่เห็นด้วยตา แต่ในการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็น ทางด้านการทหาร การเกษตร การจัดการทรัพยากร การปกครอง การสาธารณสุข ฯลฯ ผู้ที่ตัดสินใจทุกเรื่องคือมนุษย์ หากขาดความรู้แก้ไม่ยากคือทำให้มีความรู้ได้ แต่ถ้าขาดคุณธรรมเสียแล้วต่อให้มีระบบ เครื่องมือที่ดีแค่ไหน มันก็เปล่าประโยชน์ ระบบที่ดีที่สุดก็ให้โทษอย่างมหันต์เช่นกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือข้อมูล ที่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ตรงตามช่วงเวลานั้นๆ ย่อมเป็นพลังและอำนาจมหาศาล ผู้ที่มีข้อมูลย่อมเป็นผู้ที่มีอำนาจ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ และทางตรงก็เป็นโทษอย่างมหันต์ ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิด GIS เป็นระบบการทำงานที่เกี่ยวกับทางด้านพื้นที่รูปแบบหลากหลาย ข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นทีในด้านต่างๆ และการจำลองสนาการณ์ การหาความสัมพันธุ์ในเงื่อนไขต่างการตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลฯ และผลของการวิเคาระห์ สามารถพิม์ออกมาในรูปแบบต่างที่เข้าใจได้ง่าย ทั้งรูปของแผนที่รูปของรายงาน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูง จึงการทำงานได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น ข้อสำคัญคือข้อมูลต้องถูกต้องแม่นยำ คนมีประสิทธิภาพ การทำงานย่อมมีประสิทธิภาพ แต่ผู้มีอำนาจบริหารจัดการ จะตัดสินใจใช้อย่างไรนั้น สุดแท้แต่ภูมิปัญญา ของแต่ละคน

  • #12 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 ธันวาคม 2008 เวลา 23:05

    กราบขอบพระคุณพี่หลินครับ

    พี่คือผู้ที่ทำเรื่องนี้มาก่อนใครๆในระดับสากลด้วย

    ขอบพระคุณครับที่พี่ช่วยขยายเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนสมบูรณ์มาก ผมเองชอบที่จะใช้กระบวนการนี้มาประกอบการทำงาน แต่ก็เป็นเพียงระดับขั้นพื้นฐาน เพราะข้อมูลพื้นฐานอย่างที่พี่หลินกล่าวนั่นแหละครับ

    ผมตื่นเต้นที่เบอร์หนึ่งหน่วยงานนี้ให้ความสนใจ แต่เมื่อเข้ามาคลุกคลีก็พบว่า ทิศทางของท่านไม่ใช่เพื่อเป้าหมายที่แท้จริงซะแล้ว เหมือน “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็น…..”

    วันนี้เองผมคุณกับหัวหน้าสำนักงานระดับจังหวัดที่สังกัดเบอร์หนึ่งท่านนั้น หัวหน้าสำนักงานท่านนั้นบอกผมว่า อยากจะลาออกจากราชการซะแล้วเพราะนายท่านนี้แหละ….

    GIS เป็นเพียง Tools
    ฅนเป็นเป็นผู้ใช้ หากฅนใช้อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ Tools ชนิดนี้ก็จะก่อเกิดประโยชน์มหาศาล ในที่สุดก็มาตกอยู่ที่ ฅน อย่างที่พี่หลินกล่าวครับ

  • #13 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 22:24

    นัดเลย แนะนำความรู้กันเอง รับรองซวดๆแน่

  • #14 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 เวลา 23:09

    ผมนัดเบื้องต้นกับคอนแล้วครับครูบา เพียงแต่รอยืนยันจากผม เพราะ เบอร์หนึ่งท่านนั้นกำลัง…เป็นพายุบุแคม สั่งจังหวัดทำโน่นทำนี่ แบบไม่มีวันตั้งตัว หัวหน้าสำนักงานเป็นอันว่าไม่ต้องทำอะไร มัวแต่มานั่ง stand by รอฟังคำสั่ง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่….หากใกล้วันก็จะยืนยันครับว่าวันไหนเหมาะ

    ตอนนี้ คอน เปลี่ยนวันพบมาแถวๆ 5-6-7 มกรา.นี้ครับ

  • #15 ลานซักล้าง » เริ่มต้นกับ GIS (1) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 กุมภาพันธ 2009 เวลา 20:39

    [...] เริ่มที่ไอเดียบรรเจิดในบันทึก คนมีเบอร์ | ปักธงกันหน่อยดีไหม | ถามตรงๆ ^ ^ [...]

  • #16 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กุมภาพันธ 2009 เวลา 9:38

    -เพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาอ่านเลยพบข้อมูลที่น้องเบิร์ดเขียนเกี่ยวกับการเป็นนิ่วของ  “คนแถบอ.เวียงป่าเป้าว่ามีอุบัติการณ์ของโรคนิ่วสูงมากๆ ซึ่งแถบนั้นเป็นหินปูน น้ำใต้ดินน่าจะมีส่วน”  ป้าจุ๋มไม่แน่ใจว่าเป็นนิ่วที่ไหน?  เพราะตะกอนนิ่วนั้นความจริงเป็นตะกอนของเกลือพวก oxalate ไม่ใช่ HCO3(ไบคาร์บอเนต)ที่มีอยู่ในน้ำขุ่น อย่างที่หลายๆคนเข้าใจผิด
    -ดังนั้นการเกิดนิ่วไม่น่าจะใช่น้ำเป็นต้นเหตุ น่าจะเป็นผักพื้นบ้านหลายๆชนิดที่เขาชอบรับประทานมากกว่า  ป้าจุ๋มขอเสนอลองเอาใบเมี่ยงที่เขาทานเล่น อมเล่น หรือผักพื้นบ้านหลายๆชนิดมาวิเคราะห์ดูอาจจะมี oxalate สูงก็เป็นได้ ปริมาณoxalateนี้พบมากในยอดผักพื้นบ้านที่ดีๆหลายชนิดทีเดียว เช่นคนทางภาคอิสานก็เป็นนิ่วมาก ก็มาพบว่ายอดผักที่คนอิสานชอบรับประทานนั้นมีoxalate สูง ค่ะ หรือแม้แต่ใบชะพูที่ว่ามีประโยชน์มากมายนี้มี  oxalate สูงจ้าและป้าจุ๋มก็ชอบมากเสียด้วย แต่มีวิธีแก้ง่ายๆคือถ้าวันใดเรารับประทานผักเหล่านี้ไปก็ให้รับประทานน้ำเยอะๆก็จะช่วยได้มากค่ะ(ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ท่านแนะนำป้าจุ๋มมาเพราะไม่ต้องการให้เพื่อนเป็นนิ่วค่ะ)
    -สำหรับคนที่เป็นนิ่วแล้วโดยเฉพาะนิ่วในกระเพาะปัสสาวะของคุณผู้ชายทั้หลาย การดื่มน้ำสับปะรดคั้นบ่อยๆท่านว่าจะช่วยละลายนิ่วออกมาได้ค่ะ เป็นการบำบัดด้วยอาหารธรรมชาติ  มีข้อระวังอยู่นิดว่าอย่าดื่มน้ำสับปะรดตอนท้องว่างค่ะ

  • #17 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 กุมภาพันธ 2009 เวลา 21:55

    ขอบพระคุณครับป้าจุ๋ม เท่าที่ผมทราบมาก็เป็นเช่นที่ป้าจุ๋มกล่าว  ผักหลายชนิดของอีสานและที่อื่นๆเป็นต้นเหตุหนึ่งในการเป็นนิ่ว  นี่อาจเพราะผมเป็นมังสวิรัติชอบทานใบไม้ ไม่ระวัง เมื่อวันก่อนก็ทานผักกะโดนไป เผลอครับ เลยต้องรับทานน้ำมากๆ  น้ำสับปะรด โดนเฉพาะแกน ทราบมาว่าอย่างนั้นนะครับ

    ที่บ้านเลยพยายามซื้อแกนสับปะรดมาครับ แบ่งกันระหว่างน้อมหมากับคนครับ หมาที่บ้านก็ชอบแกนสับปะรดครับ

    ขอบพระคุณครับป้าจุ๋มเป็นวิทยาทานความรู้ที่มีประโยชน์มากหลายครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.57271790504456 sec
Sidebar: 0.19069719314575 sec