เรื่องของมัน.. พัฒนาการ

อ่าน: 2377

ประมาณปีพ.ศ. 2525 ผมทำงานที่สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น สมัยนั้นในโครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝน (NERAD=Northeastern Rainfed Agricultural Development) โดยมี USAID เป็นผู้ให้เงินทุน กับทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัย Kentucky ผมเพิ่งก้าวข้ามมาจาก NGO มาร่วมงานเป็นผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ ครั้งแรก ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำโครงการ ตื่นเต้นซะ..

ในที่ทำงานเดียวกันช่วงนั้นมีโครงการคู่ขนานกันและใช้สำนักงานเดียวกันคือโครงการของกลุ่มประชาคมยุโรปเรื่อง “การลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง”.. ลำดับเรื่องนี้คือ หลังจากที่มีการปฏิวัติเขียว Green Revolution ที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาเรื่องการปลูกปอกระเจา เพื่อทำกระสอบและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จึงมีการนำเข้าปอมาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2503 ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เพียงไม่กี่ปีวาทกรรมทางการเกษตรระเบิดเถิดเทิงก็เกิดขึ้นคือ “ปอมาป่าแตก” ชาวบ้านถากถางป่าเพื่อใช้ปลูกปอกันมากมาย พื้นที่ป่าลดลงมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเก็บเกี่ยวปอต้องมีขั้นตอนมาก โดยเฉพาะอาศัยน้ำแช่ ซึ่งเกิดการเน่าส่งกลิ่นเหม็น ต้องเอามือมาลอกปอกเอาเปลือกออก มือไม้พังหมด และเพียงไม่กี่ปีราคาก็ตกต่ำ เพราะปอที่ใช้ทำกระสอบนั้นถูกพลาสติกที่เป็นผลผลิตของปิโตรเคมีตีแตก

ก็มาถึงยุคมัน ชาวบ้านเลิกปลูกปอ เริ่มมาปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชปลูกง่ายให้เทวดาดูแลก็ได้ผลผลิต การหักล้างถางพงก็ระเบิดอีกครั้ง ป่าไม้ถูกทำลายอีกขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ่อค้าเปิดลานมันและส่งออกไปยุโรปเป็นอาหารสัตว์ ผลผลิตมากมายจากบ้านเราตีตลาดการเกษตรเพื่ออาหารสัตว์ของกลุ่มประเทศยุโรปกระเจิดกระเจิง จนในที่สุดกลุ่มประชาคมยุโรปเจรจากับประเทศไทยเพื่อขอให้ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเอาพืชอื่นมาทดแทน โดยใช้เงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศมาต่อรอง…

โครงการนี้เองที่ทำคู่ขนานกับช่วงที่ผมมาทำโครงการเกษตรอาศัยน้ำฝนที่ท่าพระ อยู่คนละตึก และเพียงสองปีที่ทำก็เกิด “โครงการอีสานเขียว” ตามมาอีก.. อย่างไรก็ตามโครงการลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทำอยู่ประมาณ 5 ปีก็สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถลดพื้นที่ลงได้จริง เอาพืชอื่นมาทดแทนเช่น หม่อนไหม ไม้ผล ก็โดนไหมเวียตนามตีแตก โครงการไม้ผลก็ไม่ประสบผลสำเร็จ มันสำปะหลังก็เป็นพืชควบคุมแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ชาวบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกอย่างไร้ขอบเขต

ก่อนหน้านี้ในวงการพัฒนาชนบทมีการส่งเสริมแนวคิด “การพัฒนาเพื่อยืนอยู่บนขาตัวเอง” แนวคิดนี้องค์การสหประชาชาติประมวลแนวทางการพัฒนามาจากทั่วโลก จากการเติบโตมหาศาลของระบบทุน ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างจากต่างประเทศมากมายที่เราเรียนรู้กัน ส่งข้าราชการไปดูงาน เช่น ซาโวดาย่าที่ประเทศศรีลังกา แซมาเอลอันดองที่เกาหลีใต้ คิบบุท และโมชาปที่อิสราเอล

ขณะที่ “ในหลวง” ของเราพัฒนา “โครงการหุบกระพง” มีนักวิชาการองค์การสหประชาชาติฝ่ายการพัฒนาเขียนหนังสือเล่มเล็กนิดเดียวชื่อ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” โดย อังเดร กุลเทอร์ แฟรงค์ โลกจึงแบ่งประเทศเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา อีเอฟ ชูเมกเกอร์เขียน “จิ๋วแต่แจ๋ว” ฟริจอบ คาปรา เขียนเต๋าออฟฟิสิกส์ เขียน “The Turning Point” หนังสือดีดีอีกมาก เช่น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ฯลฯ

เป็นช่วงที่ NGO เติบโตในเมืองไทยมากที่สุดเพราะสงครามลาว เขมร เวียตนาม มีค่ายอพยพรอบชายแดนไทย International NGO เข้ามาทำงานมากมายและขยายมาทำงานพัฒนาชนบทไทยด้วย  วิพากย์งานพัฒนาของรัฐและชี้แนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นไปที่สำคัญสุด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ท่านเอาแนวคิดของ ดร.เจมส์ ซี เยน จากประเทศฟิลิปปินส์มาใช้ในเมืองไทย ท่านไปตั้งโครงการบูรณชนบทขึ้นที่ชัยนาทที่ชื่อ Thailand Rural Reconstruction Movment โดยใช้หลัก Credo 10 ประการ แนวความคิดการการยืนอยู่บนขาตัวเองก็พัฒนามาเป็น “การพึ่งตัวเอง”เป็นครั้งแรกที่ใช้หลักการให้เคารพชาวบ้าน ไปหาชาวบ้าน ใกล้ชิดและเรียนรู้จากชาวบ้าน ร่วมคิดร่วมทำกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปสอนเขา ฯลฯ

ดร.ป๋วยอีกนั่นแหละที่จัดตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น ฝึกอบรมและส่งนักศึกษาลงชนบท กลับมาให้วุฒิบัตรติดตัวไป ส่งผลกระทบให้หลายมหาวิทยาลัยมีโครงการบัณฑิตอาสาสมัครมากมาย จนถึงทุกวันนี้ เกิดภาควิชาพัฒนาชุมชนขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน…

แต่ละประเทศก็ทบทวนการพัฒนา และมองหาทางออก ขณะที่ทุนนิยมก็ฟุ้งกระจายสุดจะยับยั้งในวงการจึงเรียกว่า “การพัฒนากระแสหลัก”ชักจูงประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกสนับสนุนแนวคิดนี้ว่าอุตสาหกรรมจะโอมอุ้มคนยากจนได้ในที่สุดตลอดช่วงการพัฒนากระแสหลักนี้ก็คู่ขนานไปกับการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมไปทั่วโลก เกิดสงครามไปทุกภาคของโลก

ในวงการพัฒนาก็โจมตีมันสำปะหลังว่าเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาตลาดที่มีนักธุรกิจเกษตรกุมอำนาจราคาอยู่ ทางราชการที่เน้นงานพัฒนาเพื่อการพึ่งตัวเองก็ต่อต้านไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง โดยชี้จุดอ่อนของมันสำปะหลังที่กินดิน กินปุ๋ยทำให้ดินหมดความอุดมสมบูรณ์…ราคาต่ำ..

(ต่อตอนสอง…ให้การเท็จ)


เวลาของการพัฒนา..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 16, 2010 เวลา 8:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1889

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราก็เชิญเกษตรกรที่เข้าร่วมการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังมาสรุปบทเรียนกัน ห้องประชุมของ อบต.ติดงานประชาสังคมแผนงานประจำปี เราก็ใช้ข้างบ้านผู้นำนั่นแหละเป็นสถานที่คุยกัน


แต่น้องๆเอาป้ายชื่อเกษตรกรมาติดหน้าอก เหมือนประชุมกันในโรงแรมใหญ่ในเมือง ขัดตาอย่างไรไม่รู้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไร สถานที่ตรงนี้คือเกษตรกรชาวนาชาวสวนที่ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย ถึงสองคน ต้องปั่นเงินค่าเทอมให้ลูกจนจบจนได้ แต่ก็เห็นความยากลำบากของเขา เห็นการดิ้นรนของพ่อบ้านที่เอาทุกอย่างเพื่อลูก สภาพบ้านพักปกติชาวบ้านก็เดาได้ว่า ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่สะอาด กรณีครอบครัวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พ่อบ้านวิ่งวุ่นไปกับการหาเงินให้ลูกใช้ทุกเดือน แม่บ้านก็มีลูกน้อย ใครมีครอบครัวเดาสภาพออกนะครับว่ามันวุ่นแค่ไหน หากประคับประคองใจไม่ได้ดีละก็ ทะเลาะกันบ้านแตก


เจ้าหน้าที่โครงการออกไปนำการพูดคุย เอากระบวนการทำการเกษตร เทคนิค รายจ่ายที่เกิดขึ้น ผลที่ได้มา ฯลฯ แลกเปลี่ยนผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ เกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนี้พึงพอใจและเห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังคราวต่อต่อไปนั้นจะเพิ่มผลผลิตทำได้อย่างไร

เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างมองเห็นจุดบกพร่องของการทดลองครั้งแรก และเห็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่แสดงความมั่นใจ ว่าหากใส่ใจและเอาวิชาการเข้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มผลผลิตได้

ถามว่าอนาคตเป็นเช่นไรต่อมันสำปะหลัง และทำไมเราจึงเลือกมันสำปะหลังทั้งที่เรารู้ดีว่าพืชตัวนี้ครั้งหนึ่งในอดีตรัฐบาลทำแผนระดับชาติเพื่อลดพื้นที่การปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เราเองรังเกียจมาในระยะเวลาหนึ่ง

เรามีเหตุผลสองสามข้อที่สนับสนุนการทดลองครั้งนี้คือ

หนึ่ง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว มีความคุ้นชิน ง่ายและปลูกได้ในพื้นที่ที่พืชอื่นๆปลูกไม่ได้

สอง จากการศึกษาเราพบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรกรปลูกคู่ไปกับข้าว เพราะเป็นหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะหากปีใดข้าวไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ เขาสามารถขุดมันขายแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกิน เป็นการดิ้นรนสร้างหลักประกันการมีข้าวกินของเขาเอง


สาม มันสำปะหลังกลายเป็นพืชพลังงานไปแล้ว ในอนาคตอาจจะพัฒนามันสำปะหลังในพื้นที่แปลงเป็นพลังงานได้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่า เอามันสำปะหลังไปหมักเมื่อได้แก๊ส ก็เอาแก๊สไปผ่านกระบวนการเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าได้และการทดลองของมหาวิทยาลัยประสพผลสำเร็จกำลังขยายจากห้องทดลองไปสู่ระดับชุมชน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อาจจะมีส่วนที่ดีในอนาคตต่อเรื่องนี้ด้วย


เราพบว่าส่วนบุคคลนั้นประสพผลสำเร็จ แต่เมื่อเราถามเกษตรกรว่าความรู้ หรือประสบการณ์ครั้งนี้เอาไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้ไหม..? ต่างร้องโอย..กล่าวว่า

อาจารย์ เขาไม่ฟังผมหรอก… ต่างก็บอกว่า ต้องจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทุกช่วงการผลิตจริง ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลานี้การปลูกมันสำปะหลังก็ทำไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าไม่มีเกษตรกรคนไหนทำตามเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทดลองเลย ยังใช้วิธีการเดิมๆ ใช้ต้นพันธุ์ตัดสั้น ปลูกถี่เกินไป ไม่ปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ล้วนมีเหตุผลอธิบายเมื่อเราสอบถาม… การขยายผลนั้นไม่ง่ายเลยนะ

ผมนึกย้อนไปที่ “พิลา” พนักงานขับรถของเราที่เขาแอบเอาความรู้ที่เราแนะนำชาวบ้านในโครงการเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้วิธีอินทรีย์ไปทดลองทำเองโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉี่วัว และอื่นๆ และพบว่าประสพผลสำเร็จ ก็ไม่มีเพื่อนบ้านเอาอย่าง แม้พี่ชายของเขาเองที่ใกล้ชิดสนิทสนม แม้จะบอกว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์นั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจริง และประหยัดมากกว่าแบบใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม

แต่…แต่ มาปีที่สาม พี่ชายหันมาทำตามแล้ว…

เรานึกย้อนเข้าไปในพื้นที่..คิดไปว่า เออ อีกปี สองปี เกษตรกรในพื้นที่อาจจะหันมาทำตามเกษตรกรที่เข้าร่วมทดลองการเพิ่มผลผลิตของเรานะ

อือ.. การเปลี่ยนแปลงนั้นใช้เวลา ไม่ใช่ข้ามคืนนะ


ภาพเหลืองแดงสมานฉันท์กัน..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 25, 2010 เวลา 20:59 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3078

แม้ว่าจะแดงทั้งดงหลวง แต่ผมก็จับเอาแดงมานั่งคู่กับเหลืองอย่างสันติได้ รักกันจะตายไป ใครก็รู้ว่าแดงดงหลวงนั้นไม่ใช่แดงปกติเพราะที่นี่คือเขตปลดปล่อยแห่งแรก และออกจากป่าเป็นกลุ่มสุดท้าย ดูที่หมวกวิทยากรหนุ่มคนกลางนั่นซิ ดาวแดงชัดๆไปเลย นี่หากเป็นสมัยก่อนก็เรียบร้อยไปแล้ว..


ผมก็ฝอยไป ภาพนี้คืองานวันนี้ที่เพิ่งสิ้นสุดลง มีน้องออตมานั่งชม ฟังสัมมนาแบบบ้านนอกด้วยทั้งสองวันครับ

การสัมมนาแบบบ้านนอกของวันไทบรูดงหลวงครั้งนี้ เราเล่นเรื่องการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ คือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เน้นการปรับปรุงดินและใช้ปุ๋ยน้ำหมักสูตรต่างๆ เราใช้เยาวชนที่ร่วมการทำการทดลองมา เป็นวิทยากร เพื่อต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ต้องการฝึกการเป็นวิทยากร ต้องการเอาผู้ทำจริงมาเล่าให้เพื่อนชาวดงหลวงได้ยินได้ฟังเอง


เยาวชนหนุ่มคนนี้ชื่อจริงก็ต๊อก ชื่อเล่นก็ต๊อก ใส่เสื้อแดงแจ๋ แถมหมวกดาวแดงชัดๆไปเลย เขาเข้าร่วมงานทดลองการเพิ่มผลผลิตเรามาและติดอกติดใจที่ประสบผลสำเร็จสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่เป็น 9 ตันต่อไร่โดยการใช้วิธีอินทรีย์ของเรา แต่นายต๊อกเป็นคนขี้อายสุดๆกว่าจะลากขึ้นเวทีได้ต้องโอ้โลมกันมากมาย แต่เขาก็ขึ้นเวทีจนได้


ชาวเสื้อเหลืองที่นั่งคู่นายต๊อกนั้นชื่อนายหล่อง นี่คือพระเอกของเราเพราะเขาได้ผลผลิตถึง 10 ตันต่อไร่ แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่สูง แต่จาก 2-3 ตันต่อไร่เป็น 10 ตันนั้นมันเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติ ทุบความรู้สึกของชาวบ้านแถบนั้นให้ทึ่ง แอบไปดูในแปลงมันกันจริงๆ นายหล่องยิ้มทั้งวัน จนเขาทำการลดพื้นที่ปลูกมันลงมาเพราะมั่นใจว่าแม้พื้นที่ลดลงแต่จะเพิ่มผลผลิตมากขึ้นได้ พื้นที่ที่เหลือก็ไปทำเกษตรผสมผสานซะดีกว่า


เด็กหนุ่มอีกคนที่ใส่เสื้อสีตองอ่อนนั้น ชื่อสยาม เพราะพ่อเคยเป็นคนป่า เขาเกิดในป่าจึงตั้งชื่อสยามซะเลย เขาร่วมทำการทดลองและสามารถทำสถิติเพิ่มขึ้นได้ 6 ตันต่อไร่ เด็กหนุ่มเหล่านี้ยังใหม่กับกระบวนการทอลอง หลายอย่างเขาก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำเมื่อลับหลังเรา แต่ผลงานก็ยังออกมาดีกว่าเดิมๆ แต่เมื่อเอาผลงานทั้งหมดมาคุยกัน เปรียบเทียบกัน เขาก็เกิดสำนึกว่า โอ….นี่ถ้าทำตามคำแนะนำทั้งหมด ผมจะได้ดีกว่านี้…


จริงๆแล้วสองคนนี้ไม่ใช่ชาวเหลือง หรือแดงอย่างที่เดินอยู่ในกรุงเทพฯนี้หรอกครับ ทั้งคู่คือเพื่อนรักกัน อยู่หมู่บ้านเดียวกันและร่วมมือกันทำการทดลองการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังครั้งนี้ด้วยแต่แตกต่าง Treatment กัน และเป็นเยาวชนแม้จะมีครอบครัวแล้วทั้งคู่แต่วุฒิภาวะก็ยังออกวัยรุ่นมากอยู่


การที่นายต๊อกใส่หมวกดาวแดงนั้นก็เป็นเรื่องปกติ ยิ่งกว่านี้ก็เคยแต่งชุดทหารป่าก็มีให้เห็นครับ

ผมเชื่อว่าเราอยากเห็นแดงกับเหลืองจริงๆในขบวนการสังคมรักใคร่กันแบบนี้

และผมเชื่อว่าทุกท่านก็อยากเห็นเช่นเดียวกับผม…ใช่ใหมครับ..

(อิิอิ ไม่เกี่ยวกันเลยนะ จะเหลืองจะแดง กับการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพียงแต่มั่วเอามางั้นๆแหละ ห้า ห้า)



Main: 0.029644012451172 sec
Sidebar: 0.026638984680176 sec