คิดถึง
อ่าน: 3665คิดถึงลานดงหลวง
ชาผักหวานป่าอีกที
ผมเขียนเรื่องผักหวานป่ามาพอสมควร ในเรื่องเล่าจากดงหลวงก็มีหลายตอน การแปรรูปผักหวานป่ามาเป็นชานั้น ต้องให้อ่าวเปลี่ยนบรรยาย เพราะเป็นผู้ริเริ่มในดงหลวง แล้วก็พัฒนามาจนปัจจุบัน
เมื่อชาวดงหลวงที่ชื่อกลุ่มเกษตรกรทายาทสืบต่อการทำชาผักหวานป่ามาจากกลุ่มแม่บ้านเครือข่ายไทร และเอามาให้ผมชิมหลายครั้ง ผมก็ติชมไป แต่ไม่ง่ายนักที่จะพัฒนาฝีมือการคั่วชา และการทำ Packaging รวมไปถึงการตลาด ทั้งนี้เพราะ
ใบผักหวานป่ามีกลิ่นหอม ชาวบ้านบอกว่าจากประสบการณ์เขานั้น เด็ดใบชามาจากต้นหากจะเอาไปทำอาหาร โดยทั่วไปเราก็จะเอาใบผักหวานที่เด็ดมาแล้วนั้นล้างน้ำเสียก่อนเพื่อขจัดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกอื่นๆออกจากใบ แต่ชาวบ้านบอกว่าหากทำเช่นนั้น จะไม่กรอบ มัน หรือความกรอบ ความมัน หวาน หอมจะลดลงไปมาก ..?….
ผมรับปากกับชาวบ้านว่าจะไปติดต่อสถาบันการศึกษาเพื่อขอคำแนะนำการศึกษาวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของใบผักหวานป่า และชาผักหวานป่า ผมไปพบสองแห่งคือคณะเภสัช ม้า ท่านแนะนำว่าน่าจะไปคณะเทคโนโลยีเพราะที่นั่นมีภาควิชา Food Science เมื่อผมไป ก็พบว่าท่านอาจารย์หัวหน้าภาควิชาติดงานกับนักศึกษาปริญญาโท ต้องคอยเกือบชั่วโมง
ท่านพูดเก่งมาก เหมือนนักวิชาการที่ Active มากๆ เบรกแทบไม่อยู่ ท่านแนะนำว่าในอินเตอร์เน้อมีความรู้มากสมควร ลองไป search หาดู ท่านมีความรู้แต่เป็นผักหวานบ้าน จึงแนะนำให้ไปพบท่านอาจารย์อีกท่านหนึ่งภาควิชาเคมีที่คณะวิทยาศาสตร์ ม้า ท่านทำเรื่องนี้โดยตรง แต่ติดเสาร์ อาทิตย์ก่อน
ไปค้น อินเตอร์เน้อได้ความรู้มากพอสมควร ที่อ้างอิงได้จึงขอนำมาเผยแพร่อีกทางหนึ่ง
ในทัศนะของผมคิดว่า การแปรรูปผักหวานป่านั้นทำได้มากกว่าการทำชา เนื่องจากใบผักหวานป่านั้นใครๆที่รับประทานแล้วก็ติดใจ และเขามีช่วงเวลาออกมาคือ ประมาณ ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ เท่านั้นไม่มีทั้งปี ยกเว้นผักหวานบ้านที่มีการทำสวนบังคับให้ออกใบอ่อนทั้งปีได้ ความนิยมนี้เป็นโอกาสในการทำตลาด การแปรรูปนั้นผมนึกถึงหารทำใบสดให้แห้งลงในระดับหนึ่ง ที่เรียก Dehydration หรือกระบวนการที่เอาน้ำออกมาจากใบ เพื่อให้แห้ง เป็นการทำ Preservation แบบหนึ่ง และเมื่อหมดฤดูกาลผักหวานสด หากอยากรับประทานใบผักหวานป่าก็เอามาแช่น้ำร้อน ก็จะได้ใบผักหวานสีเขียวกลับคืนมา แม้ว่าคุณค่าอาหารจะลดลงไปบ้างก็ตาม แต่ก็สนองความต้องการผักหวานป่าได้ระดับหนึ่ง
ชาวบ้านดงหลวงยังฝากผมมาอีกว่า สนใจเรื่องการจดลิขสิทธิ์ การขอ อ้อ ผมก็รับปากว่าจะหาข้อมูลให้ มากกว่านั้นผมคิดถึง การจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Ggeographical Indication หรือ GI และ การทำ Packaging ดีดี การหาตลาด และกระบวนการต่างๆ เช่น วัตถุดิบ การบริหารจัดการ ฯลฯ ยังมีเรื่องราวอีกหลายอย่างหากจะพัฒนาผักหวานป่าให้ขึ้นมาเป็นธุรกิจ
แม้ว่าจะมีหน่วยงานราชการท้องถิ่นเริ่มเข้ามา แต่ผมก็ยังมองไม่ออกว่าท่านเหล่านั้นจะผลักดันไปสักแค่ไหน หรือเพียงมาเด็ดยอดไปเท่านั้น ยิ่งสมัยนี้ในวงราชการใครๆก็วิ่งหาตัวสนับสนุน KPI
กันทั้งนั้น ส่วนจะสนับสนุนอย่างจริงใจนั้น ตั้งคำถามไว้อยู่
แต่ก็ดีกว่าทิ้งให้ชาวบ้านค้างเติ่งอยู่ลอยๆเท่านั้น ทั้งๆที่เขาพร้อมจะก้าวเดินต่อไป แต่ผู้สนับสนุนกลับมีเงื่อนไขมากมายภายใต้ระเบียบต่างๆ แบบนี้แหละท่านพัฒนาโดยระบบจึงมีอุปสรรคมากมายนัก ไม่เชื่อถามพ่อครูบา ดิ….
สมัยอยู่ดงหลวง อาว์เปลี่ยนทุ่มเทกับโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายเต็มที่ เรียกว่าทุ่มสุดตัว
ผมเองมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานมาแล้วที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ และหลายเขื่อนในอีสาน ก็เข้าใจระบบการปลูกพืชในพื้นที่แบบนี้ดีพอสมควร เราส่งเสริมน้ำเพื่อพืชเศรษฐกิจหลังนา ซึ่งพืชเหล่านี้ได้แก่ มะเขือเทศส่งโรงงาน ยาสูบเตอร์กิส ข้าวโพด
อาว์เปลี่ยนลงมือทำพร้อมๆกับเกษตรกรที่เป็นชนเผ่าไทโซ่
เราตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ จัดระบบ ระเบียบกลุ่ม มีกองทุน ก่อนการเพาะปลูกมีการประชุม ให้ข้อมูลเกษตรกรในเรื่องพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเกษตรกรจะเป็นคนเลือกชนิดพืชเอง แล้วก็ปฏิบัติตามขั้นตอนที่นักวิชาการแนะนำ พี่เลี้ยงกำกับ เยี่ยมเยือน ดูแล ปรึกษาหารือ กันตลอดทุกวัน
สามปีผ่านไป ซึ่งเป็นช่วงปลายโครงการ เริ่มมีเกษตรกรตัดสินใจเอายางพารามาปลูก จากการแนะนำของทางจังหวัด และช่วงนั้นราคายางเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันไปสนใจยางพารา แต่ก็มีเกษ๖รกรกลุ่มหนึ่งยังร่วมมือกับเราทำการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะมะเขือเทศส่งโรงงานหลวงเต่างอย เพราะพื้นที่ดงหลวงไม่ไกลจากที่ตั้งโรงงาน และผู้บริหารโครงการหลวงกับเราก็คุยกันอยู่
แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อกล้ามะเขือเทศที่เราไม่ทราบเลยว่าเป็นพันธุ์อะไร รู้จักแต่เบอร์ ประสบการเป็นโรคทำให้ผลผลิตตกต่ำ จนถึงล้มเหลว แม้เราจะวิ่งเอาตัวอย่างต้นที่เป็นโรคเข้าห้องแลปที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ก็สายเกินไปแล้ว
และปัญหาเช่นเดียวกันก็เกิดซ้ำขึ้นอีกในปีต่อมา…เหลือแต่เกษตรกรที่ปลูกยาสูบได้ผลผลิตที่เข้าเป้า แต่พบว่า เกษตรกรไทโซ่ ไม่เคยคุ้นเคยกับการทำการเกษตรแบบ Intensive crop ที่ต้องเฝ้าดูแลใกล้ชิด แบบไม่ให้คลาดสายตา
เมื่อสิ้นสุดโครงการ เราถ่ายโอนกิจการนี้ให้แก่ อบต.
เมื่อวันที่ 27 ผมไปเยี่ยมมาพบว่า
การไปเยี่ยมเยือนครั้งนี้ยังไม่มีเวลามากนักในการพูดคุยกับทุกคน นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
มีประเด็นมากมายที่ค้างคาใจที่ต้องมีเวลาเข้าไปสะสาง
สัปดาห์นี้ร้อนปานหยัง… เทอร์โมมิเตอร์บอกเราว่าวันนี้ที่ขอนแก่น 41 C ครับ นกสามชนิดบินมาเล่นน้ำที่ผมใส่ในจ่นวางบนหาเสา วันนี้มีตัว “ต่อ” บินมาทุก 15 `วินาที น่าจะเอาน้ำไปทำรังด้วย
อากาศร้อนแบบนี้ผมนึกถึงความรู้ที่นักป่าไม้เคยเล่าให้ผมฟังว่า หากเราบินสูงขึ้นไปเบื้องบนมองลงมา ในกรณีพื้นที่ดงหลวงจะเห็นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลนั่นคือพื้นที่ราบ หรือค่อนข้างราบ หรือพูดอีกทีคือไม่ใช่พื้นที่ภูเขา ส่วนตรงกลางรูปนี้คือพื้นที่บริเวณที่เป็นภูเขาคือเทือกเขาภูพาน ซึ่งดงหลวงจะอยู่ซีกตะวันออกของ
พื้นที่เช่นนี้นักป่าไม้เล่าให้ฟังว่า หากอากาศร้อนมากและเป็นเวลายาวนาน เช่นเป็นเวลาสองสามเดือนขึ้นไป จะก่อให้เกิดผลกระทบทางระบบนิเวศวิทยามาก คือไอร้อนจากรอบๆพื้นที่ที่กว้างขวางนั้นจะลอยเข้าไปเผาผลาญพื้นที่ป่า ภูเขา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ในป่า โดยเฉพาะต้นไม้ตามชายขอบป่า
เป็นความเข้าใจพื้นฐานทั่วไป ว่าหากความร้อยเผาพลาญสิ่งใดก็จะทำให้ความชื้นในสิ่งนั้นๆระเหิดระเหยออกไปมากกว่าปกติ ซึ่งนักป่าไม้พูดเสมอว่า ไม้ต้นใดที่ถูกไฟป่าเผาผลาญ มั้ต้นนั้น เหล่านั้น พื้นที่นั้นๆก็จะชะงักการเจริญเติบโต มีการศึกษาเรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ความรู้เรื่องนี้ทำให้นักธรณีวิทยาศึกษาวงปีของไม้ที่กลายเป็นหินและทำนายถึงไฟป่าในอดีตที่เคยเผาผลาญป่าไม้มามากต่อมากแล้ว…
ยิ่งป่าไม้ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ หรือความชื้นมีน้อย ไอร้อนที่เกิดจากพื้นที่รอบๆป่าที่เป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้นจะพัดเข้าไปเผาผลาญต้นไม้ในป่า ยิ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของป่ามากขึ้นไปอีก
ส่งผลกระทบมากมายครับ ความร้อนนี่นะ นอกจากทางกายภาพแล้ว การเจริญเติบโตของพืชต่างๆมีมากมาย รวมทั้งพืชเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการแปรปรวนขึ้นในวงจรปกติ เช่น ในออสเตรเลียพบว่า องุ่นสุกเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อแผนงานทั้งหมด
และแน่นอนมักเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งสิ้น
ผมยังจำติดตาที่อาว์เปลี่ยนไปสอนกลุ่มแม่บ้านเครือข่ายไทบรู ดงหลวงทดลองคั่วใบผักหวานให้เป็นชา ด้วยเตาฟืนและหม้อดิน
ดงหลวงนั้นถือถิ่นผักหวานป่าที่มีชื่อเสียงมานาน และเป็นพืชป่าเศรษฐกิจที่มีราคาสูงขึ้นทุกปี แต่ทั้งหมดเป็นพืชป่า ที่ชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บผักหวานป่ามาบริโภค และที่กลายเป็นพืชป่าเศรษฐกิจเพราะเอามาขาย และเป็นที่นิยมมาก เพราะเอามาผัดก็อร่อย เอามาแกงกับไข่มดแดงก็ยิ่งอร่อย
เมื่อผักหวานป่าเป็นเงินเป็นทางการทำลายต้นผักหวานป่าก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพราะทุกคนก็จะขึ้นป่าไปเอาผักหวานมาขายเพราะเมื่อเป็นที่นิยมราคาก็แพงขึ้น นอกจากจะเอาใบอ่อนแล้ว ดอกก็เก็บมาหมดยิ่งราคาแพง ยิ่งทำลายการขยายพันธุ์
ชาวบ้านรู้ว่าผักหวานเป็นพืชซาดิสซ์ การเก็บใบก็ไม่ต้องไปทนุถนอมหักกิ่งเอามาเลย มันยิ่งแตก ถึงขนาดเผาป่าให้ไฟลวกต้นผักหวาน แล้วเขาจะรีบแตกใบอ่อน…
เมื่อมีโครงการ คฟป.เราก็ส่งเสริมชาวบ้านเพาะผักหวานป่า แล้วเอาไปปลูกในสวน ลดการเข้าป่า ลดการทำร้ายป่า
อาว์เปลี่ยนทราบว่าทางเชียงใหม่เอาผักหวานป่ามาทำชา และมีราคาแพงมาก จึงเอาความรู้นี้เผยแพร่ในดงหลวง เพื่อแปรรูปผักหวานป่าให้เป็นชาผักหวานป่า โดยเริ่มจากกลุ่มแม่บ้านเครือข่ายไทบรู
ครั้งนั้นก็หลายปีมาแล้ว ทำให้กลุ่มแม่บ้านมีความรู้เรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำกันอย่างจริงจังเท่าไหร่นัก เพราะยังเป็นเพียงระยะเริ่มต้น เมื่อโครงการมีกิจกรรมส่งเสริมให้มีเกษตรกรทายาท หรือพยายามสนับสนุนเยาวชนหันมาทำการเกษตรต่อจากพ่อแม่ ก็มีการอบรม ในเรื่องต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นคือการทดลองทำชาผักหวานป่า
กลุ่มเกษตรกรทายาทสืบเทคนิควิธีการทำชาผักหวานป่ามาจากกลุ่มแม่บ้าน แล้วก็ทดลองทำและแจกบ้าง ขายบ้าง จน กรมการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน.มาเห็นจึงเข้ามาต่อยอดสนับสนุน โดยทำสติกเกอร์ และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมเอาไปออกงานต่างๆที่จังหวัดจัด หรือหน่วยงานอื่นๆจัด
เท่าที่สอบถามผู้นำเกษตรทายาท บอกว่าได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร แต่ยังไม่ถึงกับการสั่งซื้อไปจำหน่ายเป็นจำนวนมากๆ จุดเด่นของชาผักหวานป่าคือ หอม รสชาติดี ส่วนคุณสมบัติ หรือคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณนั้นยังไม่ทราบอย่างเป็นทางการ
ผู้นำเกษตรทายาทกล่าวว่า กศน.กำลังเอาไปส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบวิจัยดูว่ามีคุณค่าทางอาหารอย่างไรบ้าง มีสรรพคุณทางยาอย่างไรบ้าง..
ผมเองก็รับปากกับกลุ่มนี้ว่าจะพยายามจะช่วยเหลือเรื่องการยกระดับให้ได้ อย. และการประสานงานให้หน่วยงานที่ทำวิจัยคุณค่าและสรรพคุณชาผักหวานป่า
ตอนนี้สมาชิกเครือข่ายไทบรู และสมาชิกกลุ่มเกษตรทายาทเร่งเพาะกล้าผักหวานป่ามากมายทีเดียว เพื่อขยายจำนวนต้นผักหวานป่าในสวน และขายให้แก่ผู้สนใจทั่วไปด้วย
สมาชิกเกษตรทายาทหนุ่มคนหนึ่งกล่าวกับผมว่า
ผมอยากจดลิขสิทธิ์ และจดทะเบียนแหล่งกำเนิดภูมิศาสตร์ด้วย….
เอาแล้วซิ..งานที่อาว์เปลี่ยนสร้างไว้นั้น กำลังเติบโตและมีอนาคตมากทีเดียวครับ
ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ท่านที่คลุกคลีกับการส่งเสริมการเกษตร จะได้ยินคำว่า T&V system คำนี้มาจาก Training and Visiting System เป็นหลักการของนักส่งเสริมการเกษตร ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดให้เกษตรตำบลทั่วประเทศใช้หลักการนี้ กล่าวคือ เมื่อจัดฝึกอบรมเกษตรกรในหลักสูตรใดๆไปแล้ว ก็จะต้องมีแผนงานออกไปเยี่ยมเยือนในชุมชนต่อเนื่องต่อไปอีก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง และเติมเต็มต่างๆทางหลักการ วิชาการกัน
ดูเหมือนจะมีแผนงานนัดพบเกษตรกรตามจุดต่างๆ เช่นทุกวันพุธ ไปพบเกษตรกรหมู่ที่ 5 ที่ศาลากลางบ้าน เพื่อพูดคุยกันในเรื่องที่อบรมมาแล้ว ปัญหาอุปสรรค และอื่นๆ ทราบมาว่าแผนงานนี้ล้มเหลวในที่สุด
เท่าที่ผมทราบ T&V system มาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของชาวอิสราเอล ที่รัฐบาลไทยโดยกรมทส่งเสริมการเกษตรนำมาใช้ ผมว่าหลักการดี แต่แนวทางปฏิบัติไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชุมชนแบบไทยๆ
เมื่อปี 2551 โดยประมาณ ผมรับผิดชอบงานที่มุกดาหาร แล้วมีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เราส่งเสริมชาวบ้านปลูกพืชในระบบ Contract farming ที่หลายๆคนรังเกียจนัก แต่กลุ่มธุรกิจที่เราทำสัญญากันนั้นคือ โครงการหลวงเต่างอย มาส่งเสริมชาวบ้านผลิตมะเขือเทศส่งโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นส่งออกนอก
อาว์เปลี่ยนเอาตัวทุ่มเทลงงานนี้เต็มที่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ส่วนหนึ่งเราใช้ระบบที่พัฒนามาจาก T&V system คือ V&C system หรือ Visiting and Coaching system ผมเองคลุกคลีกับแนวทาง T&V มาก่อน เห็นจุดอ่อน จึงพัฒนามาเป็น V&C system
แนวทางคือ เมื่อ อบรมเกษตรกรเรื่องการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจแล้ว ก็ให้เขาเริ่มกระบวนการเพาะปลูกตามขั้นตอนต่างๆ ภายใต้การกำกับ ของเจ้าหน้าที่วิชาการของโรงงานและของโครงการ แต่ส่วนใหญ่นักวิชาการโครงการเป็นผู้ทำหน้าที่นี้
ไปเยี่ยมเยือนแปลงเกษตรกร คุยกัน แนะนำในสิ่งที่เกษตรกรควรทำ เพิ่มเติมในสิ่งที่นักวิชาการเห็นว่าควรแนะนำ คือการทำหน้าที่ Coaching แก่เกษตรกรนั่นเอง หากทำอย่างเข้มข้น เกษตรกรก็จะจัดเจนในกระบวนการผลิตตามหลักการที่ควรทำ ก็เป็นหลักประกันผลผลิตที่จะเกิดขึ้น เพราะเราทราบดีว่า ระบบ Contract farming นั้น ก็คือ ระบบ Intensive crop นั้นเอง เกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยก็จะบกพร่องต่อสิ่วที่ควรทำตามกำหนดทางหลักการวิชาการ…..
แม่พิมพ์ โถตันคำ เป็นเกษตรกรตัวเล็กๆ เป็นสตรี เป็นปราชญ์ชาวบ้านในด้านเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในรูปแบบไร่นาสวนผสม แม่พิมพ์จบแค่ ป 4 แต่คลุกคลีกับเครือข่ายอินแปงมานาน ผ่านการฝึกอบรม ศึกษาดูงานภายใต้ ส.ป.ก. มานาน
วันนี้ผมมาเยี่ยมแม่พิมพ์ คุยกัน ตอนหนึ่งแม่พิมพ์บอกว่า ส.ป.ก. เรามีโครงการเกษตรกรทายาท เอาเยาวชนมาอบรมแบบเข้มข้นแล้วก็ปล่อยกลับบ้านใครบ้านมันไป แล้วแม่พิมพ์ก็ชวนเพื่อนเกษตรกรวิทยากรในเครือข่าย ไปเยี่ยม ลูกศิษย์ที่เป็นลูกหลานเหล่านั้น สองเดือนครั้งโดยประมาณ วนเวียนไปหาคนนั้นคนนี้ เอาข้าวไปกินกัน แล้วไปดูว่าเกษตรกรทายาทเหล่านั้นทำอะไรไปแล้วบ้าง ไปพูดคุยกัน ไปช่วยให้กำลังใจ ให้แนวคิด ให้ความรู้เพิ่มเติม จนถึงไปช่วยกันลงมือปลูกพืชให้เป็นที่ระลึก
ผมถามแม่พิมพ์ว่า ใครให้แม่พิมพ์ทำเช่นนั้น แม่พิมพ์บอกว่า ทำเอง ก็เอ็นดูลูกหลาน มาอบรมแล้วมันจะไปทำต่ออย่างไรก็ไปเยี่ยมกัน ……
ให้ตายซิ….ผมนึก นี่แม่พิมพ์ไม่ได้เรียนการส่งเสริมการเกษตร ไม่เคยฝึกอบรมเรื่อง T&V system แต่แม่พิมพ์เอาความคิดเรื่องนี้มาอย่างไร นี่มันหลักการ V&C system
จริงๆ มันเป็นสำนึกพื้นฐานของ “ครูคน”
มีน้องนิสิตคนหนึ่ง ผู้ชาย มาแลกเปลี่ยนเรื่องการปลูกป่า ผมสอบถามเขาว่า มาจากจังหวัดไหน ที่บ้านทำอะไร ฯ เธอตอบว่า อยู่ชัยนาท หันคา ที่บ้านทำลานมัน เตี่ยก็อยากให้กลับไปรับมือต่อ แต่น้องคนนี้มาเรียนที่สถาบันนี้แล้วเกิดแนวคิดใหม่ว่า อยากเลิกลานมัน และอยากปลูกป่าเพราะมีที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรมอยู่มากประมาณ 300 ไร่ (หากจำไม่ผิดนะครับ)
เรื่องราวหลายเรื่องหลุดมาจากปากน้องนิสิตคนนี้ ซึ่งสะท้อนว่า แนวคิดเขาเปลี่ยนไปจากเดิมที่อยากทำธุรกิจต่อจากเตี่ย แต่เมื่อมาศึกษาที่สถาบัน เรียนรู้มากมาย เดินทางไปดูงานที่นั่นที่นี่ แล้วเกิดความคิดใหม่ อยากฟื้นฟู ป่าเสื่อมโทรม ทำป่าที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกว่าที่จะปล่อยทิ้งเฉยๆ หรือ เตี่ย ปล่อยให้ชาวบ้านมาเช่าที่ปลูกมันสำปะหลัง
เมื่อผมถามว่าทำไมถึงคิดจะทำสิ่งเหล่านี้….เธอตอบว่า ก็ผมมาเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยคิดมาก่อน มาได้ยิน มาสัมผัสอีกมุมหนึ่งของความจริงในสังคมนี้…ฯลฯ…..
ผมถามต่อว่า หากไม่รับไม้ต่อจากเตี่ย…ก็จะต้องทำให้เตี่ย ผิดหวังน่ะซี… เขาพยักหน้า และบ่งบอกว่านั่นคือสิ่งที่เขาจะต้องหาทางทำความเข้าใจกัน
ชื่นชมน้องนิสิตคนนี้ที่กล้าหาญ และชื่นชมหลักสูตรนี้ที่ส่งผลแห่งความสำเร็จในหลักการ Smart farmer ออกมาแล้ว แตกหน่ออ่อนออกมาแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ใช่ที่สุด แต่เป็นเครื่องบ่งบอกว่า เกิดสำนึกทางสังคมที่เขารู้สึกจากด้านลึกข้างในออกมาแล้ว
เหลือแต่ว่าหลักสูตรนี้จะต้อง เข้ามาสัมผัสปรากฏการณ์แบบนี้ให้ได้ แล้วประคับประคองสำนึกนี้ และค่อยๆร่วมกับน้องนิสิตนี้ให้เขามีทางออกที่ดีที่สุดกับครอบครัวผู้เป็นบุพการีของเขา
มีน้องนิสิตคนอื่นๆอีกครับที่มีลักษณะเช่นนี้
หากพระองค์ทรงทราบเรื่องราวเช่นนี้ พระองค์จะต้องทรงชื่นพระหทัยเป็นยิ่งนัก
ข้าฯน้อย…ขอสนับสนุนหลักสูตรนี้ครับ
ดูภาพนี้ท่านคงเห็นด้านขวามือที่นิสิตท่านนี้เอาขยะมาเสียบบนเศษกิ่งไม้ ผมเชื่อว่าวันที่นิสิตจุฬามาสวนป่าวันนั้นคงเห็นภาพนี้กันบ้าง
เห็นแล้วคิดอะไร….
ผมเชื่อว่าท่านคิดอะไรดีดี แต่ท่านไม่ได้เขียนออกมา
ผมเดินตามกลุ่มนิสิตที่เดินตามพ่อครูบา ลุยป่าแล้วเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง ตลอดเส้นทางเดินสักสองชั่วโมงนั้น นิสิตหนุ่มท่านนี้เดินตามและฟังพ่อครูไปด้วยเหมือนเพื่อนนิสิตท่านอื่นๆ แต่นิสิตท่านนี้เก็บขยะที่พบในป่าเอาออกมาด้วยโดยหยิบมาใส่บนกิ่งไม้ที่หาได้ในป่าตามภาพ…
ขอปรบมือให้นิสิตท่านนี้ครับ เธอแสดงถึงจิตใจที่แคร์ต่อสภาพแวดล้อม และไม่ดูดาย เธอทำประโยชน์ไปพร้อมๆกับการเดินฟังการบรรยายของพ่อครูบา หายากจริงๆที่จะเห็นภาพแบบนี้ หากถามว่าคนอื่นๆที่เดินป่าไปพร้อมๆกันนั้นเห็นขยะแบบนี้กันบ้างไหม ผมก็ว่าต้องมีคนเห็นเพราะเดินกันไปตั้ง 50 คน แต่มีคนเดียวที่ทำสิ่งดีงามเช่นนี้
อย่างน้อยที่สุด มันสะท้อนถึงจิตใจที่สะอาด ที่ยอมเก็บสิ่งสกปรกออกมาจากป่า….
เราขอปรบมือให้น้องนิสิตท่านนี้ครับ
หากนึกถึงสวนป่า ก็ต้องเห็นพ่อครู หากพูดถึงพ่อครูก็เห็นสวนป่า ชั่วชีวิตที่สร้างสวนป่ามากับมือและจิตวิญาณนั้น มันมีสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่าที่เห็นเป็นรูปธรรม มันมีความรู้มากกว่าที่เรารู้ๆ และรับฟัง มันมี Key word ที่สำคัญหลุดออกมาจากผลึกประสบการณ์ที่พ่อครูบรรยายออกมา ใครจับได้ก็เอาไปคิดต่อ ใครเก็บได้ก็ยิ่งเดินใกล้ความจริงของธรรมชาติ
บางประโยคได้มาจากชั่วชีวิตที่พ่อครูคลุกคลีกับพื้นที่แห่งนี้ หลายคำกล่าวเราก็เคยได้ยินจากที่อื่นๆ แต่อารมณ์สัมผัสคำกล่าวเหล่านั้นแตกต่างกัน คำกล่าวที่ออกมาจากความรู้ กับคำกล่าวที่ออกมาจากการสัมผัสของจริงนั้นน้ำหนักมันแตกต่างกัน
ท่านอาจารย์ ดร.อรรณพ เก็บตก Key word จากการเดินตามพ่อครูบา เล่าอะไรต่อมิอะไรให้ฟังในการเดินในสวนป่า ครั้งก่อนนั้นผมได้ยินคำว่า การรดน้ำต้นไม้ต้องให้เขาตรงเวลา ให้เวลาไหนก็ควรจะให้เวลานั้นๆ จากคำนี้ที่ว่า ให้น้ำตรงเวลา ผมนึกถึงอะไรมากมาย เช่น หมอทุกท่านบอกให้เราทานอาหารตรงเวลา ทานยาตรงเวลา ใครเลี้ยงหมูเอาอาหารให้หมูก็ต้องให้ตรงเวลาหากไม่เช่นนั้นมันร้องบ้านแตก ผมเลี้ยงหมา เอาอาหารให้เขาตรงเวลา วันไหนที่ผิดเวลาไปเขามายืนเห่าที่ประตูบ้าน ฯลฯ
วันนั้นผมเลยตั้งประเด็นกับหมอเจ๊เรื่อง Body Clock เราคุยกันพอสมควร ผมมาค้นคว้าภายหลังเพิ่มเติม จริงๆ เขาเรียก Biological Clock เป็นศาสตร์ใหญ่เรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะแพทย์แผนไทยเดิมที่ผมทราบวากางตำราเรื่องนี้สอนคนให้ปฏิบัติร่างกายให้ตรงกับบทบาทหน้าที่ของอวัยวะของเรา เช่นยามกินก็ต้องกิน ยามนอนก็ต้องนอน มันเกี่ยวข้องกับตับไตไส้พุงทุกอย่าง ท่านผู้ใดสนใจลองค้นจากอาจารย์ Goo ดูซิครับ มีความรู้มากมาย
เดินสวนป่าวันนั้นผมได้ Key word อีกคำ คือ “นิสัยของต้นไม้” มันน่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของ Genus และ Species ของต้นไม้ชนิดนั้น เผ่าพันธุ์ของเขา ใครที่จะอยู่กับธรรมชาติก็ควรศึกษาทำความเข้าใจกับนิสัยของธรรมชาติสิ่งนั้นๆ
ท่านอาจารย์ ดร.อรรณพ กรุณาสรุป Key word ให้นิสิตฟัง เป็นการสอนแบบไม่สอนว่า เออ เธอควรรู้จักใส่ใจกับคำกล่าวเหล่านี้ว่ามีความสำคัญนะ เธอควรฝึกจับสาระสำคัญเหล่านี้ เพราะเวลาพ่อครูบากล่าวไปนั้น กล่าวไปเรื่อยๆไม่ได้ขีดเส้นใต้ไว้ ไม่ได้ label สีไว้ แต่เป็นทักษะของแต่ละคน
พ่อครู ชื่นชมท่านอาจารย์ ดร.อรรณพ ซึ่งตรงกับความรู้สึกของผมว่า ท่านเป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันแต่ยังลงมาคลุกกับกิจกรรมเหล่านี้ และเติมเต็มกับกระบวนการเรียนนอกห้องเรียนแบบนี้ ชื่นชมครับ
สมัยสี่สิบ-ห้าสิบปีที่ผ่านมาทุ่งนาที่เรียกทุ่งคำหยาดแถบนี้เรามาเลี้ยงควาย เก็บผักบุ้ง ไถนา เกี่ยวข้าว ปั้นคันนา และเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่
ทุ่งโพธิ์ทอง ทุ่งม่วงเตี้ย ทุ่งคำหยาดเป็นทุ่งนาผืนใหญ่ติดต่อกัน มองไปสุดลูกตา ยามฤดูทำนา ชาวบ้านม่วงเตี้ย โพธิ์ทอง คำหยาด ต่างพากันมารวมกันในแปลงนาของตัวเอง ควายนับจำนวนไม่ถ้วนเคียงคู่ เสียงคนตะโกนคุยกัน ถามไถ่กัน บอกกล่าวกัน ถึงสารพัดเรื่องราว……
พิธีกรรมท้องถิ่นมีควบคู่ไปกับการทำนา ช่วงไถนาก็บอกเจ้าที่เจ้าทาง ช่วงข้าวตั้งท้องก็บอกแม่โพสพ ยามเก็บเกี่ยว ก็เลี้ยงดูแม่โพสพ ยามนวดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง ก็บอกกล่าวแม่โพสพและเจ้าที่เจ้าทาง ปู่ย่าตายาย
ผมจำติดตามติดใจคือ บ้านผมนั้นพ่อเป็นครู แม่เป็นชาวนา ลูกๆแม้จะมีหลายคนแต่ทุกคนก็เรียนหนังสือ ยังเล็กอยู่จึงไม่มีแรงงานทำนา พ่อไม่ได้จ้างใคร แต่มีญาติพี่น้องในตระกูลพ่อและตระกูลแม่มาช่วย บางครั้งแม่ก็ต้องใช้เวลาเยอะในการเตรียมข้าวปลาอาหารไปเผื่อญาติพี่น้องที่มาช่วยงาน บางครั้งญาติก็เอาข้าวปลามาเอง ตั้งแต่ไถนา เกี่ยว และเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง ได้แรงงานญาติทั้งนั้น แน่นอนบางปีแม่ตัดสินใจจ้างแรงงานมาเกี่ยว เพราะญาติก็เร่งงานในนาของเขาเหมือนกัน
แต่ไม่ค่อยจ้าง แต่ “ลงแขก” กัน เท่าที่จำได้ การลงแขกนั้นจะเป็นกลุ่มคนในหมู่บ้านเดียวกันที่สนิทชิดเชื้อกัน กลุ่มใครกุ่มมัน มีตั้งแต่ 10 คน ไปจนถึง 20-30 คน แล้วแต่ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มนั้นๆ ต่างตกลงกันว่าวันนี้ หรือช่วงนี้ข้าวใครสุกก่อนก็ไปลุยเกี่ยวข้าวคนนั้นก่อน แล้วก็ไล่เลียงไปจนหมดสิ้น เจ้าภาพหรือเจ้าของนาก็จะทำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง เนื่องจากเป็นคนกลุ่มเดียวกันระหว่างก้มเกี่ยวข้าวเรื่องราวสารพัดก็จะเอามาคุยกันลั่นทุ่ง หยอกล้อกัน จนร้องรำทำเพลงกัน เป็นที่สุกด้วย ได้งานด้วย
ภาพคนวันกลางคนจำนวนมากยืนกลางทุ่งนาเป็นกลุ่ม ใส่เสื้อแขนยาว นุ่งผ้าถุง สรวมงอบ มือถือเคียว เหงื่อเต็มใบหน้า แต่ยิ้มแย้มนั้นหมดสิ้นไปแล้วในท้องทุ่ง..
วัวควายหายไป….
เสียงผู้คนจำนวนมากทักทาย ถามไถ่กันในท้องทุ่งหายไป
มีเสียงเครื่องจักรเข้ามาแทนที่
และความเหงาหงอย….