ตอก….(2)
อ่าน: 4340ผมคุ้นชินกับตอกมัดข้าว เพราะในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม เลยไปจนถึงเดือนหน้าคือ พฤศจิกายน อีสานจะเห็นการจักตอกมัดข้าวกันทั่วไป และเห็นชาวบ้านเอาตอกกมาตากแดดกันที่ลานหน้าบ้านกัน เรามีความรู้เรื่องตอกมัดข้าวแค่ไหน… และปัจจุบันมันกลายเป็นธุรกิจชาวบ้าน หรือตัวทำเงินของชาวบ้านไปแล้ว (ผมเองก็เพิ่งทราบ) และจะเกี่ยวเนื่องกับอะไรหลายอย่างทีเดียว ลองพิจารณาดูกันนะครับ
· ท่านทราบไหมว่าตอกสั้นกับตอกยาวนั้นมีขนาดความยาวเท่าไหร่ : ตอกสั้นนั้นมีขนาด 80 เซนติเมตรครับ ส่วนตอกยาวมีขนาด 1.10 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร 10 เซนต์
· ทำไมเป็น 80 และ 110 เซนติเมตร : ไม่จำเป็นต้องเท่านี้หรอก แล้วแต่ความต้องการของชาวนาคนนั้นๆ แต่โดยค่าเฉลี่ยทั่วไปที่นิยมกันเป็นขนาดดังกล่าวนี้
· ทำไมต้องมีสองขนาดความยาว : ขนาดสั้นเหมาะสำหรับมืออาชีพ ชาวนาที่จัดเจนในการมัดข้าว ส่วนตอกขนาดยาวสำหรับมัดข้าวสองรอบ ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาดยาวเพราะสร้างความมั่นใจว่ามัดแล้วแน่นหนา ไม่หลุดง่ายซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย
· ไผ่อะไรที่ดีที่สุดในการทำตอกมัดข้าว : ชาวนาหลายคนบอกว่าไผ่บง เพราะมีความเหนียว แต่หลายคนก็บอกว่า ไผ่ป่า และไผ่บ้าน
· ไผ่อายุขนาดไหนที่เหมาะแก่การทำตอก : ใช้วิธีดูเนื้อไม้ไผ่ ที่ไม่แก่เกินไปและไม่อ่อนเกินไป หากแก่เกินไปความเหนียวจะลดลง หากอ่อนเกินไป ก็ขาดง่าย ชาวนาที่จัดเจนเท่านั้นจะเป็นผู้รู้ว่าไผ่ลำไหนมีความเหมาะสม
· ตอกที่ทำเป็นเส้นแล้วทำไมต้องเอาไปตากแดด : เพราะต้องการทำให้แห้ง สนิท มิเช่นนั้นจะขึ้นรา หรือเชื้อราจะมาเกาะกินทำให้เสียคุณภาพไป
· การตากแดดที่มีความเหมาะสม ควรเป็นอย่างไร : ไม่แห้งเกินไป ไม่สดเกินไป ควรตากแดดประมาณ 4 แดด ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณแดด และความจัดเจนของชาวนาที่ทำตอก
· ตอกที่ตากแดดครบ 4 แดดแล้วเวลาใช้ต้องทำอะไรบ้าง : เวลาเอาตอกเหล่านี้ไปใช้ต้องพรมน้ำก่อน หรือจุ่มลงน้ำพอเปียกแล้วมาสลัดให้น้ำหลุดออกไป ทั้งนี้เพื่อฟื้นเนื้อไผ่ให้มีปริมาณน้ำติดเนื้อไผ่บ้างซึ่งน้ำจะทำให้เกิดความนุ่มและเหนียวตอนมัดข้าว ซึ่งหากเอาไปใช้ก็จะแตก หัก
ผมพยายามลองสอบถามปริมาณตอกที่ใช้ว่า นา 1 ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนเท่าไหร่ หมายถึงกี่มัด กี่เส้น ผมไม่ได้คำตอบ แต่นายอภิชาต วังคะฮาต หนุ่มรูปบนสุดนั้น เขาคำนวณให้ดูว่า นาที่ผลิตข้าวเปลือกได้จำนวน 200 ถุงปุ๋ยนั้น จะต้องใช้ “ตอกเส้น” จำนวน 6,000 เส้น หากต้องซื้อจะคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 บาท
จากปรากฏการณ์ที่ผมพบเห็นผมคิดไปหลายเรื่องคือ
· เดี๋ยวนี้การจักตอกกลายเป็นธุรกิจชาวบ้านที่ทำเงินไปแล้ว
· กรณีนางบัวเรือน ผิวขำ บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี ต้องจ่ายเงินสดไปเป็นจำนวนเกือบแสนบาท(กู้มาจาก ธกส.ห้าหมื่นบาท) สั่งตอกมาตุนไว้ขาย และความจริงเธอขายผ้านวมและถ้วยชามด้วย ในทุกวันพฤหัสบดีจะเอาไปขายที่ตลาดนัดหน้าอำเภอคำชะอี (ผมไม่มีเวลาตามไปสังเกตการณ์)
· แหล่งผลิตตอกมัดข้าวอยู่ที่ อ.นาเหนือ จ.ลำปางและเพชรบูรณ์ และน่าที่จะมีที่อื่นอีกที่มีป่าไผ่ เช่นจังหวัดเลย นครราชสีมา ชัยภูมิ ฯลฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีอาชีพนี้หรือไม่…
· แหล่งผลิตเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องการตัดไผ่บงมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อเป็นธุรกิจ ไผ่บงที่ปลูกอาจเติบโตไม่ทัน ต้องเอามาจากป่า แล้วป่าบงถูกทำลายไป วงจรชีวิตอื่นๆจะเป็นอย่างไรบ้าง ห่วงโซ่อาหารได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างต่อระบบนิเวศท้องถิ่นที่ไผ่ลดน้อยลงและจะหมดไป คนที่ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ทราบดีว่ามักจะไปเอาเชื้ออินทรีย์ธรรมชาติมาจากขุยโคนไผ่ในป่า
· แสดงว่าไผ่บงในอีสานมีน้อยลงมาก จึงไม่เพียงพอต่อการทำตอก
· ทำไมชาวนาต้องซื้อตอก ทำไมไม่ทำเอง อาจเป็นเพราะหลายเหตุผล อะไรคือเหตุผลหลัก
· ราชการ เช่น กรมป่าไม้ อบต. อำเภอ จังหวัด เข้ามามีส่วนรับรู้และคิดอ่านเรื่องนี้อย่างไรบ้าง…..
· หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องมีการสั่งซื้อข้ามภาคให้เปลืองพลังงานและราคาก็น่าจะสูงกว่าหากมีการผลิตภายในภาค หากไม่มีไผ่บง อบต.ทำแผนงานปลูกไผ่บง และไผ่อื่นๆ ในระยะยาวเพื่อทำธุรกิจนี้ได้ไหม
· คนข้างกายบอกว่า ตอก เป็นสินค้านำเข้ามาจากฝั่งลาว ราคา 1000 เส้นละ 45 บาท และทำมาจาก “ไผ่พุง” เข้าที่อุบลราชธานี (น่าจะหลายช่องทาง หรือน่าจะเป็นตลอดแนวไทยลาวด้วยเช่นกัน) ราคาตอกนำเข้าจากลาวถูกกว่าราคาตอกที่มาจากลำปางเกือบเท่าตัว
· ฯลฯ
นี่คือวิถีชุมชน ชาวบ้านก็ดิ้นรนไปตามจังหวะชีวิต เมื่อใครเห็นลู่ทางอะไรอย่างไร ก็ดิ้นรนกันไป
มีหน่วยงานใดบ้างที่ก้าวเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการจัดการ ศึกษาผลกระทบต่อป่า ต่อวิถีวงจรชีวิตที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องนี้ ให้ความรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ชาวบ้านผู้เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้
มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปสำหรับรัฐบาล กระทรวงทบวงกรมต่างๆ มันอาจจะไม่น่าสนใจต่อนักวิชาการมหาวิทยาลัย ที่สนใจเรื่องใหญ่ๆ
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดมานานแล้ว แต่ผมเพิ่มจะรู้ ในทัศนะผม ไม่ใช่เรื่องเล็ก และเป็นรูปธรรมของการพึ่งธรรมชาติของอาชีพชาวนา จึงต้องตั้งประเด็นขึ้นในโครงการแล้วหละครับ….