จากหลักการสู่ปฏิบัติ…ไม่ง่ายเหมือนพูด..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2010 เวลา 1:43 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2336

“หลักการสนับสนุนให้มีการพึ่งตนเอง” นั้น มีพัฒนาการมานานแล้ว สมัยที่ทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518 นั้น เราใช้คำว่า “ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” เมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนาแนวคิดและรายละเอียดเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหลักการดังกล่าวมีที่มาที่ไปอันเดียวกัน


ความสำคัญอยู่ที่การนำแนวคิดลงสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่งานปอกกล้วยเข้าปาก เพราะเงื่อนไขของความสำเร็จนั้นมีมากมาย เราลองผิดลองถูกกันมานานแม้จะมีการสรุปบทเรียน แต่ประเด็นใหม่ๆที่น่าคิดก็เกิดขึ้นมาเสมอ อาจเรียกได้ว่า โจทย์เปลี่ยนไปเรื่อย ตามความแตกต่างของท้องถิ่น ชนเผ่า ภูมิภาค ฯลฯ แต่เราสรุปร่วมกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่สำเร็จ หรือล้มเหลวนั่นเองนั้นมาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกคืออิทธิพลของกระแสหลัก ปัจจัยภายในคือทุนทางสังคมและความล่มสลายของสำนึกแห่งสติ

กระแสหลัก คือ กระแสทุนนิยมเสรี ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียก ทุนนิยมสามานย์

ทุกครั้งที่เราลงไปชนบท ชาวบ้านก็มีคำถาม มีข้อแลกเปลี่ยน มีประเด็นปลีกย่อยที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงการจัดการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน หากไม่มี Follow up ก็จะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนหลังการฝึกอบรม ก็ไม่มีการเติมเต็ม ก็ไม่มีโอกาสติดตามการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน ใช้งบประมาณ หรือมีต้นทุนการทำงาน ซึ่งระบบราชการทำยาก แต่โครงการพิเศษมีโอกาสทำได้มากกว่า

ทุกครั้งที่เราไปพูดคุยกับชาวบ้าน เราก็จะได้เรียนรู้อีกมากมาย

แนวคิดที่สำคัญหนึ่งในปัจจุบันของการพึ่งตัวเองคือ “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” คือพยายามทำของใช้เองในครัวเรือน คือ ทำสบู่ ทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ และเชิงวัฒนธรรมก็มีเช่นฟื้นฟูการใช้แรงงานร่วมกัน เช่น “การเอามื้อเอาแรงกัน” หรือ “วัฒนธรรมการลงแขกทำงาน” ก็ใครสร้างบ้านก็ไม่ต้องจ้างกัน ไหว้วานแรงงานมาช่วยกัน ใครเก่งช่างไม้ ช่างเหล็ก ต่างก็มาใช้ความถนัดของตัวเองช่วยเพื่อนบ้าน หรือลงมือเกี่ยวข้าว แทนที่จะจ้างก็นัดกันไปเกี่ยวนายทักษิณ ก่อน แล้วนายทักษิณก็มาเกี่ยวข้าวแปลงของนายสุเทพบ้าง

วันหนึ่งผมไปคุยกับชาวบ้านยากจน ประเภทไม่มีที่ดินทำกิน และถือว่าเป็นคนชายขอบในชุมชน ต้องอาศัยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน แต่เขาเป็นคนดี เขาคุยกับเราว่า….อาจารย์จะให้ผมไปเอามื้อเอาแรงกัน ผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็จะไม่มีรายได้น่ะซีครับ เพราะผมมีชีวิตที่มีรายได้มาจากการรับจ้างเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านก็เข้าใจ มักเรียกผมไปให้ทำโน่นทำนี่แล้วก็ให้ค่าแรงผม ก็เอามาใช้จ่ายในครัวเรือน ผมมีเมีย มีลูกต้องกินต้องใช้เหมือนทุกคนที่มีที่ดินทำกิน….


ผมสะอึก…. บางทีหลักการดีดีของเรามันไม่ดีกับบางคนในชุมชน.. ถามว่ามีคนกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ โดยประมาณการจะมีประมาณร้อยละ 2-5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งชุมชน

อีกกรณี เราเห็นว่าในแต่ละชุมชนมีตลาดนัดทุกสัปดาห์ และทั้งหมดเป็นพ่อค้าเร่ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่หมุนเวียนกันเอาสินค้ามาวางขาย ซึ่งชาวบ้านก็มักไปอุดหนุนดีมาก จึงเกิดตลาดนัดแบบนี้หลายแห่ง หลายเจ้า หลายกลุ่ม มาจากหลายจังหวัด เมื่อพิจารณาก็เห็นว่าสินค้าหลายชนิดก็จำเป็น แต่จำนวนมากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และประการสำคัญเป็นการจับจ่ายที่เงินไหลออกจากชุมชนแต่ละสัปดาห์เป็นเงินจำนวนมาก นับหมื่นนับแสนบาท

เราจึงสนับสนุนตลาดของชาวบ้านเอง เอาของมาขายเอง ผลิตเอง เงินหมุนเวียนภายในหมู่บ้านไม่ไหลออกไป และเรายังสามารถบริหารจัดการตลาดให้เน้นอาหารปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยประสานงานกับอนามัยตำบล สาธารณสุขอำเภอให้มาช่วยแนะนำ เชิญเกษตรตำบลมาแนะนำการปลุกพืชแบบปลอดสารพิษ เชิญกรมวิชาการมา เชิญพัฒนาชุมชนมา เชิญ…..แบบบูรณาการกัน พบว่าตลาดชุมชนที่ดงหลวงก้าวหน้าไปมาก แนวคิดนี้จะสนับสนุนจุดเริ่มต้นหนึ่งของการพึ่งตนเองระดับชุมชน

ในโครงการมีตลาดชุมชนเกิดขึ้นในทุกจังหวัด มีกรณีหนึ่งที่ขอนแก่นเจ้าหน้าที่ที่นั่นเล่าให้ฟังว่ามีชาวบ้านที่เป็นแม่ค้ามาบอกว่า “…อาจารย์ ฉันน่ะไม่เคยเป็นแม่ค้าเลยพอมีตลาดฉันก็มาเป็นแม่ค้า ก็ดี ชอบเพราะได้เงินทองใช้ ได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียน ผักบางชนิดขายดี ฉันก็ผลิตมากขึ้น วันหนึ่งญาติมาขอผักไปกิน ฉันก็บอกว่า “มาเอาไปเถอะ แต่วันหลังฉันวางขายที่ตลาดชุมชนของบ้านเรานั้นนะ” ความหมายก็คือ วันนี้ให้กิน แต่วันหน้าต้องไปซื้อเอานะ… “ฉันมาคิดทีหลังก็ละอาย แต่ก่อนบ้านเราไม่มีใครซื้อขายพืชผัก อยากกินก็มาขอกัน ฉันขอเธอ เธอขอฉัน แต่มาวันนี้ต้องเป็นเงินทองไปหมดแล้ว เอ..มันยังไงอยู่นา….”

ประเด็น:

  • การพึ่งตัวเองนั้นทุกคนต้องปลูกเองกินเองทุกอย่างเลยหรือ(แนวคิดนี้กลายไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ)
  • แต่ก่อนขอกันกินมาวันนี้สิ่งที่เคยขอกันต้องมาซื้อกินซะแล้ว มันพึ่งตัวเองบนวัฒนธรรมชุมชนอย่างไรกันหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้
  • เกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า…ผมนั้นทำเกษตรทุกอย่างเกือบไม่ต้องซื้อกินเลย แถมได้ขายด้วย แต่รายได้นั้นก็พอได้ใช้จ่าย แต่หากต้องใช้จ่ายจำนวนมาก เช่นค่าเทอมลูกที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนมากมาได้ ก็จำเป็นต้อง วิ่งหาเงินตามช่องทางที่คนชนบทเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยจูงให้เราหลุดจากการพึ่งตัวเองไปอีก เงื่อนไขเช่นนี้จะมีโครงสร้างการพึ่งตัวเองอย่างไร ? ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เจ้ง..
  • เกษตรกรอีกรายที่กล่าวว่า… หากเอามื้อเอาแรงกันตามหลักการทางวัฒนธรรมชุมชน แล้วผมก็จะขาดรายได้ที่เคยได้จากการรับจ้างเพื่อนบ้าน เงื่อนไขเช่นนี้ โครงสร้างการพึ่งตัวเองคืออย่างไร..?
  • หลักการพัฒนาชุมชนนั้นเราพยายามฟื้นฟูทุนทางสังคมเดิม ตามจังหวะโอกาส และชนิดของกิจกรรม แต่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่ากิจกรรมตลาดชุมชนจะพาเรามาเผชิญมุมคิดเช่นนี้….

การแปลงหลักการไปสู่การปฏิบัตินั้น เราเผชิญรายละเอียดที่ใครไม่ลงไปสัมผัสก็จะไม่ทราบ.. คนทำนั้นเมื่อลงไปก็รู้ร้อนรู้หนาว แต่คนที่นั่งบริหารข้างบน อยากได้ตัวเลข อยากเห็นความสำเร็จ สั่งเอาสั่งเอา อิอิ อย่างนั้นต้องเสร็จ อย่างนี้ต้องได้เท่านั้นเท่านี้..ใช้เวลากันไม่น้อยกว่าจะพูดจากันรู้เรื่อง

นี่ดีนะที่พอรู้เรื่อง หากไม่รู้เรื่อง ต้องใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก… อย่าง “เสธ.ไก่อู” ประกาศ ห้า ห้า ห้า..


กรรมชิน 2

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2010 เวลา 14:53 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2820

พวกเราสรุปกลุ่มผู้ไทและไทโซ่มาก่อนแล้วว่า ผู้ไทนั้นปรับตัวได้ดีต่อการไหลบ่าเข้ามาของสังคมใหม่ เทคโนโลยี่ใหม่ แนวความคิดใหม่ๆ แต่ ไทโซ่นั้น ปรับตัวได้ช้ากว่า มีลักษณะเฉพาะสูง มีลักษณะความพอเพียง แต่คำนี้สำหรับกลุ่มคนไทโซ่ต้องวิเคราะห์ลึกๆ คำเดียวกันแต่ต่างความหมายกันนะครับ


ย้อนกลับไปพิจารณาข้อสรุปของพระอาจารย์นรินทร์ ที่ว่า ..ไทยดำนั้น ชอบอยู่ป่า ติดการเข้าป่า พอเพียง ยึดติดประเพณี นิยมให้ทานมากกว่ารักษาศีล นับถือผี และ “กรรมชินหรือความเคยชิน”…


ไทโซ่นั้น อะไรอะไรก็ป่า ทั้งอาหารที่ถูกปาก เหมือนคนอีสานชอบหอยจูบ ได้สัตว์ป่ามานั้น เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ก็มันชอบอ่ะ ที่เราเรียกทางวิชาการว่าวัฒนธรรมการบริโภค เมื่อมีเวลาก็เข้าป่าไปหาอาหารที่ชอบ

ไปหาของป่ามาขายตามฤดูกาล ฤดูนี้สิ่งที่มีราคาคือ ผักหวานป่า วันนี้ราคาที่หมู่บ้าน ขีดละ 25 บาทครับ หากเป็นดอกผักหวานจะสูงถึง 40 บาทต่อขีด หอยหอม ปูภูเขา ตัวแลน ตัวอ้น ตัวบ่าง ล้วนเป็นอาหารเลิศรสและมีราคา


ได้กินแล้ว ได้ขายแล้วได้เงินมาแล้ว ก็สบายใจ เว้นวันสองวันขึ้นป่าอีก นี่คือความหมายพอเพียงที่พระอาจารย์พูดถึง หรือใครต่อใครพูดถึง ความพอเพียงนี้จึงมีความหมายเฉพาะ ไม่เหมือน หรือแตกต่างจากความพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานมา

รายได้ที่มาจากของป่าจึงไม่มีความมั่นคงแน่นอน ทำไมไม่รู้จักเลี้ยง ปลูก ขยายในพื้นที่ดินของตัวเอง.. เป็นคำถามีที่เราถามตัวเอง และตั้งคำถามชาวไทโซ่มานาน ก็มีบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยที่ทำเช่นนั้น เช่นพ่อแสน หรือกลุ่มผู้นำในเครือข่ายไทบรูเป็นหลัก แต่ภาพรวมนั้นยังน้อยอยู่


เทคโนโลยี่ใหม่ๆที่เราเอาเข้ามาแนะนำเราก็พบว่า เราต้องทำหน้าที่เหมือนเลี้ยงเด็กเล็ก ดูแลอย่างใกล้ชิด อะไรที่ซับซ้อนก็ผิดพลาด และเรียนรู้ช้า หรือปฏิเสธไปเลย แล้วกลับไปทำแบบเดิมๆ ตรงนี้เองแตกต่างจากกลุ่มผู้ไทที่ปรับตัวได้ดีกว่า พยายามเรียนรู้และยกระดับตัวเองเสมอ สำหรับพ่อแสนนั้นเป็นกรณีพิเศษจริงๆของไทโซ่


เหล่านี้คือ กรรมชิน หรือความเคยชินของไทโซ่ที่พระอาจารย์นรินทร์ท่านสรุปเองซึ่งมาตรงกับข้อสรุปของพวกเรา

พระอาจารย์นรินทร์ ท่านสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า “มันเป็นจริตของเขานะ มันเป็นอุปนิสัยของเขานะ…..”

ในแง่ของงานพัฒนานั้น เราไม่ได้ท้อถอย หรือหยุดเพียงแค่นี้ ตรงข้าม เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องหาสิ่งที่คลิกกับกลุ่มไทโซ่ให้ได้ มันท้าทายคนทำงานพัฒนายิ่งนัก แต่ที่รำคาญหัวใจก็คือ เรามักจะขัดคอกับกลุ่มผู้บริหาร หรือคนที่นั่งอยู่ข้างบนเสมอ เพราะเขาไม่เข้าใจ และพยายามไม่เข้าใจ มองอย่างเดียวคือ output ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้

อธิบายอย่างไรก็ “บ่หัวซา” อิอิ


สะเมิง: เมื่อม้งเข้าห้องเรียน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 5, 2009 เวลา 14:19 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3584

โครงการที่ผมทำที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคแรกๆของ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เรียกว่า อพช. หรือ NGO ก็ได้ ทีมงานไม่ถึง 10 คน รับผิดชอบกันคนละตำบล และมีทีมงานกลาง 2 คนที่รับผิดชอบทุกตำบลเฉพาะด้าน ผมเองรับผิดชอบงานด้านสังคม เน้นการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์นั่นเอง

โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิจากประเทศเยอรมันแห่งหนึ่ง โดยการชักชวนของ ส.ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษฝีปากกล้า พนักงานโครงการจึงถูกฝึกอบรมก่อนทำงานที่ โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยนาท ที่มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นประธาน ที่เรียกย่อๆว่า บชท. คือ Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) ซึ่งจำลองหลักการมาจาก ดร. เจมส์ ซี เยน แห่งประเทศ ฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า PRRM หลักการของท่านเรียก Credo 10 ท่านที่สนใจเข้าไปที่กูเกิลครับ

สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้วหลักการพัฒนาชนบทของบ้านเรานั้นเรียกได้ว่านำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ว่า คิบบุช โมชารป จากอิสราเอล เซมาเอิล อุลดอง จากเกาหลีใต้ ซาโวดายา จากศรีลังกา กรามินส์แบ้งค์ จากบังกาเทศ(ที่ได้รับรางวัลโนเบล) เครดิตยูเนี่ยน ที่ท่านคุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ แห่งสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยนำเข้ามาจากยุโรป ในปี 2509 ซึ่งมีต้นกำเนิดที่เยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เท่าที่ผมทบทวนดูสมัยนั้นยังไม่มีคำว่า การมีส่วนร่วม การบูรณาการ ฯลฯ แต่มีคำว่า การยืนอยู่บนขาตนเอง การช่วยเหลือเขาให้เขาช่วยตัวเองได้ Top down-Bottom up และศัพท์แสงทางวิชาการก็เกิดมาภายหลังที่งานพัฒนาชนบท โดยองค์กรพัฒนาเอกชน กระจายไปทำงานทั่วประเทศ และพัฒนาประสบการณ์งานพัฒนาสังคมขึ้นมาเอง ผนวกกับกระแสงานพัฒนาสังคมทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น เพราะ คนทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่ก้าวมาจากสถาบันการศึกษา ที่มีสำนึกทางการเมืองในยุคนั้น จึงนิยมสุมหัวคุยกัน เป็นประจำจนต่อมาก่อให้เกิด ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาสังคมเอกชนที่เรียก NGO-CORD หรือ พอช. ขึ้นทุกภูมิภาค

เดี๋ยวจะกลายเป็นเล่าพัฒนาการ NGO ในเมืองไทยไปซะ… วกเข้ามาที่ สะเมิง

เราไปจัดตั้งผู้นำชาวนาขึ้นทุกหมู่บ้าน สมัยนั้นสุ่มเสี่ยงมาก เพราะเป็นยุคที่รัฐต่อต้านแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ชื่อผู้นำชาวนาจึงเป็นเป้ามองของสันติบาลว่า ทำอะไรกัน ทุกเดือนเราก็เอาผู้นำชาวนานี้มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ(บริเวณสำนักงานที่มีร้านอาหารชื่อกาแลตั้งอยู่ในปัจจุบัน) ซึ่งมี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอยู่ คนสมัยนี้ไม่รู้จักท่านแล้ว ท่านก็คือสามีของอาจารย์เต็มศิริ บุญยสิงห์ นักอภิปรายทางทีวีตัวยงในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ดร.ครุยเอง ท่านจบมาจาก มหาวิทยาลัยคอแนล ที่มีชื่อเสียงของอเมริกา และท่านเป็นทีมงานศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในช่วงนั้นด้วย ..

ผู้นำชาวนาที่มาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมนั้นก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำมาหากิน การยกระดับผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์พืช การพัฒนาการเกษตรโดยเอาพืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้าไป ตามยุคสมัยนั้น.. ปรากฏว่าเมื่อผู้นำชาวนากลับไปในหมู่บ้านเขา บางคนก็ไปเล่าความรู้ใหม่ๆให้ญาติพี่น้องฟัง ให้เพื่อนบ้านฟัง อันเนื่องมาจากสะเมิงเป็นเมืองค่อนข้างปิดดังกล่าว

ความรู้เหล่านี้เป็นที่สนใจของชาวบ้านที่ตื่นตัว อยากรู้มาก และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ผู้นำชาวเขาเผ่าม้งที่ตำบลยั้งเมิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไกลที่สุดของโครงการ ผู้นำม้งติดต่อโครงการขอมารับการฝึกอบรมด้วย เขาจึงได้มาเข้าร่วมเพิ่มพูนความรู้ทุกเดือน แต่เนื่องจากเขามีข้อจำกัด เพราะว่าม้งฟังภาษาไทยได้ แต่คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการเขาจะไม่ค่อยรู้เรื่อง และที่สำคัญเขาไม่สามารถทำการบันทึกความรู้ได้ ใช้วิธีจำใส่หัวโตๆอย่างเดียว

ต่อมาผู้นำม้งขออนุญาตโครงการเอาลูกชายที่ผ่านระบบโรงเรียนของไทยมาแล้วเอามาด้วย เพื่อวัตถุประสงค์ทำการบันทึกความรู้โดยตรง….??? นี่คือความพยายามของเขาที่จะเรียนรู้ หรือพูดในภาษานักพัฒนาก็คือ มีความตื่นตัวในการรับเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มีความตื่นตัวในการปรับตัวเองไปตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดีไม่ดี ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


การอบรมครั้งหนึ่ง ที่ประชุมพูดถึงว่าพื้นที่สะเมิงนั้นล่อแหลมต่อการเป็นแหล่งผลิตฝิ่น ที่นำไปทำเป็นเฮโรอิน ซึ่งผิดกฎหมายไทย และมีผลร้ายแรงต่อคนที่เสพติด ผู้นำม้งท่านนั้นก็บอกว่า เป็นความจริงที่ ชาวเขาหลายเผ่าทำการปลูกฝิ่น โดยเฉพาะเผ่าม้ง ปลูกกันเป็นไหล่เขาเลย

แต่ผู้นำม้งกล่าวว่า เฮาปลูกฝิ่น แต่เฮาบ่กินฝิ่น คนไทยน่ะง่าว กินฝิ่นกันมากมาย…. ??? แปรความได้ว่า เราปลูกฝิ่นแต่เราไม่เสพฝิ่น คนไทยน่ะโง่ที่ไปเสพฝิ่น…???

แสบไหมล่ะพี่น้องที่ได้ยินคำนี้….โส..น้า..น่า..โค กิ ฝิ่.. อิอิ



Main: 0.065407991409302 sec
Sidebar: 0.045238018035889 sec