อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้าน..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 26, 2010 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3116

งานพัฒนาชนบทคือการพัฒนาคน ล้วนเป็นงานที่ยากยิ่งหากหวังคุณภาพ

การพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง เป็นประเด็นใหญ่ที่นับตั้งแต่มีพระราชดำริ หน่วยงานต่างๆก็ขานรับเอาไปปฏิบัติ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็น้อมรับเอาแนวทางนี้มาปฏิบัติ และมีการติดตาม มีการประเมินผลโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เน้นให้เขาคิดเองกำหนดตัวชี้วัดเอง แม้ว่าเราจะมีกรอบความคิดที่ครอบคลุมมากกว่า แต่ก็ยอมรับการพัฒนาระบบคิดของเขาก่อน แล้วใช้ผลการประเมินสะท้อนกลับไปพัฒนาตัวชี้วัดในช่วงเวลาต่อไป ….การพัฒนาต้องใช้เวลา

เครือข่ายไทบรู ดงหลวง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร เมื่อเราขอให้คณะกรรมการและสมาชิกประชุมเพื่อกำหนดตัวชี้วัดการพึ่งตนเองขึ้นมาก็ได้แบบฉบับของเขา


ที่ประชุมกำหนดตัวชี้วัดเป็น 4 ด้านหลัก และแบ่งเป็นรายละเอียดย่อยๆอีกเยอะแยะ ซึ่งที่ประชุมมีมาตรฐานการพึ่งตัวเองไว้เป็น “ธง” คณะกรรมการเครือข่ายก็สนับสนุนให้สมาชิกพยายามปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐาน เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ไปประเมินผลโดยใช้มาตรฐานของเขาเป็นตัวตั้ง โดยให้เขาเป็นผู้ถกเถียงกันให้ถึงที่สุดแล้วสรุปเอามาเป็นมติของที่ประชุม ซึ่งเรียกว่า Group Assessment


ผลการประเมินที่ออกมาเราพบว่า คณะกรรมการและสมาชิกมีการพึ่งตัวเองสูงกว่ามาตรฐานหรือบางประเด็นก็เท่ากับค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมีสมาชิกบางส่วนที่มีบางตัวชี้วัดต่ำกว่ามาตรฐานที่เขากำหนด แต่ก็มีเหตุผลที่เรามักไม่ค่อยสืบสาวราวเรื่องมาตีแผ่กัน


ต่อไปนี้เป็นประเด็นหลักสองสามเรื่องที่น่าสนใจ

  • เมื่อเราใช้เทคนิคการประเมินตนเอง (Self Assessment) เมื่อเขาประเมินเสร็จ เอาผลไปให้เพื่อนๆพิจารณาพบว่า เกือบทั้งหมดประเมินตนเองต่ำ เพื่อนๆบอกว่าผลการปฏิบัติของเขาสูงกว่าที่เขาประเมินตนเอง…นี่คือชนเผ่าบรู… หากคนภายนอกควรที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้ด้วยเพื่ออธิบายผลการทำการประเมินตนเอง
  • เรามีข้อสงสัยว่ามีสมาชิกหลายคน แม้กรรมการเครือข่ายหลายคน มีผลการปฏิบัติที่เราคิดว่าน่าจะสูงกว่าที่ผลการประเมินออกมา แม้ว่าจะอยู่สูงกว่าเกณฑ์ก็ตาม เราก็เลยถือโอกาสทำ Family profile คือเจาะลึกข้อมูลของครอบครัว แล้วเราก็พบคำตอบ
    • พบว่า ร้อยละ 80 ของสมาชิกเครือข่ายที่ทำการเกษตรผสมผสานและสร้างเงื่อนไขการพึ่งตนเองบนที่ดินที่ยังไม่ได้รับโอนมาจาก พ่อและแม่ ..อาจารย์ ผมยังไม่รู้ว่าพ่อแม่จะเอาที่ดินผืนนี้ที่ผมลงมือทำเกษตรผสมผสานนี้ให้ลูกคนไหน เรามีพี่น้องหลายคน เคยมีตัวอย่างแล้วที่ ลงมือทำเต็มที่ แต่ในที่สุดแม่เอาที่ดินตรงนั้นไปให้น้อง.. ประเด็นนี้สำคัญมากในมุมของชาวบ้าน เพราะไม่กล้าทำการเพาะปลูกเต็มที่ ทั้งที่คิดอยากจะปลูกนั่น นี่ …นี่คือเหตุที่ทำให้การประเมินผลออกมาไม่สูง เหมือนความคิดที่ยกระดับสูงไปนานแล้ว…นี่คือเรื่องใหญ่
    • พบว่า โครงการกองทุนเงินล้าน กองทุน กข.คจ. กองทุนปฏิรูปที่ดิน กองทุนสารพัด.. ที่รัฐบาลเองลงไปในหมู่บ้าน และบางส่วนมีหนี้นอกระบบ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินมากมาย อย่างน่าเป็นห่วง ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการกู้กองทุนนี้ไปปิดหนี้กองทุนโน้น วนไปวนมา บางคนก็รอดพ้น แต่จำนวนมากมีแต่หนักขึ้นเพราะอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีอัตราเสี่ยงสูง ทั้งธรรมชาติและการใช้จ่ายในครอบครัว ค่านิยม และความจำเป็นอื่นๆ เช่น บางครอบครัวส่งลูกเรียนหนังสือมหาวิทยาลัยถึงสองคน ภาระหนี้สินไปกระทบวิถีชีวิต เมื่อถึงกำหนดส่งเงิน หลายคนต้องออกจากหมู่บ้านไปหาเงิน โดยการขายแรงงานทุกรูปแบบเพื่อเอาเงินมาใช้คืน…แน่นอนการอุทิศเวลาเพื่อทำเกษตรผสมผสาน เพื่อบรรลุมาตรฐานการพึ่งตนเองก็ด้อยลงไป ถามว่ามีจำนวนเท่าไหร่…มากกว่าร้อยละ 60 หนักเบาแตกต่างกันไป..

การพึ่งตนเองของชาวบ้านในบางกรณีนั้นเริ่มต้นที่ติดลบ

การทำงานของหน่วยงานเป็นการทำงานเฉพาะส่วน หนี้สินของชาวบ้านที่มีกับที่อื่นเป็นเรื่องของชาวบ้านหน่วยงานนี้ไม่เกี่ยว… เหมือนธนาคารที่ไม่สนใจว่าคุณมีภาระอะไร แต่หนี้ที่คุณมีต้องเอามาคืนเงื่อนไขต่างๆนั้นธนาคารไม่รับรู้..

แต่การทำงานพัฒนาชนบทแบบ “ทั้งครบ” นั้นต้องเอาปัญหาชาวบ้านทั้งหมดมาแบกด้วย ไม่แยกส่วน นี่แหละยาก


ทายาทเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2839

ผมไม่คิดว่าเธอจะเสแสร้ง ผมเชื่อว่าเธอเหล่านั้นพูดความจริง

ผมต้องชื่นชมงานของมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน เพื่อนร่วมโครงการที่เป็น NGO รับงานด้านพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และงานที่สำคัญคือ สร้างทายาทเกษตรกรขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง


การสัมมนาของเรามีเกษตรกรในโครงการเข้าร่วมมากกว่า 200 คนมาจาก 4 จังหวัดในโครงการคือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มูลนิธินี้เป็น เพียงหนึ่ง NGO ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านเครือข่ายอินแปงที่ลือลั่นในอีสานมานาน

ท่านอาจารย์อนันต์ กาญจนพันธ์ แห่งมช.รายงานมานานแล้วว่า โครงสร้างสังคมชาวนาเปลี่ยนไป และหลายปีก่อนเพื่อนรักที่กำลังจะบวชที่เชียงใหม่ก็โทรมาคุยว่า “เฮ้ย..บู๊ด ชาวนาเชียงใหม่เปลี่ยนไปแล้วว่ะ ไม่มีใครทำนาแล้ว เป็นผู้จัดการนาต่างหาก เพราะจ้างแรงงานต่างชาติ เช่นพม่ามาทำแล้ว…??”

ผมกึ่งไม่เชื่อ แต่ก็ต้องจำนนความจริง เหมือนใครต่อใครกล่าวว่า พ่อแม่สร้างสมประสบการณ์เกษตรมามากมาย ปราชญ์และไม่ปราชญ์ทั้งหลายนั้น ลูกหลานท่านจะสืบต่ออาชีพเกษตรกรสักกี่ราย ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ตำหนิท่านเหล่านั้น แต่สังคมเราเคลื่อนไปทางนั้น ไม่ว่าใครก็หันหน้าไปทางนั้น หันหลังให้ภาคเกษตร ระบบสังคมไม่ได้ใส่ใจจริงจังมากกว่า

แต่วันนี้ NGO นี้ได้สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาจากการโน้มนำลูกหลานผู้นำเกษตรกรที่ร่วมงานมาพูดคุย มาศึกษา อบรม ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรม และลงมือรับผิดชอบงานร่วมกับพ่อแม่

หญิงสามชายหนึ่งบนเวทีในรูปนั่นคือตัวแทนกลุ่มลูกหลานชาวนาของจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคามและมุกดาหารที่ล้วนจบปริญญาตรีจากสถาบันต่างๆไม่ไปทำงานที่อื่น กลับมาบ้านเอาศักยภาพมาปรับการเรียนรู้การเกษตรและหลักการการพึ่งตัวเองในท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่


น้องแต๋ว เธอคือลูกสาวของพ่อหวัง วงษ์กระโซ่แห่งเครือข่ายไทบรูดงหลวงเธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ….”หนูไม่ลืมกำพืดของเกษตรกร” หนูเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ทำของใช้ในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรผสมผสาน แปรรูปน้ำผลไม้ และอื่นๆ…. แรกๆหนูก็ไม่สนุก แต่หนูได้คุยกับเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดต่างก็เป็นลูกชาวนาเหมือนหนู.. แล้วหนูก็สำนึกได้ว่า นี่คือกำพืดหนู..สิ่งที่หนูทำไปตามที่พี่พี่เขาแนะนำนั้น มันทำให้หนูตระหนักถึงชีวิตที่ควรดำรง…

เล่นเอาผู้ใหญ่ พ่อ พ่อ แม่ แม่ ทั้งหลายน้ำตาคลอไปเลยจากคำสารภาพหลังจากที่เธอกล่าวเสร็จแล้วพิธีกรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น พ่อท่านหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ผมซาบซึ้งใจที่ลูกหลานเหล่านี้ได้สำนึกและก้าวเดินตามรอยพ่อแม่ ซึ่งเชื่อว่าเธอจะก้าวไปดีกว่า เพราะเธอเหล่านี้ผ่านระบบโรงเรียนมาสูงกว่าพ่อแม่ และหันกลับมาบ้านเรา ทุ่งนาของเรา วัวควายของเรา ต้นไม้ของเรา ในฐานะที่เป็นพ่อคน ตื้นตันใจที่ลูกๆหลานได้สำนึกในกำพืดของเรา.. เล่นเอาที่ประชุมซึมไปเลย…

น้องแต๋ว เธอเป็นลูกพ่อหวัง วงษ์กระโซ่(ที่เพิ่งออกรายการคุยกับแพะ) แม่ของเธอ สนิทสนมกับเรามาตลอดเราเห็นเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ว่าจะเป็นวัยรุ่น ที่มีกลิ่นอายของวัยรุ่นติดอยู่ แต่สำนึกของเธอนั้น ก้าวข้ามสังคมทุนไปแล้ว

เหลือแต่หน่ออ่อนเหล่านี้ต้องคอยรดน้ำพรวนดินให้เติบโตเข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้าอีกมากมาย หากผ่านไปได้เธอก็คือของจริงที่จะยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ และสืบต่อสังคมในยุคสมัยของเธอ เราพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เธอเหล่านั้นอยู่แล้ว…


ท่ามกลางความมืดมน ก็มีแสงสว่างส่องรอดช่องออกมาบ้างนะครับ

ความเหนื่อยล้าของพ่อครูบาฯไม่สูญเปล่าหรอกครับ..



Main: 0.035814046859741 sec
Sidebar: 0.17293286323547 sec