Mini meeting สวนป่า

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 4, 2012 เวลา 22:41 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2013

ผม Sense เอาเองว่าเรามีความรู้สึกลึกๆร่วมกันอยู่ น้ำใจยังท่วมท้น เอื้ออาทรยังไหลหลั่งไม่สิ้นสุด ปรารถนาดีแก่กัน คิดคำนึงถึงเพื่อนที่ไม่อยู่ที่นี่ ถามไถ่หากัน ต่างเอ่ยปากมาว่า สักวันหนึ่งข้างหน้าเราคงพร้อมหน้าตามากกว่านี้

แม้ว่าจำนวนไม่สำคัญ แต่หากมีเงื่อนไขดีดี เหมาะสม ก็น่าที่จะไปกี๊บก๊าบกันบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ผมพอใจคือ ได้ Update เพื่อนฝูงในกลุ่ม Update เรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของสังคมใครมีข้อมูลอะไรก็เอามาบอกกล่าวเล่าไขกัน ใครมีมุกเด็ดๆอะไรก็เอามาฝากกัน คราวนี้น้องสร้อยปล่อยมุกเด็ดๆหลายเรื่อง จอมป่วนไม่ต้อบอก ขาดไม่ได้

ผมเป็นทึ่งกับน้องอารามน้องรักของผม เธอเงียบมากๆเอาแต่สนใจสิ่งโน้นสิ่งนี้ จ้องมองเตาดาโกต้าจนเตาเกือบแตก ถ่ายรูปมุมโน้นมุมนี้ เอาฟืนใส่ อบไก่ หุงข้าว ต้มผัก เก็บถ้วยเก็บชามไปล้างกับน้องครูอึ่ง น้องอึ่งอ๊อบ น้องอิ้งค์ น่ารักซะ

น้องอารามเงียบจนผมรู้สึกผิดปกติ ปล่อยให้จอมป่วนกับผมฝอยอะไรไปร้อยแปด พันเก้า เธอก็นั่งฟังยิ้มอยู่ข้างๆผม จนผมต้องไปเขย่าตัวบอกให้อารามคุยสักสิบนาที….อิอิ เท่านั้นเอง เธอก็คุยยาวไปเลย…..มีหลายเรื่องน่าสนใจ คนอาราย ชอบปลูกต้นไม้กลางคืน เก็บมะพร้าวกลางคืน….แต่สุขภาพกาย ใจ เยี่ยมจริงๆ น้องรักผมคนนี้

น้องหมอเจ๊นั้นเธอเป็นคุณหมอที่น่ารักมากๆ ผมว่าเธอตรงข้ามกับจอมป่วนนะ เพราะจอมป่วนน้ำไหลไฟดับ น้องหมอเจ๊นั่งนิ่งสงบ ฟัง ฟัง ฟัง ทั้งๆที่ผมว่าเธอมีอะไรอยากจะพูดเต็มไปหมด แต่น้องหมอที่น่ารักนั้นเธอปฏิบัติการฟังอย่างยิ่งยวด สมาธิเยี่ยมจริงๆ คราวที่พูดก็พูด

แม้ว่าจอมป่วนจะช่างพูด หรือพูดมากกว่าคนอื่น แต่ประเด็นน่าสนใจมากๆ ผมได้ Update เรื่องต่างๆเสมอ โดยเฉพาะสาระต่อทัศนะงานพัฒนาคน สังคม องค์กร บ้านเมือง จอมป่วนตอกย้ำสาระสำคัญๆที่ให้เราได้ตระหนัก

น้องจันทร์หรืออุ้ยของพวกเรานั้น ใบหน้าเธอนั้น ผมอยากจะเรียกว่า เป็นใบหน้าที่เติมบรรยากาศที่มีคามสุข ก็ใบหน้าเธอยิ้มตลอด เหมือนคนมีความสุขข้างในและอยากเผื่อแผ่ให้เพื่อนพ้องมีความสุขไปด้วย

ระหว่าที่ผมขับรถไปโคราชส่งน้องอิ้งค์และน้องหมอเจ๊นั้น เราก็คุยกันไปตลอดทาง ทราบว่า ผลงานของน้องจันทร์นั้นไปตอบคำถามของคณะที่เธอสังกัดอยู่จนเธอได้รับการยอมรับขององค์กรมาก มันต้องอย่างนี้ซีน้องเรา…..

คุณครูไม่ใหญ่น้องอึ่งนั้นเธอมาเรียนรู้ตลอดเวลา และพร้อมเสมอที่จะบริการอะไรก็ได้ให้เพื่อนฝูงพี่ๆน้องๆ เธอทำทุกอย่างจริงๆ สมกับเป็นผู้บริหารการศึกษายุคใหม่ เราชื่นชมผลงานของมงคลวิทยาเสมอมา และพร้อมที่จะสนับสนุนอะไรก็ได้ที่ทำได้

ส่วนน้องอึ่งอ๊อบที่น่ารักมากๆของผมนั้น ทราบว่าเธอสร้างวีรกรรมตั้งแต่เดินทางมาจากเชียงใหม่ พิษณุโลก …Samsung Tab ของเธอนั้นมีบทบาทมากในการสื่อสารของกลุ่มของเรา และเป็นเป้าให้เรานินทาเธอทั้งวัน

หากไม่กล่าวถึงน้องอิ้งค์ คงไม่จบบันทึกแน่ คนอะไร..ช่างเจ๊าะแจ๊ะจริงๆ แต่ความที่เป็นน้องน้อยเธอก็น่ารัก ตั้งประเด็นให้พี่พี่ถกกันยกใหญ่ และเธอก็จดเอ๊าจดเอา เป็นน้องที่ Active มากๆ อนาคตรุ่งแน่นอนที่มาสนใจศาสตร์แบบเฮฮา อิอิ คือไม่บ้าก็บรรลุไปเลย ห้า ห้า ห้า แซวเล่นนะน้องเรา

ระหว่างทางที่ผมขับรถไปส่งเธอที่โคราช เธอก็เจ๊าะแจ๊ะให้ไม่เหงาไปตลอดทาง บางช่วงน้องหมอเจ๊ก็หักมุมมาคุยเรื่องที่เกี่ยวกับเราสองคน พอเปิดประเด็นที่เกี่ยวกับน้องเล็ก หันไปถามเธอ อ้าว เธอหลับไปซะแล้ว……..โธ่ เธอปล่อยพลังงานมากไปหรือเปล่า จนเพลียหลับไป…

แม่หวีก็เป็นที่สุดของแม่บ้าน บริการตัวเป็นเกลียว พ่อครูบา แม้ว่าบางช่วงขณะจะเผลอนั่งหลับไปบ้าง ตื่นขึ้นมาก็เล่าเรื่องราวต่อได้คล่องแคล่วราวกับม่อยหลับไปเปิดกรุความรู้มา พ่อครูหุ่นเช้งวับไปเลยจะบอกให้ ก็พ่อครูทานผักเป็นวิสัยเสียแล้ว ดีมากๆ สุขภาพดี มากๆ ยืนยันด้วยเครื่องชั่งไฮเทคของน้องจันทร์ที่เอาติดตัวจับทุกคนถอดผ้า เอ้ยถอดรองเท้าถุงเท้ายืนตัวตรงบนตาชั่งให้น้องครูอึ่งจดตัวเลขค่าต่างๆมากมายบอกบ่งชี้สุขภาพของตัวตนคนนั้นๆ

ฮือ ฮือ….ผมกลุ้มไม่หยุดเลย ก็เครื่องชั่งนี่มันบอกว่าผมมีสุขภาพปานคนอายุ 71

ไม่ย๊อม ไม่ยอม จะทุบเครื่องชั่งก็เห็นใจน้องจันทร์ เห็นทีจะต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อ ลดไขมันกันพักใหญ่ๆแล้วหละเรา….

ม่ายงั้น อิอิ ไม่ออกน่ะซี….


ข้อเสนอต่อ DfC

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 3, 2009 เวลา 10:42 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2312

สมัยที่ทำงานกับโครงการไทยเนเทอร์แลนด์ ชื่อ โครงการการจัดการน้ำในระดับไร่นา ที่เขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ผมทำหน้าที่เป็น ฝ่ายสังคม ที่คอยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าหน้าที่สนามในการปฏิบัติงาน เสริมผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรม ที่ทำหน้าที่ไปสำรวจ Training Needs Assessment (TNA) แล้วก็จัดกระบวนการฝึกอบรมขึ้น ซึ่งก็มักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ คือเป็น formal training

เมื่อผมลงสนามพบว่าน้องๆในสนามที่ได้รับความรู้มาแล้วนั้น มีหลายอย่างที่ต้องเติมเต็ม และขยายความ สาระที่พูดกันในห้องประชุม หลายคนมีคำถาม หลายคนไม่เข้าใจ หลายคนเบลอๆ

นี่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการบันทึกของผมครั้งแรกขึ้น เป็นบันทึกที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อผมพบก็หยิบประเด็นนั้นมาบันทึกขยายความแล้วทำสำเนาส่งให้ทุกคน นอกจากนี้ก็เป็นแบบ F2F คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน และอาจจะเป็น Micro group discussion แค่สองสามคนก็ตั้งวงแบบไม่เป็นทางการคุยกัน ยืนคุยกันบ้าง ร้านอาหารบ้าง นั่งริมคันนาบ้าง เติมเต็มกันทันที เพื่อให้น้องๆอิ่มในข้อสงสัย ขัดข้อง

ซึ่งประเด็นทั้งหมดนั้นเราเองก็ไม่รอบรู้ไปทั้งหมด ประเด็นไหนที่ไม่แจ้งก็ไปค้นหามาแล้วเติมเต็มในรูปของบันทึกแล้วสำเนาแจกให้ทุกคนได้เรียนรู้ด้วย บันทึกนี้เป็นหลัก หยิบทุกประเด็นมาบันทึกแล้วกระจายไป ทำเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 บันทึก

องค์ความรู้ที่เติมเต็มนี้ เมื่อสิ้นปีรวมเล่มได้เลยครับ จัดหมวดหมู่และเพิ่มเติมส่วนที่ไม่ครบถ้วนลงไป ก็เป็นสิ่งที่อาจเรียกว่า KM ได้แบบ Field practice และเป็นประโยชน์มากสำหรับน้องๆที่ถือว่าเป็นมือใหม่ในการเข้ามาทำงานกับชาวบ้านในสาระ การจัดการน้ำในระดับไร่นา

ในทำนองเดียวกัน ผมติดตามทุกท่านที่ทำเรื่อง Dialogue for Consciousness (DfC) เห็นพลัง เห็นความก้าวหน้า เห็นปิติ เห็นประโยชน์ และชื่นชมที่ทุกท่านต่างหยิบฉวยสิ่งที่เป็นประโยชน์จากเฮฮาศาสตร์นี้ จาก Lanpanya นี้ไปใช้

ผมใคร่เสนอแนะว่า ทุกท่านที่เข้ามาร่วมในกระบวนการ ย่อมได้ปิติ ย่อมมีพลัง ย่อมกระหายที่จะหยิบฉวยความรู้ที่เสพเข้าไปนั้นไปดัดแปลงใช้ในงาน ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นกับความรับผิดชอบ

แต่น่าที่จะเกิด ประเด็นปัญหาที่อยากแลกเปลี่ยน ถามไถ่ ต้องการเติมเต็ม ขยายความ แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางที่จะทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้ถูกจัดการวางช่องทางไว้ ข้อเสนอผมก็คือ

· เชิญท่านเหล่านั้นเข้ามาในลาน แล้วเปิด ลาน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเติมเต็ม ขยายความกันต่อไปให้กว้างขวาง นอกจากผู้จัดการเป็นผู้แลกเปลี่ยนแล้ว ท่านอื่นๆที่มีประสบการณ์ก็จะได้เพิ่มเติมแลกเปลี่ยนไปอีกด้วย

· หากท่านเหล่านั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเข้า ลาน ได้ ผู้จัดต้องบอกกล่าวว่าขอให้ส่งประเด็นมาที่ผู้จัดแล้วผู้จัดจะแลกเปลี่ยนเป็นบันทึก แล้วส่งคืนไปให้ พร้อมๆอาจจะสำเนาให้เพื่อนคนอื่นๆรับรู้ด้วย(อย่างที่ผมทำ)

· จัดทีมงานเยี่ยมเยือนตามวาระโอกาสอย่างไม่เป็นทางการ เอาขนมไปฝาก เอาเอกสารติดมือไป.. เพื่อ ทำ Follow up และใช้โอกาสนั้นสอบถาม แลกเปลี่ยน เป็นแบบ DfC follow up ….แล้วอย่าลืมเก็บประเด็นนั้น สาระที่แลกเปลี่ยนกันนั้นมาบันทึกแล้วทำสำเนาให้ทุกคนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันด้วย

· ใช้เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ มือถือ โทรศัพท์สายตรง จดหมาย ..ฯลฯ เพื่อเปิดช่องให้มีการสื่อสารต่อเนื่องระหว่างกัน

· ทั้งหมดนี้เป็นเชิงรับ แต่พิจารณาการทำเชิงรุกด้วยนะครับ เช่น

· ผู้จัดตั้งประเด็นแล้วแลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการ การตั้งประเด็น การตั้งคำถาม เป็นการกระตุ้นให้คิด ให้ควานหาความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาความเหมาะสมรอบด้านด้วย

· การทบทวนสาระที่ใช้ในการ DfC ที่ผ่านมาโดยการขยายความในประเด็นต่างๆลงไป โดยไม่รอคำถาม แต่ประเด็นนั้นต้องผ่านการประเมินแล้วว่าเหมาะสม เกิดประโยชน์จริง…..

· นำตัวอย่างความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของเพื่อนไปเล่าสู่กันฟัง…

· ฯลฯ..

สิ่งเหล่านี้คือ กระบวนการที่ทำต่อเนื่องภายหลังกระบวนการ DfC ครับ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด อิอิ..


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.4

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 9, 2009 เวลา 14:37 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2092

สังคมเราผิดพลาดที่ตรงไหน จึงทำให้เด็กมีลักษณะ คิดเองไม่เป็นคำอธิบายคงหลากหลายแต่ส่วนใหญ่คงไปลงที่ระบบการศึกษา บางคนก็ว่าเพราะครอบครัวอบรมมาไม่ดี บางคนไปไกลถึงว่าวัฒนธรรมสังคมของไทยเรามีส่วนทำให้เกิดเช่นนั้น

ผลึกของคอนอีกสำนวนหนึ่งคือ ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่ง ภาพคร่าวๆที่ผมทราบคือ คอนต้องบริหารพนักงานในบริษัทที่มีมากถึง 200 คนเศษ โดยปกติคนเป็นนายนั้นก็ต้องใช้คำสั่งแก่พนักงานทั้งหลายเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ผู้บริหารสั่งเพื่อให้การเคลื่อนตัวขององค์กรเข้าสู่เป้าหมาย..

ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่เป็นแบบเก่าแล้ว การบริหารสมัยใหม่นั้น ได้หยิบข้อบกพร่องจากอดีตมาแก้ไข และพบว่า การเปิดบรรยากาศแห่งความมีอิสระทางความคิดที่จะสร้างสรรค์ภารกิจออกมานั้น จะก่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพมากกว่าหลายเท่าตัวนัก

ปรัชญาบนพื้นฐานความคิดที่ว่า ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่งมาจากความเชื่อว่า คนเราแต่ละนั้นมีศักยภาพภายใน เมื่อเราเชื่อเช่นนั้น เราก็เพียงให้โจทย์เขาไปแล้วเขาไปสร้างความสำเร็จเอง ซึ่งจะพบว่ามีเรื่องทึ่งเกิดขึ้นมากมาย เพราะ ศักยภาพของพนักงานที่เป็นพลังภายในของเขาถูกปลดปล่อยออกมา…. และมักพบว่ามีคุณค่าในหลายๆด้ายเหลือเกิน เช่น

  • พนักงานผู้คิดค้นและสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นออกมานั้นมีความภูมิใจในงานชิ้นนั้น

  • ผู้บริหารได้พบเพชรงามในองค์กรมากขึ้น

  • พบว่างานที่สร้างสรรค์นั้นดีกว่าที่ผู้บริหารคิดไว้ตั้งแต่แรกอีก

  • ส่งผลสะเทือนไปถึงเพื่อนร่วมงานอื่นๆที่ต้องหันมาใช้ความคิดมากขึ้นกว่าการเพียงรอรับคำสั่ง

  • โดยรวมเกิดบรรยากาศที่ดี ที่สร้างสรรค์ เพราะพนักงานมีความผูกพันกับองค์กร เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทและมีความสำคัญ ที่เราเรียกว่าเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

  • องค์กรใดที่มีบรรยากาศเช่นนี้ มีผลกระทบในทางที่ดีในระยะยาวต่อเนื่องไป เพราะพนักงานจะไม่หยุดคิดสร้างสรรค์เมื่องานชิ้นนั้นจบลง เขาจะคิดต่อเนื่องต่อไปอีกในอนาคต โดยที่นายไม่ต้องสั่ง เขาจะคิดต่อไปโดยอัตโนมัติว่าจะพัฒนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไรได้อีก ..ฯลฯ…

นี่เป็นผลของการเข้าใจความเป็นมนุษย์ ศักยภาพของคน และการรู้จักบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็จะได้ Output, Outcome จนถึง Impact ขององค์กรที่สุดยอดได้ไม่ยาก

แน่นอนครับองค์กรของเรามิอาจมีพนักงานที่มีศักยภาพซ่อนอยู่เต็มตัวไปทุกคน บางคนก็เล็ดลอดเข้ามาจากการ Screen ที่บกพร่อง หละหลวม โดยการสอบ สัมภาษณ์ และกระบวนการอื่นๆที่คัดพนักงานเข้ามา เมื่อผู้บริหารเห็นก็ต้องค้นหากระบวนการสร้างเขาขึ้นใหม่ ให้โอกาสเขาพัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีหนทางมากมาย ทุกท่านก็แสวงหาสิ่งนี้อยู่แล้ว น้องคนดอย.. เฮียตุ๋ย…. เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี

เรื่อง ให้อิสระทางความคิด ดีกว่าการสั่งและความเชื่อขั้นพื้นฐานที่ว่า ..คนเราแต่ละนั้นมีศักยภาพภายใน ผมพบความจริงนี้ตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนในทุกระดับ เช่นที่ พ่อบัวไล หรือสหายธีระ http://gotoknow.org/blog/dongluang/86222 พ่อแสน วงษ์กะโซ่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/174821 และที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/171970

ไม่เชื่อท่านลองหันกลับไปพิจารณาดูคนในองค์กรของท่านซิ

มีศักยภาพซ่อนอยู่แน่ๆเลยครับ…


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 23:20 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2530

มีอีกวลีหนึ่งที่คอนกล่าวในที่ประชุมนั้นและผมก็ชอบมากด้วย ที่ว่า ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำนี้บ่งบอกความหมายกว้างขวาง คอนได้ผ่านปัญหาอุปสรรคมามากทั้งหน้าที่การงาน การบริหารลูกน้อง และอื่นๆ แม้ว่าความรู้ในด้านต่างๆจะพัฒนามากมาย และมีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป แต่เหล่านั้นเป็นเพียงหลักการ หลักคิด เงื่อนไขของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน้านั้นมันแตกต่างไปจากหลักการนั้นๆ ที่พูดเพียงกว้างๆ

ผมชอบที่ เฒ่าแก่ ส่งลูกของตัวเองที่อุตสาห์เรียนหนังสือจบเมืองนอกเมืองนา ให้ไปทำหน้าที่เสมียนระดับล่างก่อน เพราะต้องการให้รู้จักงาน รู้จักคน รู้จักรายละเอียดในงานที่เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของกิจการ แล้วค่อยยกระดับไปบริหารกิจการในท้ายที่สุดด้วยความรอบรู้แท้จริง เพราะสัมผัสมาด้วยตัวเองแล้ว

เฒ่าแก่ ก็จะมั่นใจว่า ลูกตัวเองเป็นผู้รู้จริงก็จะสามารถไว้ใจในการดำเนินกิจการต่อไปได้ แน่นอนระหว่างนั้นอาจจะผิดพลาด บกพร่องก็เป็นเรื่องมีประโยชน์ทั้งสิ้นเพราะลูกคนนั้นจะรู้ซึ้งถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเป็นต้น

ชีวิตไม่ใช่มีตัวเลือกให้หมดแล้ว หลายครั้งชีวิตต้องเผชิญอุปสรรค ปัญหาที่ไม่มีตัวเลือก แต่ต้องเดิน ผมยังชอบตัวแบบชีวิตที่ก้าวจากดินไปสู่ดาวของน้องรักคนหนึ่ง และผมชอบที่จะยกตัวอย่างเขาเสมอๆ เพราะชีวิตเขาเป็นอัตนัยทั้งหมด ไม่มีตัวเลือกเลย แต่การตั้งมั่นในความวิริยะอุตสาหะ และค่อยๆเดินไปนั้น เขาก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ ยากที่คนทำงานพัฒนาตัวเล็กๆคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดยืนตรงนั้นได้ ขออนุญาตฉายซ้ำ

เพื่อนนักพัฒนารุ่นน้องที่ไปคว้าสาวชาวบ้านมาเป็นคู่ชีวิต เมื่อโครงการจบก็ตกงาน ไม่มีอะไรจะทำ จึงพากันลงไปกรุงเทพฯเอาลูกน้อยลงไปด้วยไปใช้ความรู้การทำน้ำเต้าหู้ขายตามริมถนน แต่ก็โดนตำรวจเทศกิจไล่จับเพราะไปกีดขวางทางเดินเท้า ต้องหิ้วหม้อน้ำเต้าหู้ร้อนๆ อุ้มลูกด้วย หนีตำรวจ เพราะหากถูกจับจะไม่มีค่าปรับ

แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะเทศกิจจ้องตลอด จึงขึ้นไปบ้านเชียงใหม่ ไปเช่าเครื่องทำสำเนารับจ้างตามริมถนน สามีไปทำงานโรงแรมเก่าๆ พอมีเวลาเหลือก็ไปรับจ้างทำสวนไม้ดอกตามหมู่บ้านจัดสรร และรีสอร์ทต่างๆที่กำลังก่อสร้างมากมายในเชียงใหม่สมัยนั้น

มีโชคเข้ามา เพราะคนญี่ปุ่นคู่หนึ่งเห็นเด็กหนุ่มสาวทำงานอย่างขยันขันแข็งเช่นนี้ จึงชวนไปทำงานส่งออกดอกไม้ประเภทหัวใต้ดิน เช่น ต้นแสงตะวัน โดยไปหาที่ดินและตระเวนเก็บสะสมหัวดอกทานตะวันจากที่ต่างๆทั่วประเทศ ตลอดจนต่างประเทศใกล้เคียง มาเพาะแล้วส่งออกไปญี่ปุ่น

งานหนักเอา เบาสู้ และใช้ความคิดพัฒนากิจการไปเรื่อยโดยที่ไม่มีตำราที่ไหนสอน คลำไปกันเอง หาความรู้เอง เรียนรู้เอง ลงมือทำเอง ไปแม่โจ้ ไปคณะเกษตร มช. ไปโครงการพระราชดำริ ไปทุกที่ที่จะมีความรู้มาพัฒนากิจการนี้ ตลอดจนไปเรียนรู้การทำ Tissue culture เพื่อมาขยายพันธุ์พืชที่ตระเวนสะสมไว้ในแปลงนั้น

จากไม้หัวไปสู้ไม้ใบ จากไม้ใบไปสู่ไม้ดอก จากการส่งไปญี่ปุ่นประเทศเดียวขยายไปออสเตรเลีย ยุโรป เปิดโรงงานทำน้ำสะอาดขาย และท้ายที่สุดทำน้ำสมุนไพรคาวตองขาย จากเด็กบ้านนอกในป่าสะเมิง จบเพียง ป.4 จากเด็กที่ผมขุดขึ้นมาจากหลังบ้านมาเป็นครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อก้าวมาสังคมใหญ่ เธอก็สร้างตัวเธอเองจนเป็นแม่เลี้ยงที่จังหวัดลำพูนในปัจจุบันนี้

ชีวิตเธอไม่ใช่มีทางเลือกใดๆเลย ทุกก้าวคือการคลำไปกับความมุมานะ กับสมองที่มุ่งหาความรู้เติมเข้ามา มันเป็นชีวิตที่เด็กบ้านนอกประสบผลสำเร็จที่น้อยคนนักจะทำได้

นี่คือตัวอย่าง ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย ที่หลับตาจิ้มเอา แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ อดทน มุมานะ พยายาม ก่ออิฐชีวิตไปทีละแผ่น….

จากเด็กกะโปโล บ้านนอก มาเป็นผู้บรรยายให้แก่นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์หลายสถาบันที่เข้ามาเรียนรู้..!!

จากเด็กครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนมาเป็นนักธุรกิจส่งออก….!!!!

จากเด็ก ป. 4 กลายมาเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ..!!!!!!????? ทั้ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปบางประเทศ…!!!???

สักวันหนึ่งอยากจะพาเฮฮาศาสตร์ไปที่นั่นกัน เธอยินดีต้อนรับแม้จะไปกัน 100 คนเธอก็สู้ไหว

ผมหละแอบชื่นชมผลของการทำข้อสอบอัตนัยของเธอจริงๆ


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.2

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2009 เวลา 13:30 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2612

น้องอึ่ง เรียกร้องให้เพิ่มเติม ผลึกของ Conductor ที่ มข. ซึ่ง Conductor ก็รับปากว่าเมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯแล้วจะขยับเรื่องนี้ต่อ ผมขอถือโอกาสเก็บตกมาเผยแพร่ก่อนแล้วกัน ส่วนที่เหลือให้คอนเขาเต็มที่เลย หรือในส่วนที่ผมกล่าวต่อไปนี้หรือช่วงที่ 1 ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็กรุณาเติมเต็มด้วยครับ

คอนพูดถึงโปรแกรม “OpenCARE” ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เดาว่าเกี่ยวข้องกับกรณี Tsunami ที่ฝั่งอันดามัน ซึ่งคอนมีส่วนร่วมในกระบวนการช่วยเหลือด้วย และมีผลกระทบทางความคิดเห็นมากมาย โดยเฉพาะการหาทางสร้างเครื่องเตือน หรือชุดสำเร็จในการแก้ปัญหาหากเกิดกรณี Disaster ใหญ่ๆเช่นนั้นขึ้นมาอีกในอนาคต หากเข้าใจผิดขออภัยด้วยนะครับ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่ คอน กล่าวถึงระบบการเตือนภัย และการสร้างความพร้อมในการแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่น่าสนใจมาก ผมเองก็มีบทเรียนเรื่องนี้และเตือนตัวเองบ่อยครั้งเหมือนกัน

ผมจำได้ว่านานมาแล้วที่เครื่องบินการบินไทยตกที่ภูเก็ตมีผู้โดยสารเสียชีวิตมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนรักของคนข้างกายผมด้วย เมื่อเกิดกรณีร้ายแรงเช่นนั้น การบินไทยผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำการแก้ปัญหานี้อย่างไร…..น่าสนใจมากครับ

หากถามผมผู้ไม่รู้เรื่องผมก็คงตอบไปตามประสา ว่า ผู้บริหารการบินไทยต้องประชุมด่วนและ สร้างมาตรการต่างๆออกมาเป็นระยะแล้วมอบหมายพนักงานไปรับผิดชอบตามลำดับขั้น……สั่งจ่ายงบประมาณไปใช้จ่ายในกรณีนี้ และ ฯลฯ…..

ผิดถนัดเลยครับ…..

วิสาหกิจที่มีงบประมาณหมุนเวียนนับหมื่นล้าน แสนล้าน มีพนักงานมากมาย มีการแข่งขันในสากล มีผู้เกี่ยวข้องมากมายโดยเฉพาะผู้เสียหาย …ฯลฯ.. จะมานั่งประชุมทำเช่นนั้นไม่ทันกิน..

แล้วการบินไทยทำอย่างไร…

เท่าที่ผมทราบนะครับ(ข้อมูลนี้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันคงพัฒนาไปไกลมากแล้ว) การบินไทย หรือการบินไหนๆก็ตามจะมาคอยให้เครื่องบินตกแล้วมาประชุมแก้ปัญหาแบบที่ผมกล่าวนั้นไม่ได้ ต้องทำล่วงหน้าครับ….

ต้องมีการสร้างสมมติฐานว่าเครื่องบินตก แล้วบริษัทการบินไทยจะทำอย่างไร

  • มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาวถูกกำหนดออกมาก่อนแล้ว

  • บุคลากรที่จะต้องรับผิดชอบถูกกำหนดแล้ว

  • เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว

  • มีการฝึกอบรมทุกฝ่ายทุกคนให้พร้อมใช้มาตรการนั้นแล้ว

  • งบประมาณที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว

  • หากมีคนเสียชีวิต ที่เป็นทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม จะต้องมีขั้นตอนทำกับร่างผู้เสียชีวิตอย่างไรนั้นถูกเตรียมพร้อมหมดแล้ว…

  • ทุกอย่างพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ทันทีที่ทราบว่าเครื่องบินตกที่ไหน ผู้รับผิดชอบตามแผนงานถูกปฏิบัติทันทีในวินาทีนั้นโดยไม่ต้องมาประชุมรับฟังคำสั่งก่อน ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตผู้โดยสารให้ทันท่วงทีและดีที่สุด

  • …..ฯลฯ…..

มี Package การปฏิบัติกรณีเครื่องบินตกออกมา นี่คือการเตรียมการเชิงรุก…จัดทำล่วงหน้า ผมหลับตาฟัง คอนบรรยายเรื่อง OpenCARE แล้วผมนึกถึงกรณีการบินไทยนี้ และโปรแกรมนี้เห็นว่ากำลังดำเนินการต่อ…

จากกรณีนี้ผมคิดเลยเถิดไปถึงเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตประจำวันทั้งผมและท่านทั้งหลาย มีกี่เรื่องที่เราคิดเตรียมการไว้ล่วงหน้าบ้าง เช่น

  • หากรถที่ขับอยู่เกิดยางแบน จะต้องทำอย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากเรามีปัญหาสุขภาพและเกิดเป็นอะไรปัจจุบันทันด่วน จะต้องทำอะไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากลูกสาวเราโดนถูกรังแก ลูกสาวจะมีขั้นตอนป้องกันตัวหรือเรียกร้องความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.

  • หากเกิดไฟไหม้บ้านเรา….

  • หากคุณพ่อคุณแม่เกิดป่วยปัจจุบันทันด่วน…

  • หากขโมยเข้าบ้าน…

  • หาก…..หาก…หาก…

เท่าที่สังเกตทางการแพทย์จะมีชุดการเตรียมความพร้อมต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพไว้ค่อนข้างสมบูรณ์มากว่าสาขาอื่นๆ กล่าวอีกทีทำงานเชิงรุกมากกว่าสาขาอื่นๆ

นี่เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน

นี่คือหลักการลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต

นี่คือหลักความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสมานานกว่า สองพันปีแล้ว

มนุษย์ที่อ้างว่าอยู่ในยุคที่เจริญแล้วยังไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้เลย ปล่อยให้ชีวิตล่องลอยอยู่บนความเสี่ยง..อยู่ได้..โส น้า น่า ..อิอิ..


“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.1

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 7, 2009 เวลา 22:24 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2600

มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้ฟัง คอน ของเรา บรรยายที่ภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บ่ายวันนี้ ในหัวข้อเรื่อง สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เป็นการเชิญของ Blogger ท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่(อาจารย์ ดร.กานดา ใน G2K) ผมขอคุณ คอนเข้าไปฟังด้วย เพราะผมสนใจ เพราะเรารู้กันว่า คอนเขามีประสบการณ์มากมายและเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากผมอันเนื่องมาจากฐานความรู้ที่แตกต่างกัน

ผู้ฟังเป็นนักศึกษาในภาควิชาตั้งแต่ปี 2-4 จำนวนก็เต็มห้องเลคเชอร์ขนาดใหญ่ ผมได้อะไรมามากมายสมใจทีเดียว แม้คอนจะถ่อมตัวว่านักศึกษาอาจจะฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม ผมว่านักศึกษารู้เรื่องเพราะตอบสนองต่อประโยคคำพูดต่างๆของคอนพอสมควรทีเดียว ส่วนผม มีฐานการผ่านงานมาแล้วจึงรับได้เต็มๆ แม้ว่าสาระที่คอนกล่าวจะเป็นเรื่องราวทางคอมพิวเตอร์ ที่ผมไม่กระดิกก็ตาม แต่ผมรับหลักการได้ และสัมผัสได้ ผมขอยกเพียงสองผลึกเท่านั้น (ทั้งที่มีผลึกตกที่ห้องนั้นมากมายครับ)

การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ค้นคว้าเอง ศึกษาเองได้ นี่คือผลึกของคอนที่กล่าวแก่นักศึกษาพร้อมยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของคอนเองเพราะมีลูกน้องในที่ทำงานเป็นศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นคนหนึ่งจบสาขาฟิสิกส์ แต่ไปทำงานกับคอนในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ เพราะเขาเรียนของเขาเอง จนเก่ง

เรื่องนี้ผมก็มีตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกคนหนึ่งจบทางด้านพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ แต่ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทเบียร์สิงห์ที่ไปตั้งโรงงานที่ท่าพระ ขอนแก่น เขาเรียนนอกห้องเรียน เรียนเอง มุมานะจนมีความชำนาญ ทั้งนี่เพราะใจรัก เมื่อใจรักก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ทุ่มเทให้กับความรัก ความสนใจของเขา และประสบผลสำเร็จด้วย เผลอๆอาจจะมากกว่าคนที่เรียนจบมาทางสายนี้โดยตรงด้วยซ้ำไป

อีกหัวข้อหนึ่งที่คอนวางผลึกไว้ให้นักศึกษาวันนี้ คอนกล่าวว่า ตอนที่เรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ นั้นไป Take Course วิชา จิตวิทยาสังคม ที่คณะครุศาสตร์ และได้เอาสาระมาใช้มากจนปัจจุบันนี้

ผมทำงานมาหลายโครงการ และเกือบทุกโครงการที่ทำก็มักจะรบราฆ่าฟันกับฝ่ายวิศวกรรม เสมอมา เพราะความคิดเห็นที่มีต่อกิจกรรมมักจะแตกต่างกันเสมอเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชน คนข้างกายผมก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เรามักจะมานินทาวิศวกรในโต๊ะอาหารเสมอ แม้ว่า พี่ชายคนข้างกายผมจะเป็นวิศวกรรุ่นพี่สถาบันคอนถึงสามคน เจอะหน้ากันก็ต้องเว้นเรื่องเหล่านี้ที่จะไม่แตะ เอาความเป็นพี่น้องมาคุยกันดีกว่า อิอิ…

วิศวกรจะมองเรื่องเหตุผลทางด้านเทคนิค และความคุ้มทุน แต่เหตุผลทางสังคมจะให้น้ำหนักน้อย ถึงน้อยมากๆ บางคนไม่สนใจเลยด้วยซ้ำไป มีเรื่องราวมากมายที่เล่าไม่จบเกี่ยวกับคู่ขนานวิชาชีพนี้ อิอิ.. แต่ก็มีวิศวกรหลายท่านที่คำนึงสาระเหล่านี้ และทำได้ดีมากๆด้วย

ผมเคยเข้าไปดูหลักสูตรวิศวชลประทาน ของกรมชลประทาน พบว่าเรียนเรื่องเล่านี้เพียงเป็นวิชาเลือก 3 เครดิต นอกนั้นเป็นสาระทางวิศวกรรมล้วนๆ ทั้งที่วิศวกรเหล่านี้ต้องออกไปทำงานกับคน สังคม ชุมชน ระบบของชุมชน วัฒนธรรมของชุมชน หากไม่เข้าใจเขาแล้วคุณก็อาจจะเยียบย่ำจิตใจชาวบ้าน

ผมมีตัวอย่างที่คลาสสิคต่อเรื่องนี้เพื่อมาสนับสนุนผลึกของคอนครับ ครั้งหนึ่งบริษัทส่งผมไปทำงานกับกรมทางหลวง ภายใต้ความร่วมมือกับ ADB เพื่อศึกษาและทำต้นแบบการก่อสร้างทางหลวงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม…

เรื่องนี้เกิดที่ลำปาง ทางหลวงแผ่นดินเส้นหนึ่งถูกสร้างขึ้น 4 เลน มีเกาะกลาง และมี U turn ที่ห่างออกไปจากชุมชน ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความปลอดภัยในวิชาชีพการออกแบบถนนหลวง เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ดีอกดีใจที่ได้ถนนคุณภาพดี มีสะพานลอย ถนนกว้างขวาง แต่บางส่วนก็บ่นว่า แต่ก่อนข้ามถนนตรงไหนก็ได้ ตอนนี้ต้องเดินขึ้นสะพานลอยซึ่งไกลออกไปและดูจะยุ่งยาก ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน จะเลี้ยวรถทีก็ขับไปไกลโน้น… แต่เมื่ออ้างหลักความปลอดภัย ทุกคนก็กล้ำกลืนความรู้สึกต่างๆกันไป

แต่ที่ชาวบ้านไม่ยอมกล้ำกลืนและลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนก็เมื่อเกิดมีคนตายขึ้นมาซิ… ไม่ใช่ตายเพราะอุบัติเหตุจากถนน ก็แก่ตายธรรมดานี่แหละ..

อ้าว มันไปเกี่ยวกับถนนอย่างไร…

เกี่ยวซิ เกี่ยวมากด้วย…

ก็เมื่อคนตาย ประเพณีทางเหนือก็ต้องเอาร่างไปเผาที่ป่าเฮ้ว(ป่าช้า) การเอาร่างไปก็ต้องใส่ล้อเลื่อนที่สร้างขึ้นมาเฉพาะแล้วลากไปตามถนนโดยเอาหัวออกไปก่อน และที่สำคัญห้ามเอาหัววกกลับมาทิศทางที่บ้านอยู่ ต้องเอาหัวไปทางป่าเฮ้วเท่านั้น…

แล้วกัน.. บ้านคนตายอยู่ฝั่งซ้าย ป่าเฮ้วอยู่ฝั่งขวา แล้วต้องไป U turn โน้นนนนนน….เมื่อ U turn หัวร่างผู้วายชนม์ก็ต้องหันกลับมาทางบ้านซิ….. ก็ผิดประเพณี…

เรื่องนี้ถึงกับเดินขบวนให้รื้อเกาะกลางถนนเพื่อประเพณีดังกล่าว….

ใช้เวลาต่อสู้เรื่องนี้กันนาน เพราะทางหลวงก็อ้างหลักความปลอดภัย ชาวบ้านก็ไม่ยอม พยายามหาทางออกกันหลายวิธี แม้มีนายช่างบางคนเสนอย้ายป่าเฮ้ว ก็มี…

แต่ในที่สุดทางหลวงก็ต้องรื้อจริงๆ…..

นี่คือบทเรียนที่สำคัญที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยเช่นกันครับ…..


ข้าน้อยขอสนองรับสั่ง…

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2008 เวลา 16:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2045

บันทึกของท่านครูบาชื่อ จดหมายถึงลูกที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=542 ผมอ่านแล้วก็ มีความรู้สึกเหมือนเพื่อนๆทุกคน ที่ทั้งตื้นตันใจแทนท่านครูบาและชาวเฮฮาศาสตร์ทุกท่าน ยากที่จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นโดยง่าย …ทำไมหรือ..

ตอบตัวเองอย่าง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงโน้มกายลงมาสัมผัสชาวเราที่รวมตัวกันแบบหลวม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนปัญญากัน ทำกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะก่อเกิดได้ตามเงื่อนไข โอกาส แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ที่ค่อยๆก่อตัวจาก Cyber พัฒนาจนมาเป็นตัวเป็นตนและจะพัฒนาต่อๆไป… ทรงเห็นความสำคัญ และเสมือนท่านให้กำลังใจทำให้ก้าวหน้าต่อไป..

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่ท่านครูบาพยายามถ่ายทอดให้เราทราบก็คือ….ท่านรับสั่งถามพ่อว่า อีสานนี่จะพัฒนายังไงดี ” …….

คำรับสั่งถามคำนี้แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อแผ่นดินนี้ ในฐานะที่พระองค์ท่านเสด็จมาอีสานก็ตั้งคำถามถึงอีสาน..

ผมมานั่งนึกในใจว่าหากพระองค์ท่านมาถามผม แบบทันทีทันใด ผมก็คงตื่นเต้นที่จะตอบคำถามที่ใหญ่โตเช่นนี้ แต่เรื่องนี้คล้ายๆกันกับที่ผมตั้งคำถามตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ย้ายฐานการทำงานจากภาคเหนือมาอีสานว่า หากมาอีสานจะมาพัฒนาอะไร….

1. มันแล้วแต่มุมมองของผู้คนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาก็เริ่มที่ต้องแก้การศึกษา แพทย์ก็กล่าวว่าเรื่องสุขภาพชุมชน นักเกษตรก็ว่าต้องพัฒนาการเกษตร นักป่าไม้ก็ว่าต้องฟื้นฟูป่า ตำรวจก็ว่าต้องจัดการเรื่องคนผิด ฯลฯ

2. แต่ทั้งหมดนั้นมันพัวพันอีรุงตุงนังแกะกันไม่ออก เกี่ยวเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งนานวันความเกี่ยวเนื่องกันก็มีมากขึ้นตามลำดับ นักบริหารก็อาจจะกล่าวว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญซี….

3. คนที่ผ่านการ train มาบางด้านก็บอกว่าต้องเริ่มที่ area base อีสานเหนือกับอีสานใต้ก็ไม่เหมือนกัน อีสานลุ่มน้ำกับอีสานเชิงเขาก็ไม่เหมือนกัน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบนิเวศวัฒนธรรมเกษตรแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

4. ราชการก็เอาระบบฐานข้อมูลกลางมาเป็นตัวตั้ง คือ กชช 2 ค. หรือ จปฐ. หรือ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า เชื่อมั่นฐานข้อมูลนั้นแค่ไหน

5. บ้างก็ว่าเริ่มอะไรก็ถูกทั้งนั้น แต่เราก็เริ่มการพัฒนามามากกว่า 50 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านใกล้เคียงวิ่งรุดหน้าไปไกลแล้ว ต่างก็บอกว่าเป็นเพราะเราไม่บูรณาการกัน

6. ครั้งหนึ่งเราบอกเกษตรกรว่าต้องเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการดำ ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเกิดโรคข้าวก็ใช้สารเคมี เฟื่องฟูมาจนเราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่มาวันนี้บอกให้ลดละเลิกสารเคมี เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพองค์รวม

7. เราเปิดประเทศและเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ จนภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แรงงานภาคเกษตรไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม จนภาคเกษตรต้องไปจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแล้ว

8. แล้ววันหนึ่งพระองค์ท่านผู้เป็นที่สุดของแผ่นดินทรงตรัสว่าเราต้องพอเพียง สภาพัฒน์ฯก็บรรจุหลักการนี้เข้าไปในแผนฯชาติ แต่ประเทศกำลังผ่านวิกฤติพลังงาน ราชการส่วนหนึ่งเอกชนอีกจำนวนมากก็เห่อปลูกพืชพลังงานกัน บางหน่วยงานกลับไม่ได้เน้นเรื่องพอเพียงตรงข้ามกลับเน้นพืชพลังงานกันใหญ่โต มิใส่ใจหลักการพอเพียงอย่างจริงจัง…

9. พรรคการเมืองก็หวังดีเอาเงินไปทุ่มที่หมู่บ้านท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าไปสู่ชนบทอย่างมิมีสิ่งใดฉุดรั้งหรือชะลอได้ มิใยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้เงินก้อนนั้น ไม่ถึงสิบปีที่ Mobile phone เข้ามาเมืองไทย เครื่องมือชนิดนี้ก็ติดกายเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนาเสียแล้ว

10. ฝ่ายปกครองก็บอกว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง ตั้งโครงสร้างต่างๆขึ้นมาใหม่โดยไม่สนใจใยดีระบบชุมชนดั้งเดิมที่ function มาตลอดนับร้อยๆปี

11. ยิ่งทบทวนไปก็ยิ่งพบเห็นภาพเหล่านี้ ยิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความผกผัน กระแสหนึ่งไหลไปแทนที่ของเดิม สิ่งใหม่และเก่ามีทั้งดีและด้อยปะปนกันไป แต่เราละทิ้งของเดิมแล้วถวิลหาแต่สิ่งใหม่ๆ

12. ผมมาอีสานก็บอกกับตัวเองว่าต้องรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องชนเผ่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯ

13. พูดเรื่องกว้าง หากเราเป็นคนในหมู่บ้านก็ต้องเริ่มที่หมู่บ้าน วิเคราะห์ภาพของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หมู่บ้านกับข้างนอก

14. หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน

15. สิ่งที่กล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตอกย้ำเส้นทางเดินของการพัฒนาอีสาน

สรุปทัศนะของผมคือ

· เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

· เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

· เอาวิชาการที่เหมาะสมเข้าไปผสามผสานอย่างลงตัว

· เอาภาพรวมประเทศเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว

· พัฒนาคน พัฒนาจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่

· ต่อยอดของเดิมที่ดี เติมสิ่งใหม่ที่เหมาะสม

· เน้นความพอเพียงเป็นฐานก่อน

· อิงโครงสร้างเก่าผสมผสานหลักการใหม่อย่างเหมาะสม

· ผสมผสาน บูรณาการจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่ใหญ่

· พัฒนาทุนเดิมหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ดัดแปลงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่

· ผนวก เด็ก เยาวชน สตรี พระ ผู้เฒ่า ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

· ขับเคลื่อนภาพรวมอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามสภาวะ เงื่อนไข

พูดง่ายทำยาก แต่เมื่อเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว ก็สร้างสายใยเกี่ยวเนื่องสิ่งอื่นๆตามไปอย่างบูรณาการ ใช้เวลาไม่เร่งรีบจนมีเพียงปริมาณโดยไม่มีคุณภาพ เนื้อในของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คนจากภายนอกเป็นเพียงผู้สนับสนุน

ข้าน้อยขอปลดปล่อยประสบการณ์บางส่วนออกมาบ้างเท่านั้น เพราะต้องการสนองรับสั่งของพระองค์ท่านด้วยวิสัยคนทำงานคนหนึ่ง..ที่เป็นข้ารองพระบาท…


ฉันหนาว ฉันเหงา ฉันทึ่ง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 21, 2008 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2637

ฉันหนาว  ฉันเหงา  ฉันทึ่ง


ฉันจึง  มาหา  ที่หมาย


ฉันไม่หวัง  อะไร  ที่มากมาย


สุดท้าย  แค่ขอหลับ  ซักงีบหนึ่ง

…อิอิ…

ข้อมูล: หน้าวัดผาเงา เชียงราย (Date 6/12/51 Time 9.20) By Bangsai


วัฒนธรรมองค์กร…มุมมองของบางทราย 1

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 14, 2008 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4053

จำได้ว่าที่เฮฮา 3 ดงหลวง ท่านจอมป่วนนำเสนอเรื่อง Chaotic Organization อย่างน่าสนใจแต่ก็ไม่ได้มีการสานเรื่องนี้ต่อในที่ประชุม อาจจะมีการแลกเปลี่ยนส่วนตัวกันบ้าง (คาดการณ์เอง) แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจส่วนตัว เพราะต้องทำงานกับองค์กรในหลายสถานะ โดยเฉพาะองค์กรชาวบ้านและที่เกี่ยวข้อง….

มีหลักการ มีทฤษฎีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว แต่มักจะเป็นเรื่องราวจากตะวันตก ที่เป็นของตะวันออก หรือของสังคมไทยโดยตรงดูจะมีน้อยมาก มีความพยายามที่กล่าวถึงก็เป็นการกล่าวถึงบางแง่บางมุมเท่านั้น….

แต่ตรงข้ามเนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างๆต่างขับเคี่ยวกันเป็น Top management หลักการพัฒนาองค์กรในระบบธุรกิจเข้ามาเรียนรู้และใช้กันมากมาย จนมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้วยซ้ำไป หรือการจัด Learning Course ที่มีราคาแพงลิบลิ่วหากใครต้องการเข้าไปนั่งฟัง และแน่นอนต่างมุ่งหวังประสิทธิภาพในการบริหารคน องค์กร และ…..ท้ายที่สุดคือหวังผลกำไรของธุรกิจนั้นๆ

ผมอยากจะเรียกองค์กรแบบนี้ว่า องค์กรปิด” Close organization (CO) เพราะว่าเป็นองค์กรที่มีกฎระเบียบข้อบังคับ อ่อนลงมาก็เรียกข้อตกลง สัญญาใจ แรงที่สุดก็เรียกกฎหมาย แม้ว่าจะมีความพยายามให้พนักงานทุกแผนกมีส่วนร่วมในการสร้างองค์กรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็เพื่อกำไรสูงสุดขององค์กรนั้น ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญองค์กรทางธุรกิจจึงไม่ทราบว่าก้าวไปถึงไหนแล้ว

องค์กรปิดอีกประเภทหนึ่งคือระบบราชการ ที่นับวันจะล้าหลังสุดจะสลัดหลุด(ภาพรวม) แม้จะปฏิรูปกันมานานนับทศวรรษแล้วก็ตาม มีการปรับเปลี่ยนบ้างแต่ก็ยังไม่ไปไหนเลย… จะเห็นได้ชัดเมื่อเราลงไปคลุกคลีกับชนบท คนยากจนที่สุด แม้ในสลัมในเมืองที่ระบบราชการเข้าไม่ถึงการแก้ปัญหาแบบรื้อสาเหตุ ล้มปัจจัยก่อเหตุ มีแต่ลูบหน้าปะจมูก เพราะข้อจำกัดมากมาย ทั้งที่มีคนดีดีอยู่ในระบบพะเรอะเกวียน

เพราะระบบปิดนั้นมี ชั้น มีอำนาจหน้าที่ มีการกำหนดความรับผิดชอบ มีการกำหนดผลตอบแทนที่เป็นกฎระเบียบตายตัว มีการสั่งการ และสร้างวัฒนธรรมของระบบขึ้นมา มีพรรคพวก มีขั้นที่จะก้าวขึ้นไป ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจะไม่ขอกล่าว..

มีองค์กรอีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบองค์กรแบบเปิด Open Organization (OO) หรือ Traditional Organization หรือ Cultural Organization เป็นองค์กรที่ไม่เป็นองค์กร แม้ว่าจะมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมของกลุ่มชน ความเชื่อ ความศรัทธา การเคารพนับถือ ที่ทุกคนในกลุ่มในชุมชนยอมรับกัน มีชั้นเหมือนไม่มีชั้น เพราะความเป็นชั้นเกือบไม่มีช่องว่างระหว่างชั้น หรือมีสภาพเหมือนกันโดยรวม มีบทบาทหน้าที่แต่ก็สามารถทดแทนกันได้อย่างลงตัว

ที่กล่าวมานั้นมิได้ต้องการจะเสนอให้พันธมิตรมาเดินขบวนขอยกเลิกองค์กร CO แล้วเชิดชู OO เพราะต่างก็มีจุดเด่น จุดด้อย ต่างก็เหมาะสมกับสภาพที่แตกต่างกัน แต่ผมกำลังมองว่า เราจะพัฒนาให้เกิดการผสมผสานกันได้อย่างไรที่เหมาะสมกับสังคมไทย และก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเพียงรูปแบบเดียวตายตัว

แต่เมื่อหักมุมมามองเฉพาะที่เฮฮาศาสตร์ ความคิดเห็นเบื้องต้นคงเป็นคร่าวๆเพราะต้องใช้เวลาพัฒนาตัวของเขาเองที่ผมเรียกว่า การปรับเปลี่ยนขององค์กร หรือการปรับตัวขององค์กรหรือ การขยับตัว เป็นเรื่องปกติที่จะต้องขยับตัวให้ทุก function ลงตัวมากที่สุด เหมือนคนขยับตัวในท่าที่สบายที่สุด เหมือนช้าง ม้า วัว ควาย ขยับตัวให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุดที่เขาชอบ องค์กรเปิดก็ต้องการการขยับตัวที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ผมชอบที่ คอนสรุปสาระไว้ จึงอยากทำเป็น diagram ดังนี้

ข้อคิดเบื้องต้นของบางทรายต่อเฮฮาศาสตร์ อยากจะมองอีกมุมหนึ่งดังนี้

มุมที่หนึ่ง เป็นองค์กร ที่เหมือนองค์กรทั่วไป ที่มีโครงสร้าง มีกฎระเบียบ มีสมาชิก มีกิจกรรม มีคณะกรรมการ ฯลฯ และสามารถจะพัฒนาไปสู่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมุมนี้อาจจะไม่เหมาะสมต่อ เฮฮาศาสตร์

มุมที่สอง เป็นองค์กรทางสังคมที่มีเนื้อในเชื่อมกันด้วยวัฒนธรรม(Social Cohesion) ที่ผสมผสานกันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเหมาะสม

ขอสรุปความเห็นเบื้องต้นไว้ดังนี้

ส่วนตัวผมเชื่อเรื่อง ความศรัทธา เป็นความศรัทธาที่มีเหตุมีผล มิใช่ศรัทธาแบบลุ่มหลง หรือคลั่งไคล้ เพราะความลุ่มหลงและคลั่งไคล้ นั้นอันตรายและไม่มั่นคง ความศรัทธานี้ต้องเป็นศรัทธาในคุณงามความดี คิดดี ทำดี

นี่เป็นความคิดเห็นต่อเนื่องจากที่ คอน ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ ที่วัฒนธรรมเฮ http://lanpanya.com/wash/archives/489 และตั้งคำถามให้เราได้ลองแสดงความเห็นแก่กันครับ


AAR เฮหก…4 เชียงแสนกับบ่นปนสำนึก

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 12, 2008 เวลา 11:03 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4065

ผมเคยมาดูเมืองเก่าเชียงแสนครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มาเองโดยไม่มีผู้บรรยาย แต่ก็ชื่นชมว่าเมืองเชียงแสนนั้นน่าสนใจความรุ่งเรืองในอดีต เมื่อได้มาฟังอาจารย์มิติเล่ายิ่งซาบซึ้ง หากฟังเวอร์ชั่นของลุงเอกก็จะยิ่งเห็นคุณค่ามากขึ้นเป็นทวีคูณ

เท่าที่ผมได้ยินเชียงแสนมานั้นก็มาฮือฮาตอนที่ทางราชการ และท้องถิ่นบางส่วนต้องการทำท่าเรือ ธุรกิจแม่น้ำโขงที่นี่ ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ท่านออกมาคัดค้านอย่างหนักแต่ก็ไม่เป็นผล มาวันนี้เราสัมผัสท่าเรือที่เชียงแสนแล้ว

มุมมองผมนั้นสนับสนุนท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ เพราะว่าตัวเมืองเชียงแสนโบราณนั้นมิควรที่จะเอาใดๆไปแตะต้องกล้ำกลายแม่แต่เสาไฟฟ้าสักต้นก็ไม่ควรด้วยซ้ำไป ปักขอบเขตบริเวณให้เป็นเมืองเก่าล้วนๆ ตัวเมืองใหม่อยู่นอกบริเวณนี้ …..แต่เปล่าเลยสิ่งก่อสร้างต่างๆรุกล้ำเข้าไปจนดูไม่ได้เลย หากเราจะตำหนิรัฐ ก็ไม่ผิด แต่ก็มีข้ออ้างมากมาย เช่นไม่มีคน ไม่มีงบประมาณ.. แต่ต้องตำหนิท้องถิ่นที่ไม่ได้ช่วยกันอนุรักษ์วัตถุโบราณแห่งนี้ (และแห่งไหนๆทั่วประเทศไทย) ดูเหมือนว่านอกจากจะไม่มีมุมทางอนุรักษ์พื้นที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังทำลายอีกด้วย

ผมไม่ได้ตำหนิคนเชียงแสน แต่ผมตำหนิคนไทย พวกเราทั้งหมดนี่แหละที่มักง่ายเกินไป ผมเห็นชาวบ้านหลายแห่งตื่นขึ้นมาช่วยกันสร้างป่าชุมชนด้วยกันเอง โดยไม่มีราชการเข้ามาช่วยจนเป็นที่ประจักษ์ก็หลายแห่ง อาจเป็นเพราะป่าชุมชนนั้นๆมีประโยชน์โดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชน แต่วัตถุโบราณที่เป็นเมืองอย่างเชียงแสนนั้นก็อยู่ในลักษณะทำนองเดียวกัน แต่อยู่ในรูปแบบใหม่ เพราะสถานที่โบราณที่มีความสำคัญเช่นนี้ คือแหล่งเรียนรู้ อดีตของบรรพบุรุษชาติไทย ที่ลูกหลานสมควนเข้ามาสัมผัสและเข้าใจความเป็นมา ฯลฯ… และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

ผมมองเลยไปถึงการทำลายวัฒนธรรมตัวเองด้วยวัฒนธรรมใหม่ วิ่งไปข้างหน้าโดยทำลายของเก่า หรือไม่แยแสต่อคุณค่าเดิมที่สร้างให้เป็นเราในวันนี้

เพื่อนแซ่เฮทุกคนในวันนี้ เดี๋ยวนี้ ตัวตนเป็นๆที่เห็นได้ จับต้องได้วันนี้ มีที่มาที่ไปมามากว่าตั้งแต่ยี่สิบปีไปจนถึง 50-60 ปี มีวันนี้ได้ไม่ใช่โผล่จากดินจากน้ำมาในเมื่อวานนี้ แต่ แต่ละท่านผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ สุข ต่อสู้ ล้มเหลว ชัยชนะ และสารพัดเรื่องราวที่เป็นเบ้าหลอมสร้างให้เรามาเป็นคนแซ่เฮวันนี้ เรานึกย้อนไปแล้วก็บอกว่า ทุกจังหวะก้าวคือคุณค่ามหาศาลที่จ่ายราคามาด้วยชีวิต …นี่คือภูมิหลัง เบื้องหลัง..และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์บุคคล ไม่เชื่อลองอ่านดูใน ไผเป็นไผซิ ทึ่งซะไม่เมี๊ยะ


ก้อนอิฐก้อนดิน ลวดลายที่หลงเหลือบนซากปรักหักพังของเมืองเชียงแสนก็เช่นกัน ที่เห็นนั้นเป็นรูปธรรมที่เก็บงำนามธรรม คือพัฒนาการของเมืองทางประวัติศาสตร์ซึ่งก็คือเบ้าหลอมชีวิตของความเป็นคนไทย ชาติไทย เผ่าไทย ราษฎรไทย…ฯลฯ มาจนทุกวันนี้ เราจะสลัดก้อนอิฐแห่งความหลังลงไปโดยไม่สำนึกเลย แล้วมองไปแต่ข้างหน้าเช่นนั้นหรือ… เพื่อนไทย..ช่วยกันไตร่ตรองและมาอนุรักษ์ให้อดีตเรามีคุณค่ากันเถิด.. (ต๊ายย…บ่นซะยาวเลย)



Main: 0.13336300849915 sec
Sidebar: 0.028249025344849 sec