“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.2
อ่าน: 2625น้องอึ่ง เรียกร้องให้เพิ่มเติม ผลึกของ Conductor ที่ มข. ซึ่ง Conductor ก็รับปากว่าเมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯแล้วจะขยับเรื่องนี้ต่อ ผมขอถือโอกาสเก็บตกมาเผยแพร่ก่อนแล้วกัน ส่วนที่เหลือให้คอนเขาเต็มที่เลย หรือในส่วนที่ผมกล่าวต่อไปนี้หรือช่วงที่ 1 ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็กรุณาเติมเต็มด้วยครับ
คอนพูดถึงโปรแกรม “OpenCARE” ผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เดาว่าเกี่ยวข้องกับกรณี Tsunami ที่ฝั่งอันดามัน ซึ่งคอนมีส่วนร่วมในกระบวนการช่วยเหลือด้วย และมีผลกระทบทางความคิดเห็นมากมาย โดยเฉพาะการหาทางสร้างเครื่องเตือน หรือชุดสำเร็จในการแก้ปัญหาหากเกิดกรณี Disaster ใหญ่ๆเช่นนั้นขึ้นมาอีกในอนาคต หากเข้าใจผิดขออภัยด้วยนะครับ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่ คอน กล่าวถึงระบบการเตือนภัย และการสร้างความพร้อมในการแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่น่าสนใจมาก ผมเองก็มีบทเรียนเรื่องนี้และเตือนตัวเองบ่อยครั้งเหมือนกัน
ผมจำได้ว่านานมาแล้วที่เครื่องบินการบินไทยตกที่ภูเก็ตมีผู้โดยสารเสียชีวิตมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนรักของคนข้างกายผมด้วย เมื่อเกิดกรณีร้ายแรงเช่นนั้น การบินไทยผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำการแก้ปัญหานี้อย่างไร…..น่าสนใจมากครับ
หากถามผมผู้ไม่รู้เรื่องผมก็คงตอบไปตามประสา ว่า ผู้บริหารการบินไทยต้องประชุมด่วนและ สร้างมาตรการต่างๆออกมาเป็นระยะแล้วมอบหมายพนักงานไปรับผิดชอบตามลำดับขั้น……สั่งจ่ายงบประมาณไปใช้จ่ายในกรณีนี้ และ ฯลฯ…..
ผิดถนัดเลยครับ…..
วิสาหกิจที่มีงบประมาณหมุนเวียนนับหมื่นล้าน แสนล้าน มีพนักงานมากมาย มีการแข่งขันในสากล มีผู้เกี่ยวข้องมากมายโดยเฉพาะผู้เสียหาย …ฯลฯ.. จะมานั่งประชุมทำเช่นนั้นไม่ทันกิน..
แล้วการบินไทยทำอย่างไร…
เท่าที่ผมทราบนะครับ(ข้อมูลนี้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันคงพัฒนาไปไกลมากแล้ว) การบินไทย หรือการบินไหนๆก็ตามจะมาคอยให้เครื่องบินตกแล้วมาประชุมแก้ปัญหาแบบที่ผมกล่าวนั้นไม่ได้ ต้องทำล่วงหน้าครับ….
ต้องมีการสร้างสมมติฐานว่าเครื่องบินตก แล้วบริษัทการบินไทยจะทำอย่างไร
- มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาวถูกกำหนดออกมาก่อนแล้ว
- บุคลากรที่จะต้องรับผิดชอบถูกกำหนดแล้ว
- เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว
- มีการฝึกอบรมทุกฝ่ายทุกคนให้พร้อมใช้มาตรการนั้นแล้ว
- งบประมาณที่ต้องใช้เตรียมพร้อมแล้ว
- หากมีคนเสียชีวิต ที่เป็นทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม จะต้องมีขั้นตอนทำกับร่างผู้เสียชีวิตอย่างไรนั้นถูกเตรียมพร้อมหมดแล้ว…
- ทุกอย่างพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ทันทีที่ทราบว่าเครื่องบินตกที่ไหน ผู้รับผิดชอบตามแผนงานถูกปฏิบัติทันทีในวินาทีนั้นโดยไม่ต้องมาประชุมรับฟังคำสั่งก่อน ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตผู้โดยสารให้ทันท่วงทีและดีที่สุด
- …..ฯลฯ…..
มี Package การปฏิบัติกรณีเครื่องบินตกออกมา นี่คือการเตรียมการเชิงรุก…จัดทำล่วงหน้า ผมหลับตาฟัง คอนบรรยายเรื่อง OpenCARE แล้วผมนึกถึงกรณีการบินไทยนี้ และโปรแกรมนี้เห็นว่ากำลังดำเนินการต่อ…
จากกรณีนี้ผมคิดเลยเถิดไปถึงเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตประจำวันทั้งผมและท่านทั้งหลาย มีกี่เรื่องที่เราคิดเตรียมการไว้ล่วงหน้าบ้าง เช่น
- หากรถที่ขับอยู่เกิดยางแบน จะต้องทำอย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.
- หากเรามีปัญหาสุขภาพและเกิดเป็นอะไรปัจจุบันทันด่วน จะต้องทำอะไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.
- หากลูกสาวเราโดนถูกรังแก ลูกสาวจะมีขั้นตอนป้องกันตัวหรือเรียกร้องความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.
- หากเกิดไฟไหม้บ้านเรา….
- หากคุณพ่อคุณแม่เกิดป่วยปัจจุบันทันด่วน…
- หากขโมยเข้าบ้าน…
- หาก…..หาก…หาก…
เท่าที่สังเกตทางการแพทย์จะมีชุดการเตรียมความพร้อมต่างๆที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพไว้ค่อนข้างสมบูรณ์มากว่าสาขาอื่นๆ กล่าวอีกทีทำงานเชิงรุกมากกว่าสาขาอื่นๆ
นี่เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน
นี่คือหลักการลดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต
นี่คือหลักความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสมานานกว่า สองพันปีแล้ว
มนุษย์ที่อ้างว่าอยู่ในยุคที่เจริญแล้วยังไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้เลย ปล่อยให้ชีวิตล่องลอยอยู่บนความเสี่ยง..อยู่ได้..โส น้า น่า ..อิอิ..
« « Prev : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.1
Next : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.3 » »
11 ความคิดเห็น
ขอบคุณครับพี่ ตอนนี้ยังกินข้าวอยู่ที่สวนป่าเลยครับ พี่เขียนหลายๆ ตอน ผมจะได้เล่าเรื่องอื่นนะครับ
ตามอ่านมาสองตอน นึกถึงประเพณีกล่าวสุนทรพจน์สำหรับบัณฑิตจบใหม่ของมหาวิทยาลัยในอเมริกายังไงพิกลค่ะพี่บู๊ท
เพราะเป็น”วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน” จึงคมความคิดอย่างน่าสนใจแบบนี้เอง ^ ^
วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน..หมายถึงปัจฉิมนิเทศที่เป็นการกล่าวสุนทรพจน์จากบุคคลที่มีชื่อเสียงตามประเพณีของม.อเมริกา แต่อยู่ๆเบิร์ดก็นึกโยงกับการบรรยายของท่านรอกอดไปได้ อืม..
ชอบ”ผลึกความคิด”ของพี่บู๊ทด้วยค่ะ ที่เติมเต็มได้อย่างเหมาะเจาะเชียว ^ ^
คอนครับ ก็หยิบมาเท่าที่บันทึกไว้ และมีตัวอย่างที่พี่ผ่านมาแล้วน่ะครับ อยากขยายความไว้ครับ
น้องแก้มยุ้ย หนังสือเล่มนั้นพี่ก็ซื้อมากองไว้ในตู้ อิอิ ยังไม่ได้อ่าน (พวกบ้าสะสม)
พี่รับเด็กใหม่เข้าทำงานหลายคนหลายปีที่ผ่านมาก็เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการมี Session นี้ ที่ คอน ถูกเชิญไปพูดน่ะครับ พี่ยังพูดกับคอนว่า มหาวิทยาลัยควรมีแบบนี้บ่อยๆ เชิญหลายๆคนมาพูด เช่นอาจจะทุกเดือน เดือนละคน เชิญคนที่หลากหลายมาพูก ข้าราชการบ้าง ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ พระ และวิชาชีพสายตรงที่เขาเรียนมานั้น
มันเป็นการเตรียมบัญทิตใหม่ใหเเข้าใจว่า สังคมที่เขากำลังจะก้าวไปนั้น มีผู้เดินไปก่อนหน้าแล้วมากมาย และมีบทสรุปดังที่ผู้บรรยายกล่าว การเตรียมตัวนี้ จะมีผลมากๆต่อการก้าวไปหางานทำ และวิธีการปฏิบัติตัวในช่วงการทำงาน
หลักคิด หลักปฏิบัติ หลักการดำรงตนระหว่างทำงาน อะไรควร อะไรไม่ควร ฯลฯ
เด็กปี 4 ที่กำลังจะจบ เราเรียก Senior แต่เมื่อก้าวแรกเขาเข้าไปทำงาน เขาคือ Freshy ต้องการคำแนะนำมากมาย การมี session นี้ช่วยได้มากทีเดียวครับ
และพอดี คอน มีประสบการมาก พี่ก็เลยอยากฟัง อยากเรียนรู้ด้วย อิอิ
ขอทำตัวเป็น freshy (เฒ่า) หน่อย อิอิ..
เวลาเราพูดถึงคำว่า Proactive (ในหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People ของ Steven Covey) ก็เข้าใจแบบถามมาก็ตอบได้ว่าอุปนิสัย 7 ข้อมีอะไรบ้าง ถ้าถามว่า Proactive แปลว่าอะไร ก็ตอบได้ตามที่หนังสือว่ามา แต่ถ้าถามว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นลักษณะ Proactive อันนี้จะเริ่มเอ๋อแล้ว
ผมคิดว่ามีข้อต่อที่หายไปในกระบวนการเรียนตรงนี้นะครับ ทำให้ตั้งคำถามไม่ถูก หาคำตอบไม่ได้ และไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้
ยกตัวอย่างนะครับ โดยทั่วไป เราชื่นชมคนที่แก้ปัญหาได้ และเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนเก่ง” แต่คนเก่งที่แท้จริง คือคนที่ป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นต่างหาก มองเห็นต้นเหตุตามความเป็นจริง แล้วดำเนินการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็จะมีความหายเกิดขึ้น นั่นล่ะครับ Proactive
ในชีวิตจริงเราให้คุณค่ากับคนที่แก้ปัญหา มากกว่าคนที่ป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น และเป็น paradox อีกอันหนึ่งของชีวิต
คำอธิบายนี้กลับไม่ตรงกับหนังสือเลย แล้วเราก็จะพบว่าไม่มีหนังสืออะไรที่มาขีดเส้นชีวิตให้เราเดินได้
ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูล
เห็นด้วยกับคอน proactive
ยิ่งสังคมซับซ้อน ยุ่งเหยิง proactive ยิ่งจำเป็น
เพียงแต่ว่าคนคนนั้นตระหนักมันแค่ไหน
หรือปล่อยให้ชีวิตลอยไปตามกระแสแห่งจิตแต่ละวัน เวลา นาที
เอ…พี่ ต้องย้อนไปทบทวนตัวเองเหมือนกัน..นิ…อิอิ
ด้วยความยินดีครับสำหรับคุณโปรแกรมบัญชี ??
กลับมาอ่านอีกรอบค่ะพี่
หากลูกสาวเราโดนถูกรังแก ลูกสาวจะมีขั้นตอนป้องกันตัวหรือเรียกร้องความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง ขั้นที่สาม สี่ห้า มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไหม.
อ่านถึงตรงนี้แล้วคิดถึงพ่อจัง..พ่อซื้อหนังสือ สาวเอย..จะบอกให้ ของ นเรศ นโรปกรณ์ให้อ่าน ตั้งแต่เริ่มวัยรุ่น ซื้อนวมมาให้ซ้อมต่อยมวยเล่นๆ ก้บพี่น้อง
พ่อคงคิดเตรียมการด้วยความเป็นห่วง..ตกลงก็เลยได้ลูกสาวที่ไม่ค่อยเรียบร้อยมาคนหนึ่ง..
ขอบคุณสำหรับบันทึกที่อ่านแล้วต้องคิดต่อค่ะ
วิถีชีวิตของคนในยุคดิจิตอลนั้นยุ่งเหยิงยิ่งนัก โดยเฉพาะคนในเมือง แทบจะไม่มีเวลาหยุดคิดเลย ไหนไปตามภาระที่จี้อยู่ เลยทำให้ประมาทครับน้องอึ่ง พี่เองก็ตาม หลายครั้งรีบเร่งจนประมาทไป