“ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.1

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 7, 2009 เวลา 22:24 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2588

มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้ฟัง คอน ของเรา บรรยายที่ภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บ่ายวันนี้ ในหัวข้อเรื่อง สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เป็นการเชิญของ Blogger ท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่(อาจารย์ ดร.กานดา ใน G2K) ผมขอคุณ คอนเข้าไปฟังด้วย เพราะผมสนใจ เพราะเรารู้กันว่า คอนเขามีประสบการณ์มากมายและเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากผมอันเนื่องมาจากฐานความรู้ที่แตกต่างกัน

ผู้ฟังเป็นนักศึกษาในภาควิชาตั้งแต่ปี 2-4 จำนวนก็เต็มห้องเลคเชอร์ขนาดใหญ่ ผมได้อะไรมามากมายสมใจทีเดียว แม้คอนจะถ่อมตัวว่านักศึกษาอาจจะฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม ผมว่านักศึกษารู้เรื่องเพราะตอบสนองต่อประโยคคำพูดต่างๆของคอนพอสมควรทีเดียว ส่วนผม มีฐานการผ่านงานมาแล้วจึงรับได้เต็มๆ แม้ว่าสาระที่คอนกล่าวจะเป็นเรื่องราวทางคอมพิวเตอร์ ที่ผมไม่กระดิกก็ตาม แต่ผมรับหลักการได้ และสัมผัสได้ ผมขอยกเพียงสองผลึกเท่านั้น (ทั้งที่มีผลึกตกที่ห้องนั้นมากมายครับ)

การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ค้นคว้าเอง ศึกษาเองได้ นี่คือผลึกของคอนที่กล่าวแก่นักศึกษาพร้อมยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของคอนเองเพราะมีลูกน้องในที่ทำงานเป็นศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นคนหนึ่งจบสาขาฟิสิกส์ แต่ไปทำงานกับคอนในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ เพราะเขาเรียนของเขาเอง จนเก่ง

เรื่องนี้ผมก็มีตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกคนหนึ่งจบทางด้านพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ แต่ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทเบียร์สิงห์ที่ไปตั้งโรงงานที่ท่าพระ ขอนแก่น เขาเรียนนอกห้องเรียน เรียนเอง มุมานะจนมีความชำนาญ ทั้งนี่เพราะใจรัก เมื่อใจรักก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ทุ่มเทให้กับความรัก ความสนใจของเขา และประสบผลสำเร็จด้วย เผลอๆอาจจะมากกว่าคนที่เรียนจบมาทางสายนี้โดยตรงด้วยซ้ำไป

อีกหัวข้อหนึ่งที่คอนวางผลึกไว้ให้นักศึกษาวันนี้ คอนกล่าวว่า ตอนที่เรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ นั้นไป Take Course วิชา จิตวิทยาสังคม ที่คณะครุศาสตร์ และได้เอาสาระมาใช้มากจนปัจจุบันนี้

ผมทำงานมาหลายโครงการ และเกือบทุกโครงการที่ทำก็มักจะรบราฆ่าฟันกับฝ่ายวิศวกรรม เสมอมา เพราะความคิดเห็นที่มีต่อกิจกรรมมักจะแตกต่างกันเสมอเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนในชุมชน คนข้างกายผมก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เรามักจะมานินทาวิศวกรในโต๊ะอาหารเสมอ แม้ว่า พี่ชายคนข้างกายผมจะเป็นวิศวกรรุ่นพี่สถาบันคอนถึงสามคน เจอะหน้ากันก็ต้องเว้นเรื่องเหล่านี้ที่จะไม่แตะ เอาความเป็นพี่น้องมาคุยกันดีกว่า อิอิ…

วิศวกรจะมองเรื่องเหตุผลทางด้านเทคนิค และความคุ้มทุน แต่เหตุผลทางสังคมจะให้น้ำหนักน้อย ถึงน้อยมากๆ บางคนไม่สนใจเลยด้วยซ้ำไป มีเรื่องราวมากมายที่เล่าไม่จบเกี่ยวกับคู่ขนานวิชาชีพนี้ อิอิ.. แต่ก็มีวิศวกรหลายท่านที่คำนึงสาระเหล่านี้ และทำได้ดีมากๆด้วย

ผมเคยเข้าไปดูหลักสูตรวิศวชลประทาน ของกรมชลประทาน พบว่าเรียนเรื่องเล่านี้เพียงเป็นวิชาเลือก 3 เครดิต นอกนั้นเป็นสาระทางวิศวกรรมล้วนๆ ทั้งที่วิศวกรเหล่านี้ต้องออกไปทำงานกับคน สังคม ชุมชน ระบบของชุมชน วัฒนธรรมของชุมชน หากไม่เข้าใจเขาแล้วคุณก็อาจจะเยียบย่ำจิตใจชาวบ้าน

ผมมีตัวอย่างที่คลาสสิคต่อเรื่องนี้เพื่อมาสนับสนุนผลึกของคอนครับ ครั้งหนึ่งบริษัทส่งผมไปทำงานกับกรมทางหลวง ภายใต้ความร่วมมือกับ ADB เพื่อศึกษาและทำต้นแบบการก่อสร้างทางหลวงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม…

เรื่องนี้เกิดที่ลำปาง ทางหลวงแผ่นดินเส้นหนึ่งถูกสร้างขึ้น 4 เลน มีเกาะกลาง และมี U turn ที่ห่างออกไปจากชุมชน ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความปลอดภัยในวิชาชีพการออกแบบถนนหลวง เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ดีอกดีใจที่ได้ถนนคุณภาพดี มีสะพานลอย ถนนกว้างขวาง แต่บางส่วนก็บ่นว่า แต่ก่อนข้ามถนนตรงไหนก็ได้ ตอนนี้ต้องเดินขึ้นสะพานลอยซึ่งไกลออกไปและดูจะยุ่งยาก ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน จะเลี้ยวรถทีก็ขับไปไกลโน้น… แต่เมื่ออ้างหลักความปลอดภัย ทุกคนก็กล้ำกลืนความรู้สึกต่างๆกันไป

แต่ที่ชาวบ้านไม่ยอมกล้ำกลืนและลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนก็เมื่อเกิดมีคนตายขึ้นมาซิ… ไม่ใช่ตายเพราะอุบัติเหตุจากถนน ก็แก่ตายธรรมดานี่แหละ..

อ้าว มันไปเกี่ยวกับถนนอย่างไร…

เกี่ยวซิ เกี่ยวมากด้วย…

ก็เมื่อคนตาย ประเพณีทางเหนือก็ต้องเอาร่างไปเผาที่ป่าเฮ้ว(ป่าช้า) การเอาร่างไปก็ต้องใส่ล้อเลื่อนที่สร้างขึ้นมาเฉพาะแล้วลากไปตามถนนโดยเอาหัวออกไปก่อน และที่สำคัญห้ามเอาหัววกกลับมาทิศทางที่บ้านอยู่ ต้องเอาหัวไปทางป่าเฮ้วเท่านั้น…

แล้วกัน.. บ้านคนตายอยู่ฝั่งซ้าย ป่าเฮ้วอยู่ฝั่งขวา แล้วต้องไป U turn โน้นนนนนน….เมื่อ U turn หัวร่างผู้วายชนม์ก็ต้องหันกลับมาทางบ้านซิ….. ก็ผิดประเพณี…

เรื่องนี้ถึงกับเดินขบวนให้รื้อเกาะกลางถนนเพื่อประเพณีดังกล่าว….

ใช้เวลาต่อสู้เรื่องนี้กันนาน เพราะทางหลวงก็อ้างหลักความปลอดภัย ชาวบ้านก็ไม่ยอม พยายามหาทางออกกันหลายวิธี แม้มีนายช่างบางคนเสนอย้ายป่าเฮ้ว ก็มี…

แต่ในที่สุดทางหลวงก็ต้องรื้อจริงๆ…..

นี่คือบทเรียนที่สำคัญที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยเช่นกันครับ…..

« « Prev : สะเมิง: เมื่อม้งเข้าห้องเรียน

Next : “ผลึก” Conductor หล่นที่ มข.2 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มกราคม 2009 เวลา 23:04

    ขอบคุณพี่บู๊ทที่กรุณาเลี้ยงอาหารเช้า และนั่งฟังอยู่เป็นกำลังใจครับ

    การลงทุนกับการศึกษา เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ถ้าเพียงแต่ได้แง่คิดไปนิดเดียว และทำให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น (เพียงนิดเดียว) ก็คุ้มแล้วครับ

    ถ้าให้ผมพูดเรื่องนี้อีก ผมคงจะพูดไม่เหมือนเดิมหรอกนะครับ แล้วแต่กลุ่มผู้ฟัง แต่ผมยังคงสงสารผู้ฟังเช่นเดิมครับ อิอิ

  • #2 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มกราคม 2009 เวลา 23:38

    พี่บางทรายคะ..สงสัยว่าน้องคงค้อง “ควงหน้า” เพราะ คุณคอน เธอบอกว่า ถ้าเห็นด้วยทุกข้อต้องควงหน้า

    เชื่อและอยากให้เด้กๆ ที่สอน เรียนรู้เอง ค้นคว้าเองได้

    บางอย่างในห้องเรียนก็ไม่มีสอน และบังเอิญก็เป็นคนที่เรียนมาสาขาหนึ่ง แต่ทำงานอีกสาขาหนึ่ง พบว่า กลับเป็นประโยชน์ที่จะมีมุมมอง วิธีคิด วิธีทำงานที่ต่างออกไปจากทีม ที่ถูกฝึกมาตรงสาขา แถมยังอาจหาญก่อตั้งและบริหารโรงเรียนระดับอนุบาล โดยศึกษาจากหนังสือและดูงานกันเอง จนโรงเรียนอยู่ได้มายี่สิบปี ราชการก็เกณฑ์ให้ไปเรียนด้านบริหารการศึกษา ด้วยว่าไม่ได้จบมาด้านนี้..555

    สำหรับเรื่องถนน..ปีที่ผ่านมาก็เพิ่งจะเสียลูกศิษย์ชั้น ม.3 ไปในวันสอบวันสุดท้ายเสร็จ ก็ถนนสายเชียงใหม่-ลำปางนี่แหละค่ะ ช่วง u-turn ยาวไกลมาก ชาวบ้านที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนน ถ้าจะเข้าเมือง ก็ต้องไปกลับรถไกลเป็นกิโล เลยใช้วิธีขี่มอเตอร์ไชค์เลาะสวนทางถนนใหญ่ย้อนมาหาทางแยกที่จะข้ามไปอีกฝั่งได้ อุบัติเหตุจึงเกิดที่จุดนั้นบ่อยๆ การที่ต้องไปเห็นลูกศิษย์ตัวเองนอนอยู่ข้างถนนนี่..รู้สึกแย่จริงๆ นะคะพี่

    พี่เก็บมาฝากสองเม็ดเองหรือคะ..แหม..อยากอ่านอีกหลายเม็ดค่ะ ^^

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มกราคม 2009 เวลา 0:45

    เอาไว้กลับถึงบ้านก่อนครับ ถ้ายังจำได้ จะเขียนบันทึกครับ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มกราคม 2009 เวลา 0:53

    คอนครับ

    หากพี่จัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ต่อการเชิญ ผู้บรรยายพิเศษ มาบรรยายเช่นนี้ (หรืออื่นๆก็ตาม) พี่จะใช้เวลามากกว่านี้ และหลังการบรรยาย ผู้บรรยายตอบคำถามเสร็จสิ้นแล้วและอาจจะเดินทางกลับ แต่ควรจัดกระบวนการต่อเนื่องต่อนักศึกษาที่เข้าฟังทั้งหมด ที่เราเรียก Knowledge Digestion(KD)

    เพราะคุณค่าสาระของผู้บรรยายนั้นมหาศาล โถ…คนเรามีชีวิตมาถึงขนาดนี้ ผ่านร้อนหนาวมามากขนาดนี้ แค่หยิบประเด็นที่ผ่านมาเล่าให้ฟังก็เรียกว่าเรียนลัด และสามารถต่อยอดได้ มหาศาล

    พี่จะแบ่งกลุ่มย่อยนักศึกษา แล้วให้แต่ละคนสรุปว่าได้อะไรบ้าง แล้วเอาประเด็นนั้นๆมาถกกันต่อให้ถึงที่สุด หากแต่ละกลุ่มสรุปสาระไม่เหมือนกัน ก็เอากลุ่มย่อยมารวมกลุ่มใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อ

    การทำแบบนี้ คือการย่อย (Digest) ความรู้ (Knowledge) ที่ได้ ก็จะแตกฉานและลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเพียงฟัง โดยเฉพาะนักศึกษาที่ยังไม่มีประสบการทำงานมาก่อน จำเป็นต้องมีกระบวนการย่อยเสริมการฟังเฉยๆ…หรือ ถาม ตอบ..

    ถ้าให้มากไปกว่านั้นก็อาจจะให้นักศึกษาทำรายงานออกมา หากทำได้อย่างนี้ ความรู้ที่ได้ก็แตกฉาน การ Digest นั้นกระบวนการทางสมองเราจะซึมซับความรู้เข้าไป เหมือนร่างกายซึมซับอาหารโดยกระบวนการย่อยในกระเพาะและลำใส้

    เราทำเช่นนี้กับชาวบ้าน หลังการศึกษาดูงาน

    ถ้าจะให้ครบก็อาจจะมีขั้นตอนก่อนการดูงาน ก่อนการบรรยาย เพื่อเป็นการเตรียมตัวที่จะทำ Knowledge Digestion แลกเปลี่ยนนักศึกษากันก่อนในประเด็นความคาดหวังบ้าง ความคิดเห็นที่เกี่ยวกับประเด็นที่จะบรรยาย เป็นการ warm up เป็นการ stimulate สมาธิ ความคิด สาระ ประเด็น เรื่องที่จะพูดคุยกันต่อไป….

    เพราะสาระที่ผู้บรรยายนำเสนอนั้น วิเศษสุดอยู่แล้ว เราจะทำให้ผู้ฟัง “บริโภค” ได้แค่ไหน นั่นคือกระบวนการที่ กระบวนกรควรพิจารณาทำครับ….

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มกราคม 2009 เวลา 1:18

    น้องอึ่งครับ

    ยิ่งเด็กยิ่งสำคัญมากๆๆๆๆๆๆๆ เพราะพี่คิดว่า เบ้าหลอมชีวิตช่วงเด็กนี้เป็นช่วงที่สำคุญสุด เพราะเด็กมีการฟอร์มระบบการเรียนรู้ของสมอง การเราโปรแกรม อะไรเข้าไปก็จะติดตัวเขาไปนานแสนนาน บางเรื่องติดไปตลอดชีวิต

    ที่เราเรียกว่าสร้างนิสัย

    พี่เพิ่มให้ในความเห็นที่ 4 ครับที่เรียกว่า Knowledge Digestion พี่ว่าเรื่องเหล่านี้ ครูเขาถนัดอยู่แล้ว และทำกันอยู่แล้ว เพียงเราอาจจะ พิจารณาพัฒนากระบวนการนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร

    ในเรื่องการทำงานพัฒนาชุมชน มีกระบวนวิธีหนึ่งที่พี่ใช้อยู่ ที่เรียกว่า Expert System (ES) กล่าวคือ แม้ว่าพี่จะทำงานมานานนับสามสิบกว่าปีแล้วในด้านพัฒนาชุมชน แต่ก็มิใช่พหูสูตรที่รู้แจ้งแทงตลอด เชี่ยวชาญไปหมด ไม่ใช่เลย…เมื่อชุมชนมีความแตกต่าง หลากหลาย เราประเมินว่ามีผู้รู้เรื่องนี้มากกว่าเรา มีผลงานที่ดี เราก็เชิญเขามาดูงาน แล้วให้ Comment หากจำเป็นต้องใช้เวลา ก็เชิญมาศึกษาสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วเขียนรายงานให้ หรือเปิด Mini workshop ให้ Expert นั้นๆแสดงทัศนะ ความเห็นให้ ส่วนเราจะรับเอาไปคิดต่อมากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องของเรา เพราะเป็นสิทธิของเรา…

    พี่ใช้ระบบนี้เหมือนกันครับ ก็ได้ผล Expert จะทิ้งประเด็นคมๆให้เราได้คิดต่อ บางเรื่องเราก็เคยคิดมาก่อน แต่ Expert มาชี้ให้เป็นความสำคัญ…..

    แต่บางเรื่องเราก็กองไว้ก็มี ก็ไม่เป็นไรเพราะ เราลงทุนน้อยที่สุด แค่เชิญมา 1 วัน หรือ 2-3 วัน แล้วขอความคิดเห็น ย้ำว่า ความคิดเห็นนั้นเมื่อเราย่อยแล้ว ก็เอาส่วนที่ดีไปใช้ ส่วนที่ยังไม่เหมาะสมก็วางไว้ก่อน…

    ระบบโครงการต่างประเทศใช้เรื่องนี้มากครับ…

  • #6 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มกราคม 2009 เวลา 8:52

    ดีใจที่ได้อ่าน..อิอิ
    แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้เกิดกับการเผชิญการบรรยายรูปแบบต่างๆ
    อยากให้นิสิต นักศึกษา เข้าไปอ่านสาระวิชา เอ๊ะหรือเรืยกว่า เจ๊าะแจ๊ะศาสตร์ ของท่านวิทยากร ล่วงหน้าๆ
    จะเป็นการเตรียมการรับ พอๆกับผู้บรรยายเตรียมการพูด
    เรื่องต่างๆจะซึมเข้ากันได้ง่ายขึ้น..เพราะมีการเตรียมการบ้าน
    อยากให้เกิดตรงนี้จริงๆ
    แต่เท่าที่ไปเจอมา ผู้เชิญจะมาขอประวัติวิทยากร แหม..มันสะท้อนอะไรเยอะ
    แสดงว่าจัดเพื่อให้ได้จัดจบๆไปอย่างนั้นเอง
    ใครที่เป็นวิทยากรบรรยายจะรู้สึกอย่างไร
    ผมอยาก ถี..คนเชิญ ที่มักง่าย เสียทุกอย่าง
    เฮ้อ ไม่ดีเลย บ่นๆๆๆ

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มกราคม 2009 เวลา 11:48

    เห็นด้วยครับพ่อครูบาฯ
    ในกรณีเช่นนี้ หากได้เตรียมตัวไว้ก่อนต่อประเด็นที่วิทยากรจะกล่าวก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ผู้ฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ก็จะได้รู้ความคิดพื้นฐาน รู้ประเด็นพื้นฐานและประสบการณ์พื้นฐานของผู้บรรยายได้
    ก็เป็นการอุ่นเครื่องที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง ดีกว่าที่จะเอาประวัติไปกล่าวยกยอปอปั้นกันจนไม่ได้สาระสำคัญ

    การกล่าวประวัติก็เพื่อพื้นฐานเบื้องต้น ไม่กล่าวก็ได้ แต่มีในเอกสารอยากรู้ไปอ่านเอา

    ดูเหมือนจะไม่มีสถาบันไหนทำครบกระบวนการเหล่านี้ หรืออาจจะมีก็ได้ผมไม่ทราบเอง…

    การบ่นแบบมีสาระแบบนี้ บ่นเถอะครับ..ผมชอบ..


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.49865508079529 sec
Sidebar: 0.94256091117859 sec