กินทุกอย่างที่ปลูก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 10, 2010 เวลา 20:14 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3031

การทำงานพัฒนาชุมชนหรืออื่นๆนั้นเรามักจะตั้งตัวชี้วัดที่สำคัญหนึ่งคือ ความต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งเป็นยาหม้อใหญ่สำหรับนักปฏิบัติ เพราะองค์ประกอบ ที่มาที่ไป การเริ่มต้น เงื่อนไขชุมชน การสนับสนุนจากภายนอก แม้แต่ระเบียบราชการต่างก็มีส่วนไม่มากก็น้อยต่อประเด็นชี้วัดดังกล่าว


เรามิใช่เทิดทูนทุกอย่างที่เป็นชุมชนว่าดีเลิศประเสริฐศรีไปหมด ที่ดีก็มีมาก ที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่างหากเปรียบเทียบครอบครัวกลุ่มผู้ไทกับกลุ่มไทบรู หรือโส้ กลุ่มโส้จะสกปรกกว่า บ้านช่องห้องหอ เกะกะ มองตรงไหนก็เป็นเรื่องต้องตำหนิติติงในมุมมองของคนเมืองอย่างเราไปหมด แต่เราจะไปชี้นิ้วให้เขาเปลี่ยนไปหมดทุกอย่างนั้น เขาคงหนีตะเลิดขึ้นป่าขึ้นดอยไปอีก ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายอย่างของเขานั้น ชนเผ่าอื่นๆอาจจะทำอยากกว่า เช่นการปฏิบัติทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง โดยเน้นเกษตรผสมผสานตามเงื่อนไขตัวเองนั้น มันสอดคล้องกับวิถีเดิมๆของเขา โส้ทำได้ดีมาก

เมื่อวันก่อนมีประชุมกรรมการเครือข่ายไทบรู แล้วลืมสมุดบันทึก จึงกลับไปเอา พบผู้นำรุ่นสองกำลังปฏิบัติหน้าที่ “คุณมาดี” เจ้าหน้าที่สถิติแห่งชาติที่กำลังทำการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วประเทศ ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ให้กำลังใจเขาเพราะผลการสำรวจมีผลต่อการพัฒนาประเทศ


พอดีเข้าสู่เวลาอาหารกลางวัน ประสิทธิ์ ผู้นำรุ่นสองอีกคนก็เตรียมอาหาร แบบง่ายๆ ผมไม่ทราบว่าเรียกอะไร เห็นเขาบอกว่าเป็นเมี่ยง ก็แปลกๆ เขาเอาตะไคร้มาหั่น ใส่ครก เอาพริกใส่ ข่ากลางอ่อนกลางแก่ ส้มมะขาม ตำพอแหลก แล้วที่ขาดไม่ได้คือปลาร้า เป็นเสร็จ


แล้ว ภรรยาพ่อหวังก็ไปเอากล้วยอ่อนและปลีมาหั่นใส่กะละมังที่ใส่น้ำ เอาเกลือใส่ลงไปพอสมควรขยำๆแล้วเทน้ำออก ใส่น้ำใหม่เข้าไปเพื่อล้างความฝาด ประสิทธิ์บอกว่านี่คือเมี่ยงของชาวบ้าน เอาปลีกล้วยมาห่อกล้วยอ่อน แล้วไปจ้ำเมี่ยงที่ตำมาแล้วนั้นใส่ปาก หยิบข้าวเหนียวตามไป

สักพักประสิทธิ์ก็เดินไปสวนข้างบ้านคว้าเอาใบมะละกอมาใบหนึ่ง ผมงง งง เอามาทำไม เขาบอกว่าเอามากินกับเมี่ยงนี่แหละ เขาบอกว่า หากกล้วยอ่อนยังฝาดอยู่ก็เอาใบมะละกอมาเพื่อตัดฝาด ความอยากรู้ผมลองชิมดู ก็จืดๆ รสชาติจะอยู่ที่ตัวเมี่ยงที่เขาตำมามากกว่า

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า หากมีมะเดื่อก็เอามากินได้ ยิ่งได้มะเข่งยิ่งอร่อย เพราะเขาจะออกเปรี้ยว มะเข่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ใบมีรสส้มใช้แทนมะขามได้ หน่วยสุกกินได้ หน่วยอ่อนจะมีรสฝาด ส่วนมะเดื่อนั้นมีสองชนิด ชนิดหนึ่งนั้นกินไม่ได้ แต่เอาไปให้วัวควายกินเวลาเขาคลอดลูก เพราะจะช่วยให้ “น้องวัว” ตกง่าย น้องวัวคืออะไร นี่ต้องถาม อาวเปลี่ยน ได้ข่าวว่าชอบนัก..

ภรรยาพ่อหวังบอกว่า “นี่ไงปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เพราะทุกอย่างที่เป็นอาหารมื้อกลางวันนี้ไม่ได้ซื้อหามาเลย และทุกอย่างมีอยู่ในสวนเล็กๆนี่เอง ชาวบ้านถึงบอกว่า เข้าป่านั้นเอาแค่กระติ๊บข้าวไปเท่านั้น อาหารหรือกับข้าวไปหาเอาข้างหน้าในป่า

หากมองในมุมของนักโภชนาการนั้นสอบตกหมด เพราะความสะอาดนั้นไม่ผ่าน..

เรื่องนี้หากหยิบมาพัฒนากันละก็คงใช้เวลามากกว่าโครงการปัจจุบันที่กำลังจะปิดตัวลงน่ะครับ…


ว่าวลุงภี…(1)

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 14, 2008 เวลา 20:47 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 5010

เพียงแค่กรมอุตุฯประกาศวันเดียวว่าภาคเหนือ และอีสานนั้นลมหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว พ่อค้าขายว่าวก็เอาว่าวออกมาขายเต็มถนนที่มุกดาหาร

นายสุภี เผือดนอก หรือลุงภีนั้นไม่ได้เงี่ยหูฟังกรมอุตุฯหรอกครับ แต่วิถีชีวิตชุมชนคนบ้านนอกนั้นบอกว่า เมื่อออกพรรษาก็จะเข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนา และลมหนาวหรือลมแล้งก็จะเข้ามาแล้ว ลุงภีซึ่งนอกจากทำนาแล้วยังทำว่าวขาย ก็ช่วงชิงเวลานี้ก่อนที่จะกลับบ้านไปเกี่ยวข้าวในนาของตัวเอง 17 ไร่ และอีก 20 ไร่ที่ขอเช่าที่นาเพื่อนบ้าน

ลุงภีไม่ใช่คนมุกดาหารหรอก มาจากบ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่นนู้น เร่ร่อนขายว่าวไปทั่วอีสานแม้ภาคกลางภาคเหนือก็ไปมาหมดแล้ว เว้นภาคใต้เท่านั้นที่ไม่เคยไป มาขายกับลูกสาวและลูกเขย และเพื่อนบ้านอีกหนึ่งคนที่อาศัยรถปิคอัพลุงภีมาด้วย

ว่าวลุงภีมีตั้งแต่ราคา 30 บาทไปจนถึง 500 บาท ทำเองทั้งหมด ลุงเป็นคนไปหาไม้ไผ่สีสุกในหมู่บ้านมาทำโครงว่าว ลูกสาว 5 คนออกจากโรงงานเย็บผ้าในกรุงเทพฯมาช่วยลุงตัดและเย็บว่าวที่บ้านทั้งหมด อยู่โรงงานก็แค่นั้น สู้มาช่วยกันทำมาหากินแบบบ้านเราดีกว่า เงินทองก็มีเก็บ อยู่กับลูกกับผัว กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีกินไม่อด แค่นี้ก็พอแล้ว ลุงภีกล่าว

ที่ต้องเป็นไผ่สีสุก เพราะว่าเวลาเหลาให้เล็กและดัดให้โค้งงอตามต้องการนั้น ไผ่ชนิดนี้จะมีความเหนียวไม่หักง่ายเหมือนไผ่อื่นๆ ว่าวของลุงภีไม่ใช้กระดาษเลยเป็นผ้าร่มทั้งหมด เพราะมันเหนียวไม่ขาดง่ายหากถนอมดีดีก็ใช้เล่นได้นานหลายปี ลูกสาวคนหนึ่งเป็นคนตัดแบบที่ลุงภีออกแบบและวัดขนาดไว้ แล้วอีกสองสามคนก็เย็บเข้ารูปตามขนาดต่างๆ เรียกว่าเป็นหัตถกรรมครอบครัวก็ได้

ผ้าร่มนี้มีสองชนิด คือชนิดบางลมแรงๆผ่านทะลุได้ และแบบหนาที่อาบพลาสติกแบบกันน้ำได้นั้น หนาและลมไม่ผ่านเนื้อผ้าได้ ราคาก็แพงขึ้น ลุงจะซื้อผ้ามาจากตลาดเมืองพลเป็นมัดๆ เรียกว่ายกมัดมาเลย แล้วแต่สีที่ชอบ มักจะเป็นสีส้ม แดง เขียว น้ำเงิน ขาว ก็คอยสังเกตเอาว่าลูกค้าชอบสีไหน

เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาลุงภีเห็นคนชัยภูมิเอาว่าวมาขายริมถนน เข้าไปสังเกตพบว่าขายได้ดี และทำไม่ยาก จึงคิดทำบ้าง และเรียนรู้เอา ครั้งแรกๆว่าวที่ลุงทำและติดผ้าร่มนั้นไม่ขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อปล่อยกินลมมันก็ตกลงมา ก็ศึกษาดูว่าเป็นเพราะอะไร นานทีเดียวก็พบว่า ส่วนหัวมันหนักเกินไป จึงตัดไม้ที่ทำโครงส่วนหัวให้สั้นลงมา เนื่องจากเป็นผ้าร่มและใช้วิธีเย็บหุ้ม มันจึงไม่มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง นี่เป็นการดัดแปลงจากการเรียนรู้ของลุงภีเอง

หมู่บ้านของลุงภีที่ชื่อบ้านโนนเมืองนั้นมีประมาณ 180 หลังคาเรือน ทำอาชีพรองหลังจากปลูกข้าวแล้วมากถึง 70 % หรือประมาณ 130 หลังคาเรือน ทั้งนี้เพราะว่ากำไรดี ไม่น่าเชื่อว่าลุงภีทำกำไรต่อปีโดยเฉลียประมาณ 1-3 แสนบาท ไม่ทำอย่างอื่นเลย ทำนากับทำว่าวทั้งปี เมื่อว่างก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ 6-7 พันตัว แล้วก็ออกตระเวนขายเมื่อถึงหน้าออกพรรษาเรื่อยไปจนเข้าฤดูฝน ตระเวนไปจังหวัดนั่นจังหวัดนี่ เขามีงานประจำปีที่ไหนก็ไป

ลูกๆทุกคน ลุงภีดาวน์รถปิคอัพให้หมด ให้เงินทุนสร้างบ้านหมด ใครเดือดร้อนอย่างไรก็มาแบบมือขอใช้ ผมก็ให้หมดจนไม่เหลืออะไร ผมไม่อยู่ลูกๆก็มาขอกับแม่มัน และก็ให้ไปหมด ลุงภีกล่าว ผมไม่ว่าอะไรหรอกก็ลูกเรา และเราก็แก่เฒ่าแล้วไม่ได้ใช้เงินทองทำอะไรอีก หาเงินมาให้เขานั่นแหละ… (ต่อตอน 2)



Main: 0.027350902557373 sec
Sidebar: 0.56495809555054 sec