เฮฯหกกับบางทราย 1

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 30, 2008 เวลา 8:50 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3013

เพราะเช้าวันเสาร์ต้องไปร่วมงานบุญครบรอบการเสียชีวิตหมอยุทธและแม่ชีป่านที่สกลนคร ผมและครอบครัวจึงเดินทางออกจากขอนแก่นเย็นแก่ๆ และมามืดที่เขาค้อ แล้วควานหาที่พักกัน เข้าไปหา 2 แห่งล้มเหลว…. หิวก็หิว แต่ก็ต้องหาที่พักก่อน

เราคุยกันว่า เออ สถานที่พักใหญ่โต แต่ไม่มีระบบแจ้งแขกที่จะมาหาที่พักว่า มีห้องพักว่างให้เช่าหรือไม่ เหมือนยุโรปที่เราเคยขับรถเที่ยวมา แค่ผ่านป้ายที่พักเขาก็มีสัญลักษณ์บอกว่าเหลือกี่ห้อง หรือเต็มแล้วจะได้ไม่เสียเวลาเข้าไปถาม เจ้าของเองก็ไม่เสียเวลาตอบคำถาม

เราตัดสินใจไปหาข้างหน้าลึกเข้าไปในภูเขาค้อแล้วเราก็พบป้ายบอกว่า ห้องว่าง 1 หลัง เราขับรถเข้าไปหาที่ติดต่อไม่มี นึกได้ว่าที่ป้ายตะกี้มีเบอร์โทรศัพท์บอกไว้เราโทรดู ได้เรื่อง เรามีที่พักเป็นบ้านหลังเบ่อเริ่ม ราคา 1000 บาท พักกัน 3 คน พ่อแม่ลูก ความจริงเขาจัดที่พักได้มากถึง 15 คน…

สองสามีภรรยาเป็นอดีตข้าราชการเก่ามาซื้อที่ดินไว้นานแล้ว ยามแก่เฒ่าก็มาทำบ้านพักให้เช่า…ชื่อที่พักคือ ตุ๋ยกะติ๋มเป็นชื่อเจ้าของแหละครับ ท่านมีบุตรสาว 1 คนกำลังเรียนปีสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์รังสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์

เราพอใจเป็นที่สุดที่โชคดีได้บ้านพักทั้งหลัง มีสองห้องนอนและห้องโถงที่ปูที่นอนได้มาก มี 2 ห้องน้ำ มีห้องครัว เครื่องครัวเพียบ ตู้เย็น ทีวี จานดาวเทียม

สภาพยังใหม่เลย ที่ปิดเปิดไฟพลาสติกยังหุ้มอยู่เลย สงบเงียบ กว้างขวาง ดีกว่าพักโรงแรมรีสอร์ทอีกเป็นไหนๆ

คุณติ๋มแสนจะน่ารัก เช้าขึ้นมาเธอเดินเอาขนมพร้อมแผนที่มาให้ และเอาใบเตยจับจีบเป็นดอกกุหลาบมาให้สามดอกให้เอาใส่ห้องน้ำและฝากใส่รถให้ไปด้วย น่ารักจริงๆ เธอช่างคุยจนเพลิน

เพื่อนๆใครผ่านมาทางนี้ก็เชิญมาอุดหนุนนะครับ


สันติเสวนา…(3)

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 11:54 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2958

เมื่อพิจารณาเหตุของปัญหาแล้วเห็นว่ามันซับซ้อน เกี่ยวเนื่อง พัวพันกันไปหมด ทั้งตรงทั้งอ้อม ทั้งมากทั้งน้อย….

แล้วทำไง?

สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขป้องกันระยะยาว การแก้ไขระยะยาวนั้น มีข้อน่าพิจารณาดังนี้….

- ฟื้นฟูระบบสังคมคุณธรรม: หรือคุณค่าความเอื้อเฟื้อ อาทรแก่กัน แล้วทำอย่างไร สาธยายกันยาวเหยียด ค่อยว่ากัน

- กิจกรรมทางสังคมแบบเดิมๆที่เป็นกิจกรรมสะสมทุนทางสังคม หน่วยงานต้องฟื้นสาระนี้ขึ้นมา มิใช่เพียงสร้างรูปแบบเอาไว้

- การเสริมสร้างทัศนคติต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม: ระบบการศึกษาที่เป็นเบ้าหลอมเด็กต้องปฏิวัติใหม่หมด

- การปรับปรุงกฎหมาย: ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ..

- ทบทวนหลักการเสรีประชาธิปไตย: น่าจะมีอะไรบกพร่องในรายละเอียดของหลักการนี้…

- อีกมากมาย มากมาย มากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ต้องกระทำกันเป็นกระบวนการ บูรณาการ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะระบบคุณค่าทางสังคมนั้นแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามพื้นวัฒนธรรมเดิม การเสริมสร้างฟื้นฟูมิใช่ทำแค่รูปแบบเท่านั้น แต่เน้นความเข้าใจ สืบต่อทางด้านสาระเป็นหลัก..

กรณีความขัดแย้งเฉพาะหน้า หรือปัจจุบันนั้น (กรณี ปัจจุบัน)


ทัศนคติส่วนตัว

- เห็นว่าความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่จุดที่ไม่สามารถเจรจากันได้ ต่างฝ่ายต่างขีดเส้นแบ่งไว้แล้ว และยึดมั่นว่าจะไม่ก้าวผ่านเส้นแบ่งนั้นไป และหาทางเผด็จศึกอีกฝ่ายด้วยวิธีการทั้งทางเปิดเผยและทางลับ ทั้งที่ถูกกฎหมายและทำไปแบบข้างๆคูๆ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย

- หมดเวลาต่อการเรียกร้องเพียงวาจา ต่อให้ไพเราะแค่ไหนก็ทำไม่ได้แล้ว สถานการณ์พัฒนาขึ้นสู่ความขัดแย้งที่สูงแล้ว

- ตั้งเงื่อนไขไว้สูงที่จะบังคับให้อีกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม แล้วหาทางกดดันต่อไปด้วยวิธีการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก

- สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยสันติเสวนาตามปกติเสียแล้ว

ถามว่า: ไม่มีที่นั่งที่สามารถปักป้าย สันติเจรจา หรือ สันติเสวนาเลยหรือ

ตอบว่า: พอมีอยู่บ้าง

การแก้ไขแบบสันติทำอย่างไร

ต้องใช้อำนาจที่สาม หรือที่สี่ เข้ามา เช่น ฝ่ายทำเนียบเรียกร้องทหาร ก็หวังว่าทหารจะออกมาอยู่ข้างประชาชนเหมือนในตุรกี และอื่นๆ โดยไม่ใช้กำลัง ซึ่งขึ้นกับว่ารายละเอียดของอำนาจที่สามนี้จะยืนตรงไหน อย่างไร…. (แต่ก็หมิ่นเหม่มากๆต่อความรุนแรง) การกดดันเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องยอมเจรจาและยอมสูญเสียบางส่วนเพื่อรักษาบางส่วน

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อำนาจทางตุลาการต้องเข้มแข็ง ไม่โงนเงน อ่อนไหวไปตามกระแสทุนที่สามารถไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น เอาหลักการตามกฎหมายมาจัดการผู้กระทำมิชอบอย่างตรงไปตรงมา

อีกหนทางหนึ่งคือ ผู้ที่มีบารมีสูงส่งก้าวมาเป็นผู้ใช้สันติเสวนา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และทุกอย่างก็สงบลงได้จริงๆ ในปัจจุบันผู้มีบารมีสูงส่งที่เป็นสามัญชนธรรมดานั้นดูจะไม่มีทางที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แล้ว

ทำไมปัจจุบันผู้มีบารมีในสังคมจึงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้

- เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาท่ามกลางความวิปริตของสังคมไทย เพราะเปลืองตัว หรือหาเรื่องเปล่าๆ

- เพราะไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คนกลาง ก็ไม่แน่ใจว่ากลางจริงหรือไม่ กลางของใคร ต่างเกรงว่าตัวเองจะเสียเปรียบ และถึงแก่ความพินาจ สูญเสียประโยชน์มหาศาล

(มีผู้อยู่วงในกล่าวว่า คนสี่เหลี่ยมมีเงินจริงๆถึงสามแสนล้าน และมีธุรกิจที่มีรายได้อีกมากมาย เช่นที่ประเทศจีน สมมุติว่าจะถูกกฎหมายไทยยึดทรัพย์สินหมดตามที่มีการฟ้องร้องกัน ก็อยู่ได้อย่างราชาเพราะมีรายได้ปีละหนึ่งหมื่นหกพันล้าน…ก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกัน) เงินเป็นปัจจัยในการต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง แบ่งเงินมาปีละ ห้าพันล้าน ก็สู้กันไปอีกนาน หากฝ่ายตุลาการเข้มแข็งตลอด ผู้รักษากฎหมายเข้มแข็ง ทหารไม่ไหวเอน ประชนเข้าถึงความจริงทุกด้าน …. แม้ลึกๆจะเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ลุกขึ้นยืน แต่ก็เหนื่อยอ่อนเต็มที….

ท่ามกลางค่านิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตยเช่นนี้…ท่ามกลางทัศนคติที่มุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายไว้ที่ อำนาจ กับ ทุน เพื่อผลประโยชน์ ประชาชนอย่างเราต้องตั้งสติให้มั่นคง…

ทำให้นึกถึงเพลงหนึ่งที่ร้องกันในที่รโหฐานว่า

หยดฝนย้อย..จากฟ้า..มาสู่ดิน

ประมวลสินธุ..เป็นมหา..สาครใหญ่

แผดเสียงซัด..ปฐพี..อึ่งมี่ไป

พลังไหล..แรงรุด..สุดต้านทาน

อันประชาฯ..สามัคคี..ที่จัดตั้ง

เป็นพลัง..แกร่งกล้า..มหาศาล

แสนอาวุธ..แสนศัตรู..หมู่อันธพาล

มิอาจต้าน..แรงมหา..ประชาชน

สันติภาพจงเจริญ..


สันติเสวนา… (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 0:35 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2776

สรุปจากตอนที่ 1


วิเคราะห์ : สังคมเราซับซ้อนมากขึ้น จนระบุสาเหตุเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง กลุ่มสาระใดสาระหนึ่งเด็ดขาดไม่ได้ ต่างมีส่วนเนื่องกันทั้งตรงและอ้อม ทั้งมีส่วนมากและน้อย

แต่ละสาระมีรายละเอียดมากมาย และทั้งหมดผันแปรไปตามการเปลี่ยนทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ระบบการพัฒนาประเทศชาติทั้งหมด ภายใต้กรอบระบบเสรีประชาธิปไตย..

ประชาชนฐานรากก็มีสาระในวงล้อมเขาแบบหนึ่ง นักการเมืองฉลาดแกมโกง อ่านสังคมออกก็ใช้จุดอ่อนต่างๆเหล่านี้เป็นเส้นทางการเข้าสู่อำนาจ แล้ว อำนาจก็เป็นที่มาของทุน (ย้ำว่านักการเมืองน้ำดีมีอยู่)

นักธุรกิจอุดมการณ์ทุนสามาลย์ก็อ่านออกว่าสังคม โครงสร้างสังคม และส่วนต่างๆนั้นมีจุดอ่อน ที่เขาสามารถใช้เป็นช่องทางการก้าวเข้าสู่อำนาจ จึงใช้ทุน หรือเงิน ซึ่งนักการเมืองบางคนก็ใช้เงินจำนวนมากที่มิใช่เงินจากกระเป๋าเขาเองด้วย นี่คือความฉลาดแกมโกง และด้วย ทุนมหาศาล เขาก็ก้าวสู่อำนาจ (ทุนดีดีก็มีอยู่ครับ)

ลองย้อนดูความขัดแย้งในสังคมหมู่บ้านเดิม ที่จบลงที่ ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ซึ่งเป็นระบบคุณค่าเดิม ลูกหลานในหมู่บ้านมีเรื่อง มีปัญหา พ่อแม่เขาก็มาพบ ผู้เฒ่าเจ้าโคตรให้เป็นคนกลางที่มีคุณธรรมมีจริยธรรมไม่เข้าใครออกใคร เกลี้ยกล่อม การที่ท่านผู้เฒ่ามีคุณสมบัติต่างเป็นที่เคารพของชุมชนนั้น เมื่อท่านพูดอะไรถือเป็นมงคล แล้วก็ไกล่เกลี่ยจนความขัดแย้งนั้นสลายไป กลับมาคืนดีกัน วิธีการของพ่อเฒ่าในสมัยนี้อาจจะเรียกว่า สันติเสวนา ก็ย่อมไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

หากบางสังคมไม่มีผู้เฒ่าที่มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือสังคมใหม่เข้าไปครอบเสียคุณค่าเดิมสลายไปหมดสิ้นแล้ว ปัญหาต่างจึงมุ่งตรงไปสู่ที่โรงพัก หนักมากขึ้นก็ถึงโรงศาล ซึ่งเป็นระบบการแก้ปัญหาในระบบสังคมใหม่

ความขัดแย้งในหน่วยงาน จบลงที่ระเบียบ ข้อบังคับในสำนักงานนั้นๆ หรือหัวหน้างาน นายจ้าง หรือตามกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งทางสังคมใหญ่ มีแต่ระบบกฎหมาย และจบลงที่ศาลสถิตยุติธรรม

มีข้อสังเกตว่า: ความขัดแย้งที่จบลงที่ระบบผู้เฒ่า เจ้าโคตรแบบดั้งเดิมนั้น จบลงแล้ว อยู่ด้วยกันต่อไปได้

แต่ความขัดแย้งที่จบลงที่กระบวนยุติธรรม โรงศาลนั้น จบลงด้วยกฎหมาย ข้อบังคับที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อการปกครองร่วมกัน แต่สองฝ่ายของความขัดแย้งกันนั้นไม่จบลงที่คำพิพากษา คำตัดสินเป็นเพียงการยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน

แต่ความสลดหดหู่ กลับเนื้อกลับตัวนั้นดูเหมือนจะไม่มี และกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น จึงมีจำนวนมากที่เมื่อออกจากการถูกลงโทษทางกฎหมายแล้ว ก็ปฏิบัติความชั่วนั้นต่อเนื่องอีก…..?? (มีต่อตอนสาม)

หมายเหตุ: การเขียนที่ผิดพลาดเรื่องสกด การันต์ ต้องขออภัยด้วยครับ


ตอบครูบา…สันติเสวนา (1)

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 24, 2008 เวลา 15:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2401

ขออนุญาตท่านครูบาหยิบโจทย์มาเขียนที่นี่ครับ..

โจทย์ใหญ่คับฟ้าเช่นนี้.. ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นต้องตีวงกันหน่อย

การเสวนาเพื่อสันติต่อกรณีไหน. เพราะแต่ละกรณีมีที่มาที่ไปต่างกัน มีต้นขั้วที่แตกต่างหลากหลาย ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยากง่ายแตกต่างกัน หากเราไม่รู้แจ้งแทงตลอดทั้งหมดก็ยากที่จะเสวนาเพื่อสันติ…..

เมื่อวันที่ 22 ผมเข้าร่วม การอภิปรายโดย อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ( อ.เจิมศักดิ์กับผมรู้จักกันเป็นส่วนตัว เป็นคนบ้านเดียวกัน เรียนมัธยมที่เดียวกันมา และเคยร่วมงานกันมาสมัยทำงานที่ จ.สุรินทร์ เคนเป็น reference person ตอนผมสมัครงานโครงการของ USAID ที่ขอนแก่นหลายสิบปีก่อน)

ในทัศนะผม อ.เจิมศักดิ์เป็นคนจับประเด็นเก่ง สรุปอะไรได้ชัด และมีความรู้กว้างขวางมากกว่าวิชาชีพด้านเศรษฐศาสตร์ที่จบมาจาก Princeton คนที่ได้รางวัลเหรียญทองจาก ดร.ป๋วย สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่มายืนข้างประชาชนตลอดมา ผมชื่นชมเป็นส่วนตัว

การสัมมนาวันนั้นมีหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับโจทย์ที่ท่านครูบายกมาแสวงหาความเห็น ผมเลยถือโอกาสนี้สรุปสั้นๆเอามาแลกเปลี่ยนกันครับ

สื่อสารมวลชน : การสัมมนาคืนนั้นผมทราบข้อเท็จจริงมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งปกติสื่อสารมวลชนต่างๆพยายามเจาะลึกอยู่บ้างแต่ก็มีข้อมูลหลายด้านที่ประชาชนสับสนอะไรแท้จริง อะไรบิดเบือน ชนชั้นกลางอย่างเรายังมีหนทางที่จะไขว่คว้าหาความจริงได้มากกว่า แต่ชาวบ้านที่ห่างไกลการเข้าถึงแหล่งข้อมูลนั้น ก็บริโภคแต่สื่อที่รัฐจัดให้เป็นหลัก และหากผู้ให้สื่อมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตพูดอีก ชาวบ้านก็ต้องเชื่อ…???

ระบบอุปถัมภ์ : สิ่งที่ผมได้ยินอีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ว่าสังคมไทยนั้นระบบอุปถัมภ์มีผลสองด้าน ในที่เสวนาครั้งนี้ก็ย้ำกันอีกว่า ระบบนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองผลประโยชน์ที่ฉลาดแกมโกง (นักการเมืองน้ำดีก็มีอยู่นะครับ มิใช่เลวไปหมด)

ค่านิยมของทุนนิยมสามานย์ : ในบรรยากาศที่สังคมเป็นทุนนิยมสามานย์ ต่างแข่งขันในการมีเงินและทรัพย์สมบัติให้มาก ระบบอุปถัมภ์เลยสอดคล้องกับพวกทุนและนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่แกมโกงนั้น…เราจะสังคายนาเรื่องนี้อย่างไร หรือทำอย่างไรให้ถูกใช้ในแง่เป็นประโยชน์เท่านั้น

การได้มาของนักการเมือง : ระบบเลือกตั้งนั้นมีจุดอ่อนที่ต่างเห็นๆ แต่แก้ไม่ตก จึงมีการระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ของการได้มาของนักการเมือง ก็กำลังถกกันในปัจจุบันที่ยังไม่ฟันธง มีกรณีตัวอย่างที่เขาแก้มาแล้วในจ่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน หรือออสเตรเลีย และ ฯลฯ

อำนาจทางการบริหารเข้าไปมีอิทธิพลอำนาจนิติบัญญัติ: ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องสาธยายมาก จะต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน โดยอำนาจบริหารจะต้องไม่สามารถมามีอิทธิพลเหนืออำนาจนิติบัญญัติ มิเช่นนั้นบ้านเมืองไปไม่ได้

ประชาชนฐานรากไม่มีส่วนร่วมแท้จริงในการปกครอง : แลกเปลี่ยนกันว่างบประมาณภาษีท้องถิ่นไม่ต้องส่งส่วนกลางให้อยู่ในท้องถิ่นนั้น แล้วบริหารกันเองในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ประชาชนจะรู้สึกมากขึ้นว่าเงินภาษีที่เขาเสียไปนั้น นักการเมืองท้องถิ่นเอาไปทำประโยชน์อะไรบ้าง มิใช่คิดแต่ว่า เงินที่ส่งมาจากส่วนกลางนั้นเป็นเงินหลวง(ทั้งๆที่เป็นเงินจากภาษีของเราเอง) ความรู้สึกการเป็นเจ้าของจะมีมากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น หรือมีอำนาจถ่วงดุลมากขึ้น

โครงสร้างตำรวจ: ตำรวจต้องเป็นตำรวจของประชาชนแท้จริง มิใช่ที่เห็นปัจจุบัน โดยการโอนไปอยู่ที่จังหวัด แล้วประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารตำรวจนั้นๆ….

ระบบคุณค่าทางสังคมเดิมจืดจางหายไป: ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจึงมีแต่ผลประโยชน์เป็นตัวเชื่อม ยิ่งมีระบบอุปถัมภ์ในมุมลบเป็นโครงสร้างหนุน คุณค่าเดิมทางสังคมจึงบิดเบือนไปเพียงเพราะว่า เขาเป็นญาติพี่น้อง เขาเป็นเพื่อน เป็นเจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ ที่อุบถัมภ์ค้ำชูกันมา ความผิดจึงซ่อนอยู่ใต้ความสัมพันธ์แบบนี้ ยิ่งค่านิยมทุนนิยมเข้ามา คนที่มีทุนการเงินมหาศาลจึงซื้อคนได้ง่ายมากๆ

ระบบศีลธรรมหดหาย บุญบาป ไม่มีใครเกรงกลัวต่อไป: นายแพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งบวชมาถึง 23 พรรษา ปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเกี่ยวกับผู้ป่วยช่วงสุดท้าย..ท่านกล่าวว่า ระบบสงฆ์ไม่มีบทบาทในการหล่อหลอมจิตใจประชาชนให้ดำรงคุณธรรมอย่างสูงได้เลย ตัวระบบสงฆ์ก็จำลองระบบราชการ เป็นระบบขึ้นต่อเหมือนระบบทางการปกครอง ตำแหน่งทางสงฆ์ก็ซื้อกัน พระต่างจังหวัดจะไปจำพรรษาที่วัดธาตุทองต้องจ่ายเงินแสนเพื่อจะเข้าสู่กุฏิได้ ??

อีกมากมาย…… (อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง ติดตามตอนสองอ่านเอา…)


ตอก….(1)

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 18, 2008 เวลา 17:33 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6712

วันนั้นผมเดินทางจากมุกดาหารกลับไปขอนแก่นเพื่อภารกิจ เมื่อมาถึง อ.คำชะอี บริเวณหน้าวัดหลวงปู่จาม ข้างถนนซ้ายมือผมสังเกตเห็นกองไม้ไผ่เล็กๆอยู่ เมื่อรถผมเลยมา นึกได้ว่านั่นน่าจะเป็น ตอกมัดข้าว นี่นา ทำไมมากองอยู่ริมถนนจำนวนมาก เช่นนั้น ผมตัดสินใจหยุดและกลับย้อนไปที่นั่น

ลงไปถ่ายรูป ใช่แล้วนี่มัน ตอกมัดข้าวตอกมีหลายความหมาย ที่นี่จะหมายถึง วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ เหลาให้เป็นเส้นๆ บางๆ เพื่อใช้มัดสิ่งของต่างๆ ชาวอีสานนิยมใช้ ตอกไม้ไผ่ นี้มัดข้าว ภาคกลางที่วิเศษชัยชาญจะใช้ต้นข้าวนำมาหลายๆต้นแล้วมาทำให้เป็นเกลียว ม้วนเก็บไว้ แล้วเอาไปมัดข้าว ซึ่งเรียกว่า ขะเน็ด [ขะเน็ด หรือเขน็ด คือฟางที่ทำเป็นเชือกมัดฟ่อนข้าว : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, หน้า 150]

มองเข้าไปในบ้านเห็นสุภาพสตรีมองย้อนมาที่ผม เธอคงนึกว่ามาถ่ายรูปทำไม เมื่อแนะนำตัวแล้ว ก็ยิงคำถามเสียพรุนไปหมด… เธอเป็นแม่บ้านกำลังอุ้มหลานและมีลูกสาวแม่ลูกอ่อนกำลังชงนมให้..

เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านผมเห็น กองตอก เต็มบ้านไปหมดทั้งกองเล็กและใหญ่ เธอตอบว่า ตอก ที่วางนั้นขายแก่ชาวนาทั่วไปที่ต้องการ มัดเล็กราคา 70 บาท ใหญ่ 80 บาท แต่ละมัดมีจำนวน 800-1000 เส้น กองนี้ทั้งหมดมี 2,000 มัด ติดเป็นต้นทุนประมาณเกือบ 1 แสนบาท  หากขายได้หมดจะได้กำไรประมาณ 20,000 บาท

เอาไม้ไผ่อะไรมาทำครับ ผมถามเธอ เป็นไผ่บ้านนี่แหละ ความจริงที่ผมรู้มาก่อนว่าไผ่ที่มาทำตอกนั้น ไผ่บงดีที่สุด แต่ชาวบ้านแต่ละแห่งเรียกไม่เหมือนกัน เช่นเรียกไผ่บ้าน ไผ่ป่า เป็นต้น ผมถามเธอต่อว่า โอ้โฮ กองใหญ่โตนี่เอาไว้ขายหมดเลยใช่ไหม เธอตอบว่า ใช่ แล้วเอาไผ่มาจากไหนมากมายขนาดนี้ แล้วใช้กี่คน กี่วันถึง จักตอก ได้จำนวนเท่านี้…..


ผมถึงกับตะลึง เมื่อเธอตอบว่า…. ไม่ได้ทำเอง ทั้งหมดนี้สั่งมาขายจากจังหวัดลำปาง… หา…. ผมอ้าปากค้าง สั่งซื้อมาจากลำปาง…..ผมย้ำคำตอบ ..ใช่เมื่อสองอาทิตย์มานี่เอง… ไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อยซิครับ ผมรุกเร้าให้เธอเล่าที่มาที่ไปถึงการสั่งตอกมัดข้าวมาขายที่คำชะอีแล้วมาจากภาคเหนืออันไกลโพ้น…

เมื่อปีก่อนๆมีพ่อค้าเอาตอกมาเร่ขาย และมีชาวบ้านซื้อจริงๆ จึงเห็นลู่ทางว่าหากเราสั่งซื้อมาขายชาวบ้านน่าจะดี จึงคุยรายละเอียดกับพ่อค้านั้นจึงรู้ว่ามาจากลำปาง อ.นาเหนือ จึงตัดสินใจพาพ่อบ้านไปดูหมู่บ้านนี้ที่นาเหนือ ลำปางให้เห็นกับตาเลย และตกลงกันว่าจะสั่งซื้อและเป็นผู้ขายเองในคำชะอีและพื้นที่แถบนี้

เธอกล่าวว่ามีชาวบ้านมาซื้อไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มาก คิดว่าจะเป็นปลายเดือนนี้และเดือนหน้าซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาที่ไม่มีเวลาทำตอกเองก็จะมาซื้อ

ทำไมชาวบ้านต้องมาซื้อ ทำไมไม่ทำเอง ผมถามเธอ .. ก็แล้วแต่ หลายเหตุผล คือ ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานอื่นๆด้วย เพราะไม้ไผ่หายากมากขึ้นแล้ว และบางครอบครัวแรงงานก็ไม่มีต้องจ้างเขาทำ จึงมีชาวบ้านต้องซื้อตอกมัดข้าวกันมากขึ้น..เธออธิบาย (ต่อตอน 2)


ว่าวลุงภี…(2)

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 14, 2008 เวลา 22:51 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6526

ลุงภีวัย 61 ปี ยังแข็งแรง สูบบุหรี่บ้าง กินเหล้าบ้างนิดหน่อย ซื้อหวยบ้างนานๆครั้ง ลุงไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบที่จะมาตระเวนขายว่าวไปทั่วทุกแห่ง ผมมันชอบอย่างนั้น หนุ่มๆผมเป็นคนเที่ยว ไปทั่ว ประเทศลาวผมก็ไปทำงานเป็นคนงานตัดไม้มาแล้ว ชอบท่องเที่ยวไป เมื่อผมมาขายว่าว ก็นอนไปตามปั้มน้ำมัน ศาลาวัด โคนต้นไม้ ไม่เคยเช่าโรงแรมนอน เคยมีลูกค้าที่คุยกันถูกคอเชิญให้ไปนอนบ้านก็มี..

ว่าวตัวใหญ่รูปแบบแปลกตานั้น ลุงภีเอาแบบมาจากฝรั่งที่พัทยา ไปขอซื้อเขามาสองตัว 900 บาท เอามาถอดแบบแล้วทำขึ้นเองใหม่ ลองชักดู ตกแต่งไปเรื่อยๆจนใช้ได้ดีก็เอามาขาย ในหมู่บ้านโนนเมืองผมเป็นคนแรกที่ทำว่าวทรงนี้

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง และชอบขนาดเล็กๆ ผมจะขายไม่แพงแล้วแถมเชือกให้ด้วย ยาวประมาณ 15 เมตร ผมไปซื้อกระป๋องกาแฟสำเร็จรูปมาจากร้านรับซื้อเศษขยะในราคากิโลกรัมละ 5-6 บาท เอาด้ายมาพันให้ลูกค้า พ่อค้าบางคนเขาไม่แถมแต่ขาย 10 บาท แต่ผมแถมให้ฟรี…


เมื่อสามสี่ปีก่อนรายการคุณไตรภพเคยมาถ่ายทำสารคดีการทำว่าวของลุงภีที่บ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่น… จนชาวบ้านแซวเอาว่าผมเป็นดาราไปแล้ว..

การทำว่าวขายเป็นอาชีพรอง เป็นอาชีพเบา สุจริต สิบกว่าปีที่ยึดอาชีพรองนี้มามีรายได้ดีมาก จึงเป็นความสุขของลุงภีที่ได้ทำขาย เร่ร่อนไปทั่วสารทิศ ได้เงินมาก็ให้ยายที่บ้านเก็บ ก็ลูกๆนั่นแหละเป็นคนใช้เงิน แต่ก็เป็นความสุขของลุงภี… ปัจจุบันเพื่อนบ้านยึดอาชีพนี้ตามอย่างกันทั่วหน้า…


เมื่อ หลายปีก่อนทางราชการพยายามมาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มผลิตว่าว OTOP เอาเงินทองมาลงทุนให้เป็นแสนๆ ทำไปได้ปีหนึ่งกลุ่มก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะต่างไม่ไว้ใจกัน ฝ่ายผลิตก็ผลิตไป ฝ่ายขายก็เอาสินค้าไปขาย แต่เงินที่ได้มา ฝ่ายผลิตไม่เชื่อใจว่าครบตามที่ได้ขายจริงหรือไม่ เมื่อไม่ไว้ใจกันก็เลิกระบบกลุ่ม เอาไผเอามันซะ ลุงภีกล่าว เมื่อต่างคน ต่างทำ ต่างขาย ต่างจัดการกันเอง ก็ไม่มีเรื่องราวอะไร

เงินแสนที่ได้มาจากการขายว่าวแต่ละปีนั้นเป็นกำไรสุทธิ แม้จะลงทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อปี แม้บางปีขายไม่ได้ เช่นปีที่แล้วมา ลุงภีให้เหตุผลว่าเพราะคนไทยไว้ทุกข์สมเด็จพระพี่นาง จึงขายว่าวได้ไม่หมด แต่ก็กำไรเป็นแสนเช่นกัน หากขายหมดก็จะกำไรมากกว่าสองแสน…ลุงภีกล่าว

ใครจะไปรู้ว่า ว่าวริมถนน นั้น มูลค่าตลอดปีได้กลายมาเป็นบ้านให้ลูกๆลุงได้อยู่อาศัยกัน กลายเป็นรถปิคอัพที่ใช้วิ่งทำมาหากินกันทุกวันนี้ และเป็นทุนที่ยายสะสมไว้ยามหมดแรง

เมื่อถึงฤดูทำนาลุงภีก็พาลูกๆทำนา (รวมทั้งลูกเขย) เมื่อว่างเว้นทำนาก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ตลอดปี แล้วเอาออกมาขายในช่วงออกพรรษานี้ อาชีพทำว่าวได้ขยายตัวไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และขยายไปถึงบางหมู่บ้านอื่นๆ เช่น ที่ อ.บ้านไผ่ แล้ว

ลุงภีกล่าวว่าใครอยากเรียนรู้ก็ไม่หวงความรู้ มาเรียนได้ เพราะไม่ได้ยากเย็นอะไร เคล็ดลับมีบ้างนิดหน่อย …..


ก่อนจาก..ลุงภีกล่าวกับผมว่า… ผมขายในราคาถูกกว่าเพื่อนบ้านคนอื่น 5-20 บาท หรือบางทียังให้ฟรีๆมาแล้วก็มาก เงินเป็นของหายาก พ่อแม่บางคนไม่มีเงินซื้อจริงๆ แต่ลูกๆอยากได้ ว่าวเป็นของเล่นของเด็กที่ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ตรงข้ามเด็กสนุก และช่วยให้เด็กบางคนคิดเลยไปว่า มันบินได้อย่างไร บางคนก็เอาไปฝึกทำเองก็มี ผมให้ฟรีครับ หากเด็กไม่มีเงินซื้อและอยากได้จริงๆ…..

ชายผู้มีอายุ 61 ปีคนนี้ จากบ้าน จากเรือน จากครอบครัวมาอาศัยริมถนน ขายฝีมือล้วนๆจากครอบครัวของเขาเอง… สุจริต และมีใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อแก่ผู้ขาดแคลน ลุงภีคือชาวบ้านธรรมดาที่น่าสนใจคนหนึ่ง….ท่ามกลางยุคสมัยนี้…


เยี่ยมล้านนา

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 7, 2008 เวลา 15:37 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2457

กว่าจะล้อหมุนที่ขอนแก่น.. เวลาก็ล่วงเลยเกือบเที่ยงคืนแล้ว แม้ผมจะเห็นใจคนข้างกายที่เพิ่งเดินทางมาจากสามเหลี่ยมมรกต จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสามทุ่มนี่เอง แต่ก็ต้องเดินทางต่อไป เราตั้งใจว่า หมดแรงตรงไหนก็พักที่นั่น เราข้ามภูเขาสองลูกที่ขอนแก่น-เพชรบูรณ์และเพชรบูรณ์-พิษณุโลก ในช่วงเวลาที่ทุกคนหลับสนิท เมื่อเวลาตีสามกว่าๆ เราตัดสินใจพักผ่อนที่พิษณุโลก เช้าก็ค่อยเดินทางต่อไป..

ผมต้องขึ้นไปเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4-5 ต.ค.เพื่อร่วมงานแต่งงานบุตรชายเพื่อนรัก เป็นงานแต่งงานที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดงานหนึ่งที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ก็เพราะเพื่อนเป็นนักการเมืองนั่นแหละ มีนักการเมืองระดับชาติหลายคนมาปรากฏตัว และแน่นอนชาวบ้านในเขตพื้นที่ของเขาเหมารถมากันมากมาย รถติด มหาศาล…. นี่คืองานสังคมของนักการเมือง

การไปเชียงใหม่ที่ผมเว้นว่างมานานนับปี ทำให้มีภารกิจอื่นๆที่จะต้องทำด้วยนั่นคือเรื่องของการใช้ที่ดินที่ผมมีอยู่ในเขต อ.แม่ริม เราให้ชาวบ้านที่เราคบหากันมานานได้ทำมาหากินโดยไม่ได้คิดค่าเช่าแต่อย่างใด เราปลูกต้นสักลงไปมากกว่าสี่ร้อยต้น จึงอยากที่จะไปดูว่าเป็นเช่นไรบ้างเราต้องไปเสียภาษีที่ดินประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามผู้ที่มาทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน เราเกรงว่าหากไม่ทำให้ถูกต้องก็อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินในอนาคตได้… นี่คือความหวาดระแวงเรื่องผลประโยชน์

 

การที่เว้นว่างไม่ได้มาเชียงใหม่นานนับปี ทำให้เพื่อนฝูงเก่าๆหลายต่อหลายคน ต่างก็เข้าคิวมาพบ ปรึกษาหารือ เยี่ยมเยือนและแน่นอนต่างก็ชวนไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมกิจการของเขา เยี่ยมลูกหลาน ฯลฯ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ นี่คือสังคมไทยอันหนึ่งที่หุ้มห่อทุนทางสังคมไว้แน่นหนา

 

ขณะเดียวกันที่คนข้างกายก็หอบเอางานไป กางเต็มโต๊ะในที่ห้องพัก เพื่อเร่งรัดให้เสร็จสิ้นทันเวลา….

 

 

ผมทราบว่าท่านจอมป่วนมาเชียงใหม่จึงหาทางติดต่อ ในที่สุดเราก็ไปพบกันที่แห่งหนึ่งพร้อมกับ น้องอึ่งอ๊อบ ครูอึ่ง และอาราม รวมทั้งน้องจอมกวนที่มากับคุณหมอ … ท่านคงเดาออกนะครับว่าเราคุยอะไรกันบ้าง หากไม่ใช่ เฮฮาฯหก”…. อิอิ

ผมใช้อินเตอร์เนทโดยผ่านระบบมือถือ เหมือนกับหลายๆท่าน เพราะมีความคล่องตัว แม้ว่าที่บ้านจะมีอีกสองระบบคือ adsl และระบบสายโทรศัพท์ปกติ แต่ ยกเลิก adsl ของ tot ไปแล้วเพราะระบบล้มเหลวมาตลอดเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผมต้องเดินทางบ่อย ระบบอินเตอร์เนทผ่านมาถือจึงเป็นระบบที่ผมพึงพอใจ ผมจัดการโดยซื้อมือถือพิเศษที่ใช้เฉพาะระบบ เนท อย่างเดียว ไม่ได้ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างอื่น

บังเอิญเมื่อสมัยเฮฮาฯ 5 ที่บ้านสวนป่า ผมใช้มือถือที่ใช้เนทส่ง message ไปถึงน้องหมอเจ๊ หมายเลขจึงไปปรากฏที่คุณหมอเจ๊ เพียงท่านเดียว เมื่อวานหลังจากที่ผมกลับมาจากเชียงใหม่เพิ่งจะเปิดดู พบว่าน้องหมอเจ๊พยายามติดต่อมาช่วงเชียงใหม่ แต่ผมไม่ได้อยู่ในเมือง ต้องไปทำภารกิจดังกล่าวข้างต้น

ต้องขอโทษน้องหมอเจ๊เป็นอย่างมากๆๆ ครับที่ไม่สามารถรับรู้การติดต่อในช่วงนั้นด้วยครับ และขอโทษเพื่อนๆเชียงใหม่ทุกท่านอีกเช่นกันที่ หายหัวไป เพราะภารกิจข้างต้นเช่นกัน และขอคารวะน้ำใจเพื่อนเชียงใหม่ ลำพูน ทุกท่าน แม้น้องสร้อยจะเจ็บป่วยช่วงนั้นพอดีก็ตาม..

 

เนื่องจากภารกิจที่เชียงใหม่ยังไม่ทันเสร็จสิ้นดี ผมจำเป็นต้องเดินทางกลับขอนแก่นก่อน ทำให้แผนงานมาร่วมเฮฮาฯหก ผมต้องปรับมาเชียงใหม่ก่อนไปเชียงราย… เนื่องจากเอารถมาเองจึงไม่รบกวนเพื่อนๆที่เชียงใหม่หรอกครับ…. ขอบคุณครับ..

 


ปรากฏการณ์นกกะปูด

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 3, 2008 เวลา 0:27 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 4417

ที่ตั้งเมืองในอีสานหลายแห่งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เลือกสถานที่เช่นนี้ ประโยชน์เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน เมืองดังกล่าว เช่น ขอนแก่น โคราช นครสวรรค์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด……

ที่ขอนแก่นเองมีแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่รอบเมือง เช่นตะวันตกกมีหนองโคตร ทิศใต้มีบึงแก่นนคร ทิศเหนือมีบึงทุ่งสร้าง ตะวันออกมีบึง…. แหล่งน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ในสมัยโบราณเป็นแหล่งน้ำอุบโภค บริโภค ใน ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อน สวนสาธารณะ เป็นแหล่งรับน้ำเสีย น้ำทิ้ง น้ำโสโครกของตัวเมืองทั้งหมด 

และที่สำคัญอีกประการปนึ่งคือเป็นแก้มลิง… รองรับน้ำส่วนเกินยามฝนตกมาก เขื่อนอุบลรัตน์จำเป็นต้องระบายน้ำทิ้งเพราะเกินกำลังความสามารถในการเก็บกัก  หรือระบายตามหลักการจัดการน้ำเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำใหม่ที่ไหลเข้ามาตลอด ยามเกิดมีพายุใหญ่เข้าช่วงปลายฤดูกาลฝน น้ำก็จะท่วมบึงทุ่งสร้าง เจิ่งนอง ภาพข้างบนนั้น บริเวณว่างๆนั้นคือแหล่งรับน้ำดังกล่าว

บริเวณบึงทุ่งสร้างนี้เป็นที่สาธารณะ ยามฤดูแล้งก็เป็นที่เลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน (เมืองรุกหมู่บ้านเดิม)ของหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อเป็นที่สาธารณะก็เป็นที่หมายตาของกลุ่มคนยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือไม่มีที่พักอาศัย เริ่มเข้ามาสร้างเพิงเล็กๆ จาหนึ่งหลังเป็นสอง เป็นสาม….

เทศบาลเมืองขอนแก่นไหวทันจึงเข้ามาจัดการไม่อนุญาตให้คนยากจนเหล่านั้นเข้ามาพักอาศัย แต่ผมไม่ทราบว่าเขาจัดการทางออกให้กลุ่มคนเหล่านั้นอย่างไร  แต่เศบาลก็เอาแทรกเตอร์ใสขุดร่องน้ำใหญ่รอบขอบบึงเพื่อสร้างอุปสรรคในการที่คนจะเข้าไปอีก

การกระทำดังกล่าวเกิดผลหลายอย่าง ขอกล่าวในสิ่งที่ผมคิดว่าดี คือ เมื่อเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีวัวควายเข้ามาอีก ไม่มีชาวบ้านบุกรุกเข้าไปสร้างเพิงพัก นานวันเข้าต้นไม้ก็เติบโต สารพัดชนิด ตั้งแต่ไมยราบยักษ์ ไปจนถึงต้นจามจุรี  โดยเฉพาะจามจุรี ใหญ่เอ๊า ใหญ่เอา  รอบๆรั้วบ้านจัดสรรที่ผมอาศัยอยู่ติดบึงนี้ ต้นไม่สารพัดเล็กใหญ่ เติบโตตามธรรมชาติของเขา บ่อยครั้งที่เห็นชาวบ้านมาเก็บเอาไปกิน บ่อยๆ เด็กๆก็มายิงกะปอมบ้าง  ….

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนและชนิดต้นไม้ในบึงแห่งนี้คือ สัตว์ มีมาอยู่อาศัย และมากขึ้น  มากขึ้น ต่างบ่งบอกการมาอยู่โดยการส่งเสียงให้ผู้อาศัยในบ้านจัดสรรแห่งนี้ได้เสพสุขตั้งแต่เช้ามืดยันค่ำมืด  ทั้งที่อยู่อาศัยประจำ จนถึงผู้มาเยือน แล้วจากไป

หนึ่งในผู้อยู่อาศัยประจำคือนกกะปูด  สองสามคู่…

วันนั้นฝนตกหนัก ต้นมะขามหวานเตี้ยๆใต้ต้นจามจุรีที่ผมปล่อยให้ต้น “มันสามสี” ที่ผมขอแบ่งเอามาจากชาวบ้านดงหลวง เอามาปลูกใว้หลังบ้าน งอกงามเลื้อยขึ้นไปปกคลุมต้นมะขามหวานจนมองไม่เห็นต้นมะขามเลย กลายเป็นพุ่มใหญ่  นี่คือบ้านจัดสรรของเจ้ากะปูด ตัวนี้  วันนั้นเขาเปียกฝน เมื่อฝนหยุดเขาก็โผล่ออกมาตรงช่อง สลัดน้ำฝน แล้งยืนผึ่งขนปีกอยู่พักใหญ่ เมื่อเขารู้ตัวว่าเราแอบมองเขา และถ่ายรูปเขา ก็หลบเข้าไป

นกกะปูดจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมของสัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลาย เพราะนกกะปูดจะกินสัตว์เล็กๆ …

การปรากฏตัวของนกกะปูด แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่บึงทุ่งสร้าง หลังบ้านพักผม..



Main: 0.14139699935913 sec
Sidebar: 0.027580976486206 sec