ตอก….(1)
อ่าน: 6713วันนั้นผมเดินทางจากมุกดาหารกลับไปขอนแก่นเพื่อภารกิจ เมื่อมาถึง อ.คำชะอี บริเวณหน้าวัดหลวงปู่จาม ข้างถนนซ้ายมือผมสังเกตเห็นกองไม้ไผ่เล็กๆอยู่ เมื่อรถผมเลยมา นึกได้ว่านั่นน่าจะเป็น “ตอกมัดข้าว” นี่นา ทำไมมากองอยู่ริมถนนจำนวนมาก เช่นนั้น ผมตัดสินใจหยุดและกลับย้อนไปที่นั่น
ลงไปถ่ายรูป ใช่แล้วนี่มัน “ตอกมัดข้าว” ตอกมีหลายความหมาย ที่นี่จะหมายถึง วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ เหลาให้เป็นเส้นๆ บางๆ เพื่อใช้มัดสิ่งของต่างๆ ชาวอีสานนิยมใช้ “ตอกไม้ไผ่” นี้มัดข้าว ภาคกลางที่วิเศษชัยชาญจะใช้ต้นข้าวนำมาหลายๆต้นแล้วมาทำให้เป็นเกลียว ม้วนเก็บไว้ แล้วเอาไปมัดข้าว ซึ่งเรียกว่า “ขะเน็ด” [ขะเน็ด หรือเขน็ด คือฟางที่ทำเป็นเชือกมัดฟ่อนข้าว : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, หน้า 150]
มองเข้าไปในบ้านเห็นสุภาพสตรีมองย้อนมาที่ผม เธอคงนึกว่ามาถ่ายรูปทำไม เมื่อแนะนำตัวแล้ว ก็ยิงคำถามเสียพรุนไปหมด… เธอเป็นแม่บ้านกำลังอุ้มหลานและมีลูกสาวแม่ลูกอ่อนกำลังชงนมให้..
เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านผมเห็น “กองตอก” เต็มบ้านไปหมดทั้งกองเล็กและใหญ่ เธอตอบว่า ตอก ที่วางนั้นขายแก่ชาวนาทั่วไปที่ต้องการ มัดเล็กราคา 70 บาท ใหญ่ 80 บาท แต่ละมัดมีจำนวน 800-1000 เส้น กองนี้ทั้งหมดมี 2,000 มัด ติดเป็นต้นทุนประมาณเกือบ 1 แสนบาท หากขายได้หมดจะได้กำไรประมาณ 20,000 บาท
เอาไม้ไผ่อะไรมาทำครับ ผมถามเธอ เป็นไผ่บ้านนี่แหละ ความจริงที่ผมรู้มาก่อนว่าไผ่ที่มาทำตอกนั้น ไผ่บงดีที่สุด แต่ชาวบ้านแต่ละแห่งเรียกไม่เหมือนกัน เช่นเรียกไผ่บ้าน ไผ่ป่า เป็นต้น ผมถามเธอต่อว่า โอ้โฮ กองใหญ่โตนี่เอาไว้ขายหมดเลยใช่ไหม เธอตอบว่า ใช่ แล้วเอาไผ่มาจากไหนมากมายขนาดนี้ แล้วใช้กี่คน กี่วันถึง “จักตอก” ได้จำนวนเท่านี้…..
ผมถึงกับตะลึง เมื่อเธอตอบว่า…. “ไม่ได้ทำเอง ทั้งหมดนี้สั่งมาขายจากจังหวัดลำปาง…” หา…. ผมอ้าปากค้าง สั่งซื้อมาจากลำปาง…..ผมย้ำคำตอบ ..”ใช่เมื่อสองอาทิตย์มานี่เอง…” ไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อยซิครับ ผมรุกเร้าให้เธอเล่าที่มาที่ไปถึงการสั่งตอกมัดข้าวมาขายที่คำชะอีแล้วมาจากภาคเหนืออันไกลโพ้น…
เมื่อปีก่อนๆมีพ่อค้าเอาตอกมาเร่ขาย และมีชาวบ้านซื้อจริงๆ จึงเห็นลู่ทางว่าหากเราสั่งซื้อมาขายชาวบ้านน่าจะดี จึงคุยรายละเอียดกับพ่อค้านั้นจึงรู้ว่ามาจากลำปาง อ.นาเหนือ จึงตัดสินใจพาพ่อบ้านไปดูหมู่บ้านนี้ที่นาเหนือ ลำปางให้เห็นกับตาเลย และตกลงกันว่าจะสั่งซื้อและเป็นผู้ขายเองในคำชะอีและพื้นที่แถบนี้
เธอกล่าวว่ามีชาวบ้านมาซื้อไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มาก คิดว่าจะเป็นปลายเดือนนี้และเดือนหน้าซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาที่ไม่มีเวลาทำตอกเองก็จะมาซื้อ
ทำไมชาวบ้านต้องมาซื้อ ทำไมไม่ทำเอง ผมถามเธอ .. “ก็แล้วแต่ หลายเหตุผล คือ ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานอื่นๆด้วย เพราะไม้ไผ่หายากมากขึ้นแล้ว และบางครอบครัวแรงงานก็ไม่มีต้องจ้างเขาทำ จึงมีชาวบ้านต้องซื้อตอกมัดข้าวกันมากขึ้น”..เธออธิบาย (ต่อตอน 2)
« « Prev : ช่วยผู้ถูกใส่ร้าย.ป้ายสี…
Next : ตอก….(2) » »
8 ความคิดเห็น
ไม่มีเวลา?!?! เป็นเหตุผลที่แปลกนะครับ ก็แค่ทำล่วงหน้าก็จะมีเวลามากขึ้นแล้ว เขน็ดก็ดีครับ
สวัสดีค่ะพี่บูธ
เพิ่งเห็นจำนวนเยอะๆ ก็คราวนี้แหละ ประโยชน์หลากหลาย สมัยก่อนไม่มียาง เขาก็ใช้มัดของหรือเปล่าค่ะ ใช่แบบเดียวกันหรือไม่ ไขข้อข้องใจด้วย อิอิ
ขอบคุณมากค่ะที่นำมาให้ดู รออ่านตอนสองจ้า
การที่บอกว่าไม่มีเวลานั้น ความหมายที่แท้จริงคือ ชาวบ้านครอบครัวนั้นไปขายแรงงานต่างถิ่น ไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ แล้วเอาเงินไปซื้อสิ่งของที่ต้องการแทน รวมทั้ง “ตอก” ด้วย ครับ
เป็นคำตอบทั่วๆไปที่ได้รับมา เหตุผลที่สำคัญน่าจะเป็นไผ่หายากมากขึ้น หากพื้นที่นั้นๆไม่มีป่า และไม่มีการปลูกทดแทน มีแต่ใช้ประโยชน์
ไม่ใช่เฉพาะการเอาท่อนไม้ไผ่มาทำตอกเท่านั้น ก่อนหน้านี้เมื่อต้นฤดูฝน ก็ไปกินหน่อเขา และเอาไปขายด้วย ไผ่ที่เป็นพืชจำเป็นของชาวชนบท ที่อดีตมีมากมาย ไม่จำเป็นต้องปลุกจึงมีปัญหาเสียแล้ว ครับ เรื่องนี้ ประเด็นนี้ผมจะเอาเข้าที่ประชุมเพื่อนร่วมงานของผมด้วย เพื่อลองศึกษาในพื้นที่ดูครับว่าศักยภาพเป็นเช่นไร
น้องราณีครับ ตอกเป็นเครื่องมือคนโบราณที่ใช้กันมานานมากๆ เพราะสมัยก่อนไม่มีเชือก ไม่มีลวด มีแต่ตอก และเถาวัลย์ ดีขึ้นมาหน่อยก็ใช้เปลือกไม้ และมายุค ปอกระเจา มันเป็นสภาวะที่คนอยู่กับธรรมชาติ
ที่บ้านพี่เมื่อหลายสิบปีก่อน โรงครัวมุงด้วยใบจากยังใช้ตอกมัดเลย 2-3 ปีก็เปลี่ยนใหม่ ไผ่จึงเป็นพืชจำเป็นที่ชาวบ้านต้องปลูกไว้(ในภาคกลาง เพราะไม่มีป่า) ที่สวนก็จะปลูกไผ่สารพัด เช่นไผ่สีสุก ไผ่ลวก ไผ่บง ไผ่……
ชาวเขาเผ่าต่างๆใช้ตอกมัดสิ่งปกปิดหลังคากระต๊อบ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตอกเยอะ วันหลังจะตามเก็บข้อมูลนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ
มาวันนี้พี่ไม่คิดว่าจะเห็นภาพนี้เช่นกัน พี่ไม่คิดว่าจะเห็นว่าตอกเป็นธุรกิจชาวบ้านไปบ้างแล้ว และมิใช่จำนวนน้อยๆ น่าที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งอื่นๆตามมา หากไม่มีการจัดการที่ดีเพียงพอ
หรือจะสนับสนุนชาวบ้านปลูกไผ่ขาย….
อีกหน่อยถ้าไม่ส่งออก ก็ต้องนำเข้าครับ
ขืนทะเลาะกันนานๆก็คงต้องส่งออกครับ เพราะลาว เขมรเขาเจริญกว่า ไม่มีไผ่มาทำตอกแล้ว อิอิ
น่าสนใจดีครับพี่
คุณหมอครับ นำเข้าแล้วครับ ตลอดริมโขง ผมเพิ่งจะทราบจากคนข้างกายว่านำเข้าราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง ดูในตอกตอน 2
เหลียงครับ หากพี่ไม่หยุดรถลงไปคุยกับสภาพสตรีท่านนั้นก็ยังคงไม่เห็นประเด็นนี้ครับ มิน่าเล่าจึงเคยเห็นรถ 6 ล้อไปขนไผ่ป่ามาเป็นคันรถ เราไม่ได้เอะใจว่าเอาไปทำตอก ….