ข้อเสนอต่อ DfC

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 3, 2009 เวลา 10:42 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2312

สมัยที่ทำงานกับโครงการไทยเนเทอร์แลนด์ ชื่อ โครงการการจัดการน้ำในระดับไร่นา ที่เขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ผมทำหน้าที่เป็น ฝ่ายสังคม ที่คอยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เจ้าหน้าที่สนามในการปฏิบัติงาน เสริมผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรม ที่ทำหน้าที่ไปสำรวจ Training Needs Assessment (TNA) แล้วก็จัดกระบวนการฝึกอบรมขึ้น ซึ่งก็มักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ คือเป็น formal training

เมื่อผมลงสนามพบว่าน้องๆในสนามที่ได้รับความรู้มาแล้วนั้น มีหลายอย่างที่ต้องเติมเต็ม และขยายความ สาระที่พูดกันในห้องประชุม หลายคนมีคำถาม หลายคนไม่เข้าใจ หลายคนเบลอๆ

นี่เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดการบันทึกของผมครั้งแรกขึ้น เป็นบันทึกที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อผมพบก็หยิบประเด็นนั้นมาบันทึกขยายความแล้วทำสำเนาส่งให้ทุกคน นอกจากนี้ก็เป็นแบบ F2F คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน และอาจจะเป็น Micro group discussion แค่สองสามคนก็ตั้งวงแบบไม่เป็นทางการคุยกัน ยืนคุยกันบ้าง ร้านอาหารบ้าง นั่งริมคันนาบ้าง เติมเต็มกันทันที เพื่อให้น้องๆอิ่มในข้อสงสัย ขัดข้อง

ซึ่งประเด็นทั้งหมดนั้นเราเองก็ไม่รอบรู้ไปทั้งหมด ประเด็นไหนที่ไม่แจ้งก็ไปค้นหามาแล้วเติมเต็มในรูปของบันทึกแล้วสำเนาแจกให้ทุกคนได้เรียนรู้ด้วย บันทึกนี้เป็นหลัก หยิบทุกประเด็นมาบันทึกแล้วกระจายไป ทำเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 บันทึก

องค์ความรู้ที่เติมเต็มนี้ เมื่อสิ้นปีรวมเล่มได้เลยครับ จัดหมวดหมู่และเพิ่มเติมส่วนที่ไม่ครบถ้วนลงไป ก็เป็นสิ่งที่อาจเรียกว่า KM ได้แบบ Field practice และเป็นประโยชน์มากสำหรับน้องๆที่ถือว่าเป็นมือใหม่ในการเข้ามาทำงานกับชาวบ้านในสาระ การจัดการน้ำในระดับไร่นา

ในทำนองเดียวกัน ผมติดตามทุกท่านที่ทำเรื่อง Dialogue for Consciousness (DfC) เห็นพลัง เห็นความก้าวหน้า เห็นปิติ เห็นประโยชน์ และชื่นชมที่ทุกท่านต่างหยิบฉวยสิ่งที่เป็นประโยชน์จากเฮฮาศาสตร์นี้ จาก Lanpanya นี้ไปใช้

ผมใคร่เสนอแนะว่า ทุกท่านที่เข้ามาร่วมในกระบวนการ ย่อมได้ปิติ ย่อมมีพลัง ย่อมกระหายที่จะหยิบฉวยความรู้ที่เสพเข้าไปนั้นไปดัดแปลงใช้ในงาน ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นกับความรับผิดชอบ

แต่น่าที่จะเกิด ประเด็นปัญหาที่อยากแลกเปลี่ยน ถามไถ่ ต้องการเติมเต็ม ขยายความ แต่อาจจะยังไม่มีช่องทางที่จะทำเช่นนั้น เพราะไม่ได้ถูกจัดการวางช่องทางไว้ ข้อเสนอผมก็คือ

· เชิญท่านเหล่านั้นเข้ามาในลาน แล้วเปิด ลาน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเติมเต็ม ขยายความกันต่อไปให้กว้างขวาง นอกจากผู้จัดการเป็นผู้แลกเปลี่ยนแล้ว ท่านอื่นๆที่มีประสบการณ์ก็จะได้เพิ่มเติมแลกเปลี่ยนไปอีกด้วย

· หากท่านเหล่านั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเข้า ลาน ได้ ผู้จัดต้องบอกกล่าวว่าขอให้ส่งประเด็นมาที่ผู้จัดแล้วผู้จัดจะแลกเปลี่ยนเป็นบันทึก แล้วส่งคืนไปให้ พร้อมๆอาจจะสำเนาให้เพื่อนคนอื่นๆรับรู้ด้วย(อย่างที่ผมทำ)

· จัดทีมงานเยี่ยมเยือนตามวาระโอกาสอย่างไม่เป็นทางการ เอาขนมไปฝาก เอาเอกสารติดมือไป.. เพื่อ ทำ Follow up และใช้โอกาสนั้นสอบถาม แลกเปลี่ยน เป็นแบบ DfC follow up ….แล้วอย่าลืมเก็บประเด็นนั้น สาระที่แลกเปลี่ยนกันนั้นมาบันทึกแล้วทำสำเนาให้ทุกคนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันด้วย

· ใช้เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ มือถือ โทรศัพท์สายตรง จดหมาย ..ฯลฯ เพื่อเปิดช่องให้มีการสื่อสารต่อเนื่องระหว่างกัน

· ทั้งหมดนี้เป็นเชิงรับ แต่พิจารณาการทำเชิงรุกด้วยนะครับ เช่น

· ผู้จัดตั้งประเด็นแล้วแลกเปลี่ยนไม่เป็นทางการ การตั้งประเด็น การตั้งคำถาม เป็นการกระตุ้นให้คิด ให้ควานหาความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาความเหมาะสมรอบด้านด้วย

· การทบทวนสาระที่ใช้ในการ DfC ที่ผ่านมาโดยการขยายความในประเด็นต่างๆลงไป โดยไม่รอคำถาม แต่ประเด็นนั้นต้องผ่านการประเมินแล้วว่าเหมาะสม เกิดประโยชน์จริง…..

· นำตัวอย่างความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของเพื่อนไปเล่าสู่กันฟัง…

· ฯลฯ..

สิ่งเหล่านี้คือ กระบวนการที่ทำต่อเนื่องภายหลังกระบวนการ DfC ครับ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด อิอิ..


เปิดตัว……

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 15, 2008 เวลา 17:25 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1980

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง โรคเหงาหงอยท่ามกลางฝูงชน ใน G2K ซึ่งเป็นสภาวะที่นักจิตวิทยาและคุณหมอทั้งหลายทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดี ผมน่ะไม่รู้เรื่องร๊อก แต่ท่านอาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก อดีตอาจารย์ของผมท่านเล่าให้ฟังหลายสิบปีก่อน ว่าในเมืองที่เจริญรุ่งเรืองเช่นที่อเมริกาที่ท่านเคยไปเรียนหนังสือที่นั่นนั้น โรคนี้กำลังระบาดอย่างหนัก อาจารย์อธิบายว่า ก็คนเดินกันเต็มถนน เกือบจะชนกัน แต่ไม่รู้จักกัน แถมไม่คุยกันเลย รถวิ่งกันเต็มถนน เมื่อติดไฟแดง รถจอดนิ่งๆ ต่างคนต่างก็มองหน้ากันไปมาระหว่างคันนี้คันนั้น แต่ไม่พูดกัน ซึ่งลักษณะเมืองก็เหมือนกันทั่วโลก….??

แต่มันตรงกันข้ามกับสังคมชนบท สะเมิงที่ผมรู้จัก หรือที่ไหนๆก็ตาม (แต่น่าจะสำรวจว่าเปลี่ยนไปมากแค่ไหน) สังคมเมืองจึงมีความต่างกับชนบทอย่างน่าเป็นห่วงในหลายสาระ

เมื่อท่านจอมป่วนเปิดลานเรื่อง เล่าเรื่องตัวเองทำไม ? อ่านเรื่องคนอื่นทำไม ที่ http://lanpanya.com/jogger/?p=204#comment-530 ทำให้ผมนึกถึงสมัยเรียนที่ มช. เมื่อระหว่างปี 2512-2516 ซึ่งเป็นยุคของขวนนักศึกษา และนักศึกษาที่เรียกกันว่า activist ผมไม่ทราบว่าที่สถาบันอื่นเป็นเช่นไร แต่ที่ มช.และกลุ่มนักศึกษาที่ผมเกาะกลุ่มกันไว้นั้น มีลักษณะที่น่าสนใจ อยากจะเล่าความหลังไห้ฟัง

กลุ่มนี้เรียกตัวเองในหลายชื่อด้วยกัน ภายในเราเข้าใจกันดีคือ กลุ่ม วลัญชทัศน์ กลุ่มนี้ไม่ค่อยเรียนหนังสือ เอาแต่จับกลุ่มคุยกัน ทำงานเคลื่อนไหวให้การศึกษาในกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน และออกชนบททั้งศึกษาชนบทและไปทำงานค่ายพัฒนาแบบต่างๆกันไม่ได้หยุด กลุ่มวลัญชทัศน์นี้มีรุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์เป็นผู้นำ และในปีสุดท้ายพี่ท่านนี้ถูกถีบตกรถไฟเสียชีวิต เราเชื่อกันว่าเป็น การเก็บ ของฝ่ายบ้านเมือง

เรามีเพื่อนที่มีความคิดในครรลองเดียวกันทุกคณะทั้งชาย หญิง โดยเฉพาะฝั่งสวนดอก อันได้แก่ คณะแพทย์ คณะทันตแพทย์ คณะเภสัชฯ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาล มีจำนวนมากด้วย นอกจากนั้น คณะเกษตรฯ คณะวิศวะฯ ก็มีหลายคนไม่ต้องเอ่ยคณะทางสังคมศาสตร์ เป็นตัวหลักเชียวหละ

ก่อนที่เราจะไปทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันนั้นเราจะมีค่ายหนึ่งที่ทุกคนจะต้องผ่าน เรียกว่าค่ายศึกษา ไปจัดในหมู่บ้านที่มีพื้นที่เหมาะสม เช่นเป็นสวนของผู้นำชาวนาที่เราคุ้นเคย ที่ไม่โจ่งแจ้งเกินไป เพราะสมัยนั้น การที่นักศึกษาออกสู่ชนบทนั้นจะเป็นเป้าสายตาของฝ่ายปกครองจะต้องรายงานให้ตำรวจและนายอำเภอ ผู้ว่าราชการทราบ

เราไปกินนอนกัน ประมาณ 1 สัปดาห์ เอาเต็นท์ไปกางนอนกันตามใต้ต้นไม้ กองฟาง เป็นต้น เช้าตื่นขึ้นมาก็ออกไปช่วยกันทำมาหากิน เก็บกวาดสถานที่ หรือช่วยทำงานของเจ้าของที่ที่มีคั่งค้างอยู่

กิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องทำคือ การเปิดตัวและการทำสามัคคีวิพากษ์ หรือสามัคคีวิจารณ์ วิธีการก็คือ พี่พี่ที่คุ้นเคยและผ่านเรื่องนี้มาก่อนจะทำการเปิดตัวตนเองอย่างสิ้นเปลือก เป็นใคร มาจากไหน พ่อแม่ เป็นไง….ละเอียดยิบ จนมาถึงทำไมถึงมาคิดเห็นต่อสังคมบ้านเมืองเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเหตุผลอะไร….. ใช้เวลานานเท่าที่อยากจะพูด และเพื่อนๆสามารถซักถาม ได้บ้าง แต่ส่วนมากไม่ได้ถาม คนเล่าเล่าหมดสิ้น มันน่าจะเป็นการเริ่มพัฒนามาสู่ สุนทรีย์สนทนา ละมั๊งเพราะท่านเจ้าสำนักขวัญเมืองก็เป็นยุคเดียวกับผม และน่าที่จะผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว

เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ เราสนิทกันแบบเพื่อนรักมากๆ พี่กับน้อง น้องกับพี่ ที่รู้ใจกันหมดสิ้น ท่านคงเดาบรรยากาศในการเปิดตัวในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันออกนะครับว่า น่าจะเป็นเช่นไร…

นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ปี 4 ตัวใหญ่เท่าช้าง ร้องให้อย่างก๊ะเด็ก เมื่อเขาเล่าสิ่งที่เขาสะเทือนใจในชีวิตเขาออกมา มันเป็นการปลดปล่อย…. ปลดปล่อยออกมาท่ามกลางเพื่อนที่รัก…..

นักศึกษาแพทย์สง่างามต้องหยุดพูดกลางคันเมื่อเขาเล่าถึงความต่ำต้อย ในฐานะทางบ้านและการสูญเสียแม่อันเป็นที่รักที่สุดของเขาไป…..

ลูกพ่อเลี้ยงใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่ อึดอัดต่อครอบครัวที่คาดคั้นให้เขาเดินตามสิ่งที่ครอบครัวต้องการ…..

สาวสวยการศึกษาดีจากครอบครัวธุรกิจ Export เล่าอย่างไม่อายว่าเขาไม่รู้เรื่องชนบทเลยแม้ต้นข้าว เพราะบ้านเขาเนรมิตทุกอย่างให้เขาได้ แต่รักความยุติธรรม ความถูกต้อง และเห็นอกเห็นใจคนยากจนทำให้เธอเดินมาเส้นทางนี้โดยทางบ้านยังไม่รู้เรื่อง..

ดูเหมือนว่าสิ่งที่เหมือนกัน หรือสิ่งที่สามารถรวมศูนย์จิตใจให้มายอมรับกันได้คือ การรักความยุติธรรม ความถูกต้อง และต้องการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า…

การเปิดตัวแบบเปิดอก สมัยนั้นมีพลังมหาศาล

v มันสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันแบบลึกซึ้งในกลุ่มคนร่วมอุดมการณ์อย่างไม่เคลือบแคลง

v และพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

สองสิ่งนี้ก็คือฐานที่มั่นคงในการที่กลุ่มจะทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน หรืองานใดๆที่กลุ่มตกลงกัน

สิ่งที่มากไปกว่าการเปิดตัวแบบเปิดอกคือ การวิพากษ์วิจารณ์แบบสามัคคี โดยปกติคนเราย่อมมีจุดเด่นจุดด้อย เปิดออกมาเลยว่าตัวเองมีแบบไหนอย่างไร แล้วพี่ๆเพื่อนๆที่ใกล้ชิดจะช่วยแสดงความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ หรือแม้แต่วิพากษ์เพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เห็นตัวตนมากยิ่งขึ้นไปอีกแบบปอกเปลือกหมดสิ้นแดงแจ๋ ยิ่งทำงานด้วยกันนานๆก็ยิ่งเห็นตัวตนมากขึ้น

ตลก.. ที่ผมเอากระบวนวิธีนี้ไปทำกับเพื่อร่วมงานสมัยทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ พบว่าเพื่อนๆรับได้ แต่หัวหน้างานรับไม่ได้ ไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนนี้ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า ท่านคิดว่าไม่ควรเปิดเรื่องส่วนตัวให้ลูกน้องทราบในหลายๆเรื่อง แต่ลูกน้องควรรับฟังคำสั่ง หรือความคิด ข้อชี้แนะของหัวหน้างานเท่านั้น…

นี่คือ พลังเยาวชน ช่างตรงกับที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ เขียนไว้จริงๆ

ที่เขียนมาเพื่อต่อยอดท่านครูบาฯ และเฮียตึ๋ง ที่รักของเรานี่แหละ..ครับท่าน..



Main: 0.033457040786743 sec
Sidebar: 0.034339904785156 sec