ชีวิตกังนัมสไตล์..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 23, 2012 เวลา 22:01 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1387

สายวันหยุดสุดสัปดาห์วันนั้น ผมเดินออกมาหน้าบ้านเพื่อมาดูต้นไม้ว่าควรจะรดน้ำไหม พลันสายตาก็มองไปเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเดินไปที่รั้งข้างบ้านถัดไปสองห้อง เดาเอาว่าเขาเป็นใครคนหนึ่งที่เอาแผนโฆษณาสินค้ามาประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกบ้านจัดสรรแห่งนี้ เมื่อเขาเหลือบมาเห็นผมก็เปลี่ยนใจเดินตรงลี่มาที่ผมพร้อมยื่นใบโฆษณาตามที่ผมเดาไม่ผิด

เขายกมือสวัสดีพร้อมแนะนำสินค้าเครื่องกรองน้ำญี่ห้อที่ขายตรงชนิดหนึ่ง พร้อมแนะนำ อธิบายตามสไตล์ผู้มาขายตรง ผมดูสินค้าแล้วก็เห็นว่าที่บ้านขอนแก่นผมก็ใช้รุ่นนี้ เลยไม่คุยเรื่องนี้แต่กลับไปถามว่า พ่อหนุ่มเป็นคนที่ไหนล่ะ เขาตอบว่า กาฬสินธุ์ครับ คุณอาล่ะครับ เขาเรียกผมว่าคุณอาพร้อมเหลืบตาไปดูป้ายทะเบียนรถแล้วก็ยิ้มๆว่า อ้อ อยู่ขอนแก่นใกล้ๆกัน

ขายดีไหมเล่า…ผมถาม เขาบอกว่ามาช่วยภรรยาครับ เป็นงานหลักของภรรยา วันนี้ผมว่าช่วงเช้าก็มาช่วยภรรยา ผมอยู่ในหมู่บ้านนี้แหละ แต่เป็นโครงการโน้น พร้อมชี้มือไปทางนั้น ผมถามต่อว่า มีไอ้ตัวน้อยกี่คนล่ะ เขาตอบว่ายังไม่มีครับคุณอา ยังไม่พร้อมครับ นี่ต้องมาหารายได้พิเศษช่วยกันหารายได้ผ่อนบ้านผ่อนรถ ผ่อนทุกอย่าง …..

เย็นวันนั้นผมเรียกแท็กซี่จาก CU square มาบ้าน คนขับรถเป็นคนหนุ่มดูท่าทางทะมัดทะแมง ผมเห็นป้ายแนะนำตัวที่ห้อยจากเบาะหน้าตามหลักของกรมขนส่งทางบก บอกว่าเป็นทหารยศนายสิบ ผมก็เลยถามว่า เป็นทหารหรือครับมาหารายได้พิเศษหรือครับ เขาตอบว่าใช่ครับ ออกเวรยาม จากหน้าที่ปกติแล้วก็มาช่วยเหลือครอบครัว มาขับแท็กซี่นี่แหละครับ ไม่ไหวครับทหารชั้นยศผู้น้อยอย่างผมเงินเดือนไม่พอใช้ ผมมีครอบครัวมีลูกสาวคนหนึ่งกำลังน่ารัก หากไม่หาเงิน ลูกโตขึ้นมาผมก็คงรับไม่ไหว ต้องเตรียมหาเงินให้ลูก ภรรยาผมก็ทำงานแต่รายได้ก็แค่นั้น ครอบครัวใหม่ ต้องซื้อหาของจำเป็นมาสร้างครอบครัวกว่าจะได้มาแต่ละอย่าง ก็ต้องมาอดหลับอดนอน แต่จะให้ทหารอย่างผมไปทำอะไรได้เล่าครับ ความรู้ก็แค่นี้ ไม่ไปปล้นร้านทองหรอกครับ ไม่ปล้นรถขนเงินหรอกครับ..

ผมรักลูกรักเมีย ทำมาหาเลี้ยงชีพสุจริตดีกว่า……

ระหว่างนั่งรถกลับจากไปทำงานที่นครชัยศรี วิศวกรหนุ่มใหญ่ขับปิกอับที่ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนเอามาให้ใช้ตามเงื่อนไขการจัดจ้างขับเข้าตัวเมืองมหานคร โดยมีผมนั่งมาด้วยเพื่อกลับบ้าน เราคุยกันหลายเรื่องระหว่างทางซึ่งรถติดมากเป็นช่วงๆ เมื่อใกล้เข้าใจกลางเมืองผมถามวิศวกรว่า บ้านอยู่ไหนเล่าครับ โน้น มีนบุรีโน้น….. หา…มีนบุรี แล้วขับรถไปกลับอย่างนี้น่ะหรือ เขาตอบว่าใช่ครับ นี่มันขับจากตะวันออกไปตะวันตกของตัวเมือง และเลิกงานก็ขับรถจากตะวันตกไปตะวันออกผ่านกลางเมืองที่รถติดมหาศาลอย่างนี้นะหรือ ทุกวันหรือ เขาตอบว่าใช่ครับ…

เขาอธิบายว่า โธ่ พี่…เพื่อนผมขับจากอ้อมใหญ่มาที่บริษัททุกวัน ไปกลับด้วย อีกคนขับจาก ฉะเชิงเทรา มาทำงานบริษัท ไปกลับทุกวัน เขาทำได้ไง…ผมขับแค่นี้ จิ๊บจ้อย ครับ

พี่อีกคนนะ เรียนปริญญาตรีวิศวะ แต่มาหางานทำเพื่อเอาไปเรียนหนังสือ ได้คุมงานก่อสร้างเป็นกะ อยู่ที่นครนายก แต่เรียนที่วิศวะเกษตร บางเขน เขาเรียนจบก็นั่งรถไปนครนายกเข้ากะคุมงาน เสร็จก็นั่งรถกลับกรุงเทพฯ ไปเรียนหนังสือ เสาร์อาทิตย์ก็ทำโอ…เขาทำเช่นนี้ตลอดสองปี จนเขาเรียนจบปริญญาตรี…วิศวกรรมศาสตร์สมใจ

พี่…ผมขับรถแค่นี้ จิ๊บจ้อยมาก….

เฮ่อ…ชีวิตกังนัมสไตล์

มันไม่เกี่ยวกันหรอกครับ ตั้งชื่อเล่นๆให้มันซะใจเล่น

เฮ่อ….ชีวิตของตัวเอง ใช้ซะ…..


บัณฑิตชนบท..

อ่าน: 1885

ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งรับนักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนมาฝึกงาน อาจารย์ก็มอบงานให้ทั้ง 5 คนไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสนามตามแผนงานที่มีอยู่แล้ว

ก่อนลงสนามก็ต้องมาคุยกันก่อนว่ามี วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร กระบวนวิธีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนเมื่อจะเก็บข้อมูลก็ต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะสาระของข้อมูลที่จะต้องเก็บ อย่างละเอียดยิบ เพราะประเด็นคำถามนั้นมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจด้วยภาษาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีบ่อยครั้งที่ผู้ไปซักถาม ตีความหมายผิด ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ออกแบบสอบถาม ยิ่งไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สำนวนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของท้องถิ่น ก็จะยิ่ง สื่อสารให้ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจ ผู้ตอบก็จะให้ข้อมูลที่ไปคนละทิศละทาง สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กลายเป็นขยะไป

มีเรื่องเก่าที่ขอยกตัวอย่างอีกครั้ง นักศึกษาปริญญาโทมาเก็บข้อมูลสนาม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจของชาวชนบทต่อหลักศาสนาบางประการ

นักศึกษา: คุณยายนับถือศาสนาอะไรครับ

คุณยาย: ศาสนาพุทธซิไอ้หนู

นักศึกษา: คุณยายช่วยอธิบายเรื่อง เมตตา หน่อยซิครับว่าหมายความว่าอย่างไร

คุณยาย: ห้วย…. จะให้ยายอธิบายจั๊งใด๋ ยายบ่อจั๊กแหล่ว…

ระหว่างคุยกันนั้น ยายก็เอาน้ำมาให้นักศึกษาดื่มกิน เมื่อเวลามาถึงเที่ยง ก็เตรียมอาหารมาให้กิน… เมื่อสิ้นสุดการซักถามนักศึกษาก็ลากลับไป แล้วก็ไปสรุปว่า คุณยายไม่เข้าใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องความมีเมตตา แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น…?

หารู้ไม่ว่า ยายนั้นไม่สามารถอธิบายความหมายเป็นภาษาได้ แต่ยายปฏิบัติ ก็ยายมีเมตตาต่อนักศึกษาไงถึงได้เอาน้ำเย็นมาให้ดื่มกิน เอาข้าวปลามาเลี้ยงดูปูเสื่อ นักศึกษาเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจหลักศาสนาภาคปฏิบัติ…

นักศึกษาคุ้นเคยแต่ท่องจำแล้วไปสอบเอาคะแนน ตามหลักการวัดผลการศึกษาไงเล่า การวัดผลวัดแค่การท่องจำและขีดเขียนออกมาได้ แต่การเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติวัดไม่เป็น หรือไม่ได้วัด หรือไม่อยากไปวัดมันยาก…

กลับมาที่นักศึกษาที่มาฝึกงานที่สถาบันวิจัยฯ อาจารย์บอกว่า เธอทุกคนต้องจดบันทึกการสัมภาษณ์ว่าชาวบ้านตอบอะไรบ้าง จดมาให้ละเอียดเลย นักศึกษาสาวคนหนึ่งไม่สนใจการทำความเข้าใจเตรียมตัวลงสนาม กลับบอกอาจารย์ว่า หนูไม่จดหรอกค่ะ หนูมีเทปบันทึก ..?

วันแรกที่ลงสนามจริงๆ เธอแต่งตัวอย่างกับไปช็อปปิ้ง ทาปากแดง สวยเชียว แล้วก็ทำเช่นนั้นจริงๆให้รุ่นพี่สัมภาษณ์แล้วเธอก็เอาเทปมาบันทึก เธอไม่สนใจการสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลของรุ่นพี่กับชาวบ้าน เธอเล่นผมยาวๆของเพื่อน นั่งถักเปียกัน…และ….

วันรุ่งขึ้นเธอมาบอกอาจารย์ว่าหนูไม่ไปฝึกงานแล้ว มันลำบาก หนูขอลาออกจะไปฝึกงานที่สำนักงานเทศบาลเมืองดีกว่านั่งแต่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายกว่า…???

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยนั้น ก็อนุญาตให้ลาออกไปฝึกงานที่อื่น..พร้อมส่ายหัวว่า นี่นักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนนะเนี่ยะ เข้าเรียนผิดคณะหรือเปล่า…

ไม่ระบุสถาบันนะครับ เสียหาย ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะแต่เขียนไม่ได้….

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยท่านนั้น บอกว่า ให้เด็กพัฒนาชุมชนไปทำ Seasonal calendar ของครอบครัวชาวบ้านหน่อย เขาบอกว่าทำไม่เป็น อาจารย์ถามว่าท่านไหนสอนเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน” นักศึกษาตอบว่า ก็อาจารย์ ดร. …………..เป็นผู้สอน พอเดาออกครับว่า กระบวนการเรียนการสอนนั้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ แค่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ก็พูดปาวๆพร้อมกับเทคโนโลยีทางการสอน เช่น Power point รูปภาพ รายงานที่วางไว้หน้าชั้น ….. แต่ไม่เคยพานักศึกษาออกปฏิบัติจริง จึงทำไม่เป็น

นักศึกษาทั้ง 5 คนลาออกไปฝึกงานกับเทศบาลที่นั่งแต่ในห้องเย็นๆ ต่อมาอีกสองวัน มีเด็กสองคนในห้าคนนั้นกลับมากราบอาจารย์ที่สถาบันวิจัย ขอกลับมาฝึกงานที่นี่ใหม่ แต่สามคนไม่มา สองคนนี้บอกว่า หากไปฝึกงานที่เทศบาลจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องชนบทเลย ขอกลับมาและกราบขออภัยคราวที่แล้ว…

ที่บริษัทที่ปรึกษาก็เอาเด็กปริญญาโทออกไป แม้ปริญญาเอกก็เอาออกไปก็มีเพราะทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ได้ไม่มีคุณภาพ ห่วยแตกว่างั้นเถอะ….

เป็นเรื่องหนักใจของหน่วยงานจริงๆที่บัณฑิตไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น…. ก็ดูการฝึกงานเป็นกรณีตัวอย่างซิ

สรุปว่า.. เป็นห่วงบัณฑิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้เชิงปฏิบัติ เราเป็นห่วงคุณภาพของความเป็นบัณฑิต ไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของความรู้ ไม่ใช่ของจริง แค่ฉาบฉวย ล่องลอยไปกับกระแสสังคมที่เป็นสังคมบริโภค โอยจะสาธยายอย่างไรถึงจะหมดเนี่ยะ

ครับไม่ใช่ทุกสถาบันนะครับ ไม่ใช่บัณฑิตทุกคนนะครับ แต่ดูจะมีเรื่องราวดังกล่าวมานี้มากเหมือนกันครับ

จริงๆนักศึกษาที่มาสนใจทำงานพัฒนาชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัว เซอ เซอ มอมๆ หล่อได้ สวยได้ครับ แต่ต้องไม่สักแต่หล่อ แต่สวยแต่ไม่มีกึ๋น หากสนใจอย่างนั้นไปเป็นพริตตี้ดีกว่านะจ๊ะคนสวย….


ใบไม้ใบนั้น..

อ่าน: 2154

ผมมีธุระต้องไป Lotus Express แห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อทำภารกิจเสร็จก็เดินกลับที่จอดรถ เป็นทางเดินข้างอาคารใหญ่ ผมพบใบโพธิ (ผมเดาว่าเป็นใบโพธิ์ หากไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเพราะเหมือนมากๆ) ใบนี้ที่ทางเท้าอย่างแปลกใจมากๆ เพราะ ผมมองไปรอบๆไม่เห็นต้นโพธิ มีแต่ตึกและการจราจรที่หนาแน่น ผมว่าเป็นใบไม้ที่สวยงามมากจึงหยิบเอามาเก็บกลับบ้าน พร้อมจิตก็นึกไปถึง ศาสนา หลักธรรม ความสำคัญของต้นโพธิ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์


ใบไม้ใบนี้ถูดเหยียบย่ำมานานเท่าไหร่แล้วไม่ทราบ คนที่เดินผ่านคงเห็น(ว่าเป็นเศษใบไม้ใบหนึ่งที่ไม่ได้คิดอะไร ก็แค่ใบไม้ จิตเขานึกถึงอย่างอื่นๆ) แต่ไม่เห็น ว่านี่คือใบไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตัวแทนของธรรมะ ตัวแทนของการหลุดพ้น ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมเห็นนั้น สำนึกผมดึงกลับมาอยู่ที่ตัวแทนของความบริสุทธิ์…

ผมไม่ได้เขียนเพื่อมาอวดอ้างตัวตนว่าดีเลิศประเสริฐศรีใดๆนะครับ แค่สะท้อนออกมาเฉยๆว่า ผมเห็นใบไม้ใบนี้แล้วผมรู้สึกอะไร..

ที่แปลกไปอีกคือ วันต่อมาผมไปธุระเรื่องเดิม สถานที่เดิมอีก ผมได้มาอีก 1 ใบ และวันที่ 3 ผมก็ได้มาอีก 1 ใบ แต่หลังสุดนี้ สภาพใบยับเยินทีเดียว เพราะถูกเหยียบน่ะซีครับ

ทั้งสามใบอยู่ในครอบครองของผม หรืออาจจะเรียกว่า ผมเอาเศษเท้าของประชาชนที่เหยียบผ่านใบไม้นี้มาเก็บไว้ แล้วระลึกถึงธรรมะ

ไม่มีวันที่ 4 เพราะผมมีกำหนดการไปที่อื่น….

อย่างไรก็ตาม สภาพงาน สังคมเมืองหลวงที่วุ่นวายตลอดเวลานั้น ทำให้ผมวุ่นวายใจมาตลอดเพราะไม่ชอบการใช้ชีวิตในสภาพแบบนี้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องอยู่

ใบไม้ใบนี้ทำให้ผมเย็นลงเยอะเลยครับ…..


น้ำตาพ่อแสน

อ่าน: 1885

ท่านที่ติดตามบันทึกผมสมัยชื่อ “ลานดงหลวง” และ “ลานเก็บเรื่องมาเล่า” คงผ่านตาเรื่องของพ่อแสน แห่งดงหลวงมาบ้าง ขอทบทวนสั้นๆว่า พ่อแสนคือชาวบ้านชนเผ่ากะโซ่อยู่ที่บ้านเลื่อนเจริญ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาฯที่ผมรับผิดชอบจึงรู้จักพ่อแสนดี ในฐานะที่เป็นผู้นำกิจกรรมเรื่องการสร้างป่าครอบครัวจากพื้นที่โล่งเตียนเพราะถางป่าเดิมเอามาปลูกมันสำปะหลังตามกระแสยุคสมัยที่ใครๆก็หาที่ดินปลูกกัน

จากการเข้าไปคลุกคลีพ่อแสน พบว่า พ่อแสนไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่เรียนรู้ธรรมชาติแล้วดัดแปลงธรรมชาติให้มาอยู่ในพื้นที่สวนป่าของตัวเอง ไม่ว่าการเอาพืชป่ามาปลูก เอาเห็ดป่ามาเพาะ เลี้ยงสัตว์ป่าที่เป็นอาหารขึ้นในสวนป่า สร้างรังให้สัตว์ป่ามาอยู่อาศัย ต่างพึ่งพากัน เช่น สร้างบ้านให้ค้างคาว หอยแก๊ด แมงโยงโย่
และ…….

แม้ว่าโครงการ คฟป.ที่ผมมีส่วนรับผิดชอบจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ สปก. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสรุปบทเรียนและจัดทำสื่อ อาจเรียกว่าทำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สามแล้ว หนึ่งในนั้นคือกรณีศึกษาพ่อแสน

ผมไม่ได้มีส่วนในเรื่องนี้ แต่คนข้างกายเป็นผู้รับผิดชอบ เธอมีทีมงานด้านนี้ออกไปทำการสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอ

เย็นวันนั้นคนข้างกายต้องเดินทางไปประชุมกทม. ผมก็ไปส่งที่สนามบินขอนแก่น เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน เสียงโทรศัพท์เธอตามมาว่า ทีมงานที่ไปสัมภาษณ์พ่อแสนรายงานมาว่า ขณะที่ทำการสัมภาษณ์พ่อแสนนั้น พ่อแสนร่ำไห้ จนทีมงานตกใจ แต่ก็ปล่อยให้พ่อแสนปลดปล่อยความรู้สึกสุดๆนั้นออกมา

หลังจากนั้นผมมีโอกาสสอบถามน้องๆว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแสน…..

เป็นการตั้งคำถามปกติธรรมดาถึงที่มาที่ไปของการมาทำสวนป่าครอบครัวที่นี่…พ่อแสนเล่าเรื่องย้อนหลังไปสมัยหนุ่มๆที่มาถางป่ากับมือเพื่อเอาที่ดินปลูกพืชเศรษฐกิจ คือมันสำปะหลัง เหมือนเพื่อนบ้านทั่วไปที่ทำกันมา แต่แล้วมันมีแต่จนกับจน ป่าก็หมดไป ต้นไม้ที่เคยมีมากมายก็หมดสิ้น มันสำปะหลังที่ปลูกก็ไม่เห็นจะมีเงินทองมากขึ้น แถมมีหนี้สินอีก…

กว่าจะมาเปลี่ยนใจปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ดินที่เตียนโล่งก็เกือบจะหมดแรงแล้ว…

ผมนึกถึงลุงฉ่ำที่นครสวรรค์ที่ผมเคยทำงานที่นั่น ลุงฉ่ำเป็นคนถางป่ามาก่อน ลุงบอกว่า ตีนเหยียบไม่ถึงดิน เพราะตัดไม้ใหญ่น้อยลงมาจนหมดสิ้นเพื่อเอาที่ดินปลูกข้าวโพด แต่แล้วลุงฉ่ำกลับลำมาเป็นผู้นำปลูกป่า รักษาป่า ที่เข้มแข็งคนหนึ่งในเขตแม่วงก์นั้น

สำนึกสูงส่งที่เฆี่ยนหัวใจให้เปลี่ยนความคิดจากการทำลายมาเป็นการสร้าง การรื้อฟื้นป่า มันมีทั้งปิติ และความรู้สึกแห่งการกลับใจใหม่ ที่สังคมมารองรับความถูกต้องแนวทางนี้

น้ำตาของพ่อแสนนั้นมีคุณค่าเหลือเกิน..ในสำนึกที่เราสัมผัสได้ ว่าข้างในของพ่อแสนนั้นคิดอะไรอยู่ มันเป็นสำนึกที่สูงส่ง..ที่งานพัฒนา งานสร้างคนพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาให้กับพี่น้องในชนบท….

ซึ่งเป็นงานที่ยากยิ่งนัก…


เกิดระเบิดที่มาบตาพุดนั้นดีแล้ว..?

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 11, 2012 เวลา 1:11 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1689

ข่าวเกิดเหตุระเบิดที่มาบตาพุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น ผมรู้สึกว่ามันใกล้ชิดตัวเอง เพราะเป็นพื้นที่หนึ่งที่ผมลงไปทำงานอยู่ในปัจจุบัน บุคคล ชื่อชุมชน และสถานการณ์ในชุมชนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ก็เพราะเพิ่งลงสนามสัมภาษณ์ชาวบ้านรอบๆนิคมมาบตาพุดมา และมีแผนที่จะลงไปอีกในสัปดาห์นี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะชาวบ้านไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะมาพูดคุยกับเรา

มาบตาพุดเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีกลุ่มหนึ่งที่เขาติดต่อมาว่า เขาต้องการสนับสนุนชุมชนก้าวเข้ามาประมูลสินค้าและบริการที่กลุ่มปิโตรเคมีจัดซื้อปีละนับพันล้านบาท เงินจำนวนนี้เขาอยากให้ส่วนหนึ่งตกอยู่ในชุมชนรอบๆนิคม

หากจะกล่าวว่านี่เป็นนโยบายหนึ่งของ CSR ก็ใช่ เราเลยจับมือกับ NGO ใหญ่ลงสนามไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเข้ากระบวนการ แล้วมองดูลู่ทางว่ามีแนวทางใดบ้างที่จะตอบโจทย์นั้นได้ ทีมงานและผมลงสนามมาบตาพุดมาแล้ว ตระเวนไปพบผู้นำชุมชน ผู้นำหน่วยงาน ชาวบ้าน ฯลฯ สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลต่างๆตามแผนงานที่เรากำหนดขึ้นมา

ผมนั้นเป็นตัวประกอบในการเก็บข้อมูล แต่ผมมีประเด็นในใจและนิสัยที่อยากรู้เรื่องราวต่างๆที่มากไปกว่าแบบสัมภาษณ์ ทั้งเป็นแบบ Traditional และที่เป็น Key Question ตามหลักการแล้ว ผมก็ปล่อยให้ทีมงานทำไป ผมเองเห็นใครอยู่นอกเป้าหมายของ Key Informants ก็จะเข้าไปจับเข่าคุยด้วยตามสไตล์ของผมที่นิยม Dialogue มากกว่า

ที่ชุมชนหนึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ผมพบ “ป๊ะ” ท่านอายุ 80 เศษแล้ว แต่แข็งแรงผมเข้าไปคุยด้วย คุยไปคุยมาผมทึ่งกับท่านมากเพราะท่านเป็นผู้สูงอายุที่มีความคิดกว้างไกล และออกวิชาการมาก ทราบว่าท่านเป็นผู้นำศาสนาในจังหวัดระยองด้วย ระหว่าวที่เรานั่งคุยกัน ทีมที่สัมภาษณ์เป็นทางการนั้นออกปากเชิญ ป๊ะ ไปคุยด้วยเพื่อขอทราบข้อมูลต่างๆ ป๊ะมีท่าทีไม่อยากไป แต่ลูกเขยท่านชักชวนให้ไปร่วมด้วย ท่านก็ไป แต่เพียงไม่กี่คำถามท่านก็ผละออกมาคุยกับผมต่อ เพราะท่านไปสวนคำถามฉบับๆๆๆๆ แบบว่า ไม่อยากให้ข้อมูล ไม่มีประโยชน์ มีทีมงานต่างๆมาคุยหลายต่อหลายชุด แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นเลย

ท่านลงมาคุยกับผมต่อเฉยเลย ผมนึกเข้าข้างตัวเองว่า เพราะผมใช้ Dialoque และทักษะการคุยกับชาวบ้านนั้นเราผ่านมามากแล้ว รู้ว่าควรจะคุยแบบไหน อย่างไร … ยิ่งคุยยิ่งทึ่งกับท่าน ป๊ะ ท่านมีความคิดที่สด ทันสมัย มีหลักการ วิชาการ ผมเห็นด้วยกับท่านหลายเรื่อง…..

ผมจากท่านมาด้วยความชื่นชมเป็นการส่วนตัว…จนข่าวโรงงานในนิคมมาบตาพุดเกิดการระเมิด ผมติดตามข่าว ก็ได้ยินผู้นำบ้านนั้นบ้านนี้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างๆ ล้วนเป็นผู้นำที่ผมไปสัมผัสมาแล้ว แล้วเมื่อสองวันก่อน หน่วยงานเรามีการประชุมสรุปงานเบื้องต้นกัน เพื่อนร่วมงานกล่าวกับผมว่า ..ช่วยโทรไปคุยกับป๊ะหน่อย ทราบว่า ทั้งชุมชนเขาโยกย้ายออกไปจากพื้นที่เพราะได้รับควันพิษเต็มๆ แต่ป๊ะไม่ยอมออกจากบ้าน..?? ผมรับปาก

ผมโทรไปหาป๊ะ…ทำไมไม่ออกไปจากบ้านหล่ะครับ ใครต่อใครเขาอพยพไปตามข้อเสนอของทางการ ป๊ะบอกว่า ไม่ไปหรอก อยู่ที่นี่มาชั่วชีวิตแล้ว จะตายก็ขอตายตรงนี้… เราคุยกันพักใหญ่ คำหนึ่งที่ผมทึ่งในความคิดของป๊ะคือ

..ผมว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ดีนะ…. อะไรนะ..ผมถามซ้ำ ป๊ะก็ย้ำว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ดีนะ.. ผมงง งง ผมฟังผิดไปหรือเปล่า…. ผมถามต่อ มันดีอย่างไรครับ ป๊ะ.. ป๊ะตอบทันควันเลยว่า…อ้าว มันก็ทำให้ราชการ หน่วยงานได้คุยกัน ตื่นตัวหามาตรการต่างๆออกมาใช้ ชาวบ้านอย่างเราก็หันหน้ามาคุยกัน

โอโฮ….แหลมคมจริงๆป๊ะ ท่านยังวิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้ในฐานะที่ท่านเป็นคนในพื้นที่ ใกล้ชิดกับคนงานและผ่านเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับโรงงานมาตั้งแต่โรงงานต่างๆมาเริ่มตั้งใหม่ๆ

ป๊ะกล่าวว่า…มันประมาท ทั้งหมดนั่นแหละประมาท มันเป็นช่วงหยุดงาน ทำความสะอาดเครื่องเพื่อเปลี่ยนจ๊อปใหม่ เจ้านายก็ไม่อยู่ ผู้คุมก็ไม่อยู่ คนทำความสะอาดก็ประมาท เพราะทุกคนคิดว่าไม่มีอะไร นี่มันเป็นอย่างนี้ เรื่องนี้มันเกี่ยวกับสามส่วน ป๊ะ วิเคราะห์ต่อว่า หนึ่ง คนงานที่ทำความสะอาดและผู้คุมทั้งหลาย สองบริษัทผู้มาลงทุน และสามชาวบ้านอย่างเรานี่ …ป๊ะ วิเคราะห์ยาวไปเลย อย่างนักวิชาการ หรือผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์….

เป็นโทรศัพท์ที่ผมพูดนานที่สุดครั้งหนึ่ง แต่ก็ยินดีที่ได้คุยกับป๊ะ ผู้เฒ่าที่อายุเป็นเพียงตัวเลข ฟังเสียงป๊ะแล้วผมหลับตาเห็นอากัปกิริยาป๊ะได้ ท่านเป็นคนตรง แข็ง ใครมาผิดหูผิดตาก็ฟันเละไปเลยเชียวหละ

ลูกเขยป๊ะ ก็ หนึ่งในตองอูคนหนึ่ง เราเห็นฝีปากมาแล้วในการประชุมสองครั้ง ใครๆก็สะดุ้งโหย๋งหากลูกเขยป๊ะคนนี้พูด ไม่ใครก็ใครโดดอัดแน่ๆ ทั้งนี้เพราะเขามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับกลุ่มปิโตรเคมีมานาน ซ้ำซาก…

ผมนึกไปถึงประสบการณ์ที่แม่เมาะ มันช่างคล้ายกันในหลายเรื่อง เห็นใจชาวบ้านครับ และงานเกี่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมนั้นมีงานที่แตกต่างไปจากชนบททั่วไป ยากกว่า เพราะโจทย์คนละชุดกัน

แต่สำหรับคนที่ทำงานกับคนมาขนาดผมนั้น

มันท้าทายดีครับ….


เขียนถึง ดามาพงษ์ คนหนึ่ง..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 21, 2012 เวลา 12:32 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3228

ช่วงหลังมานี้ผมชอบฟังวิทยุ จึงซื้อมาเครื่องหนึ่ง เอาไว้ที่กรุงเทพฯ ลงมาทีไรก็เปิดแต่วิทยุฟังข่าวเสียเป็นส่วนใหญ่ คนที่บ้านแซวว่าเหมือนชาวบ้านที่เอาวิทยุมาเปิดฟังลูกทุ่งไปทำงานไปเลย…

ผมว่ามีรายการดีดีเยอะนะครับ หูฟังไป มือและสมองทำงานไปด้วย หากดูทีวี ตาก็อยู่แต่ทีวีไม่ได้อยู่ที่งาน จริงๆก็ฟังทีวีก็ได้เน๊าะ แต่ผมเลือกฟังวิทยุ วันนี้ขับรถไปส่งลูก ขากลับเปิด FM 99.00 เวลาสัก 9 โมงถึง 10 โมงเช้า ฟังรายการเกี่ยวกับสุขภาพ มีสตรีสองท่านดำเนินรายการ และมีวิทยากรผู้ชายหนึ่งท่านคุยกันทางโทรศัพท์ เขาคุยกันถึงอากาศร้อนในสองสามวันนี้ และบอกว่าพรุ่งนี้พระอาทิตย์จะตรงหัวคนไทย แน่นอนร้อนจัดๆเลยหละ

วิทยากรผู้ชายท่านนั้นเป็นนักโภชนาการ อธิบายว่าควรดื่มน้ำมากๆ 8-10-15 แก้วต่อวัน แล้วแต่อายุ สุขภาพ แต่แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด มากๆ หากน้ำน้อยจะมีผลต่อสุขภาพหลายอย่าง ให้ใส่แว่นกันแดด กางร่ม ผู้สูงอายุอย่าออกแดดมากนัก กินผักเยอะๆ อย่ากินทุเรียน หรือทนไม่ไหวหลังกินทุเรียนก็ให้กินน้ำมากๆ ฯลฯ


(ภาพจากอินเตอเนท)

ผมฟังอยู่พักใหญ่ระหว่างขับรถไป พอผู้ดำเนินรายการเอ่ยชื่อ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผมก็อ๋อ ไอ้หง่า เพื่อนผมเอง ขออภัยเราสนิทกันมาก ผมก็ชื่นชมเพื่อนคนนี้มาตั้งแต่เรียนหนังสือ ม.ศ. 4-5 ด้วยกันที่สำเหร่ เราอยู่ก๊วนเดียวกัน เล่นด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน มี แป้น เปี๊ยก และชาตรีอีกคน แป้นเป็นลูกชายเจ้าของโรงเรียน เราเลยถือโอกาสกินข้าวเย็นบ้านแป้นบ่อยๆ หรือไปเล่นดนตรีกันที่ห้องพักที่บ้านแป้น และดูหนังสือด้วยกัน ขอยืมเสื้อใส่กัน

ไอ้หง่า หรือ เพื่อนหง่า หรืออาจารย์สง่าของสาธารณชน ไปเรียน Food science ที่ มก. แป้น ไปเทคนิคบางมด(สมัยนั้น) ชาตรีและเปี๊ยกไป มข. ผมไป มช. นานๆเราจะมาพบกันที ตามสะดวก สง่าเป็นนักโภชนาการของกรมอนามัยมานาน เติบโต มีชื่อเสียงทางด้านสุขภาพมากมาย หุ่นดี ดูสุขภาพร่างกายไม่แก่ตามอายุ อันมาจากการดูแลสุขภาพของเพื่อนนั่นเอง และที่สำคัญ สง่าเป็นคนหัวเราะเก่ง หน้าเขายิ้มตลอด พูดเก่ง จิตใจดี น่าจะเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของสุขภาพที่ดีของเพื่อนคนนี้


(ภาพจากอินเตอเนท)

ผมเห็นสง่าทางหน้าจอทีวีเป็นบางครั้ง เราไม่ค่อยได้ติดต่อกัน จะเจอะกันโดยบังเอิญบ้างเช่นที่สนามบิน เขาลงใต้ ผมไปอีสาน ทำนองนั้น ผมทราบว่าสง่าเขียนหนังสือออกมา ชื่อ “กินอยู่อย่างสง่า” ในเนทกล่าวว่า เขียนโดย อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ทำโครงการ “คนไทยไร้พุง” ปลุกกระแสสังคมจนประสบผลสำเร็จมาแล้วปัจจุบันเกษียณอายุราชการในวัย 61

ผมลองติดตามเพื่อนทางอาจารย์ กู.. พบว่ามีคนนับเขาเป็นตระกูลดังคนหนึ่ง คือ ดามาพงษ์ แต่ความจริงเรื่องนี้ผมเคยคุยกับเพื่อนสง่าว่า เฮ้ย..เองรวยเท่าไหร่วะ ก็คุณหญิงท่านไม่รู้จะเอาเงินไปเก็บที่ไหนแล้วว่ะ… สง่าเพื่อนผมบอกว่า ไอ้หา…กูน่ะขี้ตีนก็ไม่ติดท่านหรอก ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องปรองดอง เอ้ย เป็นดองเป็นญาติอะไรเลย มึงดูนะ ไอ้บู๊ด.. ดามาพงษ์ กับดามาพงศ์ มันต่างกันตรง ษ์ กับ ศ์ ว่ะ กูเลยไม่รวยเหมือนท่าน..กิกิ กิกิ

ตอนสมัยเรียนอยู่นั้น เขาเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งอ่านทำนองเสนาะ แห่งชาติ และเขาได้รางวัลกลับมา

ชื่นชมเพื่อนคนนี้ ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมในด้านให้วิทยาทานทางความรู้เรื่องสุขภาพ แก่สาธารณะ

พบกันคราวหน้า พุงข้าจะลดลงว่ะ…หง่า… กิกิ กิกิ


กระต๊อบ..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 16, 2012 เวลา 23:04 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2807

ภาพวาดในตลาดสก็อต กลางเมืองย่างกุ้ง เมียนมาร์

คล้ายตลาดเซ้า(เช้า) ของลาว มีสินค้าเกือบทุกอย่าง

เสื้อผ้า ทอง ของใช้ หยก ไม้แกะสลัก ของกิน ของฝาก

ใครไปย่างกุ้ง ต้องไปเที่ยวที่นี่นะครับ


ทหารแก่ไม่เคยตาย..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 15, 2012 เวลา 8:28 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1607

ถ้าไม่มีป้ายบอกผมก็คิดเพียงว่าพ่ออุ้ยท่านนี้คือชายชราคนหนึ่งที่พิการมาขายสลากกินแบ่ง เพื่อหารายได้ให้กับชีวิตและครอบครัว ที่หน้าวัดที่มีชื่อเสียงแห่งนี้มักมีคนมากราบไหว้พระมากเป็นประจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับนักเสี่ยงโชค หรือเรียกอีกทีคือเป็นตลาดของผู้ซื้อ-ขายสลากกินแบ่งนั่นเอง

อุ้ยท่านนี้ไม่ธรรมดา แม้ว่าอายุท่านจะผ่านเก้าสิบปีมาหลายร้อนหลายหนาวแล้ว ยังแข็งแรงคำพูดกระฉับกระเฉงแม้จะสูญเสียสายตาไปหมดสิ้น เพราะป้ายบนแผงสลากกินแบ่งได้บอกคร่าวๆถึงสถานะของอุ้ยท่านนี้ และตั้งคำถามเดียวเท่านั้นก็พอเข้าใจว่าท่านคือใคร

ผมขนลุกเลยเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่มีอุ้ยท่านนี้เป็นตัวนำเรื่อง ผมเห็นว่าท่านคือสมบัติสังคมเราด้านประวัติศาสตร์ ท่านคือสมบัติบุคคลของประเทศชาติ ท่านเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและอื่นๆอีกหลายอย่าง หากโรงเรียนนายทหารมาเอาตัวท่านไปเล่าประวัติศาสตร์การสู้รบสมัยนั้นให้ฟังก็น่าจะเป็นบทเรียนและรายละเอียดต่างๆของวงการให้เรียนรู้กัน

หากนักประวัติศาสตร์เอาตัวท่านไปบันทึกรายละเอียดของสงคราม วิถีชีวิต สภาพสงครามและรายละเอียดอื่นๆก็จะเกิดประโยชน์

หากคุณครูจะเชิญท่านไปเล่าสภาพสังคมแห่งอดีตให้นักเรียนรุ่นหลานแหลนได้ยินได้ฟัง สำเหนียกในรากเหง้าของบรรพบุรุษและท้องถิ่น ก็จะเป็นการสร้างทุนทางสังคมอีกทางหนึ่ง เกิดความตระหนัก รักยิ่งต่อถิ่นฐานและเคารพต่อบรรพบุรุษที่ใช้ชีวิตปกป้องแผ่นดินให้เราได้เฉิดฉายในปัจจุบัน

ทำไมเราลืมประวัติศาสตร์บุคคล

ทำไมเราลืมประวัติศาสตร์อดีตสังคมไทยที่มีชีวิต

ทำไมเราลืมประวัติศาสตร์ประเทศชาติที่ทหารสงครามโลกครั้งที่สองท่านนี้ยังมีชีวิตอยู่

ทำไมประเทศชาติทิ้งขว้างบุคคลผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตท่านนี้

และท่านอื่นๆ….

เราคิดอะไรกัน ทำอะไรกันอยู่หรือ…


ไผ่ในวัด..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 13, 2012 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1964

ภาพนี้ผมถ่ายมาจากวัดที่สวยงามที่สุด มีศรัทธามากที่สุดแห่งหนึ่ง มีผู้คนมากราบไหว้มากที่สุด เป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยวมามากที่สุด

โจทย์ เมื่อท่านเห็นภาพนี้แล้ว ท่านจงอธิบายความรู้สึกนึกคิดของท่านมาเต็มที่เลย….


มิติของข้าว วิถีชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 27, 2012 เวลา 21:04 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2097

สมัยทีผมบวชเรียนที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม รอยต่ออ่างทอง-สุพรรณบุรีนั้น แม้ว่าผมจะมีความสนใจหลักธรรม แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อในของธรรมทั้งหลายได้ พระอาจารย์ธรรมธโร เจ้าสำนักท่านจึงกล่าวเสมอว่า ถ้าจะบวชก็ขอให้ครบพรรษา เพราะจะได้ใช้เวลาปฏิบัติให้มาก ท่านสอนว่า ไม่ต้องเอาหนังสือธรรมมาอ่าน ไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ให้สามเดือนมุ่งอยู่แต่การคู้ เหยียดแขน เพื่อจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นและทำจิตให้นิ่ง…….

ท่านให้หลักมหาสติปัฏฐาน 4 เพ่งพิจารณา กายในกาย จิตในจิต…….ฯ ผมก็ไม่กระดิก เมื่อผมลาสิกขาออกไป กลับไปทำงานพัฒนาชนบท และย้ายสถานที่มาอยู่อีสาน ที่จังหวัดสุรินทร์ และเข้ารับการฝึกอบรมกระบวนการทำงานชนบทอีกครั้งกับ อ่านอาจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อ.มรว. อคิน รพีพัฒน์ และ….. เริ่มลงลึกถึงมิติของชุมชนมากขึ้น เนื่องจากท่าน อ.อคิน ท่านเป็นนักสังคมวิทยา เขียนตำราเรื่องคนนอกคนใน และเรื่องราวของชนบทไว้มาก จนมีคนแซวท่านไว้ว่า “เจ้าที่ทำตัวเป็นไพร่” ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ทั้งสองท่านมากมาย และเมื่อย้อนกลับไปนึกถึงสมัยที่บวชเรียน ก็ร้องอ๋อ…. มิติแห่งธรรมนั้นลึกซึ้งมาก ตาเนื้อมองไม่เห็น แต่ต้องใช้ตาปัญญามอง ถึงจะเห็น ถึงจะสัมผัสมิติด้านในได้..


กองข้าวที่เห็นนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไร ก็แค่กองข้าว….. นี่คือตาเนื้อที่เราเห็น แต่ความหมายนั้นมากกว่าการเห็นแค่การเก็บข้าวเปลือกไว้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้าวคืออาหารหลักของชาวบ้าน มีข้าวไม่มีข้าวคือเรื่องใหญ่ กับข้าวเรื่องเล็ก หรืออาหารที่จะกินกับข้าวนั้นหาง่าย ชาวบ้านอยู่กัน 5 คน เขารู้ว่าจะต้องเก็บข้าวเปลือกไว้กินกี่ถุง กี่กระสอบ

ปกติเขาจะเก็บข้าวไว้ให้มากพอที่จะกินถึงสองปี…. นี่คือวิถีชุมชน เพราะเป็นหลักประกันว่าหากปีไหนนาล่ม หรือเสียหายก็ยังมีข้าวกิน หากไปไหนๆ ไม่มีความเสียหาย ก็เอาข้าวเก่าไปขายเอาข้าวใหม่เก็บเข้าแทนที่ตามจำนวนที่กินได้สองปี นี่คือระบบคิดรักษาความปลอดภัยไว้ก่อน

ปัจจุบันความต้องการใช้เงินมีมากขึ้น โดยเฉพาะเงินที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการศึกษาลูก หากเปิดเทอม ลูกต้องการค่าเทอม หากไม่มีเงินเก็บ ก็พิจารณาตัดสินใจว่าจะเอาข้าวส่วนเกิน หรือไม่เกินก็ตามแต่จ้ำเป็นต้องหาเงินให้ลูก ก็ต้องแบ่งข้าวเปลือกไปขาย ขนาดของถุงนั้นพอดี เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้าย เหมาะสำหรับการกะปริมาณข้าวที่ต้องขายกับจำนวนเงินที่ต้องการได้มา แน่นอนหลายครอบครัวตัดสินในขายวัวทั้งตัว และเก็บข้าวไว้กิน

ข้าวเหล่านี้ แบ่งเอาไปเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป แต่หลายแห่งจะแยกออกไปต่างหาก ไม่ปะปนกับจำนวนนี้

ข้าวเหล่านี้สามารถแบ่งเอาไปทำบุญ ในงานประเพณีต่างๆขอกลุ่มชนเผ่า ของท้องถิ่น ทั้งเอาไปบริจาคที่วัดใกล้บ้าน หรือมีผู้ภิกขาจารมาขอข้าวก็แบ่งเอาไป หรือบ้านอื่นๆขาดข้าวก็เอาสิ่วของมาแลกข้าว ก็แบ่งเอาไป ปีหนึ่งๆมีการบริจาคข้าวเปลือกเพื่องานบุญในวาระต่างๆไม่น้อยทีเดียว เพราต่างหมู่บ้านก็มาบอกบุญ ข้ามตำบล ข้ามอำเภอก็พบบ่อยๆ

แบ่งข้าวให้ญาติพี่น้องที่ขาดแคลนข้าว แบ่งให้ลูกหลานเอาไปกินในต่างถิ่น แม้ลูกหลานมาทำวานกรุงเทพฯ กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ เมื่อคราวกลับไปงาน พ่อแม่ก็เอาข้าวให้ไปกิน

ข้าวจึงมีคุณค่า มีมูลค่ามากกว่าแค่เอาไว้กินเป็นอาหารหลักเท่านั้น ประเพณีพื้นบ้านจึงเกี่ยวข้องกับข้าวก็มี อย่างเช่น ประเพณี 3 ค่ำ เดือน 3 ที่อาว์เปลี่ยนและผมเคยเขียนไว้บ้างแล้ว เรียกพิธีทำขวัญข้าวที่ยุ้งฉาง หรือเรียกพิธีเปิดประตูเล้าข้าว ของพี่น้องไทโส้ดงหลวง และที่อื่นๆ

แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเพิ่งทราบมาว่า การที่เอาถุงข้าวมาเก็บกองไว้ในบ้านแบบโจ่งแจ้งนั้นแทนที่จะเก็บไว้ในยุ้งฉางมิดชิด กล่าวกันว่าเป็นการแสดงออกถึงการมีฐานะ มีความมั่นคง มีหลักมีฐานของครอบครัวนั้นๆ แขกไปใครมาก็เห็น …??!!!

กองข้าว ที่มีความหมายมากกว่ากองข้าว

นี่คือมิติต่างๆของข้าว

นี่คือวิถีชุมชน..



Main: 0.06737208366394 sec
Sidebar: 0.030493021011353 sec