ใบไม้ใบนั้น..
ผมมีธุระต้องไป Lotus Express แห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อทำภารกิจเสร็จก็เดินกลับที่จอดรถ เป็นทางเดินข้างอาคารใหญ่ ผมพบใบโพธิ (ผมเดาว่าเป็นใบโพธิ์ หากไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเพราะเหมือนมากๆ) ใบนี้ที่ทางเท้าอย่างแปลกใจมากๆ เพราะ ผมมองไปรอบๆไม่เห็นต้นโพธิ มีแต่ตึกและการจราจรที่หนาแน่น ผมว่าเป็นใบไม้ที่สวยงามมากจึงหยิบเอามาเก็บกลับบ้าน พร้อมจิตก็นึกไปถึง ศาสนา หลักธรรม ความสำคัญของต้นโพธิ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์
ใบไม้ใบนี้ถูดเหยียบย่ำมานานเท่าไหร่แล้วไม่ทราบ คนที่เดินผ่านคงเห็น(ว่าเป็นเศษใบไม้ใบหนึ่งที่ไม่ได้คิดอะไร ก็แค่ใบไม้ จิตเขานึกถึงอย่างอื่นๆ) แต่ไม่เห็น ว่านี่คือใบไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตัวแทนของธรรมะ ตัวแทนของการหลุดพ้น ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมเห็นนั้น สำนึกผมดึงกลับมาอยู่ที่ตัวแทนของความบริสุทธิ์…
ผมไม่ได้เขียนเพื่อมาอวดอ้างตัวตนว่าดีเลิศประเสริฐศรีใดๆนะครับ แค่สะท้อนออกมาเฉยๆว่า ผมเห็นใบไม้ใบนี้แล้วผมรู้สึกอะไร..
ที่แปลกไปอีกคือ วันต่อมาผมไปธุระเรื่องเดิม สถานที่เดิมอีก ผมได้มาอีก 1 ใบ และวันที่ 3 ผมก็ได้มาอีก 1 ใบ แต่หลังสุดนี้ สภาพใบยับเยินทีเดียว เพราะถูกเหยียบน่ะซีครับ
ทั้งสามใบอยู่ในครอบครองของผม หรืออาจจะเรียกว่า ผมเอาเศษเท้าของประชาชนที่เหยียบผ่านใบไม้นี้มาเก็บไว้ แล้วระลึกถึงธรรมะ
ไม่มีวันที่ 4 เพราะผมมีกำหนดการไปที่อื่น….
อย่างไรก็ตาม สภาพงาน สังคมเมืองหลวงที่วุ่นวายตลอดเวลานั้น ทำให้ผมวุ่นวายใจมาตลอดเพราะไม่ชอบการใช้ชีวิตในสภาพแบบนี้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องอยู่
ใบไม้ใบนี้ทำให้ผมเย็นลงเยอะเลยครับ…..
« « Prev : เรื่องเล่าจากดงหลวง..อีกที..
5 ความคิดเห็น
เคยอ่านที่ไหนสักแห่งว่า มีมหาเศรษฐีคนหนึ่งจะเลือกซื้อภาพที่แสดงถึงความสงบ ระหว่างภาพป่าอันสงบเงียบ กับภาพนกกกไข่อยู่ในมุมเล็กๆ ท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างที่ดูอึกทึกครึกโครม. เขาเลือกภาพหลัง ด้วยเหตุผลว่า เป็นภาพที่บอกถึง ความสามารถที่จะสงบอย่างแท้จริง. อ่านแล้วประทับใจและมักจะเอามาเตือนตัวเองเสมอ เวลาอยู่ในบรรยากาศที่วุ่นวาย และไม่ต้องจริตส่วนตน. จริตที่ชอบอยู่ในที่ที่ไม่พลุกพล่านนัก ^^
รู้สึกว่าฝึกใจนี่ฝึกเท่าไรก็ยังมีเรื่องให้ฝึกต่อๆไปเสมอ ขอบคุณเรื่องราวของใบไม้ที่ทำให้ได้ข้อคิดดีๆ นะคะ
พิมพ์ “เลือกซื้อ” เป็น “เลืกซื้อ” อิอิ
น้องครูอึ่ง กล่าวอย่างนี้ทำให้นึกถึง สองด้าน หรือสองมุม หรือ ผลกับเหตุของผล หรือ ด้านนอกกับด้านใน หรือเบื้องหน้ากับเบื้องหลัง หรือ … สังคมพัฒนามาจนเอาผลมาตัดสิน ไม่สนใจเหตุที่มา เอาด้านนอกมาตัดสินไม่สนใจด้านใน พิจารณาเบื้องหน้าปฏิเสธเบื้องหลัง……
เคยเขียนในเรื่องเล่าจากดงหลวงว่า
ไม่ค่อยเห็นด้วยกับทีมประเมินผลงานพัฒนาชนบทที่เป็นใครก็ไม่รู้มาออกแบบสอบถามไปถามชาวบ้านแล้วก็ตีออกมาเป็นคะแนน แล้วเอาคะแนนนั้นมาตัดสินงาน มิใช่ปฏิเสธทั้วหมด แต่สิ่งที่ทีมประเมินผลได้ไปนั้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่เห็นที่มาที่ไป หรือสรุปจากสิ่งที่เห็น แล้วไปสรุป บางเรื่องก็ผิดไปเลยจากเรื่องราวที่เป็นจริง เช่น
นักประเมินไปถามชาวบ้านว่าข้าวพอกินไหม ชาวบ้านบอกว่าพอกิน….เขาก็สรุปทันทีว่า ชาวบ้านครอบครัวนี้ข้าวพอกิน ไม่มีปัญหา แต่ข้อเท็จจริงคือ ข้าวเขาไม่พอกิน ขาดไปสามเดือน แต่เขาแก้ปัญหาโดยการเอามันสำปะหลังไปขาย เอาเงินมาซื้อข้าวให้พอกินช่วงสามเดือนที่ขาด…..
เรื่องนี้คือทักษะของการตั้งคำถามชาวบ้าน เอาเร็ว ให้เสร็จเร็วๆ ไม่สนใจรายละเอียด เอาแต่ผลที่ปรากฎ
เมื่อสรุปอย่างนี้ก็ส่งผลไปถึงการนำเสนอแผนงานทำงานที่ไม่มีเรื่องการแก้ปัญหาข้าวขาดแคลน งานพัฒฯาชนบทจึงเป็นงานที่ต้องคลุกคลี มุมแบบนี้นักมานุษยวิทยาจะเข้าใจลึกซึ้งกว่า
ทางกฎหมายเขาจึงศึกษาคนทำผิดว่ามีเจตนาหรือไม่ เพราะเจตนาเป็นเรื่อง “ด้านใน” การทำผิดน่ะผิด แต่ด้านในมีที่มาที่ไปอย่างไร ที่มามีส่วนทำให้เขาต้องทำผิด เหตุผลส่วนนี้จะเป็นส่วนประกอบการพิจารณษตัดสิน หรือพิพากษาความผิด
พฤติกรรมของเด็กที่ปรากฎจึงมีความหมายมิเพียงการอบอรมบ่มเพาะในห้องเรียนเท่านั้น ครอบครัว สังคม สื่อต่างๆ ฯลฯ ล้วนมีผล “หล่อหลอม” เด็ก การสร้างเด็กจึงเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะหมายรวมไปถึงครอบครัวและสิ่งต่างๆกังกล่าวด้วย ซึ่งโรงเรียนไม่สามารถก้าวไปถึงตรงนั้นได้ หรือทำได้ไม่มากนัก
อ้าว…เกี่ยวกันได้ไงเนี่ยะ..อิอิ ขอบคุณครับน้องครูอึ่ง
อ่านด้วยความเข้าใจค่ะพี่บางทราย
วันก่อนมี discussion ว่าด้วยการที่มีข่าววิพากษ์นักข่าวสตรีที่ไม่ระมัดระวังในการวางภาพ…”……” จนเกิดข้อขัดแย้ง
หนึ่งในประเด็นคือ “เพราะเธอไม่ได้มีความเคารพและให้ความคารวะบุคคลในภาพจากส่วนลึกของจิตใจ” จนเกิดความประมาทละเลย
ในการ discussion น้องยกประเด็นเปรียบภาพพระพุทธเจ้า ถ้าเรามีความเคารพบูชาจากส่วนลึกของจิตใจแล้ว เราก็ย่อมไม่วางต่ำ และยิ่งไม่วางแทบเท้าตัวเอง
มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ที่ไม่เห็นด้วยก็อธิบายว่าเพราะเธอเป็นคนทำงานจริงจัง สิ่งเหล่านี้เลยเกิดได้เป็น “ธรรมดา” แถมมีคำถามว่าทำไมเธอต้องเคารพด้วยในเมื่อเธอเกิดไม่ทันยุตและไม่รู้จัก…
มิติและความลึกในการมองแตกต่างกันน่ะค่ะ
เห็นด้วยกับครูอึ่งและพี่ค่ะ
เรื่องการพัฒนาภายในเป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดเวลา
และยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งรับรู้ว่าอยู่กับงานแบบไหน ก็ยิ่งต้องศึกษาสิ่งที่ตัวเองกำลังทำให้รอบด้านเพราะสิ่งเหล่านี้เรียนรู้ได้ สร้างได้
ใช่ครับน้องสร้อย
เราเองก็มิใช่ผู้ทรงธรรม ผู้บรรลุ แค่ปุถุชนที่มีบางเวลาสำนึกเราเข้าใกล้ธรรมมากกว่าในหลายช่วงเวลา มันสวิงไปสวิงมา นี่เองที่พระท่านสอนให้เราเจริญสันติ เอ้ย เจริญสติ ให้ควบคุมสติอยู่กับปัจจุบัน
ตรงข้ามสังคมทุน สังคมธุรกิจ สร้างสิ่งแวดล้อมให้ดึงเราออกจากส่วนด้านในออกไปฝังติดกับความหรูหรา ฟู่ฟ่า เทรนด์ ทันสมัย ศิวิไลซ์ จริงๆเราไม่ได้รับเกียจสิ่งเหล่านั้นหากเราเดินอย่างมีสตินะ โโยการเจริญสติด้านในไปพร้อมๆกัน….