ลุงคนหนึ่ง..
ผมและน้องทีมงานมีภารกิจต้องไปติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่สวนหลวง ร 9 น้องขับรถไปบนทางด่วนหลายต่อหลายสาย ซึ่งผมไม่รู้เรื่องว่าทำไมต้องเส้นนั้น เห็นจ่ายค่าผ่านด่านไม่รู้จักกี่ครั้ง คนกรุงเทพฯนะ หากคุณต้องการความสะดวก คุณก็ซื้อบริการเอาเอง มิเช่นนั้นคุณก็ใช้เส้นทางปกติที่จะข้ามเมืองไปธุระคงใช้เวลาค่อนวันแน่ๆ
ก่อนเข้าสวนหลวงน้องจอดรถเพื่อหากาแฟดื่ม เรื่องกาแฟนี่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ แต่ก่อนมีแต่คนรุ่นผู้ใหญ่ ซื้อกาแฟกิน นับตั้งแต่มีการโฆษณากาแฟสด เดี๋ยวนี้วันรุ่นโดยเฉพาะวัยทำงานใหม่ๆ ติดกาแฟเย็น และสารพัดเครื่องดื่มประเภทนี้ ผมตกใจไปสั่งสตาร์บักมาแก้วหนึ่ง 100 กว่าบาท หัวใจไปอยู่ที่ตาตุ่ม ทำไมมันแพงขนาดนี้ ทั่วๆไปกินอเมซอนก็สี่สิบ ห้าสิบ ผมก็ควักแล้วควักอีกว่า กินดีไม่กินดีหือ…
ปรากฏว่าน้องลงไปกาแฟแต่ร้านไม่เปิด ผมกำลังสนใจคุณลุงท่านนี้ตั้งใจจะไม่กินกาแฟตามน้องจะมาคุยกับคุณลุงสักหน่อย สัมภาษณ์สามคำซักหน่อย อิอิ แต่จริงๆสามคำไม่ได้เรื่องอะไร ต้องมากกว่านั้น แต่น้องไม่ได้กาแฟจึงต้องออกรถไป ผมเลยคุยกับลุงได้สองคำเองไม่ถึงสามคำด้วยซ้ำไป
ทำไมลุงต้องถอดเสื้อ ทำไมลุงต้องใส่รองเท้าสวยทำงานซ่อมรองเท้า ทำไมรองเท้าที่ซ่อมจึงเป็นรองเท้ากีฬาทั้งหมด ทำไม ทำไม ทำไม…อีกมากมายในหัวที่อยากคุย ได้คำตอบเพียงว่า ลุงมาออกกำลังกายทุกเช้ามืดที่สวนหลวงแห่งนี้ และมีเพื่อนหลายคนที่มาออกกำลังกายด้วยกัน ลุงคุยไปแสดงท่าออกกำลังกายด้วย แล้วเพื่อนๆก็เอารองเท้ากีฬาที่ชำรุดมาให้ลุงซ่อม….
ผมชอบสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนที่ติดดินเช่นนี้ ผู้คนที่ไร้ค่าในสายตาหลายๆคน ผู้คนชายขอบของนักธุรกิจใหญ่ที่มุ่งกำไรมากมาย ผู้คนสูงอายุที่มาต่อสู้ชีวิตด้วยการทำงานริบถนนเช่นนี้ ผมคิดว่าท่านเหล่านี้มีประสบการณ์ชีวิตที่น่าสนใจ และมักมีมุมคิดที่ทำให้เราเห็นสังคมมากกว่ามุมอื่นๆ
ในสังคมสวัสดิการท่านเหล่านี้อาจจะนั่งๆนอนๆในอาคารที่รัฐจัดไว้ให้ ทำกิจกรรมตามกำหนดการที่นักวิชาการสร้างขึ้นมา มีการตรวจสุขภาพตามกำหนด และทานอาหารตามเวลาที่มีคนทำไว้ให้ และ…. ผู้สูงอายุที่มีอันจะกินก็มีคนรับใช้ข้างๆตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง การออกกำลังกายก็เดินไปเดินมาในบ้านที่แสนสงบ…
แต่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ มีผู้มีความรู้มากมายเดินผ่านไปวันละมากมาย มีนักการเมืองที่เจตนาดีขับรถหรูผ่านไปคันแล้วคันเล่า มีบริษัทใหญ่โตทำโครงการ CSR แล้วถ่ายรูปลงหนังสือมากมายนัยว่าเขาแบกสังคมทั้งสังคมไว้
แต่ลุงข้างถนนต้องมาทำงาน อย่างเต็มใจเพราะความจำเป็นมากมาย…..
อนาคตผมก็คงไม่หนีภาพเหล่านี้หรอกนะ…
Next : สำนึกที่ข้างเตียงผู้ป่วย.. » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ลุงคนหนึ่ง.."