นับก้อนกรวด..
อ่าน: 2160คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเชื่อมั่นว่าชาวบ้านนั้นพัฒนาได้ นี่เป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาคน เงื่อนไขอาจจะอยู่ที่เรามีกระบวนการ วิธีการที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน และหรือ คุณสมบัติของชาวบ้านที่มีข้อจำกัดมากกว่าปกติ
ผมเชื่อในหลักการดังกล่าวเพราะตอนทำงานภาคเหนือก็เห็นฝรั่งไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับชนเผ่าต่างๆบนภูเขา แล้วชนเผ่าเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือพระเจ้า เราทึ่งกับความสำเร็จนั้น เราก็มั่นใจว่าเราก็น่าที่จะเข้าไปแนะนำชาวบ้านให้พัฒนาขึ้นได้
และผมก็พบความสำเร็จในหลายพื้นที่เมื่อมองย้อนหลังลงไป แต่ที่ดงหลวงนี่ผมถึงกับสะอึกในหลายครั้งหลายกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นความแตกต่างระหว่างชนเผ่าผู้ไทที่กกตูมกับพี่น้องไทโส้ที่ตำบลพังแดง และตำบลดงหลวง โดยเฉพาะที่พังแดงนี่สาหัสจริงๆ
บังเอิญเรามีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่นี่ ยิ่งนานวันยิ่งบอกตัวเองว่า นี่คือโจทย์ที่ยากมากๆ
เอื้อง เจ้าหน้าที่ของเราผู้ขยันทำงานและรับผิดชอบงานดีเยี่ยมลุยงานที่บ้านพังแดงมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เอื้องกับผมเคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานลำปาวมาก่อนจึงรู้และเข้าใจกระบวนการกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่สมัยนั้นเราทำงานกับพี่น้องไทอีสาน มิใช่ไทโส้..
เอื้องต้องปวดหัวเมื่อเข้าไปทบทวนระบบบัญชีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด ทั้งกองทุนต่างๆต้องรื้อทำใหม่ ใช้เวลาไปมากมายทีเดียว แต่เธอก็ตั้งใจทำเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญแก่กลุ่มในวันข้างหน้า เธอจัดหาเครื่องมือในการทำระบบบัญชีไปให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่ออบรม แนะนำเสร็จก็ปล่อยให้กรรมการกลุ่มทำต่อ ทิ้งไว้เดือนสองเดือนก็ไปดูที ก็พบว่า ยังทำผิด ลงบัญชีไม่ถูก เขียนตัวเลขผิด ลงช่องบัญชีผิด รวมผิด จนกระทั่ง ไม่ได้ลงบัญชีตัวเลขนั้นตัวเลขนี้
เอื้องพยายามที่จะทบทวน แนะนำใหม่ เอาให้เข้าใจและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และความสำคัญของระบบบัญชีที่จะเอาไปตอบสมาชิกได้ในทุกเรื่อง หลังสุดเราประมวลระบบบัญชีได้ว่ามีเงินกู้ค้างอยู่ 5 คน ด้วยยอดเงินประมาณ สามหมืนกว่าบาท และมีกำไรจากดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง เอื้องเสนอให้จัดระบบกำไรให้ลงตัวซะว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง
ที่ประชุมสรุปว่าจะเอากำไรแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 จำนวนร้อยละ 10 เอาไปเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ ส่วนที่ 2 เอาไปเป็นสวัสดิการสมาชิกกลุ่ม ส่วนที่ 3 เป็นสมทบกองทุน และส่วนที่ 4 เอาไปปันผลให้แก่สมาชิกที่กู้จากกลุ่ม
ในการคิดรายละเอียดตรงนี้ ใช้เวลานานมากเพราะผมสังเกตว่าชาวบ้านนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ จึงมองไม่ออกว่าจะแบ่งกำไรในแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ต่างถกเถียงกันและที่นิ่งเฉย ยิ่งไม่มีประสบการณ์ ไม่มีตัวเงินนำมาวางพิจารณาจริงๆก็ยิ่งคิดไม่ออก
เอื้องพยายามยกตัวอย่างมาให้เห็นความจริงว่าหากสมมุติว่าปันร้อยละสิบมาให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการนั้น หากกำไรหนึ่งพันบาทก็ได้มา 100 บาท เอาจำนวนนี้มาแบ่งปันกันให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการเอาจำนวนกรรมการมาหารแบ่งกัน ดูทุกคนพึงพอใจ
แต่การพิจารณาอีกสามส่วนนั้นตกลงกันไม่ได้ เพราะคิดในใจไม่ออก ผมเลยนึกถึงว่าเราเคยใช้หลักการพื้นฐานในการคิดกับชาวบ้านที่เอาสิ่งของมาเป็นตัวแทนง่ายๆให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นการจัดทำ PRA ว่าแล้วผมก็เดินหาก้อนหินเล็กๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ผมหยิบมา 10 ก้อนแล้วก็เอาไปกองให้กลางวงที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วบอกว่าสมมุติว่านี่คือ 100 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เราจะพิจารณากัน หินหนึ่งก้อนเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์
พ่อกำนันซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มก็มาร่วมพิจารณาอธิบายและให้คำแนะนำด้วย ดูเหมือนว่าเมื่อเห็นก้อนกรวด 10 ก้อนกลางวงประชุมทุกอย่างก็ง่ายขึ้นทันใด
ที่ประชุมต่างก็จ้องไปที่ก้อนกรวด แล้วกรรมการคนหนึ่งก็หยิบก้อนกรวดออกมา 1 ก้อน บอกว่านี่คือส่วนที่จะตอบแทนคณะกรรมการ ที่เหลืออีก 9 ก้อนกรวด คือ ต้องเอาไปพิจารณาแบ่งให้กับสามเรื่องคือ สมทบกองทุนเงินกู้กลุ่ม แบ่งเป็นสวัสดิการสมาชิกทุกคน และส่วนที่จะเอาไปปันผล
ต่างก็แสดงเหตุผลกันบนกองก้อนหินนั่น ความจริงเราอาจเขียนชื่อกลุ่มเงินที่จะแบ่งลงในกระดาษแล้วเอาไปวางตรงหน้าให้เห็นชัดเพิ่มขึ้นก็ได้ว่า เรากำลังจะพิจารณาแบ่งอีกสามส่วน แต่เห็นว่าทุกคนเข้าใจแล้วและฟังการถกเถียงกันก็รู้ว่าเขากำลังจัดการปันส่วนที่คิดว่าเหมาะสมกันว่าแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่…
ไม่ต้องบอกคำตอบสุดท้ายหรอกครับ เพราะต้องการสะท้อนว่า บางทีการทำงานเรากับชาวบ้านนั้นมาติดสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะเรามักมีแนวคิดที่เป็นนามธรรมเยอะ รูปธรรมน้อย แม้ว่าเราจะเอาสิ่งดีดีมาเล่าให้ชาวบ้านฟังมากมายแต่ไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ได้สัมผัส ชาวบ้านก็นั่งปากหวอ ไม่โต้ตอบ พยักหน้างึกๆ หลายครั้งเราคิดเลยไปจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานง่ายๆเช่นก้อนกรวด
นึกย้อนไป..เหมือนชนเผ่าโบราณเลยนะ อิอิ