นับก้อนกรวด..

โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2010 เวลา 16:44 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2160

คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเชื่อมั่นว่าชาวบ้านนั้นพัฒนาได้ นี่เป็นหลักพื้นฐานของการพัฒนาคน เงื่อนไขอาจจะอยู่ที่เรามีกระบวนการ วิธีการที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน และหรือ คุณสมบัติของชาวบ้านที่มีข้อจำกัดมากกว่าปกติ

ผมเชื่อในหลักการดังกล่าวเพราะตอนทำงานภาคเหนือก็เห็นฝรั่งไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับชนเผ่าต่างๆบนภูเขา แล้วชนเผ่าเหล่านั้นก็เปลี่ยนจากนับถือผีมานับถือพระเจ้า เราทึ่งกับความสำเร็จนั้น เราก็มั่นใจว่าเราก็น่าที่จะเข้าไปแนะนำชาวบ้านให้พัฒนาขึ้นได้

และผมก็พบความสำเร็จในหลายพื้นที่เมื่อมองย้อนหลังลงไป แต่ที่ดงหลวงนี่ผมถึงกับสะอึกในหลายครั้งหลายกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นความแตกต่างระหว่างชนเผ่าผู้ไทที่กกตูมกับพี่น้องไทโส้ที่ตำบลพังแดง และตำบลดงหลวง โดยเฉพาะที่พังแดงนี่สาหัสจริงๆ

บังเอิญเรามีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่นี่ ยิ่งนานวันยิ่งบอกตัวเองว่า นี่คือโจทย์ที่ยากมากๆ

เอื้อง เจ้าหน้าที่ของเราผู้ขยันทำงานและรับผิดชอบงานดีเยี่ยมลุยงานที่บ้านพังแดงมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เอื้องกับผมเคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานลำปาวมาก่อนจึงรู้และเข้าใจกระบวนการกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่สมัยนั้นเราทำงานกับพี่น้องไทอีสาน มิใช่ไทโส้..

เอื้องต้องปวดหัวเมื่อเข้าไปทบทวนระบบบัญชีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด ทั้งกองทุนต่างๆต้องรื้อทำใหม่ ใช้เวลาไปมากมายทีเดียว แต่เธอก็ตั้งใจทำเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญแก่กลุ่มในวันข้างหน้า เธอจัดหาเครื่องมือในการทำระบบบัญชีไปให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่ออบรม แนะนำเสร็จก็ปล่อยให้กรรมการกลุ่มทำต่อ ทิ้งไว้เดือนสองเดือนก็ไปดูที ก็พบว่า ยังทำผิด ลงบัญชีไม่ถูก เขียนตัวเลขผิด ลงช่องบัญชีผิด รวมผิด จนกระทั่ง ไม่ได้ลงบัญชีตัวเลขนั้นตัวเลขนี้

เอื้องพยายามที่จะทบทวน แนะนำใหม่ เอาให้เข้าใจและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และความสำคัญของระบบบัญชีที่จะเอาไปตอบสมาชิกได้ในทุกเรื่อง หลังสุดเราประมวลระบบบัญชีได้ว่ามีเงินกู้ค้างอยู่ 5 คน ด้วยยอดเงินประมาณ สามหมืนกว่าบาท และมีกำไรจากดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง เอื้องเสนอให้จัดระบบกำไรให้ลงตัวซะว่าจะเอาไปทำอะไรบ้าง

ที่ประชุมสรุปว่าจะเอากำไรแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 จำนวนร้อยละ 10 เอาไปเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ ส่วนที่ 2 เอาไปเป็นสวัสดิการสมาชิกกลุ่ม ส่วนที่ 3 เป็นสมทบกองทุน และส่วนที่ 4 เอาไปปันผลให้แก่สมาชิกที่กู้จากกลุ่ม

ในการคิดรายละเอียดตรงนี้ ใช้เวลานานมากเพราะผมสังเกตว่าชาวบ้านนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ในการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ จึงมองไม่ออกว่าจะแบ่งกำไรในแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ต่างถกเถียงกันและที่นิ่งเฉย ยิ่งไม่มีประสบการณ์ ไม่มีตัวเงินนำมาวางพิจารณาจริงๆก็ยิ่งคิดไม่ออก

เอื้องพยายามยกตัวอย่างมาให้เห็นความจริงว่าหากสมมุติว่าปันร้อยละสิบมาให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการนั้น หากกำไรหนึ่งพันบาทก็ได้มา 100 บาท เอาจำนวนนี้มาแบ่งปันกันให้เป็นค่าตอบแทนกรรมการเอาจำนวนกรรมการมาหารแบ่งกัน ดูทุกคนพึงพอใจ

แต่การพิจารณาอีกสามส่วนนั้นตกลงกันไม่ได้ เพราะคิดในใจไม่ออก ผมเลยนึกถึงว่าเราเคยใช้หลักการพื้นฐานในการคิดกับชาวบ้านที่เอาสิ่งของมาเป็นตัวแทนง่ายๆให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นการจัดทำ PRA ว่าแล้วผมก็เดินหาก้อนหินเล็กๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ผมหยิบมา 10 ก้อนแล้วก็เอาไปกองให้กลางวงที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วบอกว่าสมมุติว่านี่คือ 100 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เราจะพิจารณากัน หินหนึ่งก้อนเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์

พ่อกำนันซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มก็มาร่วมพิจารณาอธิบายและให้คำแนะนำด้วย ดูเหมือนว่าเมื่อเห็นก้อนกรวด 10 ก้อนกลางวงประชุมทุกอย่างก็ง่ายขึ้นทันใด

ที่ประชุมต่างก็จ้องไปที่ก้อนกรวด แล้วกรรมการคนหนึ่งก็หยิบก้อนกรวดออกมา 1 ก้อน บอกว่านี่คือส่วนที่จะตอบแทนคณะกรรมการ ที่เหลืออีก 9 ก้อนกรวด คือ ต้องเอาไปพิจารณาแบ่งให้กับสามเรื่องคือ สมทบกองทุนเงินกู้กลุ่ม แบ่งเป็นสวัสดิการสมาชิกทุกคน และส่วนที่จะเอาไปปันผล

ต่างก็แสดงเหตุผลกันบนกองก้อนหินนั่น ความจริงเราอาจเขียนชื่อกลุ่มเงินที่จะแบ่งลงในกระดาษแล้วเอาไปวางตรงหน้าให้เห็นชัดเพิ่มขึ้นก็ได้ว่า เรากำลังจะพิจารณาแบ่งอีกสามส่วน แต่เห็นว่าทุกคนเข้าใจแล้วและฟังการถกเถียงกันก็รู้ว่าเขากำลังจัดการปันส่วนที่คิดว่าเหมาะสมกันว่าแต่ละส่วนนั้นควรเป็นเท่าไหร่…

ไม่ต้องบอกคำตอบสุดท้ายหรอกครับ เพราะต้องการสะท้อนว่า บางทีการทำงานเรากับชาวบ้านนั้นมาติดสิ่งที่เป็นนามธรรม เพราะเรามักมีแนวคิดที่เป็นนามธรรมเยอะ รูปธรรมน้อย แม้ว่าเราจะเอาสิ่งดีดีมาเล่าให้ชาวบ้านฟังมากมายแต่ไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ได้สัมผัส ชาวบ้านก็นั่งปากหวอ ไม่โต้ตอบ พยักหน้างึกๆ หลายครั้งเราคิดเลยไปจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานง่ายๆเช่นก้อนกรวด

นึกย้อนไป..เหมือนชนเผ่าโบราณเลยนะ อิอิ

« « Prev : แรงกระเพื่อมราชประสงค์ถึงดงหลวง..

Next : ด่วน..พบกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ดงหลวง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 เวลา 20:42

    ก้อนกรวด นับนิ้วมือ จับไม้สั้นไม้ยาว กิจกรรมคุ้นชินใกล้ตัวแต่มักจะมองข้ามนะคะ

  • #2 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 เวลา 21:32

    -ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ทำงานกับมวลชนค่ะ เคยสัมผัสมาพอสมควร(แต่ถ้าเทียบกับคุณบางทรายแล้วถือว่าน้อยมากค่ะ) และก็ถอดใจค่ะ…
    -นึกภาพออกเลยค่ะที่คุณบางทรายพยายามอธิบายแต่อีกฝ่ายดูเหมือนจะไม่ยอมเข้าใจเสียเลยค่ะ หากเขาไม่ยอมเปิดหู เปิดตาและเปิดใจก็ยากส์…มากๆที่จะพัฒนาค่ะ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 เวลา 23:29

    น้องสร้อยครับ ป้าจุ๋มครับ บางทีเราก็ขำตัวเอง คิดอะไรไปไกลเชียว แต่ชาวบ้านยังอยู่กับปาก กับท้อง ง่ายๆ  เลยนึกข้ามไปอีกเรื่องว่า นักการเมืองใหญ่คนหนึ่งเอาอะไรที่ง่ายๆลงมาถึงมือชาวบ้านเลย ชาวบ้านชอบ เพราะถึงตัวทันที ได้เห็น ได้ใช้ ได้สัมผัสชัดเจน  แต่นักการเมืองรูปหล่อวาจาไพเราะ ความคิดดีงามมากๆ แต่ไม่เห็นรูปธรรม สัมผัสไม่ได้ ชาวบ้านก็ย่อมยกนิ้วให้นักการเมืองคนแรกนั่น..

    ขอบคุณครับ

  • #4 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 เวลา 3:17

    ทักษะการนำเสนอมีความจำเป็นนะคะพี่บางทราย

    คนเก่งๆ เยอะแยะมากมาย นำเสนอไม่เป็น คนฟังต้องปีนบันไดฟัง แล้วกลายเป็นการแปลงความเชื่อไปซะด้วยว่า เรื่องลึกซึ้งต้องอาศัยความลึกซึ้งถึงจะเข้าใจได้ …คนฟังภูมิใจพิลึกว่าฟังเข้าใจ

    แต่คนที่เก่งอีกจำนวนไม่น้อยที่ย่อยเรื่องยากให้เข้าใจง่าย คนฟังสนุกด้วย และคนถ่ายทอดก็ภูมิใจที่สามารถทำให้คนฟังเข้าใจเรื่องนามธรรมได้

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 เวลา 11:22

    ใช่แล้วน้องสร้อย พี่ว่ามีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นต่อคนนำเสนอ

    • ลืมตระหนักในเรื่องนี้ คิดอะไรก็นำเสนอออกไปทันทีไม่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับผู้รับ
    • ไม่มีทักษะจริงๆ ไม่ได้คิดจริงๆ ไม่คิดว่าคนเราแตกต่างกันในการรับฟัง
    • บางกรณีมีเวลาเป็นข้อจำกัด รีบๆเอาสาระออกมาก่อนแล้วค่อยทำความเข้าใจกัน เลยไม่ได้เอาสาระนั้นดัดแปลงให้ง่ายก่อน
    • บางกรณีในวงวิชาการ อาจจะพูดอะไรที่มันฟังยากๆไว้แหละดี อิอิ
    • แต่สำหรับชาวบ้านนั้น พี่เคยคิดว่าในโครงการที่หวังผลจริงๆนั้นควรที่จะนักสื่อสารมวลชนที่มีทักษะ มีความถนัดในการทำให้ง่าย ช่วยสร้างเครื่องมือสื่อสารให้ เช่นนักวาดการ์ตูน นักแสดงละคอนเรื่อง นักพูดเก่งๆที่ใช้ภาษาชาวบ้านได้ดี
    • ฯลฯ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.22272515296936 sec
Sidebar: 0.13221287727356 sec