บทเรียนที่เดนมาร์ก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 27, 2014 เวลา 19:04 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1795

ประมาณปี 2535 มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศเดนมาร์ก อยากเล่าความประทับใจส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเด็กเล็กของเขา

ที่โรงเรียนชั้นประถมแห่งหนึ่ง  พ่อแม่จะพาบุตรหลานมาส่งที่โรงเรียน ก็คล้ายๆบ้านเราคือมีคุณครูไปยืนรอรับเด็กจากพ่อแม่ให้เข้ามาในบริเวณโรงเรียน เหมือนกับว่า เด็กเข้ามาสู่พื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนแล้ว  ต่อไปนี้ ตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป โรงเรียนคือสถานที่สร้างคน การดูงานครั้งนั้นเราแค่เป็นผู้สังเกตการณ์ตารางประจำวันของโรงเรียนเท่านั้นไม่ได้สร้างกิจกรรมพิเศษเพื่อสาธิตให้เราชม

หลังจากที่คุณครูรับเด็กมาจากพ่อแม่แล้วก็เอาของใช้ส่วนตัวที่เด็กนำมานั้นไปเก็บไว้ที่ตู้ส่วนตัวในห้องเรียน แล้วครูก็ถามว่าเช้าวันนี้หนูอยากทำอะไร เมื่อเด็กทั้งหมดตอบคำถามครูแล้วครูก็จัดกลุ่มตามความต้องการของเด็ก วันนั้นพบว่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งต้องการทำแพนเค้ก  ครูก็เอาอุปกรณ์ เครื่องมือทำแพนเค้กให้แก่เด็กกลุ่มนั้นแล้วครูคนหนึ่งก็พาไปในครัวเพื่อเรียนรู้การทำแพนเค้กกัน  อีกกลุ่มหนึ่งบอกสร้างบ้าน ครูก็เอาอุปกรณ์ต่างๆให้ แล้วพากันไปหามุมที่เหมาะสม เรียนรู้เรื่องการสร้างบ้านกัน  มีเด็กบางคนต้องการทำสิ่งที่แตกต่างออกไป วันนั้นที่เห็นคือ อยากขี่ม้า  ครูก็พาไปฝึกขี่ม้าแกลบตัวเล็กๆ เรียนรู้เรื่องม้าแกลบ อาหารการกินของม้าแกลบ และต่างๆที่เกี่ยวกับม้าแกลบ แล้วสอนวิธีขี่ม้าที่ปลอดภัย ใส่หมวก วิธีขึ้น วิธีบังคับ และ ฯลฯ…

เด็กมันสนุก เสียงดังลั่นไปหมด ครูคือพี่เลี้ยงช่วยแนะนำกระบวนการทำแพนเค้ก สร้างบ้าน ขี่ม้า….

ครูมิได้ส่งต่อความรู้ให้เด็กแค่การทำแพนเค้ก แต่อธิบายที่มาของแป้ง มาจากพืชอะไร กระบวนการได้มาทำอย่างไร จนมาเป็นแป้ง…  การสร้างบ้าน  เอาไม้มาจากไหน ไม้ชนิดอะไร กระบวนวิธีเอาไม้มา เมื่อเอาไม้มาแล้วเกิดผลกระทบอะไรบ้าง  จะสร้างบ้านต้องมีแบบแปลน มีวัตถุประสงค์ ฯลฯ….

โอ้โฮ…..มันจริงๆ  แค่นี้ก็มหาศาลขององค์ความรู้ที่เรียนรู้กัน ที่ค้นคว้ากัน ที่แลกเปลี่ยนกัน และทำกันจริงๆ

จบห้วนๆแบบนี้ให้น้องๆคิดต่อเองในหลากหลายมุมมอง …..


วิภาคย์ CSR บางองค์กรธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 7, 2012 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1684

สมัยก่อนเราวิจารณ์คุณหญิงคุฯนาย และข้าราชการตำแหน่งสูงๆในการออกไปช่วยเหลือชนบทผู้มีปัญหา เช่น แจกผ้าห่ม แจกถุงยังชีพ มอบสิ่งของ….ฯลฯ ว่าเป็นแค่การสงเคราะห์ มิใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แจกแล้วถ่ายรูปเอาไปลงหนังสือต่างๆ เป็นที่พออกพอใจว่าได้ช่วยเหลือแล้ว

ส่วนดี เป็นการแสดงดารเอื้ออาทรในระดับหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาแบบเร่งด่วนไปก่อน ส่วนนี้ผมก็ยินดี และเห็นด้วยว่าสมควรทำ แต่ที่เราวิจารณ์กันมากๆคือ มากไปกว่านี้นั้นมันไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานของการเกิดปัญหา แค่บรรเทา แล้วปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นอีก ก็ต้องมาแจกของกันอีก….

การพยายามพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาแท้จริงก็มีมากขึ้น จนเกิดโครงการพัฒนารากฐานจริงๆมากมายในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่การแจกของก็ยังมีคงเดิม ผมก้าวผ่านประเด็นนี้ไปแล้วตรงที่ว่า หากเขามีศักยภาพตรงนั้นก็ทำเถอะครับ ดีกว่าไม่ได้ทำ ส่วนการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้น ก็มีหลายหน่วยงานก้าวลึกลงไปมากขึ้น

จนมาถึงยุค CSR ที่บริษัทใหญ่ๆทั้งหลายต่างก็ตั้งแผนกงานนี้ขึ้นมาแล้วก็จัดตั้งงบประมาณลงมาตรงนี้จำนวนมากเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน เป้าหมาย ของเขา เช่น รอบๆโรงงานของเขาเอง หรือพูดตรงๆก็คือ ตั้งงบประมารมาดูแล ช่วยเหลือ พัฒนาให้กลุ่มคนที่อาจจะได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการขององค์กรธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ มาเอาอกเอาใจกันเต็มที่ในหลากหลายรูปแบบ สาระ แล้วแต่นโยบายและวิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้บริหารองค์กรนั้นๆ

ผมมีโอกาสสัมผัส โครงการ CSR ขององค์กรขนาดใหญ่ที่ทำงานกับประชาชน ผมมีความเห็นมากมาย ทั้งเชิงสนับสนุน และวิภาคย์ งานนี้ เชิงสนับสนุนนั้นคงไม่ต้องพูดมาก เพราะท้องถิ่นได้เม็ดเงินลงไปมากมายในหลายๆรูปแบบ บางแห่งต้องตกใจว่า งบประมาณที่ลงไปนั้นมากกว่างบพัฒนาของจังหวัดทั้งจังหวัดเสียอีก…. แต่ผมอยากวิภาคย์ตรงๆอย่างนี้ครับ

· องค์กรธุรกิจอ้างว่าสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือไปพัฒนาให้ชุมชนพัฒนาตัวเองได้ แต่บรรยากาศ และรูปธรรมนั้นมองไม่เห็นความยั่งยืน มีแต่ปัญหาที่สะสางกันไม่จบสิ้น น่าตั้งคำถามว่า งาน CSR ไปทำอย่างไรจึงไม่สามารถสะสางปัญหาได้ แถมรุนแรงมากขึ้น เพราะมันกลายเป็นการสะสมอารมณ์ ความรู้สึก และความผิดหวังไป แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดพื้นที่

· การทำงาน CSR กลายเป็นการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนองค์กรธุรกิจ และฝ่ายที่ต่อต้าน ทั้งสองกลุ่มนี้หลายพื้นที่ก็อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทำไมงานพัฒนาโดย CSR จึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้

· ผู้บริหารองค์กรมีเจตนาที่ดี แต่ยังไม่เข้าใจชุมชน ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาชุมชน กระบวนการพัฒนาคน แต่ใช้นโยบาย “ต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีตามที่ผู้บริหารต้องการเท่านั้น” ก็คือคำสั่ง คือโจทย์ที่ผู้รับผิดชอบรองลงไปตามลำดับขั้นก็ก้มหน้าหาทางตอบสนองผู้บริหารมากกว่าที่จะให้ “เมล็ดพืชค่อยๆงอกงามไปตามธรรมชาติ” แต่ไปบังคับว่า ต้องเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ หากเป็นเกษตรก็ยังใช้ปุ๋ยเคมี ไปเร่งการเติบโตของพืช มากกว่าใช้ปุ๋ยชีวภาพ ที่ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป และไม่มีผลตกค้าง ตรงข้าม ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปนั้น พืชเติบโตจริง แต่ รอบๆ มีการสะสมสารพิษ

· ทุกคนทำเพื่อเอาใจ นาย ตอบสนองนายมากกว่า นอบน้อมให้ชุมชนค่อยๆเติบโต แคร์นายมากกว่าแคร์ความรู้สึกด้านลึกของชุมชน

· ในมือองค์กรธุรกิจมีทุนมากมาย และแสดงตัวออกมาในภาพเช่นนั้น และผู้บริหารจำนนไม่น้อยเผยออกมาบ่อยๆว่า เขาต้องการเงินไปพัฒนา ไปแก้ปัญหา ก็จัดสรรเงินให้เขาไปซิ ตั้งกรรมการ ระเบียบ ระบบการใช้เงินขึ้นมาก็จบ นี่ไง เราพยายามช่วยเหลือท้องถิ่นแล้ว

· การมีเงินมากมาย กลายเป็นเป้าของนักการเมืองท้องถิ่น ที่ผสมผสานความเดือดร้อนปัญหาของท้องถิ่นที่มีจริงๆ เอามาเป็นนกต่อในการเรียกร้องเอางบประมาณลงสู่ท้องถิ่นที่ตนนั่งบริหารงบประมาณนั้น แล้วก็บริหารงบประมาณนั้นเพื่อสนับสนุนแผนงานตนเอง อวดอ้างแบบเนียนๆว่านี่คือฝีมือเขาในการดึงงบประมาณลงมาพัฒนาท้องถิ่น ช่วยเหลือพี่น้อง ลึกๆก็สร้างชื่อ สร้างภาพ สร้างคะแนน ที่นักการเมืองต่างก็หวังไต่เต้าขึ้นที่สูงไปเรื่อยๆ

· ผมมองว่าในพื้นที่รอบๆองค์กรธุรกิจนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ ที่แตกต่างจากท้องถิ่น ชุมชนทั่วไป กระบวนการทำงานจึงต้องแตกต่างจากงานพัฒนาท้องถิ่นทั่วๆไป ผมเห็นคุณนายในคราบ CSR ผมเห็นผู้ให้ในคราบ CSR ผมเห็นผู้หวังดีในคราบ CSR แต่ไม่เห็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปวิเคราะห์เจาะลึก แก่นแท้ของสภาพจิตใจ ระบบคิด และความคาดหวังลึกๆของคนในชุมชนที่มีความแตกต่างกัน กลุ่ม CSR เป็นเพียงคนนอก และผู้หวังดี เท่านั้น “ต่างก็อ่านกินกัน” แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในมุมลึกๆของจิตใจ หากเอารูปธรรมของจำนวนความช่วยเหลือ หรือการแก้ปัญหา จะพบ “จำนวนที่ระบุปริมาณ” มากมาย แต่ไม่สามารถกะเทาะเปลือกเข้าไปสู่เนื้อใน จิตใจ ของชุมชนได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้เวลาสั้นๆทบทวนและวิภาคย์ออกมา ผมคิดว่า หากธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและแก้ปัญหาที่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้งจริงๆแล้ว จำนวน และปริมาณของงาน งบประมาณ ที่ลงไปนั้น เป็นเพียงน้ำเย็นที่ไปลูบเท่านั้น ปัญหาเชิงลึกที่ดำรงอยู่ในจิตใจของชุมชนนั้นพร้อมที่จะระอุออกมาได้ทุกเมื่อ


ชีวิตกังนัมสไตล์..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 23, 2012 เวลา 22:01 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1394

สายวันหยุดสุดสัปดาห์วันนั้น ผมเดินออกมาหน้าบ้านเพื่อมาดูต้นไม้ว่าควรจะรดน้ำไหม พลันสายตาก็มองไปเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเดินไปที่รั้งข้างบ้านถัดไปสองห้อง เดาเอาว่าเขาเป็นใครคนหนึ่งที่เอาแผนโฆษณาสินค้ามาประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกบ้านจัดสรรแห่งนี้ เมื่อเขาเหลือบมาเห็นผมก็เปลี่ยนใจเดินตรงลี่มาที่ผมพร้อมยื่นใบโฆษณาตามที่ผมเดาไม่ผิด

เขายกมือสวัสดีพร้อมแนะนำสินค้าเครื่องกรองน้ำญี่ห้อที่ขายตรงชนิดหนึ่ง พร้อมแนะนำ อธิบายตามสไตล์ผู้มาขายตรง ผมดูสินค้าแล้วก็เห็นว่าที่บ้านขอนแก่นผมก็ใช้รุ่นนี้ เลยไม่คุยเรื่องนี้แต่กลับไปถามว่า พ่อหนุ่มเป็นคนที่ไหนล่ะ เขาตอบว่า กาฬสินธุ์ครับ คุณอาล่ะครับ เขาเรียกผมว่าคุณอาพร้อมเหลืบตาไปดูป้ายทะเบียนรถแล้วก็ยิ้มๆว่า อ้อ อยู่ขอนแก่นใกล้ๆกัน

ขายดีไหมเล่า…ผมถาม เขาบอกว่ามาช่วยภรรยาครับ เป็นงานหลักของภรรยา วันนี้ผมว่าช่วงเช้าก็มาช่วยภรรยา ผมอยู่ในหมู่บ้านนี้แหละ แต่เป็นโครงการโน้น พร้อมชี้มือไปทางนั้น ผมถามต่อว่า มีไอ้ตัวน้อยกี่คนล่ะ เขาตอบว่ายังไม่มีครับคุณอา ยังไม่พร้อมครับ นี่ต้องมาหารายได้พิเศษช่วยกันหารายได้ผ่อนบ้านผ่อนรถ ผ่อนทุกอย่าง …..

เย็นวันนั้นผมเรียกแท็กซี่จาก CU square มาบ้าน คนขับรถเป็นคนหนุ่มดูท่าทางทะมัดทะแมง ผมเห็นป้ายแนะนำตัวที่ห้อยจากเบาะหน้าตามหลักของกรมขนส่งทางบก บอกว่าเป็นทหารยศนายสิบ ผมก็เลยถามว่า เป็นทหารหรือครับมาหารายได้พิเศษหรือครับ เขาตอบว่าใช่ครับ ออกเวรยาม จากหน้าที่ปกติแล้วก็มาช่วยเหลือครอบครัว มาขับแท็กซี่นี่แหละครับ ไม่ไหวครับทหารชั้นยศผู้น้อยอย่างผมเงินเดือนไม่พอใช้ ผมมีครอบครัวมีลูกสาวคนหนึ่งกำลังน่ารัก หากไม่หาเงิน ลูกโตขึ้นมาผมก็คงรับไม่ไหว ต้องเตรียมหาเงินให้ลูก ภรรยาผมก็ทำงานแต่รายได้ก็แค่นั้น ครอบครัวใหม่ ต้องซื้อหาของจำเป็นมาสร้างครอบครัวกว่าจะได้มาแต่ละอย่าง ก็ต้องมาอดหลับอดนอน แต่จะให้ทหารอย่างผมไปทำอะไรได้เล่าครับ ความรู้ก็แค่นี้ ไม่ไปปล้นร้านทองหรอกครับ ไม่ปล้นรถขนเงินหรอกครับ..

ผมรักลูกรักเมีย ทำมาหาเลี้ยงชีพสุจริตดีกว่า……

ระหว่างนั่งรถกลับจากไปทำงานที่นครชัยศรี วิศวกรหนุ่มใหญ่ขับปิกอับที่ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนเอามาให้ใช้ตามเงื่อนไขการจัดจ้างขับเข้าตัวเมืองมหานคร โดยมีผมนั่งมาด้วยเพื่อกลับบ้าน เราคุยกันหลายเรื่องระหว่างทางซึ่งรถติดมากเป็นช่วงๆ เมื่อใกล้เข้าใจกลางเมืองผมถามวิศวกรว่า บ้านอยู่ไหนเล่าครับ โน้น มีนบุรีโน้น….. หา…มีนบุรี แล้วขับรถไปกลับอย่างนี้น่ะหรือ เขาตอบว่าใช่ครับ นี่มันขับจากตะวันออกไปตะวันตกของตัวเมือง และเลิกงานก็ขับรถจากตะวันตกไปตะวันออกผ่านกลางเมืองที่รถติดมหาศาลอย่างนี้นะหรือ ทุกวันหรือ เขาตอบว่าใช่ครับ…

เขาอธิบายว่า โธ่ พี่…เพื่อนผมขับจากอ้อมใหญ่มาที่บริษัททุกวัน ไปกลับด้วย อีกคนขับจาก ฉะเชิงเทรา มาทำงานบริษัท ไปกลับทุกวัน เขาทำได้ไง…ผมขับแค่นี้ จิ๊บจ้อย ครับ

พี่อีกคนนะ เรียนปริญญาตรีวิศวะ แต่มาหางานทำเพื่อเอาไปเรียนหนังสือ ได้คุมงานก่อสร้างเป็นกะ อยู่ที่นครนายก แต่เรียนที่วิศวะเกษตร บางเขน เขาเรียนจบก็นั่งรถไปนครนายกเข้ากะคุมงาน เสร็จก็นั่งรถกลับกรุงเทพฯ ไปเรียนหนังสือ เสาร์อาทิตย์ก็ทำโอ…เขาทำเช่นนี้ตลอดสองปี จนเขาเรียนจบปริญญาตรี…วิศวกรรมศาสตร์สมใจ

พี่…ผมขับรถแค่นี้ จิ๊บจ้อยมาก….

เฮ่อ…ชีวิตกังนัมสไตล์

มันไม่เกี่ยวกันหรอกครับ ตั้งชื่อเล่นๆให้มันซะใจเล่น

เฮ่อ….ชีวิตของตัวเอง ใช้ซะ…..


บัณฑิตชนบท..

อ่าน: 1896

ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งรับนักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนมาฝึกงาน อาจารย์ก็มอบงานให้ทั้ง 5 คนไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสนามตามแผนงานที่มีอยู่แล้ว

ก่อนลงสนามก็ต้องมาคุยกันก่อนว่ามี วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร กระบวนวิธีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนเมื่อจะเก็บข้อมูลก็ต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะสาระของข้อมูลที่จะต้องเก็บ อย่างละเอียดยิบ เพราะประเด็นคำถามนั้นมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจด้วยภาษาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีบ่อยครั้งที่ผู้ไปซักถาม ตีความหมายผิด ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ออกแบบสอบถาม ยิ่งไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สำนวนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของท้องถิ่น ก็จะยิ่ง สื่อสารให้ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจ ผู้ตอบก็จะให้ข้อมูลที่ไปคนละทิศละทาง สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กลายเป็นขยะไป

มีเรื่องเก่าที่ขอยกตัวอย่างอีกครั้ง นักศึกษาปริญญาโทมาเก็บข้อมูลสนาม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจของชาวชนบทต่อหลักศาสนาบางประการ

นักศึกษา: คุณยายนับถือศาสนาอะไรครับ

คุณยาย: ศาสนาพุทธซิไอ้หนู

นักศึกษา: คุณยายช่วยอธิบายเรื่อง เมตตา หน่อยซิครับว่าหมายความว่าอย่างไร

คุณยาย: ห้วย…. จะให้ยายอธิบายจั๊งใด๋ ยายบ่อจั๊กแหล่ว…

ระหว่างคุยกันนั้น ยายก็เอาน้ำมาให้นักศึกษาดื่มกิน เมื่อเวลามาถึงเที่ยง ก็เตรียมอาหารมาให้กิน… เมื่อสิ้นสุดการซักถามนักศึกษาก็ลากลับไป แล้วก็ไปสรุปว่า คุณยายไม่เข้าใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องความมีเมตตา แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น…?

หารู้ไม่ว่า ยายนั้นไม่สามารถอธิบายความหมายเป็นภาษาได้ แต่ยายปฏิบัติ ก็ยายมีเมตตาต่อนักศึกษาไงถึงได้เอาน้ำเย็นมาให้ดื่มกิน เอาข้าวปลามาเลี้ยงดูปูเสื่อ นักศึกษาเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจหลักศาสนาภาคปฏิบัติ…

นักศึกษาคุ้นเคยแต่ท่องจำแล้วไปสอบเอาคะแนน ตามหลักการวัดผลการศึกษาไงเล่า การวัดผลวัดแค่การท่องจำและขีดเขียนออกมาได้ แต่การเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติวัดไม่เป็น หรือไม่ได้วัด หรือไม่อยากไปวัดมันยาก…

กลับมาที่นักศึกษาที่มาฝึกงานที่สถาบันวิจัยฯ อาจารย์บอกว่า เธอทุกคนต้องจดบันทึกการสัมภาษณ์ว่าชาวบ้านตอบอะไรบ้าง จดมาให้ละเอียดเลย นักศึกษาสาวคนหนึ่งไม่สนใจการทำความเข้าใจเตรียมตัวลงสนาม กลับบอกอาจารย์ว่า หนูไม่จดหรอกค่ะ หนูมีเทปบันทึก ..?

วันแรกที่ลงสนามจริงๆ เธอแต่งตัวอย่างกับไปช็อปปิ้ง ทาปากแดง สวยเชียว แล้วก็ทำเช่นนั้นจริงๆให้รุ่นพี่สัมภาษณ์แล้วเธอก็เอาเทปมาบันทึก เธอไม่สนใจการสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลของรุ่นพี่กับชาวบ้าน เธอเล่นผมยาวๆของเพื่อน นั่งถักเปียกัน…และ….

วันรุ่งขึ้นเธอมาบอกอาจารย์ว่าหนูไม่ไปฝึกงานแล้ว มันลำบาก หนูขอลาออกจะไปฝึกงานที่สำนักงานเทศบาลเมืองดีกว่านั่งแต่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายกว่า…???

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยนั้น ก็อนุญาตให้ลาออกไปฝึกงานที่อื่น..พร้อมส่ายหัวว่า นี่นักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนนะเนี่ยะ เข้าเรียนผิดคณะหรือเปล่า…

ไม่ระบุสถาบันนะครับ เสียหาย ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะแต่เขียนไม่ได้….

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยท่านนั้น บอกว่า ให้เด็กพัฒนาชุมชนไปทำ Seasonal calendar ของครอบครัวชาวบ้านหน่อย เขาบอกว่าทำไม่เป็น อาจารย์ถามว่าท่านไหนสอนเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน” นักศึกษาตอบว่า ก็อาจารย์ ดร. …………..เป็นผู้สอน พอเดาออกครับว่า กระบวนการเรียนการสอนนั้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ แค่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ก็พูดปาวๆพร้อมกับเทคโนโลยีทางการสอน เช่น Power point รูปภาพ รายงานที่วางไว้หน้าชั้น ….. แต่ไม่เคยพานักศึกษาออกปฏิบัติจริง จึงทำไม่เป็น

นักศึกษาทั้ง 5 คนลาออกไปฝึกงานกับเทศบาลที่นั่งแต่ในห้องเย็นๆ ต่อมาอีกสองวัน มีเด็กสองคนในห้าคนนั้นกลับมากราบอาจารย์ที่สถาบันวิจัย ขอกลับมาฝึกงานที่นี่ใหม่ แต่สามคนไม่มา สองคนนี้บอกว่า หากไปฝึกงานที่เทศบาลจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องชนบทเลย ขอกลับมาและกราบขออภัยคราวที่แล้ว…

ที่บริษัทที่ปรึกษาก็เอาเด็กปริญญาโทออกไป แม้ปริญญาเอกก็เอาออกไปก็มีเพราะทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ได้ไม่มีคุณภาพ ห่วยแตกว่างั้นเถอะ….

เป็นเรื่องหนักใจของหน่วยงานจริงๆที่บัณฑิตไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น…. ก็ดูการฝึกงานเป็นกรณีตัวอย่างซิ

สรุปว่า.. เป็นห่วงบัณฑิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้เชิงปฏิบัติ เราเป็นห่วงคุณภาพของความเป็นบัณฑิต ไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของความรู้ ไม่ใช่ของจริง แค่ฉาบฉวย ล่องลอยไปกับกระแสสังคมที่เป็นสังคมบริโภค โอยจะสาธยายอย่างไรถึงจะหมดเนี่ยะ

ครับไม่ใช่ทุกสถาบันนะครับ ไม่ใช่บัณฑิตทุกคนนะครับ แต่ดูจะมีเรื่องราวดังกล่าวมานี้มากเหมือนกันครับ

จริงๆนักศึกษาที่มาสนใจทำงานพัฒนาชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัว เซอ เซอ มอมๆ หล่อได้ สวยได้ครับ แต่ต้องไม่สักแต่หล่อ แต่สวยแต่ไม่มีกึ๋น หากสนใจอย่างนั้นไปเป็นพริตตี้ดีกว่านะจ๊ะคนสวย….


ใบไม้ใบนั้น..

อ่าน: 2162

ผมมีธุระต้องไป Lotus Express แห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อทำภารกิจเสร็จก็เดินกลับที่จอดรถ เป็นทางเดินข้างอาคารใหญ่ ผมพบใบโพธิ (ผมเดาว่าเป็นใบโพธิ์ หากไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเพราะเหมือนมากๆ) ใบนี้ที่ทางเท้าอย่างแปลกใจมากๆ เพราะ ผมมองไปรอบๆไม่เห็นต้นโพธิ มีแต่ตึกและการจราจรที่หนาแน่น ผมว่าเป็นใบไม้ที่สวยงามมากจึงหยิบเอามาเก็บกลับบ้าน พร้อมจิตก็นึกไปถึง ศาสนา หลักธรรม ความสำคัญของต้นโพธิ์ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์


ใบไม้ใบนี้ถูดเหยียบย่ำมานานเท่าไหร่แล้วไม่ทราบ คนที่เดินผ่านคงเห็น(ว่าเป็นเศษใบไม้ใบหนึ่งที่ไม่ได้คิดอะไร ก็แค่ใบไม้ จิตเขานึกถึงอย่างอื่นๆ) แต่ไม่เห็น ว่านี่คือใบไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตัวแทนของธรรมะ ตัวแทนของการหลุดพ้น ฯลฯ ผมรู้สึกว่าเมื่อผมเห็นนั้น สำนึกผมดึงกลับมาอยู่ที่ตัวแทนของความบริสุทธิ์…

ผมไม่ได้เขียนเพื่อมาอวดอ้างตัวตนว่าดีเลิศประเสริฐศรีใดๆนะครับ แค่สะท้อนออกมาเฉยๆว่า ผมเห็นใบไม้ใบนี้แล้วผมรู้สึกอะไร..

ที่แปลกไปอีกคือ วันต่อมาผมไปธุระเรื่องเดิม สถานที่เดิมอีก ผมได้มาอีก 1 ใบ และวันที่ 3 ผมก็ได้มาอีก 1 ใบ แต่หลังสุดนี้ สภาพใบยับเยินทีเดียว เพราะถูกเหยียบน่ะซีครับ

ทั้งสามใบอยู่ในครอบครองของผม หรืออาจจะเรียกว่า ผมเอาเศษเท้าของประชาชนที่เหยียบผ่านใบไม้นี้มาเก็บไว้ แล้วระลึกถึงธรรมะ

ไม่มีวันที่ 4 เพราะผมมีกำหนดการไปที่อื่น….

อย่างไรก็ตาม สภาพงาน สังคมเมืองหลวงที่วุ่นวายตลอดเวลานั้น ทำให้ผมวุ่นวายใจมาตลอดเพราะไม่ชอบการใช้ชีวิตในสภาพแบบนี้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องอยู่

ใบไม้ใบนี้ทำให้ผมเย็นลงเยอะเลยครับ…..


น้ำตาพ่อแสน

อ่าน: 1901

ท่านที่ติดตามบันทึกผมสมัยชื่อ “ลานดงหลวง” และ “ลานเก็บเรื่องมาเล่า” คงผ่านตาเรื่องของพ่อแสน แห่งดงหลวงมาบ้าง ขอทบทวนสั้นๆว่า พ่อแสนคือชาวบ้านชนเผ่ากะโซ่อยู่ที่บ้านเลื่อนเจริญ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาฯที่ผมรับผิดชอบจึงรู้จักพ่อแสนดี ในฐานะที่เป็นผู้นำกิจกรรมเรื่องการสร้างป่าครอบครัวจากพื้นที่โล่งเตียนเพราะถางป่าเดิมเอามาปลูกมันสำปะหลังตามกระแสยุคสมัยที่ใครๆก็หาที่ดินปลูกกัน

จากการเข้าไปคลุกคลีพ่อแสน พบว่า พ่อแสนไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่เรียนรู้ธรรมชาติแล้วดัดแปลงธรรมชาติให้มาอยู่ในพื้นที่สวนป่าของตัวเอง ไม่ว่าการเอาพืชป่ามาปลูก เอาเห็ดป่ามาเพาะ เลี้ยงสัตว์ป่าที่เป็นอาหารขึ้นในสวนป่า สร้างรังให้สัตว์ป่ามาอยู่อาศัย ต่างพึ่งพากัน เช่น สร้างบ้านให้ค้างคาว หอยแก๊ด แมงโยงโย่
และ…….

แม้ว่าโครงการ คฟป.ที่ผมมีส่วนรับผิดชอบจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ สปก. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสรุปบทเรียนและจัดทำสื่อ อาจเรียกว่าทำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สามแล้ว หนึ่งในนั้นคือกรณีศึกษาพ่อแสน

ผมไม่ได้มีส่วนในเรื่องนี้ แต่คนข้างกายเป็นผู้รับผิดชอบ เธอมีทีมงานด้านนี้ออกไปทำการสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอ

เย็นวันนั้นคนข้างกายต้องเดินทางไปประชุมกทม. ผมก็ไปส่งที่สนามบินขอนแก่น เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน เสียงโทรศัพท์เธอตามมาว่า ทีมงานที่ไปสัมภาษณ์พ่อแสนรายงานมาว่า ขณะที่ทำการสัมภาษณ์พ่อแสนนั้น พ่อแสนร่ำไห้ จนทีมงานตกใจ แต่ก็ปล่อยให้พ่อแสนปลดปล่อยความรู้สึกสุดๆนั้นออกมา

หลังจากนั้นผมมีโอกาสสอบถามน้องๆว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแสน…..

เป็นการตั้งคำถามปกติธรรมดาถึงที่มาที่ไปของการมาทำสวนป่าครอบครัวที่นี่…พ่อแสนเล่าเรื่องย้อนหลังไปสมัยหนุ่มๆที่มาถางป่ากับมือเพื่อเอาที่ดินปลูกพืชเศรษฐกิจ คือมันสำปะหลัง เหมือนเพื่อนบ้านทั่วไปที่ทำกันมา แต่แล้วมันมีแต่จนกับจน ป่าก็หมดไป ต้นไม้ที่เคยมีมากมายก็หมดสิ้น มันสำปะหลังที่ปลูกก็ไม่เห็นจะมีเงินทองมากขึ้น แถมมีหนี้สินอีก…

กว่าจะมาเปลี่ยนใจปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ดินที่เตียนโล่งก็เกือบจะหมดแรงแล้ว…

ผมนึกถึงลุงฉ่ำที่นครสวรรค์ที่ผมเคยทำงานที่นั่น ลุงฉ่ำเป็นคนถางป่ามาก่อน ลุงบอกว่า ตีนเหยียบไม่ถึงดิน เพราะตัดไม้ใหญ่น้อยลงมาจนหมดสิ้นเพื่อเอาที่ดินปลูกข้าวโพด แต่แล้วลุงฉ่ำกลับลำมาเป็นผู้นำปลูกป่า รักษาป่า ที่เข้มแข็งคนหนึ่งในเขตแม่วงก์นั้น

สำนึกสูงส่งที่เฆี่ยนหัวใจให้เปลี่ยนความคิดจากการทำลายมาเป็นการสร้าง การรื้อฟื้นป่า มันมีทั้งปิติ และความรู้สึกแห่งการกลับใจใหม่ ที่สังคมมารองรับความถูกต้องแนวทางนี้

น้ำตาของพ่อแสนนั้นมีคุณค่าเหลือเกิน..ในสำนึกที่เราสัมผัสได้ ว่าข้างในของพ่อแสนนั้นคิดอะไรอยู่ มันเป็นสำนึกที่สูงส่ง..ที่งานพัฒนา งานสร้างคนพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาให้กับพี่น้องในชนบท….

ซึ่งเป็นงานที่ยากยิ่งนัก…


เงินใต้ถุนบ้าน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ สิงหาคม 6, 2012 เวลา 10:08 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1812

คืนนั้นฝนตกหนักมาก บ้านเราเปียกไปหมด จนไม่ได้หลับนอนกันทั้งบ้าน เพราะฝนสาดเข้ามาถึงเรือนใหญ่ที่ลูกๆ 5 คนนอนเรียงกันอยู่ เด็กชายวัย 13 ขวบพยายามช่วยพี่ๆ น้อง    เก็บมุ้ง ที่นอนไม่ให้เปียกฝน แต่ก็สุดปัญญา

เรานั่งหลับๆตื่นๆ พอตี 5 พ่อซึ่งนอนอีกหลังหนึ่ง ซึ่งก็เปียกเหมือนกันมาเรียกเรา “ถึงเวลาที่จะต้องไปนาแล้ว..ลูก”

พี่สาวคนโตตื่นมาช่วยแม่เรื่องหุงข้าวต้มแกง พี่ชายอีกคนลงไปดูควายที่คอกข้างบ้าน ผมบอกน้องๆว่าหากสว่างแล้วช่วยกันเอาสิ่งที่เปียกฝนทั้งหมดออกไปผึ่งแดดที่นอกชานบ้าน พ่อและผมออกจากบ้านไปนา ผมแบกไถ พ่อหาบข้าวปลูกไป พี่ชายเอาควายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ไถพ่อนี้หนักที่สุด ผมต้องเปลี่ยนบ่าซ้าย ขวา บ่อยๆ หรือไม่ก็วางลงยืนสักครูแล้วถึงจะแบกต่อไปใหม่ พ่อเป็น “คนประโยคใหญ่” สำนวนคนภาคกลาง หมายถึง ทำอะไรต้องทำให้ดี สร้างอะไรก็ต้องควานหาวัสดุดีดีมาทำ อย่างคันไถที่ผมแบกอยู่นั้น พ่อไปหาไม้ประดู่ มาทำคันไถและส่วนประกอบต่างๆ มันเป็นไม้ชั้นเลิศในการทำเฟอร์นิเจอร์ ลายสวย คงทนถาวร หากเก็บรักษาดีดีมีอายุเป็นร้อยปีเลยทีเดียว..

เนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืน ทำให้ถนนไปนาที่มีระยะทาง เกือบ 4 กิโลเมตร มีแต่โคลนลื่นทั้งนั้น ผมก็ลื่นล้มไปหลายครั้ง เมื่อถึงนาฟ้าก็สางพอดี รีบเอาควายมาเทียมไถ ผูกเชือก จากควายมาสู่คันไถ กว่าจะเสร็จสบบูรณ์ พ่อต้องมาตรวจสอบดูว่าถูกต้องทั้งหมดไหม มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาระหว่างการทำหน้าที่ พ่อ พี่ชาย และผมไถนาไปจนแดดแรงจ้า แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวปลาอาหารมาถึงนา เราพักการไถนา เอาควายไปปล่อยชายบ้านโน้น ให้เขากินน้ำ พักผ่อน ก่อนจะไถต่อไปหลังอาหารเช้า แม่เตรียมอาหารสำหรับทุกคนที่บนคันนานั้น โคลนนาที่เปื้อนเท้าเลยขึ้นมาถึงน่อง หัวเข่า เราก็ล้างน้ำใกล้ๆนั้นพอดูดีขึ้นมาบ้าง ทุกคนกินข้าวอย่างอร่อย แกงผักบุ้งนา ปลาเจ่าผักสด พ่อชอบเมนูนี้มาก มักจะไปเก็บใบอ่อนพืชที่พ่อโปรดมาจากโคกข้างบ้านเสมอ

เสร็จแล้วแม่ก็ให้เราพัก กลับไปอาบน้ำอาบท่า แต่ตัวไปโรงเรียน ซึ่งต้องเดินไปอีก 5 กิโลเมตร แม่เก็บกระจาดข้าว น้ำ แล้วก็รับช่วงไถนาต่อจากเรา…..

……. ผมเข้ามาเรียนต่อชั้นม.ศ. 4-5 ที่เมืองหลวงตามที่คุณตาบอกกล่าวว่ายินดีให้ไปพักที่บ้าน เรียนหนังสือ ไม่ต้องไปเช่าที่ไหน แค่ช่วยงานบ้าน และจุนเจือค่าอาหารรายเดือนนิดหน่อยไม่กี่ร้อยบาท แต่เนื่องจากบ้านเราลูก 5 คนกำลังเรียนกันทั้งนั้น อาชีพครูประชาบาลของพ่อ กับการทำนากินนั้น รายได้ฝืดเคืองเหลือเกินสำหรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว

….วันนั้นแม่ลงไปกรุงเทพฯเอาพืชผักบ้านนอกไปฝากคุณตาคุณยาย ในฐานะที่ลูกไปกินนอนที่บ้านนี้ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากผู้มีพระคุณ ที่ให้ที่พักพิง ดูแลลูกให้ได้เรียนหนังสือ…และแม่ก็บอกว่า พ่อให้เอาค่าเทอมมาให้ พอดี มีส่วนเกินที่ผมจะใช้ติดตัวเพียงวันละ 5 บาท ..เรามีพี่น้องหลายคน ทุกคนกำลังเรียนกันทั้งนั้น เปิดเทอมที เงินทองไม่พอ ข้าวในยุ้งก็ไม่พอขาย ข้าวใหม่ก็เพิ่งปลูก นี่พ่อไปเอาค่าเทอมมาจากสหกรณ์ครูนะลูก ไม่พอค่าใช้จ่ายส่วนตัวลูกๆทุกคนด้วยซ้ำไป ประหยัดนะลูก อดทนเอา ตั้งใจเรียนนะลูก…. เป็นคำสอนสั่ง บอกกล่าวที่ซ้ำๆ ทุกครั้งที่กลับบ้าน หรือจากบ้านมาเรียนหนังสือ ทั้งพ่อทั้งแม่จะบอกกล่าวอะไรทำนองนี้ยาวเหยียด เด็กอย่างเราสมัยนั้นก็นั่งฟังหน้าตาเบื่อๆ ก็ฟังไม่รู้กี่หนกี่ครั้ง ก็คำกล่าวเก่าๆ เดิมๆ อิอิ..

ครั้งนั้น แม่บอกว่า ส่วนเกินจากค่าเทอมที่พ่อให้เจ้ามานั้น แม่คิดว่าเองจะไม่พอใช้ ก่อนมานี่แม่เอาขวดเก่าๆใต้ถุนบ้านเราไปขายได้เงินมาหน่อยหนึ่ง แม่จะให้เองเอาไว้ใช้นะลูก

แม่กล่าวพร้อมกับยื่นแบ้งค์ 20 บาทยัดใส่มือผม….. ผมยกมือไหว้แม่ แม่เข้ามาโอบตัวผมก่อนที่จะกลับบ้านนอกไป

เวลาผ่านไป นับ 50 ปีเศษแล้ว ผมจำได้ติดหูติดตา

ความเป็นแม่ของลูกนั้น ลูกต้องมาก่อนเสมอ…

ทุกครั้งที่ผมกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้าน ก่อนจากลาแม่จะดึงแขนผมไปหอม พร้อมอวยพรให้เดินทางกลับบ้านด้วยสวัสดิภาพ..

แม่จากพวกเราไปเมื่อปีที่แล้วด้วยวัย 88 ปี

เนื่องในโอกาสวันแม่จะมาถึง “ผมรักแม่ครับ ผมคิดถึงแม่…”


ประเทศไทยในสนามกอล์ฟ..

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 8, 2012 เวลา 22:39 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2037

การที่ผมไม่มีก๊วนกอล์ฟ มีผลดีที่ได้พบนักกอล์ฟหน้าใหม่ๆ หรือหน้าเก่าแต่ไม่เคยร่วมก๊วน เมื่อมาร่วมก๊วนก็มีโอกาสรู้จักกัน หากทุกครั้งเป็นเช่นนี้ หมายความว่าทุกครั้งเรามีคนรู้จักใหม่ๆเพิ่มขึ้น การรู้จักคนเพิ่มขึ้นทำให้เรารู้จักนิสัย และความเป็นคน..(เอาเข้านั่น..)

วันนี้เป็นอีกวันที่ออกรอบกันเพียงสองคน กับคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน แรกๆก็สงวนท่าทีกัน แค่ยกมือไหว้แก่กัน ดูท่านผู้นั้นจะไม่พยายามคุย แค่มาออกกำลังกาย เพราะผมสังเกตอายุอานามก็ใกล้ๆผม เมื่อผมเริ่มเปิดความสัมพันธ์โดยการทักทายและตั้งคำถาม ท่านผู้นั้นก็เริ่มแนะนำตัว เป็นใคร ทำอะไรที่ไหน คร่าวๆแบบเราพอเข้าใจ ผมก็แนะนำตัวตามปกติ

เมื่อท่านผู้นั้นทราบว่าผมเป็นใคร ทำอะไร เท่านั้นเอง คำถามและการพูดคุยก็พรั่งพรูออกมาจนความสนใจแทบไม่ได้อยู่ที่การตีกอล์ฟ แต่เป็นสาระที่เราคุยกันมากกว่า

ท่านมีอดีตเป็นครู ลาออกมาทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ท่านสรุปตัวเองว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร แต่ฟังท่านเล่าประสบการณ์ในวงการธุรกิจกับนักการเมืองค่ายต่างๆ กับอำนาจในวงราชการ ระบบพรรคพวก และการแสวงหาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ แล้วผมรู้สึกหนักมากๆ แม้ว่าเรื่องราวทำนองนี้จะรับรู้มาแล้ว แต่สิ่งที่ท่านเล่านั้น มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ออกมาจากปากผู้มีส่วนได้เสีย

นักธุรกิจต้องแบกรับการยื่นโนติสผลประโยชน์จากทั้งนักการเมืองและข้าราชการที่ท่านกล่าวว่ามันหนักมากขึ้น มากขึ้น ธุรกิจท่านจะอยู่ไม่ได้หากไม่เป็นไผ่ลู่ลม แต่ก็คับแค้นในใจยิ่งนัก.. จนท่านกล่าวว่า ท่านจะจ่ายให้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น หากมากกว่านี้ก็ไม่สู้ ซึ่งท่านก็สารภาพว่า งานจำนวนมากก็หลุดมือไป

ท่านกล่าวว่านักการเมืองนั้นตัวหนักที่สุด ไม่ว่าค่ายไหนก็ตาม ที่ลอยหน้าลอยตานั้นน่ะ เบื้องหลังดูไม่ได้เลย ซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับรู้เรื่องราวหลังความเป็นผู้มีเกียรตินั้นหรอก

ท่านเป็นห่วงบ้านเมืองว่ามันจะล่มจมเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงของนักการเมืองตัวพ่อคนนั้น การที่ท่านทำธุรกิจและมีเพื่อนฝูงอยู่วงในของรัฐบาลและนักการเมืองที่มักแวะเวียนไปขอรับการสนับสนุนทุนการเลือกตั้งนั้น ย่อมมีข้อมูลลึกๆมาเล่าสู่กันฟัง แม้ว่าจะไม่พิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่จริง หรือผิดเพี้ยนจากความจริง แต่ก็มีหลายอย่างบ่งบอก หรือสนับสนุนสาระที่คุยกัน

…”ผมเป็นห่วงความจริงเหล่านี้ที่ไม่มีโอกาสเปิดเผยออกมาสู่ชาวบ้านทั่วไป แล้วเขาเหล่านั้นก็กลายเป็นน้ำในภาชนะที่ตัวพ่อถือไว้ในมือ จะเอียงให้น้ำไหลไปทางไหนก็ได้ ด้วยอำนาจเงินที่ปล้นไปจากประเทศ”……

และสิ่งที่ผมห่วงที่สุดคือ ….”การเตรียมการยึดประเทศให้เบ็ดเสร็จ และเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คนไทยเคารพสูงสุด”…. นั่นคือคำกล่าวอย่างจริงจังก่อนที่ท่านจะขอตัวกลับไป

ผมยกถุงกอล์ฟขึ้นท้ายรถกลับบ้านด้วยสมองที่หนักอึ้งจริงๆ….


คลื่นสังคม..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 7, 2012 เวลา 23:50 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1884

คลื่นที่ถาโถมซัดชายฝั่งนั้น ทำให้ชายฝั่งได้รับความเสียหาย มนุษย์รู้จักป้องกัน หนักเป็นเบา โดยการเอาก้อนหินมาวางทีละก้อนเป็นคันหินกันคลื่น ลดความรุนแรงลง

แต่คลื่นก็ไม่ลดลง

คลื่นเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย…..

สังคมเรา กระบวนการยุติธรรมของสังคมกำลังโดนคลื่นบางชนิดถาโถมใส่อย่างรุนแรง แนวหินชะลอความรุนแรงคืออะไรเล่า อะไรคือเหตุปัจจัยการเกิดคลื่นที่ถาโถมสังคมยามนี้

หากแนวหินพังทลายไป ชายฝั่งจะเป็นเช่นไร

หากแนวหินในสังคมพังทลายไป สังคมจะเป็นเช่นไร…


การจัดการชุมชนชนบทในระบบนิเวศเกษตรเชิงเขา

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2012 เวลา 10:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2424

ทำไมคนอีสาน จึงเป็นมะเร็งตับมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่สถิติที่เราควรภูมิใจ ตรงข้ามต้องเอามือมากุมขมับด้วยซ้ำไป…ทำไม..?

เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง แต่สถิตินี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาทราบ เราทราบมากว่า 20 ปีแล้วครับ

ท่านอาจารย์หัวหน้าภาควิชาการโภชนาการของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย ท่านเสียชีวิตไปเพราะมะเร็งตับ ยาหยีผมก็ร่วมงานวิจับกับคณะแพทย์ศาสตร์ มข. มาตั้งแต่สมัยปีมะโว้ ก็เรื่องนี้แหละ ตามไปศึกษาวิถีชีวิตอีสานที่ไปเป็นแรงงานตัดอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และ…. เข้าไปศึกษาในชนบทอีสานหลายแห่งทั้งอีสานเหนือ กลาง ใต้

สรุปมาตั้งแต่สมัยนั้นว่า ต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสานคือ “การกินดิบ” ก็กินอาหารดิบ ดิบๆสุกๆ ไม่ว่า ปลาดิบๆ หอยดิบๆ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์ป่า สารพัดเนื้อสัตว์เอามาทำอาหารดิบกินกับ แซบหลายเด้…. ก็เจ้าแซบหลายนี่แหละ คือต้นเหตุของการเกิดมะเร็งตับ คณะแพทย์ศาสตร์ มข.สรุปมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว… และมีการแปรข้อมูลเหล่านี้ออกไปสู่สื่อสาธารณะเพื่อเตือนประชาชนอีสานให้เปลี่ยนวิธีการกินอาหารดิบ…..ทำกันมานานแล้ว

มาวันนี้ก็ยังมีการพูดถึง เรื่องนี้ และเป็นสถิติโลกไปแล้วด้วย..

มีคำที่สำคัญ หรือ Key word ที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ “พฤติกรรมการกิน” ของคนเรานี่เอง หากจะกล่าวอีกมุม ก็คือ “วัฒนธรรมการกิน” อาจจะแยกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ ตัวอาหารที่กินกับกระบวนการกิน สำหรับตัวอาหารนั้น คือวัตถุดิบและวิธีการปรุง การศึกษาครั้งนั้นเท่าที่ผมจำได้คือ กระบวนการกินที่ใช้มือ มาเป็นใช้ช้อน จากช้อนของใครของมัน ตักอาหารส่วนกลางมาเป็นช้อนกลาง ดูจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรื่องอาหารที่ดิบ หรือไม่สุก ดีที่สุดคือ ดิบๆสุกๆนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเป็นกินสุกมากขึ้นนั้นทำได้แค่ระยะหนึ่ง แต่แล้วหันไปใช้พฤติกรรมเดิมๆ คือ “กินดิบ”

นี่เองที่ปัญหาที่สลัดไม่ออก คนอีสานไปกรีดยางภาคใต้ ก็ไปแสดงพฤติกรรมการกินของพื้นบ้านอีสาน ยังมีเรื่องเล่ากันว่า คนอีสานไปทำงานต่างประเทศ ยังไปจับสัตว์ป่าเขามากินดิบซะเรียบร้อย ทั้งที่สัตว์ป่านั้นเป็นสัตว์พ่อพันธุ์ของเขา….จริงหรือไม่จริงไม่มีใครยืนยัน แต่เรื่องราวทำนองนี้ไปยืนยัน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานว่ามีติดตัวไปทุกหนทุกแห่งที่คนอีสานไปอยู่อาศัย

ผมอยากจะเพิ่มอีกคำลงไปใน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานนั้นก็คือ “การติดใจในรสชาด” ของอาหารนั่นเอง ดังนั้น “พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสาน” จึงมี “การติดใจในรสชาดอาหาร” ติดขนานไปด้วยกัน…ไปไหนไปกัน..แบบนั้น

ทำไมชาวจีนจึงทานอาหารร้อนๆ ดื่มชาร้อนๆ ทำไมชาวเกาหลีจึงทานผักดองที่เรียกกิมจิ ทำไมชาวอินเดียจึงใส่เครื่องเทศในอาหารมากมาย เหล่านี้คือวัฒนธรรมการกิน พฤติกรรมการกินที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นด้วยระบบวิถีชีวิตที่คลุกคลีมาตั้งแต่เกิด

ข้อสรุปนี้ นักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งเหมือนนักวิทยาศาสตร์สังคม เพราะ Key word ตัวนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกมากมายตามมา หรือกล่าวอีกทีคือ มีเรื่องราวอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์กลุ่มนี้ เช่นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในสังคม การใช้เวลาในแต่ละวันของชาย หญิง ในสังคมชุมชน การให้ความสำคัญกับความเชื่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ การจัดกลุ่มโดยธรรมชาติในชุมชน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชน การสร้างนวัตกรรมเครื่องมือจับสัตว์ที่หลากหลาย จากง่ายไปสู่ความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ตลอดเลยไปถึงการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งบ้านเรือน กระบวนการตัดสินใจต่างๆในวิถีการดำรงชีวิตของเขา..ฯลฯ…

ผมได้อธิบายกับเพื่อนที่ผมไปทำงานด้วยกันเรื่องปรากฏการณ์หนึ่งคือ จะมีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงศึกษา สำรวจ แล้วทำการโยกย้ายชาวบ้าน สมมติ 700 ครัวเรือนออกไปจากพื้นที่โครงการ ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ไกลออกไปจากที่เดิม พร้อมกับจะจัดที่ดินทำกินให้ใหม่ และอื่นๆมากมายที่จะสนับสนุนให้คนที่ถูกโยกย้ายมานั้นมีความกินดีอยู่ดีให้ได้ แต่บังเอิญเหลือเกินที่โลกเกิดวิกฤติการเงิน ไปกระทบผู้ลงทุน โครงการนี้จึงหยุดไป ขณะที่โยกย้ายชาวบ้านไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไปได้จนจบสิ้น ค้างเติ่ง เช่นนั้น

วันดีคืนดี มีอีกกลุ่มหนึ่งมาดำเนินโครงการนี้ต่อ จึงมีการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันว่าเป็นเช่นไรบ้าง การศึกษาพบว่ามีประชาชนที่โยกย้ายไปแล้วนั้น กลับไปอยู่ในที่ดินทำกินเดิมจำนวนที่มากพอสมควร

ประเด็นอื่นเราไม่ขอกล่าวถึง แต่ตั้งคำถามกันว่าทำไมจึงมีการโยกย้ายกลับไปยังที่ดินทำกินเดิม.? และเป็นจำนวนมากกว่าที่รับรู้มาก่อนจนตกอกตกใจกัน จากการประมวลข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โยกย้ายกลับคืนที่ดินทำกินเดิม การสัมภาษณ์ประชาชนท่านหนึ่งเป็นผู้สูงอายุท่านกล่าวว่า หมู่บ้านที่ราชการจัดสรรให้นั้นเป็นชีวิตที่พึ่งพิงตลาด ฝากท้องไว้กับตลาด แต่การกลับไปทำมาหากินในที่เดิมนั้นเป็นการพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ได้ซื้อไม่ได้ขาย หาของป่ากินไปวันๆ….

เมื่อเราเดินทางไปดูสถานที่ตั้งชุมชน ซึ่งปลูกกระต๊อบเป็นกลุ่มๆ มีกลุ่มละ 5-6 หลังคาเรือน รอบๆบ้านปลูกกาแฟ ถัดออกไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ถัดออกไปเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก มีร่องรอยบุกเบิกเพิ่มเติม…คนที่เราพบส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน มีผู้เฒ่าบ้าง แต่ส่วนใหญ่ผู้เฒ่าจะอยู่ที่บ้านจัดสรรโน้น.. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนักเรียกว่าอยู่กันแบบดั้งเดิมจริงๆ แน่นอนไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี และไม่มีไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด..

เดินขึ้นไปในบ้านมีถุงข้าวกองอยู่ นั่นคือข้าวสำรองที่เก็บไว้ให้คุ้มกินตลอดปีสำหรับจำนวนคนในครอบครัว อาจมากเกินบ้างก็เผื่อเหลือเผื่อขาดง..ฯลฯ ล้วนเป็นระบบวิถีชีวิตชุมชนแบบที่มีระบบนิเวศเชิงเขาและเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อเฉพาะของเขา

หากเราไม่เข้าใจเขา การแก้ปัญหาของคนนอกก็ไปใช้ระบบคิดแบบคนนอกไปกำหนดวิถีชีวิตเขาไปหมด นัยเจตนาที่ดี นโยบายของรัฐ สารพัดเหตุผลที่เอาไปอธิบายชาวบ้านที่ส่วนมากจำนนต่อกฎของรัฐ แต่สภาวะจิตใจภายในนั้น บ่งบอกออกมาในรูปของคำพูดและน้ำเสียง สีหน้า เลยเถิดไปถึงพฤติกรรมที่ตามมาอีกหลายด้าน….

ชาวบ้านที่โยกย้ายกลับมาในที่ดินทำกินเดิมนี้ ส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลหลักคือ วัฒนธรรมการทำมาหากิน ความถนัด ความเคยชิน รวมไปถึงวัฒนธรรมการบริโภค และพฤติกรรมการบริโภคนั่นเอง มีข้าวจากข้าวไร่ พอมีรายได้จากกาแฟ แต่อาหารนั้นหามาจากป่ามากกว่า ร้อยละ 90

สรุปแบบห้วนๆว่า พฤติกรรมของวิถีชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคอาจจะไม่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งตับของชุมชนที่นี่ แต่มีส่วนสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คือป่าไม้

ประเด็นของนักพัฒนาคือ เราจะหาความลงตัวใหม่ได้ที่ตรงไหน…

แต่น่าเสียดายที่ระบบงานมักให้แก้โจทย์สำคัญเหล่านี้ด้วยเงื่อนไขกระบวนวิธีของคนภายนอก นโยบายรัฐ และเวลาที่จำกัด

ทำได้ครับ แต่ต้องอาศัยกระบวนการปรับตัว ในด้านต่างๆมากพร้อมๆกับระบบพี่เลี้ยงที่เข้าใจและยืดหยุ่นพอสมควร…

ไม่มีอะไรที่ติดแน่นคงที่ มีแต่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงต้องอยู่บนฐานของความสมดุลและการลงตัวด้วย…



Main: 0.18088102340698 sec
Sidebar: 0.048194169998169 sec