เงินใต้ถุนบ้าน..
อ่าน: 1799คืนนั้นฝนตกหนักมาก บ้านเราเปียกไปหมด จนไม่ได้หลับนอนกันทั้งบ้าน เพราะฝนสาดเข้ามาถึงเรือนใหญ่ที่ลูกๆ 5 คนนอนเรียงกันอยู่ เด็กชายวัย 13 ขวบพยายามช่วยพี่ๆ น้อง เก็บมุ้ง ที่นอนไม่ให้เปียกฝน แต่ก็สุดปัญญา
เรานั่งหลับๆตื่นๆ พอตี 5 พ่อซึ่งนอนอีกหลังหนึ่ง ซึ่งก็เปียกเหมือนกันมาเรียกเรา “ถึงเวลาที่จะต้องไปนาแล้ว..ลูก”
พี่สาวคนโตตื่นมาช่วยแม่เรื่องหุงข้าวต้มแกง พี่ชายอีกคนลงไปดูควายที่คอกข้างบ้าน ผมบอกน้องๆว่าหากสว่างแล้วช่วยกันเอาสิ่งที่เปียกฝนทั้งหมดออกไปผึ่งแดดที่นอกชานบ้าน พ่อและผมออกจากบ้านไปนา ผมแบกไถ พ่อหาบข้าวปลูกไป พี่ชายเอาควายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ไถพ่อนี้หนักที่สุด ผมต้องเปลี่ยนบ่าซ้าย ขวา บ่อยๆ หรือไม่ก็วางลงยืนสักครูแล้วถึงจะแบกต่อไปใหม่ พ่อเป็น “คนประโยคใหญ่” สำนวนคนภาคกลาง หมายถึง ทำอะไรต้องทำให้ดี สร้างอะไรก็ต้องควานหาวัสดุดีดีมาทำ อย่างคันไถที่ผมแบกอยู่นั้น พ่อไปหาไม้ประดู่ มาทำคันไถและส่วนประกอบต่างๆ มันเป็นไม้ชั้นเลิศในการทำเฟอร์นิเจอร์ ลายสวย คงทนถาวร หากเก็บรักษาดีดีมีอายุเป็นร้อยปีเลยทีเดียว..
เนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืน ทำให้ถนนไปนาที่มีระยะทาง เกือบ 4 กิโลเมตร มีแต่โคลนลื่นทั้งนั้น ผมก็ลื่นล้มไปหลายครั้ง เมื่อถึงนาฟ้าก็สางพอดี รีบเอาควายมาเทียมไถ ผูกเชือก จากควายมาสู่คันไถ กว่าจะเสร็จสบบูรณ์ พ่อต้องมาตรวจสอบดูว่าถูกต้องทั้งหมดไหม มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาระหว่างการทำหน้าที่ พ่อ พี่ชาย และผมไถนาไปจนแดดแรงจ้า แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวปลาอาหารมาถึงนา เราพักการไถนา เอาควายไปปล่อยชายบ้านโน้น ให้เขากินน้ำ พักผ่อน ก่อนจะไถต่อไปหลังอาหารเช้า แม่เตรียมอาหารสำหรับทุกคนที่บนคันนานั้น โคลนนาที่เปื้อนเท้าเลยขึ้นมาถึงน่อง หัวเข่า เราก็ล้างน้ำใกล้ๆนั้นพอดูดีขึ้นมาบ้าง ทุกคนกินข้าวอย่างอร่อย แกงผักบุ้งนา ปลาเจ่าผักสด พ่อชอบเมนูนี้มาก มักจะไปเก็บใบอ่อนพืชที่พ่อโปรดมาจากโคกข้างบ้านเสมอ
เสร็จแล้วแม่ก็ให้เราพัก กลับไปอาบน้ำอาบท่า แต่ตัวไปโรงเรียน ซึ่งต้องเดินไปอีก 5 กิโลเมตร แม่เก็บกระจาดข้าว น้ำ แล้วก็รับช่วงไถนาต่อจากเรา…..
……. ผมเข้ามาเรียนต่อชั้นม.ศ. 4-5 ที่เมืองหลวงตามที่คุณตาบอกกล่าวว่ายินดีให้ไปพักที่บ้าน เรียนหนังสือ ไม่ต้องไปเช่าที่ไหน แค่ช่วยงานบ้าน และจุนเจือค่าอาหารรายเดือนนิดหน่อยไม่กี่ร้อยบาท แต่เนื่องจากบ้านเราลูก 5 คนกำลังเรียนกันทั้งนั้น อาชีพครูประชาบาลของพ่อ กับการทำนากินนั้น รายได้ฝืดเคืองเหลือเกินสำหรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว
….วันนั้นแม่ลงไปกรุงเทพฯเอาพืชผักบ้านนอกไปฝากคุณตาคุณยาย ในฐานะที่ลูกไปกินนอนที่บ้านนี้ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากผู้มีพระคุณ ที่ให้ที่พักพิง ดูแลลูกให้ได้เรียนหนังสือ…และแม่ก็บอกว่า พ่อให้เอาค่าเทอมมาให้ พอดี มีส่วนเกินที่ผมจะใช้ติดตัวเพียงวันละ 5 บาท ..เรามีพี่น้องหลายคน ทุกคนกำลังเรียนกันทั้งนั้น เปิดเทอมที เงินทองไม่พอ ข้าวในยุ้งก็ไม่พอขาย ข้าวใหม่ก็เพิ่งปลูก นี่พ่อไปเอาค่าเทอมมาจากสหกรณ์ครูนะลูก ไม่พอค่าใช้จ่ายส่วนตัวลูกๆทุกคนด้วยซ้ำไป ประหยัดนะลูก อดทนเอา ตั้งใจเรียนนะลูก…. เป็นคำสอนสั่ง บอกกล่าวที่ซ้ำๆ ทุกครั้งที่กลับบ้าน หรือจากบ้านมาเรียนหนังสือ ทั้งพ่อทั้งแม่จะบอกกล่าวอะไรทำนองนี้ยาวเหยียด เด็กอย่างเราสมัยนั้นก็นั่งฟังหน้าตาเบื่อๆ ก็ฟังไม่รู้กี่หนกี่ครั้ง ก็คำกล่าวเก่าๆ เดิมๆ อิอิ..
ครั้งนั้น แม่บอกว่า ส่วนเกินจากค่าเทอมที่พ่อให้เจ้ามานั้น แม่คิดว่าเองจะไม่พอใช้ ก่อนมานี่แม่เอาขวดเก่าๆใต้ถุนบ้านเราไปขายได้เงินมาหน่อยหนึ่ง แม่จะให้เองเอาไว้ใช้นะลูก
แม่กล่าวพร้อมกับยื่นแบ้งค์ 20 บาทยัดใส่มือผม….. ผมยกมือไหว้แม่ แม่เข้ามาโอบตัวผมก่อนที่จะกลับบ้านนอกไป
เวลาผ่านไป นับ 50 ปีเศษแล้ว ผมจำได้ติดหูติดตา
ความเป็นแม่ของลูกนั้น ลูกต้องมาก่อนเสมอ…
ทุกครั้งที่ผมกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้าน ก่อนจากลาแม่จะดึงแขนผมไปหอม พร้อมอวยพรให้เดินทางกลับบ้านด้วยสวัสดิภาพ..
แม่จากพวกเราไปเมื่อปีที่แล้วด้วยวัย 88 ปี
เนื่องในโอกาสวันแม่จะมาถึง “ผมรักแม่ครับ ผมคิดถึงแม่…”
ความคิดเห็นสำหรับ "เงินใต้ถุนบ้าน.."