บ้านพักในเมือง..
ที่พักอาศัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ธุรกิจด้านนี้ทำกำไรมานาน ก็เป็นเรื่องปกติ ใครๆก็ต้องการมีบ้านของตัวเอง เด็กหนุ่มสาวเมื่อมีงานทำเป็นหลักแหล่งแล้วก็เริ่มมองหาบ้านพักกันแล้ว ที่ดินราคาแพงและหายากก็ต้องสร้างที่พักเป็นทรงสูง เป็นอาคารชุด เรียกว่า คอนโดฯ แบบบ้านก็แคบลง ที่จอดรถเมื่อจอดแล้วก็แทบจะออกจากรถไม่ได้..
ผมยังขำ..ทาวน์โฮมที่ผมไปซื้อให้ลูกสาวพักอาศัยในกรุงเทพฯนี้ คนซื้อได้ตัวบ้านแต่ก็ต้องต่อเติมห้องครัวรั้วบ้าน อื่นๆตามอัธยาศัยและกระเป๋า แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาคือ ไม่มีที่ตากเสื้อผ้าที่ซักแล้ว หลายบ้านต้องเอาที่ตากเสื้อผ้ามากางและตากที่หน้าบ้านตัวเอง แหมคุณเอ้ย..ชุดชั้นในขนาดอะไร สีอะไร เห็นโม๊ดดด….ตอนเอาผ้าออกมาตากก็กระมิดกระเมี้ยน บางบ้านก็อาย เอาผ้าบางๆผืนใหญ่ๆมาคลุมอีกชั้นหนึ่ง ไม่ให้เห็นรายละเอียด เอากะแม่ซิ.. บ้านราคามากกว่า 2 ล้าน ไม่มีที่ตากผ้า นี่คือสภาพที่อยู่อาศัยคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
หลายสิบปีก่อนมีโครงการดีดีชื่อ “โครงการร่วมกันสร้าง” เป็นการสร้างบ้านที่เพื่อนๆและผู้สนใจลงมือช่วยกันสร้างบ้านร่วมกัน เพื่อให้ถูกใจผู้อยู่ และลดต้นทุนการก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางและต่ำที่มีรายได้ไม่มากเพียงพอไปซื้อบ้านจัดสรร.. ผมชื่นชมกลุ่มคนเหล่านั้นที่เดินออกไปร่วมกันในการทำงานเพื่อที่พักให้แก่ครอบครัวของเขา
มาปัจจุบันมีสหกรณ์การเคหะ เกิดขึ้นทุกภาคของประเทศ มีหลักการรวมคนยากจน หรือคนชั้นกลางลงไปชั้นต่ำที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองไม่มีที่พัก หรือที่พักไม่เพียงพอต่อครอบครัวที่มีจำนวนคนมากขึ้น จึงมีกลุ่มคนร่วมมือกันหาเงินมาก่อสร้างบ้าน ในราคาถูก แล้วให้ผู้สนใจมาซื้อในระบบผ่อนส่งที่มีกำลังส่งได้ และต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อสร้างหลักประกันในการดำเนินกิจการนี้
นั่นเป็นเรื่องคร่าวๆ ซึ่งผมชอบใจมาก ชื่นชม การทำงานเพื่อสังคมคนยากจนแบบนี้ แม้ว่ารายละเอียดมีปัญหาที่ต้องแก้ไขกันมากมายทีเดียว
เพื่อนผมได้รับติดต่อให้เข้าไปช่วยสหกรณ์การเคหะลักษณะนี้ในจังหวัดหนึ่ง เขาเชิญผมให้ไปเป็นวิทยากรพูดถึงเรื่องปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาสหกรณ์จากบทเรียนในการทำงานของผมที่ผ่านมา บอกว่า เอาประสบการณ์ไปเล่าให้ฟังกันหน่อย เพื่อเพื่อนก็ไป แต่ผมมีข้อมูลเรื่องสหกรณ์การเคหะแห่งนั้นน้อย จึงได้แค่เอาหลักการ และประสบการณ์บางส่วนที่เคยทำสหกรณ์มาบ้างไปเล่าสู่กันฟัง
มีประเด็นมากมายที่ให้คิดถึงเรื่องปัญหาของคนในเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อนบอกว่า หลักการที่นี่สมาชิกต้องมาซื้อหุ้นของสหกรณ์ และเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่บังคับว่าจะต้องออมทรัพย์วันละ 40 บาทเป็นอย่างต่ำ แล้วก็เอาบ้านไปหลังหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการผู้น้อย เป็นลูกจ้างรายวัยรายเดือน เป็นแม่ค้าหาบเร่ เป็นนายสิบแก่ๆ เป็นจ่าแก่ๆ ที่มีครอบครัวมีลูกมาภาระ ฯลฯ เห็นภาพนะครับที่คนเหล่านี้สารพัดอาชีพและภูมิลำเนาแต่มาทำงานที่นี่กันแล้วก็ต้องมาหาที่พักอาศัยกัน ไม่ต้องไปเช่าที่พัก….แต่ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงาน…หรือตั้งแต่เริ่มโครงการก็ว่าได้ เหมือนบ้านจัดสรร แต่เป็นบ้านจัดสรรของคนระดับล่าง
ประเด็นใหญ่ที่ผมเห็นคือ เจ้าหน้าที่สหกรณ์นั้นต้องทำงานแบบนักพัฒนาเอกชน ที่ต้องเข้าถึงสมาชิกทุกคน มิใช่เพียงเขามาทำตามเงื่อนไขแล้วได้บ้านไปแล้วก็จบสิ้น วันไหนที่เขาเดินเข้ามาสำนักงานถึงจะพูดคุยด้วย คงไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานเชิงรุก มืออาชีพ ต้องทำทะเบียนสมาชิกอย่างละเอียดในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และฯลฯ และจะต้องจัดทีมงานออกเยี่ยมเยือนสมาชิก เพื่อทำความรู้จักและสร้างแรงเกาะเกี่ยว เพราะวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ต้องสร้างบรรยากาศหมู่บ้าน เหมือนหมู่บ้านในชนบทให้ได้ แม้ว่าจะไม่มีทางเหมือนก็ตาม แต่การเยี่ยมเยือนเป็นปกติ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำนั้น จะช่วยให้เห็นสภาพ สถานภาพของแต่ละครอบครัว ของกลุ่มบ้าน ของหมู่บ้าน แล้วแปรเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสม เช่นมีกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้มีทักษะพิเศษ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มนักเรียน กลุ่มเด็กเล็ก ฯลฯ
เจ้าหน้าที่สหกรณ์มีงานทำมากมาย รุกงานของเขาต้องอยู่ที่บ้านทุกหลัง ไม่ใช่โต๊ะทานในสำนักงาน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แลกเปลี่ยนกันในวันนั้นครับ
« « Prev : ประเทศไทยในสนามกอล์ฟ..
4 ความคิดเห็น
แนวคิดเรื่องสหกรณ์เป็นการดำเนินงานที่น่าสนใจนะคะพี่บู๊ท ทำไมสหกรณ์ฯของไทยถึงไม่ค่อยก้าวหน้าล่ะคะ และเรามีสหกรณ์แบบไหนบ้าง (ที่เห็นๆมีสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขกับครู และสหกรณ์การเกษตร แหะแหะ)
เป็นเรื่องจริงครับน้องเบิร์ดที่สหกรณ์บ้านเราหายากที่จะเจริญ ปัญหามีมากครับ ทั้งในส่วนตัวองค์กรเองและในส่วนระเบียบของสหกรณ์
ตัวองค์กรเองนั้น เป็นชาวบ้าน เป็นอดีตข้าราชการ ฯลฯ ที่ไม่มีประสบการณ์เชิงองค์กรที่ก้าวหน้าและสอดคล้องกับลักษณะสังคมในปัจจุบัน เรื่องราวเลยน้องเบิร์ด สรุปสั้นๆก็คือ
- พี่ลองมองย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน เราต่อต้านซุปเปอร์สโตร์ ขนาดใหญ่ที่ขยายตัวเข้ามาในจังหวัดต่างๆแล้วทำให้ร้านโชว์ห่วยพังพินาจไปหมด หลายจังหวัดเกิดแรงต้าน แม้ปัจจุบัน เรื่องนี้พี่เองเดิมทีพี่ก็ต่อต้านด้วย แต่เมื่อเราเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เช่นกรุงเทพฯ พี่คิดว่าซุปเปอร์สโตร์นั้นจำเป็นจะต้องมีซะแล้ว เพราะเราจะไปซื้อเสื้อผ้าที่ประตูน้ำ แล้วขับรถไปซื้ออาหารอร่อยที่ย่านคนจีนราชวงษ์ แล้วไปซื้อดอกไม้ ผลไม้ที่ปากคลองตลาด นั้นทำไม่ได้แล้ว ซึ่งแต่ก่อนทำได้ ที่ทำไม่ได้เพราะสภาพรถติด มันใช้เวลามากมายที่จะตระเวนไปทำสิ่งเหล่านั้นให้ครบถ้วน แต่มีซุปเปอร์สโตร์ไปที่เดียวได้ครบหมด ประหยัดเวลา นี่คือเรื่องสภาพการเปลี่ยนแปลของสังคมกับการปรับเปลี่ยนลักษณะขององค์กรต่างๆที่ต้องสอดคล้องกับสภาพนั้นๆ แล้วในเรื่องอื่นๆล่ะ ต้องพินิจพิเคราะห์ และมองไปยาวๆ ไกลๆ แต่ทั้งนี้พี่ไม่ได้มาสนับสนุน ซูปเปอร์สโตร์ในอำเภอ เรื่องนี้อยู่ที่หลักการของประเทศ มีเพื่อนเป็นนักธุรกิจและเขาต่อต้านเรื่องนี้ เขาเล่าให้ฟังว่าต่างประเทศเขามีกฏหมายบังคับมิให้มีซูปเปอร์สโตร์ในเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรจำนวนหนึ่ง…. และในญี่ปุ่นเขาไม่ห้ามแต่เขาร่วมมือกันไม่เข้าไปซื้อสินค้า เขาร่วมมือกันจริงๆและซูปเปอร์สโตร์อยู่ไม่ได้ หรือไม่ก็ขายให้กับนายทุนท้องถิ่นไป
เรื่องแบบนี้คนทำงานสหกรณ์ต้องเป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ มีประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ มิใช่เอาชาวบ้านมาเป็นประธานแต่ไม่รู้เรื่อไม่เข้าใจ ตามไม่ทันเรื่องราวเหล่านี้ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมสหกรณ์ให้ทำธุรกิจพื้นฐานที่ประสบผลสำเร็จได้
พี่เห็นสหกรณ์การเกษตรที่ขอนแก่นแห่งหนึ่ง จ้างผู้จัดการมืออาชีพมาบริหารแล้วทำสัญญากันว่า หากทำกำไรได้ ก็เอาไป 10% ของกำไรนั้นนอกเหนือเงินเดือน แบบนี้ ผู้บริหารก็คิดอ่านองค์กรให้ก้าวหน้าแน่นอน อย่างน้อยมีความพยายามมากกว่ากลุ่มกรรมการที่มาจากชาวบ้านที่ซื่อ บริสุทธิ์ แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องธุรกิจ…. อีกมากมายครับ
- ในมุมของระเบียบ กฏหมายของสหกรณ์ ก็เป็นของเก่าอายุจะครบร้อยปีแล้ว หลายเรื่องทำให้ไม่คล่องตัวในการบริหารงานที่สอดคล้องกับสถานการสัคมปัจจุบัน ข้าราชการจากสหกรณ์ก็ยึดกฎระเบียบนั้นๆแน่น (ก็เป็นบทบาท หน้าที่ของเขา) ไม่ยืดหยุ่น ไม่คล่องตัว ไม่สอดคล้องต่อการทำธุรกิจในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะ แข่งขันกับธุรกิจเอกชน หากไม่ทำก็ผิดกฏ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็มาเอาเรื่อง ก็กึ๊กกั๊กกันอยู่ตรงนั้น ก้าวไปก็ผิดระเบียบ ไม่ก้าวก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีกำไร ไม่ได้สร้างประโยชน์แก่องค์กร มันก็เป็นที่อึดอัด
- สหกรณ์ที่ก้าวหน้าที่สุดดูจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน โดยเฉพาะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสหพันธ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเขาเป็นเอกชน แต่อยู่ภายใต้ระเบียบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์นี้มีเจ้าหน้าที่เป็นนักพัฒนาเฉพาะด้านมากกว่าที่มีลักษณะมืออาชีพมากกว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์เฉยๆที่รู้เรื่องหลักการ ทฤษฎีมาก ถามอะไรตอบได้หมด แต่ประสบการณ์การอยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนั้น สู้เจ้าหน้าที่สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยไม่ได้ ในทัศนะพี่นะครับ….
ตามกฏหมายเรามีสหกรณ์ 7 ประเภท มีสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แม้ว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์จะมีฝ่ายส่งเสริม แต่มรทัศนะพี่เห็นว่า แค่ก้าวออกมาอีกนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่พอที่จะไปคลุกคลีและสร้างให้คณะกรรมการและสมาชิกสหกรณ์นั้นๆเข้าใจถ่องแท้และก้าวหน้าได้ การเกิดขึ้นของสหกรณ์ก็แตกต่างกัน อย่างพี่ทำสหกรณ์เครดิตยูเนี่นยนที่สะเมิง เชียงใหม่สมัยปี 2518 นั้น ปัจจุบันมีเงิน 45 ล้านบาท เพราะ เราใช้เวลา 1 ปี ตระเวนไปฝึกอบรม ประชุม ให้ความรู้ ถกเถียง ตอบคำถาม กัน แล้วจึงตั้งขึ้นมา เมื่อตั้งแช้วเราก็เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิดอีก 5 ปี คณะกรรมการเขาก็แน่นให้ความรู้และประสบการณ์ที่ค่อยๆพัฒนาโดยเราเป็นพี่เลี้ยง แต่หากเราเป็น NGO เราทำได้ ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่แตกต่างกัน
อ้าวเลคเชอร์ซะแล้ว… อิอิ อิอิ
โอ้ เริ่ดเลยค่ะพี่บู๊ท แสดงว่าคน โครงสร้าง กฎ ระเบียบทำให้สหกรณ์หลายแห่งเดี้ยง น่าเสียดายจัง … เบิร์ดเคยเห็นผลผลิตของสหกรณ์หลายๆแห่ง แล้วสงสัยในเรื่องราคาว่าทำไมแพงกว่าผลิตผลแบบเดียวกันที่ไม่อยู่ในระบบสหกรณ์ เพราะทำเรื่องอาหารปลอดภัยมาหลายปี ซึ่งลบความเชื่อว่าผักปลอดภัยต้องแพงและลดต้นทุนในการซื้อของรพ.ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ผู้ผลิตก็อยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่เดือดร้อน เลยค่อนข้างกังขาว่าทำไมถึงแพงนัก และทำให้คิดไปถึงความสามารถในการจัดการของผู้นำไปโน่นเลย …นี่น่าจะเป็นจุดอ่อนอีกอย่างของผลผลิตสหกรณ์ก็ได้นะคะพี่บู๊ท
จริงๆ เราพัฒนาได้ แม้ว่าจะยาก แต่นั้นหมายความว่าจะต้องสังคายนาสิ่งที่เป็นอุปสรรคทั้งหมดครับ การผลิตนั้น นักบริหารมืออาชีพ เขามีวิธีลดต้นทุนแต่ไม่ลดคุณภาพ อันนี้ระบบธุรกิจพัฒนาไปนานแล้ว แต่ระบบสหกรณ์เราต้วมเตี้ยม วนไปวนมาอยู่เดิมๆ ก็ไปไม่รอดครับ การปรับเปลี่ยนระบบคิดและฐานความรู้ตรงนี้ ระบบธุรกิจก้าวไปมากแล้ว
สมัยหนึ่ง NGO ไม่เห็นด้วยกับการทำงานพัฒนาชนบทแบบท่านมีชัย ที่เรา้รียกองค์กรท่านว่า PDA Population Development Association เพราะท่านนำธูรกิจเข้ามาเอื้อต่อการหาเงินมาทำงานพัฒนา สมัยนั้นเราสนใจแต่หาเงินจากผู้บริจาคมาทำงาน และรังเกียจระบบธูรกิจ มาปัจจุบัน เรายอมรับแนวคิดท่าน ท่านคิดถูก ทำถูกแล้ว เพราะการทำงานของท่าน ใช้ฐานธุรกิจหาเงินมาทำงานพัฒนาชุมชน และยั่งยืนเพราะมีเงินเข้ามาทำงานตลอด ธูรกิจก็อยู่ในชุมชน แนวคิดแบบนี้ NGO และราชการต้องศึกษาและปรับ พัฒฯนาไปครับ