ว่าวลุงภี…(2)

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 14, 2008 เวลา 22:51 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6423

ลุงภีวัย 61 ปี ยังแข็งแรง สูบบุหรี่บ้าง กินเหล้าบ้างนิดหน่อย ซื้อหวยบ้างนานๆครั้ง ลุงไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบที่จะมาตระเวนขายว่าวไปทั่วทุกแห่ง ผมมันชอบอย่างนั้น หนุ่มๆผมเป็นคนเที่ยว ไปทั่ว ประเทศลาวผมก็ไปทำงานเป็นคนงานตัดไม้มาแล้ว ชอบท่องเที่ยวไป เมื่อผมมาขายว่าว ก็นอนไปตามปั้มน้ำมัน ศาลาวัด โคนต้นไม้ ไม่เคยเช่าโรงแรมนอน เคยมีลูกค้าที่คุยกันถูกคอเชิญให้ไปนอนบ้านก็มี..

ว่าวตัวใหญ่รูปแบบแปลกตานั้น ลุงภีเอาแบบมาจากฝรั่งที่พัทยา ไปขอซื้อเขามาสองตัว 900 บาท เอามาถอดแบบแล้วทำขึ้นเองใหม่ ลองชักดู ตกแต่งไปเรื่อยๆจนใช้ได้ดีก็เอามาขาย ในหมู่บ้านโนนเมืองผมเป็นคนแรกที่ทำว่าวทรงนี้

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง และชอบขนาดเล็กๆ ผมจะขายไม่แพงแล้วแถมเชือกให้ด้วย ยาวประมาณ 15 เมตร ผมไปซื้อกระป๋องกาแฟสำเร็จรูปมาจากร้านรับซื้อเศษขยะในราคากิโลกรัมละ 5-6 บาท เอาด้ายมาพันให้ลูกค้า พ่อค้าบางคนเขาไม่แถมแต่ขาย 10 บาท แต่ผมแถมให้ฟรี…


เมื่อสามสี่ปีก่อนรายการคุณไตรภพเคยมาถ่ายทำสารคดีการทำว่าวของลุงภีที่บ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่น… จนชาวบ้านแซวเอาว่าผมเป็นดาราไปแล้ว..

การทำว่าวขายเป็นอาชีพรอง เป็นอาชีพเบา สุจริต สิบกว่าปีที่ยึดอาชีพรองนี้มามีรายได้ดีมาก จึงเป็นความสุขของลุงภีที่ได้ทำขาย เร่ร่อนไปทั่วสารทิศ ได้เงินมาก็ให้ยายที่บ้านเก็บ ก็ลูกๆนั่นแหละเป็นคนใช้เงิน แต่ก็เป็นความสุขของลุงภี… ปัจจุบันเพื่อนบ้านยึดอาชีพนี้ตามอย่างกันทั่วหน้า…


เมื่อ หลายปีก่อนทางราชการพยายามมาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มผลิตว่าว OTOP เอาเงินทองมาลงทุนให้เป็นแสนๆ ทำไปได้ปีหนึ่งกลุ่มก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะต่างไม่ไว้ใจกัน ฝ่ายผลิตก็ผลิตไป ฝ่ายขายก็เอาสินค้าไปขาย แต่เงินที่ได้มา ฝ่ายผลิตไม่เชื่อใจว่าครบตามที่ได้ขายจริงหรือไม่ เมื่อไม่ไว้ใจกันก็เลิกระบบกลุ่ม เอาไผเอามันซะ ลุงภีกล่าว เมื่อต่างคน ต่างทำ ต่างขาย ต่างจัดการกันเอง ก็ไม่มีเรื่องราวอะไร

เงินแสนที่ได้มาจากการขายว่าวแต่ละปีนั้นเป็นกำไรสุทธิ แม้จะลงทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อปี แม้บางปีขายไม่ได้ เช่นปีที่แล้วมา ลุงภีให้เหตุผลว่าเพราะคนไทยไว้ทุกข์สมเด็จพระพี่นาง จึงขายว่าวได้ไม่หมด แต่ก็กำไรเป็นแสนเช่นกัน หากขายหมดก็จะกำไรมากกว่าสองแสน…ลุงภีกล่าว

ใครจะไปรู้ว่า ว่าวริมถนน นั้น มูลค่าตลอดปีได้กลายมาเป็นบ้านให้ลูกๆลุงได้อยู่อาศัยกัน กลายเป็นรถปิคอัพที่ใช้วิ่งทำมาหากินกันทุกวันนี้ และเป็นทุนที่ยายสะสมไว้ยามหมดแรง

เมื่อถึงฤดูทำนาลุงภีก็พาลูกๆทำนา (รวมทั้งลูกเขย) เมื่อว่างเว้นทำนาก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ตลอดปี แล้วเอาออกมาขายในช่วงออกพรรษานี้ อาชีพทำว่าวได้ขยายตัวไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และขยายไปถึงบางหมู่บ้านอื่นๆ เช่น ที่ อ.บ้านไผ่ แล้ว

ลุงภีกล่าวว่าใครอยากเรียนรู้ก็ไม่หวงความรู้ มาเรียนได้ เพราะไม่ได้ยากเย็นอะไร เคล็ดลับมีบ้างนิดหน่อย …..


ก่อนจาก..ลุงภีกล่าวกับผมว่า… ผมขายในราคาถูกกว่าเพื่อนบ้านคนอื่น 5-20 บาท หรือบางทียังให้ฟรีๆมาแล้วก็มาก เงินเป็นของหายาก พ่อแม่บางคนไม่มีเงินซื้อจริงๆ แต่ลูกๆอยากได้ ว่าวเป็นของเล่นของเด็กที่ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ตรงข้ามเด็กสนุก และช่วยให้เด็กบางคนคิดเลยไปว่า มันบินได้อย่างไร บางคนก็เอาไปฝึกทำเองก็มี ผมให้ฟรีครับ หากเด็กไม่มีเงินซื้อและอยากได้จริงๆ…..

ชายผู้มีอายุ 61 ปีคนนี้ จากบ้าน จากเรือน จากครอบครัวมาอาศัยริมถนน ขายฝีมือล้วนๆจากครอบครัวของเขาเอง… สุจริต และมีใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อแก่ผู้ขาดแคลน ลุงภีคือชาวบ้านธรรมดาที่น่าสนใจคนหนึ่ง….ท่ามกลางยุคสมัยนี้…


ว่าวลุงภี…(1)

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 14, 2008 เวลา 20:47 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 4910

เพียงแค่กรมอุตุฯประกาศวันเดียวว่าภาคเหนือ และอีสานนั้นลมหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว พ่อค้าขายว่าวก็เอาว่าวออกมาขายเต็มถนนที่มุกดาหาร

นายสุภี เผือดนอก หรือลุงภีนั้นไม่ได้เงี่ยหูฟังกรมอุตุฯหรอกครับ แต่วิถีชีวิตชุมชนคนบ้านนอกนั้นบอกว่า เมื่อออกพรรษาก็จะเข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนา และลมหนาวหรือลมแล้งก็จะเข้ามาแล้ว ลุงภีซึ่งนอกจากทำนาแล้วยังทำว่าวขาย ก็ช่วงชิงเวลานี้ก่อนที่จะกลับบ้านไปเกี่ยวข้าวในนาของตัวเอง 17 ไร่ และอีก 20 ไร่ที่ขอเช่าที่นาเพื่อนบ้าน

ลุงภีไม่ใช่คนมุกดาหารหรอก มาจากบ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่นนู้น เร่ร่อนขายว่าวไปทั่วอีสานแม้ภาคกลางภาคเหนือก็ไปมาหมดแล้ว เว้นภาคใต้เท่านั้นที่ไม่เคยไป มาขายกับลูกสาวและลูกเขย และเพื่อนบ้านอีกหนึ่งคนที่อาศัยรถปิคอัพลุงภีมาด้วย

ว่าวลุงภีมีตั้งแต่ราคา 30 บาทไปจนถึง 500 บาท ทำเองทั้งหมด ลุงเป็นคนไปหาไม้ไผ่สีสุกในหมู่บ้านมาทำโครงว่าว ลูกสาว 5 คนออกจากโรงงานเย็บผ้าในกรุงเทพฯมาช่วยลุงตัดและเย็บว่าวที่บ้านทั้งหมด อยู่โรงงานก็แค่นั้น สู้มาช่วยกันทำมาหากินแบบบ้านเราดีกว่า เงินทองก็มีเก็บ อยู่กับลูกกับผัว กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีกินไม่อด แค่นี้ก็พอแล้ว ลุงภีกล่าว

ที่ต้องเป็นไผ่สีสุก เพราะว่าเวลาเหลาให้เล็กและดัดให้โค้งงอตามต้องการนั้น ไผ่ชนิดนี้จะมีความเหนียวไม่หักง่ายเหมือนไผ่อื่นๆ ว่าวของลุงภีไม่ใช้กระดาษเลยเป็นผ้าร่มทั้งหมด เพราะมันเหนียวไม่ขาดง่ายหากถนอมดีดีก็ใช้เล่นได้นานหลายปี ลูกสาวคนหนึ่งเป็นคนตัดแบบที่ลุงภีออกแบบและวัดขนาดไว้ แล้วอีกสองสามคนก็เย็บเข้ารูปตามขนาดต่างๆ เรียกว่าเป็นหัตถกรรมครอบครัวก็ได้

ผ้าร่มนี้มีสองชนิด คือชนิดบางลมแรงๆผ่านทะลุได้ และแบบหนาที่อาบพลาสติกแบบกันน้ำได้นั้น หนาและลมไม่ผ่านเนื้อผ้าได้ ราคาก็แพงขึ้น ลุงจะซื้อผ้ามาจากตลาดเมืองพลเป็นมัดๆ เรียกว่ายกมัดมาเลย แล้วแต่สีที่ชอบ มักจะเป็นสีส้ม แดง เขียว น้ำเงิน ขาว ก็คอยสังเกตเอาว่าลูกค้าชอบสีไหน

เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาลุงภีเห็นคนชัยภูมิเอาว่าวมาขายริมถนน เข้าไปสังเกตพบว่าขายได้ดี และทำไม่ยาก จึงคิดทำบ้าง และเรียนรู้เอา ครั้งแรกๆว่าวที่ลุงทำและติดผ้าร่มนั้นไม่ขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อปล่อยกินลมมันก็ตกลงมา ก็ศึกษาดูว่าเป็นเพราะอะไร นานทีเดียวก็พบว่า ส่วนหัวมันหนักเกินไป จึงตัดไม้ที่ทำโครงส่วนหัวให้สั้นลงมา เนื่องจากเป็นผ้าร่มและใช้วิธีเย็บหุ้ม มันจึงไม่มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง นี่เป็นการดัดแปลงจากการเรียนรู้ของลุงภีเอง

หมู่บ้านของลุงภีที่ชื่อบ้านโนนเมืองนั้นมีประมาณ 180 หลังคาเรือน ทำอาชีพรองหลังจากปลูกข้าวแล้วมากถึง 70 % หรือประมาณ 130 หลังคาเรือน ทั้งนี้เพราะว่ากำไรดี ไม่น่าเชื่อว่าลุงภีทำกำไรต่อปีโดยเฉลียประมาณ 1-3 แสนบาท ไม่ทำอย่างอื่นเลย ทำนากับทำว่าวทั้งปี เมื่อว่างก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ 6-7 พันตัว แล้วก็ออกตระเวนขายเมื่อถึงหน้าออกพรรษาเรื่อยไปจนเข้าฤดูฝน ตระเวนไปจังหวัดนั่นจังหวัดนี่ เขามีงานประจำปีที่ไหนก็ไป

ลูกๆทุกคน ลุงภีดาวน์รถปิคอัพให้หมด ให้เงินทุนสร้างบ้านหมด ใครเดือดร้อนอย่างไรก็มาแบบมือขอใช้ ผมก็ให้หมดจนไม่เหลืออะไร ผมไม่อยู่ลูกๆก็มาขอกับแม่มัน และก็ให้ไปหมด ลุงภีกล่าว ผมไม่ว่าอะไรหรอกก็ลูกเรา และเราก็แก่เฒ่าแล้วไม่ได้ใช้เงินทองทำอะไรอีก หาเงินมาให้เขานั่นแหละ… (ต่อตอน 2)



Main: 0.61688899993896 sec
Sidebar: 0.57806897163391 sec