ว่าวลุงภี…(1)
อ่าน: 5009เพียงแค่กรมอุตุฯประกาศวันเดียวว่าภาคเหนือ และอีสานนั้นลมหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว พ่อค้าขายว่าวก็เอาว่าวออกมาขายเต็มถนนที่มุกดาหาร
นายสุภี เผือดนอก หรือลุงภีนั้นไม่ได้เงี่ยหูฟังกรมอุตุฯหรอกครับ แต่วิถีชีวิตชุมชนคนบ้านนอกนั้นบอกว่า เมื่อออกพรรษาก็จะเข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนา และลมหนาวหรือลมแล้งก็จะเข้ามาแล้ว ลุงภีซึ่งนอกจากทำนาแล้วยังทำว่าวขาย ก็ช่วงชิงเวลานี้ก่อนที่จะกลับบ้านไปเกี่ยวข้าวในนาของตัวเอง 17 ไร่ และอีก 20 ไร่ที่ขอเช่าที่นาเพื่อนบ้าน
ลุงภีไม่ใช่คนมุกดาหารหรอก มาจากบ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่นนู้น เร่ร่อนขายว่าวไปทั่วอีสานแม้ภาคกลางภาคเหนือก็ไปมาหมดแล้ว เว้นภาคใต้เท่านั้นที่ไม่เคยไป มาขายกับลูกสาวและลูกเขย และเพื่อนบ้านอีกหนึ่งคนที่อาศัยรถปิคอัพลุงภีมาด้วย
ว่าวลุงภีมีตั้งแต่ราคา 30 บาทไปจนถึง 500 บาท ทำเองทั้งหมด ลุงเป็นคนไปหาไม้ไผ่สีสุกในหมู่บ้านมาทำโครงว่าว ลูกสาว 5 คนออกจากโรงงานเย็บผ้าในกรุงเทพฯมาช่วยลุงตัดและเย็บว่าวที่บ้านทั้งหมด “อยู่โรงงานก็แค่นั้น สู้มาช่วยกันทำมาหากินแบบบ้านเราดีกว่า เงินทองก็มีเก็บ อยู่กับลูกกับผัว กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีกินไม่อด แค่นี้ก็พอแล้ว” ลุงภีกล่าว
ที่ต้องเป็นไผ่สีสุก เพราะว่าเวลาเหลาให้เล็กและดัดให้โค้งงอตามต้องการนั้น ไผ่ชนิดนี้จะมีความเหนียวไม่หักง่ายเหมือนไผ่อื่นๆ ว่าวของลุงภีไม่ใช้กระดาษเลยเป็นผ้าร่มทั้งหมด เพราะมันเหนียวไม่ขาดง่ายหากถนอมดีดีก็ใช้เล่นได้นานหลายปี ลูกสาวคนหนึ่งเป็นคนตัดแบบที่ลุงภีออกแบบและวัดขนาดไว้ แล้วอีกสองสามคนก็เย็บเข้ารูปตามขนาดต่างๆ เรียกว่าเป็นหัตถกรรมครอบครัวก็ได้
ผ้าร่มนี้มีสองชนิด คือชนิดบางลมแรงๆผ่านทะลุได้ และแบบหนาที่อาบพลาสติกแบบกันน้ำได้นั้น หนาและลมไม่ผ่านเนื้อผ้าได้ ราคาก็แพงขึ้น ลุงจะซื้อผ้ามาจากตลาดเมืองพลเป็นมัดๆ เรียกว่ายกมัดมาเลย แล้วแต่สีที่ชอบ มักจะเป็นสีส้ม แดง เขียว น้ำเงิน ขาว ก็คอยสังเกตเอาว่าลูกค้าชอบสีไหน
เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาลุงภีเห็นคนชัยภูมิเอาว่าวมาขายริมถนน เข้าไปสังเกตพบว่าขายได้ดี และทำไม่ยาก จึงคิดทำบ้าง และเรียนรู้เอา ครั้งแรกๆว่าวที่ลุงทำและติดผ้าร่มนั้นไม่ขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อปล่อยกินลมมันก็ตกลงมา ก็ศึกษาดูว่าเป็นเพราะอะไร นานทีเดียวก็พบว่า ส่วนหัวมันหนักเกินไป จึงตัดไม้ที่ทำโครงส่วนหัวให้สั้นลงมา เนื่องจากเป็นผ้าร่มและใช้วิธีเย็บหุ้ม มันจึงไม่มีปัญหาเรื่องความแข็งแรง นี่เป็นการดัดแปลงจากการเรียนรู้ของลุงภีเอง
หมู่บ้านของลุงภีที่ชื่อบ้านโนนเมืองนั้นมีประมาณ 180 หลังคาเรือน ทำอาชีพรองหลังจากปลูกข้าวแล้วมากถึง 70 % หรือประมาณ 130 หลังคาเรือน ทั้งนี้เพราะว่ากำไรดี ไม่น่าเชื่อว่าลุงภีทำกำไรต่อปีโดยเฉลียประมาณ 1-3 แสนบาท ไม่ทำอย่างอื่นเลย ทำนากับทำว่าวทั้งปี เมื่อว่างก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ 6-7 พันตัว แล้วก็ออกตระเวนขายเมื่อถึงหน้าออกพรรษาเรื่อยไปจนเข้าฤดูฝน ตระเวนไปจังหวัดนั่นจังหวัดนี่ เขามีงานประจำปีที่ไหนก็ไป
ลูกๆทุกคน ลุงภีดาวน์รถปิคอัพให้หมด ให้เงินทุนสร้างบ้านหมด ใครเดือดร้อนอย่างไรก็มาแบบมือขอใช้ ผมก็ให้หมดจนไม่เหลืออะไร ผมไม่อยู่ลูกๆก็มาขอกับแม่มัน และก็ให้ไปหมด ลุงภีกล่าว ผมไม่ว่าอะไรหรอกก็ลูกเรา และเราก็แก่เฒ่าแล้วไม่ได้ใช้เงินทองทำอะไรอีก หาเงินมาให้เขานั่นแหละ… (ต่อตอน 2)
« « Prev : แด่น้อง..ผู้เสียสละ..
6 ความคิดเห็น
โห พี่ตัดหน้าไปได้ เตรียมข้อมูลจะเขียนเรื่องว่าวแบบแปลกๆสำหรับ ลาน DIY ไว้ครับ
ก๊ากๆๆๆๆ ขออภัย คอนเอ้ย… ใจเราตรงกัน
ก็ลุงภีมาตั้งร้านขายว่าวหน้าสำนักงานพี่ เมื่อลงไปคุยด้วยก็ได้เรื่องเลย น่าสนใจจริงๆ
พอดีวันนี้เป็นวันออกพรรษา ชาวบ้านมาเที่ยวงานที่แม่น้ำโขง และส่วนมากก็เป็นเด็กๆที่ผู้ใหญ่พามาเที่ยวงาน ขากลับก็แวะซื้อว่าวกลับบ้าน
เด็กบางคนร้องให้ขี้มูกโป่งจะเอาว่าว…พ่อต้องจอดรถซื้อให้จนได้ น่ารักไปอีกแบบหนึ่งครับ
ขออภัยอีกครั้งครับที่หยิบเรื่องนี้มาในวันนี้
อิอิ …. ได้มุมมองความรู้อีกแบบหนึ่ง ขอบคุณมากๆครับ
อิอิ ตามมาดูว่าวลุงกีค่ะ ว่าวสีสวยค่ะ
เหลียงครับ หากพี่ไม่เข้าไปสอบถามก็จะไม่รู้รายละเอียดดังกล่าว และลุงเป็นคนคุยง่ายเลยเพลินไปเลยครับ
สวัสดีครับ Kanwan ว่าวสีสวยจนเด็กๆอดใจไว้ไม่ได้ครับ ต้องร้องขอให้พ่อแม่แวะเข้ามาซื้อไปเล่น