AAR เฮหก…4 เชียงแสนกับบ่นปนสำนึก

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 12, 2008 เวลา 11:03 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3946

ผมเคยมาดูเมืองเก่าเชียงแสนครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มาเองโดยไม่มีผู้บรรยาย แต่ก็ชื่นชมว่าเมืองเชียงแสนนั้นน่าสนใจความรุ่งเรืองในอดีต เมื่อได้มาฟังอาจารย์มิติเล่ายิ่งซาบซึ้ง หากฟังเวอร์ชั่นของลุงเอกก็จะยิ่งเห็นคุณค่ามากขึ้นเป็นทวีคูณ

เท่าที่ผมได้ยินเชียงแสนมานั้นก็มาฮือฮาตอนที่ทางราชการ และท้องถิ่นบางส่วนต้องการทำท่าเรือ ธุรกิจแม่น้ำโขงที่นี่ ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ท่านออกมาคัดค้านอย่างหนักแต่ก็ไม่เป็นผล มาวันนี้เราสัมผัสท่าเรือที่เชียงแสนแล้ว

มุมมองผมนั้นสนับสนุนท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ เพราะว่าตัวเมืองเชียงแสนโบราณนั้นมิควรที่จะเอาใดๆไปแตะต้องกล้ำกลายแม่แต่เสาไฟฟ้าสักต้นก็ไม่ควรด้วยซ้ำไป ปักขอบเขตบริเวณให้เป็นเมืองเก่าล้วนๆ ตัวเมืองใหม่อยู่นอกบริเวณนี้ …..แต่เปล่าเลยสิ่งก่อสร้างต่างๆรุกล้ำเข้าไปจนดูไม่ได้เลย หากเราจะตำหนิรัฐ ก็ไม่ผิด แต่ก็มีข้ออ้างมากมาย เช่นไม่มีคน ไม่มีงบประมาณ.. แต่ต้องตำหนิท้องถิ่นที่ไม่ได้ช่วยกันอนุรักษ์วัตถุโบราณแห่งนี้ (และแห่งไหนๆทั่วประเทศไทย) ดูเหมือนว่านอกจากจะไม่มีมุมทางอนุรักษ์พื้นที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังทำลายอีกด้วย

ผมไม่ได้ตำหนิคนเชียงแสน แต่ผมตำหนิคนไทย พวกเราทั้งหมดนี่แหละที่มักง่ายเกินไป ผมเห็นชาวบ้านหลายแห่งตื่นขึ้นมาช่วยกันสร้างป่าชุมชนด้วยกันเอง โดยไม่มีราชการเข้ามาช่วยจนเป็นที่ประจักษ์ก็หลายแห่ง อาจเป็นเพราะป่าชุมชนนั้นๆมีประโยชน์โดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชน แต่วัตถุโบราณที่เป็นเมืองอย่างเชียงแสนนั้นก็อยู่ในลักษณะทำนองเดียวกัน แต่อยู่ในรูปแบบใหม่ เพราะสถานที่โบราณที่มีความสำคัญเช่นนี้ คือแหล่งเรียนรู้ อดีตของบรรพบุรุษชาติไทย ที่ลูกหลานสมควนเข้ามาสัมผัสและเข้าใจความเป็นมา ฯลฯ… และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

ผมมองเลยไปถึงการทำลายวัฒนธรรมตัวเองด้วยวัฒนธรรมใหม่ วิ่งไปข้างหน้าโดยทำลายของเก่า หรือไม่แยแสต่อคุณค่าเดิมที่สร้างให้เป็นเราในวันนี้

เพื่อนแซ่เฮทุกคนในวันนี้ เดี๋ยวนี้ ตัวตนเป็นๆที่เห็นได้ จับต้องได้วันนี้ มีที่มาที่ไปมามากว่าตั้งแต่ยี่สิบปีไปจนถึง 50-60 ปี มีวันนี้ได้ไม่ใช่โผล่จากดินจากน้ำมาในเมื่อวานนี้ แต่ แต่ละท่านผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ สุข ต่อสู้ ล้มเหลว ชัยชนะ และสารพัดเรื่องราวที่เป็นเบ้าหลอมสร้างให้เรามาเป็นคนแซ่เฮวันนี้ เรานึกย้อนไปแล้วก็บอกว่า ทุกจังหวะก้าวคือคุณค่ามหาศาลที่จ่ายราคามาด้วยชีวิต …นี่คือภูมิหลัง เบื้องหลัง..และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์บุคคล ไม่เชื่อลองอ่านดูใน ไผเป็นไผซิ ทึ่งซะไม่เมี๊ยะ


ก้อนอิฐก้อนดิน ลวดลายที่หลงเหลือบนซากปรักหักพังของเมืองเชียงแสนก็เช่นกัน ที่เห็นนั้นเป็นรูปธรรมที่เก็บงำนามธรรม คือพัฒนาการของเมืองทางประวัติศาสตร์ซึ่งก็คือเบ้าหลอมชีวิตของความเป็นคนไทย ชาติไทย เผ่าไทย ราษฎรไทย…ฯลฯ มาจนทุกวันนี้ เราจะสลัดก้อนอิฐแห่งความหลังลงไปโดยไม่สำนึกเลย แล้วมองไปแต่ข้างหน้าเช่นนั้นหรือ… เพื่อนไทย..ช่วยกันไตร่ตรองและมาอนุรักษ์ให้อดีตเรามีคุณค่ากันเถิด.. (ต๊ายย…บ่นซะยาวเลย)


AAR เฮหก..3 อ.ถวัลย์ ดัชนี ที่ผมรู้จัก

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 11, 2008 เวลา 20:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 12476

ผมมิบังอาจเขียนถึงท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เพราะผมเป็นแค่เศษเสี้ยวของท่าน แต่ขออนุญาตบันทึกถึงท่านในฐานะที่ผมเป็นศิษย์ จะเรียกว่าศิษย์เขียนถึงอาจารย์ ก็พอจะรับฟังนะครับ

ผมเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในสายวิทย์ บรรยากาศมหาวิทยาลัยนั้นทำให้ผมเตลิดเปิดเปิงในความเป็นอิสระสูงสุด เนื้อแท้ในความเป็นตัวเองก็ทยอยเบ่งบานออกมา ซึ่งก็ไม่มีอะไรเด่นนอกจากการปรับตัวต่อสังคมใหญ่เท่านั้น และเรื่องราวต่างๆที่ใหม่สำหรับผม เพราะเป็นระบบ Interdisciplinary ผมจึงเรียนวิชาต่างๆอย่างกว้างขวาง ทั้งสายวิทย์ สายศิลป์ ทั้งปรัชญาและศิลปะที่สูงส่งที่ผมเข้าไม่ถึง แต่ทึ่ง…..


หนุ่มใหญ่ท่านนั้นแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ คือ ตัวใหญ่ ผมยาว ม้วนเป็นก้อนเหน็บไว้ด้านหลังศีรษะ ใส่เสื้อสีพื้นจัด เช่น ม่วง ดำ และใช้วิธีเดินไปไหนมาไหนในมหาวิทยาลัยทั้งๆที่มีรถรามากมายท่านก็เลือกที่จะเดิน สิ่งที่สดุดตามากๆคือ แฟนสาว(เดาเอานะครับ) ของท่านนั้นเปรี้ยวปรี๊ด….ก็สวยซะไม่เมี๊ยะ ผมยาว เอาเชือกสีสวยๆมาคาดรอบศีรษะ…นุ่งสั้นจุ้นจู๊จริงๆ เวลาเธอก้มดูดน้ำจากเครื่องน้ำดึ่มซึ่งต้องก้มลงนั้น นักศึกษาชายหละตาค้างไปหมด…ก็จะไปเหลืออะไรเล่า…อิอิ

พวกเราแห่ไปเรียนวิชา Art Appreciation ท่านสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ ความหมายของศิลป์ต่างๆ ยุคต่างๆ การซาบซึ้งกับความหมายของศิลป์….สอนอย่างไรก็ไม่เข้าหัวผม แต่ทึ่งตัวอาจารย์ ตัวอักษรที่อาจารย์เขียน และน้ำเสียงที่อาจารย์พูดออกมา มันจริงจัง เด็ดขาด เฉียบ ประเภทเปรี้ยงเดียวจบ….

หลายครั้งท่านอาจารย์เปิดอภิปรายเดี่ยว และก็แปลกที่ใครต่อใครจะพูดก็ใช้ห้องประชุมใหญ่ แต่อาจารย์ใช้ลานกว้างหน้าคณะสังคมศาสตร์ ต่อหน้าคนเดินไปมา รถราผ่านไปมา ใครอยากฟังก็หยุดลงมายืนบ้างนั่งบ้าง ผมว่าส่วนหนึ่งที่หยุดฟังเพราะ ผู้พูดนั้นแต่งตัวต่างจากคนอื่นๆ

ท่านใช้เวทีตรงนี้พูด(เดี่ยวไมโครโฟน) ผมจำได้แม่นว่า ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์พูดเรื่อง Pop Art ท่านพยายามอธิบายศิลป์เชิงสัญลักษณ์ และอธิบายหลักทางพุทธศาสนามากมาย ทั้งโลกิยธรรม โลกุตระธรรม ….ฯลฯ…. เราไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ทึ่ง….

นอกจากนั้นเนื่องจากผมและเพื่อนๆเป็นกลุ่มนักศึกษาสนใจการทำกิจกรรมสังคม ซึ่งก็มีท่านอาจารย์หลายท่านให้การสนับสนุน หนึ่งในนั้นคือท่านอาจารย์ องุ่น มาลิคท่านสอนจิตวิทยาและเป็นอาจารย์สตรีท่านเดียวที่นุ่งผ้าถุงไปสอน ท่านมีที่ดินติดรั้วมหาวิทยาลัยและสร้างกระต๊อปเล็กๆให้นักศึกษากลุ่มกิจกรรมมาพักฟรี และท่านยังส่งเสียนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงินค่าเทอมอีก..

อาจารย์องุ่นนั้นสนิทสนมกับนักศึกษากลุ่มกิจกรรมมาก พานักศึกษาไปทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะมากมายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ที่ครั้งหนึ่งเราไปทำความสะอาดที่วัดฝายหิน ใครเป็นลูกช้างย่อมรู้ดีว่าวัดนี้เสมือนเป็นวัดประจำมหาวิทยาลัย อาจารย์องุ่นเชิญอาจารย์ถวัลย์ ดัชนีเอาผลงานศิลปะของท่านไปแสดงที่นั่น บริเวณนั้นเป็นลานหินกว้างที่มีก้อนหินใหญ่น้อยมากมาย อาจารย์ถวัลย์เอาแผ่นงานศิลปะของท่านไปวางไว้ตามโขดหินจำนวนมาก แล้วก็เดินอธิบายที่ใครต่อใครไปชม

งานศิลปะของท่านอาจารย์ช่วงนั้นเป็นรูปสัตว์ประหลาดต่างๆที่แสดงกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ความเป็นอลังการ มหึมา ยิ่งใหญ่ อยู่ในท่าทางต่างๆ ฝีลายศิลป์ของท่านคมมาก ไม่มีการย้อนมาละเลงสีสัน ประเภทตวัดครั้งเดียวใช้ได้เลย ท่านเดินอธิบายส่วนใหญ่ก็จะวกเข้ามาถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์เป็นสาระหลักในการอธิบายงานของท่าน คนปัญญาน้อยอย่างผมไม่เข้าใจ แต่ทึ่ง…

หากท่านไปอ่านประวัติของอาจารย์จะยิ่งทึ่ง เช่น.. ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+   แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้ แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่ นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลง การทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบ ชิงทุนไปศึกษา ต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และใน ระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปิน แห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก , ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger ( ไก เกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยนและศิลปินแห่งชาติ ของไทย ถวัลย์ ดัชนี….


…..งานของท่านต้องใช้ปัญญาด้านในสัมผัส…

ในฐานะศิษย์โนเนมของท่านคนหนึ่ง ผมขอแสดงคารวะแด่ท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

(ท่านที่สนใจประวัติของท่านดูได้ที่ http://www.thaiartstudio.com/profile_thawan.htm)


บางทรายกระจายภาพ จากเฮหก…

12 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 9, 2008 เวลา 22:05 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2639

ที่เฮหกมีภาพมากมายใน collection การที่จะเลือกเอามานั้นก็รักพี่เสียดายน้อง จะเลือกน้องก็คิดถึงพี่ อะไรทำนองนั้น ตัดใจ เอามาสามรูปตามที่ตกลงกัน

ภาพที่ 1 : ชื่อภาพ ความเปลี่ยนแปลง”….

รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 17.14 น., Shutter speed 1/250, Aperture Value 4.3 , Auto focus, Focal length 27.4 mm


ที่มาของภาพ: ที่หมู่บ้านชนเผ่าอาข่า ดอยแม่สะลอง ใกล้สำนักงานพี่แดง ที่ที่พวกเราไปแวะเที่ยวชมตอนใกล้ค่ำ

อธิบาย : หากดูเพียงภาพโดยไม่มีประวัติศาสตร์ มันก็เป็นภาพธรรมดาทั่วไปที่เราเห็นกันบ่อยๆ แต่จริงๆแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านอาข่าแห่งนี้ เดิมนับถือผีมานับร้อยๆปี แต่มาเปลี่ยนแปลงเป็นการนับถือพระเจ้า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสุดทางจิตวิญญาณ เหมือนหลายๆชนเผ่าตามชายแดนไทยพม่า เครื่องหมายที่ชูขึ้นเหนืออาคารหลังนี้ คือการประกาศให้รู้ว่า ที่นี่คือชนชาวคริสต์ ที่ไม่ได้นับถือผีเหมือนบรรพบุรุษอีกต่อไปแล้ว แม้จิตวิญญาณจะมอบให้แก่พระผู้เป็นเจ้า แต่ประเพณีที่ดีงามหลากหลายเรายังปฏิบัติเหมือนเดิม..เพื่อความสงบสุขแห่งชุมชน..ทั้งภายนอกและภายในกายหยาบของพวกเรา …อาข่า…

ภาพที่ 2 : ชื่อภาพ ถึกทัก”….

รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 16.45 น., Shutter speed 1/550, Aperture Value 3.6 , Auto focus, Focal length 4.7 mm


ที่มาของภาพ: ที่อาศรมท่านศิลปินหญ่าย ครูถวัลย์ ดัชนี..

อธิบาย : “ถึก หมายถึงควาย ทัก หมายถึง การบอกกล่าว หมายรวมได้ว่า เขาควาย ที่เป็นซากคงเหลือของตัวควายที่สิ้นไปแล้วนั้น ได้บอกกล่าวอะไรหลายอย่างแก่เราผู้เป็นสัตว์ประเสริฐกว่า ชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเมืองนั้นห่างไกลต่อสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น จนไม่มีความผูกพันอีกต่อไป แต่ชนบทนั้น ยามสามค่ำเดือนสาม ชาวบ้านจะมีพิธีผูกเขาควาย ทำขวัญให้เจ้าถึก เอาหญ้า เอาน้ำให้กิน ไปขอขมาลาโทษที่ทุบตีเจ้ายามใช้งาน และร้องขอให้เจ้ามีลูกหลานออกมาเยอะๆจะได้ใช้แรงงานต่อไป คนกับควายในอดีตคือความผูกพันสนิทสนม พึ่งพาแก่กันและกัน คนตายไปมีแต่นามธรรมที่คงอยู่ คือชั่วดี แต่ควายตายไปแล้วยังมีเขาคงเหลือให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ต่างๆ แม้งานศิลปะเช่นนี้…

ภาพที่ 3 : ชื่อภาพ นาคา”….

รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 9.07 น., Exposure time 1/900, Aperture Value 6 , Auto focus, Focal length 11.9 mm

ที่มาของภาพ: ที่โบสถ์วัดผาเงา…

อธิบาย : ยามสายวันนั้นทุกคนกำลังทานอาหารเช้า ผมขึ้นไปชมโบสถ์ที่กล่าวกันว่าสวยงามมากมายนั้น ช่วงนั้นตำแหน่งพระอาทิตย์อยู่ในระดับพอดีกับการถ่ายรูป ซิลลูเอท แบบนี้ ผมจึงไม่ยั้งรออีกต่อไป

นาคาคือนาค สัญลักษณ์ที่สำคัญของศาสนาพุทธและวัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนตลอดลำน้ำโขง นอกจากจะเป็นการอัญเชิญนาคามาประดิษฐานบนหลังคาโบสถ์ที่สวยงามเช่นนี้แล้ว ยังเป็นการเตือนสติ หรือเป็นคติทางความเชื่อ และเรื่องราวที่เล่าขานกันมายาวนานในทางศาสนา คนโบราณแค่เห็นนาคบนหลังคาอาคารก็ก้มลงกราบ แสดงคารวะต่อสถานที่แห่งนั้นอย่างที่สุดแล้ว และนั่นจะหมายถึงการเตือนสติให้ควบคุมการครองชีวิตอยู่บนครรลองแห่งธรรม…. นาคา…คือสัญลักษณ์ที่บอกกล่าว..


AAR เฮหก…ความงามของจันทรา

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 8, 2008 เวลา 22:09 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1901

พวกเราเดินทางไปบ้านชนเผ่าอาข่า บริเวณทางออกจากสำนักงานของ พี่แดง” (สว.เตือนใจ ดีเทศน์)เพราะพี่แดงต้องการให้เราเห็นด้านในของชนเผ่านี้ที่พี่แดงทำงานมามากกว่า 20 ปี ที่นั่น นอกจากผมจะเห็นหมู่บ้าน ชนเผ่า วิถีชีวิตในเวลาสั้นๆแล้วผมยังเห็นจันทราที่สวยงามมากๆ…

ความจริงหมู่บ้านแห่งนี้ผมและคนข้างกายเคยมาใช้เวลาศึกษาเสี้ยวส่วนของวัฒนธรรมของอาข่า เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ตอนนั้นพี่แดงแนะนำว่า อาข่ากำลังเกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ใหญ่มากๆครั้งหนึ่งคือ ผู้นำจิตวิญญาณของอาข่าหมู่บ้านนี้ได้เปลี่ยนจากการนับถือผีไปนับถือพระเจ้า ?? จึงต้องทำพิธี อะบอจีมา” (การเรียกพิธีกรรมนี้ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยครับ) โดยต้องแต่งตั้งผู้นำจิตวิญญาณขึ้นใหม่แล้วทำพิธีสร้างบ้านใหม่ให้เสร็จภายในวันเดียว ทุกคนในหมู่บ้านเว้นการทำงานมาช่วยกัน มีการฆ่าหมูตัวใหญ่ แล้วแบ่ง พูด (ชิ้นเนื้อหมู)กัน ฉลองกัน กินเหล้ากัน ครั้งนั้นมีคณะจากวิทยาลัยครูเชียงราย(สมัยนั้น) มาถ่ายทำพิธีกรรมนี้ตลอด….

พี่แดงพาพวกเราเดินไปหยุดที่บ้านหลังหนึ่ง หลายคนขึ้นไปดูกิจกรรมชนเผ่าที่กำลังทำอยู่บนบ้าน พูดคุยกันนานพอสมควร ผมไม่ได้ขึ้นไปด้วย คอยสังเกตการณ์อยู่ข้างล่าง หลายคนทยอยกลับเพราะค่ำแล้วต้องเดินทางต่อไปยังที่พัก แต่พี่แดง คนข้างกายผมและอารามยังอยู่ ทั้งนี้เพราะคนข้างกายผมต้องการขอซื้อเมล็ดถั่วจากแม่เฒ่าเจ้าของบ้านหลังนี้ เอาไปทำขนม (เธอชอบทำของกินนี่แหละ ผมจึงมีสภาพเช่นที่เห็น อิอิ.)

กลุ่มใหญ่เดินออกไปจนหมดแล้ว เหลือเราสองสามคนเท่านั้น พี่แดงกลับลงมาจากบ้านและก้าวเดินทางออกจากหมู่บ้านโดยพยายามเชิญแม่เฒ่าออกไปพบกับพวกเราที่เดินกลับไปที่รถก่อนแล้ว แต่แม่เฒ่าไม่ไป ผมสังเกตเห็นแม่เฒ่ามีอาการ อาย เขิน และผมเดาว่าท่านไม่อยากไปแสดงตัวกับใครๆตามนิสัยของชนเผ่า.. ในที่สุดพี่แดงก็เดินออกจากบ้าน โดยผมคอยคนข้างกายใส่รองเท้า..

ขณะนั้นเอง เด็กสาวคนหนึ่งเดินสวนพี่แดงเข้ามาในมือเธอถือห่อใบตองใส่อะไรสักอย่างมาสองสามห่อ พอเด็กสาวคนนั้นเห็นพี่แดงก็ยกมือไหว้ พร้อมกับยิ้มแสดงความดีใจแล้วเรียก ครูแดง …. พี่แดงเรียกเธอ ลูก…

พี่แดง: ลูกมาทำอะไรจ๊ะ..

เด็ก : หนูมาหาแม่เฒ่า หนูจะเอาข้าวมาให้แม่เฒ่า เธอยกห่อใบตองนั้นให้พี่แดงดู

พี่แดง: ไหน..นี่เหรอ ห่อข้าว.. ทำไมเอามาให้แม่เฒ่า..

เด็ก: เป็นข้าวใหม่ค่ะ … แม่ให้เอามาให้ผู้เฒ่าทุกคนในหมู่บ้าน คนละห่อ.. ????

พี่แดง: โอย…ดีจังเลย เอ้า เอาไปให้แม่เฒ่าเลย พี่แดงเรียกให้พวกเราที่เหลืออยู่ขึ้นบ้านไปดูพิธีมอบห่อข้าวให้แม่เฒ่าของเด็กสาวน้อยคนนั้น…

ผมไม่ได้ขึ้นไป แต่ยืนดูข้างล่างจ้องจะดูพิธีมอบและจะถ่ายรูป… ง่ายแสนง่าย แค่ยื่นให้แล้วคงกล่าวอะไรนิดหน่อย แม่เฒ่าก็คงกล่าวอะไรนิดหน่อย แค่นั้นก็เสร็จพิธี…เร็วจนผมหามุมกล้องไม่ทัน…

แล้วเธอก็รีบลงไปพร้อมกับบอกว่า จะรีบเอาไปให้ผู้เฒ่าบ้านอื่นต่อไปอีก ประมาณ 10 บ้าน หรือผู้เฒ่า 10 คนนั่นเอง…

ผมขนลุกซู่…..เมื่อฟังเธอสนทนากับพี่แดง และเห็นการกระทำของเธอเช่นนี้….. จะให้อธิบายอะไรอีกเล่า…… นี่หรือที่เรียกชนเผ่าชาวเขาที่ล้าหลัง แต่รุ่มรวยด้วย…การให้… การคารวะ และการเคารพ เอื้อเฟื้อระหว่างกันและกัน โดยเฉพาะคนเฒ่าผู้สูงวัย ที่เด็กสาวอย่างเธอกระทำต่อ….

เมื่อทุกคนเดินขึ้นมาข้างบนแล้ว ผมยังพบเธอวิ่งไปเอาข้าวห่อใหม่จากบ้านมาอีก สองสามห่อ มามอบให้พี่แดง….ด้วยความคารวะ ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พี่แดงสรวมกอดเธอ แล้วกล่าวขอบอกขอบใจเด็กสาวคนนั้น นอกจากนั้นเด็กสาวยังมอบห่อข้าวที่เหลือให้คนข้างกายผมอีกห่อหนึ่งด้วย…..

พอมีจังหวะสั้นๆ ผมเข้าไปหาเธอพร้อมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเธอเรียนอยู่ชั้น ม 2 พ่อกับแม่เก็บข้าวใหม่เสร็จก็หุงแล้วห่อใบตอง มอบให้เธอเอาไปให้ผู้เฒ่าทุกคนในหมู่บ้านคนละห่อ ทำเช่นนี้ทุกปี คนอื่นก็ทำเช่นนี้..

นี่คือ วัฒนธรรมที่สวยงามจริงๆ เป็นสายใยร้อยรัดของชนเผ่า…

นี่คือ กิจกรรมระหว่างวัยที่เชื่อมต่อกัน

นี่คือ การปฏิบัติในวิถีชีวิตที่ทำจริงๆ เมื่อทำซ้ำๆด้วยตัวเอง และเห็นเพื่อนบ้านทำก็ซึมซับเข้าไปด้านใน กลายเป็นสำนึกของเด็กวันนี้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทดแทนรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า เทียบไม่ได้เลยกับการเรียน การท่องบ่น การสอบถามเพื่อให้คะแนนในชั้นเรียน ในระบบโรงเรียน แต่ไม่มีการปฏิบัติจริงจนกลายเป็นเนื้อใน

เมื่อวัฒนธรรมสังคมปฏิบัติกันเช่นนี้ ผู้ใหญ่ก็มีเมตตาต่อเด็ก มอบความรัก ความเอ็นดูให้ เด็กผู้ปฏิบัติก็อิ่มเอิบต่อการกระทำนั้นๆ ยึดถือการกระทำนี้ต่อๆไป เด็กคนอื่นๆเห็นก็รับไม้ต่อ…ฯลฯ….. แล้วสังคมแบบนี้ไม่จำเป็นต้องแบ่งสีแบ่งสัน ไม่จำเป็นต้องหยิบคำว่าสมานฉันท์มาศึกษากันยกใหญ่

การปฏิบัติที่เรียบและง่ายแสนง่าย ราคาถูก ไม่ซับซ้อน ไม่จำกัดเพศวัย ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี่สูงส่งเสียบฟ้าแต่อย่างใด แต่คุณค่าทางสังคมสูงส่งยิ่งนัก คุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แม้ว่าสภาพหมู่บ้านเทียบไม่ได้กับสังคมเมือง แต่สภาพจิตใจสังคมเมืองก็เทียบไม่ได้เลยกับหมู่บ้านที่ไกลปื่นเที่ยงแห่งนี้…

นี่คือ ทุนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่…..  มาศึกษารากเหง้าของการสมานฉันท์ได้ โดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำปริญญาจากที่ใด…

เด็กสาวคนนี้ ชื่อ จันทรา…. เธองามยิ่งกว่าจันทราบนท้องฟ้าเสียอีก

เพราะในห่อใบตองนั้น ไม่เพียงมีข้าวใหม่หอม อุ่นน่ากิน ที่เธอหยิบยื่นให้ผู้เฒ่า

แต่ยัง มีน้ำใจ และสำนึกต่อการให้ อยู่ล้นห่อใบตองนั้นอีกด้วย……..

การให้….. คือการกระทำที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

ขอบคุณผู้จัดเหลือเกินที่ทำให้ผมเห็นมุมนี้…และสามารถนำไปสานต่อได้ด้วย…ครับ..


เฮฯหกกับบางทราย 1

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤศจิกายน 30, 2008 เวลา 8:50 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2906

เพราะเช้าวันเสาร์ต้องไปร่วมงานบุญครบรอบการเสียชีวิตหมอยุทธและแม่ชีป่านที่สกลนคร ผมและครอบครัวจึงเดินทางออกจากขอนแก่นเย็นแก่ๆ และมามืดที่เขาค้อ แล้วควานหาที่พักกัน เข้าไปหา 2 แห่งล้มเหลว…. หิวก็หิว แต่ก็ต้องหาที่พักก่อน

เราคุยกันว่า เออ สถานที่พักใหญ่โต แต่ไม่มีระบบแจ้งแขกที่จะมาหาที่พักว่า มีห้องพักว่างให้เช่าหรือไม่ เหมือนยุโรปที่เราเคยขับรถเที่ยวมา แค่ผ่านป้ายที่พักเขาก็มีสัญลักษณ์บอกว่าเหลือกี่ห้อง หรือเต็มแล้วจะได้ไม่เสียเวลาเข้าไปถาม เจ้าของเองก็ไม่เสียเวลาตอบคำถาม

เราตัดสินใจไปหาข้างหน้าลึกเข้าไปในภูเขาค้อแล้วเราก็พบป้ายบอกว่า ห้องว่าง 1 หลัง เราขับรถเข้าไปหาที่ติดต่อไม่มี นึกได้ว่าที่ป้ายตะกี้มีเบอร์โทรศัพท์บอกไว้เราโทรดู ได้เรื่อง เรามีที่พักเป็นบ้านหลังเบ่อเริ่ม ราคา 1000 บาท พักกัน 3 คน พ่อแม่ลูก ความจริงเขาจัดที่พักได้มากถึง 15 คน…

สองสามีภรรยาเป็นอดีตข้าราชการเก่ามาซื้อที่ดินไว้นานแล้ว ยามแก่เฒ่าก็มาทำบ้านพักให้เช่า…ชื่อที่พักคือ ตุ๋ยกะติ๋มเป็นชื่อเจ้าของแหละครับ ท่านมีบุตรสาว 1 คนกำลังเรียนปีสุดท้ายที่ธรรมศาสตร์รังสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์

เราพอใจเป็นที่สุดที่โชคดีได้บ้านพักทั้งหลัง มีสองห้องนอนและห้องโถงที่ปูที่นอนได้มาก มี 2 ห้องน้ำ มีห้องครัว เครื่องครัวเพียบ ตู้เย็น ทีวี จานดาวเทียม

สภาพยังใหม่เลย ที่ปิดเปิดไฟพลาสติกยังหุ้มอยู่เลย สงบเงียบ กว้างขวาง ดีกว่าพักโรงแรมรีสอร์ทอีกเป็นไหนๆ

คุณติ๋มแสนจะน่ารัก เช้าขึ้นมาเธอเดินเอาขนมพร้อมแผนที่มาให้ และเอาใบเตยจับจีบเป็นดอกกุหลาบมาให้สามดอกให้เอาใส่ห้องน้ำและฝากใส่รถให้ไปด้วย น่ารักจริงๆ เธอช่างคุยจนเพลิน

เพื่อนๆใครผ่านมาทางนี้ก็เชิญมาอุดหนุนนะครับ



Main: 1.1322538852692 sec
Sidebar: 0.4959819316864 sec