AAR เฮหก…ความงามของจันทรา

โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 8, 2008 เวลา 22:09 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1917

พวกเราเดินทางไปบ้านชนเผ่าอาข่า บริเวณทางออกจากสำนักงานของ พี่แดง” (สว.เตือนใจ ดีเทศน์)เพราะพี่แดงต้องการให้เราเห็นด้านในของชนเผ่านี้ที่พี่แดงทำงานมามากกว่า 20 ปี ที่นั่น นอกจากผมจะเห็นหมู่บ้าน ชนเผ่า วิถีชีวิตในเวลาสั้นๆแล้วผมยังเห็นจันทราที่สวยงามมากๆ…

ความจริงหมู่บ้านแห่งนี้ผมและคนข้างกายเคยมาใช้เวลาศึกษาเสี้ยวส่วนของวัฒนธรรมของอาข่า เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ตอนนั้นพี่แดงแนะนำว่า อาข่ากำลังเกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ใหญ่มากๆครั้งหนึ่งคือ ผู้นำจิตวิญญาณของอาข่าหมู่บ้านนี้ได้เปลี่ยนจากการนับถือผีไปนับถือพระเจ้า ?? จึงต้องทำพิธี อะบอจีมา” (การเรียกพิธีกรรมนี้ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยครับ) โดยต้องแต่งตั้งผู้นำจิตวิญญาณขึ้นใหม่แล้วทำพิธีสร้างบ้านใหม่ให้เสร็จภายในวันเดียว ทุกคนในหมู่บ้านเว้นการทำงานมาช่วยกัน มีการฆ่าหมูตัวใหญ่ แล้วแบ่ง พูด (ชิ้นเนื้อหมู)กัน ฉลองกัน กินเหล้ากัน ครั้งนั้นมีคณะจากวิทยาลัยครูเชียงราย(สมัยนั้น) มาถ่ายทำพิธีกรรมนี้ตลอด….

พี่แดงพาพวกเราเดินไปหยุดที่บ้านหลังหนึ่ง หลายคนขึ้นไปดูกิจกรรมชนเผ่าที่กำลังทำอยู่บนบ้าน พูดคุยกันนานพอสมควร ผมไม่ได้ขึ้นไปด้วย คอยสังเกตการณ์อยู่ข้างล่าง หลายคนทยอยกลับเพราะค่ำแล้วต้องเดินทางต่อไปยังที่พัก แต่พี่แดง คนข้างกายผมและอารามยังอยู่ ทั้งนี้เพราะคนข้างกายผมต้องการขอซื้อเมล็ดถั่วจากแม่เฒ่าเจ้าของบ้านหลังนี้ เอาไปทำขนม (เธอชอบทำของกินนี่แหละ ผมจึงมีสภาพเช่นที่เห็น อิอิ.)

กลุ่มใหญ่เดินออกไปจนหมดแล้ว เหลือเราสองสามคนเท่านั้น พี่แดงกลับลงมาจากบ้านและก้าวเดินทางออกจากหมู่บ้านโดยพยายามเชิญแม่เฒ่าออกไปพบกับพวกเราที่เดินกลับไปที่รถก่อนแล้ว แต่แม่เฒ่าไม่ไป ผมสังเกตเห็นแม่เฒ่ามีอาการ อาย เขิน และผมเดาว่าท่านไม่อยากไปแสดงตัวกับใครๆตามนิสัยของชนเผ่า.. ในที่สุดพี่แดงก็เดินออกจากบ้าน โดยผมคอยคนข้างกายใส่รองเท้า..

ขณะนั้นเอง เด็กสาวคนหนึ่งเดินสวนพี่แดงเข้ามาในมือเธอถือห่อใบตองใส่อะไรสักอย่างมาสองสามห่อ พอเด็กสาวคนนั้นเห็นพี่แดงก็ยกมือไหว้ พร้อมกับยิ้มแสดงความดีใจแล้วเรียก ครูแดง …. พี่แดงเรียกเธอ ลูก…

พี่แดง: ลูกมาทำอะไรจ๊ะ..

เด็ก : หนูมาหาแม่เฒ่า หนูจะเอาข้าวมาให้แม่เฒ่า เธอยกห่อใบตองนั้นให้พี่แดงดู

พี่แดง: ไหน..นี่เหรอ ห่อข้าว.. ทำไมเอามาให้แม่เฒ่า..

เด็ก: เป็นข้าวใหม่ค่ะ … แม่ให้เอามาให้ผู้เฒ่าทุกคนในหมู่บ้าน คนละห่อ.. ????

พี่แดง: โอย…ดีจังเลย เอ้า เอาไปให้แม่เฒ่าเลย พี่แดงเรียกให้พวกเราที่เหลืออยู่ขึ้นบ้านไปดูพิธีมอบห่อข้าวให้แม่เฒ่าของเด็กสาวน้อยคนนั้น…

ผมไม่ได้ขึ้นไป แต่ยืนดูข้างล่างจ้องจะดูพิธีมอบและจะถ่ายรูป… ง่ายแสนง่าย แค่ยื่นให้แล้วคงกล่าวอะไรนิดหน่อย แม่เฒ่าก็คงกล่าวอะไรนิดหน่อย แค่นั้นก็เสร็จพิธี…เร็วจนผมหามุมกล้องไม่ทัน…

แล้วเธอก็รีบลงไปพร้อมกับบอกว่า จะรีบเอาไปให้ผู้เฒ่าบ้านอื่นต่อไปอีก ประมาณ 10 บ้าน หรือผู้เฒ่า 10 คนนั่นเอง…

ผมขนลุกซู่…..เมื่อฟังเธอสนทนากับพี่แดง และเห็นการกระทำของเธอเช่นนี้….. จะให้อธิบายอะไรอีกเล่า…… นี่หรือที่เรียกชนเผ่าชาวเขาที่ล้าหลัง แต่รุ่มรวยด้วย…การให้… การคารวะ และการเคารพ เอื้อเฟื้อระหว่างกันและกัน โดยเฉพาะคนเฒ่าผู้สูงวัย ที่เด็กสาวอย่างเธอกระทำต่อ….

เมื่อทุกคนเดินขึ้นมาข้างบนแล้ว ผมยังพบเธอวิ่งไปเอาข้าวห่อใหม่จากบ้านมาอีก สองสามห่อ มามอบให้พี่แดง….ด้วยความคารวะ ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พี่แดงสรวมกอดเธอ แล้วกล่าวขอบอกขอบใจเด็กสาวคนนั้น นอกจากนั้นเด็กสาวยังมอบห่อข้าวที่เหลือให้คนข้างกายผมอีกห่อหนึ่งด้วย…..

พอมีจังหวะสั้นๆ ผมเข้าไปหาเธอพร้อมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเธอเรียนอยู่ชั้น ม 2 พ่อกับแม่เก็บข้าวใหม่เสร็จก็หุงแล้วห่อใบตอง มอบให้เธอเอาไปให้ผู้เฒ่าทุกคนในหมู่บ้านคนละห่อ ทำเช่นนี้ทุกปี คนอื่นก็ทำเช่นนี้..

นี่คือ วัฒนธรรมที่สวยงามจริงๆ เป็นสายใยร้อยรัดของชนเผ่า…

นี่คือ กิจกรรมระหว่างวัยที่เชื่อมต่อกัน

นี่คือ การปฏิบัติในวิถีชีวิตที่ทำจริงๆ เมื่อทำซ้ำๆด้วยตัวเอง และเห็นเพื่อนบ้านทำก็ซึมซับเข้าไปด้านใน กลายเป็นสำนึกของเด็กวันนี้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทดแทนรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า เทียบไม่ได้เลยกับการเรียน การท่องบ่น การสอบถามเพื่อให้คะแนนในชั้นเรียน ในระบบโรงเรียน แต่ไม่มีการปฏิบัติจริงจนกลายเป็นเนื้อใน

เมื่อวัฒนธรรมสังคมปฏิบัติกันเช่นนี้ ผู้ใหญ่ก็มีเมตตาต่อเด็ก มอบความรัก ความเอ็นดูให้ เด็กผู้ปฏิบัติก็อิ่มเอิบต่อการกระทำนั้นๆ ยึดถือการกระทำนี้ต่อๆไป เด็กคนอื่นๆเห็นก็รับไม้ต่อ…ฯลฯ….. แล้วสังคมแบบนี้ไม่จำเป็นต้องแบ่งสีแบ่งสัน ไม่จำเป็นต้องหยิบคำว่าสมานฉันท์มาศึกษากันยกใหญ่

การปฏิบัติที่เรียบและง่ายแสนง่าย ราคาถูก ไม่ซับซ้อน ไม่จำกัดเพศวัย ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี่สูงส่งเสียบฟ้าแต่อย่างใด แต่คุณค่าทางสังคมสูงส่งยิ่งนัก คุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แม้ว่าสภาพหมู่บ้านเทียบไม่ได้กับสังคมเมือง แต่สภาพจิตใจสังคมเมืองก็เทียบไม่ได้เลยกับหมู่บ้านที่ไกลปื่นเที่ยงแห่งนี้…

นี่คือ ทุนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่…..  มาศึกษารากเหง้าของการสมานฉันท์ได้ โดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำปริญญาจากที่ใด…

เด็กสาวคนนี้ ชื่อ จันทรา…. เธองามยิ่งกว่าจันทราบนท้องฟ้าเสียอีก

เพราะในห่อใบตองนั้น ไม่เพียงมีข้าวใหม่หอม อุ่นน่ากิน ที่เธอหยิบยื่นให้ผู้เฒ่า

แต่ยัง มีน้ำใจ และสำนึกต่อการให้ อยู่ล้นห่อใบตองนั้นอีกด้วย……..

การให้….. คือการกระทำที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

ขอบคุณผู้จัดเหลือเกินที่ทำให้ผมเห็นมุมนี้…และสามารถนำไปสานต่อได้ด้วย…ครับ..

« « Prev : ปาย..จะเป็นไป..

Next : บางทรายกระจายภาพ จากเฮหก… » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 rani ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 ธันวาคม 2008 เวลา 22:46

    น่าชื่นชมจริงๆ ค่ะ เห็นภาพ และอ่าน ก็ประทับใจจริงๆ โชคดีจริงๆ ค่ะที่ได้ไป ราณีก็ตามมาเก็บตกด้วยคน อิอิ

  • #2 น้องจิ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 ธันวาคม 2008 เวลา 6:21

    สู๊ดดดดดดดดดดดด ยอดดดดดดดดดดดดดด คิดดดดดดดดดดด ถึงงงงงงงงงง กอดดดดดดดดดดดดดด อิอิ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 ธันวาคม 2008 เวลา 7:39

    น้องราณีครับ แม้เราไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ เพียงเห็นการกระทำที่งดงามเช่นนี้ พี่ก็ขนลุกซู่เลย นี่ไง คุณค่าการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ นี่คือสาระที่ชนเผ่าเขาปฏิบัติต่อกัน ที่ถูกปลูกฝังอยู่ใีนวิถี แต่สังคมของเราเอามาเรียนกันในห้องเรียน เอามาถกกันยกใหญ่ สร้างวาทกรรมกันให้ฮือฮา แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเป็นวิถี

    นักการศึกษาในระบบต้องคิดมากๆ นักปกครองต้องคิดมากๆ นักพัฒนาสังคมอย่างพี่ต้องคิดมากๆ คนไทยสังคมเมืองต้องคิดมากๆ …. ย้อนมองไปดูสังคมเดิมเรามีของดีอยู่มากมาย จะเห็นหรือไม่เท่านั้นเอง…ครับน้องราณี

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 ธันวาคม 2008 เวลา 7:43

    น้องจิ…. การมาเที่ยวเช่นนี้ น้องจิสนุกสานมาก เบิกบานใจ เห็นเธอกับแฝดคนละฝาแล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้ น่ารักดี… กลับมาเข้าชีวิตการเรียนแล้ว ตั้งใจนะครับ

  • #5 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 ธันวาคม 2008 เวลา 17:09

    เสียดายนะพี่นะ ที่เรามีเวลาน้อยไปกับรายการเยี่ยมยามที่นี่ พี่แดงใจดีมากที่ทำให้เราเข้าไปถึงถิ่นฐานแห่งนี้ น้องมองเห็นทุกข์ของความเป็นห่วงของผู้สร้างอย่างพี่แดงอยู่หลายมุม…เป็นอะไรที่เตือนใจเราได้ด้วยค่ะ…เมื่อเราทำหน้าที่ผู้สร้างอย่างพี่แดง…สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้และเก็บตกมาคือความล้มเหลวคือสิ่งที่ผู้สร้างที่ใช้กลยุทธแบบหนึ่งทำงานมีความกลัว…ในขณะที่ผู้สร้างอีกที่หนึ่ง ณ วงน้ำชา กลับไม่กลัว…เขากลับกล่าวว่า…ความล้มเหลวคือการเริ่มต้น….สิ่งที่เห็นมาในมุมนี่ มันทำให้มีคำว่า “เอ๊ะ” เกิดขึ้นในใจ ที่น้องขอนำมาแลกเปลี่ยนกับพี่ค่ะ

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 ธันวาคม 2008 เวลา 18:55

    นี่คือประเด็น ในการจัดเฮฮาศาสตร์ ทุกครั้ง ว่า เวลาที่ใช้ในการคุยกันน้อยไป เพราะแต่ละแห่งที่ไหนั้นมีสถานที่ที่น่าเที่ยวมากมาย เราเข้าใจเจ้าของสถานที่ที่เราไปเยี่ยมว่าต้องการให้เข้าถึงสถานที่นั้นๆ แต่เนื่องจากช่วงเวลาเฮฮาศาสตร์น้อยไปเลยโปรแกรมจบลงที่ได้อิ่มกับการศึกษาดูงาน… แต่ยังไม่อิ่มกับการพูดคุยกัน… แต่เราก้เข้าใจ เข้าใจ…

    กรณีพี่แดงนั้นหากเรามีเวลามากกว่านี้เราจะเห็นพัฒนาการการทำงานของพี่แดงครับ
    พี่แดงเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่ออะไรน๊า….คลับคล้ายว่าเรื่อง “สายน้ำแม่จัน….” พี่แดงเล่าถึงประสบการณ์ทำงานที่นั่นตลอดเป็นสิบปี ซึ่งเป็นชาวเขา พี่แดงทำในนามบัญฑิตอาสา และใกล้ๆนั้น คนข้างกายพี่ก็เป็นบัญฑิตอาสา และพี่แดงเป็นพี่เลี้ยงให้ เราจึงสนิทสนมกันมานานแล้ว

    มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายต่อประสบการณ์การทำงานของพี่แดง พี่เห็นด้วยว่าความล้มเหลว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว และไม่ใช้มุมมองว่ามิใช่ความล้มเหลวด้วย เพราะการทำไม่สำเร็จเป็นเพียงประสบการณ์ที่บอกว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ และกระตุ้นให้เราคิดหาหนทางอื่นต่อไป คงมีสักวิธีที่ได้ัผลดีกว่า….เหมือนที่เอดิสันกล่าวเรื่องการค้นพบใส้หลอดไฟฟ้าที่เป็นทังสเตน เขาใช้ตะกั่ว ทองเหลืองมาก่อน และไม่ได้ผลจนครั้งที่เป็นร้อยๆที่เอาโลหะชนิดต่างๆมาลองทำ แต่เมื่อเขาพบทังสเตนก็พบว่านี่ใช่เลย นี่คือสิ่งที่เขาต้องการค้นหาและพบแล้ว เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นร้อยๆครั้งนั้นไม่ใช่ความล้มเหลว ตรงข้ามเป็นการเรียนรู้ว่าโลหะชนิดอื่นนั้นทำใส้หลอดไฟฟ้าไม่ได้….หากไม่ลองก็ไม่รู้…

    นี่เองความล้วเหลวคือการเริ่มต้นใหม่ กับสิ่งใหม่ วิธีใหม่ แนวทางใหม่ กระบวนการใหม่ คิดใหม่…..

    ในชีวิตประจำวันเรามีเรื่องเหล่านี้มากมายครับ…

    แม้ปัจจุบันพี่ยังพบว่ากระบวนวิธีที่ทำงานกับชาวบ้านนั้น พี่เคยประสบผลสำเร็จมาแล้ว แต่เมื่อมาใช้กับชาวโซ่ ดงหลวง พบว่าใช้ไม่ได้ หลายคนบอกว่าล้มเหลว แต่พี่บอกว่า เปล่าหรอก เพียงเรายังค้นหากระบวนการที่เหมาะสมกับพี่น้องโซ่ไม่พบนั่นเอง ก็ต้องเริ่มใหม่ แต่ไม่ซ้ำเดิมแน่นอน…..

    หากมองว่านั่นคือความล้มเหลว ทุกอย่างก็จะปิดหมด แล้วไปหาหมู่บ้านใหม่ โดยใช้วิธีการเดิมๆ แต่พี่คิดว่าไม่ใช่ เราไม่ซ้ำเดิม แต่ค้นหากระบวนวิธีใหม่ต่อไป ปัญหาก็คือ การทำงานแบบโครงการนั้นต้องแข่งกับระยะเวลาของโครงการเท่านั้นเองที่มีอย่างจำกัดแน่นอน แต่การค้นหากระบวนการที่เหมาะสมอาจใช้เวลามากกว่านั้น อย่างไรก็ตามการสรุปบทเรียนไว้เป็นเอกสาร ก็ช่วยให้คนที่มาทีหลังอาจจะไม่ซ้ำรอยเดิมได้

    ใช้แล้วครับ สนับสนุนว่า ความล้มเหลวคือการเริ่มใหม่

    มันเป็นเช่นนี้แล…..น้องหมอตาครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.79099607467651 sec
Sidebar: 0.22554087638855 sec