บางทรายกระจายภาพ จากเฮหก…
ที่เฮหกมีภาพมากมายใน collection การที่จะเลือกเอามานั้นก็รักพี่เสียดายน้อง จะเลือกน้องก็คิดถึงพี่ อะไรทำนองนั้น ตัดใจ เอามาสามรูปตามที่ตกลงกัน
ภาพที่ 1 : ชื่อภาพ “ความเปลี่ยนแปลง”….
รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 17.14 น., Shutter speed 1/250, Aperture Value 4.3 , Auto focus, Focal length 27.4 mm
ที่มาของภาพ: ที่หมู่บ้านชนเผ่าอาข่า ดอยแม่สะลอง ใกล้สำนักงานพี่แดง ที่ที่พวกเราไปแวะเที่ยวชมตอนใกล้ค่ำ
อธิบาย : หากดูเพียงภาพโดยไม่มีประวัติศาสตร์ มันก็เป็นภาพธรรมดาทั่วไปที่เราเห็นกันบ่อยๆ แต่จริงๆแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านอาข่าแห่งนี้ เดิมนับถือผีมานับร้อยๆปี แต่มาเปลี่ยนแปลงเป็นการนับถือพระเจ้า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสุดทางจิตวิญญาณ เหมือนหลายๆชนเผ่าตามชายแดนไทยพม่า เครื่องหมายที่ชูขึ้นเหนืออาคารหลังนี้ คือการประกาศให้รู้ว่า ที่นี่คือชนชาวคริสต์ ที่ไม่ได้นับถือผีเหมือนบรรพบุรุษอีกต่อไปแล้ว แม้จิตวิญญาณจะมอบให้แก่พระผู้เป็นเจ้า แต่ประเพณีที่ดีงามหลากหลายเรายังปฏิบัติเหมือนเดิม..เพื่อความสงบสุขแห่งชุมชน..ทั้งภายนอกและภายในกายหยาบของพวกเรา …อาข่า…
ภาพที่ 2 : ชื่อภาพ “ถึกทัก”….
รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 16.45 น., Shutter speed 1/550, Aperture Value 3.6 , Auto focus, Focal length 4.7 mm
ที่มาของภาพ: ที่อาศรมท่านศิลปินหญ่าย ครูถวัลย์ ดัชนี..
อธิบาย : “ถึก” หมายถึงควาย “ทัก” หมายถึง การบอกกล่าว หมายรวมได้ว่า เขาควาย ที่เป็นซากคงเหลือของตัวควายที่สิ้นไปแล้วนั้น ได้บอกกล่าวอะไรหลายอย่างแก่เราผู้เป็นสัตว์ประเสริฐกว่า ชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเมืองนั้นห่างไกลต่อสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น จนไม่มีความผูกพันอีกต่อไป แต่ชนบทนั้น ยามสามค่ำเดือนสาม ชาวบ้านจะมีพิธีผูกเขาควาย ทำขวัญให้เจ้าถึก เอาหญ้า เอาน้ำให้กิน ไปขอขมาลาโทษที่ทุบตีเจ้ายามใช้งาน และร้องขอให้เจ้ามีลูกหลานออกมาเยอะๆจะได้ใช้แรงงานต่อไป คนกับควายในอดีตคือความผูกพันสนิทสนม พึ่งพาแก่กันและกัน คนตายไปมีแต่นามธรรมที่คงอยู่ คือชั่วดี แต่ควายตายไปแล้วยังมีเขาคงเหลือให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ต่างๆ แม้งานศิลปะเช่นนี้…
ภาพที่ 3 : ชื่อภาพ “นาคา”….
รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 9.07 น., Exposure time 1/900, Aperture Value 6 , Auto focus, Focal length 11.9 mm
ที่มาของภาพ: ที่โบสถ์วัดผาเงา…
อธิบาย : ยามสายวันนั้นทุกคนกำลังทานอาหารเช้า ผมขึ้นไปชมโบสถ์ที่กล่าวกันว่าสวยงามมากมายนั้น ช่วงนั้นตำแหน่งพระอาทิตย์อยู่ในระดับพอดีกับการถ่ายรูป ซิลลูเอท แบบนี้ ผมจึงไม่ยั้งรออีกต่อไป
นาคาคือนาค สัญลักษณ์ที่สำคัญของศาสนาพุทธและวัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนตลอดลำน้ำโขง นอกจากจะเป็นการอัญเชิญนาคามาประดิษฐานบนหลังคาโบสถ์ที่สวยงามเช่นนี้แล้ว ยังเป็นการเตือนสติ หรือเป็นคติทางความเชื่อ และเรื่องราวที่เล่าขานกันมายาวนานในทางศาสนา คนโบราณแค่เห็นนาคบนหลังคาอาคารก็ก้มลงกราบ แสดงคารวะต่อสถานที่แห่งนั้นอย่างที่สุดแล้ว และนั่นจะหมายถึงการเตือนสติให้ควบคุมการครองชีวิตอยู่บนครรลองแห่งธรรม…. นาคา…คือสัญลักษณ์ที่บอกกล่าว..
« « Prev : AAR เฮหก…ความงามของจันทรา
Next : AAR เฮหก..3 อ.ถวัลย์ ดัชนี ที่ผมรู้จัก » »
12 ความคิดเห็น
[...] http://lanpanya.com/bangsai/archives/161 [...]
สวยงามมากครับพี่บางทราย
Silhouette ภาพแรกสวยงามมากครับ
ภาพที่สามก็สวยงาม
อื้อหือ..มืออาชีพจริงๆค่ะท่านพี่
ชอบคำอธิบายภาพมากเลยโดยเฉพาะภาพที่หนึ่ง เพราะเบิร์ดก็ยืนดูด้วยความคิดเดียวกับพี่บางทรายเปี๊ยบเลยค่ะ และคิดต่อว่าเหตุใดจึงเป็นคริสต์..ไม่ได้หมายความว่าคริสต์ไม่ดีนะคะ แต่นึกถึงการเข้าถึงน่ะค่ะ
ขอบคุณสำหรับมุมมองที่ลึกซึ้งของพี่ชายคนดีคนนี้ที่ทำให้เฮหกมีความหมายมากมายเชียวค่ะ
สายตาของพี่บางทราย ให้อารมณ์ความรู้สึก ที่งดงามเสมอ
ขอบคุณทุกท่านครับ
ให้ความรู้สึกมากครับ สวยครับ
ขอบคุณครับอาเหลียง
อิอิ
ว่าไง หลานจิ
แค่มา อิอิ เท่านั้นหรือ
ไปเข้าห้องเรียน และฝึกปรือ
ให้ระบือ ลือลั่นสนั่นเมือง
แล้วมาอิอิ ก็ไม่ว่า
หรือจะมา อุอุ ก็ไม่หวั่น
เพราะหลานเชื่อมั่นได้ทุกวัน
ว่าการเรียนแม่นมั่นเกียรตินิยม
แต่อย่าหายหน้าไปนานนาน
เพราะคิดถึงหลาน ของป้าจุ๋ม
ของลุงเอก พ่อครูบา พากันรุม
แต่ละคนกลุ่มกลุ้ม หลานไฮเปอร์
….
ชอบรูปที่ 3 มากที่สุดค่ะ
ขอบคุณครับพี่ Sasinand