20 บาท

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2010 เวลา 20:27 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2526


การทำธุรกิจปะเภท Convenient store นั้นพัฒนาเชิงรุกไปมาก 711 ทำธุรกิจฟันกำไรถล่มทลายทั่วประเทศ ถูกใจคนไทยที่เปิดตลอดวันตลอดคืน หลายประเทศเขาปิดในเวลากลางคืน แต่พี่ไทยเปิดตลอด

ซอยหนึ่งใกล้ๆบ้านที่ขอนแก่น ชาวบ้านเอาสินค้าพื้นบ้านมาขายไม่กี่ราย นับวันก็ขยายใหญ่ขึ้น คนก็มาซื้อหามากขึ้น เพราะมีสินค้าพวกอาหารพื้นบ้านมาก สด จึงเป็นที่นิยม วันดีคืนดี 711 ก็มาเปิด

นี่ Lotus express ก็มาเปิดแข่งกับ 711 อีกแล้ว เปิดทีหลังก็ทำดีกว่า คนก็แห่เข้าไปอุดหนุน…

วันก่อนผ่านไปทาง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ลุงเอกจะพาคณะ 4ส2 ไปพบเจ้าพ่อ NGO ที่นั่น ผมพบร้านค้า ทเวนตี้ ช็อป ที่ขายทุกอย่างในราคา 20 บาท อะไรเป็นสินค้าที่เขาขายบ้างล่ะ ภาพขวามือนั่นแหละครับ

ผมคิดว่าร้านชื่อนี้ กิจการแบบนี้อาจจะมีมานานแล้วแต่ผมตกข่าว เพิ่งจะเห็น ก็สั่นหัว ว่าระบบธุรกิจเขารุกสู่ชนบททุกรูปแบบ รู้ว่ากำลังซื้อมีน้อยกว่าในเมืองก็จัดสินค้าที่เป็นไปได้มาในรูปทุกอย่าง 20 บาท

มองในมุมการทำธุรกิจก็บ้านเราเสรีประชาธิปไตย ใครใคร่ค้า..ค้า

มองในแง่การเคลื่อนตัวของสังคมชุมชน ….. เฮ่อ..

นี่ก็เป็นประเด็นวิจัยได้นะครับ…


ไผ่กับชีวิต

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2010 เวลา 19:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2680


มันเป็นภาพธรรมดาที่ใครๆก็อาจจะเห็นรถมอเตอร์ไซด์ที่บรรทุกไม้ไผ่ด้านหลัง

บางท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่สำหรับคนทำงานชนบทมันมีความหมายที่บ่งบอกเรา ให้รู้ว่าฤดูเก็บเกี่ยวใกล้เข้ามาแล้ว ฤดูหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว และ… เพราะไม้ไผ่นี้จะเอาไปทำ “ตอก” มัดข้าว ที่ชาวนา รู้ว่าจะต้องทำอะไรล่วงหน้าก่อนที่ข้าวจะสุกเต็มที่และต้องเก็บเกี่ยว

พ่อบ้านจะเข้าป่าไปหาไผ่ที่เพิ่งผ่านฤดูฝนมากำลังงาม เลือกลำที่ไม่แก่ไม่อ่อน ตัดลงมาให้มากพอที่จะเอาไปใช้ โดยชาวบ้านเขาคำนวณในหัวเสร็จว่า ข้าว ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนกี่เส้น หากปีไหนข้าวงามดี ก็เพิ่มจำนวน ไผ่ที่จะเอามาทำตอกที่ดงหลวงนิยมใช้ไผ่ไร่ เพราะปล้องยาวและเหนียว เหมาะที่จะเอามาทำตอกมัดข้าว และใช้สานทำเครื่องใช้ในครัวเรือนตามวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกหลายอย่าง


ปัจจุบันอะไรอะไรก็เปลี่ยนไปเยอะ มีอาชีพไปรับจ้างหาไผ่ป่ามาขายทำตอก หรือมีพ่อค้าขายตอกจากภาคเหนือบุกอีสานที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้แล้ว การจักตอกนั้น มิใช่ใครก็ทำได้ ต้องมีความรู้มีทักษะมีภูมิปัญญาที่สั่งสมและส่งต่อกันมานานแสนนาน การเลือกไม้ไผ่ การผ่าให้เป็นเส้นการจัก การพ่นน้ำ การผึ่งให้แห้ง ล้วนมีองค์ความรู้และเทคนิคที่ไม่มีการสอนในห้องเรียน แต่มีสอนแบบไม่สอนในชีวิตจริง


ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าฤดูกาลเปลี่ยนแล้ว จริงๆมีหลายอย่างที่เป็นความรู้ชาวบ้านที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ชาวบ้านคนหนึ่งบอกผมว่า ช่วงนี้ใส้เดือนจะออกจากรูขึ้นมาบนผิวดิน ชาวบ้านที่เลี้ยงเป็ดก็จะบอกลูกหลานให้เอาตะกร้าออกไปเก็บใส้เดือนมาให้เป็ดกิน หากเป็นเป็ดแม่ไข่ จะได้ไข่สีแดงจัดด้วย….

มีความรู้มากมายที่ซ่อนอยู่ในวิถีชุมชนที่เราเห็น.. หากมีเวลาก็อยากจะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้จริงๆครับ..



Main: 0.012583017349243 sec
Sidebar: 0.026793003082275 sec