ไผ่กับชีวิต

โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 9, 2010 เวลา 19:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2681


มันเป็นภาพธรรมดาที่ใครๆก็อาจจะเห็นรถมอเตอร์ไซด์ที่บรรทุกไม้ไผ่ด้านหลัง

บางท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่สำหรับคนทำงานชนบทมันมีความหมายที่บ่งบอกเรา ให้รู้ว่าฤดูเก็บเกี่ยวใกล้เข้ามาแล้ว ฤดูหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว และ… เพราะไม้ไผ่นี้จะเอาไปทำ “ตอก” มัดข้าว ที่ชาวนา รู้ว่าจะต้องทำอะไรล่วงหน้าก่อนที่ข้าวจะสุกเต็มที่และต้องเก็บเกี่ยว

พ่อบ้านจะเข้าป่าไปหาไผ่ที่เพิ่งผ่านฤดูฝนมากำลังงาม เลือกลำที่ไม่แก่ไม่อ่อน ตัดลงมาให้มากพอที่จะเอาไปใช้ โดยชาวบ้านเขาคำนวณในหัวเสร็จว่า ข้าว ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนกี่เส้น หากปีไหนข้าวงามดี ก็เพิ่มจำนวน ไผ่ที่จะเอามาทำตอกที่ดงหลวงนิยมใช้ไผ่ไร่ เพราะปล้องยาวและเหนียว เหมาะที่จะเอามาทำตอกมัดข้าว และใช้สานทำเครื่องใช้ในครัวเรือนตามวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกหลายอย่าง


ปัจจุบันอะไรอะไรก็เปลี่ยนไปเยอะ มีอาชีพไปรับจ้างหาไผ่ป่ามาขายทำตอก หรือมีพ่อค้าขายตอกจากภาคเหนือบุกอีสานที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้แล้ว การจักตอกนั้น มิใช่ใครก็ทำได้ ต้องมีความรู้มีทักษะมีภูมิปัญญาที่สั่งสมและส่งต่อกันมานานแสนนาน การเลือกไม้ไผ่ การผ่าให้เป็นเส้นการจัก การพ่นน้ำ การผึ่งให้แห้ง ล้วนมีองค์ความรู้และเทคนิคที่ไม่มีการสอนในห้องเรียน แต่มีสอนแบบไม่สอนในชีวิตจริง


ภาพเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าฤดูกาลเปลี่ยนแล้ว จริงๆมีหลายอย่างที่เป็นความรู้ชาวบ้านที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ชาวบ้านคนหนึ่งบอกผมว่า ช่วงนี้ใส้เดือนจะออกจากรูขึ้นมาบนผิวดิน ชาวบ้านที่เลี้ยงเป็ดก็จะบอกลูกหลานให้เอาตะกร้าออกไปเก็บใส้เดือนมาให้เป็ดกิน หากเป็นเป็ดแม่ไข่ จะได้ไข่สีแดงจัดด้วย….

มีความรู้มากมายที่ซ่อนอยู่ในวิถีชุมชนที่เราเห็น.. หากมีเวลาก็อยากจะบันทึกเรื่องราวเหล่านี้จริงๆครับ..

« « Prev : ทดสอบ 2

Next : 20 บาท » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 ตุลาคม 2010 เวลา 20:59

    มีความรู้มากมายที่อยู่ในวิถีชุมชนจริงๆ ค่ะ พี่ได้มีประสบการณ์ในชุมชนมากมาย ถ้าพอจะหาเวลาว่างได้ช่วยบันทึกเยอะๆ นะคะ
    บางทีน้องก็ชอบแหย่คุณครูว่า ภูมิปัญญาไม่ได้มีแค่การตัดตุงเน้อ.. เพราะยุคหนึ่งเวลาคิดถึงการเรียนรู้ภูมิปัญญาทีไร ก็มีคนนึกถึงแต่การตัดตุงเท่านั้น ที่จริงมีอะไรไกล้ตัวเยอะนะคะ รปภ.ที่โรงเรียนคนหนึ่ง ว่างๆ ก็พกเอาไม้ไผ่เหลาบางๆ มาด้วย มาถึงก็นั่งจักตอกเป็นซี่ๆ ซึ่เล็กและบางมาก อีกช่วงหนึ่งก็เอามานั่งสานไซดักกุ้งตาถี่ยิบ น่าสนใจมาก ว่าจะหาโอกาสถ่ายรูปมาแบ่งกันดูเหมือนกันค่ะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 ตุลาคม 2010 เวลา 21:22

    นั่นแหละน้องอึ่ง รปภ เขาไม่ทิ้งเวลาไปเปล่าๆ เอางานที่พอทำได้มาทำ เกิดประโยชน์ ไม่เหงา ไม่ฟุ้งเฟ้อ และเป็นการบูรณาการอีกแบบหนึ่ง ที่ว่าบูรณาการคือ วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ผสมผสานเดิมเข้ามา ก็มาเป็น รปภ. แต่ก็ยังจักตอก สานไซ นี่แหละการปรับตัวอย่างหนึ่ง สายตาก็อย฿่ที่งานที่ทำในมือแต่ก็ไม่ทิ้งหน้าที่ รปภ.

    ในช่วงเวลาหนึ่งทำหน้าที่หลายอย่าง เขาเองก็พอใจ เมื่อกลับบ้านก็มีของติดมือกลับไปบ้านด้วย น้องอึ่งครับ ชาวบ้านบอกพี่ว่า ในการสานไซ หรืออะไรก็ตามนั้น มีวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปศาสตร์ innovation จินตนาการ ประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ เรื่องเล่ามากมายจากการใช้ประโยชน์ของการดักไซ เขาต้องไปวางไซตรงไหนของแหล่ง ทำไมต้องวางตรงนั้น วางแบบไหนทำไมต้องวางแบบนั้น วางลึกแค่ไหน ทำไมต้องลึกแค่นั้น ต้องเอาเหยื่อใส่เข้าไปไหม เอาเหยื่ออะไรใส่ไป หากไม่มีเหยื่อแบบนี้เอาชนิดอื่นได้ไหม วาวนานแค่ไหนจึงไปกู้ไซ วางไซเวลาไหนดีที่สุด เคยมีสิ่งอื่นเข้าไปในไซบ้างไหม เช่น งู แล้วทำอย่างไร ปลาอะไรที่มักเข้าไซ ปลานั้นเอาไปทำอะไรรับประทานดีที่สุด เอาไปทำปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อม ปลาแห้งได้ไหม ผู้หญิงไปดักไซหรือไปวางไซได้ไหม คนโบราณมีมนต์ประกอบการวางไซไหม โอยคำถามมากมายครับที่เป็ยองค์ความรู้จากไซ …สนุกจะตายไป

    องค์ความรู้แบบนี้กำลังจางหายไปเรื่อยๆครับน้องอึ่ง เพราะมีปลา CP มาวางขายในตลาดที่โฆษณาเต็มที่ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11535906791687 sec
Sidebar: 0.032232046127319 sec