Unexpected Impact

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 13, 2009 เวลา 23:49 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2587

ในกระบวนการทำงานพัฒนานั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประเมินผล ซึ่งมักจะกระทำในหลายรูปแบบแล้วแต่โครงการนั้นๆจะออกแบบไว้ เช่น เป็นแบบ External evaluation team บางแห่งก็ใช้แบบ Internal หากเป็นโครงการใหญ่ๆ ก็อาจจะใช้ International evaluation team เข้ามาทำการประเมินกัน หรือใช้แบบผสมผสาน …

ทั้งหมดก็จะยึดทฤษฎีการประเมินผลที่เป็นสากล ไม่ค่อยแตกต่างกัน ไม่ว่าทีมไหนๆ ซึ่งบางโครงการก็ย้อมสีกันสวยงาม บางโครงการก็ตรงไปตรงมาดี แต่ทั้งหมดก็พบว่าไม่เคยมีทีมไหนประเมินผลส่วนที่เรียกว่า “ผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดของโครงการ” อาจจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เช่น ทีมมักมีเวลาจำกัด กรอบการประเมินถูกกำหนดมาแล้ว หรือทีมประเมินผลคิดไม่ถึงประเด็นนี้ด้วยซ้ำไป….

เรื่องนี้ผมมาฉุกคิดเพราะผมไปงานศพ…???

จริงๆครับ.. “พิลา” พนักงานขับรถของโครงการ พี่ชายเขาเสียชีวิตเพราะเป็นโรคกระเพาะ เราไปร่วมงานศพ พิลาก็เลี้ยงอาหารตามประเพณี พวกเราอิ่มหนำสำราญกัน มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ “ข้าวอร่อยจังเลย…”


วันต่อมาผมถามพิลาว่าเอาข้าวอะไรมาเลี้ยงเราอร่อยติดใจกันใหญ่ พิลาตอบว่า เป็นข้าวมะลิจากนาที่ผมทำนั่นแหละพี่ เป็นข้าวอินทรีย์ที่ผมเอาความรู้มาจากพี่เปลี่ยน จากทุกคนในโครงการ จากชาวบ้าน และจากพี่ด้วย…. แล้วรายละเอียดก็พรั่งพรูออกมา พิลาบอกว่าตอนนี้เขาดังในหมู่บ้านไปแล้ว เพราะเพื่อนบ้านก็ตะลึงว่าการทำข้าวอินทรีย์นั้น รสอร่อย ต้นทุนไม่สูงเพราะไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงมากๆ และผลผลิตต่อไร่ก็ไม่แตกต่างไปจากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ ราคาข้าวอินทรีย์ก็สูงกว่า ฯลฯ


ที่นาของพิลาไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการ แต่ความสำเร็จข้าวอินทรีย์ที่พิลาทำมานั้น ได้ความรู้มาจากโครงการ.. หากมีการประเมินผลโครงการไม่ว่า จะเป็นด้าน Result, Output,  Outcome หรือแม้แต่ Impact ความสำเร็จของพิลานั้นก็หลุดจากกรอบการประเมินแน่นอน ยิ่งเป็นทีมประเมินมาจากภายนอก

ย้อนไปที่สะเมิง เชียงใหม่ เมื่อโครงการพัฒนาชนบทที่เคยทำงานสิ้นสุดลง เราพบว่า พนักงานขับรถของเราสมัยนั้น ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และ อบต.และประธาน อบต. ที่ตำบลสะเมิงใต้นั้นคือลูกจ้างโครงการที่เป็นชาวบ้านที่สมัยนั้นทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน..

ผมได้มีโอกาสคุยกับทั้งสองคน เราพบว่า ด้วยการที่เขาคลุกคลีกับเรามานาน เขาเรียนรู้ระบบคิด สาระของงานพัฒนาด้านต่างๆ ภาษา ศัพท์แสงทางการพัฒนาชุมชน เขาเรียนรู้จากเราทั้งสิ้น ทั้งหมดมีส่วนสร้างเขาให้มีความรู้ในเรื่องงานพัฒนาชุมชน มีทักษะในการพูด แสดงความคิดเห็นแง่มุมต่างๆของการพัฒนาท้องถิ่นของเขา เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาแตกต่างจากคู่สมัครคนอื่นๆ และเขาก็ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน หลังจากที่โครงการสิ้นสุดไปแล้ว….

มีความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่กระบวนการประเมินผลมองไม่เห็น นึกไม่ถึง นี่คือ Unexpected Impact


สะเมิง : แข่งมอเตอร์ไซด์

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 31, 2008 เวลา 1:46 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7111

เข้าไปบันทึกของเม้งที่ http://lanpanya.com/lanaree/?p=111#comment-154 เรื่อง นวัตกรรมใหม่กับแฟนท่อมคู่กาย ทำให้ผมนึกถึงสมัยทำงานที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518-2522 (ค่อยย้อนแนะนำพื้นที่ในบันทึกหน้านะครับ) ผมทำงานในโครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ (พชบ.) แถบภูเขา ที่สูงชันและเป็นลูกรัง ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่เราก็ต้องใช้เส้นทางนี้ เพราะหมู่บ้านต่างๆนั้นซ่อนอยู่ในภูเขาโน้น เราต้องเดินทางไปหาโดยมอเตอร์ไซด์นี่แหละ..


ฤดูฝนนั้นก็จะมีความลื่น และความชันก็ทำให้มอเตอร์ไซด์ล้มคว่ำโดยง่าย เรากล่าวกันว่า ใครขับมอเตอร์ไซด์ในสะเมิงไม่ล้มไม่มี ในฤดูนี้เรามีเครื่องมือพิเศษติดมอเตอร์ไซด์คือโซ่มัดล้อใช้ตะกุยช่วงถนนมีความลื่นมาก อีกอย่างคือไม้แคะดินออกจากล้อรถ  อิอิ… ยามเข้าฤดูแล้งก็เป็นฝุ่น เสื้อผ้า หน้าตา ผมเพ่า มีแต่ฝุ่นแดง จนหลายคนเป็นริษสีดวงตาเพราะฝุ่นเข้าตาเป็นประจำ


ยานพาหนะที่ใช้หัวหน้าใช้ปิคอัพมีเพียง 1 คัน ส่วนพนักงานใช้มอเตอร์ไซด์ สมัยนั้นที่นิยมมากก็คือ รุ่น เอนดูโล่ แรกๆเราใช้ ซูซูกิ 125 ซีซี สองจังหวะ แต่ก็ไม่ทนในสภาพภูเขา จึงเปลี่ยนมาใช้ ฮอนด้า สี่จังหวะ 100 ซีซี และท้ายที่สุดมาใช้ ฮอนด้า รุ่น Trial 125 ซีซี จำได้ว่าราคาแพงที่สุดประมาณ สามหมื่นกว่าบาท ผู้จัดการโครงการซึ่งเป็นเยอรมันมีนโยบายว่า รถมอเตอร์ไซด์นั้นหากใช้ 3 ปี ก็จะยกให้เลย.. สมัยนั้นก่อนที่จะมีสิทธิ์ใช้มอเตอร์ไซด์ พนักงานทุกคนจะต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงมอเตอร์ไซด์ก่อน และทุกคนจะต้องใช้หมวกกันน๊อก (Helmet) ใส่ถุงมือใส่เสื้อแขนยาวและรองเท้าที่หนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักความปลอดภัย

ปีหนึ่ง…ทางอำเภอสะเมิงจัดงานประจำปี และจัดแข่งรถมอเตอร์ไซด์วิบาก แล้วมาเชิญพนักงานโครงการเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ผมสนใจจึงเข้าร่วมด้วย ในครั้งนั้นมีจำนวนคนเข้าร่วมประมาณ 10 กว่าคันโดยมีมืออาชีพเข้าร่วม 3 คน เขาใช้ยามาฮ่า 175 ซีซี แต่ผมและเพื่อนใช้ ฮอนดา 100 ซีซี เพราะเรามีอย่างนั้น เส้นทางที่ใช้ก็คือวิ่งไปตามถนนระหว่างตำบลรวมความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านต่างๆที่เราทำงาน เส้นทางที่ใช้ก็คือเส้นทางประจำที่ผมใช้อยู่ทุกวัน…

เส้นทางเหล่านี้เป็นไหล่เขา ที่ผมซิ่งมาประจำอยู่แล้วจึงได้เปรียบ แต่สภาพมอเตอร์ไซด์นั้นเทียบไม่ได้เลยกับมืออาชีพที่มาแข่งด้วย แต่เขาก็ไม่สามารถจะบิดได้เต็มที่เพราะเส้นทางที่เป็นไหล่เขานี่เอง หากพลาดก็ตกไปก้นเหวโน้น… และความไม่ชิดเส้นทางจึงไม่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ตามสมรรถภาพมอเตอร์ไซด์ของเขาที่มีอยู่เหลือหลาย

อย่างไรก็ตามผมเองไม่เคยแข่งมาก่อนก็แหยงๆเจ้ามืออาชีพทั้งสามคน เพราะเราเห็นฝีมือที่เขาทดลองแล้ว หนาวววว แต่ก็สู้เพราะสนามคือถิ่นของเราเอง.. มอเตอร์ไซด์ของเราก็ไม่ได้ โม.. อิอิ ภาษานักรถแข่งเขาย่อมาจาก โมดิฟายหรือการปรับแต่งรถให้วิ่งเร็ว และปลอดภัยนั่นเอง ชาวบ้านก็มาเชียร์เรา เพราะเขารู้จักเรา

ผลการแข่งขัน ผมเป็นผู้เข้าเส้นชัยด้วยเวลาน้อยที่สุดจึงเป็นผู้ชนะ ได้รับถ้วยรางวัลจากท่านนายอำเภอสะเมิง และเงินอีก 3,000 บาท หลังจากนั้นก็ฉลองร่วมกับเพื่อนๆ ชาวบ้าน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน…. หมดเงินไป 4,000 บาท อิอิ..

ในงานประจำปีของอำเภอสะเมิงนั้น ปกติก็มีการประกวดสาวงามท้องถิ่น ปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการแข่งมอเตอร์ไซด์กัน งานประกวดสาวงามนั้นใช้การนับคะแนนจากประชาชนที่ซื้อลูกโป่งมอบให้ ก็ง่ายๆดี

จะบอกอะไร:

  • พบว่าหลักการปลอดภัยเบื้องต้นในการใช้รถมอเตอร์ไซด์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เหมาะสม และเกิดประโยชน์จริงๆ

  • การใช้เทคโนโลยีใหม่นั้นเราควรที่จะรู้จักการบำรุงรักษาเบื้องต้นด้วย ซึ่งพบว่าแค่การบำรุงรักษาประจำตามกำหนด ช่วยให้อายุการใช้งานของมอเตอร์ไซด์ยาวขึ้น สมรรถนะดี ในมุมที่สำคัญคือช่วยการประหยัดโดยอัตโนมัติด้วย กรณีมอเตอร์ไซด์ นั้นทุกเดือน เราจะถอดโซ่รถมาต้มอ่อนๆกับน้ำมันเบรก น้ำมันจะแทรกเข้าไปตามข้อด้านในของโซ่ ตรงซี่ล้อมอเตอร์ไซด์ที่ภาษาบ้านเรียก กรรมรถนั้น ตรงที่มันไขว้กันเป็นกากะบาดนั้นเอาลวดมารัดตรงนั้นจะช่วยให้ล้อรถแข็งแรงมากขึ้น หากมีการบรรทุกก็รับน้ำหนักได้มากขึ้น เปิดห้องลูกสูบเอามาขัดเขม่าที่เกาะให้สะอาด ช่วยให้การทำงานเต็มสมรรถภาพ และอื่นๆ..

  • นโยบายการมอบมอเตอร์ไซด์ให้พนักงานหลังการใช้งานแล้วสามปี เป็นนโยบายที่ดี เพราะพนักงานทุกคนก็ดูแลรักษามอเตอร์ไซด์อย่างกับดูแลสาวๆแน่ะ..เพราะคาดหวังว่าเมื่อครบสามปีมันจะเป็นของเรา ซึ่งยังอยู่ในสภาพดี…. ก็ทำให้การทำงานราบรื่นไม่มีปัญหาเรื่องความเสียหายของรถมอเตอร์ไซด์ในการทำงาน

  • มอเตอร์ไซด์เป็นเครื่องมือการทำงาน ช่วยให้การปฏิบัติงานตามแผนงานและความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการใช้งานตามคู่มือที่แนะนำ

  • การฉลองชัยแบบไม่บันยะบันยัง ไม่ดี ไม่ควรเอาอย่าง

(รูปเหล่านี้อายุประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว คุณภาพสีแย่ลง)



Main: 0.024394989013672 sec
Sidebar: 0.028004169464111 sec