Unexpected Impact

โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 13, 2009 เวลา 23:49 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2574

ในกระบวนการทำงานพัฒนานั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประเมินผล ซึ่งมักจะกระทำในหลายรูปแบบแล้วแต่โครงการนั้นๆจะออกแบบไว้ เช่น เป็นแบบ External evaluation team บางแห่งก็ใช้แบบ Internal หากเป็นโครงการใหญ่ๆ ก็อาจจะใช้ International evaluation team เข้ามาทำการประเมินกัน หรือใช้แบบผสมผสาน …

ทั้งหมดก็จะยึดทฤษฎีการประเมินผลที่เป็นสากล ไม่ค่อยแตกต่างกัน ไม่ว่าทีมไหนๆ ซึ่งบางโครงการก็ย้อมสีกันสวยงาม บางโครงการก็ตรงไปตรงมาดี แต่ทั้งหมดก็พบว่าไม่เคยมีทีมไหนประเมินผลส่วนที่เรียกว่า “ผลกระทบที่ไม่ได้คาดคิดของโครงการ” อาจจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เช่น ทีมมักมีเวลาจำกัด กรอบการประเมินถูกกำหนดมาแล้ว หรือทีมประเมินผลคิดไม่ถึงประเด็นนี้ด้วยซ้ำไป….

เรื่องนี้ผมมาฉุกคิดเพราะผมไปงานศพ…???

จริงๆครับ.. “พิลา” พนักงานขับรถของโครงการ พี่ชายเขาเสียชีวิตเพราะเป็นโรคกระเพาะ เราไปร่วมงานศพ พิลาก็เลี้ยงอาหารตามประเพณี พวกเราอิ่มหนำสำราญกัน มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ “ข้าวอร่อยจังเลย…”


วันต่อมาผมถามพิลาว่าเอาข้าวอะไรมาเลี้ยงเราอร่อยติดใจกันใหญ่ พิลาตอบว่า เป็นข้าวมะลิจากนาที่ผมทำนั่นแหละพี่ เป็นข้าวอินทรีย์ที่ผมเอาความรู้มาจากพี่เปลี่ยน จากทุกคนในโครงการ จากชาวบ้าน และจากพี่ด้วย…. แล้วรายละเอียดก็พรั่งพรูออกมา พิลาบอกว่าตอนนี้เขาดังในหมู่บ้านไปแล้ว เพราะเพื่อนบ้านก็ตะลึงว่าการทำข้าวอินทรีย์นั้น รสอร่อย ต้นทุนไม่สูงเพราะไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงมากๆ และผลผลิตต่อไร่ก็ไม่แตกต่างไปจากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ สุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ ราคาข้าวอินทรีย์ก็สูงกว่า ฯลฯ


ที่นาของพิลาไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการ แต่ความสำเร็จข้าวอินทรีย์ที่พิลาทำมานั้น ได้ความรู้มาจากโครงการ.. หากมีการประเมินผลโครงการไม่ว่า จะเป็นด้าน Result, Output,  Outcome หรือแม้แต่ Impact ความสำเร็จของพิลานั้นก็หลุดจากกรอบการประเมินแน่นอน ยิ่งเป็นทีมประเมินมาจากภายนอก

ย้อนไปที่สะเมิง เชียงใหม่ เมื่อโครงการพัฒนาชนบทที่เคยทำงานสิ้นสุดลง เราพบว่า พนักงานขับรถของเราสมัยนั้น ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนัน และ อบต.และประธาน อบต. ที่ตำบลสะเมิงใต้นั้นคือลูกจ้างโครงการที่เป็นชาวบ้านที่สมัยนั้นทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน..

ผมได้มีโอกาสคุยกับทั้งสองคน เราพบว่า ด้วยการที่เขาคลุกคลีกับเรามานาน เขาเรียนรู้ระบบคิด สาระของงานพัฒนาด้านต่างๆ ภาษา ศัพท์แสงทางการพัฒนาชุมชน เขาเรียนรู้จากเราทั้งสิ้น ทั้งหมดมีส่วนสร้างเขาให้มีความรู้ในเรื่องงานพัฒนาชุมชน มีทักษะในการพูด แสดงความคิดเห็นแง่มุมต่างๆของการพัฒนาท้องถิ่นของเขา เหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาแตกต่างจากคู่สมัครคนอื่นๆ และเขาก็ได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน หลังจากที่โครงการสิ้นสุดไปแล้ว….

มีความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่กระบวนการประเมินผลมองไม่เห็น นึกไม่ถึง นี่คือ Unexpected Impact

« « Prev : เมฆทะมึนกับรุ้งสวย..

Next : ห่วงพี่น้องภาคใต้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 เวลา 0:10

    ตัววิธีการวัดด้วย KPI สอบตกอีกแล้วครับ เพราะว่า KPI มองได้แคบอย่างไม่น่าเชื่อเลย แต่ว่าคนที่ถูกประเมินด้วย KPI กลับมักจะภูมิใจว่าสำเร็จเมื่อผ่านเกณฑ์ โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่าเป้าหมายคืออะไร

    โห วิธีแก้ง่ายนิดเดียว ก็ตั้ง KPI ให้สะท้อนเป้าหมายซิ

    ตรงนั้นล่ะครับที่ยาก บางทีทำงานอยู่ ยังไม่รู้เลยว่าเป้าหมายคืออะไร นับประสาอะไรจะไปวัดความสำเร็จ

  • #2 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 เวลา 10:39

    เข้าทำนองมองข้ามจุดสำคัญที่อยู่ใกล้ตัว เจอกรณีอย่างนี้มามากแล้ว บางครั้งถึงขั้นวิจารย์หัวหน้าโครงการให้ฟังเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากหัวหน้าโครงการไม่ได้ลงมือทำเอง มีลูกน้องคอยทำตามคำสั่งทำตามทฤษฏี  แต่ในความเป็นจริงการลงมือทำเองก็จะรู้ปัญหาที่แท้จริง และต้องแก้ปัญหา โดยปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะกับภูมิปัญญาที่มีอยู่ดั่งเดิม เข้ามาเสริมประยุกต์ ด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน จากการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง จนเกิดทักษะ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริง ตัวจริง ที่มีค่ามากแต่ถูกมองข้ามไป ในระบบสังคมไทยยังมีพรมแดนกั้นระหว่างลูกน้องกับเจ้านาย และเจ้านายถูกเสมอ ดังนั้นลูกน้องไม่กล้าบอกหรือเสนอแนะเจ้านาย ดังนั้นมันเกิดความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในสังคมแห่งปัญญา ใที่ช้ปัญญาเป็นตัวสร้างให้เกิดงาน งานสร้างปัญญา เมื่อผลงานที่มีคุณภาพเกิดขึ้น ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นั้น มีปัญญา และใช้ปัญญาสร้างงานให้บังเกิดผลค่ะ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 เวลา 11:28

    อยากจะบันทึกไว้ว่า

    ผมถามพิลาว่ามีเพื่อนบ้านสนใจมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง

    • มีบางคนสนใจมาก เข้ามาซักถาม หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ว่าทำอย่างไร แต่ทั้งหมดนั้นจะเอาความรู้ไปทำหรือไม่ ไม่ทราบ
    • มีบางคนไม่เชื่อว่าเป็นความจริง แต่ก็สองจิตสองใจ สนใจอยากจะดูพิลาทำจริงในปีนี้
    • มีบางคนไม่เชื่อเลย การทำนาต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ใส่ก็ไม่ได้กินสิ  แม้ว่าปุ๋ยจะแพงก็ต้องหามาใส่

    คนทำงานพัฒนาสนใจเรื่องของ Knowledge Transfer ทั้งในแง่ Lateral และ Horizontal เพราะนี่คือองค์ประกอบหนึ่งของการบ่งบอกถึงความยั่งยืนของงานพัฒนา ความรู้เรื่องนี้นั้น ย่อมไม่เหมือนกันในแต่ละชุมชน ท้องถิ่น ชนเผ่า องค์กรที่สร้างขึ้นมาใหม่ เช่น กลุ่ม เครือข่าย ฯลฯ รัฐลงทุนจำนวนมากมายที่จะให้เกิดการเรียนรู้ในแนวนอน คนทำงานพัฒนาเอกชนก็คิดเช่นนั้น แต่กระบวนการทำงาน วิธีการ ฯลฯ แตกต่างกัน

    มีความรู้ดีดีจำนวนมากที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น ชุมชน แต่ไม่ขยายตัวไปในแนวราบ
    มีความรู้ดีดีจำนวนมากในชุมชนอยู่แล้ว เมื่อนำมาเข้าระบบการส่งเสริมตามแบบราชการ หรืองานพัฒนา ก็ไม่ขยายตามที่คาดหวัง
    แต่ก็มีความรู้ในชุมชนที่ชาวบ้านเรียนรู้กันเอง อย่างไม่รู้ัตัว อย่างไม่มีรูปแบบ และขยายออกไปเรื่อยๆ แบบ informal

    นักพัฒนาจึงควรรอบรู้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นนักประยุกต์ ดัดแปลงไปตามสภาพของคน ชุมชน ท้องถิ่น ฯลฯ
    และที่น่าสนใจคือ การขยายความรู้นั้นมันมิใช่ไปแบบน้ำไหล น้ำบ่า ที่เน้นจำนวน ปริมาณมากๆภายในเวลาโครงการ แต่ความรู้หลายๆอย่างขยายไปแบบน้ำซึม ค่อยเป็นไป ใช้เวลา เพราะเงื่อนไของค์ประกอบต่างๆในชุมชนเอง  เมื่อเวลาผ่านไปก็ขยายไปทั่วพื้นที่เป็นแบบ มวลวิกฤติ หรือที่เรียกว่า Critical mass แต่ช่วงอายุโครงการไม่เห็น เมื่อใช้การประเมินผลมาในช่วงโครงการก็อาจจะสรุปว่าไม่ประสบผลสำเร็จ หรือเกิดผลสำเร็จน้อย เพราะกระบวนการขยายตัวอยู่ในช่วง ค่อยๆขยาย แต่อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย …..

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 เวลา 14:23

    ศาสตร์การบริหารจัดการของสาขาใดๆนั้น อาจจะมีหลักการร่วม เหมือน หรือ คล้ายกับหลายๆศาสตร์ แต่ลักษณะเฉพาะจะแตกต่างกัน จากประสบการณ์ของผมเองและของหลายๆคน ธรรมชาติของนักสังคมกับนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆมักมีท่วงทำนองที่แตกต่างกัน

    หากสองนักนี้ไม่เข้าใจท่วงทำนองแห่งกันแล้วมักขัดกันเสมอ หลายครั้งสวนทางกันก็มี ต่างก็อ้างประสบการณ์ตนเอง หลักการตนเอง ซึ่งก็เป็นสากลทั่วไปที่เป็นเช่นนั้น เช่น

    ผมทำงานกับวิศวกรชลประทานในเรื่องการบริหารจัดการน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เรามีเรื่องถกเถียงกันบ่อยๆมาก เพราะท่านวิศวกรชลประทานนั้น ก็เหมือนกับวิศวกรทั่วไปที่สาระวิชาที่ท่านเหล่านั้นเรียนนั้นเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีผลลัพธ์แน่นอนตายตัว สามารถคำนวนได้ นับได้ เป็นชิ้นๆ เป็นปริมาณ เป็นจำนวน แต่งานทางสังคมนั้นเป็นความคิด เป็นทัศนคติ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากน้อยไปสู่มาก จากมากไปสู่น้อย จากเล็กสู่ใหญ่ ฯลฯ จึงไม่ง่ายที่จะวัดเป็นปริมาณ จำนวนออกมา หรือยุ่งยากกว่า ซับซ้อนกว่า ที่ต้องตั้งตัวแบบแล้วให้ความหมายมันออกมา ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เป็นหลักการอนุมาณอย่างเป็นเหตุเป็นผลเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่สิ่งแท้จริง

    ดังนั้นตัวเลขที่ออกมาจากการแทนค่าต่างๆทางสังคมจึงไม่สามารถบ่ง ระบุได้ชัดแจ้งว่าเป็นสีแดงสีเหลือง แต่มักใช้คำพูดว่า มีแนวโน้มเป็นสีแดงหรือสีเหลืองเป็นต้น…  นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์พยายามใช้หลักการทางคณิตรศาสตร์ สถิติ มาแปรค่าออกมาเป็นปริมาณ เช่น โปรแกรม SPSS และอื่นๆ แต่นักสังคมศาสตร์จำนวนมากก็พอรับได้ แต่ไม่ใช่แท้จริง

    ดังนั้นจึงเกิดกรณีถกเถียงทางวิชาการถึง “งานวิจับเชิงปริมาณกับคุณภาพ” เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา  นักสังคมจำนวนมากจึงชอบระบุคำกล่าวของ Resources person ตรงๆโดยไม่จำเป็นต้องแปรความหมายออกมา

    งานด้านนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ จำได้ว่า ตอนที่อเมริกันกำลังจะแพ้สงครามเวียตนามนั้น อเมริกา สงสัยว่าทำไมหนอ เรามีเครื่องมือ อุปกรณ์ทางเทคโนโลยี่เหนือชั้นกว่าเวียตกงมากมายทำไมเราจึงมองไม่เห็นหนทางการเอาชนะสงครามได้เลย  เขาส่งนักสังคมวิทยาลงไปที่เวียตนามแล้วทำการศึกษาภาคสนามเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้  และคุณค่าของงานวิจัยทางสังคมนี่เองกลับไปสู่การปรับปรุงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของกองทัพอเมริกาใหม่หมด และความรู้นี้เข้าไปสู่สถาบันการศึกษาเพื่อเป็นงานศึกษาต่อไป

    งานสร้างคนจึงซับซ้อนมากกว่า…และเรียนรู้ไม่จบสิ้น
    เพียงว่าเราตั้งใจจะเรียนรู้มันแล้วเอามาประยุกต์ใช้ในงานมากน้อยแค่ไหน
    นักพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่ชาวบ้านรักใคร่มากมายจะมาจะไปก็ห่วงหวงและทุ่มเทให้หมด แต่การยกระดับ ประสบการณ์ความรู้นั้นมีน้อยมาก
    นักพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่พูดจาเหมือนนักวิชาการแต่ไม่ค่อยสัมผัสของจริงๆในสนามเท่าไหร่ ที่เรามักเรียกกันว่า “เขาหลุดจากสนาม”

    ภาควิชาพัฒนาชุมชนของมหาวิทยาลัยต่างๆนั้น หากไม่ update ความรู้ในปัจจุบันแล้ว การอ้างหลักการเก่าๆนั้นก็เป็นการล้าหลังไปซะแล้ว..
    เหมือนนักการเงินการธนาคารหากไม่ update วงการทุกวัน เขาก็ตกยุคทันที

    เล่าสู่กันฟังครับ พี่น้อง.. อิอิ

  • #5 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 เวลา 14:59

    เรื่อง KPI มีเรื่องเล่าว่า จะวัดที่จำนวนคนสวดมนต์ ใครทำให้คนสวดมนต์ได้มากกว่าคนนั้นได้ขึ้นสวรรค์
    ปรากฏว่ามีคนตาย ๒ คน คนหนึ่งเป็นคนขับแทกซี่ อีกคนเป็นบาทหลวง ปรากฏว่าพอตายไปก็ไปเจอเทวฑูต
    พอบอกว่าเป็นคนขับแทกซี่ เทวฑูตชี้ให้ไปเปิดประตูห้องหนึ่ง ในห้องมีเสียงเพลง บรรยากาศดี กลิ่นหอม มีนางฟ้าด้วย
    อีกคนบอกว่าเป็นบาทหลวง เทวฑูตชี้ให้ไปอีกห้องหนึ่ง ไม่มีอะไรสร้างความรื่นรมย์เลย บาทหลวงถามว่าทำไมห้องนี้ไม่มีอะไรเลย
    เทวฑูตตอบว่า ก็แทกซี่ขับรถด้วยความเร็วสูง ฉวัดเฉวียน ทำให้คนที่ขึ้นแทกซี่ร้อยทั้งร้อยสวดมนต์ภาวนากันทั้งนั้น
    ส่วนท่านเข้าโบสถ์เทศน์ มีคนนั่งหลับเสีย ๘๐ เปอร์เซนต์ คนสวดมนต์มีเพียง ๒๐ เปอร์เซนต์เท่านั้น ผลงานท่านสู้แทกซี่ไม่ได้..เหอๆๆ

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 มิถุนายน 2009 เวลา 15:09

    ก๊ากสสส อัยการเอาเรื่องจริงมาทำให้สนุก มันพะย่ะค่ะ

    เรื่อง KPI นั้นมันยาวนะครับ ซึ่งสะท้อนมุมของวิชาการที่พยายามพัฒนาตัวแบบการประเมิน ที่คิดว่าก้าวหน้าที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ดีที่สุด เราเห็นจุดอ่อน เราเห็นมุมมองที่แตกต่าง ยิ่งเรื่องทางสังคม หรือ Non science มันไม่มีอะไรเป๊ะๆ เลยนะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.23401308059692 sec
Sidebar: 0.054719924926758 sec